fbpx

“ถ้าเราเลือกเดินทางไหนแล้ว ต้องทำให้ดีที่สุด” บทเรียนจากชีวิตที่ถูกจัดวางของถา-สถาพร

ในช่วงยุค 80s – 90s ไม่มีใครไม่รู้จัก ถา-สถาพร นาควิไลโรจน์ นักแสดงและพระเอกมากความสามารถ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกยกย่องทั้งในฐานะโดมอนแมนคนแรกของไทย ตั้งแต่ปี 1986 (พ.ศ.2529) เรียกว่าเห็นแววดาวรุ่งมากกว่าเพื่อนที่ไปสมัครด้วยกันซะอีก

แต่แม้ทุกคนจะจดจำภาพของพี่ถา ในฐานะพระเอกหนุ่มหล่อ หรือนายแบบบนรันเวย์ แต่หนึ่งในความสนใจที่ยังคงหล่อหลอมตัวตนของพี่ถามาโดยตลอดคือ การเป็นคนทำงานเบื้องหลัง นับจากวันที่ตัดสินใจสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จนถึงวันที่เริ่มทำรายการแรกในวงการ พี่ถาค้นพบว่าการทำงานเบื้องหลัง เป็นหนึ่งในความสนุกและความสุขเสมอ

ในโอกาสที่ละครเล่ห์ลุนตยากำลังออนแอร์ทางช่อง 8 ทุกคืนวันจันทร์-พฤหัสบดี เราชาวกอง The Modernist มีโอกาสได้เข้าไปสัมภาษณ์เจาะลึก ถึงเส้นทางการทำงานตลอดหลายทศวรรษ ทั้งหน้ากล้องในฐานะนักแสดงที่ทุกคนจับตา และในฐานะผู้จัดเบื้องหลัง ซึ่งกำลังจะพาละครเล่ห์ลุนตยา ละครผีสั่นประสาทจากปลายปากกาของนายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ มาโลดแล่นให้ทุกคนได้สัมผัสความหลอนพร้อมกันทั้งประเทศ 

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ช่วยแนะนำตัวในแบบที่คุณอยากให้คนรู้จัก

(หัวเราะ) จริงๆ ช่วงก่อนหน้านี้ ผมน่าจะเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ถึงจะมีช่วงหลังๆ ที่หายไป และก็อยู่เบื้องหลังเป็นส่วนใหญ่ นานๆ จะแพลมๆ มาข้างหน้าสักที เป็นจ็อบพิเศษ มารื้อฟื้นความทรงจำในเรื่องของการแสดง สถาพร นาควิไลโรจน์ครับ พระเอกในยุค 80 ที่โด่งดังคับฟ้า (หัวเราะ) จากโชคชะตาที่พลิกผันในค่ำคืนหนึ่ง ตอนนั้นอยู่ช่อง 7 ปัจจุบันอยู่เบื้องหลัง เป็นผู้จัดและผู้กำกับอยู่ช่อง 8 

การตัดสินใจเรียนนิเทศ และการเรียนคณะสายบันเทิงในอดีตเป็นอย่างไร 

จริงๆ แล้ว พี่เป็นนักเรียน ม.6 จากต่างจังหวัด และก็มีความฝันหลายๆ อย่าง อันแรกคืออยากเรียนศิลปะ แต่ว่าเป็นเด็กสายวิทย์ แต่ใจอยู่ที่ศิลป์ คือเรียนตามเพื่อน ไม่ได้เป็นคนหัวดีอะไร เป็นเด็กกิจกรรมซะมากกว่า เรียนวิทย์มาก็หล่นแหล่ไม่หล่นแหล่ แต่ด้วยความที่อยู่สายวิทย์แต่มีหน้าสายศิลป์มั้ง อาจจะได้คะแนนพิศวาสบางอย่างถึงจบมาได้ (หัวเราะ) 

พอถึงช่วงเอนทรานซ์ สมัยพี่ยังเรียกว่าเอนทรานซ์ ก็หันมาเอ็นฯ สายศิลป์ ซึ่งมันไม่ตรงกับที่เรียนมา ก็รู้แหละว่ายังไงก็ไม่ติด แต่ถือว่าเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต แล้วสิ่งที่มันค่อนข้างตอบโจทย์ที่สุดในสมัยนั้นคือ นิเทศฯ โฆษณา ที่ ม.กรุงเทพ ก็มุ่งโฟกัสเลย เพราะน่าจะใกล้เคียงกับความต้องการของเรา อันอื่นก็อาจจะยากเกินความสามารถ ก็เป็นสิ่งที่เลือกเดิน แต่ก็แทบไม่ได้เอามาใช้เลยนะ วิชาชีพที่เรียนมา เชื่อว่าหลายคนก็น่าจะเป็นแบบนั้น คือจับพลัดจับผลู แล้วชีวิตก็พลิกผัน ซึ่งเราก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะเข้ามาในวงการบันเทิง เป็นสิ่งที่ไกลตัวในความรู้สึกของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง

