fbpx

“เลือกตั้งคือโชว์ที่สนุกที่สุดในโลก” เงินตรา การเมือง และสตรี การต่อสู้ของนายทุนกับแรงงานใน ‘Queenmaker’

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์เรื่อง Queenmaker*

การเมือง นายทุน นายกรัฐมนตรีโซล สามคำนี้คือคีย์เวิร์ดหลักที่เป็นพื้นหลังของซีรีส์เรื่อง Queenmaker (2023) จากเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เล่าเรื่องราวของ ‘ฮวัง โดฮี’ ผู้จัดการด้านกลยุทธ์ผู้มีประสบการณ์กว่า 10 ปี งานของเธอคือการรับมือและเก็บกวาดทุกปัญหาที่เหล่าเจ้านายสร้างไว้ ซึ่งเจ้านายนั้นก็ยิ่งใหญ่เกินคาดเพราะเป็น ‘อึนซองกรุ๊ป’ หนึ่งในกลุ่มแชโบลที่มีอิทธิพลในเกาหลีใต้

คาร์ล ยุน หนึ่งในตัวละครสำคัญของเรื่องที่มีหน้าที่เป็นหัวหน้าด้านกลยุทธ์การเลือกตั้ง คู่แข่งด้านมันสมองคนสำคัญของโดฮีมักพูดเสมอว่า ‘เลือกตั้งคือโชว์ที่สนุกที่สุดในโลก’ ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ก็ได้เผยให้เห็นความสนุกดังกล่าว ที่กว่าจะได้ผู้สมัครลงเลือกตั้งที่สมบูรณ์แบบสักคนหนึ่ง ต้องอาศัยทั้งทุนมหาศาล ทีมเบื้องหลังอันทรงพลัง และกลยุทธ์อันแยบยล เพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นตัวละครในโชว์ครั้งนี้โดดเด่นจนประชาชนยอมเทเข้าคูหาเพื่อลงคะแนนเสียงให้ บนเวทีการแสดงอันเต็มไปด้วยการฉ้อฉลและการหักเหลี่ยมเฉือนคมเพื่ออำนาจและผลประโยชน์มหาศาล

‘ฮวัง โดฮี’ และ ‘โอ กยองซุก’ ภาพแทนของแรงงานที่ลุกขึ้นสู้กับนายทุน

“น่าอิจฉาประธานซนที่มีคนฉลาดแบบนั้นคอยรับใช้ เหมือนพาหมากินง่ายถ่ายทุกที่เข้าบ้าน มันก็จะคิดว่าตัวเองเป็นคน อย่าไว้ใจมากจนเกินไป หมาพันทางอย่างไรก็เป็นหมาพันทาง”

ก่อนจะเข้าสู่โลกการเมือง ตอนแรกของซีรีส์เผยให้เห็นการทำงานด้านกลยุทธ์ของโดฮี ผู้จัดการแห่งอึนซองกรุ๊ป ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายสาขาทั่วประเทศ รวมถึงตึกร้านปลอดภาษีที่ใหญ่และสูงที่สุดในเอเชีย โดฮีเปรียบเสมือนตัวแม่ของวงการ เมื่อเจ้านายทำผิดจนกลายเป็นคดีความใหญ่โต งานของเธอคือการทำเรื่องใหญ่ให้ผ่านไปอย่างราบรื่นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

หากมีนักข่าวถามคำถามไม่เข้าท่า โดฮีจะเร่งสืบทันทีว่านักข่าวถามตรงประเด็นเป็นสื่อสำนักไหน ก่อนสั่งถอนโฆษณาทั้งหมดที่อึนซองกรุ๊ปดีลไว้ออกจากสถานีโทรทัศน์นั้นทันที เพื่อทำโทษนักข่าวน้ำดีที่ตั้งใจทำงาน รวมถึงดีลกับอัยการเพื่อให้เจ้านายของเธอหลุดจากข้อหาแบบสบายๆ 

