fbpx

บำนาญ รัฐสวัสดิการ และ สังคมนิยมประชาธิปไตย กับษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในแวดวงนักวิชาการไทยที่ศึกษาและเชี่ยวชาญแนวคิดแบบสังคมนิยมนั้น หาตัวจับได้ยากเป็นอย่างยิ่ง และ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี คือหนึ่งในนั้น นอกจากจะเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ภาควิชาปรัชญา, การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วเขายังเป็นนักวิชาการที่ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดรัฐสวัสดิการแก่สังคมอยู่เสมอ และยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจดจัดตั้ง พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบไปอีกด้วย 

ษัษฐรัมย์ไม่ได้เป็นเพียงนักวิชาการบนหอคอยงาช้าง แต่ยังเป็นนักกิจกรรมที่ลงพื้นที่ ทำงานกับภาคประชาชนอยู่เสมอ และในวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2565 เขาได้มาอภิปรายนอกสภาพร้อมกับภาคประชาชน เพื่อกดดันให้ สส. ในสภาโหวตรับร่าง พรบ.บำนาญแห่งชาติ ที่จะให้เงินบำนาญที่เป็นธรรมแก่ผู้สูงอายุถ้วนหน้า

เราจึงไปหาเขาถึงหน้า สัปปายะสภาสถาน ที่เกียกกาย เพื่อคุยกับเขาท่ามกลางอากาศ

และอารมณ์ของฝูงชนที่ร้อนระอุ

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ที่มาของการอภิปรายนอกสภาในวันนี้

จริงๆ มันเป็นการผลักดันพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ ซึ่งหลักการก็คือการให้เงินเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าแก่คนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวเลขที่ภาคประชาชนได้นำเสนอคือ 3,000 บาทถ้วนหน้า ซึ่งปัจจุบันมันอยู่ที่ 600 บาทสำหรับคนที่ไม่ได้เงินบำนาญจากการเป็นข้าราชการ

ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้จริงๆ มีมาตลอดต่อเนื่องมามากกว่าสิบปีแล้ว เอาเฉพาะในสภานี้ ตั้งแต่ปี 2562 ที่มีการเลือกตั้งมา ก็มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติไปแล้วถึง 5 ฉบับ ซึ่งมีหลักการเดียวกันก็คือเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทถ้วนหน้า โดยเป็นร่างที่ภาคประชาชนได้ล่ารายชื่อกันมา และร่างจากพรรคฝ่ายค้านต่างๆ แต่ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการพิจารณาว่าร่างนี้เกี่ยวข้องกับการเงินไหม และสามารถเซ็นให้ผ่านหรือไม่ผ่านก่อนเข้าสภาได้ 5 ร่างที่ผ่านมาถูกปัดตกหมด เพราะบอกว่าประเทศไทยไม่พร้อมเรื่องการเงิน ซึ่งนี่คือข้อเสียของรัฐธรรมปี 60 ซึ่งร่างนี้จะเป็นร่างฉบับสุดท้ายที่เกิดจากภาคประชาชนไปรวมตัวกันผ่านกรรมาธิการสวัสดิการ ซึ่งได้มีการศึกษาเรื่องนี้ เลยยื่นเป็นร่างประกบเข้าไป 

พูดง่ายๆ นี่คือร่างฉบับที่ 6 เป็นร่างสุดท้ายของสภานี้ ซึ่งจะหมดในปี 2566 เพราะงั้นร่างนี้จะมีการอภิปรายในสภา ซึ่งก็ต้องรอดูว่า ส.ส.ในสภาจะโหวตให้ผ่านหรือไม่ ซึ่งทำให้ภาคประชาชนจัดอภิปรายนอกสภา กดดัน ส.ส.ที่อยู่ข้างในให้รับร่างหลักการอันนี้ เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติบำนาญถ้วนหน้าต่อไป หลักการสำคัญคือทำให้คนแก่ทุกคนมีหลักประกันเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป

นอกจากการมาอภิปรายกดดัน ส.ส.ในสภาแล้ว อาจารย์ยังบอกด้วยว่าอาจารย์ผิดหวังในตัว ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน

