fbpx

ส่อง “ฟอนต์ประจำชาติ” ทั่วโลก ว่าแนวคิด, ที่มา และจุดเด่นสะท้อนความเป็นชาติคืออะไร

ตั้งแต่เด็กจนโต เชื่อเหลือเกินว่าเราทุกคนล้วนพบเห็นตัวอักษรกลม ๆ มน ๆ ที่ชื่อ ‘TH Sarabun PSK’ มาจนชินตา ในฐานะที่มันเป็นฟอนต์มาตรฐานราชการไทย ที่หมายความกลาย ๆ ได้ว่าเป็นฟอนต์ประจำชาติของเราอยู่ในตอนนี้ และนับเป็นเวลากว่า 13 ปีแล้วจากวันประกาศใช้วันแรกเมื่อ พ.ศ. 2553 ที่ประเทศไทยเรามีฟอนต์ประจำชาติตัวนี้ประจำการอยู่

เพราะฟอนต์คือน้ำเสียงที่ทำให้ข้อความมีความหมายและพลัง เราเลยอยากพาคุณไปลองมอง ‘ฟอนต์ประจำชาติ’ ของชาติอื่น ๆ บนโลกนี้กันว่าพวกเขาใช้ฟอนต์อะไรกัน มีที่มาอย่างไร และเมื่อเทียบเคียงกับประเทศไทยแล้ว การคัดเลือกฟอนต์เหล่านั้นมาใช้ สะท้อนแนวคิดโดยรวมอะไรให้กับประเทศนั้น ๆ บ้าง

‘Sweden Sans’ – ฟอนต์ประจำชาติ ‘สวีเดน’

เคยได้ยินคำจำพวก ‘สยามเมืองยิ้ม’ ‘ไทยแลนด์โอนลี่’ กันบ้างหรือเปล่า คำเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในคำจำกัดความของประเทศไทยได้แบบเฉียบคม และเรียบง่าย ประเทศสวีเดนก็เหมือนกัน พวกเขามีคำจำกัดความประเทศของเขาว่า ‘Lagom’

‘Lagom’ (อ่านว่า ลาว-กอม) หมายความว่า “ไม่มาก และไม่น้อยเกินไป อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม” ในสวีเดนนั้นคำนี้จัดอยู่ในจำพวกคำสอนเชิงปรัชญาเลยก็ว่าได้ เป็นคำที่สื่อถึงความสมดุลในทุกด้าน และช่วยให้ชีวิตประจำวันของผู้คนในสวีเดนนั้นกลับมาอยู่ในทางที่เหมาะที่ควรมากขึ้น คล้ายคลึงกับคำว่า ‘ทางสายกลาง’ อย่างไรอย่างนั้น

จึงเกิดเป็นแนวคิดของการสร้างสรรค์ฟอนต์ประจำชาติสวีเดนเมื่อ ค.ศ. 2013 ผ่านไอเดียความ “ไม่มาก และไม่น้อยเกินไป อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม” โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้องค์กรของสวีเดนสื่อสารระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลสวีเดนจึงได้ว่าจ้างดีไซน์เอเจนซี่มือหนึ่งในสต็อกโฮล์มอย่าง ‘Söderhavet’ เพื่อให้มารับหน้าที่ในการแปลงคำว่า ‘Lagom’ ให้กลายเป็นฟอนต์ประจำชาติของพวกเขา

‘Jesper Robinell’ หัวหน้าฝ่ายออกแบบของ Söderhavet ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ถึงไอเดียหลักในการออกแบบว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากการสังเกตธงชาติที่มีเครื่องหมายกากบาทสแกนดิเนเวียสีเหลืองตัดกับพื้นหลังสีน้ำเงิน จากนั้นจึงต่อยอดไอเดียว่ามันจะกลายมาเป็นตัวอักษรต่าง ๆ ได้อย่างไร