หมายความว่าตอนเข้าไปเรียนนิเทศก็ยังไม่เคยฝันจะเป็นนักแสดง  

ไม่ครับ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอะไรที่อยู่ในความคิดความรู้สึกของเราเลย เพราะจริงๆ แล้วเป็นคนขี้อาย เป็นคนอยู่เบื้องหลังทำงานศิลปะ สมัยก่อนม.4 – 6 จะมีกิจกรรมพวกแกะเทียนพรรษา กีฬาสี เราก็จะเป็นประเภทอยู่เงียบๆ ขี้เกียจเรียนก็มานั่งแกะเทียน ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จะเป็นลักษณะนั้น ไม่ใช่คนที่เข้าร่วมงานรำงานเต้น เราไม่ใช่แบบนั้น โนๆ เราเป็นคนเงียบและมีโลกส่วนตัว ค่อนข้างสันโดษ เลยเป็นที่มาเวลาเราบอกว่า การแสดงไม่เคยอยู่ในหัวเราเลย และไม่ได้เป็นเทสต์ที่เราโอเคกับมัน ที่ผ่านมาคือจับพลัดจับผลูทั้งนั้น เหมือนทุกอย่างถูกกำหนดมา เราไม่ได้เป็นคนกำหนด

แล้วสุดท้ายคุณไปประกวดนายแบบได้ยังไง

ช่วงซัมเมอร์ปี 1 สมัยเรียนเลย มีเด็กที่สัตหีบคนบ้านเดียวกัน เขาเรียนอยู่ที่รามคำแหง เราเรียน ม.กรุงเทพฯ ก็ไปมาหาสู่กันด้วยความที่เป็นเด็กบ้านเดียวกัน เขาบอก “เฮ้ย รู้จักไหมว่าบางลำภูมันอยู่แถวไหน กูจะไปประกวดนายแบบ” ตอนนั้นเราก็ตอบแบบ “ฮะ มึงจะไปประกวดนายแบบ?” ก็ตกใจในความฝันของเพื่อน แต่สุดท้ายก็ไปด้วยนะ นั่งรถเมล์ไปเลยแถวบางลำภู ก็หาเลยว่าโดมอนมันคืออะไร อยู่ตรงไหน (ร้านเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง-บรรณาธิการ) ในขณะที่เพื่อนนี่เตรียมเอกสารไป เราไปตัวเปล่าไม่ได้อะไร ไปเป็นเพื่อนเฉยๆ แต่ดันถูกจับถ่ายรูป เจ้าของโดมอนในสมัยนั้นก็บอก “เฮ้ย มาๆ มึงมานี่ซิ” เขาจับเราถ่ายรูปเลย แล้วเอาเอกสารให้กรอก คือเราไม่ได้เตรียมอะไรมา เอาแค่บัตรประชาชนมาใบเดียว ตอนนั้นก็กรอกๆ ไป 

จนวันหนึ่ง ก็มีจดหมายมาบอกว่าเราผ่านคัดเลือก จาก 50 คนเหลือ 20 คน ให้เตรียมตัวมา เราก็ ‘ฮะ อะไรวะ’ คือไม่ได้ตั้งใจจะขึ้นไปเป็นนายแบบเลย ส่วนเพื่อนเราตกรอบไป ก็นั่นแหละ ติด 20 คน ตอนนั้นจัดเป็นงานใหญ่เลยนะ ที่โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล สุดท้ายเราได้รางวัล

แล้วชีวิตหลังจากชนะการประกวด คุณได้ทำงานอะไรต่อในวงการบ้าง

ช่วงที่ประกาศผลแล้ว ตอนนั้นเราเรียนปี 2 เริ่มเป็นนายแบบ เริ่มเดินแฟชันโชว์ เอาจริงๆ ก็โพสต์ท่าไม่ถนัดหรอก แต่สิ่งที่ได้กลับมาในช่วงโมงนั้นคือรายได้ ตอนนั้นเราคิดถึงรายได้อย่างเดียว ก็สู้ๆ ไป ทำๆ ไป เพราะอย่างน้อยที่สุดเราก็ได้แบ่งเบาภาระทางบ้าน คือเราไม่ได้มาจากครอบครัวที่ฐานะดีอะไร ก็ปากกัดตีนถีบอยู่พอสมควร พื้นเพไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมา สิ่งที่เราโฟกัสคือได้ทำงานแบ่งเบาภาระที่บ้าน แล้วก็ตั้งใจทำงาน 

เพราะเมื่อเข้ามาทำงานแล้วก็ต้องตั้งใจ จะทำแบบเช้าชามเย็นชามก็คงไม่ใช่ 

เงินทุกบาทในตอนนั้นแลกมาด้วยการเรียนรู้และความไม่ถนัด ไม่ถนัดกับการเดินบนแคทวอล์ค แต่เราอาศัยการเรียนรู้ ในส่วนของเพื่อนฝูงก็ช่วยๆ แนะนำกันไป ตอนนั้นเลยรู้สึกว่า ‘เออ ก็สนุกดีนะ’ ได้ทำงานด้วย มีรายได้ด้วย เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดหวังเลยในช่วงตอนนั้น 