สิ่งที่ผมต้องบอกว่าผิดหวังก็คือเรื่องนี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่ของพรรคการเมืองแม้แต่พรรคเดียว ถามว่าเวลาภาคประชนจัดงานเสวนา พรรคการเมืองก็จะส่งคนมาพูด มาแสดงความคิดเห็น เห็นด้วย แต่พอในทางปฏิบัติจริง ถ้าเรื่องนี้ถูกให้ความสำคัญโดยพรรคการเมืองเหมือนกับพระราชบัญญัติอื่นๆ มันต้องถูกตีเป็นกระแสสังคม เพราะจริงๆ แล้วพรรคฝ่ายค้านก็มีทรัพยากร พรรคการเมืองเนี่ย ส.ส. 1 คนก็มีเงินเดือนแสนกว่า มีผู้ช่วยกว่า 8 คน ทรัพยากรเยอะมาก แต่ทำงานล้าหลังกว่าภาคประชาชนที่เป็นอาสาสมัครเสียอีก มันน่าผิดหวัง

และแม้ว่าจะมีร่างก่อนหน้านี้ที่นำเสนอโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน แต่ผมคิดว่าการเอาเรื่องนี้ไปสื่อสารทางการเมืองต่างๆ ถือว่าน้อยมากเลย ไม่ถูกขับเคลื่อนให้เป็นกระแส ผมเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกคนได้ผลประโยชน์ แต่กลุ่มชนชั้นนำเขาก็จะคิดว่าเรื่องนี้มันเยอะเกินไป และแน่นอนว่านักการเมืองส่วนมากก็จะใกล้ชิดกับชนชั้นนำ

อุปสรรคในการผลักดันเรื่องบำนาญและสวัสดิการคืออะไร

มันคือเรื่องอำนาจทางการเมืองนะ มันไม่ใช่เรื่องตัวเลขอยู่แล้วว่าจะเอาเงินมาจากไหน เป็นไปได้หรือไม่ เพราะมันมีงานวิจัยเยอะมากเลย ที่ภาคประชาชนเขาก็สื่อสารผ่านงานวิจัยว่าเรามีเงินพอ เราไม่ได้เรียกร้องขออะไรมากมายนะ ไม่ใช่หลักหมื่นหลักแสน เราขอวันละ 100 บาทเท่านั้นเอง มันมีเงินพอ มีความเป็นได้ทางเศรษฐกิจ และก็จะดีต่อประชนเป็นอย่างมากเลย 

แต่ผู้มีอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจจากฝั่งทุนทั้งหลาย ไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น และเขาก็จะใช้งบประมาณที่เขามีเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มทุนเติบโตมากกว่า แน่นอนที่สุด พวกเขากลัวว่าถ้ามีเงินบำนาญที่ยืนพื้นแบบนี้ ต่อไปต้องมีการจัดเก็บภาษีกลุ่มทุนที่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ชนชั้นนำกับกลุ่มทุนที่ก็ใกล้ชิดกันอยู่แล้ว ก็จะพยายามขัดขวางให้เรื่องเหล่านี้ดำเนินไปได้อย่างช้าๆ ที่สุด 

เรื่องน่าผิดหวังอีกอย่างหนึ่งคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยมีการหาเสียงเรื่องนี้ แต่พอตัวเองมาเป็นรัฐมนตรีกลับไม่พูดเรื่องนี้เลย ซึ่งก็เป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว แต่ก็ไม่เกิดความก้าวหน้าเลย

