fbpx

“Agency” : เมื่อเบี้ยอยากออกจากกระดาน และไม่ต้องการเป็นทาสอีกต่อไป

*บทความเรื่องนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง*

“ถ้าไม่อยากตายก็ลาออกไปซะ”

“วันนี้เลิกงานเร็ว ต้องไปนอน”
“ทำงานเหมือนทำสงคราม”

“ทำงานว่ายากแล้ว จะลาออกก็ยากอีก” 

เหล่านี้คือประโยคเด็ดโดนใจที่สตรีมมิงเจ้าดังอย่าง Netflix คัดสรรมาอย่างดี เพื่อโปรโมตซีรีส์ Agency ซีรีส์สัญชาติเกาหลีใต้ ที่ว่าด้วยชีวิตและการทำงานของชาวเอเจนซีโฆษณา ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ายิ่งกว่าสนามรบ เพราะแม้ผู้ทำอาชีพนี้จะดูเท่ เป็นอาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่แท้ที่จริงแล้วก็เป็นแรงงานที่ต้องรีดเค้นความคิด ทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย เพื่อชนะใจลูกค้า และเอาชนะคู่แข่ง ขณะเดียวกัน วิถีการทำงานก็กัดกินตัวตนและจิตใจของคนทำงาน หลายคนป่วยกาย ขณะที่อีกมากมายป่วยทางใจ

Pain point เหล่านี้จึงดึงดูดความสนใจของผู้ชมให้เลือกดูซีรีส์นี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

ทว่าเมื่อติดตามชมไปตลอดทั้งเรื่อง เรากลับพบว่า สิ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้กับคนทำงานเอเจนซีโฆษณา (อย่างน้อยก็ในเรื่องนี้) ไม่ใช่เนื้องาน แต่เป็น “อำนาจ” ที่บีบให้ “ทาส” ต้องแข่งขันกันไขว่คว้าความสำเร็จ เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากวังวนความเป็นทาส สู่จุดที่สูงขึ้นและจะไม่มีใครทำร้ายพวกเขาอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวละครใน Agency การก้าวสู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารที่เรียกว่าวงการเอเจนซี กลับไม่ใช่จุดจบที่แท้จริงของเรื่อง เพราะทาสยุคใหม่มีเป้าหมายที่พ้นจากอำนาจไปแล้ว

หงส์ตะเกียกตะกายใต้ผิวน้ำอย่างไม่หยุดพัก

คำว่า “ทาส” มีความหมาย 2 แบบ ได้แก่ (1) ผู้ที่ขายตัว หรือถูกบังคับลงเป็นคนรับใช้ และ (2) ผู้ที่ยอมตนให้ตกอยู่ในอำนาจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ทาสการพนัน ทาสยาเสพติด หรือทาสเงิน แม้ว่าภาพคนทำงานบริษัทในยุคปัจจุบันนั้นดูจะห่างไกลจากคำว่าทาส แต่เมื่อพิจารณาถึงการทำงานหนักแลกเงิน รวมทั้งการตกอยู่ในวังวนของการรับใช้ระบบทุนนิยม โดยไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตที่เป็นของตัวเองจริงๆ หากเราจะมองว่าคนทำงานทุกวันนี้เป็นทาส ก็คงจะไม่ผิดนัก

เช่นเดียวกับเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างผู้กุมอำนาจกับผู้ที่อยู่ใต้อำนาจทั่วไป ฝ่ายที่ถืออำนาจใน Agency คือเจ้าของบริษัทและเหล่าผู้บริหารระดับสูง ในบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ที่ทั้งหมดเป็นผู้ชายวัยกลางคน ใส่สูทผูกไท ไม่ว่าจะนั่งหรือยืนก็ต้องเรียงแถวกันเป็นลำดับ คนเหล่านี้รวมตัวกันภายใต้ระบบธรรมเนียมปฏิบัติ พร้อมความเชื่อมั่นในลำดับชั้นของคน และใช้อำนาจลดหลั่นกันเป็นทอดๆ

“ต้องบงการจากข้างบน ข้างล่างจะได้เคลื่อนไหว” ประโยคสั้นๆ จากตัวละครหนึ่งในเรื่อง ซึ่งสามารถให้คำจำกัดความของฝ่ายผู้คุมกฎได้เป็นอย่างดี

ส่วนอีกข้างของสมการ คือฝ่ายลูกจ้างที่ไร้อำนาจ ซึ่งรวมถึง “โกอาอิน” ตัวละครหลักของเรื่อง ที่เติบโตจากเด็กที่ถูกแม่ทิ้ง ฐานะยากจน ระดับการศึกษาไม่สวยหรู สู่การเป็นประธานฝ่ายสร้างสรรค์ในบริษัทเอเจนซีโฆษณายักษ์ใหญ่แห่งเดียวกัน แม้เธอจะได้ชื่อว่าเก่งกาจจนบริษัทคู่แข่งหวาดกลัว แต่เบื้องหลังนั้น เธอต้องต่อสู้กับโรคแพนิก โรควิตกกังวล และอาการนอนไม่หลับ ทั้งหมดนี้มาจากการทำงานหนัก ที่ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เพื่อ “ความอยู่รอด”