คือตอนเรามาจากสัตหีบ ขึ้นมากรุงเทพฯ คนก็จะมองแบบ ‘เดี๋ยวก็ไปติดยา เดี๋ยวก็ไปคบเพื่อนเกเร เป็นนักเลงหัวไม้’ คือคนต่างจังหวัดสมัยนั้นเขาก็เข้ามาหางานทำที่นี่กันหมด ยิ่งสัตหีบที่เป็นเมืองทหาร เอาจริงๆ มันก็มีอาชีพอื่นๆ ที่จะอยู่ร่วมกับมันได้แหละ แต่ใจเราเองต่างหากที่อยากลุย อยากแสวงหาความรู้เพิ่มเติม แล้วกรุงเทพฯ มันก็มีแหล่งความรู้ที่จะทำให้เราพัฒนามากขึ้น แล้วเราก็เริ่มเติบโต เพราะงานที่เราทำ ท้ายที่สุดก็ดูแลตัวเองได้ 

แล้วหลังจากนั้นคุณก็ได้เล่นละครเป็นเรื่องแรก

หลังจากเราทำงานเป็นนายแบบอยู่ 2 ปีก็เริ่มเบื่อ จนวันหนึ่งมีโทรศัพท์เรียกเราเข้าไปออดิขัน ประมาณปี 2530 เรียกว่าไปเทสต์หน้ากล้อง เราก็เอาเรื่องนี้ไปปรึกษาเพื่อนที่ ม.กรุงเทพ ว่าจะเอายังไงดี เขาบอก ‘ก็ไปสิ ได้ไม่ได้ก็ลองดู’ เราก็เลยตัดสินใจไป โดยไม่มีพื้นฐานอะไรทั้งนั้น โอเคแหละเราผ่านงานแฟชันโชว์มา แต่มันคนละศาสตร์กันเลยนะ นายแบบมันคือการพรีเซนต์เสื้อผ้า ร่างกาย แต่นี่มันคือการแสดงออก การสวมบทบาท เราใบ้มาก แต่ก็ทำๆ ไป เสร็จแล้วส่งเทปไปช่อง 7 สุดท้ายก็ผ่าน ซึ่งคนที่ผ่านในตอนนั้นก็มีต้น (อธิวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) และคนอื่นๆ แล้วนั่นก็เป็นจุดหักเหนั่นแหละ ให้ได้ลงละครเย็น บทวัยรุ่นตีแบต พอดีเซ็ทติ้งตัวละครคือนักเรียน ม.6 เราเพิ่งผ่านจุดนั้นมาไม่นาน เราก็เลยแสดงพอได้ มันใกล้ตัว แต่อีกเรื่องหนึ่งเป็นละครหลังข่าว เล่นบทนักเรียนนอก หล่อ รวย มีสาวๆ มารุมล้อม โห อะไรเนี่ย มันเป็นเรื่องไกลตัวมาก เล่นไปแล้วก็โดนด่ายับเลย 

ในขณะที่สมัยนี้มีทุกอย่างพร้อมเลยนะ พอเป็นนักแสดง ได้เซ็นสัญญา คุณก็จะมีโค้ชการแสดง มีคนคอยช่วย คอยแนะนำ แต่สมัยนั้นมันมืดบอด ปากกัดตีนถีบมากเลย เสื้อผ้าก็ไม่ได้มีให้มากมาย ต้องไปหยิบยืมเนคไทด์สูทจากคนอื่น รถเราก็ไม่มีเพราะช่วงนั้นรถชน (หัวเราะ) มะรุมมะตุ้มไปหมด แต่มันเป็นความโชคดีในความโชคร้าย

แล้วช่วงไหนในการแสดงที่ทำให้คุณรู้สึกว่าพลิกชีวิตจริงๆ 

ชีวิตมาพลิกผันจริงๆ ตอนละครเรื่องมายา (2531) ของ ว.วินิจฉัยกุล ออกอากาศไปคืนเดียว เรื่องนั้นฟอร์มใหญ่มาก มีพี่นิด (อรพรรณ พานทอง-วัชรพล) พี่เหมียว (ชไมพร จตุรภุช) พอออกอากาศไปวันแรก เช้าวันรุ่งขึ้นออกไปไหนไม่ได้เลย เราเหมือนโดนกลืนตัวตนของเราไปเลย อย่างที่บอกว่าเราไม่ใช่นักแสดง ความรู้สึกมันเลยไม่ใช่ แล้วตอนนั้นเรามีแฟน 2 กลุ่ม กลุ่มที่ชอบเราในฐานะด็อกเตอร์หนุ่มรูปงาม แบบดูโตๆ หน่อย กับกลุ่มที่ตามมาจากตอนเย็นที่เป็นละครวัยรุ่น เป็นนักกีฬาสู้ชีวิต 