เขาจึงเริ่มสร้าง Moodboard เพื่อคลุมไอเดียที่ฟุ้งกระจายให้อยู่ในกรอบ โดยมีรูปภาพต่าง ๆ และตัวอย่างฟอนต์ภาษาสวีเดนบนป้ายบอกทางเก่าในยุค ค.ศ. 1940 – ค.ศ. 1950 เป็นสารตั้งต้น

จากนั้นเขาจึงเริ่มต้นสร้างชุดตัวอักษรที่เน้นความเรขาคณิตให้มากที่สุด เพื่อให้ฟอนต์มีความเป็นรูปแบบ Sans Serif โดยผสมผสานความไม่มาก-ไม่น้อยไปในตัวอักษรบางตัว อย่างเช่นตัว ‘Q’ ที่ในฟอนต์ทั่วไป หางตัวอักษร Q จะถูกห้อยไว้และเอียงไปทางด้านขวา แต่ใน Sweden Sans ไม่ใช่แบบนั้น เพราะมันห้อยดิ่งลงมาตรงกลางแทน หรืออย่างตัวเลข ‘0’ ก็มีการใส่ขีดคั่นลงไปตรงกลาง เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างความสับสนกับตัว ‘O’ (โอ)

ตัวอย่างฟอนต์ ‘Sweden Sans’ น้ำหนักปกติ ( Regular) – ภาพจาก macrhino

ผลจึงได้ออกมาเป็นฟอนต์ ‘Sweden Sans’ ฟอนต์ประจำชาติสวีเดนที่มาพร้อมกับ 4 น้ำหนัก คือ กึ่งบาง (Book), ปกติ (Regular), กึ่งหนา (Semibold) และหนา (Bold) โดยมีลักษณะของตัวอักษรแบบเรียบง่าย ความหนาของเส้นสม่ำเสมอทั่วทุกตัวอักษร เหมือนกับเส้นกากบาทบนธงชาติที่ตั้งต้นไว้ในไอเดียแรก

ตัวอย่าง Brand guildlines ขององค์กรรัฐประเทศสวีเดน – ภาพจาก identity.sweden.se

มากไปกว่านั้น ดีไซน์เอเจนซี่ ‘Söderhavet’ ยังออกแบบทั้งหมดให้อยู่ใน Brand guildlines หรือเป็นระบบอัตลักษณ์ที่ชัดเจนประจำชาติไปเลย มีมาทั้งโลโก้องค์กรรัฐ ขอบเขตการใช้งาน ค่าสีหลัก-สีรอง ฟอนต์หลัก-รอง จนไปถึงขอบเขตของงานกราฟิก งานภาพประกอบ และงานวิดีโอเคลื่อนไหวเลยทีเดียว

จุดเด่นนี้สะท้อนความเป็นสวีเดนได้เป็นอย่างดี เพราะในแง่หนึ่ง World Economic Forum เคยกล่าวถึงประเทศสวีเดนไว้เมื่อช่วงต้น ค.ศ. 2017 ว่าเป็นประเทศที่เอาชนะประเทศอื่นแทบทุกอย่าง

ทั้งเคยเป็นอันดับที่ 6 ของดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (Global Competitivenes Index) ติดอันดับที่ 4 ของการจัดอันดับประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นต่ำที่สุดในโลก เคยเป็นอันดับที่ 1 ของการจัดอันดับประเทศที่เหมาะแก่การทำธุรกิจมากที่สุด จากที่ใน ค.ศ. 2007 สวีเดนเคยอยู่ในอันดับที่ 17 และที่สำคัญสวีเดนเป็นประเทศที่จัดการเรื่องความเท่าเทียมทางเพศได้ดีติดอันดับโลก

แนวคิดทันสมัยที่มาก่อนกาลหลาย ๆ อย่าง ล้วนทำให้ประเทศสวีเดนเป็นประเทศที่น่าอยู่ขึ้นเรื่อย ๆ

