fbpx

เล่นนอกสคริปต์ “SoFun Club” และการรันวงการเกม “Scriptmurder”

ยินดีต้อนรับสู่คอลัมน์ Sub! เค้าเจอ ประจำตุลาคม – พฤศจิกายน

สำหรับผู้ที่เพิ่งมาใหม่ เราขอแนะนำคอลัมน์กันอีกสักครั้ง

Sub! เค้าเจอ เป็นคอลัมน์ใหม่ประจำหมวด Creativity ที่อยากนำเสนอวัฒนธรรมกระแสรองที่ไม่เป็นรอง บนความเชื่อว่า วัฒนธรรมเหล่านี้น่าสนใจและรอให้คนได้เห็น การลัดเลาะซอกแซก มองหาเรื่องราวและผู้คนที่จะพาเราไปเจอกับวิถีชีวิตใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องน่าสนุกสำหรับเรา เพื่อพาคนที่ไม่รู้จักให้เปิดใจ และทำให้คนที่สนุกกับสิ่งที่เรานำเสนอมาพบปะและสร้างบทสนทนาร่วมกัน

สำหรับเดือนตุลาคมนี้ เราเชื่อว่ามิตรภาพเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะสร้างยาก แต่ก็สร้างได้ ถ้ามีเครื่องมือที่เชื่อมโยงคน ยิ่งเครื่องมือมีประสิทธิภาพแค่ไหน มิตรภาพยิ่งแน่นแฟ้นลึกซึ้ง และหนึ่งในเครื่องมือสร้างมิตรภาพที่เรานึกถึงคือ “เกม” ซึ่งพาคนมารู้จักกันและแชร์บางสิ่งร่วมกันได้

คำแนะนำบนโต๊ะประชุมกองบรรณาธิการและคลิปไวรัลบนโลกออนไลน์แนะนำให้เรารู้จัก “Scriptmurder” เกมชนิดหนึ่งที่เรารู้สึกแปลกใหม่ ทั้งด้วยการสวมบทบาทและสร้างบรรยากาศ กระนั้น เราไม่แน่ใจว่าเราจะจัดเกมนี้เข้ากลุ่มบอร์ดเกมได้หรือไม่ ด้วยระดับความเล่นใหญ่เล่นโตที่อาจทำให้ผู้คนโดยทั่วไปฉงนสนเท่ห์

จากความสงสัยนั้น เราหาข้อมูล ติดต่อ และในที่สุดก็เปิดประ ตูห้องสีแดงของ SoFun Club
คาเฟ่ Scriptmurder แห่งแรกในไทย เพื่อเข้าไปพบกับความตื่นเต้นที่ทีมงานตั้งใจนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเกมหรือบรรยากาศต่าง ๆ พร้อมกับพาทีมงานไปร่วมเสพประสบการณ์การสวมบทบาทดำเนินเกมด้วย

ว่าแล้ว ก่อนจะเลื่อนอ่านหัวข้อแรก เราขอแนะนำกติกาข้อเดียวในการอ่านบทความนี้

คือ ปล่อยใจให้สนุก พร้อมกางสคริปต์เป็นแนวทางเพื่อ “เล่น” นอกสคริปต์ไปด้วยกัน

Introduction
จุดเริ่มเล่น

‘Scriptmurder’ ประกอบด้วยคำสองคำ

Script‘บทบาท’ ที่ผู้เล่นต้องสวมเพื่อดำเนิน ‘เนื้อเรื่อง’ ของเกมไป

และ Murder – เนื้อหาตั้งต้นของเกมเหล่านี้ที่เสาะหาว่า ‘ใครเป็นฆาตกร’

ด้วยเสน่ห์ของการเล่นเกมสวมบทบาท ที่เดิมมีต้นกำเนิดจากฝั่งตะวันตก ข้ามน้ำข้ามทะเลมาโด่งดังในประเทศจีน ทำให้ทีมผู้ทำร้านที่ชอบเล่นเกมกระดานอยู่แล้วมองเห็น “โอกาส” ในการสร้างประสบการณ์การเล่นเกมแบบใหม่ จึงเกิดการรวมตัวกัน และกลายเป็น “SoFun Club” ในที่สุด

