fbpx

คุยกับ ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ บอร์ดเกม – บอกตัวตน – บอกสังคม

เราอาจคุ้นชื่อ “สฤณี อาชวานันทกุล” ในฐานะนักวิชาการผู้วิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจไทยอย่างถึงเครื่อง แต่อีกมุมหนึ่ง – เธอเป็นแฟนตัวยงของ “บอร์ดเกม”

หนังสือของเธออย่าง “จักรวาลกระดานเดียว” หรืออีกเพจหนึ่งของเธออย่าง “Fringer on Board Games” ทำให้เราเชื่อเหลือเกินว่าแง่มุมของสฤณีต่อวงการบอร์ดเกมต้องสนุกแน่ ๆ ยิ่งไปกว่านั้น การเล่นบอร์ดเกมอาจทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างลุ่มลึกขึ้นด้วย ไม่ว่าจะมองไทย หรือล่าสุด เธอเพิ่งไปงานบอร์ดเกมระดับโลกอย่าง Spiel Essen 2023 เรายิ่งเห็นมุมมองสนุก ๆ ของบอร์ดเกมทั้งในไทย และในโลกไปด้วย

เราจึงไม่ลังเลที่จะบุกออฟฟิศ “ป่าสาละ” ใจกลางเมือง เพื่อชวนสฤณีเปิดกระดานสนทนา บอกเล่าสิ่งที่เธอเจอ และคิดจากการเล่นบอร์ดเกมใน Sub! เค้าเจอ ตอนนี้ ที่ไม่ว่าจะอ่านแบบถอดสมอง หรือสวมสมอง ก็สนุกแน่นอน

สฤณี อาชวานันทกุล บอร์ดเกม บอกตัวตน บอกสังคม

ล่าสุดคุณเพิ่งกลับจากงาน Spiel Essen 2023 บรรยากาศของงานเป็นอย่างไรบ้าง

อันนี้ต้องบอกว่าไปเป็นรอบที่ 3 แล้วครั้งนี้เนื่องจากว่าอาจจะเป็นครั้งที่ 2 หลังโควิด ปีนี้คนเยอะมากเลยค่ะ เหมือนกับว่าทุกคนอัดอั้นกันมาจากปีที่แล้วด้วย (หัวเราะ) คือต้องจินตนาการว่าเหมือนฮอลล์ขนาดศูนย์สิริกิติ์ x2 x3 แล้วมันมี hall  8-9 hall ที่แต่ละ hall ถ้าจะเดินจริง ๆ ก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมงแล้ว เพราะว่า Essen เป็นงานบอร์ดเกมโลก เลยคิดว่าเสน่ห์ของมันคือ มันไม่ใช่เป็นแค่งานที่มีเกมให้ลองเล่น คือคิดว่าหลัก ๆ ที่คนไปคือ เพราะอยากรู้ว่าเกมใหม่ประจำปีมันเป็นยังไงบ้าง

แล้วบอร์ดเกมเป็นสื่อที่ไม่เหมือนหนังสือตรงที่ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องไปที่งานหนังสือเพื่อไปลองอ่านก็ได้ แต่บอร์ดเกมซับซ้อนกว่านั้น คือต่อให้มีคนมาอธิบาย หรือต่อให้เรามานั่งอ่านรีวิว เราก็อาจจะยังไม่เห็นภาพเป๊ะ ๆ อยู่ดี ว่ามันสนุกยังไง ฉะนั้นเสน่ห์ของเกมคือการไปลองเล่น 

ทีนี้ เทศกาลนี้ไม่ใช่เทศกาลที่คนทำเกมกับคนเล่นมาเจอกันอย่างเดียว แต่มันจะเป็นเหมือนเทศกาลออกร้านเปิดตัวเกม เขาจะมีโซนหนึ่งที่ให้ดีไซเนอร์ที่มีแค่ไอเดียเกมมาให้คนลองเล่น อาจจะบนกระดานเบสิก ๆ มันก็เลยมีเสน่ห์ของการที่ดีไซเนอร์มาเจอนักเล่นเกม แล้วก็ทดสอบว่าไอเดียเราประมาณไหน คนรู้สึกว่าสนุกไหม ไม่ใช่แค่ขายของ ขายเกมอย่างเดียว