ไม่ใช่แค่คนจากชนชั้นล่างเท่านั้นที่เป็นทาส สาวไฮโซ ลูกสาวประธานบริษัทอย่าง “คังฮันนา” ก็เป็นคนไร้อำนาจอีกคนที่ต้องดิ้นรนในเรื่องนี้ จากการเป็นลูกสาวคนเล็ก เป็นทายาทรุ่นที่สามของครอบครัว และแทบไม่มีอำนาจใดๆ เพราะอนาคตทั้งหมดเป็นของพี่ชายคนโต เพราะฉะนั้น คังฮันนาจึงเป็นเพียงองค์หญิงเอาแต่ใจ ที่ไม่มีใครคิดจะเคียงข้าง เพราะเธอไม่มีอำนาจ

“คนบ้ามาเจอกัน ถึงมองกันออก” ผู้มีอำนาจคนหนึ่งในเรื่องชี้ให้เห็นความเหมือนกันระหว่างโกอาอินและคังฮันนา แม้ในช่วงแรกทั้งคู่จะตั้งตนเป็นศัตรูกัน แต่เมื่อพิจารณาดีๆ ทั้งคู่เป็น “คนบ้า” ในสายตาผู้มีอำนาจ ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับบริษัทอย่างไม่หยุดหย่อน คาดเดาไม่ได้ พร้อมทลายทุกธรรมเนียมที่กัดกินคนทำงาน ขณะเดียวกันก็เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ฉีกทุกกรอบ แถมยังได้ผลดีเกินคาด

แต่ด้วยความเป็นผู้หญิงและความอ่อนอาวุโส เหล่าผู้มีอำนาจจึงประมาทพลังของพวกเธอ และเผลอล้ำเส้น ดึงเอาทั้งคู่เข้าสู่การเป็นหุ่นเชิดในเกมการเมืองของบริษัท ก่อนจะเปลี่ยนพวกเธอให้เป็นเบี้ยบนกระดานของการช่วงชิงอำนาจ 

เบี้ยที่เรียกว่า “คนรุ่นใหม่”: คิดอย่างมีกลยุทธ์ แสดงออกดุจคนบ้า

“เสื้อผ้าหน้าผมต้องเลือกอย่างพิถีพิถัน คุณไม่ใช่แค่กรรมการทั่วไป แต่เป็นหน้าเป็นตาให้บริษัทเรา” ตัวละครฝ่ายผู้มีอำนาจพูดกับโกอาอิน ในวันที่จะใช้เธอเป็นหุ่นเชิดทางการเมืองในบริษัท และโกอาอินก็คืนประโยคนี้ให้กับคังฮันนา ในการเจรจาต่อรองเพื่อความอยู่รอดของทั้งคู่ กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับ ที่แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันอย่างยุติธรรมในที่สุด

เกมการเมืองในบริษัท เปลี่ยนคังฮันนาจากเด็กสปอยล์คนหนึ่ง ให้กลายเป็นโกอาอินคนที่สอง และทั้งคู่ได้พัฒนาตัวเองเป็นระเบิดลูกใหญ่ เอาชนะผู้มีอำนาจในบริษัทได้อย่างปาฏิหาริย์ ด้วยความเจนจัดในสนามการทำงานเอเจนซีโฆษณา ความคิดสร้างสรรค์ และความบ้าที่เหนือความคาดหมาย จนส่งให้โกอาอินก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด คือการเป็นประธานบริหารของบริษัท

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะคิดว่านี่คือชัยชนะของโกอาอิน ในการเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในบริษัท แต่เรื่องกลับดำเนินต่อในปีถัดมา เป็นภาพโกอาอินเปิดบริษัทเอเจนซีอิสระ ที่ดูแล้วศักดิ์ศรีย่อมด้อยกว่าเอเจนซียักษ์ใหญ่ที่เธอเคยกุมบังเหียนมาก่อน

“บริษัทต่างหากที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ การหาเลี้ยงชีพมันไม่ง่ายเลย” โกอาอินพูดกับคู่ปรับเก่าของเธอ ในวันที่เขาพ่ายแพ้ และเธอกำลังจะได้อำนาจในมือ สะท้อนให้เห็นว่า อำนาจในบริษัทใหญ่คือศัตรูตัวจริงที่เปลี่ยนพนักงานให้กลายเป็นเบี้ยบนกระดาน คอยห้ำหั่นกันอย่างไม่คิดชีวิต โดยมีรางวัลล่อใจที่เรียกว่า “ความสำเร็จ” ขณะเดียวกัน บริษัทก็เติบโตจากการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการต่อสู้ดิ้นรนของเบี้ยตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้

เพราะฉะนั้น เป้าหมายที่แท้จริงของโกอาอิน จึงไม่ใช่การเป็นหัวหน้าทาสคนใหม่ ที่คอยฉวยผลประโยชน์ไปถวายเบื้องบน แต่เป็นการออกจากวังวนความเป็นทาส และมีอิสรภาพในการกำหนดเส้นทางชีวิตของตัวเอง

ภาพที่เรียกว่า Happy Ending ของซีรีส์เรื่องนี้ จึงเป็นภาพเอเจนซีอิสระเล็กๆ ที่มีเวลามากพอให้พนักงานได้สานสัมพันธ์กับครอบครัว มีจุดยืนที่แข็งแรงพอจะต่อรองกับลูกค้า และโกอาอินได้แต่งตัวสบายๆ ไม่ต้องอยู่ในชุดสูท วางท่าแข็งกร้าวเพื่อสู้กับผู้มีอำนาจเหนือหัว

“ทำไมคนอื่นต้องกำหนดขีดจำกัดของฉันด้วยล่ะ” โกอาอินทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม ที่น่าจะเป็นประโยคจบบริบูรณ์ที่หนักแน่นที่สุด สำหรับซีรีส์ปลดปล่อยทาสทุนนิยมเรื่องนี้

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า