ตอนนั้นจดหมายเยอะมาก ชีวิตเปลี่ยนจนทำให้ตั้งรับแทบไม่ทัน มันมีสิ่งเร้ายั่วยวนทั้งดีและไม่ดี มีผู้คนเข้ามามากหน้าหลายตา แล้วก็อยู่ที่เราแล้ว ว่าเราจะคัดกรองแค่ไหนยังไง รู้สึกว่าทุกอย่างถูกวางไว้ให้คร่าวๆ แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะเลือกเดินหรือไม่เดิน

เผชิญกับอุปสรรคอะไรระหว่างการทำงานในกองถ่ายละครบ้าง

ในเรื่องการแสดง เราเคยโดนด่าจนเข้าหน้าไม่ติดมาแล้วนะ แต่ถึงจะทำงานหน้ากล้อง อย่างที่บอกมาตลอดว่าเราชอบงานเบื้องหลัง เวลาไปกองเราเลยชอบมองคนอื่น มองว่าเขาทำงานกันยังไง อยากมองจอมอนิเตอร์ก็ทำได้แค่มองจากไกลๆ ไม่กล้าเข้าใกล้ สังเกตว่าเขาตัดต่อยังไง จังหวะละครเป็นแบบไหน แต่ก็ดูจากที่ไกลๆ เพราะกลัวโดนด่า 

หรือตอนบ่ายพัก แล้วหิว เราไปขอข้าว แม่ครัวก็ไม่ให้เติม เขาบอกเหลือไว้ให้คนข้างหลังบ้าง เราก็น้อยใจเพราะตอนนั้นเป็นเด็กใหม่ อะไรพวกนี้แหละสอนให้เราแข็งแกร่งและมีภูมิต้านทาน ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัดด้วยส่วนหนึ่ง มันไม่เปราะอยู่แล้ว อีกอย่างเป็นคนสู้ด้วย มันก็เลยรู้สึกว่า  “กูต้องเอาชนะให้ได้ แม่กูพ่อกูยังไม่เคยด่ากูขนาดนี้เลย มึงเป็นใครวะมาด่ากูขนาดนี้ กูต้องเอาชนะมึงให้ได้”  นั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนความคิดเลย 

พอละครเรื่องที่สองมาก็เริ่มรู้สึกเข้าที่เข้าทาง ก็พัฒนาความมั่นใจขึ้นจากคนที่อยู่หลังกล้องมาอยู่เบื้องหน้า เรามีความรู้สึกร่วมกันตรงนั้นแล้ว มันก็เป็นการพัฒนาต่อๆ มา แต่ต้องยอมรับว่าการสู้ การไม่ยอมแพ้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีวันนี้ 

แล้วจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้คุณไปทำงานเบื้องหลัง

พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็รู้สึกอยากทำอะไรที่มันนอกเหนือจากนี้ ความรู้สึกของคนเบื้องหลังก็เริ่มเกิดมาละ มันเหมือนเป็นอะไรที่ฝังอยู่ข้างใน จริงๆ มันเริ่มมาจากเราเนี่ยรับแต่บทพระเอก จนกระทั่งมีช่วงเวลาหนึ่ง เป็นพระเอกอยู่ดีๆ ก็มีคนยื่นบทตัวร้ายมาให้ เราก็เอาสิ แต่ในประเทศไทยเนี่ย คนเล่นเป็นพระเอกต้องเป็นพระเอกไปเลย สมัยนี้มันยังพอมีคนที่เล่นเป็นตัวร้ายแล้วยังพลิกกลับมาได้ แต่ตอนนั้นร้ายแล้วก็ร้ายเลย เรื่องนั้นคือ นาคราช (2534) เป็นตัวชนกับพี่นก (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ปรากฏว่าเราเปลี่ยนบทบาทแล้วเรามีความสุข รู้สึกอยากตื่นเช้าไปกองถ่าย 

แล้วก็เหมือนเป็นจังหวะที่ถูกกำหนดไว้ มีรุ่นพี่ที่นับถือชวนมาทำที่ไฟว์สตาร์ เป็นบริษัทโปรดักชันทำละครและรายการ เช่น 4+1 ถึงจะเท่ห์ (2535 – 2536) เป็นรายการวัยรุ่นแรกๆ เลย ซึ่งทำให้เกิดรายการวัยรุ่นอื่นๆ ตามมา ตอนนั้นเต๋า (สมชาย เข็มกลัด) เป็นพิธีกร ก่อนที่จะมาเซ็นสัญญากับอาร์เอส หลังจากนั้นแหละ พี่หยุดงานเบื้องหน้าไปเลย ไปทำเบื้องหลัง เขียนสคริปต์รายการ ทำแคสติ้ง ออดิชัน ตัดต่อ ไปช่วยถือกระเป๋า ชงกาแฟให้พี่หนุ่ม (สันติสุข พรหมศิริ) กับ พี่โอ (วรุฒ วรธรรม) คือทำแล้วสนุกมาก แต่อย่าพูดถึงเรื่องเงินนะ (สีหน้าเหนื่อยหน่าย) อาศัยมาม่าเป็นอาหารประจำวัน เพราะเงินมันน้อยมาก สู้หน้ากล้องไม่ได้ แต่สิ่งที่ได้คือกระบวนการเรียนรู้ 