ที่สังเกตอีกอย่างก็คือ ปีนี้เห็นผู้คนในระบบนิเวศบอร์ดเกมเยอะมากขึ้น เช่น เราจะเห็นบางบูธที่ไม่ได้เป็นบริษัทเกม แต่เป็นโรงงานผลิตเกม อย่างที่เรารู้ว่า จีนเขาเป็นเหมือนกับแหล่งผลิตโลกไปแล้ว เพราะฉะนั้นงานที่ผ่าน ๆ มาก็จะมีบริษัทจากจีนมาออกร้าน ก็คือขาย เขาก็จะเอาเกมที่เขาผลิตมาโชว์เลยว่า เขาเป็นคนผลิตเกมนี้

ถ้าย้อนกลับไป จุดเริ่มต้นที่คุณสนใจบอร์ดเกมมาจากไหน

ต้องบอกว่า จริง ๆ ก็เล่นบอร์ดเกมตั้งแต่เด็ก แต่ว่าบอร์ดเกมในสมัยเด็กก็คือ Monopoly (เกมเศรษฐี) คืองูตกบันไดอะไรพวกนี้ มันก็เป็นกระดานแล้วเราก็เดิน ๆ แล้วก็ทอยประมาณ พอโตขึ้น เราก็เล่นแต่เกมคอมพิวเตอร์เป็นหลัก

ทีนี้มีอยู่วันหนึ่ง ไปเดินเล่นที่ห้างกับเพื่อนแล้วก็เหมือนเห็นบอร์ดเกม ถ้าจำไม่ผิดเหมือนเป็นเกมซูชิที่สีกล่องสวยมากเลย แล้วคนที่สนใจก่อนคือเพื่อน เขาก็บอกว่า เอ๊ะ นี่มันคืออะไรหรอ ก็เดินเข้าไป ปรากฏว่าเป็นร้านขายบอร์ดเกม ร้านก็แนะนำว่าลองเล่นดูไหม ก็นั่งลองเล่นกับเพื่อน ซึ่งมันไม่ได้เป็นเกมที่ซับซ้อนอะไร คล้าย ๆ โดมิโน แต่เป็นรูปซูชิ

จุดที่น่าสนใจก็คือพอลองเล่นกันสักพัก เพื่อนเป็นคนพูดว่า ‘สนุก’ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เล่นเกมอะไรมาก่อนเลย เราก็เริ่มรู้สึกว่า เอ้อ อันนี้น่าสนใจนะ บอร์ดเกมสมัยใหม่มันไม่ใช่งูตกบันไดที่เราเคยเล่นแล้ว หลังจากนั้นก็เลยเริ่มลอง ก็ทดลองซื้อมาอีก 2-3 เกม หลังจากนั้นก็จะเป็นแบบนี้ ก็คือบานปลาย (ชี้ไปที่กองเกมด้านหลัง)

สฤณี อาชวานันทกุล บอร์ดเกม

คุณเคยวิเคราะห์ไหมว่า ความสนุกของบอร์ดเกมเกิดจากอะไร

บางทีตอนเล่นก็ไม่ได้วิเคราะห์หรอก เพราะจะอิน แต่ตั้งข้อสังเกตส่วนตัวว่า มันขึ้นอยู่กับแนวเกม เกมประเภทที่กฎไม่ได้ซับซ้อนมาก เน้นบรรยากาศการแอคชั่นเป็นหลัก ความสนุกมันก็อยู่ที่การแอคชั่นกันจริง ๆ  ถ้าเป็นสำหรับเกมเล่าเรื่อง คิดว่าอยู่ที่การออกแบบให้ได้ประสบการณ์ที่คนคาดหวัง เป็นเรื่องของความสมจริงของประสบการณ์ที่สอดคล้องกับเรื่องราวที่เขาจะเล่า

แต่ถ้าเป็นเกมที่ไม่ได้เน้นเรื่องราวเท่ากับ “กลไก” ในการเล่น ก็คิดว่าความสนุกมันต้องถูกทดสอบมาเยอะ ดังนั้นเราก็จะได้รู้ว่า บางทีดีไซเนอร์เขาเทสต์เกมกันเป็นร้อย ๆ รอบกว่าจะลงตัว เพราะว่าคนออกแบบต้องคิดเรื่องของแต้มต่อ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้มันรักษาความท้าทาย ทำให้คนที่อยู่ข้างหลังเขารู้สึกว่า ถ้ามีคนที่แต้มไปไกลมาก เขายังมีโอกาสที่จะไล่ตามให้ทัน

