fbpx

ย้อนประวัติศาสตร์ “Bangkok Pride” ในไทย สู่ความหวังของการเป็นแม่งานใหญ่ของโลก

หมายเหตุ : บทความนี้ขออนุญาตใช้คำว่า “เกย์” ตามบริบทของเนื้อหาของสังคมไทยในยุค พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา มิได้มีเจตนาไม่ดีแต่อย่างใด

เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งของผู้มีความหลากหลายทางเพศ กับงาน “Bangkok Pride 2023” ที่เต็มไปด้วยสีสันจากความสนุกสนานในการเดินขบวน Pride Parade และสีสันจากหลากเฉดสีของ LGBTQ+ ที่ร่วมเดินเท้าในเส้นทางแห่งความหวังครั้งสำคัญครั้งนี้ ในห้วงเวลาที่สถานการณ์การเมืองกำลังเข้าสู่ Phase ใหม่ ที่อะไร ๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น

ในมุมหนึ่งการเดินขบวน Pride Parade อาจจะดูเป็นสิ่งใหม่สำหรับผู้ร่วมเดินขบวนหลายคน ที่เคยเห็นขบวนในไทยนี้ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว หากแต่ความเป็นจริงนั้น Pride Parade ในไทยมีมาก่อนตั้งแต่ 24 ปีที่แล้ว และหายไปกว่า 16 ปี ก่อนจะกลับมาเดินขบวนกันอีกครั้งในยุคสมัยที่สังคมเปิดกว้างขึ้นเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา

มาย้อนถอยหลังไปหาจุดเริ่มต้นของเส้นทางหลากเฉดสีกัน ว่ากว่าที่ประตูแห่งความหวังจะเปิดกว้าง และกลายเป็นสังคมแห่งความก้าวหน้าและเข้าใกล้ความเท่าเทียมดังเช่นในปัจจุบันนี้ พวกเธอผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง

จุดเริ่มต้นความพราวด์ของ “Bangkok Pride” ในไทย

งานที่มีลักษณะคล้ายกับ “Bangkok Pride” ครั้งแรกในไทยจริง ๆ นั้นต้องย้อนกลับไปร่วม 24 ปีที่แล้ว ในเย็นวันฮาโลวีน ปี พ.ศ. 2542 ในชื่อ “Bangkok Gay Festival 1999” ผ่านรูปแบบการเดินขบวน “Pride Parade” ซึ่งเป็นยุคเดียวกับที่ชาวเกย์ถูกเรียกขานในหลากหลายชื่อ ทั้งดอกไม้พลาสติก, สาวประเภทสอง, ผู้ชายนะยะ และเป็นยุคเดียวกับการปล่อยเพลง “ประเทือง” เป็นครั้งแรก ที่ทำให้ชื่อเพลงนี้กลายเป็นอีกหนึ่งชื่อที่ผู้คนยุคนั้นใช้เรียกแทนพวกเธออยู่เสมอ

จุดประสงค์หลักในการจัดงาน “Bangkok Gay Festival 1999” คือการรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ในหมู่เกย์ เลสเบี้ยน และเผยแพร่ให้ผู้คนทั่วไปเห็นว่าพวกเธอสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้เช่นกัน

หัวเรือใหญ่ของงานในปีนั้นคือ “ปกรณ์ พิมพ์ทนต์” วัย 36 ปี ที่ยอมลงทุนควักเงินตัวเองมาใช้จัดงานท่ามกลางเสียงทักท้วง ว่าจะมีผู้คนมาร่วมงานจริง ๆ หรือ ในห้วงเวลาที่สังคมไทยอาจจะยังไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้น

แต่นับตั้งแต่การคิดงานในระยะเวลา 1 ปีกว่า ๆ จนถึงวันแถลงข่าวการจัดงานนี้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2542 สถานบันเทิงยามราตรีดัง ๆ หลายที่ในย่านสีลมและข้าวสารในช่วงนั้นอย่าง เดอะ บัลโคนี, บายน ดิสโก้เธค, ดีเจ สเตชั่น, เทเลโฟน, แฟคทอรี ดิสโก้ หรือ ดิ๊ค’ส คาเฟ่ ต่างจัดปาร์ตี้โหมโรงอย่างต่อเนื่องก่อนถึงวันงานจริง

รวมถึงมีตัวแทนเจ้าของธุรกิจที่รู้จักกันในวงการเกย์หลายแห่ง ที่ยินดีส่งตัวแทนเป็นแนวร่วมเกย์ต้านภัยเอดส์ในงานครั้งนี้

