fbpx

Safe Clinic: เมื่อเอชไอวีอยู่รอบตัวเรา และไม่เลือกเวลาที่จะติด

หากใครได้มีโอกาสผ่านไปผ่านมาย่านใจกลางเมืองอย่าง “อโศกมนตรี” หลายคนคงคุ้นเคยกับอาคารไทม์สแควร์เป็นอย่างดี แน่นอนว่าบางคนอาจจะเดินทางเพื่อมาทานข้าว แวะซื้อของ หรือติดต่องาน แต่ในอาคารแห่งนี้ยังมีคลินิกที่ให้บริการด้านการตรวจเอชไอวี/เอดส์ รวมไปถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ครบวงจรเลยทีเดียว และที่สำคัญคือความเป็นส่วนตัวที่ทางคลินิกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเลยก็ว่าได้

ที่นั่นก็คือ Safe Clinic คลินิกที่เกิดจากเจตนารมณ์ที่ไม่อยากให้มีใครเสียชีวิตจากภาวะเอดส์อีกแล้ว ซึ่งหนึ่งในแขกรับเชิญที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกันอย่างหมอจุ๊ย-นายแพทย์ชัยวัฒน์ ทรงศิริพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซฟคลินิก จำกัด ได้บอกกล่าวถึงที่มาที่ไปที่เกิดจากการที่มีคนรอบข้างได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อฉวยโอกาสที่เกิดจากภาวะเอดส์ถึงสองคน นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้เขาและเพื่อนๆ แพทย์ร่วมกันตั้งคลินิกนี้เพื่อให้บริการ

และถึงแม้ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้ารับบริการบ้าง แต่ Safe Clinic ก็ยังคงให้บริการทั้งทางด้านออนไลน์ในการให้คำปรึกษาและการส่งยาทางไปรษณีย์สำหรับคนที่ไม่สะดวกอีกด้วย ซึ่งวันนี้ The Modernist จะพาทุกคนมาร่วมพูดคุยกันถึงทัศนคติเกี่ยวกับเอชไอวี ตลอดจนเรื่องราวที่คลินิกแห่งนี้ได้พบเจอ ซึ่งหลายเหตุการณ์น่าสนใจและน่าเรียนรู้อย่างยิ่ง

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ที่มาที่ไปของการเปิด Safe Clinic

Safe Clinic เป็นคลินิกที่ให้บริการในส่วนของการตรวจเลือด รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงรักษาผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีด้วยครับ เหตุผลที่เปิด Safe Clinic เพราะว่าจริงๆ มันเป็นเรื่องส่วนตัว คือผมเองมีเพื่อนคนสนิทที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเอดส์ คำว่า “เอดส์” คือการติดเชื้อเอชไอวีมานานจนมีการติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน แล้วเป็นเอดส์เลย ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทถึงสามคนเลยนะ และหนึ่งในสามคนนั้นก็เป็นแพทย์ด้วย อีกสองคนที่เหลือก็เป็นคนที่ได้รับการศึกษาที่ดีทั้งคู่ สองในสามคนนี้ก็เสียชีวิตแล้วนะครับ ซึ่งคนที่เสียชีวิตไปนี่ เสียไปเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้วเอง ก็เหลือแค่หนึ่งคนในสามคนนี้

เลยรู้สึกว่าด้วยยาที่เรามีปัจจุบัน มันไม่ควรจะต้องมีคนมาเสียชีวิตจากการเป็นเอดส์ เหตุผลว่าทำไมคนที่เป็นหมอหรือคนที่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนถึงได้ปล่อยให้ตัวเองเป็นเอดส์และเสียชีวิตได้ เหตุผลหลักๆ นั้นไม่ได้มาจากระบบสาธารณสุขในประเทศไทยมียาไม่พอหรือเข้าถึงยาก แต่บางทีหลายๆ ครั้งคนที่มีการศึกษาหรือแม้แต่แพทย์เองก็ตาม รู้สึกไม่สะดวกใจที่จะเข้ารับบริการตรวจเลือดกับสถานพยาบาลที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ด้วยเรื่องของความเป็นส่วนตัว ความชะล่าใจนี้มันทำให้รู้สึกว่าผ่อนผัน ยังไม่อยากไปตรวจ สุดท้ายก็ไม่ได้ตรวจ แล้วผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือทำให้กลายเป็นว่าติดเอชไอวีจนปล่อยให้เลยเถิดจนเป็นเอดส์ในที่สุด