หรืออย่างหลายเกมก็จะใช้วิธีซ่อนคะแนน คือ เราก็จะเห็นคะแนนบางส่วนอยู่แล้วว่าใครได้เท่าไหร่จากการเล่น แต่มันจะมีอีกส่วนที่เป็นคะแนนลับ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้คนเล่นมีอารมณ์ร่วม และได้ลุ้น เหมือนกับใส่ความคาดเดาไม่ได้ ดังนั้นเลยคิดว่าเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ดีไซเนอร์บอร์ดเกมที่เขาเก่ง ๆ เนี่ยเขาเข้าใจมาก ๆ ว่าเขาจะสร้างบรรยากาศการเล่นให้ทุกคนรู้สึกสนุกได้ยังไง

ถ้าเป็นเกมประเภทปาร์ตี้ ความสนุกก็ขึ้นอยู่กับว่าจะทำให้คนหมู่มากสนุกได้อย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทรยศหักหลัง หรือคนร้ายที่เราไม่รู้ตัว แล้วทำยังไงเราจะรู้ว่าใครเป็นคนผิด ใครเป็นคนร้าย อะไรอย่างงี้ มันต้องเกิดจากวิธีสร้างอารมณ์ร่วมกับคนหมู่มากที่ไม่ต้องใช้กติกาอะไรมากมาย

คุณก็จะเห็นว่า เอาจริง ๆ ความสนุก ก็จะขึ้นอยู่กับว่าเป็นเกมอะไรนั่นแหละ ถ้าเป็นเกมที่เน้นตุ๊กตุ่นสวยงาม miniature บางทีความสนุกของเราก็คือ เอาออกมาลูบคลำก็สนุกแล้ว (หัวเราะ) ไม่ต้องเล่นก็ได้

เราอยากโฟกัสที่กลุ่มบอร์ดเกมที่เน้นกลไกว่า มันสามารถบอกอะไรให้กับผู้เล่นได้บ้าง

สิ่งที่เกมพอจะบอกได้ก็คือ  “ทักษะ” ว่าเราถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร เช่น คนบางคนอาจจะเจอว่า จริง ๆ แล้ว เราก็โอเคกับคณิตศาสตร์ คือ สามารถบวก ๆ ลบ ๆ ในเกมที่ต้องบวก ๆ ลบ ๆ เยอะ ๆ ได้ แต่บางคนก็จะรู้สึกว่า ไม่ ฉันไม่สนใจกับสิ่งนี้

หรืออีกอย่างที่เห็นชัด โดยเฉพาะในเกมแบบวางแผนที่ต้องใช้เวลา คือเรื่องของการมองแบบระยะไกล หรือการมองแบบระยะใกล้ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็จะบอกว่า ระหว่างคนที่มอง strategic มองยุทธศาสตร์ระยะยาว กับคนที่เน้นแบบ tactic ก็คือยุทธวิธีระยะสั้น

ยกตัวอย่างเช่น จะมีเพื่อนบางคนที่เราจะไม่เข้าใจว่ามันทำอะไร คะแนนก็ไม่ได้ ทำไปทำไม แต่สุดท้ายแล้วพอนับคะแนนกัน ตอนจบเกม ปรากฏว่าคะแนนเขาไปไกลมาก ถ้าเขาถนัดวางแผนในระยะยาว เขาจะทำได้ดีกับเกมที่ให้โอกาสทำคะแนนในระยะยาว แต่ อาจจะไม่ชอบเกมที่ให้โอกาสที่แผนเขาจะเสีย สมมติจั่วเหตุการณ์ขึ้นมา ปรากฏว่าดาวหางชนโลกแล้วตาย เขาก็จะรู้สึกแย่มาก เพราะว่าเขาไม่ได้เห็นความพยายามของเขาในบั้นปลาย