วิธีการคิด Brand Guidelines ของประเทศอันนี้ก็เช่นกัน พวกเขาไม่ได้มองประเทศเป็นเพียงประเทศ แต่เป็นองค์กรที่ควรปรับภาพลักษณ์ให้มีมาตรฐานชัดเจนในแง่ของการสร้างอัตลักษณ์ รวมถึงแนวคิดที่มาก่อนกาลตั้งแต่ ค.ศ. 2013 ครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรฐานของการสร้างอัตลักษณ์ให้องค์กรรัฐในประเทศอื่น ๆ ในอีกหลายปีต่อมาด้วยเช่นเดียวกัน

‘Bharat’ – ฟอนต์ประจำชาติ ‘อินเดีย’

เนื่องด้วยทุกวันที่ 15 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันครบรอบวาระที่ประเทศอินเดียเป็นเอกราชจากอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1947 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว ที่อินเดียเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เนื่องในวันครบรอบ 75 ปี ผ่านมหกรรมรื่นเริงทั่วประเทศอินเดีย

และการแสดงวิสัยทัศน์แสนยิ่งใหญ่ของ ‘นเรนทระ โมที’ นายกรัฐมนตรีที่วางเป้าหมายอีก 25 ปีข้างหน้า ใน ค.ศ. 2047 ว่าประเทศอินเดียจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้

จึงทำให้วันแห่งการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่นี้ เหมาะเหลือเกินที่พวกเขาจะสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ผ่านแคมเปญออกแบบ ‘ฟอนต์ประจำชาติ’ ของอินเดียเนื่องในวันครบรอบ 75 ปีแห่งเอกราชของอินเดีย

โดยโปรเจกต์นี้ได้บริษัทเอเจนซี่ดิจิทัล ‘Everest’ ในเครือเอเจนซี่โฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียอย่าง ‘Rediffusion’ เป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบฟอนต์ประจำชาติ ผ่านความต้องการนำเสนอ ‘เนื้อแท้’ ของความแตกต่างหลากหลายในอินเดียให้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ผ่านชุดตัวอักษร

ไอเดียหลักจึงตั้งต้นด้วยการนำเอาชุดตัวอักษรภาษาต่าง ๆ ในอินเดียทั้งหมดเป็นสารตั้งต้น เพื่อหาตัวอักษรที่พอจะดัดแปลง ตัดทอน หรือแต่งเติมรูปร่างให้มีหน้าตาคล้ายกับอักขระภาษาอังกฤษได้ เพื่อทำให้ฟอนต์นี้ไม่เหมือนใคร นำเสนอรากฐาน และแสดงออกถึงความเป็นอินเดียให้ได้ชัด ๆ รวมถึงต้องง่ายต่อการจดจำ และนำเสนอเนื้อแท้ของภาษาอินเดียที่มีมากมายเสียเหลือเกิน ให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกันได้ แน่นอนว่ายากไม่ใช่เล่น

พวกเขาใช้นักออกแบบมาร่วมสร้างสรรค์โปรเจกต์นี้ถึง 5 คน ได้แก่ Virendra Tivrekar, Ajit Rakhade, Rohan Parab, Arif Khan และ Akash Sharma ภายในระยะเวลากว่า 6 เดือน พวกเขาลองผิดลองถูกกับหลากหลายภาษา จนกลั่นออกมาได้เป็นฟอนต์ ‘Bharat’ ที่ลดทอนคำมาจากคำว่า ‘Bharatvarsha’ ที่หมายถึง ‘อินเดีย’ ในภาษาฮินดี

ตัวอย่างฟอนต์ ‘Bharat’ ในการใช้งานจริง – ภาพจาก Rediffusion

ฟอนต์นี้มีเอกลักษณ์สำคัญคือเป็นฟอนต์ที่เกิดจากการรวบรวมองค์ประกอบที่โดดเด่นของตัวอักษร 12 ภาษาในอินเดียเข้าไว้ด้วยกัน เช่น Odia, Tamil, Telugu, Devnagari, Gurmukhi และ Kannada เป็นต้น