การเริ่มต้นทำอะไรเป็น ‘คนแรก’ มีความท้าทายสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้สิ่งที่ “เฉพาะกลุ่ม” แพร่หลายขึ้นมา โชคดีที่ว่าทางร้านมีกลยุทธ์สำคัญ คือการแนะนำตัวให้คนรู้จักในโลกโซเชียล จึงทำให้เรื่องของร้านเริ่มเป็นที่พูดถึง

“สิ่งหนึ่งที่เราทำครั้งแรกคือเราอัปโหลดคลิปวิดีโอเกมดรามาในร้านของเรา ที่เป็น reaction ของลูกค้า ก็เลยทำให้คนได้รับความสนใจ วิดีโอพุ่งเป็นล้านวิว แล้วก็เลยทำให้คนรู้จักร้านของเรามากขึ้น” อาร์ม – เจตนิพัทธ์ พัฒนพีระกุล Content Creator ของร้านเล่าให้เราฟัง

“คนให้ความสนใจแล้วก็รู้สึกว่า อยากเล่นมาก ๆ  เป็นความแปลกใหม่สำหรับเขามาก เพราะว่าหลายคนก็บอกว่า เฮ้ย มาจากคลิปนี้เลยนะ อะไรแบบนี้”

เกมเหล่านี้จะมีการแบ่งระดับการเล่นเพื่อให้เหมาะสมกับประสบการณ์ของผู้เล่นด้วย 

ประสบการณ์ที่ว่า คือ ผู้เล่นจะต้องอ่าน ‘สคริปต์’ ที่เป็นเนื้อเรื่องและบทบาทของเราในเกม ๆ นั้น (ซึ่งมีตั้งแต่ 10 หน้า จนถึง 100 กว่าหน้า) แล้วจึงสวมบทบาทเพื่อทำภารกิจในเกมให้สำเร็จ

โดยเมื่อเราถามถึงวิธีการคัดเลือกเกมเข้ามาในร้าน อาร์มบอกว่ามีตัวชี้วัดหลัก ๆ 2 ข้อใหญ่ ๆ

1 – เกมต้อง ‘สนุก’ โดยมีวิธีวัดผ่านการทดลองเล่นในกลุ่มผู้ดูแลร้าน ซึ่งจะเป็น DM (Dungeon Master – ผู้ดูแลการดำเนินเกม) หากผ่านด่านนี้ไปได้ ทีมก็เชื่อว่าลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีจากเกมเหล่านี้เช่นกัน

และ 2 – เกมต้อง ‘relate’ คือเข้ากับบริบทของคนไทย ด้วยความที่เกมในร้านนำเข้าจากประเทศจีน บางเกมจึงอาจไม่สอดคล้องกับความเข้าใจของคนไทย ทั้งด้านวัฒนธรรมและพื้นฐานความคิด ซึ่งเมื่อเลือกเกมแล้ว จะต้องมีกระบวนการแปลและ ‘localize’ คือ ปรับบริบทของเกมให้สอดคล้องกับความคิดของคนไทยด้วย 

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นบางเกมมีฉากเป็นยุค 90s มีการสื่อสารหลักเป็นโทรศัพท์ปุ่มกด มือถือยอดฮิตคือ Nokia 3310 (รุ่นปาหัวหมาแตกนั่นแหละ)

ถ้าเราพูดถึงมือถือรุ่นนี้แล้วคุณไม่เก็ต ก็ต้องปรับบริบทให้คุณเข้าใจแล้วว่ามือถือรุ่นนี้ก็เทียบเท่า iPhone รุ่นล่าสุด แบบเรือธงเลยล่ะ ซึ่งการปรับเช่นนี้มีทั้งการแทรกอยู่ในบท หรือแม้กระทั่งเป็นเชิงอรรถท้ายหน้าก็มี