ภาคประชาชนผลักดันประเด็นนี้อย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านี้หากย้อนกลับไป ภาคประชาชนจะพูดแต่ประเด็นของตัวเอง เช่น สิ่งแวดล้อม, คนพิการ หรือเรื่องเด็ก ก็จะแยกขาดกัน แต่ว่าในช่วงสี่ห้าปีมานี้ กลุ่มวีแฟร์ ก็คิดว่ามันมีสิ่งที่ดึงภาคประชาชนเข้ามาทำงานร่วมกัน นั้นก็คือ รัฐสวัสดิการ เพราะทุกคนได้ประโยชน์ ชนเผ่าก็ได้ประโยชน์ ได้มีเงินเลี้ยงดูเด็ก ได้เรียนหนังสือฟรี กลายเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่ใหญ่มาก เช่น กลุ่มสลัมสี่ภาค ที่เขาทำเรื่องที่อยู่อาศัย เขาก็อยู่ในเครือข่ายนี้ด้วย คนกลุ่มที่ทำเรื่องการศึกษาก็อยู่ในเครือข่ายนี้ แม้กระทั่งกลุ่มที่รณรงค์เพื่อความหลากหลายทางเพศก็เอากับประเด็นรัฐสวัสดิการด้วย ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องของผู้ถูกกดขี่ทั้งปวง ซึ่งในช่วงสี่ห้าปีนี้มันก็ขยายใหญ่ขึ้น มันไม่ได้อยู่ในสูญญากาศ ชนชั้นนำเขาก็ฟอร์มเครือข่ายของเขาและก็พยายามที่จะขัดขวางไม่ให้สิ่งเหล่านี้มันเติบโตไปได้ไกล 

คือจริงๆ ถ้าประเทศนี้มี 3,000 บาทถ้วนหน้า ผมบอกเลยว่าไม่มีใครตายนะ คือบางคนพูดไปว่าประเทศจะล่มสลาย กลายเป็นเวเนซุเอลา มันไม่มีอะไรอย่างงั้นหรอก แต่มันเป็นผีที่ถูกสร้างขึ้นมา  เพื่อที่จะรักษาไอ้ยอดปิรามิดข้างบนไว้

ย้อนกลับไปในสมัย 2475 แนวคิดรัฐสวัสดิการไม่ได้เป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับนัก บ้างก็โดนตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์แบบที่ ปรีดี พนมยงค์ โดน แต่ทำไมในปัจจุบันแนวคิดนี้กลับได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และไม่ว่าจะพรรคการเมืองฝั่งไหนต่างก็ชูรัฐสวัสดิการ

จริงๆ มันอาจไม่ได้เป็นเรื่องที่ขาวดำขนาดนั้น ประมาณว่าแต่ก่อนรัฐสวัสดิการเป็นปีศาจแต่เดี๋ยวนี้ได้รับการยอมรับ จริงๆ แล้ว (เรื่องรัฐสวัสดิการ) มีสถานะใกล้เคียงกันมาตั้งแต่ปี 2475 เวลาพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ มันคือสถานะของปีศาจนะ ปีศาจที่ว่านี้มันหลอกหลอนชนชั้นนำ มันมีคนที่สนับสนุนข้อเสนอของปรีดีจำนวนมากเลย แต่แค่ในจังหวะนั้น พวกอนุรักษ์นิยมร่วมกับปีกขวาของคณะราษฎร พยายามที่จะทำรัฐประหารและกดทับสิ่งที่ปรีดีเสนอ แต่เมื่อใดก็แล้วแต่ที่ฟ้าเปิด มีการต่อสู้ของประชาชน มันก็ทำให้ประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการมันถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้ง เช่น 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 หรือ พฤษภาทมิฬ ก็จะมีประเด็นเรื่องนี้ถูกพูดถึงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วมันเป็นทางออกของคน 99% มาทุกยุค และเป็นสิ่งที่น่ากลัวของคน 1% ทุกยุคเช่นกัน ถ้าคน 1% ชนะมันก็จะเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ถ้าคน 99% ชนะ มันก็จะกลายเป็นความหวังขึ้นมา 

ในสถานะปัจจุบันคนพูดถึงเรื่องพวกนี้มากขึ้น เพราะว่าประเทศไทยมันเหลื่อมล้ำมาก ถูกจำกัดด้วยเรื่องการส่งเสียงทางการเมือง เพราะฉะนั้นรัฐสวัสดิการจึงเป็นทางออกของคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นเก่าที่กำลังจะเกษียณ คนวัยทำงาน มันเชื่อมคนเข้าไว้ด้วยกัน แต่ก็อย่าดูเบาพวกชนชั้นนำ 