จนถึงวันงานจริง จากไอเดียแรกที่ไม่ได้ต้องการจะปิดถนนเพื่อให้คนใช้รถใช้ถนนเดือดร้อน คนเดินขบวนก็ไปเดินบนทางเท้า ส่วนขบวนรถก็ขับกันบนถนนเพียงหนึ่งเลน อีกเลนก็ให้รถสัญจรกันไป กลับกลายเป็นว่ามีผู้คนมารอชมขบวนกันจนแน่นไปทั้งถนนสีลม ทั้งริมทางเท้า ลามไปถึงเกาะกลางถนน เมื่อขบวนเริ่มเดิม ผู้คนและนักข่าวที่มาร่วมงานในวันนั้นก็ลงมาถ่ายรูปกันจนสุดท้ายขบวนก็เต็มถนนในที่สุด

ผู้คนในยุคนั้นต่างชื่นชมที่สามารถจัดงาน Pride Parade งานแรกของกรุงเทพฯ ครั้งแรกในประเทศไทยได้ ซึ่งยังรวมถึงการสร้างประวัติศาสตร์ในงานจัดงานเป็นครั้งแรกในเอเชียอีกด้วย หากเราลองมองประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างในขณะนั้น ไม่ว่าฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ไม่มีประเทศไหนที่อนุญาตให้จัดงานในลักษณะนี้

ปกรณ์ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่างาน “Bangkok Gay Festival 1999” ในครั้งแรกนี้ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนเป็นตัวเงินมากนัก หรือแม้จะไม่ได้ถูกยอมรับจากสังคม ทั้งการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐที่ขาดตกบกพร่อง แม้จะมีการประสานงานไว้ล่วงหน้าแล้วก็ตาม หรือการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนไทยในขณะนั้นก็เต็มไปด้วยอคติที่เคลือบฉาบความคิดว่า หากทำข่าวเกี่ยวกับงานเหล่านี้ ก็เหมือนการยุยงให้คนเป็นเกย์ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น

แต่อย่างน้อยใจความสำคัญของงาน “ครั้งแรก” ก็สร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ให้กับ LGBTQ+ และงาน Pride Parade ในครั้งต่อ ๆ มา ได้เป็นอย่างดี ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่กีดกัน และเปิดกว้างให้กับความหลากหลายได้เป็นชาติแรก ๆ ของในทวีปเอเชีย

การเบ่งบานของ “Bangkok Pride” ในปีถัด ๆ มา

ในการจัดงาน “Bangkok Gay Festival” ครั้งต่อ ๆ มา ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 – พ.ศ. 2544 ก่อนจะเปลี่ยนชื่องานหลักเป็น “Bangkok Pride” ใน พ.ศ. 2545 – พ.ศ. 2549 นั้น มักเลือกจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายตามธีม หรือประเด็นที่ต้องการนำเสนอในปีนั้น ๆ ตามความตั้งใจแรกของปกรณ์ที่ต้องการเพิ่มการรณรงค์อีกหลายเรื่องนอกจากประเด็นการรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ในหมู่เกย์ เลสเบี้ยน เช่น สิทธิมนุษยชนของเกย์ หรือประเด็นการปรับชุดความคิดของภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชนในการมองเกย์ในสังคมไทยให้ดีกว่านี้

จนถึงในปีท้าย ๆ ของ “Bangkok Pride” ที่เริ่มมีประเด็นทางการเมืองที่ชัดเจนกว่าปีที่ผ่านมา ในเรื่องของสิทธิบางอย่างที่พวกเธอควรจะได้รับจากภาครัฐ ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างมากในขณะนั้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการจัดงาน “Bangkok Gay Festival” ในครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2544 ที่มีการจัดงาน “Pink in the Park” เพิ่มเติมเป็นครั้งแรกนอกจากกิจกรรม Pride Parade ในถนนสีลมและสุรวงศ์ โดยเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในสวนลุมพินี ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “Pride in the Park” ในปีถัดมา

ภายในงานปีแรกมีบูธที่เป็นตัวแทนของเกย์ สตรี และกลุ่มสิทธิมนุษยชน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกย์ กว่า 30 บูธ รวมถึงมีการแสดงของศิลปิน LGBTQ+ การแข่งขันวอลเลย์บอลและว่ายน้ำ การจับฉลากชิงรางวัล เกม และวงเสวนาจากคนดังในหัวข้อ “ใช้ชีวิตเกย์อย่างไรในประเทศไทย” ที่ทำให้กิจกรรมจากเดิมที่ผู้เข้าร่วมงานอาจจะได้รับชมโชว์ผ่านขบวนเพียงอย่างเดียว ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในงานได้ด้วย