อาร์มเล่าให้เราฟังว่า เกมดรามาท็อปฮิตของร้านอย่าง ‘บทกวีอำลา’ ซึ่งเป็นไวรัลในโลกโซเชียลตั้งแต่เริ่มเปิดร้านนั้น กว่าจะได้เล่นจริงก็ปาเข้าไปเดือนเมษายน

“ปกติเกมเราจะทำประมาณ 1 เดือนนิด ๆ แต่เกมนี้ทำประมาณ 3-4 เดือนเลย”

“มันยากด้วยความที่ต้องเปลี่ยน setting ใหม่ แล้วก็เนื้อหาของเกมที่แต่ละคนต้องอ่าน 100 กว่าหน้า แล้วเราก็ต้องมา localize ดูบทแปลว่าแปลมาถูกไหม แล้วเทสต์กันอีก“

นอกเหนือจากกระบวนการแปล-แปลงแล้ว การสร้างบรรยากาศก็ช่วยให้ผู้เล่น ‘อิน’ กับบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องสำหรับเล่นเกมที่มีบรรยากาศหลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับฉากในสคริปต์ และคอสตูมที่จัดเตรียมไว้อย่างสอดคล้องกับแต่ละเกม

เหตุผลที่ต้องทำถึงขนาดนี้ ก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เมื่อปล่อยเกมไปแล้ว ผู้เล่นจะเข้าใจบริบทเกมได้มากที่สุด

Narration
จุดเริ่มเล่า

ด้วยความที่เป็น ‘สิ่งใหม่’ กลุ่มลูกค้าของที่นี่จึงเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ตั้งแต่นักศึกษา First jobber ไปจนถึงคนวัยทำงาน ลูกค้าเหล่านี้มีทั้งที่มาคนเดียว และมาเป็นกลุ่ม ซึ่งมีผลต่อการเล่นเกมต่างกัน เช่นเพศของผู้เล่น ที่ผู้เล่นผู้นิยามตนเป็น ‘ชาย’ จะนิยมเล่นเกมสืบสวนสอบสวน ส่วนผู้นิยามตนเป็น ‘หญิง’ จะเลือกเล่นเกมแนวดรามา

“การมาเป็นกลุ่ม บางครั้งอาจจะเป็นข้อดีสำหรับบางเกมที่ทำให้เล่นแล้วก็เข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น แต่บางเกมที่อาจจะต้องเน้นเรื่องอารมณ์ การเล่นกันในกลุ่มที่เป็นเพื่อนสนิทกัน ก็อาจจะทำให้รู้สึกว่า เฮ้ย รู้จักกันมาตั้งแต่แรก แล้วต้องมาเล่นเกมที่ต้อง อินกับบทบาทอาจจะรู้สึกว่าไปได้ไม่สุด ส่วนการมาจากคนละที่คนละทางแล้วมารวมตัวกันเล่นกัน ด้วยความที่ไม่รู้จักกัน แต่ว่ามารู้จักกันในบทบาทของเกม แบบนี้ก็อาจจะทำให้แต่ละคนรู้สึกว่าการเล่นด้วยกันมันดียิ่งขึ้นแล้วมันก็สนุกยิ่งขึ้นด้วย ” 

ทว่าความยากของการมาคนเดียว คือการหา “ตี้” (กลุ่มเล่นเกม) ให้ครบเพื่อมาเล่นเกมที่จำกัดจำนวนผู้เล่น ซึ่งอาจลำบากหากมาหาตี้ที่หน้าร้าน จึงเกิดระบบการ “จอง” สำหรับผู้เล่นที่มาไม่ครบตี้เพื่อให้สามารถเล่นเกมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือแม้กระทั่งทีมงานของร้านเข้าไปช่วยเติมตี้ให้ครบด้วย