อีกหนึ่งกิมมิกสำคัญของฟอนต์ Bharat คือการอนุรักษ์ภาษาดั้งเดิมเอาไว้อย่างครบถ้วน ทั้งการออกแบบของตัวอักษรทั้งหมดที่คำนึงถึงรูปแบบการออกเสียงในภาษาแม่ของอินเดีย หรืออย่างการออกแบบตัวอักษร ‘Q’ ที่เป็นการรวมกันอย่างละครึ่งของพยัญชนะ ‘ka’ และ ‘va’ ในภาษาฮินดี

หากแต่จุดสำคัญที่กลายเป็นข้อบกพร่องใหญ่ของฟอนต์นี้คือ มันมีลีลาที่เยอะเกินไป ซึ่งยากต่อการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ฟอนต์ประจำชาติโดยทั่วไปที่ควรจะเป็นนั้นควรออกแบบมาด้วยลักษณะของตัวอักษรที่อ่านง่าย ไม่ซับซ้อน และใช้ได้ดีไม่ว่าจะขยายใหญ่ หรือย่อให้เล็กก็ยังอ่านออก

แต่ฟอนต์นี้ไม่ใช่แบบนั้น นั่นจึงทำให้ฟอนต์ ‘Bharat’ นี้ไม่ได้ถูกใช้งานแพร่หลายมากนักในความเป็นจริง หากแต่มันก็ยังคงทำหน้าที่ฟอนต์ประจำชาติในแง่ของผลงานศิลปะที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญไว้ได้เป็นอย่างดี

ในมุมมองของผู้เขียน เรามักเห็นความ ‘เยอะแยะมากมาย’ ของประเทศอินเดียมานับไม่ถ้วน ตั้งแต่อุตสาหกรรมบันเทิง เพลง ละครน้ำเน่า หรือภาพยนตร์ที่มีความฉูดฉาดในแง่ของเนื้อหา และเต็มไปด้วยลีลาการนำเสนอที่เข้มข้นทุกรูปแบบ ซึ่งในทางหนึ่งมันก็ถือเป็นลายเซ็นที่สำคัญของชาติอินเดียในสายตาคนทั่วไป

แต่เมื่อความเยอะดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการออกแบบฟอนต์ประจำชาติ กลับไม่ได้ให้ผลดีแบบนั้นสักเท่าไหร่ ถึงแม้ไอเดียจะดี และผสมผสานความเป็นชาติเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน แต่เมื่อมาตรองดูกันที่ผลลัพธ์แล้วนั้น ฟอนต์นี้เอาไปใช้งานได้ยาก ด้วยความเฉพาะตัว ประกอบกับการพยายามยัดทุกอย่างลงไปยิ่งทำให้มันดูเหลี่ยมคมไปหน่อย

หากลดลีลาลงสักนิด เพิ่มความเป็นมาตรฐานลงไปอีกหน่อย ฟอนต์นี้น่าจะได้ชื่อว่าเป็นฟอนต์ประจำชาติอินเดีย ได้อย่างสมบูรณ์แบบกว่านี้เป็นแน่

‘Rijksoverheid Sans & Serif’ – ฟอนต์ประจำชาติ ‘เนเธอร์แลนด์’

จากปัญหาด้านอัตลักษณ์ของหน่วยงานรัฐที่สะเปะสะปะ กระทรวงทั้ง 13 กระทรวง รวมถึงองค์กรของภาครัฐกว่า 175 องค์กร ต่างมีการใช้งานอัตลักษณ์เป็นของตัวเองกันทั้งสิ้น จนทำให้เมื่อถอยมามองภาพรวม มันไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย

จึงเกิดโปรเจกต์ ‘Project 1 Logo’ ที่ต้องการสร้างระบบอัตลักษณ์องค์กรภาครัฐโดยรวมของเนเธอร์แลนด์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้ได้