ผมก็เลยคิดว่ามันคงจะดี ถ้าเรามีคลินิกหรือสถานพยาบาลที่สามารถให้บริการกับคนไข้กลุ่มนี้ได้ ที่รู้สึกว่าเรามีกำลังจ่ายนะ แต่รู้สึกไม่สะดวกใจที่จะเข้าไปที่โรงพยาบาลรัฐหรือสถานพยาบาลของรัฐที่จะต้องไปเจอคนหลาย ๆ คน อยากได้ในเรื่องของความสะดวกรวดเร็วและเป็นส่วนตัว ก็จะทำให้คนกลุ่มนี้มีทางเลือกมากขึ้นในการเข้ารับบริการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการตรวจเลือด หรือแม้แต่การรับยาต้านเอชไอวีก็ตาม ก็เลยเป็นที่มาว่าอยากเปิดคลินิกที่ให้บริการในลักษณะนี้

และอีกอย่าง กรุงเทพฯ ก็เป็นแหล่งที่มีการติดเชื้อเอชไอวีค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับจังหวัดอื่น ซึ่งก็เข้าใจได้เนื่องจากกิจกรรมทางเพศในกรุงเทพฯ สูง และประชากรก็หนาแน่น มีสถานบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยวกลางคืนค่อนข้างเยอะ ก็เลยตัดสินใจที่จะเปิดคลินิกนี้ขึ้นมาครับ

ตอนที่เปิด มีเคสที่ตัวคุณหมอเป็นห่วงเองบ้างไหม

เคสที่เป็นห่วงอาจจะเป็นส่วนที่หนึ่ง เขาอาจจะไม่ได้มีกำลังทรัพย์ในการจ่าย ต้องบอกก่อนว่าคลินิกเราเป็นคลินิกเอกชน พอเรารับเข้ามาปุ๊บ อย่างเพื่อตรวจเลือด แล้วมีการติดเชื้อเอชไอวี ถ้าคุยกันแล้วคนไข้คนนี้รู้สึกว่าเขาไม่ได้มีกำลังทรัพย์มากพอในรูปแบบการบริการของเอกชน เราก็จะมีการส่งต่อคนไข้ไปให้ตามสิทธิ์หรือว่าโครงการของสภากาชาดไทยเองก็ตาม เราก็มีความเป็นห่วงคนไข้กลุ่มนี้ว่าจะหลุดไปจากระบบหรือเปล่า ที่เป็นห่วงก็มักจะเป็นกลุ่มนี้ครับ

ส่วนกลุ่มอื่นที่มีความเป็นห่วง ก็จะมีช่วงนี้เลยที่เป็นภาวะโควิด-19 คนไข้หลายๆ คนก็จะมีปัญหาในเรื่องการเดินทาง ไม่สามารถออกจากพื้นที่ตรงบริเวณที่ตัวเองอยู่เพื่อเดินทางมาติดตามการรักษากับทางคลินิกได้ คลินิกก็พยายามช่วยโดยการมีการติดต่อกับคนไข้ อย่างถ้ามาตรวจเลือดตามนัดไม่ได้ อย่างน้อยส่งยาให้ใช้ก่อน เพราะอย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องกินยาทุกวัน เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งสำคัญที่เราตามดูแลครับ

กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มคนไข้ชาวต่างชาติในยุคโควิด-19 ที่แต่ก่อนเคยรับยาต้านไวรัสกับทางคลินิกอยู่ คือเขาจะมาประเทศไทยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อเข้ามาตรวจและรับยาด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศเขามีปัญหาเรื่องการปกปิดในเรื่องเอชไอวี เขาก็เลยตัดสินใจที่จะมารับยารักษาที่ไทย พอโควิด-19 มาปุ๊บ คนไข้กลุ่มนี้ก็จะเป็นปัญหาแล้วว่าไม่สามารถกลับเข้ามาได้ และคนไข้เอชไอวีอีกกลุ่มที่รักษาอยู่ต่างประเทศ แต่ว่ามาทำงานหรือมาเที่ยวในไทย แล้วตอนนี้ติดอยู่ในเมืองไทย ไม่สามารถกลับภูมิลำเนาตัวเองเพื่อกลับไปรับยาได้ กลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงครับ

ปกติมีคนเข้ามาใช้บริการมากน้อยแค่ไหน

ถ้าเป็นช่วงก่อนมีการระบาดของโควิด-19 วันหนึ่งตกประมาณ 30-40 คนได้ครับ อันนี้รวมทั้งตรวจเลือดเอง รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือรับยา PrEP หรือ ART (ยาต้านเอชไอวี) แต่พอมาช่วงมีโควิด-19 ปุ๊บ การสัญจรมันน้อยลง แน่นอนกลุ่มคนไข้ต่างชาติก็หายไป เพราะแต่ก่อนต้องยอมรับว่าสักร้อยละ 40-50 เป็นคนไข้ชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการค่อนข้างเยอะ ทุกวันนี้คนไข้หายไปสักร้อยละ 60 ได้จากช่วงโควิด-19 นี้นะครับ

การที่มีคนไข้เข้ามาเยอะๆ มันบอกอะไรถึงสถานการณ์ของเอชไอวีบ้าง

คือเหตุผลที่ตั้งใจเปิด Safe Clinic ในกรุงเทพฯ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ากรุงเทพฯ มีชื่อเสียงในเรื่องของชีวิตกลางคืน ชาวต่างชาติมาเที่ยวกรุงเทพฯ ก็นึกถึงในเรื่องของการเที่ยวกลางคืนเป็นหลักเสียส่วนใหญ่ ฉะนั้นแน่นอนว่ากิจกรรมทางเพศมันมีค่อนข้างสูง แล้วก็ต้องตามมาด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อีกอย่างต่างชาติหรือคนไทยในกลุ่มที่มีกำลังจ่ายแต่ไม่สะดวกใจที่จะไปตามคลินิกหรือใช้บริการตามโรงพยาบาล ก่อนหน้านี้เขาก็พยายามค้นหาทางอินเทอร์เน็ตพยายามซื้อยาต้านมาทานเอง แต่พอเรามีคลินิกตรงนี้มา มันก็ตอบโจทย์และรองรับคนกลุ่มนี้

แต่ถามว่าในส่วนของเอชไอวีเอง เราเจอเยอะไหม คิดว่าการเจอเอชไอวีเยอะหรือน้อยกว่า ถ้าเทียบก่อนกับหลังโควิด-19 ซึ่งอันนี้เป็นข้อมูลของคลินิกเองนะ เราคิดว่าอาจจะไม่ได้ต่างกันมาก ถ้าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ก็แน่นอนแต่ก่อนมันเยอะกว่านี้อยู่แล้ว เพราะแต่ก่อนมีผับ บาร์ต่างๆ เปิด มีนักท่องเที่ยวมากันเยอะ มันก็คล้อยตามกันไปในเรื่องของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

แต่ผมว่าเอชไอวีตอนนี้ถ้าภาพรวมคิดว่าลดลง ถ้าในคลินิกผมจะไม่ต่างมาก เพราะแต่ก่อนมีคนไข้มาตรวจเจอเป็นเอชไอวีที่คลินิกก็ไม่ได้เยอะมากนะ คนไข้ในมือที่เป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเอง ณ วันนี้ที่คลินิกเปิดมาได้ประมาณสองปีกว่าๆ มีอยู่รวมๆ ประมาณ 100 คน ถามว่าเยอะไหม ก็คิดว่าจำนวนความหนาแน่นของคนที่ตรวจเจอเชื้อเอชไอวีมันไม่ได้เยอะขนาดนั้น แต่คิดว่าพอมีโควิด-19 ปุ๊บ การมีเพศสัมพันธ์ของคนก็น้อยลงตามไปด้วย ก็คิดว่ามันก็น่าจะเบาบางลงไปบ้างครับ

มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่าถ้าอยากมีเพศสัมพันธ์ช่วงนี้ให้ใส่หน้ากากอนามัย และละเว้นการมีเพศสัมพันธ์โดยต้องหันหน้าเข้าหากัน คุณหมอมีทัศนะกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ช่วงนี้ถ้าอยากมีเพศสัมพันธ์แต่กลัวโควิด-19 จากสถานการณ์ตอนนี้ ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์กันรูปแบบไหน ถ้าคู่ของเรามีเชื้อโควิด-19 โอกาสติดก็ค่อนข้างสูง อย่างที่เรารู้กันว่าโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า อยู่ใกล้ๆ กันนิดหน่อยก็ติดแล้ว เพราะฉะนั้นการมีเพศสัมพันธ์กันมันเลี่ยงได้ยากมากที่จะรอดจากการติดโควิด-19 ช่วงนี้อาจจะต้องอยู่แบบคู่ประจำเพียงคนเดียวไปก่อน คือแฟนของเราหรือว่าคนที่ผ่านการตรวจแล้วว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 คนที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ อาจจะไม่สามารถทำได้เหมือนสมัยก่อนที่จะมีโควิด-19 เพราะช่วงนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง รัฐบาลเองก็พยายามจะขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่กับบ้านให้มากที่สุด และพบเจอผู้คนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สถานการณ์ของเอชไอวีตอนนี้ เมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีรวมๆ ในเมืองไทยที่อยู่ในระบบมีสักประมาณ 5-6 แสนราย ถามว่าเยอะมากไหม ก็ไม่ได้เยอะมาก แต่ว่ากลุ่มเป้าหมายหลักที่มีการติดเชื้อสูงก็ยังเป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (หรือกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก) สถานการณ์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จริงๆ มันก็ไม่ได้เยอะมาก แต่ก็ยังมีเรื่อย ๆ ครับ เพราะว่าปัจจุบันคนก็มีความรู้ในเรื่องของการดูแลตัวเองกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันคนก็เจอกันง่ายมากขึ้น มีแอปพลิเคชัน โลกมันแคบลง มันก็สวนทางกัน ถึงแม้เราจะรู้วิธีป้องกัน แต่มันก็มีสื่อที่ทำให้คนมาเจอกันง่ายมากขึ้น ก็ยังเจออยู่เรื่อยๆ ครับ ถึงไม่ได้เยอะมากแต่ก็มีอยู่ทุกวันครับ แล้วก็มีกลุ่มประชากรที่ติดเชื้อ แต่ยังไม่ได้รับการตรวจ ก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงเหมือนกันว่าติดเชื้อมา แต่ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อและยังไม่ได้รับการตรวจ

มีคำพูดติดตลกว่าเอดส์ป้องกันได้ด้วยการไม่ไปตรวจคุณหมออยากแก้ความเข้าใจผิดตรงนี้อย่างไรบ้าง

จริงๆ อันนี้เป็นวลีที่ได้ยินมานานแล้วเหมือนกัน เป็นความคิดที่ผิดและส่งผลเสียมากสำหรับหลายๆ คน อย่างที่ผมเล่าให้ฟังตอนต้นว่าอย่างเพื่อนหรือญาติผมเอง รู้อีกทีคือเป็นเอดส์แล้ว และ 2 คนถึงขั้นเสียชีวิตไปเลยหลังจากได้รับการวินิจฉัยไปเพียงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีครับ เพราะฉะนั้นเอชไอวียิ่งตรวจเร็วเท่าไร ยิ่งดี ปัจจุบันยาต้านเอชไอวี คนที่ได้รับการรักษาตอนเริ่มเป็นใหม่ๆ ก็สามารถมีอายุยืนยาวได้เท่ากับคนที่ไม่ได้เป็นเอชไอวี

เพราะฉะนั้นเรื่องของเอดส์ป้องกันได้ด้วยการไม่ไปตรวจ ผมว่าเป็นแนวคิดที่สร้างความเสียหายต่อสุขภาพประชาชนไทยหลายๆ คน บางท่านถึงขั้นต้องเสียชีวิตจากวลีนี้ด้วยซ้ำ จริงๆ ผู้ใหญ่หลายๆ คนไม่น่าพูดให้เป็นเรื่องติดตลกนะครับ ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องตลก เพราะมีหลายคนเสียชีวิตจากวลีนี้มาแล้ว

คุณหมอยังเคยเจอคนที่มีค่านิยมเก่าๆ อยู่ไหมว่า เป็นเอดส์แล้วตายแน่เลย ต้องถูกรังเกียจ แล้วได้แก้ความเข้าใจผิดนี้อย่างไรบ้าง

จริงๆ เจออยู่ครับ และเจอเยอะเลย เอาจากประสบการณ์ส่วนตัวแล้วกันนะครับ ถ้าสมมติผมเจอคนไข้มาตรวจเลือดที่คลินิก เป็นคนไข้กลุ่มอายุที่เป็นวัยทำงานแล้ว เช่น 25-30 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้จะมีความกังวลต่อการติดเชื้อเอชไอวีมาก จะต้องคุยกันนาน บางทีร้องห่มร้องไห้เป็นชั่วโมง ส่วนอีกกลุ่มที่อายุน้อยมากๆ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรหลักที่ผมเจอว่าติดเชื้อเอชไอวีใหม่ คือกลุ่มอายุ 18-22 ปี กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ผมเจอบ่อยที่สุดที่มาตรวจแล้วเป็นเลือดบวก กลุ่มที่อายุน้อย ความเครียด ความกังวลจะน้อยกว่ากลุ่มวัยทำงาน