สำหรับใครที่กังวลว่าเราไม่มีพื้นฐานเลย จะเล่นสนุกไหม อาร์มตอบว่า DM จะเข้ามาเพื่อพูดคุยแนะนำการเล่นเกม และช่วยไกด์ให้การเล่นเกมเป็นไปอย่างราบรื่น แต่หาก DM เห็นแล้วว่าผู้เล่นอาจไม่อินก็มีสิทธิยกเลิกการเล่นเกมนั้นได้ แต่ก็เกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ ซึ่งมักเกิดจากการที่ลูกค้าเล่น “ข้ามขั้น” เราจึงลองขอคำแนะนำว่ามีเกมไหนเหมาะสมกับผู้เล่นใหม่บ้าง

อาร์มแนะนำเรา 2 เกมด้วยกัน

เกมแรก ‘ความทรงจำสีจาง’ – ตามหาว่าใครฆ่าคุณ และตัวตนของคุณที่หายไป ผ่านเศษเสี้ยวความทรงจำ เหมาะสำหรับผู้เล่นที่ชอบแนวสืบสวนสอบสวน

และเกมที่สอง ‘น้ำตานางเงือก’ – สืบคดีการตายของนางเงือก ที่เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 2 อาณาจักรที่ต้องมาช่วยกันสืบว่าใครเป็นฆาตกร เหมาะสำหรับผู้เล่นสายโรลเพลย์ ซึ่งเราขอกระซิบว่า สนุกและเข้มข้นมาก ๆ ใครที่ชอบปั่นเพื่อนเล่นต้องชอบแน่นอน

ส่วนเกมระดับยากขึ้นอย่าง ‘บทกวีอำลา’ หรือ ‘แม่น้ำริคาวะ’ ซึ่งเป็นเกมสืบสวน-ฆาตกรรม ก็จะต้องอ่านสคริปต์ที่ยาวขึ้น ซับซ้อนขึ้น และใช้เวลาในการเล่นนานมากขึ้น เกมเหล่านี้จึงเรียกร้องประสบการณ์ในการเล่นมากขึ้น

ส่วนเกมที่ออกใหม่ล่าสุดประจำเดือนนี้รับวันฮัลโลวีนอย่าง ‘ยามเที่ยงคืน’ ที่มีทั้งความหลอน พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (?) และประกาศตามหา ‘คนหาย’ หน้าร้าน

“อันนี้ยังสปอยล์ไม่ได้ ทุกคนต้องลองมาเล่นเอง” อาร์มท้า

ซึ่งตัวชี้วัดประสบการณ์เหล่านี้ คือ “การอ่าน” เนื่องจากสคริปต์ที่มีความยาว และมีรายละเอียดยิบย่อยที่มีผลต่อเกมทั้งสิ้น! ผู้เล่นจึงต้องใช้การอ่านเพื่อจับใจความสถานการณ์ ที่หากหลุดแล้วอาจทำให้ต่อไม่ติด และอาจเสียความสมูธในการเล่น ไปจนถึงหลุดออกจากเกม

อีกหนึ่งทักษะที่เข้ามาช่วยเรื่องนี้คือ ‘การสวมบทบาท’ อันเป็นทักษะต่อเนื่องจากการอ่านและจับใจความ ซึ่งผู้เล่นก็มีทั้งสายเล่นเกมซึ่งสนุกกับการเล่นไปกับเนื้อเรื่อง และสายสวมบทบาทที่มาเพื่อสนุกกับการเป็นตัวละครที่ตนได้รับ ในอนาคตเกมที่จะปล่อยออกมาจึงต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้เล่นทั้งสองสาย แต่อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าหลักแล้ว คลับแห่งความสนุกแห่งนี้ได้ต้อนรับลูกค้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนในสายงานการแสดงที่มาเล่นแบบได้ประโยชน์สองต่อ คือทั้งแสวงหาความเพลิดเพลินและฝึกตัวเองไปในตัว รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาสัมผัสประสบการณ์แบบนี้ในเมืองไทยด้วย