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่หน่วยงานรัฐของเนเธอร์แลนด์ได้ว่าจ้าง ‘Studio Dumbar’ เพื่อดูแลโปรเจกต์นี้ใน ค.ศ. 2008 พวกเขาใช้เวลากว่า 2 ปี ระบบอัตลักษณ์ทั้งหมดจึงพร้อมใช้งาน ประกอบไปด้วยโลโก้หลักของหน่วยงาน ระบบสีหลัก-สีรอง และ ‘ฟอนต์ประจำชาติ’ ของพวกเขา

ตัวอย่างฟอนต์ ‘Rijksoverheid Sans & Serif’ – ภาพจาก /designworkplan

ซึ่งออกแบบไว้ถึง 2 รูปแบบด้วยกัน นั่นคือ ‘Rijksoverheid Sans’ ฟอนต์ Sans Serif ที่ถูกวางหน้าที่ไว้ให้เป็นตัวหัวเรื่อง หรือตัวพาดหัว รวมถึงใช้เป็นฟอนต์บนระบบป้ายบอกทางทั่วทั้งเมือง และ ‘Rijksoverheid Serif’ ฟอนต์ Serif ที่ถูกวางไว้ให้เป็นตัวเนื้อความ และตัวอักษรที่ใช้สำหรับการออกแบบโลโก้ทั้งระบบ

โดยมี ‘Peter Verheul’ นักออกแบบตัวอักษรชาวดัตช์เป็นผู้ออกแบบ โดยเขาถูกขอให้เลือกใช้ฟอนต์ ‘Versa’ ฟอนต์ที่เขาออกแบบเมื่อ ค.ศ. 2004 เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการพัฒนาฟอนต์ประจำชาติเนเธอร์แลนด์ตัวนี้ขึ้น โดยเหตุผลที่เลือกใช้ฟอนต์นี้ มาจากการเป็นตัวอักษรทรงแคบที่อ่านง่าย เหมาะแก่การพิมพ์บนกระดาษ เพื่อประหยัดพื้นที่ในแต่ละบรรทัด ซึ่งจะนำมาในเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายในสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ภายหลัง

จุดเด่นที่สำคัญของฟอนต์นี้ คือการที่ชาวดัตช์ยอมรื้อระบบเก่าที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทิ้ง เพื่อหาจุดร่วมที่เหมาะสมที่สุดที่ควรจะเป็นตามยุคสมัยที่แปรผันไป ซึ่งถึงแม้ตัวฟอนต์ดั้งเดิมที่ถูกเลือกจะเป็นฟอนต์ทั่วไปมาก่อน แต่ฟอนต์ตัวนี้ก็ถูกพัฒนา สร้างสรรค์เพิ่มเติม และปรับปรุงแก้ไขนานถึง 2 ปี เพื่อทำให้ฟอนต์ประจำชาติทั้งสองชุดนี้ทำงานได้ดีที่สุดในแง่ของการสร้างตัวตนขององค์กรรัฐเนเธอร์แลนด์ในครั้งนี้

‘TH Sarabun PSK’ – ฟอนต์ประจำชาติ ‘ไทย’

แรกเริ่มเดิมทีหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนของไทย หรือผู้ใช้งานทั่วไปในยุคสมัยเมื่อเกือบ 20-25 ปีก่อน มักใช้ฟอนต์ในการจัดพิมพ์จากหลากหลายที่ทาง ที่ทั้งถูกลิขสิทธิ์ และผิดลิขสิทธิ์ ด้วยยุคสมัยของสังคมไทยที่ยังมีความเข้าใจอย่างตื้นเขินเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

จนกระทั่งสังคมมีวิวัฒนาการ ผู้คนเริ่มเข้าใจความสำคัญเรื่องลิขสิทธิ์กันมากขึ้น เชื่อว่าหนึ่งปัจจัยสำคัญเลยคือการกวาดล้างโปรแกรมเถื่อน หรือสินค้าผิดลิขสิทธิ์ในสมัยนั้น ที่หากจำกันได้ในยุคเทปผีซีดีเถื่อน ของที่ถูกกวาดล้างก็นำมาโปรยบนพื้นแล้วขับรถบนถนนทับอย่างไม่เหลือชิ้นดี