พอขยับจากทำรายการก็มาเป็นผู้ช่วยทำละคร เพราะเราอยากเป็นผู้จัด เรื่องแรกทำที่กับไฟว์สตาร์ออนแอร์ช่อง 3 จากนั้นก็มีทำหนัง กับเป็นโปรดิวเซอร์บ้าง พอทำไปถึงจุดหนึ่ง ก็คิดถึงงานเบื้องหน้า เพราะช่วงนั้นรายการมันอิ่มตัว ผนวกกับหนังที่ไม่เสถียรเท่าไหร่ เราเลยกลับมาเล่นละครที่ช่อง 3 กับพี่เปี๊ยก (พิศาล อัครเศรณี) เรื่องรอยลิขิต (2548) ตอนนั้นขวัญ อุษามณี (ไวทยานนท์) ยังขี่คอพี่อยู่เลย เล่นเป็นลูกสาวตอนเด็ก นี่ก็เป็นช่องชีวิตที่กลับมาหน้ากล้องครั้งที่ 2 รับบททั้งพ่อ และช่วยพี่เปี๊ยกกำกับเบื้องหลัง ประกอบกับช่วงนั้นไปเล่นละครกับหม่อมน้อย (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล)

ดังนั้นถ้าในชีวิตพี่จะนับถือใครเป็นครู พี่จะนับ 2 ท่านนี้  ซึ่งถ้าคนได้ดูงานของ 2 ท่านจะรู้ว่าต่างกันมาก ของหม่อมน้อยก็จะสไตล์ที่แบบว้าว ของพี่เปี๊ยกก็จะสไตล์ตบจูบ มันมี 2 ด้าน พี่อยู่ตรงกลาง มีส่วนผสมของทั้งสองท่าน เพราะเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ทั้งสองแบบ ก็ได้อะไรมาเยอะพอสมควร นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสุดท้ายที่ได้เรียนรู้พัฒนาตัวเอง 

แล้วอะไรพัดพาให้คุณมาเป็นผู้จัดละคร

มันมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พี่เปี๊ยกก็ไม่ค่อยได้ทำละคร หม่อมก็ทำละครนานๆ ที แล้วหันไปทำหนังบ้าง ช่วงรอยต่อระหว่างปี 2550 – 2551 มันก็เป็นอีกจังหวะหนึ่งที่เราบังเอิญได้ไปเป็นผู้จัดกับทาง Thai PBS ตอนนั้นยังเป็นทีวีไทยอยู่เลย เราก็เอาเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ (2553) ไปเสนอ ได้เก้า (จิรายุ ละอองมณี) มาเล่น เป็นละคร 12 ตอนเอง เล็กๆ ได้ตอนละ 300,000 กว่าบาท แต่พี่ขาดทุน 2 ล้านเลยนะ เวลาเอาตัวเลขมากางกันบนโต๊ะเนี่ย แต่ก็ทำ

หลังๆ เขาเห็นใจให้หาผู้สนับสนุนได้ คือจังหวะเวลามันดีมาก เหมือนถูกกำหนดมาเลย แล้วจากละครเรื่องนั้น ปรากฎว่าเก้าได้รางวัลนำชายจากคมชัดลึก อวอร์ด ไม่แน่ใจว่าละครได้ชิงกี่สาขา แต่ถือว่าเป็นละครเล็กมาก คนแทบจะไม่รู้จักเลย พี่ได้รางวัลกำกับยอดเยี่ยม เข้าชิงละครยอดเยี่ยมแต่ไม่ได้ ปีนั้นเรื่องที่ป้าแจ๋ว (ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์) กำกับก็ได้ไป (ไทรโศก-2553)

คือมันเป็นกำลังใจเลยนะ เพราะผีเสื้อและดอกไม้เป็นละครสร้างสรรค์ ว่าด้วยเรื่องราวของกลุ่มเยาวชนภาคใต้ เป็นละครน้ำดีท่ามกลางละครแมส คือทุกคนบอกว่าคมชัดลึก อวอร์ด เป็นเวทียุติธรรม น่าเชื่อถือในแวดวงทุกอย่าง จุดนี้จึงเป็นความภาคภูมิใจมาก 

เรื่องที่สองก็ยังเป็น Thai PBS อยู่ ก็คือพระอาทิตย์คืนแรม (2553) เป็นเรื่องของเด็กตาบอดยิงตัวตายแต่ไม่ตาย แต่อีกเรื่องที่ได้รางวัลเยอะจริงๆ น่าจะเป็นอำแดงเหมือนกับนายริด (2556) เราได้สายป่าน (อภิญญา สกุลเจริญสุข) มาเล่น แล้วเราก็ได้ละครยอดเยี่ยม ตอนที่เราขึ้นไปรับรางวัล เราปากคอสั่นมาก เพราะเป็นม้านอกสายตา ถัดจากวันนั้นเราก็ได้รับการเชิญชวนมาทำงานกับช่องวัน 31 เป็นผู้กำกับรับจ้างบ้าง ผู้จัดบ้าง สวมหมวกหลายใบเหลือเกิน (กุมหัว) ถึงเวลาชีวิตพลิกผันก็ได้มาทำกับที่นี่ ที่ช่อง 8 เล่ห์ลุนตยา นี่แหละ เป็นเรื่องที่สอง 