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ แม้ Scriptmurder จะเป็นเกมเนื้อเรื่อง ทว่าก็มีผู้เล่นที่เข้ามาเล่นเกมซ้ำด้วย ขัดกับธรรมชาติของเกมเหล่านี้ที่มักไม่ให้เล่นซ้ำ เนื่องจากผู้เล่นจะรู้เรื่องราวของเกมจนทะลุปรุโปร่ง

“เรามีสถิติการเล่นซ้ำคือ 4-5 รอบในเกมเดียว คือเกมดรามาในร้านเรามีลูกค้าที่มาเล่นตัวละครหนึ่งแล้วเขาชอบมาก เขาก็เลยอยากเล่นตัวละครที่เป็นคู่กันอยากรู้ว่า background ของตัวละครที่คู่กับเขาเป็นยังไง เขาถึงแอคชั่นกับเราแบบนี้ พอเล่นคู่นี้เสร็จแล้ว อยากไปเล่นคู่อื่นบ้าง ก็มาลงเกมเดิม เล่นให้ครบทุกคู่”

จากการเล่นเช่นนี้ ทำให้ทางทีมค้นพบว่า Scriptmurder สามารถเล่นซ้ำได้ ในมิติที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสองแบบ

แบบแรก คือ ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น

“หลายคนอาจจะมองว่าเกมมันเป็นเกมที่เล่นเพื่อสนุกอย่างเดียว แต่ว่าสำหรับเราเนี่ย เรามองว่า เกมมัน ทุกเกมเลยดีกว่า มันมีบทสอนใจ หรือว่า ‘สอนให้รู้ว่า’ อยู่ทุกเกม เพราะว่าบางเรื่องมันดูโหดร้ายมาก ๆ แต่ว่าเราได้เรียนรู้จาก มันเหมือนกับการที่แบบว่า แต่ละเกมมันใส่จิตวิทยาเข้าไป หรือว่าคำพูดที่มันสอนเราเข้าไปด้วย อย่างบางเกมที่มันเป็นเกมที่โหดมาก มีการฆ่าฟันกันแบบโหดร้ายมาก ๆ เนี่ย แต่สุดท้ายมันก็จะสรุปให้เห็นว่า ชีวิตจริง ๆ มันเป็นยังไง ซึ่งมันเป็นโลกที่บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องไปเจอเอง แต่ว่าเรามาพบเจอในเกมนี้ แล้วก็เรียนรู้มันเองได้”

และแบบที่สอง คือตอนจบอีกรูปแบบ ซึ่งหลายเกมในร้านมีตอนจบมากกว่า 1 ตอนจบ

พอพูดเช่นนี้แล้ว เราถึงกับหูผึ่ง คิดถึงประสบการณ์การเล่นเกมของคนรอบตัวที่ไปเจอ ‘ตอนจบลับ’ ที่หักปากกาเซียนผู้เล่นสุด ๆ ซึ่งทางทีมตอบเราว่า บางเกมในร้าน “มี” ตอนจบนี้ แต่ยังไม่มีใครเดินทางไปถึง แม้กระทั่งทีมทำร้านเองด้วยซ้ำ!

Investigation
จุดเริ่มลุ้น

แม้เราจะพูดถึงความสนุกท้าทายของเกม Scriptmurder แต่อีกสิ่งที่ท้าทายไม่แพ้กันคือการเริ่มรันวงการของ SoFun Club ที่เรียกได้ว่าน่าลุ้นทีเดียว

ข้อแรก สิ่งที่ท้าทายการทำร้านคือการสู้กับวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย ที่มีเสียงวิพากษ์มาตลอดว่า “คนไทยอ่านน้อย”