แต่ตัวเองจะรู้สึกว่า ไม่ใช่คนที่วางแผนระยะยาว ดูว่าเราทำอะไรได้บ้าง เราก็พยายามฉวยโอกาสในแต่ละตา แต่ก็เป็นคนที่รับได้กับโอกาสแย่ ๆ ที่มันจะเกิดเรื่องไม่ดีถ้าเป็นภาษาการเงินก็เรียกว่า “risk appetite” คือระดับความเสี่ยงที่รับได้ เหมือนเวลาคุณไปลงทุนก็ต้องกรอกว่าคุณรับความเสี่ยงได้ขนาดไหน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องของ mindset ไหม มันก็ไม่เชิง แต่เหมือนมันเป็นนิสัยบางอย่าง หรือเป็นคุณสมบัติบางอย่างในตัวเราที่มันออกมาได้ในการเล่นเกมมากกว่า

ซึ่งมันจะไปใช้กับชีวิต แล้วก็เรื่องการเงินต่าง ๆ ด้วย

(หัวเราะ) อันนี้ไม่รู้ว่ามันช่วยในแง่การเงินได้ไหม เพราะว่า สำหรับคนที่ใช้เงินเยอะมากกับการซื้อบอร์ดเกม อาจจะไม่ได้บริหารการเงินได้ดีมาก

แต่ถ้าพูดถึงความเชื่อมโยงว่าสิ่งที่เราได้รู้จากการเล่นเกมจะเอาไปช่วย หรือเชื่อมโยงยังไงกับการใช้ชีวิต ส่วนตัวคิดว่า มันก็ใช้ได้ใน เรื่องของลักษณะสถานการณ์บางอย่างที่เกมช่วยตอบโจทย์เช่น เท่าที่เล่นเกมมา บางคนก็จะมาบอกว่า เขาเป็นคนที่ค่อนข้าง introvert พอเขาได้มาเล่นบอร์ดเกมกับเพื่อน ขารู้สึกปลอดภัย แล้วเขาก็รู้สึกว่ามันสนุกที่เขาได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา

อีกอย่าง ส่วนตัวก็รู้จักคนได้เป็นแฟนกัน จนแต่งงานกันเพราะบอร์ดเกมมากกว่า 1 คู่ อันนี้ก็น่าจะบอกอะไรได้ประมาณนึง เพราะเขาบอกว่าบอร์ดเกมเหมือนทำให้แสดงนิสัยอะไรบางอย่างที่คนจะดูใจกัน อย่างพื้น ๆ เลยก็คือ คุณมีนิสัย ถ้าพูดกันง่าย ๆ ก็คือ คุณโกงรึเปล่า หรือคุณเป็นคนซื่อสัตย์

ทีนี้เกมพอมันสร้างสถานการณ์ที่เราอินได้ พอเราอิน เราก็อาจจะเหมือนแสดงนิสัยบางอย่างที่เราไม่ได้ตั้งใจ หรือปกติเราจะเก็บไว้ อย่างเช่นเรื่องของ risk appetite ซึ่งมันก็เป็นจุดที่ทำให้ ถ้าหากเราไม่เคยได้สังเกตเห็นตัวเราเองในชีวิตจริงก่อน การที่เราได้เห็น หรือเราได้สังเกตว่าเราก็รับความเสี่ยงได้  มันก็อาจจะช่วยเราให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น

พูดถึงเรื่องผู้คนแล้ว คอมมูนิตี้ของคนเล่นบอร์ดเกมในไทยกว้างแค่ไหน

มีการทำแบบสำรวจให้คนที่ซื้อบอร์ดเกมในไทยเข้าไปตอบ ประมาณการว่า ทั้งตลาดมูลค่าประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งมันเล็กมากเมื่อเที่ยบกับเกมคอมพิวเตอร์ ถ้ามองในแง่ดีคือมีโอกาสโตได้อีกเยอะ เพราะว่าถ้าเอาแค่จำนวนเกมใหม่ ๆ ที่ออกมาในแต่ละปีเนี่ยค่ะ มันก็ออกมาเยอะมาก อย่าง ในงาน Essen ที่ผ่านมาก็เป็นพัน ซึ่งฟังดูมันก็เหลือเชื่อมาก เพราะฉะนั้นในแต่ละปีก็ คิดง่าย ๆ เป็นหลักพันสองพันเกม