ส่วนตัวคิดว่ามีสองปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์นี้ อย่างแรกคือในกลุ่มคนที่อายุ 30 ขึ้นไป เขาโตมากับการที่สมัยก่อนเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว คนเป็นเอชไอวีเท่ากับคนเป็นเอดส์และเท่ากับเสียชีวิต แต่ก่อนเอชไอวีไม่มียา เป็นแล้วเท่ากับตาย เหมือนรอวันตาย และทำอย่างไรให้ตายทรมานน้อยที่สุด ทำอย่างไรให้ยื้อชีวิตไว้ได้นานที่สุด เพราะฉะนั้นแต่ก่อนพอมันไม่มียารักษาปุ๊บ รัฐบาลก็ต้องทำทุกวิถีทางให้ประชาชนอย่าไปติดเอชไอวี เพราะว่าติดแล้วมันรักษาไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องพยายามโพรโมตให้ประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวีว่าเป็นโรคที่น่ากลัว น่ารังเกียจ เราจะเห็นได้จากสื่อไม่ว่าจะในโทรทัศน์หรือหนังสือสุขศึกษาของเราเอง มันก็จะมีภาพน่ากลัวๆ ของคนที่ติดเชื้อเอชไอวี วัดพระบาทน้ำพุดูน่ากลัว ผิวหนังเป็นตุ่มเป็นหนอง เพื่อให้คนกลัว เพื่อให้คนจะได้ไม่ไปติด เพราะแต่ก่อนติดแล้วรักษาไม่ได้ ทีนี้ภาพจำนี้ก็อยู่ในหัวของพวกเรามาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันเทคโนโลยีในเรื่องของยามันพัฒนาไปเยอะแล้ว ยารักษาที่กินเข้าไปแล้วไม่ทำให้มีอาการ แต่ภาพจำ ณ วันนั้นก็ยังอยู่ ทัศนคติหรือ HIV Stigma หรือตราบาปเกี่ยวกับเอชไอวีก็ยังอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยส่วนใหญ่อยู่ ก็เลยทำให้คนกลุ่มอายุ 30 กว่ามีความกังวลค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งที่ผมแก้ทัศนคติคือผมเล่าให้ฟังอย่างนี้ล่ะครับ เหตุผลเพราะแต่ก่อนมันเป็นอย่างนี้ เราถูกปลูกฝังให้กลัว เพราะรัฐบาลไม่อยากให้เราไปติดเพิ่ม เพราะ ณ วันนั้นมันรักษาไม่ได้จริงๆ แต่พอมาวันนี้ เรารักษาได้แล้ว แต่เราก็ยังกลัวเหมือนเดิมอยู่ ทำไงล่ะ เราก็ต้องทำความเข้าใจกับความเป็นจริงของโลกว่าปัจจุบันนี้ไม่ต้องกลัวนะ

ผมจะบอกเสมอว่าถ้าตรวจแล้วเจอ ไม่ต้องกลัวนะ ในข่าวร้ายก็มีข่าวดี ข่าวร้ายคือคุณมีการติดเชื้อเอชไอวี แต่ข่าวดีคือคุณมาตรวจตั้งแต่คุณยังเดินเองได้ คุณไม่ได้มีอาการถึงขั้นนอนหอบเหนื่อยบนเตียง รีบตรวจเจอ ก็จะได้รีบเริ่มยารักษาเพื่อให้ส่งผลดี คนไข้ส่วนใหญ่แต่ละคนก็มีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป ช่วงเดือนแรกก็จะมีความเครียดละ แต่พอได้รับยารักษาไป 2-3 เดือน แล้วเขาก็รู้แล้วว่าก็ไม่เห็นมีอะไรนี่ ก็แค่กินยาไปวันละครั้ง ฉันก็มีชีวิตปกติได้เหมือนคนทั่วไป