ไม่เพียงเท่านี้ ทีมไซเบอร์ของบริษัทภายใต้การสั่งงานของโดฮีจะคอยสร้างกระทู้ปั่นข้อความเชิงสงสาร เห็นใจ หรือแม้แต่การเปิดประเด็นพูดคุยเรื่องเครื่องแต่งกายของผู้ต้องหา เบี่ยงประเด็นความรุนแรงให้กลายเป็นคำครหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเหยียดเพศ แม้จะไม่มีการเหยียดจริง แต่ข้อความที่พิมพ์ทิ้งไว้ในอินเทอร์เน็ตจำนวนมากก็สามารถเบนความสนใจของผู้คนได้ 

เรียกได้ว่าอำนาจเงินสามารถทำเรื่องที่ดูเวอร์วังที่สุดและเป็นไปไม่ได้ที่สุดให้กลายเป็นจริงได้ในพริบตา 

เราจะได้เห็นการทำงานของโดฮีที่เด็ดขาด จริงจัง ไร้ความเมตตา หลายคนเรียกเธอว่า ‘หมารับใช้ที่ซื่อสัตย์’ และ ‘นักเก็บกวาดประจำตระกูล’ เพราะเธอเป็นคนหนึ่งที่พยายามปีนให้พ้นจากชีวิตลำบาก เมื่อนายทุนสามารถมอบเงิน อำนาจ เส้นสาย และชีวิตที่ดีขึ้นได้ จึงพร้อมทำงานถวายหัวให้อย่างเต็มที่ เพราะใครๆ ต่างก็อยากมีชีวิตที่ดีด้วยกันทั้งนั้น 

จนกระทั่งเหตุรุนแรงบางอย่าง ทำให้โดฮีกลายเป็นหนึ่งในคนที่มีส่วนในการคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์และไร้อำนาจ ขณะที่ตัวต้นเหตุคือลูกเขยอึนซองกรุ๊ป กลับถูกวางตัวให้ลงสมัครเลือกตั้งซ่อมนายกเทศมนตรีกรุงโซล และประธานกรุ๊ปที่ใหญ่ที่สุดก็ไม่ได้สนใจเรื่องความเป็นความตายของพนักงานบริษัทตัวเองเท่าไรนัก เพราะเธอมองว่าคนพวกนี้ก็แค่มดงาน หายไปก็แค่หาคนใหม่มาทดแทน 

“เราทำธุรกิจโดยสนใจเสียงของพวกชนชั้นล่างตั้งแต่เมื่อไร”

ด้วยเหตุผลหลายประการ ทำให้อดีตผู้จัดการด้านกลยุทธ์ผู้คร่ำหวอดในวงการ เริ่มแผนการที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ตระกูลนี้ได้เป็นนายกเทศมนตรีโซล ซึ่งตัวแปรสำคัญของเกมนี้คือ ‘โอ กยองซุก’ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิทธิสตรี ที่โด่งดังจากการต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานและสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียมของผู้หญิงในประเทศ เจ้าของฉายา ‘แรดอึดผู้ผดุงความยุติธรรม’ ผู้มีคติประจำใจคือการช่วยเหลือผู้คน เห็นทุกชีวิตมีคุณค่า แม้คนเหล่านั้นจะยากจนที่สุด ไม่มีอะไรที่สุด

ทั้งโดฮีและทนายโอมีจุดประสงค์เดียวกันคือไม่ต้องการให้อึนซองกรุ๊ปมีอำนาจมากเกินไป เพราะการที่คนในตระกูลได้เป็นนายกฯ จะตามมาด้วยการเอื้อผลประโยชน์ คอร์รัปชัน การผูกขาดอำนาจ รวมถึงการเปลี่ยนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เปลี่ยนพื้นที่สีเขียวในเมืองโซลทั้งหมดให้กลายเป็นของตระกูลนี้เพียงกลุ่มเดียว 

การจับพลัดจับผลูของอดีตศัตรู เปลี่ยนมาร่วมมือกันแบบจำเป็นจึงเกิดขึ้นแบบเลี่ยงไม่ได้ 