“เราจะเห็นสถิติที่บอกว่า คนไทยไม่ชินกับการอ่าน แต่เกมร้านเรา เน้นเรื่องของการอ่านมาก ๆ และการจับใจความซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ซึ่งเรื่องนี้บริบทของคนไทยมันเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับร้านเราที่เราต้องทำให้เขาเข้าถึงเรื่องนี้ให้ได้

เกมนี้มันจะเป็นเกมที่ไม่ต้องไขคดีเแต่ว่าเป็นเกมที่ต้องอ่านเนื้อเรื่องของตัวละครที่มีร้อยกว่าหน้า แล้วนั่งอ่าน จับใจความเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ แล้วออกมาเล่าให้กับทุกคนได้ ถ้าสมมติว่าเราไม่ชินกับการอ่านหนังสือเยอะ ๆ มันจะทำให้เราหลุดไปเลยได้

เพราะว่าบางทีอาจจะทำให้ผู้เล่นตัวละครที่เป็นต้องส่ง รับ-ส่งกับเราก็จะพลาดข้อมูลบางอย่างไป แล้วทำให้ไปต่อไม่ได้ หรือว่าเกมแนวสืบคดีอีกเกม ที่เรียกได้ว่า expert หรือ hard ที่สุดในร้านเรา ชื่อว่า แม่น้ำริคาวะ เกมนี้เป็นเกมที่มือใหม่มาเล่น แต่ว่าเหมือนเขายังไม่เคยเจอเกมในร้านที่มันขนาดนี้ เขาก็หลุดออกไปจากกลางเกมเลย”

ซึ่งการหลุดกลางเกมอาจเกิดขึ้นแม้กระทั่งตอนที่คุณเข้าใจเนื้อเรื่องแล้วเช่นกัน โดยหากผู้เล่นเข้าใจเนื้อเรื่องก็สามารถด้นสดได้ ทักษะการด้นสดจึงเป็นอีกทักษะที่จำเป็น โดย DM จะร่วมเข้าไป ‘เล่น’ ในบางเกมด้วย เพื่อดันให้ทุกคน ‘เชื่อ’ และสามารถ ‘เล่น’ ได้ ยิ่งเกมยากเท่าไหร่ DM ก็จะยิ่งเล่นใหญ่ขึ้น สร้าง standard ให้ผู้เล่นตามไปต่อในเนื้อเรื่องได้

อีกสิ่งที่ท้าทายร้าน คือกระบวนการการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเกม Scriptmurder ให้ชัดเจน 

อย่างที่เราบอกตั้งแต่ต้นว่า ในยุคที่ทุกอย่างรวมอยู่ในโซเชียลมีเดีย ทุกอย่างจึงสามารถหาได้ด้วยปลายนิ้ว วิธีการสื่อสารกับผู้คนของ SoFun Club จึงเน้นไปที่การใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างมีกลยุทธ์

ตอนนี้ทางร้านมีโซเชียลมีเดีย 3 ช่องทาง ที่นำเสนอรูปแบบเนื้อหาแตกต่างกันไป คือ TikTok – ช่องทางสื่อสารหลักของร้าน ทำหน้าที่ไฮไลต์เกมต่าง ๆ ตอบคำถามในเรื่องที่ต้องรู้ รวมถึงแนะนำเกมใหม่ ๆ ที่ออกใหม่ของร้าน Facebook – ชี้แจงข้อมูลสำคัญ ๆ ของร้าน รวมถึงคอนเทนต์ประชาสัมพันธ์แนว “โบ๊ะบ๊ะ” ส่วน Instagram เป็นช่องทางลงภาพบรรยากาศและข้อมูลในรูปแบบกราฟิก

วิธีการนำเสนอเนื้อหาเหล่านี้สกัดมาจากการเก็บข้อมูลว่า ผู้ชมมีปฏิกิริยาอย่างไรกับคอนเทนต์แต่ละชิ้นที่ลงไปในแต่ละช่องทาง ซึ่งพบว่า กลุ่มผู้ใช้ของโซเชียลมีเดียแต่ละกลุ่มจะตอบสนองต่อคอนเทนต์ต่างรสกัน ซึ่งแน่นอนว่าการตอบสนองเหล่านี้มีทั้งแง่บวก และแง่ลบ มีทั้งเข้าใจ และไม่เข้าใจ