ภาษาของเรื่องรัฐสวัสดิการมันก็แปลก แตกต่างไปในแต่ละช่วง อย่าง พรรคพลังประชารัฐ ก็บอกว่าฉันจะให้สวัสดิการแค่คนจน หาให้เจอว่าคนจนที่สุดคือใคร หรือแม้แต่พรรคการเมืองอื่นๆ ก็จะบอกว่า โอเค รัฐสวัสดิการดีนะ แต่ต้องให้เศรษฐกิจมันโตก่อนถึงจะสามารถทำได้ ยังไม่ทำตอนนี้ ซึ่งก็คือไม่ทำ ดังนั้นจริงๆ ต้องยืนยันหลักการของรัฐสวัสดิการว่ามันต้องถ้วนหน้า ทุกคนได้ อย่างที่บอกไปว่าไม่มีใครตายหรอกถ้าได้สวัสดิการ ประเทศไม่ล่มสลายไม่ล่มจน และประเด็นสำคัญคือมันเกิดได้ทันที คุณไม่ต้องไปกดเครื่องคิดเลขอะไรหรอก ถ้าคุณมัวแต่กดเครื่องคิดเลขนะ คนดำตอนนี้ก็คงยังเป็นทาสอยู่ เพราะไม่มีความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจที่จะเลิกทาส ผู้หญิงก็จะไม่สามารถรับค่าจ้างเท่ากับผู้ชาย ถ้าเรามัวแต่มองเรื่องความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจอย่างเดียว  

แสดงว่าความกลัวในเรื่องรัฐสวัสดิการของชนชั้นนำแบบในสมัย 2475 ก็ยังหลงเหลือมาอยู่จนถึงปัจจุบัน

มันยังอยู่ มันไม่หายไปหรอก แม้แต่ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการแล้ว มันก็ยังมีฝ่ายขวาใช่ไหม ในสวีเดนหรือเยอรมันก็มีนีโอนาซี พวกนี้ก็พยายามบอกว่า เฮ้ย เดี๋ยวผู้อพยพจะเข้ามาทำลายสวัสดิการของเรา เราต้องกันมันออกไป มันมีอะไรแบบนี้อยู่ทุกประเทศ แต่ถ้าประชาชนชนะ พวกนี้จะมียางอาย จะไม่กล้าพูด แต่เราก็จะสังเกตพวกชนชั้นนำในไทย มันไม่มีความรู้สึกผิดหรือยางอายเลย สามารถใช้ชีวิตต่อไป ชีวิตฉันก็ปกติแบบนี้ พวกเอ็งก็อยู่ใต้ตีนไป

ตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ การที่พรรคการเมืองไทยหลายพรรคต่างก็ชูเรื่องรัฐสวัสดิการ มองว่าเป็นความตั้งใจจริงของพรรคการเมือง หรือเป็นเพียงแค่จุดขาย

มันก็อาจจะเป็นแค่จุดขายนะ แต่ในมุมหนึ่งมันก็สะท้อนว่ามันมีการต่อสู้ของประชาชนที่มันขยับขึ้นมา ซึ่งทำให้พวกเขาต้องพูด  มันก็ไม่ได้สูญเปล่าซะทีเดียว แต่รูปธรรมก็คือว่า ทำไมเหล่าพี่น้องต้องออกมาอภิปรายนอกสภาในวันนี้ ทั้งๆ ที่มันควรจะผ่านตั้งแต่ 5 ฉบับแรก นั่นหมายความว่าทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลยังไม่ได้เชื่อมโยงตัวเองกับเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง อันนี้มันก็เป็นปัญหา

การที่พรรคการเมืองต่างก็ชูนโยบายรัฐสวัสดิการ มันเป็นลักษณะเฉพาะของการเมืองไทย หรือในการเมืองระดับโลกก็เป็นเหมือนกัน