‘เลือกตั้ง’ การแสดงโชว์ที่สนุกที่สุดในโลก

“เขาใช้คำพูดที่ว่า เชื่อผมสิ แล้วคุณจะหลุดจากชีวิตที่ลำเค็ญได้”

“น่าเศร้าที่ชาวบ้านพวกนั้นคิดว่าวันหนึ่งจะได้เป็นเศรษฐีบ้าง”

‘การเมืองเป็นเรื่องสกปรก’ อาจไม่ใช่วลีที่เกินจริงใน Queenmaker เราจะได้เห็นว่าแทบทุกองค์กรสำคัญอย่างศาล ตำรวจ สื่อ พรรคการเมือง ล้วนเต็มไปด้วยการดีลกับกลุ่มนายทุน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์บางอย่าง โดยเฉพาะ “ดีลลับ” ที่นำไปสู่การแบล็กเมลระดับมโหฬาร

บนเวทีที่เปรอะเปื้อนไปด้วยความฉ้อฉลและกลโกง เงินทุนมหาศาลถูกใช้ในการสร้าง “ตัวละคร” นักการเมืองผู้เปี่ยมไปด้วยภาพลักษณ์อันสวยงาม ด้วยฝีมือของทีมยุทธศาสตร์และทีมผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ผู้ดูแลแฟชั่น ผู้ดูแลบุคลิกภาพ คนเขียนสคริปต์ดีเบตนักการเมือง นักวิเคราะห์สถิติ ทีมลงพื้นที่หาเสียง ทีมทำป้ายหาเสียง ไปจนถึงจ้างทีมโซเชียลที่พร้อมสาดโคลนและขุดคุ้ยเรื่องเลวๆ ของฝ่ายตรงข้าม นำเงินไปซื้อตัวคนเก่งๆ จากขั้วตรงข้ามให้ย้ายข้าง หรือใช้เงินอัดฉีดส่งนกสองหัวเข้าไปสืบความลับในทีมผู้สมัครต่างๆ 

และในมหรสพการเมืองนี้ “บทละคร” จึงเป็นส่วนสำคัญ Queenmaker เผยให้เห็นยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร หรือ ‘ไอโอ’ สร้างเรื่องไม่จริงขึ้นมาจัดการคู่แข่ง อาทิ การกล่าวหาว่าผู้สมัครรายหนึ่งได้รับเงินสนับสนุนมาอย่างผิดกฎหมาย (ซึ่งตัวเองก็ทำเหมือนกัน) ยักยอกทรัพย์ ฟอกเงิน ทำบัญชีปลอม สาดโคลนในเรื่องที่ประชาชนรับไม่ได้อย่างความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ

หลายครั้งหัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ของผู้สมัครกลายเป็นนักเขียนชั้นเยี่ยม วางพาดหัวข่าวโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วยภาษาสวยงามดึงดูด แล้วส่งให้สำนักข่าวโดยที่ทีมข่าวแทบไม่ต้องทำอะไรเลย ก่อนจะให้ทีมไอโอสานต่อประเด็นร้อนด้วยการสร้างกระทู้ แกล้งปลอมเป็นคนในสายอาชีพต่างๆ เข้ามาคอมเมนต์ เช่น พยานตัวปลอมที่ทำอาชีพคนขับแท็กซี่ พยานตัวปลอมที่เป็นแม่ค้าขายต๊อก ยิ่งเป็นอาชีพทั่วไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างความรู้สึกร่วมได้มากเท่านั้น 

ซีรีส์ไม่ได้เล่าแค่เรื่องของทีมโดฮีกับทนายโอเท่านั้น แต่ยังพาไปสำรวจมุมมองของขั้วตรงข้าม คือฝั่งนายทุน ที่รับปากจะช่วยเหลือประชาชนเพื่อหวังคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่กลับหลอกลวงชาวบ้านให้เซ็นสัญญา แล้วเขี่ยทิ้งเมื่อกอบโกยไล่ที่ไปจนหมด คล้ายกับวลี ‘บีบให้จน แล้วแจก’ รวมทั้งภาพนายทุนที่ยอมแบ่งเศษเล็กเศษน้อยให้ประชาชนที่ยอมจำนน ราวกับเป็นเศรษฐีใจบุญ ทั้งที่ในความเป็นจริงกลับมีผลประโยชน์ก้อนใหญ่อยู่ในมือ โดยที่ประชาชนตาดำๆ ไม่เคยรู้ และมองนายทุนดั่งพระผู้มาโปรด 