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็เช่นเดียวกัน ในยุคนั้นก็มีการกวาดล้างกันเยอะ อย่างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟอนต์ก็เป็นอีกหนึ่งวงการของเถื่อนที่ถูกเชือดไก่ให้ลิงดูหลายครั้ง โดนจับกันครั้งหนึ่งก็เสียหายหลายแสน จนทำให้คนวงการร้านทำป้ายอิงค์เจ็ตหาฟอนต์ดี ๆ ใช้ไม่ได้ และต้องเรียนรู้การออกแบบตัวอักษรกันเอง จนเกิดเป็นวงการ ‘ฟอนต์ซิ่ง’ อย่างในปัจจุบัน

หน่วยงานรัฐ และเอกชนก็เป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ประการหนึ่งคือเรื่องของระบบที่รองรับฟอนต์รูปแบบเก่าได้หายไป จากพัฒนาการของระบบปฏิบัติการ ทำให้ฟอนต์ไทยรูปแบบเดิมที่เคยใช้ได้ไม่รองรับอีกต่อไป ต้องหาทางเร่งผลิตฟอนต์ใหม่ ๆ เพิ่มในตลาด และประการที่สองคือเรื่องลิขสิทธิ์ของฟอนต์ เพราะฟอนต์ที่พวกเขาใช้ก็จำเป็นต้องซื้อลิขสิทธิ์จากที่อื่น ทำให้เงินรั่วไหลออกไปต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่ได้การ คนในชาติต้องทำกันเอง

จึงเกิดเป็นโครงการจำพวก ‘ฟอนต์เพื่อชาติ’ และ ‘ฟอนต์แห่งชาติ’ ที่เป็นโครงการประกวดออกแบบฟอนต์ไทยมาตรฐาน หรือเรียกให้ง่ายกว่านั้นว่า ‘ฟอนต์มีหัว’ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ ให้ทุกคนบนโลกสามารถใช้ได้ฟรี ไม่เสียสตางค์แม้แต่แดงเดียว

โดยการจัดประกวดออกแบบฟอนต์ดังกล่าว มีโจทย์ง่าย ๆ นั่นคือการให้ผู้เข้าประกวด ออกแบบฟอนต์มาตรฐาน (ฟอนต์มีหัว) ที่เหมาะสำหรับการเป็นตัวเนื้อความ ซึ่งผู้ออกแบบต้องคำนวณขนาดให้เหมาะสมกับการใช้งาน และส่งมาเพื่อการคัดเลือก ใครที่เป็นผู้ชนะ ฟอนต์ของท่านก็จะได้ถูกเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์

‘ศุภกิจ เฉลิมลาภ’ นักออกแบบตัวอักษรก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจการประกวดทั้งสองครั้ง โดยครั้งแรกเขาออกแบบฟอนต์ที่ชื่อ ‘PSK Smart’ เพื่อส่งประกวดในโครงการ ‘ฟอนต์เพื่อชาติ’ เมื่อ พ.ศ. 2545 – 2546 จัดโดยชมรมการจัดพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai Electronics Publishing Club: TEPCLUB) และได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ผู้ชนะการประกวดในครั้งนั้น

ตัวอย่างฟอนต์ทั้งหมดของ ‘ฟอนต์เพื่อชาติ’ โดยฟอนต์ ‘PSK Smart’ คือฟอนต์ลำดับที่ 9 – ภาพจาก Lanna Innovation

จนถึงโครงการ ‘ฟอนต์แห่งชาติ’ เมื่อ พ.ศ. 2549 – 2550 จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เขาก็เข้าร่วมประกวดอีกครั้งด้วยฟอนต์ ‘TH Sarabun PSK’ ฟอนต์มีหัวทรงกึ่งแคบ ที่คิดมาเพื่อให้สามารถพิมพ์ตัวอักษรในบรรทัดเดียวกันได้เยอะ ซึ่งด้วยความแคบนี้เอง ทำให้เขาเลือกออกแบบเส้นด้านบน และด้านล่างของฟอนต์ให้มีลักษณะโค้งมน เพื่อเพิ่มความโปร่ง สบายตาในการอ่าน