สิ่งที่น่าสนใจมากเลยคือ คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะเป็นซ้ายมากขึ้น ผมคุยกับเพื่อนที่เป็นคนอังกฤษ เขาบอกว่า คนอังกฤษรุ่นใหม่ อายุ 19-20 สมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เรียกร้องรัฐสวัสดิการและเรียกร้องให้ให้ล้างหนี้กู้ยืมทางการศึกษา ทั้งๆ ที่ผู้สมัครรอบก่อนอย่าง เจเรมี คอร์บิน ซึ่งเป็นคนแก่อายุ 70 นะ ก็ยังได้รับเสียงจากคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก เพราะงั้นคนรุ่นใหม่ที่กลายมาเป็นซ้ายทั้งในไทยและต่างประเทศก็มีจำนวนมากขึ้น แต่แน่นอนมันก็จะมีพวกขวาที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน มันเป็นภาวะของการต่อสู้ทางการเมือง มันไม่ใช่ว่าถึงจุดนึงเราสามารถคล้องแขน จับมือสามัคคี เปลี่ยนประเทศเป็นรัฐสวัสดิการพร้อมกันได้ มันไม่เคยมีภาพที่มันโรแมนติกแบบนั้นหรอก 

เราอาจคุ้นชินกับภาพที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เป็นซ้าย แต่ทำไมจึงมีคนรุ่นใหม่ที่เป็นขวาด้วย

จริงๆ แล้วถ้าคุณเกิดมาอยู่ในสังคม มีโอกาส 1 ใน 7 เท่านั้นนะที่คุณจะได้เป็นประชากร 25% ที่อยู่ข้างบน ซึ่งน้อยมากนะ แต่ถ้าไอ้ 1 ใน 7 คนนี้เป็นเพื่อนข้างบ้านเรา เป็นลูกของป้าข้างบ้านเรา เราก็จะเห็นว่า เออ มันได้นี่หว่า ถ้าเราแค่ขยันซื่อสัตย์ประหยัดอดทน ถามว่ามีคนทำสำเร็จได้ไหม มี แต่ว่ามันน้อยมาก แต่คนจำนวนน้อยเหล่านี้เขาเสียงดัง ก็จะได้รับพื้นที่มาพูดเรื่องคริปโต เรื่องลงทุน คนก็จะเห็นว่าเราสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ ก็ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เปราะบางและไม่สามารถที่จะรวมตัวกันได้ โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผู้คนถูกแยกขาดออกจากกัน พอแยกขาดกัน เราก็จะเห็นแต่การที่ไลฟ์โค้ชออกมาพูดว่าต้องทำยังไงๆ  ถึงจะได้มา (ชีวิตที่ดี) ทั้งๆ ที่จริงๆ เราต้องรวมตัวกันต่างหากถึงจะได้มา นี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมถึงยังมีคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าแนวคิดแบบเสรีนิยมสุดโต่งเนี่ย ก็โอเคนะ คุณรับผิดชอบตัวเอง คุณก็มีชีวิตที่ดีได้

ในปัจจุบันสังคมไทยเข้าใจแนวคิด ‘สังคมนิยม’ มากขึ้นแค่ไหน ยังโยงเข้าหา ‘คอมมิวนิสต์’ อยู่รึเปล่า

เราต้องยอมรับนะว่าชนชั้นนำไทยตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ใช้งบปีหนึ่งไม่ต่ำกว่าแสนล้านในการทำให้คอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมเป็นผู้ร้าย ก็ต้องสำเร็จบ้างแหละ มันอยู่ในระบบการศึกษา อยู่ในวิถีชีวิต อยู่ในอะไรต่างๆ ที่ทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นผู้ร้าย แต่ว่าประการแรกผมต้องย้ำว่า จีน คิวบา เวียดนาม เกาหลีเหนือ ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ได้เป็นสังคมนิยม ไม่ได้มีอะไรใกล้เคียงเลย เป็นเพียงเผด็จการทุนนิยมโดยรัฐ ชนชั้นนำในรัฐเป็นเจ้าปัจจัยการผลิต