Queenmaker เหมือนกำลังบอกว่าอย่าไว้ใจนายทุนมากเกินไป แม้ฉากหน้าจะดูใจดีแค่ไหน มี

องค์กรการกุศลจำนวนมากที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ปากบอกอยากเข้ามาพัฒนาบ้านเมือง ทำให้ปากท้องดีขึ้น สุดท้ายประชาชนทุกคนก็จำเป็นต้องย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นว่า ถ้าอยากช่วยจริงๆ ทำไมไม่ช่วยตั้งนานแล้ว แต่อยู่ๆ ก็เกิดอยากจะช่วยคนจนในช่วงลงหาเสียงเลือกตั้งเสียอย่างนั้น   

แรดอึดผู้ผดุงความยุติธรรมจึงต้องทุ่มสุดตัวกับการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อทำฝันให้เป็นจริง ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนไปดูกระบวนการทำงานต่างๆ ของทีมเลือกตั้ง ก็สะท้อนให้เห็นว่านักการเมืองเปรียบเสมือนดารา ผู้สมัครแต่ละคนต่างต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นที่สนใจของประชาชน ต้องทำตัวให้ติดเทรนด์ทวิต ต้องโดดเด่นและถูกพูดถึงอยู่เสมอ ซึ่งการจะทำให้ประชาชนจำได้นั้น บางคนอาจใช้คาริสม่าที่มีติดตัวมาแต่แรก ใช้วาทศิลป์ที่ยอดเยี่ยม ใช้อำนาจเส้นสาย ใช้ความจริงใจ หรือแม้กระทั่งใช้เงินเพื่อซื้อใจประชาชน 

“พ่อแม่พี่น้อง ในช่วงเลือกตั้งเราได้รับคำมั่นสัญญามากมาย ทั้งเรื่องนโยบายอสังหาริมทรัพย์ และคำสัญญาเรื่องภาษีต่างๆ …โดนหลอกกันมาเยอะเลยใช่ไหม”

การดิ้นรนของ ‘สตรี’ ในโลกที่ถูกสงวนไว้ให้แค่ ‘บุรุษเท่านั้น’

“ฉันทุ่มเทต่อสู้มาทั้งชีวิต สู้แบบไม่มีวันจบเพื่อทำให้โลกนี้ดีขึ้น ฉันเลยกลายเป็นเมียที่แย่และเป็นแม่ที่แย่กว่า ฉันละทิ้งครอบครัว มัวแต่ไปยุ่งเรื่องชาวบ้าน ประกาศว่าจะเปลี่ยนให้โลกนี้ดีขึ้น” 

การสาดโคลนฝ่ายตรงข้าม การเรียกคะแนนสงสารให้ฝ่ายตัวเอง ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่พบเห็นอยู่ตลอดเรื่อง ซึ่งประเด็นนี้มักถูกเล่าคู่กับอุปสรรคของนักการเมืองหญิง ที่ดูจะต้องเจอเรื่องยากๆ มากกว่านักการเมืองชายพอสมควร 

ยกตัวอย่างเช่นผู้สมัครหญิงสองคนถูกสังคมโจมตีเรื่องการดูแลลูก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาพจำเดิมๆ ของสังคมที่มักโยนภาระเรื่องการเลี้ยงลูกให้กับแม่มากกว่าพ่อ เมื่อผู้หญิงลงเลือกตั้งแล้วมีข่าวเสียหายเรื่องครอบครัว ลูกเป็นเด็กเกเร ไม่ตั้งใจเรียน พวกเธอก็จะถูกสังคมต่อว่าว่า ‘แค่เป็นแม่ที่ดียังเป็นไม่ได้ ดูแลลูกให้ดียังดูแลไม่ได้ แล้วจะดูแลประชาชนได้อย่างไร’ ในขณะที่ผู้สมัครชายรายหนึ่งที่มีข่าวคบชู้ทั้งที่ตัวเองมีลูกแฝด กลับไม่ถูกโจมตีเรื่องความบกพร่องในการทำหน้าที่พ่อมากเท่ากับผู้สมัครหญิง 