อันนี้ก็เลยไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงได้บอกว่า ค่ายคนไทยที่พยายามผลิตเกมเนี่ยเขาก็พยายามไปตีตลาดโลก หมายความว่าเขาก็พยายามเอางานไปขายแล้ว เพราะว่าอย่างงาน Essen อาจจะไม่ใช่แค่ว่าให้คนที่เป็นปัจเจกลองเล่นอย่างเดียว แต่ว่า บางค่ายก็คือ เขามีความทะเยอะทะยานที่อยากจะนัดคุยกับค่ายใหญ่ ๆ ในเยอรมันที่ทำหน้าที่เป็น ผู้จัดจำหน่าย ก็เป็นเรื่องของการเจรจาด้วยที่จะก็คือต่อท่อให้มันไปถึงตลาดโลกให้ได้

มีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้บอร์ดเกมไทย “เหมือนจะ” ไม่โตในบ้าน

ถ้าเราพูดถึงตลาดที่มูลค่าตอนนี้ยังแค่ 400 ล้านอะค่ะ (หัวเราะ) มันก็คงจะเร็วไปที่จะพูดว่าบอร์ดเกมไทยไม่โต เพราะว่า 400 ล้านนี่มันเล็กมาก ๆ แล้วมันก็ยังเป็นตลาดที่ถือว่ายังค่อนข้างใหม่ ในความหมายของการมีระบบนิเวศของนักพัฒนา คำถามคือ ระบบนิเวศของเรามันครบขนาดนั้นรึยัง มันก็อาจจะเพิ่งต่อจิ๊กซอว์เอง

อีกแง่ เราอาจจะมองเป็นโอกาสก็ได้ ถ้ารัฐหรือใครอยากจะสนับสนุน ก็มีช่องว่างให้เยอะมาก เอาแค่เรื่องการผลิตก็ได้ว่า ทำยังไงที่เราจะมีการพยายามช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงกระบวนการผลิตบอร์ดเกมที่ราคาเข้าถึงได้ แล้วก็ช่วยเขาต่อรอง ซึ่งมันก็มีแง่มุม ในเชิงนโยบายที่ถ้าจะทำก็ทำได้

ส่วนในฐานะคนเล่น เราก็จะเห็นเกมคนไทยที่ตีตลาดโลกได้ แล้วก็ประสบความสำเร็จ จริง ๆ ที่ผ่านมาก็ได้เล่นเกมที่ชอบ แต่เพียงแต่ว่า เกมเหล่านั้นมันอาจจะยังอยู่ในระหว่างกระบวนการผลิต หรือมันอาจจะยังเป็นเกมที่ยังไม่ได้คิดว่าจะไปขายคนอื่น ถ้าภาครัฐอยากจะซัพพอร์ตตั้งแต่เขาตั้งไข่อย่างงี้ก็จะดีมาก ไม่ใช่รอให้เขาดิ้นรนไปกันเอง แล้วก็ให้เขาสำเร็จแล้วไปเด็ดดอกเขา

ในมุมของผู้ซื้อ เราคิดว่าราคาบอร์ดเกมนี่เข้าถึงยากมาก

อันนี้มันก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ยากมากเลย อันนี้จะบอกว่าจริง ๆ แล้ว เหตุผลนึงที่ตอบคำถามว่า ทำไมบอร์ดเกมยังเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็ก คือ ราคามันค่อนข้างแพง พูดง่าย ๆ คือมันเป็นของเล่นราคาแพงที่คนก็ต้องคิดหนัก

แล้วบอร์ดเกมมันท้าทายกว่าสื่ออื่น ๆ ขึ้นไปอีกตรงที่ว่ามันไม่ใช่แค่เข้าใจยากอย่างเดียว มันต้องมานั่งลองเล่น ต้องลงทุน เพราะฉะนั้น ความท้าทายก็คือ จะทำยังไงให้คนมาลองเล่น แล้วพอคนมาลองเล่น ก็จะท้าทายต่อไปอีกว่าทำยังไงให้เขาฟังกฎ (หัวเราะ) เพราะบางเกมเราก็อยากให้เพื่อนเราเล่นมากเลย แต่มันต้องทนฟังเราไปก่อนสักครึ่งชั่วโมง