อีกทั้งงาน “Bangkok Gay Festival” หรือชื่อใหม่ “Bangkok Pride” ในปีถัด ๆ มานั้นได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน รวมถึงชาวเกย์ทั่วโลกที่เดินทางมาร่วมเฉลิมฉลองความหลากหลาย และเฉดสีมากมายที่สะพรั่งอยู่ในสังคมไทย และยังสามารถสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้จากการขายบัตรปาร์ตี้ในช่วงกลางคืน ภายหลังการเดินพาเหรดของสถานบันเทิงหลากหลายแห่งในกรุงเทพฯ

การล่มสลายของ “Bangkok Pride” ยุคแรก

ภายหลังงาน “Bangkok Pride” ใน พ.ศ. 2549 สิ้นสุดลง เราก็ไม่ได้เห็นขบวนพาเหรดของผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกเลยนับสิบปี

“Douglas Sanders” ผู้สื่อข่าวของ “Fridae” สื่อมวลชนสำหรับ LGBTQ+ ของเอเชียโดยเฉพาะ ได้แสดงความคิดเห็นในบทความ “บ๊ายบาย Bangkok Pride” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ถึงหลากหลายชนวนเหตุที่อาจจะก่อตัวขึ้นจนงาน “Bangkok Gay Festival” ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา

แซนเดอร์สกล่าวถึงประเด็นการชุบมือเปิบของ “นที ธีระโรจนพงษ์” ในนามของนักเคลื่อนไหวด้านโรคเอดส์ในสมัยนั้น ที่ไม่ได้เข้ามาร่วมสร้างสรรค์ หรืออยู่เบื้องหลังงานนี้ตั้งแต่แรก แต่เข้ามาในช่วงท้าย ๆ เพียงเพื่อติดป้ายเคลื่อนไหวของตัวเองไว้ที่ด้านหน้าสุดของขบวน โดยอ้างความชอบธรรมจากการเป็นผู้บุกเบิกองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับโรคเอดส์แห่งแรก ๆ ของไทย อย่าง “กลุ่มภราดรภาพยับยั้งโรคเอดส์แห่งประเทศไทย” หรือ F.A.C.T. ซึ่งมีจุดประสงค์ในการรณรงค์เช่นเดียวกันกับงาน “Bangkok Gay Festival” ที่จัดขึ้นในปีนั้น

หรือการที่องค์กรกลุ่มหนึ่งได้พิมพ์เสื้อยืดที่เปลี่ยนชื่องานเป็นเทศกาล “Gay and Lesbian Festival” โดยพลการ เพื่อทำเป็นเสื้อออกมาขายบริเวณมุมด้านหนึ่งของขบวน ซึ่งแซนด์เดอร์ส ก็อธิบายสองประเด็นนี้ว่า คนทั้งสองกลุ่มไม่ได้เข้าร่วมจัดงาน แต่ใช้สิทธิของตัวเองเพื่อจะมีพื้นที่ในวันงาน

ช่วงเวลาต่อมา ด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจ และปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้ “ปกรณ์ พิมพ์ทนต์” ผู้เป็นแม่งานใหญ่ถูกผลักออกจากตำแหน่งผู้นำการจัดงาน และมีเจ้าของธุรกิจมารับช่วงต่อ รวมถึงเปลี่ยนชื่องานเป็น “Bangkok Pride” ใน พ.ศ. 2545 หรือครั้งที่ 4 ของการจัดงาน

ขวบปีที่มากขึ้นของงาน ทำให้คณะทำงานเปลี่ยนมือกันบ่อยจนสูญเสียตัวตนเดิมที่มีอยู่ มิหนำซ้ำยังต้องเผชิญกับการสนับสนุนที่ลดน้อยลงจากภาคธุรกิจ และองค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่น้อยเป็นทุนเดิม ทำให้งาน “Bangkok Pride” ครั้งสุดท้ายในยุคแรกจบลงใน พ.ศ. 2549 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 8 ของการจัดงาน