นอกจากนี้ ซีรีส์ Queenmaker ยังนำเสนอมุมกลับ ให้เรื่องเพศกลายเป็นดาบสองคม ตัวละครบางคนพูดเรื่องสิทธิสตรีเพื่อต้องการเรียกร้องความเท่าเทียมจริงๆ ขณะที่บางคนหยิบเรื่องสิทธิสตรีมาใช้เพื่อเอาตัวรอด เปลี่ยนผิดให้เป็นถูก กลบประเด็นหลักที่ประชาชนต้องขุดคุ้ย และเล่าถึงความอึดอัดของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้เป็นอย่างดี 

การใช้ตัวละครหลักเป็นสตรีทั้งโดฮี ทนายโอ ประธานซนกับลูกสาวอีกสองคน ทั้งหมดกระโจนเข้าสู่โลกการเมืองซึ่งส่วนใหญ่มักสงวนไว้กับเพศชาย อาจอนุมานได้ว่า Queenmaker พยายามทำให้เห็นถึงจิตสำนึกในความเป็นมนุษย์ หลายครั้งผู้หญิงเองก็มีพฤติกรรมคุกคามคนอื่น ทำตัวเป็นผู้สมาทานแนวคิดปิตาธิปไตย หรือวลีที่ปรากฏในเรื่องอย่าง ‘ศัตรูของผู้หญิง ก็คือผู้หญิง’ ทำให้เห็นว่าความเลวร้ายไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศอย่างเดียว แต่ต้องควบรวมเข้ากับกมลสันดานเดิมของบุคคลนั้นๆ ด้วย 

ขณะเดียวกัน ถึงตัวร้ายหลักและตัวเอกจะเป็นเพศหญิง ปูเรื่องมาว่าศัตรูของผู้หญิงก็คือผู้หญิง แต่ถึงอย่างนั้นเราก็จะได้เห็นการต่อสู้แบบ ‘เพื่อนหญิงพลังหญิง’ ในโลกของเพศชายตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะหากผู้หญิงได้รับผลกระทบจากสังคมชายเป็นใหญ่จนเข้าตาจน หรือถูกอำนาจมืดปิดปากอย่างไม่เป็นธรรม แม้ผู้หญิงคนนั้นจะเป็นคนนิสัยเลวร้ายหรืองี่เง่าไร้เหตุผล หรือมีศัตรูเป็นผู้หญิงอีกคน สุดท้ายพวกเธอก็จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เพื่อปกป้องกันและกันจากสังคมปิตาธิปไตย

ด้วยเนื้อเรื่องเข้มข้นคู่กับการแสดงยอดเยี่ยมของเหล่าตัวแม่ ซีรีส์เรื่องนี้จึงไม่ทำให้รู้สึกว่าจำเป็นต้องมีพระนางตามสูตรสำเร็จ และโลกของการเมืองก็ไม่ใช่โลกที่สงวนไว้ให้กับผู้ชายเสมอไป ประกอบกับซีรีส์ที่ทำซับไตเติลไทยได้ดีเยี่ยม และการพากย์ไทยที่เรียกได้ว่าจัดจ้านถึงเครื่อง สาดคำด่าใส่กันแบบไม่มีกั๊ก ปัจจัยเหล่านี้หลอมรวมกันและโหมอารมณ์ร่วมของผู้ชมได้อยู่หมัด จึงไม่น่าจะผิดนัก หากเราจะบอกว่า เกมการเมืองทั้งหมดที่ว่ามานี้อาจจะเป็นแค่ละครหนึ่งฉาก นำแสดงโดยเหล่านักการเมืองผู้กระหายอำนาจ และเป็นโชว์ปาหี่ที่สนุกที่สุดในโลก

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า