อีกอย่างนึงก็คือ คนที่จะเล่นด้วย คือหลัง ๆ มันก็จะเริ่มมีเกมเล่นคนเดียว แต่โดยรวมเขาก็จะออกแบบเกมมาเล่นด้วยกัน  อันนี้หลายคนเขาก็บอกว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ อยู่ดี ๆ เราจะหาเพื่อนสัก 3-4 คนเนี่ยที่ว่างตรงกัน และยินดีที่จะเจียดเวลา ชั่วโมงเพื่อทำสิ่งนี้ด้วยกัน ทำกิจกรรมนี้ก็คือเล่นบอร์ดเกม ซึ่งส่วนตัวคิดว่ามันต้องอาศัยการลงทุน ทั้งในแง่เงิน เวลา แล้วก็พลังงานด้วย โดยเฉพาะเจ้าของเกมที่จะดึงดูดให้เพื่อนมาเล่นเนี่ย มันเยอะกว่าการอ่านหนังสือ หรือว่าการดูหนังอะไรอย่างงี้เยอะมาก คือสิ่งเหล่านี้มันเป็นความบันเทิงแบบ passive แต่เกมนี่มัน active มาก มันเป็นโหมดคนละโหมด เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่า อันนี้มันเลยยาก ซึ่งราคามันก็เป็นอุปสรรคขั้นสำคัญที่ทำให้เป็นประเด็น

เรานึกถึง 2 สังคมที่จะสามารถดึงดูดคนได้
สังคมแรกคือ “โรงเรียน” ที่มีบอร์ดเกมเป็นสื่อการสอน แต่มีอุปสรรคสำคัญเรื่อง ‘เวลา’

ถ้าเอาตามข้อเท็จจริงที่ได้ยินมา คือ อาจารย์หลายท่านเริ่มจากว่าเขาก็ชอบเล่นบอร์ดเกม เขาก็คิดว่าควรจะเอาไปสอนเด็ก เด็ก ๆ ก็น่าจะชอบเล่นด้วย ก็เริ่มมีท่านที่ทำแบบนี้จริง ซึ่งทีนี้มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

เพราะว่าพอมันไปอยู่ในโรงเรียน ก็จะเข้าใจความกังวลของผู้บริหาร เพราะฉะนั้นบอร์ดเกมก็ต้องตอบโจทย์เรื่องการศึกษา และเราก็ต้องยอมรับว่าเกมบางเกมมันไม่เหมาะสมกับเด็ก อยู่ดี ๆ จะเอาเกมฆ่าซอมบี้ไปให้น้องประถมเล่น มันคงไม่น่าใช่

แต่จะบอกว่ามันเป็นโอกาสไหม มันก็คงเป็นโอกาสในแง่ว่า ถ้าทำได้ คนก็อาจจะเข้าถึง คนก็อาจจะคุ้นเคยกับบอร์ดเกมมากขึ้นตั้งแต่เด็ก ๆ อย่างมากก็อาจจะเป็นการใช้ประกอบวิชาใดวิชาหนึ่ง แล้วก็เคยมีประสบการณ์ในการแนะนำบางเกมให้เพื่อนเอาไปใช้สอนเหมือนกัน แล้วมี feedback ที่ดีด้วย แต่ว่าข้อจำกัดก็เป็นเรื่องเวลาอย่างที่คุณพูด แล้วทุกคนก็จะบ่น โอ๊ย ทำยังไงถึงจะได้เล่นจนจบ

สังคมที่สอง คือ สังคมออฟฟิศ มีคำกล่าวว่า “ออฟฟิศที่มีบอร์ดเกมเป็นออฟฟิศที่มีคุณภาพ” 

อันนี้เป็นคำกล่าวที่น่าสนใจมาก เพราะว่าป่าสาละมีเกมจำนวนมหาศาล แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะมีเวลาเล่นนะคะ รวมทั้งเจ้าของเกมด้วย เพราะฉะนั้นคิดว่าเป็นคนละเรื่องกัน (หัวเราะ)

การมีเกมคือ ส่วนหนึ่งมันแสดงความอยากสะสมอะ มันคล้าย ๆ หนังสือ การที่คุณมีกองดองไม่ได้แปลว่าคุณจะอ่าน เหมือนกัน มีบอร์ดเกมเยอะมาก แต่ไม่ได้แปลว่าเล่นหมด หรือมีเวลาเล่น มันคือของมันต้องมี มันก็มี 