ถ้าให้กลับไปเลือกอีกทีระหว่างทำงานเบื้องหน้ากับเบื้องหลัง คุณอยากทำอะไรมากกว่ากัน

เลือกไม่ได้นะ เป็นคำถามที่มีคนถามมาอยู่ ในส่วนหน้ากล้องเนี่ย ส่วนมากพี่เล่นแต่ละครตัวเอง เช่น เรื่องราชินีหมอลำ (2560) แต่งานเบื้องหลังก็ยังทำอยู่ คือทำทั้งสองงานไปพร้อมกัน เราทำได้ ไม่มีปัญหา แต่ว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไป รายละเอียด สมาธิในการท่องบทมันเปลี่ยนไป มันมีความกังวล เป็นห่วงพาร์ทเนอร์ ความรู้สึกพวกนี้ตัดไม่ขาด เลยทำให้ไม่มีสมาธิ

ย้อนกลับไปที่คำถาม ถ้าจะให้เลือกเบื้องหน้ากับเบื้องหลังก็ยืนยันว่าเลือกไม่ได้ มันคือความสุขคนละแบบนั่นแหละ เบื้องหลังเรามีความสุขที่ได้เห็นนักแสดงเป็นตัวละคร A-B-C-D อย่างที่เรากำหนดให้เป็น ส่วนเบื้องหน้า มันคือเราที่ได้ถ่ายทอดตัวละครนั้นๆ ออกไปเอง ความรู้สึกตรงนี้มันเลยต่างกัน ถ้าถามว่าอันไหนเป็นตัวตนมากกว่าอันนี้ตอบได้ ยังไงงานเบื้องหลังก็คือตัวตนของเรา แต่ถ้าจะให้เลือก มันก็เหมือนถามเราว่านักลูกคนไหนมากกว่ากัน มันตอบไม่ได้หรอก รักเท่ากัน ยังไงก็เป็นผลงานเรา เป็นเหมือนลูกของเรา 

ชอบละครเรื่องไหนที่คุณเป็นผู้จัดเองมากที่สุด

นั่นแหละ มันเป็นลูกที่เราปั๊มมาทั้งหมด (หัวเราะ) มันก็รักทุกเรื่อง บางเรื่องที่เราไม่ได้เป็นผู้จัด แค่เป็นผู้กำกับรับจ้าง แต่ทั้งหมดมันก็ทำให้เราได้พบเจอกับสิ่งที่เป็นทั้งบวกลบ หนักเบา สุขทุกข์ มันมีรสชาติ มีความทรงจำอยู่ในทุกๆ เรื่อง ทุกๆงานที่เราผ่านมา บางครั้งเรารู้สึกหงุดหงิดมากเลยนะ มากจนอยากจะเดินออกจากกอง แต่ทุกอย่างมันก็ผ่านไปได้ด้วยการแก้ปัญหา มันมีปัญหาได้ทุกวินาที เรามีหน้าที่ต้องแก้มันให้ได้ ยิ่งเรื่องไหนมีปัญหาเยอะ มันก็ยิ่งตรึงอยู่ในความรู้สึก เพราะฉะนั้นคำถามนี้ก็จะไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ถ้าให้เค้นเอาจริงๆ ก็จะเลือกไม่ถูกระหว่างผีเสื้อและดอกไม้ กับอำแดงเหมือนกับนายริด มันมีความเป็นตัวตนสูงอยู่ในนั้น แต่อำแดงเหมือนกับนายริดจะค่อนข้างเป็นตัวตนมากกว่า ด้วยความที่เราชอบละครพีเรียด ถือว่าเป็นสูตรที่ได้สัมผัสมาตั้งแต่ตอนเล่นเรื่องสี่แผ่นดิน (2531-ออกอากาศทางช่อง 3) ของพี่ไก่ (วรายุฑ มิลินทจินดา) มันทำให้เราอิ่มเอมกับการไปกองถ่าย เราเป็นคนพีเรียด เส้นทางนี้ทำให้เราได้ก้าวเดินอย่างมั่นคง ทำให้เราหักเหมาทำละครแมสมากขึ้น 