ส่วนในเรื่องของสังคมและการยอมรับทางสังคม อันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและละเอียดอ่อน ทุกคนโตมาในบริบทและครอบครัวไม่เหมือนกัน หลายคนก็ไม่กล้าบอกใครว่าตัวเองเป็น ซึ่งอันนี้หลายภาคส่วนก็ต้องช่วยกันให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ทางรัฐและภาคส่วนสาธารณสุขก็พยายามจะรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนว่าเอชไอวีไม่ได้น่ารังเกียจ น่ากลัวเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว ส่วนนี้ก็ต้องค่อยๆ ปรับทัศนคติของประชาชน แต่ก็ถือว่าดีขึ้นเป็นลำดับครับ เดี๋ยวนี้หลายๆ คนก็เริ่มเปิดใจมากขึ้นนะ คือมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่มันดีได้กว่านี้อีกเยอะครับ

สถานการณ์เอชไอวีอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

เท่าที่ติดตามเรื่องของเทคโนโลยีการรักษา ดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดก็มีการอนุมัติการใช้ยาต้านไวรัสแบบฉีดขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องกินยาทุกวัน กินยาเดือนละครั้ง ก็เริ่มมีใช้ในสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ใช้นะ แล้วในอนาคตก็เชื่อว่าจะมีการพัฒนาในส่วนของวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้หรือแม้แต่การที่จะกำจัดเอชไอวีด้วยตนเองได้ โดยที่ว่าวันหนึ่งเราอาจจะไม่ต้องมานั่งกินยาทุกวันแบบนี้ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน คือในแง่วิจัยของทางนักไวรัสวิทยา เขาก็พยายามจะหาทางรักษาให้มันหายขาด ซึ่งถ้าถามความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าใน 5 ปีข้างหน้าก็น่าจะมียาที่ดีกว่านี้ใช้อีก เพราะฉะนั้นก็ฝากถึงผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีว่าอย่าเพิ่งหมดหวังเนอะ ยาที่คุณมีทุกวันนี้มันก็ดีมากๆ แล้ว แต่ในอนาคตมันจะดีขึ้นได้กว่านี้อีก แล้วเราก็หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าวันหนึ่งเราก็จะสามารถหายขาดจากโรคนี้ได้ครับ ทุกวันนี้เขาถือว่าเอชไอวีเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาได้ แค่คุณกินยาไปวันละครั้ง คุณก็จะอยู่ไปได้ปกติเหมือนคนที่ไม่ได้มีเชื้อครับ

พอเจอการแพร่ระบาดของโควิด-19 มันส่งผลต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ทำให้เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพมากน้อยแค่ไหน

ในประเทศไทยยอมรับว่าส่งผลกระทบค่อนข้างเยอะนะ ขนาดผมไม่ได้อยู่ในส่วนที่เป็นสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลหลักผู้ให้บริการในส่วนของยาต้านเอชไอวี เนื่องจากพอเป็นเอกชนปุ๊บ ก็ได้รับโทรศัพท์ติดต่อเข้ามาจากคนไข้ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีว่า ณ ตอนนี้เขาไม่สามารถเดินทางมารับยาหรือไปเจอแพทย์ตามนัดได้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่เขาเคยรักษา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ออกจากพื้นที่ไม่ได้ เราต้องยอมรับว่าบางคนเขาอยู่อีกจังหวัด แต่เขามารับการรักษาเอชไอวีอีกจังหวัด เขาก็มีการติดต่อเข้ามาว่าขอซื้อยาได้ไหม ผมก็พยายามจะช่วยเหลือตรงนี้ โดยขอประวัติว่าคุณรักษาอยู่ที่ไหน ผลการรักษาล่าสุดเป็นอย่างไร ใช้ยาตัวไหน ถ้าสมมติว่ายาที่เขาใช้เป็นยาที่ทางคลินิกมี ก็จะมีการจัดจำหน่ายให้ไปในช่วงโควิด-19 นี้ก่อน

เพราะอย่างไรก็ตาม ถึงคุณจะไม่สามารถไปตรวจเลือดตามนัดได้ แต่อย่างน้อยคุณต้องมียากินทุกวัน ไม่เช่นนั้นถ้าเกิดคุณหยุดยา ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออาจมีภาวะดื้อยาได้ พอมีการดื้อยา ก็ต้องมีการปรับสูตรยา อาจจะทำให้ยุ่งยากต่อการรักษามากขึ้นครับ เจอเยอะครับช่วงโควิด-19 ก็อย่างที่บอกตอนแรกว่าก็จะมีกลุ่มคนไข้ต่างชาติที่ไม่ได้รักษาที่เมืองไทยหรอก แต่ฉันติดอยู่ในเมืองไทยตอนนี้ ก็ต้องมารับยาครับ ก็กระทบค่อนข้างเยอะ