“ความยากของเราคือเรื่องของการทำให้คนทั่วไปเข้าใจ Scriptmurder ซึ่งใหม่มาก การที่จะบอกเขาว่า เฮ้ย มันเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนบอร์ดเกม เป็นสิ่งที่ไม่เหมือนอะไรที่เคยเจอมา เป็นสิ่งที่ท้าทายเราเหมือนกัน” 

“ส่วนคอมเมนต์เชิงลบ ถ้านับรวมตั้งแต่จนถึงปัจจุบันก็มีเยอะเหมือนกัน แต่เราเข้าใจเขาได้ครับผม เพราะว่าเขาไม่ได้เข้าใจเกมชัดเจนขนาดนั้น หรือว่าบางข้อมูลที่เขาดูในคลิปหนึ่งมันสื่อสารไม่ได้ทั้งหมด เขาก็เลยคิดว่ามันอาจดูไม่มีประโยชน์หรือเปล่า” อาร์มเล่าถึงปัญหา 

“จริง ๆ มันยากตรงที่จะพูดยังไงให้คนเข้าใจว่า Scriptmurder เป็นเกมสวมบทบาทที่ต้องมาไขคดี ต้องอ่าน แต่บางครั้งบางคนเขาจะรู้สึกว่า ทุกเกมที่ร้านต้องร้องไห้ ก็เลยคิดว่าการ educate ผู้คนให้เข้าใจ Scriptmurder มันก็ไม่ได้ง่าย เราเลยแก้ปัญหาด้วยการที่ว่า พอเราเจอคอมเมนต์คำถามที่หลายคนถามเหมือนกัน เราก็ตอบเป็นวิดีโอไปเลย เพื่อกระจาย awareness ให้คนเข้าใจ Scriptmurder มากขึ้น” 

แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม สิ่งที่ทางร้านอยากใช้เพื่อสร้างความเข้าใจที่แม่นยำมากที่สุด คือการ ‘มาลองด้วยตัวเอง’ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งทีเดียว

Conclusion
บทสรุป (ที่ไปต่อ)

ว่ากันว่าปีแรกคือปีที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกสิ่ง เพราะเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตของสิ่งนั้น ๆ

ธันวาคมนี้ SoFun Club จะมีอายุครบขวบปีแรก เราจึงถามถึงความประทับใจของทีมงานร้าน Scriptmurder แห่งนี้ในช่วงเกือบขวบปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง

“เรามองว่าเป็นเรื่องของ ‘ลูกค้า’ ที่เกินคาดมาก ที่เขาเป็นคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่งมาก แม้จะมาจากคนละทิศคนละทาง แต่ว่าพอมารวมกันที่ร้านเราแล้วกลายเป็นเพื่อนสนิทกันได้เลย นอกจากมาเล่นเกมเราแล้ว เกมจบแล้วเขาก็ไปเที่ยวด้วยกัน ไปทำกิจกรรมด้วยกัน เหมือนกับว่ากลายเป็นเพื่อนสนิทกัน”

“เท่าที่เห็น มีลูกค้ามาคนเดียว แล้วก็มาเล่น แล้วเจอตี้นี้ก็คือ เฮ้ย ตี้นี้ดีจังเลย รู้สึกเล่นแล้วสนุกด้วย ก็จะเริ่มนัดกัน แล้วก็รวมกลุ่มกัน แล้วก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ บางคนเล่นกับกลุ่มนี้เสร็จแล้ว เพื่อนคนนึงชวนเพื่อนมา add กลุ่มนี้ แล้วกลุ่มนี้น่าสนใจ ไป add กลุ่มนู้น สลับกลุ่มไปเรื่อย ๆ อันนี้เป็นสิ่งที่คนทำร้านอย่างเราคิดว่าเราสามารถสร้างลูกค้าที่มีความสนิทสนมกันมากขนาดนี้ได้”