ดังนั้นถ้าจะให้ตอบว่าเป็นเรื่องไหน คำตอบคงเป็นอำแดงเหมือนกับนายริด มีความรู้สึกว่าเป็นสุขเพราะมันมาถูกทาง ตอนแรกทุกคนไม่เชื่อว่าสายป่านจะมารับบทอำแดงเหมือน เราก็คิดว่าอำแดงเหมือนเป็นคนรุ่นใหม่ใน พ.ศ. นั้น ที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติถวายฎีกา คือสายป่านมีมุมนี้ไง ถ้าเอาผู้หญิงที่ดูนุ่มนิ่มมาแสดงมันก็ไม่ได้ พอมาอ่านบทก็คิดว่า คนบนฟ้าส่งสายป่านมาแน่ๆเลย ทุกอย่างก็มีร่องของมัน เราก็เดินตามมันและทำให้ดีที่สุด ไม่แน่ใจว่าในตอนนั้นมีร่องที่ดีกว่านี้รึเปล่า แต่เราคิดว่าเราทำดีที่สุดแล้ว 

อย่างคราวนี้ที่ร่วมงานกับช่อง 8 เป็นเรื่องที่สอง ทำไมถึงเลือกเล่ห์ลุนตยามาทำเป็นละคร

เมื่อ 3 – 4 ปีก่อน รู้สึกว่าตัวเองเป็นหมอผี เพราะที่ผ่านมาทำละครผีมาเยอะพอสมควร โดยเฉพาะพีเรียดผีอย่าง เวียงร้อยดาว (2557) ผีโดนัท-มนัสนันท์, คุ้มนางครวญ (2557) ผีพิงค์กี้ สาวิกา, กำไลมาศ (2561) ผีจุ๋ย วรัทยา, บางกอกนฤมิต (2561) ผีปู ไปรยา อะไรอย่างนี้ ทำให้คิดเหมือนกันว่า ‘เชี่ย กูเป็นหมอผีเปล่าวะ’  แล้วงานของหมอพงศกรก็มีตั้งแต่ กำไลมาศ บางกอกนฤมิต แล้วก็มาเรื่องนี้ หมอยังบอกว่าดวงเราสมพงษ์กัน แล้วเรื่องตัวละครมันจะมีความอิงพีเรียดอยู่เล็กๆ อย่างเรื่อง ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด (2558) เป็นเซ็ตติ้งช่วงสงครามเวียดนาม ตอนนั้นจำได้ว่าตัวเองทำเรื่องนี้ พร้อมกับรับจ้างทำกำไลมาศ สองเรื่องตีกัน มันหนักมาก วันดีคืนดีไปสลบอยู่ในกองกำไลมาศ คือเหนื่อย 

แต่ถ้าถามว่าทำไมเลือกเรื่องนี้ เพราะจริงๆ แล้วเป็นความฝันเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยทำซีรีส์ผ้า ที่ผ่านมามันมีเครื่องประดับอย่างกำไลมาศ แต่ว่าก่อนหน้านั้นก็มีสาปภูษา (2563) ที่เฉียดๆ เกือบจะได้ทำแล้ว แต่เพราะความไม่พร้อมของเราเอง คือไม่รู้จะไปทำที่ไหน แต่คิดมาตลอดว่ายังไงก็ต้องได้ทำสักเรื่อง แล้วจังหวะมันก็มาลงล็อคพอดี ผู้บริหารบอกให้ลองอ่านดู คือในหนังสือเนี่ย มันต้องปรับหลายอย่างมากเลยนะ เนื้อเรื่องทั้งหมดมันดำเนินอยู่ในพม่า แถมมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวอีก ซึ่งเราไม่เอา ไม่พูดถึงเลยเพราะมันอ่อนไหว สุดท้ายเลยมาจบที่การเป็นประเทศสมมติ แต่ยังคงกลิ่นของพม่าไว้อยู่ มันหลบไม่พ้นหรอก เพราะลุนตยายังไงก็เป็นของพม่า แต่เราเลี่ยงบาลีเอา เน้นความบันเทิง ซึ่งคุณหมอเองก็เข้าใจในมิติที่ต่างกันของการอ่านและการชม คุณหมอก็พยายามบอกในเพจว่าละครมันต้องปรับนะ ไม่อย่างนั้นคนดูจะมีภาพจำและตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่เป็นแบบนั้นแบบนี้ เพราะยึดติดกับส่วนของหนังสือมากเกินไป ซึ่งข้อจำกัดในการทำละครมันเป็นอีกแบบหนึ่ง คนละมิติกัน ถ้าเข้าใจก็จะยอมรับได้ แต่ถ้าไม่ าก็ไม่สามารถไปบังคับได้

การทำงานกับนักแสดงในครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง

เรียกว่าเป็นจังหวะที่ดีมากกว่า ถึงบอกไงว่าทุกอย่างมันถูกวางเอาไว้แล้ว อย่างยุ้ย (จีรนันท์ มะโนแจ่ม-รับบทเจ้าหญิงมินพยู) ก็เคยเกือบๆ เฉียดๆ จะได้ทำงานด้วยกัน ในสมัยที่ทำหนังกับพี่เปี๊ยก ทีนี้พอยุ้ยหมดสัญญาพี่ก็โทรไปเสียบ ยุ้ยก็บอกว่าน่าสนใจและตอบตกลง ส่วนวาววา (ณิชชา-รับบท เอละวิน) เคยอยู่ชายคาเดียวกันมาก่อนแต่คนละรุ่น คือพี่ออกมาก่อนนั่นแหละ เขาก็ไปถามว่าพี่ถาคือใคร พอถามๆ ไปว่าพี่เป็นยังไง เขาก็ตกลง โอเค จริงๆ ต้องพูดว่าเขาเลือกมาทำด้วยมากกว่าเราเลือกเขานะ เป็นจังหวะทั้งนั้น อย่างตอนหลังๆ ก็มีจังหวะที่คลาดกัน ก็ต้องยอมรับว่าหลายสิ่งมันถูกขีดเส้นกำหนดเอาไว้ ซึ่งเราก็ทำให้ดีที่สุด เราก็ลุ้นว่าคืนนี้ (คืนที่ละครออกอากาศวันแรก) จะออกมาเป็นอย่างไร เราลุ้นเพราะช่วงนี้มันไม่มีละครผีด้วย ถ้าคนเลือกดูของเราก็คงดี ความสนุกมันอยู่ที่การลุ้น

ทำไมผู้ชมต้องดูเล่ห์ลุนตยา

มันคือที่สุดที่ทุกฝ่ายจะทุ่มเทได้ มันผ่านวิกฤตหลายๆ อย่าง อะไรที่คิดว่าจะได้ก็ไม่ได้ ด้วยสถานการณ์โควิด มันต้องใช้ต้นทุนสูง ตอนแรกคาดหวังเรื่องโลเคชันสวยๆ ไว้เยอะมาก แต่สุดท้ายเราต้องเซตฉากเอง คือถ้าทั้งสถานีทั้งคนผลิตผ่านตรงนี้ไปได้ก็ถือว่ารอดตาย แล้วทุกคนก็ตั้งใจ นักแสดงก็น่ารัก รู้ว่ามีวิกฤตก็ร่วมไม้ร่วมมือกัน มีความรับผิดชอบ ดังนั้นคิดว่าผู้ชมน่าจะมีความสุขกับสิ่งที่ออกมา อย่างน้อยสุดคือความบันเทิง ความงามของฉาก เสื้อผ้า น่าจะเป็นความแปลกใหม่ที่หลายคนไม่เคยเห็น กลับมาดูผีว่าน่ากลัวไหม เราก็คาดหวังว่าสิ่งที่ได้รับกลับมา จะเป็นกำลังใจให้เรามีแรงที่จะผลิตงานในโอกาสต่อๆไป ติชมกันได้ คำชมเป็นกำลังใจ คำติเราก็จะเก็บไปพัฒนา แต่มีเส้นบางๆ ระหว่างติเพื่อก่อกับติเพื่อติ เราก็จะแยกแยะเอา เรื่องที่สำคัญคือคนดู หน้าจออาจจะเห็นภาพแค่นั้น แต่เบื้องหลังมันมีอะไรเยอะแยะมากที่เป็นปัญหาเป็นวิกฤต ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวแต่ทุกเรื่อง สิ่งที่คุณไม่รู้มีเยอะมากเพราะฉะนั้นเมื่อคุณดูแล้วคุณต้องอิ่มไปกับมัน ดูแล้วมีความสุข คลายเครียด 

ถ้าให้สรุปชีวิตจากการทำงานและการแสดงตลอดหลายปีเป็นบทเรียนได้หนึ่งข้อ ชีวิตของสถาพร นาควิไลโรจน์ สอนให้รู้ว่า

ถ้าเราเลือกเดินทางไหนแล้ว ต้องทำให้ดีที่สุด 

แล้วสิ่งที่ไม่ถนัดก็เรียนรู้ได้ เราคือสัตว์ประเสริฐ ยังไงก็มีสมอง เราอาจจะเป็นคนที่มีพื้นฐานศิลปะอยู่ในตัวระดับหนึ่ง ไม่ได้เยอะเพราะต้นทุนเรามีจำกัด แต่เราพยายามนะ เราเรียนรู้ การสู้การไม่ยอมแพ้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีวันนี้ แต่ถ้าอะไรที่จังหวะมันคลาดกันไปแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าหลายสิ่งมันถูกขีดเส้นกำหนดเอาไว้ ซึ่งเราก็ทำให้ดีที่สุด เราได้พบเจอกับสิ่งที่เป็นทั้งบวกลบ หนักเบา สุขทุกข์ มันมีรสชาติ มีความทรงจำอยู่ในทุกๆเรื่อง ทุกๆงานที่เราผ่านมา บางครั้งปัญหาทำเราหงุดหงิดจนอยากจะเดินออกจากมันไป แต่ทุกอย่างมันก็ผ่านไปได้ด้วยการแก้ปัญหา มันมีปัญหาได้ทุกวินาทีเราต้องแก้มันให้ได้ ก็เดินตามมันและทำให้ดีที่สุด แต่เราไม่รู้ว่าที่ผ่านมามันมีดีกว่านี้หรือเปล่า แต่เราก็คิดว่านี่น่าจะดีที่สุด

สัมภาษณ์วันที่ 25 พฤษภาคม 2565

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า