ในส่วนของภาครัฐอย่างโรงพยาบาลเอง โดยเฉพาะหมอโรคติดเชื้อที่อยู่ในโรงพยาบาลก็ถูกเกณฑ์กำลังไปดูแลโควิดหมดเลย ตอนนี้ทุกอย่างก็คือโควิด-19 อย่าว่าแต่เอชไอวีเลยครับ คนเป็นโรคอื่นก็ได้รับผลกระทบครับ จะหาเตียงรักษาก็ค่อนข้างยาก ต้องระมัดระวังในการติดเชื้อโควิด-19 ก็เป็นปัญหาพอสมควรครับ

ในส่วนของ Safe Clinic เอง ได้รับผลกระทบอะไรจากโควิด-19 บ้างไหม

อย่างที่บอกไปแต่แรกครับว่าจำนวนคนไข้ที่มารับบริการมันหายไปสักร้อยละ 60 ได้ ซึ่งในการบริหารจัดการต่างๆ ในคลินิกต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เวลามีคนไข้เดินเข้ามาในพื้นที่คลินิก เราก็ต้องป้องกันโควิด-19 ในคลินิกด้วย เพราะถ้าเกิดมีติดเชื้อในคลินิกขึ้นมาก็จะสร้างความยุ่งยากละ เพราะคลินิกก็มีพื้นที่จำกัด ผู้ให้บริการ พนักงานก็มีความจำกัด อีกอย่างหนึ่ง ตอนช่วงแรกที่มีการประกาศ Lockdown ต่างๆ ตัวคลินิกเองเป็นคลินิกรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นสหคลินิกเวชกรรม ทางฝ่ายอาคารตอนแรกเขาก็ไม่แน่ใจว่าเราจะเปิดได้ไหม เลยโทรติดต่อไปทางกรุงเทพมหานคร บอกเขาว่าจริงๆ คลินิกเราให้บริการแบบนี้นะ เราสามารถเปิดได้ไหม ก็ต้องมีการประสานตรงนี้ด้วย อย่างที่บอกว่ารัฐบาลตอนนี้พยายามจะปิดทุกๆ อย่างในกรุงเทพฯ ให้ได้มากที่สุด แต่เราก็มีการติดต่อว่าเรามีคนไข้ที่ต้องมาติดตามการรักษา ต้องมารับยาทุกวันและไม่สามารถหยุดยาคนไข้ได้ เขาก็อนุญาตให้เราเปิดทำการได้

ถ้าช่วงนี้มีคนต้องการไปตรวจเลือดจริงๆ แล้วมีผลเป็นบวก กระบวนการช่วงนี้จะยากกว่าช่วงที่ไม่มีโควิด-19 ไหม

ถ้าเป็นในส่วนของการดำเนินการ ในคลินิกผมเองก็ไม่ได้แตกต่างกันนะ คือปกติต้องบอกก่อนว่าเวลาคนไข้มาตรวจเลือดที่คลินิกปุ๊บ ผลออกมาเป็นบวก เราก็จะมีการให้ข้อมูลคนไข้ อธิบายให้ฟังว่าเป็นบวกอย่างนี้แปลว่าอะไร ขั้นตอนต่อไปต้องเริ่มการรักษานะ แต่ถามว่าคุณจะเริ่มการรักษาแบบไหน ก็มีทางเลือก ถ้าโอเคว่ารักษากับทางคลินิก เราก็มีในส่วนค่าใช้จ่ายดังนี้นะ ก็ว่ากันไป มีข้อจำกัดอะไรบ้าง แต่ถ้าคุณไม่สะดวกรักษากับคลินิก มีทางเลือกทางไหนบ้าง เช่น รักษาตามสิทธิ์ หรือไปโครงการต่าง ๆ ของคลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย เราก็เขียนจดหมายส่งตัวไปได้ ซึ่งล่าสุดโครงการนั้นเขาก็ยังเปิดทุกวันอยู่นะ

