fbpx

มองอีกมุม “เหตุกราดยิง” เมื่อ “เรื่องเพศ” อาจเป็นปัจจัยให้ผู้ชายถือปืนไล่ยิงคน

กลายเป็นเหตุสะเทือนขวัญคนไทยทั้งประเทศ สำหรับเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าชื่อดังใจกลางกรุง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมด 7 ราย ในขณะที่สังคมต่างโศกเศร้ากับความสูญเสียและหวาดกลัวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันต่อคือ “แรงจูงใจ” ที่ทำให้ผู้ก่อเหตุตัดสินใจนำปืนออกมาไล่ยิง “คนแปลกหน้า” ในพื้นที่สาธารณะเช่นนี้

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการหาแรงจูงใจ “ที่ชัดเจน” ของการก่อเหตุกราดยิงช่างเป็นเรื่องยากเย็น ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ “ถูกขับเคลื่อน” ด้วยเหตุปัจจัยที่หลากหลาย และอาจจะไม่สามารถหยิบยกปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งมาเป็นเหตุจูงใจให้เขาคนนั้นตัดสินใจก่อเหตุรุนแรงได้เลย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยและการศึกษามากมายเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ เมื่อ “เหตุกราดยิง” ส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับ “การเหยียดเพศ” และ “ความรุนแรงในครอบครัว” The Modernist ชวนมองอีกมุมของ “เหตุกราดยิง” ที่สาเหตุเบื้องหลังอาจมีความเชื่อมโยงกับ “เรื่องเพศ” อย่างที่สังคมไม่ทันรู้ตัว

ความรุนแรงในครอบครัว: สารตั้งต้นเหตุกราดยิง

หากมองเหตุการณ์กราดยิงในสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เราจะพบว่าหลายครั้งที่ผู้ก่อเหตุมีประวัติการใช้ “ความรุนแรงในครอบครัว” เช่น เหตุกราดยิงไนท์คลับในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา เมื่อปี 2016 และทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 ราย ผู้ก่อเหตุคือชายที่เคยใช้กำลังทำร้ายภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ของตัวเอง หรือเหตุกราดยิงโบสถ์ในชัตเทอร์แลนด์สปริงส์ รัฐเท็กซัส ปี 2017 และมีผู้เสียชีวิต 26 คน ผู้ก่อเหตุก็มีประวัติใช้ความรุนแรงกับภรรยาและลูกเลี้ยงของเขา เป็นต้น

จากสถิติเหตุกราดยิง อย่างน้อย 22 ครั้ง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2011 ในสหรัฐฯ พบว่า 86% ของผู้ก่อเหตุทั้งหมดมีประวัติการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และ 32% มีประวัติสตอล์กเกอร์หรือคุกคาม “ผู้หญิง” มาก่อน ขณะที่ข้อมูลจาก Moms Demand Action for Gun Sense in America ก็ระบุว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2009 – 2017 มีเหยื่อเป็นภรรยาหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ก่อเหตุเอง 

ทั้งนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่ง (50%) ของผู้ก่อเหตุกราดยิง เลือกลงมือโดยพุ่งเป้าไปที่ผู้หญิง

สิ่งหนึ่งที่คนไม่ค่อยสนใจหรืออาจจะไม่ทันได้ฉุกคิดคือ ผู้ก่อเหตุกราดยิงส่วนใหญ่มักเป็น “ผู้ชาย” แต่ทำไมผู้ชายจึงมักจะกลายเป็นผู้ก่อเหตุที่แสนเลวร้ายเหล่านี้? 

อินเซล: กลุ่มชายเหยียดเพศที่เกลียดผู้หญิง

งานวิจัยระบุว่า นอกจากการใช้อาวุธปืนที่เหมือนกันแล้ว ความเชื่อมโยงของเหตุกราดยิงหลายเหตุการณ์คือ ผู้ก่อเหตุมีประวัติแสดง “ความเกลียดชังผู้หญิง” หรือมีความเชื่อเรื่อง “การเหยียดเพศ” ซึ่งพวกเขามักจะพูดคุยหรือแบ่งปันเรื่องราวกันทางโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้คือปัจจัยที่นำไปสู่การก่อเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นมากมายในสหรัฐฯ โดยมีความเชื่อมโยงถึงกลุ่ม “อินเซล (Incels)” ที่กลายเป็นกลุ่มออนไลน์ที่มีอิทธิพลมากต่อระบบความคิดของผู้ชายบางคนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

กลุ่มอินเซล (Incels) เป็นคำย่อของคำว่า Involuntary Celibate หรือโสดโดยไม่สมัครใจ ถือเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยบนโลกออนไลน์ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ชายได้ระบายความโกรธหลังโดนผู้หญิงปฏิเสธ แสดงออกถึงความคับข้องใจหรือความเกลียดชังที่มีต่อพวกผู้หญิง เกลียดชังเพื่อนมนุษย์ เกลียดชังตัวเอง เปิดเผยอคติทางเชื้อชาติ ไปจนถึงบอกเล่าจินตนาการการใช้ความรุนแรง และเฉลิมฉลองเหตุกราดยิงในกลุ่มพูดคุยของอินเซลด้วยกัน 

“ผู้ชายกลุ่มนี้มีความโกรธแค้น พวกเขาพร้อมที่จะตาย และพวกเขาก็มีความเจ็บปวดทางใจตั้งแต่ยังเด็ก รวมถึงมีชีวิตที่แสนยากลำบาก ผู้ชายเหล่านี้จึงอยู่ในจุดที่ต้องหาบางสิ่งหรือบางคนมากล่าวโทษ และสำหรับบางคน พวกเขาก็เลือกที่จะกล่าวโทษพวกผู้หญิง” จิลเลียน ปีเตอร์สัน นักจิตวิทยาผู้ก่อตั้ง Violence Project ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The New York Times