ถ้าเราพูดถึงสังคมนิยมจริงๆ จะเหมือนที่ เบอร์นี แซนเดอร์ส เคยบอกว่ามันจะแปลกอะไร ทุกวันนี้คนรวยก็ใช้ชีวิตแบบสังคมนิยมอยู่แล้ว มีเวลาว่าง มีเงินมากมายแบบไม่ต้องกังวล แถมมีการรวมตัวกันด้วยนะ มีสมาคมหอการค้า สภาอุตสาหกรรม พวกนี้ก็รวมตัวกันเหนียวแน่น แชร์ทรัพยากรกัน ที่จริงแนวคิดเรื่องสังคมนิยมไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากลัว ผิดแผก ผมอยากย้ำว่าการที่เรามีการศึกษาฟรี คนสามารถกำหนดว่าเมืองจะเป็นแบบไหนได้ ไม่ใช่ว่าให้นายทุนมากำหนด เราสามารถกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ ในเมืองรวมกันได้ หรือว่ามีการเก็บภาษีคนที่รวยมากๆ เพื่อให้มันกลายเป็นสวัสดิการ มันก็ไม่ได้เป็นอะไรที่มันน่ากลัว 

แล้วคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้สอน เขาเข้าใจเรื่องแนวคิดสังคมนิยมมากแค่ไหน

ถ้าคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2020 – 2022 ผมว่าโดยทั่วไปแล้ว เราไม่ต้องมาพูดกันว่า มาร์กซิสต์ หรือ คาร์ล มาร์กซ์ คืออะไรแล้ว ทุกคนรู้ว่าประเทศนี้เหี้ย คุณไม่มีทางเติบโตได้ด้วยความพยายามของคุณอย่างเดียว คุณพยายามแค่ไหน คนรวยจะสามารถฉกฉวยไปได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมปี 2020 และ 2021 คือการต่อสู้ครั้งใหญ่ แต่การถูกเบรกด้วยโควิดก็เป็นอะไรที่น่าเสียดายเหมือนกัน เพราะพอคนเริ่มแยกขาดออกจากกัน เท่าที่ผมสังเกตโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เขาก็จะเริ่มเป็นซึมเศร้า และโทษตัวเองมากขึ้น แต่ผมคิดว่าพอในช่วง 2-3 เดือนที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ทุกอย่างเริ่มทยอยกลับสู่สภาวะปกติ ก็น่าจะทำให้สปิริตการเป็นสังคมนิยมมันกลับมา

พอแนวคิดสังคมนิยมเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น ก็เริ่มมีกระแสต่อที่มองทุนนิยมเป็นระบบที่ชั่วช้าสามานย์ ในฐานะคนที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมที่กำลังจะผลักดันรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้น เราจะอยู่กับทุนนิยมและบาลานซ์ความรู้สึกตัวเองอย่างไร

สังคมนิยมหรือรัฐสวัสดิการเป็นภาคต่อของทุนนิยม คือทุนนิยมเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งมันเกิดขึ้นมาแล้วคุณไม่ต้องไปทำให้ทุนนิยมมันสมบูรณ์ไปมากกว่านี้หรอก บางคนบอกว่าเราต้องทำทุนนิยมให้สมบูรณ์แบบอเมริกาก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนแปลงอีกขั้น ผมไม่เห็นด้วย 

เราอยู่ในทุนนิยม เราทำงานได้รับค่าจ้าง ทุนนิยมทำลายระบบศักดินาที่ล้าหลัง ทุนนิยมทำลายระบบทาส แต่ไม่ใช่เหตุผลที่เราต้องพอใจกับค่าจ้างเพียงแค่นี้ พอใจเผด็จการในที่ทำงาน หรือพอใจการที่นายทุนขโมยทรัพยากรของคนในชุมชน ผมคิดว่ามันเป็นตรรกะที่ผิดเพี้ยนมากที่ว่าทุนนิยมมันก็มีคุณูปการของมัน แต่เราก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์มันและจินตนาการถึงระบบใหม่ที่ดีขึ้นได้ 

การ ‘จินตนาการถึงระบบใหม่ที่ดีขึ้น’ ซึ่งนั่นก็คือ ‘สังคมนิยมประชาธิปไตย’ 