คิดว่าในส่วนของเคสที่เป็นรายใหม่ๆ ยังไม่ได้มีปัญหาอะไรเท่าไร ที่จะเจอปัญหาก็อย่างที่บอกว่าเป็นเคสเดิมที่เคยรักษาอยู่ แล้วไม่สะดวกในเรื่องการเดินทาง ยาจะหมด ทำอย่างไรดีมากกว่า แต่นอกเหนือจากนี้ทางคลินิกก็ต้องเปิดปิดกระชับเร็วขึ้น อาจจะไม่ยืดหยุ่นมากเท่าแต่ก่อน แต่ก็ไม่ถึงขั้นว่าเป็นปัญหาลำบากมากขึ้นอะไร ยังให้บริการได้อยู่

บริการของ Safe clinic มีอะไรบ้าง นอกจากบริการด้านเอชไอวี

หลักๆ ตอนนี้ก็ตรวจเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการจ่ายยา PrEP สำหรับคนที่กินยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี หรือมีอุบัติเหตุจากการมีเพศสัมพันธ์มา เช่น ถุงยางอนามัยแตก รั่ว ต้องการยา PEP สำหรับกิน 28 วันหลังเกิดความเสี่ยง แล้วก็มีการฉีดวัคซีน เช่น ไข้หวัดใหญ่ วัคซีน HPV ไวรัสตับอักเสบเอ บี และอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการตรวจโควิด-19 ทาง PCR แต่ว่าจะเป็นการไปตรวจให้ที่บ้านครับ

แนวทางต่อไปของ Safe clinic ในการดูแลรักษาคนไข้หรือผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี

ณ ตอนนี้ สิ่งที่คิดคือพอเรามีปัญหาในเรื่องโควิด-19 ที่ระบาด เราต้องหาทางติดต่อคนไข้ อาจจะมีการรักษาทางไกล (Telemedicine) เกิดขึ้นในอนาคต ถ้าคนไข้ไม่สามารถเข้ามาพบแพทย์ได้ถี่ขนาดนั้น แต่อย่างไรก็ตามต้องดูในส่วนของการนัดมาตรวจเลือดเพื่อติดตามผล ก็ต้องมีการแจ้งคนไข้ว่าถ้าสมมติไม่สะดวกมาที่คลินิก เราก็จะมีการ Telemedicine เพื่อรักษา ถ้าอย่างนั้นหมอจะลิสต์รายการที่คุณจะตรวจอะไรบ้าง ไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใกล้บ้านตามลิสต์ที่บอก ต้องเป็นการสื่อสารกันทางไกลมากขึ้นมากกว่าที่คนไข้จะเข้ามาที่คลินิกด้วยตัวเองเหมือนสมัยก่อน เพราะอย่างที่บอกว่าเราไม่รู้ว่าโควิด-19 มันจะจบตรงไหน

ฝากถึงคนที่อยากใช้บริการที่ Safe Clinic

ใครก็ตามที่ต้องการตรวจเลือด รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อยากจะเข้ามาปรึกษาเรื่องการใช้ยา PrEP หรือผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีก็ตาม ถ้าอยากเข้ามาใช้บริการที่นี่ คลินิกเราเปิดให้บริการทุกวันที่อาคารไทม์สแควร์ ชั้น 3 สามารถเดินทางเข้ามาได้ หรือติดต่อได้ทางเพจของคลินิกได้ เราให้บริการแบบนิรนาม คนที่เข้ามาคลินิกเราไม่ได้ต้องการบัตรประชาชน ไม่ได้ต้องการชื่อนามสกุลจริง เราจะขอหลักๆ แค่อายุ อักษรตัวแรกของชื่อและนามสกุล วันเดือนปีเกิด และชื่อเล่น ไม่ได้ต้องการข้อมูลรายละเอียดคนไข้ เพราะเราเข้าใจว่าคนไข้หลายๆ คนไม่อยากจะเปิดเผยตัว ซึ่งถ้าใครสนใจก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ในเพจคลินิกได้เลยครับ

Safe Clinic
ชั้น 3 อาคารไทม์สแควร์ (ใกล้ BTS สถานีอโศก / MRT สถานีสุขุมวิท)
เปิดบริการทุกวัน 12.00 น.-20.00 น.
ติดต่อได้ผ่านทางโทรศัพท์ 083-5344555 และ 02-0068887
Facebook : https://www.facebook.com/SafeClinicBKK/
Line OA : @safeClinicBkk
Website : https://www.bangkoksafeclinic.com/
Google Maps : https://g.page/safe-clinic?share

พิสูจน์อักษร : กนก อำนวยพร / วรรณรัตน์ ทองแผ่น
ภาพโดย Safe Clinic

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า