Femicide เพราะเป็นหญิงจึงต้องตาย

Femicide หรือในภาษาไทยใช้คำว่า “อิตถีฆาต” เป็นพฤติกรรมจงใจฆาตกรรมผู้หญิง เพียงเพราะพวกเธอเป็นผู้หญิง ถือเป็นเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิตที่มีแรงจูงใจเกี่ยวกับเพศสภาพ ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชาย และเป็นอาชญากรรมทางเพศที่เลวร้าย

Femicide สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ Intimate Femicide (อิตถีฆาตคนใกล้ตัว) และ Non-intimate Femicide (อิตถีฆาตคนแปลกหน้า) โดยประเภทแรกคือการฆาตกรรมผู้หญิงที่เป็นคนรัก อดีตคนรัก หรือคนในครอบครัว ขณะที่ประเภทหลังคือการฆาตกรรมผู้หญิงที่ตัวผู้ก่อเหตุไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ด้วย หรือไม่รู้จักกันมาก่อน ซึ่งหมายรวมได้ถึงการฆ่าผู้หญิงในช่วงสงครามความขัดแย้ง การฆ่าเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของครอบครัว การฆ่าผู้หญิงเนื่องจากเชื้อชาติและเพศสภาพของพวกเธอ ไปจนถึงการฆ่าผู้หญิงโดยได้รับอิทธิพลจากผู้หญิงที่สวมบทบาท “ผู้ปกป้องระบบ” และการฆ่าผู้หญิงข้ามเพศ 

ปัญหาการฆาตกรรมผู้หญิงเพราะเหตุแห่งเพศกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ต้องการได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากการรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNDOC) ระบุว่า ในปี 2560 มีผู้หญิงราว 87,000 คน ถูกฆาตกรรมจากเหตุดังกล่าว และผู้ก่อเหตุล้วนแล้วแต่เป็น “เพศชาย” ทั้งสิ้น

ใดๆ ในโลกล้วนความเป็นชายเป็นพิษ

ความรุนแรงที่กระทำโดยเพศชายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ข่าวหญิงสาวถูกคนรักฆาตกรรมมีผ่านตามาให้เห็นแทบทุกสัปดาห์ จนคล้ายกับว่ามันคือ “เรื่องปกติธรรมดา” ของสังคม ไม่มีใครตั้งคำถามถึงสาเหตุที่แท้จริงของความรุนแรงหรือ “ความคาดหวังของสังคม” ที่ผู้ชายต้องแบกรับเอาไว้ และมันก็หนักหนามากเกินไป จนพวกเขาไม่สามารถอดทนอดกลั้นกับสิ่งนั้นได้อีกแล้ว มันจึงนำพวกเขาไปสู่ “ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity)” ที่ทำร้ายคนทุกเพศในสังคม

โดยเฉพาะผู้หญิง

ความเป็นชายในสังคมโลกถูกเชื่อมโยงกับการแสดงออกถึงความเป็นผู้นำ ต้องมีอำนาจ ต้องเข้มแข็ง ต้องมีเหตุผล ห้ามร้องไห้ ห้ามอ่อนแอ เป็นผู้ชายต้องประสบความสำเร็จ ต้องพึ่งพาได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องพิสูจน์ “ความแมน” ของตัวเองผ่านการแสดงออกและพฤติกรรมต่างๆ หากคุณฟิตอยู่ในกรอบเหล่านี้ ยินดีด้วยคุณคือ “ชายแท้” ที่สังคมจะยกย่องบูชา

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการจะใช้ชีวิตให้อยู่ในกรอบความเป็นชายของสังคมตลอดเวลาย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ชายเช่นกัน ขณะที่สังคมก็กดทับและคาดหวังว่าผู้ชายต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่ปัจจัยย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย และนั่นนำไปสู่ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) ผลิตผู้ชายที่ทำร้ายคนอื่นออกมามากมาย

ความกดดันของสังคมที่ผู้ชายแบกรับสะท้อนออกมาในงานวิจัยของ Priory Group ที่ระบุว่า ผู้ชายมากกว่า 40% ไม่เคยเล่าปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองให้คนอื่นฟังเลย แม้พวกเขาต้องทนทุกข์กับอาการวิตกจริต ภาวะเครียด หรือโรคซึมเศร้า เพราะพวกเขารู้สึกไม่อยากเป็นภาระของใคร พวกเขารู้สึกอับอายที่จะต้องพูดเรื่องนี้ หรือแม้แต่คนในสังคมของพวกเขาตีตราว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องผิดปกติ 

แน่นอนว่าผู้เขียนเองคงไม่สามารถฟันธงได้ว่าแรงจูงใจของการกราดยิงที่เกิดขึ้นคืออะไร แต่การมองเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในแง่มุมที่แตกต่างออกไป ก็อาจจะทำให้สังคมได้มองเห็นปัญหาที่มีอยู่จริงและมองสิ่งที่เกิดขึ้นได้รอบด้านมากขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว แม้เรื่องนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศเลย แต่เหตุการณ์อื่นก่อนหน้าที่เคยเกิดขึ้นในแต่ละมุมโลกก็มีคุณค่าให้พวกเราได้มองดูเป็นตัวอย่าง เรียนรู้ และหาวิธีป้องกัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว การป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้น ก็คงจะดีกว่าการกลับมานั่งเสียใจเมื่อสังคมเกิดความสูญเสียที่ “อาจจะ” ยิ่งใหญ่กว่าที่เคย

เรื่อง : ณัฐฐฐิติ คำมูล

reference : motherjones / open-access / unwomen / cnn / nytimes / npr / sanook

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า