ผมว่านั้นคือเป้าหมายขั้นต่ำสุด คือก่อนหน้านั้นทุนนิยมก็ล้มระบบทาส ซึ่งตอนนั้นก็ไม่มีใครคิดว่าจะล้มได้ บางคนก็บอกว่าความเป็นทาสมันฝังอยู่ในดีเอ็นเอ มันอยู่ในระบบเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายทุนนิยมก็ล้มระบบทาสได้ 

ทุนนิยมมันมีเรื่องของ การผูกขาด มูลค่าส่วนเกิน และระบบกรรมสิทธิ์ ซึ่งทั้งสามอย่างนี้มันสร้างปัญหานะ ไม่ใช่เรื่องว่าเราเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของรถนะ แต่เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์นายทุน กรรมสิทธิ์อะไรต่างๆ ที่มันทำให้เกิดการกระจายทรัพยากรและความมั่งคั่งน้อยลง ทั้งหมดนี้เราสามารถตั้งคำถามและนำไปสู่ระบบใหม่ได้ 

ซึ่ง ‘สังคมนิยมประชาธิปไตย’ คือจุดเริ่มต้น แต่เรายังสามารถไปได้มากกว่านี้อีก เพราะแม้แต่ประเทศที่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยเขาก็จินตนาการถึงอะไรที่มันมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ถ้า พรบ.บำนาญผ่านไปได้ด้วยดี สส. ในสภาโหวตรับ ก้าวต่อไปคืออะไร

ในทางปฏิบัติคือทำให้มันเกิดการบังคับใช้นะ มันมีกฎหมายจำนวนมากที่ดูเหมือนจะเป็นคุณต่อประชาชน แต่มันไม่ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง มันมีข้อยกเว้นอะไรต่างๆ มากมาย ต้องติดตามว่ามันจะไม่มีการสอดไส้ ไม่มีการตีความที่มันแปลกไป อันนี้ก็จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญเหมือนกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และบำนาญถ้วนหน้า เราก็สามารถคิดฝันถึงเรื่องอื่นได้ไกลขึ้น เช่น การเรียนฟรีในมหาวิทยาลัยและมีเงินเดือน การล้างหนี้ กยศ. เงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า 0-18 ปี พ่อแม่ลาเลี้ยงดูบุตรได้ 180 วัน หรือเรื่องที่ใหญ่มาก เช่น การจ่ายเงินให้กับแม่ที่เลี้ยงดูลูกเต็มเวลา เรามองภาพเข้าไปตรงนี้ คนส่วนมากที่เข้ามาจะเป็นผู้หญิงใช่ไหม ผู้หญิงที่เปราะบางที่สมัยสาวๆ ก็ต้องมีช่วงหนึ่งที่ต้องออกมาเลี้ยงลูก แล้วพอ 35 จะกลับไปทำงาน ก็ไม่ได้ และก็กลายเป็นแรงงานนอกระบบที่ค่าจ้างต่ำ มันเป็นเรื่องสัมพันธ์กันทั้งระบบ เราต้องการให้มันไปไกลกว่านั้น

แล้วสุดท้ายเราจะทำยังไงให้รัฐสวัสดิการมันเกิดขึ้นได้จริงในประเทศนี้

หลายคนบอกว่ามันมีเรื่องทางเทคนิค การต่อสู้กับอำนาจรัฐ ที่ต้องทำนู่นทำนี่ แต่เรื่องพื้นฐานที่สุดที่คนธรรมดาทำได้ก็คือ คุยกันเรื่องนี้ คุยกับพ่อแม่ คุยกับเพื่อน คุยกับแฟน เราต้องคุยเรื่องนี้บ่อยๆ ทุกวัน และจากการคุยก็จะนำไปสู่การรวมตัว เรียกร้องให้มันเกิดอะไรเหล่านี้ในสเกลที่เราสามารถทำได้

ผมย้ำอยู่เสมอว่า ถ้าเราไม่คุยกัน อภิสิทธิ์ชนก็จะคิดแทนเรา ช่วงที่ผ่านมา 7 ปีมันย่ำแย่ลงเพราะเราคุยกันไม่ได้ อภิสิทธิ์ชนเลยคิดแทนเราว่าจะเอาแค่นั้นแค่นี้

It has to be done. ครับ

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า