ส่วนตัวเห็นด้วยในเซนส์ที่ว่า ถ้าออฟฟิศไหนออฟฟิศไหนยอมให้พนักงานมีบอร์ดเกมในออฟฟิศ หรือว่าออฟฟิศไปซื้อบอร์ดเกมให้พนักงาน มันก็เป็นแง่บวกในแง่ที่ว่าเป็นออฟฟิศที่อย่างน้อยให้คุณค่าของการเล่น เม่ใช่ออฟฟิศที่ซีเรียสอะ มันน่าจะเป็นเรื่องที่สร้าง มุมมองเชิงบวกให้กับออฟฟิศ “ที่มีบอร์ดเกม” แต่ก็นั่นแหละ มันไม่ได้แปลว่าเราจะได้เล่น

พอแบบนี้ เรานึกถึงออฟฟิศที่น่าจะมีอิทธิพลที่สุดในประเทศคือ
“ทำเนียบรัฐบาล” มีเกมไหนที่อยากแนะนำให้รัฐบาลเล่นบ้างไหม

โอ๊ย อันนี้เป็นคำถามที่ยากมากเลย อันนี้อาจจะเป็นการหาทางออกให้ตัวเองรึเปล่า แต่คิดว่าโดยรวม จะเป็นรัฐบาลหรือเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจก็ควรจะลองเล่นบอร์ดเกม เพราะเป็นการทำความเข้าใจสื่อที่หลาย ๆ คนไม่เคยรู้จักมาก่อนมันเป็นยังไง

มันอาจจะเป็นเหตุผลเดียวกับที่เราบอกว่าทำไมเราอยากให้ผู้ใหญ่ลองเล่นเกมคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มักจะมองแง่ลบว่าเกมไร้สาระ

ถ้าจะขยับมาอีกชั้นนึงว่าอยากจะแนะนำเกมที่อาจจะจำลองเรื่องการตัดสินใจในเชิงนโยบาย มันก็มีบอร์ดเกมที่ทำได้ดีเยอะมาก เช่น Die Macher เป็นเกมที่จำลองระบบเลือกตั้งเยอรมันที่เราอ้างว่าเราเอาเขามา แต่เอามาไม่หมด

ที่มา: https://boardgamegeek.com/image/59953/die-macher

เกมนี้จะให้เราเป็นพรรคการเมืองที่ต้องหาเสียงก่อนเลือกตั้งเราก็จะต้องมีนโยบายของพรรคที่จะเสนอเป็นภาพง่าย ๆ เช่น พรรคเราจะเพิ่มงบการทหาร แล้วก็ต้องไปหาเสียง ซึ่งต้องคิดว่า ต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการหาเสียง ต้องเจียดงบเจียดเงินยังไง แล้วพอถึงเวลาต้องจัดรัฐบาลผสม ก็ต้องฟอร์มให้เราไปจับมือกับพรรคอื่นได้ แต่พรรคอื่นต้องมีนโยบายอย่างน้อยตรงกับเรา ไม่งั้นก็จับกันไม่ได้ อันนี้สมจริงกว่าของจริงอีก (หัวเราะ) แต่ต้องใช้เวลาหน่อยกว่าจะรู้ผล

มันจะมีบอร์ดเกมบางเกมที่เป็นเกมการเมืองที่เขาพยายามจะจำลองโลกของการเมือง โลกของนโยบายลงมา ก็คิดว่าเกมเหล่านั้นก็น่าจะเป็นประโยชน์ คิดว่าเกมเหล่านั้นโดยทั่วไปก็ดีอยู่แล้วสำหรับคนทำนโยบายที่จะต้องเล่น เพราะว่ามันจะได้พยายามให้เห็นมุมที่กว้างขึ้น แล้วก็เข้าใจคนอื่นมากขึ้น

เป็นคนวางนโยบายที่มี empathy 

ใช่ ๆ จะได้เข้าใจว่าคนอื่นเขาคิดไม่เหมือนคุณเพราะอะไร

เราตั้งข้อสังเกตว่า บอร์ดเกมมันเป็นเรื่องของ Generation มาก ๆ

อันนี้จะบอกว่าเราแก่รึเปล่า (หัวเราะ)

เลยคิดต่อไปว่า ใน Generation ต่อไปเขาจะมีมุมมองยังไงต่อไปบ้าง
ในโลกที่มันถูก disrupt หมดแล้ว บางทีอาจจะเป็นบอร์ดเกมดิจิทัลหมดแล้วก็ได้