ส่วนก้าวต่อไปที่ร้านอยากก้าว คือการมีพื้นที่ที่มากขึ้น ทั้งด้านกายภาพ เวลา และการสร้าง “งาน” อันเนื่องมาจากเกม

“เราอยากได้ร้านที่ใหญ่กว่านี้ จะได้รองรับลูกค้าได้เยอะกว่านี้มีห้องให้ลูกค้าเล่นได้เยอะกว่านี้ หรือแม้กระทั่งเรื่องของเวลาที่มันต้องใช้เวลาในการเล่นนาน หลายคนอาจจะรู้สึกว่า อยากมาเล่น แต่ติดเรื่องเวลา 

อีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากทำคือ เราอยากทำให้ Scriptmurder สร้างอาชีพ scriptwriter หรือว่าคนเขียนเกมแล้วสร้างเกมขึ้นในประเทศไทยโดยที่อาจจะ collab กับร้านเราแล้วก็สร้างเกม Scriptmurder มาให้คนไทยเล่นโดยที่เป็นของคนไทยจริง ๆ” 

ได้ยินคำตอบเช่นนี้ เราจึงไม่ลังเลที่จะถามถึงอนาคตของวงการเกมนี้กับอาร์มว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

“ผมมองว่า นอกเหนือจากการเล่นเพื่อความบันเทิง ถ้าในอนาคตเราสามารถผลิตหรือพัฒนาเกมของเราไปสู่อุตสาหกรรมที่หลากหลาย ก็คงจะดี อย่างการท่องเที่ยวด้วยความที่เรามาทำให้เกม relate กับสถานที่ได้ อะไรอย่างงี้ เราก็อาจจะทำให้เกมของเราสักเกมหนึ่งมีโลเคชันในประเทศไทย แล้วเราเข้าไปเล่นในสถานที่นั้นจริง ๆ ก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย แล้วเรามองว่า tabletop game ถ้ามองในแง่การขยายธุรกิจ อาจช่วยส่งเสริมทุกอย่างในประเทศให้มันเติบโต ก็คิดว่ามันน่าจะไปได้ไกล

สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักกัน ก็อยากให้มาลองมากกว่า เพราะว่า Scriptmurder สำหรับเรามันเป็นบอร์ดเกมอยู่แล้ว แล้วก็มันเป็นสิ่งที่เป็นประสบการณ์แบบใหม่ ทุกคนควรลองสักครั้ง เพื่อที่จะทำให้รู้ว่า ความสุขหรือความบันเทิงในโลกนี้ ไม่ได้มีแค่สิ่งที่เราเคยเจอในชีวิตประจำวันอย่างการร้องเพลง การไปเดินเล่น ไปเที่ยวกับเพื่อนเท่านั้น แต่ว่าการมาใช้เวลากับเพื่อนเพื่อมาเล่น Scriptmurder จะเปิดประสบการณ์แบบใหม่ ความรู้สึกใหม่ แล้วก็สังคมใหม่ให้ทุกคนแน่นอนครับ” อาร์มทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

หลังจากกดหยุดเครื่องมืออัดเสียง เราจัดแจงลงไปแต่งตัวเพื่อทดลองเล่นเกมพร้อมกับเพื่อนร่วมทีม ซึ่งเราลงความเห็นเช่นเดียวกับบทสรุปของบทสัมภาษณ์นี้

Scriptmurder สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับเราจริง ๆ

ปล. สำหรับผู้อ่านที่สนใจ ทางร้านฝากบอกว่าจะต้องมีอายุ  16 ปีขึ้นไปนะ เนื่องจากหลายเกมมีเนื้อหาที่รุนแรง หากผ่านเงื่อนไขนี้ ก็สามารถจองได้ทาง Line OA ของทางร้านเลย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า