ตัวอย่างฟอนต์ ‘TH Sarabun PSK’ – ภาพจาก f0nt.com

ผลสุดท้ายฟอนต์ตัวนี้ก็เป็น 1 ใน 13 ฟอนต์แห่งชาติในปีนั้นไป ร่วมกับฟอนต์ดัง ๆ ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาหลายตัวอย่าง ‘TH Mali Grade 6’ หรือ ‘TH Chakra Petch’ โดยทั้งหมดถูกเผยแพร่ให้ใช้ทั่วไปเมื่อ พ.ศ. 2550

ก่อนที่รัฐบาลของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ จะเลือกฟอนต์นี้เพื่อใช้เป็น ‘ฟอนต์ประจำชาติ’ ของไทยในอีก 3 ปีให้หลัง ผ่านการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา โดยเหตุผลที่ต้องมีก็เนื่องมาจากเรื่องของมาตรฐานที่ไม่เคยมีอยู่ ผ่านการใช้ฟอนต์จำพวก Angsana New, Browallia New หรือ Cordia New วน ๆ กันไปในหน่วยงานรัฐอย่างไม่มีระบบระเบียบ อีกทั้งฟอนต์เหล่านี้ยังเป็นของเอกชนซึ่งมีลิขสิทธิ์ครอบคลุมอยู่ จู่ ๆ วันหนึ่งอาจเกิดปัญหาเรื่องการฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ก็เป็นไปได้

นั่นจึงทำให้ฟอนต์สารบรรณ (TH Sarabun PSK) ถูกใช้เป็นฟอนต์ประจำชาติไทยเรานับแต่นั้นมา

หากเทียบเคียงกับต้นคิดของ ‘ฟอนต์ประจำชาติ’ แต่ละประเทศที่หยิบยกมาในหัวข้อก่อนหน้า เราจะเห็นว่าพวกเขาเริ่มต้นอย่างมีระบบ คิดมาตั้งแต่ต้น เพื่อทำให้ผลลัพธ์เหมาะสมที่สุดสำหรับการเป็นค่ามาตรฐานขององค์กรที่เรียกว่า ‘ประเทศ’

แต่ไทยเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น

บ่อยครั้งในปัจจุบันที่เรามักเห็นการจัดประกวดออกแบบนั่น ออกแบบนี่ เพื่อชิงรางวัลอยู่เสมอ ซึ่งรางวัลก็เล็กใหญ่ไปตามความสำคัญที่องค์กรมองเห็น แต่สิ่งที่องค์กรมองไม่เห็นยิ่งกว่าคือการที่พวกเขาจำเป็นที่จะต้องว่าจ้างผู้สร้างสรรค์ที่เข้าใจในแนวคิดของ ‘องค์กร’ มากเพียงพอ ไม่ว่าองค์กรนั้นจะนิยามตัวเองเล็ก หรือใหญ่ระดับประเทศ ก็ล้วนแต่ต้องแปลงอัตลักษณ์นามธรรมทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อให้กลายเป็นรูปธรรมทั้งในแง่ของโลโก้ สี ภาพลักษณ์ งานภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือแม้แต่ฟอนต์ให้ดีที่สุด เพื่อสร้างความมั่นคงในทางที่ง่ายที่สุด และสานต่อเป็นตัวตนที่ยั่งยืนขององค์กรต่อไป

ซึ่งไม่ใช่การจัดประกวดออกแบบพร่ำเพรื่อ เพียงเพื่อจะให้ตัวเองมีตัวเลือกเยอะ ๆ แล้วค่อยหยิบตัวเลือกที่ดีที่สุดมาใช้แทน

เพราะอย่าลืมว่าหนทางที่ง่ายที่สุด คงจะไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดเสมอไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : technogym / theguardian / gizmodo / weforum / thaipublica / news18 / adgully / designworkplan / wikipedia / youtube / f0nt

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า