เวลาคุณพูดคำว่าบอร์ดเกมดิจิทัล มันก็มีจริง ๆ มันมีเกมที่เริ่มชีวิตเป็นบอร์ดเกม แล้วก็เอาไปถอดเป็นเกมคอมพิวเตอร์ (หัวเราะ) แล้วมันก็มีเกมคอมพิวเตอร์ที่มาจำลองเป็นบอร์ดเกม แล้วก็มีเกมอย่าง “คฤหาสน์วิปลาส” ซึ่งต้องใช้ดิจิทัลเล่นกับกระดาน ซึ่งส่วนตัวก็คิดว่า ก็เป็นวิธีหาบาลานซ์ที่ค่อนข้างโอเค แต่ถามว่ามันจะส่งผลต่อการตัดสินใจของคนไหม ส่วนตัวคิดว่า ก็ไม่

คือถ้าจะถามว่าทำไมบอร์ดเกมจะยังอยู่และจะยังโตขึ้น ต้องกลับไปถามว่า แล้วมันให้อะไรที่สื่ออื่นให้ไม่ได้ ซึ่งไอ้ความเป็น“อะนาล็อก” เนี่ยแหละคือเสน่ห์ 

ก็คือ ทุกอย่างมันอยู่ในกฎไง เป็นอะไรที่มันเรียบง่ายมาก ๆเพราะฉะนั้น เราจะทึ่งว่า เฮ้ย ดีไซเนอร์เขาเก่ง เขาคิด หรือสร้างเกมที่บาลานซ์ดีได้ยังไง ซึ่งมันออกมาจากกฎที่เขาเขียนเลย ในขณะที่เราเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เราจะรู้ได้ยังไงว่ามันจะไม่โกงเรา มันอาจจะโกงเราอยู่ก็ได้ แต่ว่าในบอร์ดเกมมันไม่มีเรื่องแบบนี้ เพราะทุกอย่างมาจากกฎที่ค่อนข้างโปร่งใส มันจะสนุกหรือไม่สนุกก็มาจากไอ้ตัวกติกาที่เขาเขียนอยู่ 10 หน้านี่แหละ

ความเป็นอะนาล็อกอีกอย่างคือเหมือนเป็นโอกาสที่ได้เจอเพื่อน ได้สังสรรค์กับเพื่อน มันก็เป็นความสนุกอีกแบบนึง แล้วไม่เหมือนเวลาไปเที่ยวกับเพื่อน แต่ว่ามันก็เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานได้ แล้วมันก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นัดเพื่อนมาเจอกัน เพราะเดี๋ยวนี้หลายเกมเริ่มต้องเล่นต่อเนื่อง คือมันไม่ใช่แค่สนุก แล้วอยากเล่นใหม่นะ แต่มันเป็นเกมที่เป็นแคมเปญ (หัวเราะ) ทั้งหมดถ้าเราจะรู้เรื่องราวทั้งหมดนี้ เราต้องเจอกัน 30 ครั้ง แล้วเราต้องเจอกันไปเรื่อย ๆ

อย่างเพื่อนต่างชาติที่รู้จักในอเมริกา หรือในยุโรปที่เขาเล่นเกมมา 20-30 ปี บอกว่าเขามีก๊วนเพื่อนที่สนิทกันมาก คิดภาพว่าเล่นเกมด้วยกันมาตั้งแต่อายุ 12 ขวบอะ แล้วก็เจอกันต่อเนื่อง นัดเจอกันเป็นสม่ำเสมอ เป็นเวลา จนถึงทุกคนอายุ 50 อย่างงี้ แล้วคิดดูว่าเขาโตไปกับตัวเราด้วย ตัวละครก็เป็นตัวละครที่มีชีวิตด้วยกันมายาวนานมาก ๆ

สุดท้าย มันก็เป็นเรื่องประสบการณ์ ถ้าลองเทียบว่า ทำไมคนเราถึงได้ยอมจ่ายเงินซื้อประสบการณ์ที่มันครั้งเดียวจบ เช่นซื้อตั๋วไปดูละครแพง ๆ หรือไปดูคอนเสิร์ตแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็จบเหมือนกัน ดูซ้ำไม่ได้เหมือนกัน แต่ว่าก็จะอารมณ์คล้าย ๆ กันนั่นแหละ สุดท้ายมันเป็นเรื่องของคุณค่าที่คิดว่าจะได้จากการจ่ายเงินครั้งนี้ แล้วก็มีอะไรที่มันพัฒนาไปเรื่อย ๆ

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า