การกลับมาอีกครั้งของ “Bangkok Pride” ยุคที่สอง

หากเล่าจริง ๆ งาน Pride ในกรุงเทพฯ มีความพยายามจะกลับมาอีกครั้งอยู่ใน พ.ศ. 2560 โดยแม่งานคนเดิมอย่าง “ปกรณ์ พิมพ์ทนต์” ที่ลุกขึ้นมาจัดงาน “Bangkok Gay Festival 2017” ในสนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีจุดประสงค์แตกต่างออกไปจากงานครั้งแรกเมื่อ 18 ปีที่แล้ว คือการเรียกร้องความเสมอภาคทางสังคมให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ และปรับเปลี่ยนงานเป็นธีม “Gay Sport Day” ที่มีทั้งการแข่งขันฟุตบอลระหว่างเกย์กับกะเทย, แข่งขันเดินเร็ว-วิ่งเร็ว รวมถึงมีการแสดงโชว์มวยไทย จาก “ตุ้ม-ปริญญา เจริญผล” และโชว์วอลเลย์บอลจากทีม “สตรีเหล็ก”

อีกทั้งในปีถัดมาก็มีการจัดงาน “Bangkok Gay Festival 2018” ขึ้นในสีลมซอย 4 ซึ่งทั้งสองงานนี้ได้รับความนิยมอยู่ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมในการกลับมาจัดงานอีกครั้งมากเท่าที่ควร

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2565 “Bangkok Naruemit Pride 2022 (บางกอกนฤมิตไพรด์)” ก็ได้กลายเป็นการฟื้นคืนชีพอีกครั้งอย่างเต็มภาคภูมิของงานไพรด์ในกรุงเทพฯ จากความร่วมมือของ “คณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์” และ “กลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ” ซึ่งถือเป็นงาน Pride ครั้งสำคัญของไทย เนื่องจากมีแรงกระเพื่อมที่ยาวนานมาตั้งแต่ประเด็น “สมรสเท่าเทียม” ของพรรคก้าวไกลถูกยื่นเข้าไปในสภาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563

ประกอบกับชุดความคิดใหม่ ๆ ของผู้คนในสังคมที่เข้าใจ และกำลังมอบพื้นที่แห่งความเท่าเทียมให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มีสิทธิหลาย ๆ อย่าง เหมือนกับที่เพศชาย และเพศหญิงพึงมี ทำให้จุดประสงค์ของ Pride Parade ครั้งนี้อ้างอิงบริบททางการเมืองอย่างแนบแน่นจนแทบจะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อผลักดันความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในไทยได้เสียที

นอกจากนี้ งาน “Bangkok Naruemit Pride 2022 (บางกอกนฤมิตไพรด์)” ครั้งนี้ยังมีความเป็นแบบแผนมากขึ้น ทั้งจากการออกแบบแนวคิดของขบวนพาเหรดให้เป็น 6 ขบวน 6 เฉดสีตามความหมายของธงสีรุ้ง และจากการสร้างมาตรฐานในการจัดงานให้มีความเป็นสากลมากขึ้น จึงทำให้การจัดงานครั้งนี้ดูจะเป็นการสร้างภาพจำให้ “Bangkok Pride” ชัดเจน และน่าจดจำขึ้นสำหรับการจัดงานในปีถัด ๆ ไป

สำหรับเสียงตอบรับในการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานเกือบ 2 หมื่นคน รวมถึงผู้มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการต่างตบเท้าเข้าร่วมงานครั้งนี้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง และสามารถพูดได้เต็มปากแล้วว่าทศวรรษใหม่ของงานไพรด์ในกรุงเทพฯ กำลังเริ่มต้นขึ้นได้อย่างงดงาม

ก้าวต่อไปที่ยิ่งใหญ่ของ “Bangkok Pride”

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็เป็นปีที่ 2 ที่งานไพรด์ในกรุงเทพฯ กลับมาจัดขึ้นอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่กว่าเดิม ในชื่อใหม่ที่เป็นกลางอย่าง “Bangkok Pride” เหมือนที่คณะทำงานชุดก่อนเมื่อ 21 ปีที่แล้วเคยใช้ และมาในแคมเปญที่ว่า “Road To Bangkok World Pride 2028” ด้วยความมุ่งหวังในการผลักดันให้กรุงเทพฯ ได้เป็น “เจ้าภาพ” ในการจัดงาน World Pride ในปี 2028 ต่อจาก 3 เมืองใหญ่อย่างซิดนีย์ ที่เป็นเจ้าภาพในปีนี้ วอชิงตัน ดีซี ปี 2025 และอัมสเตอร์ดัม ในปี 2026

โดยงานใหญ่งานแรกของ “Bangkok Pride 2023” ก็เพิ่งจะสิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มเปี่ยมไม่แพ้ปีที่ผ่านมา จากภาครัฐอย่างกรุงเทพฯ ภาคเอกชนต่างๆ ที่สนับสนุนเป็นทั้งตัวเงินหรือการสนับสนุนด้วยลู่ทางอื่น รวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหลากหลายองค์กร และสื่อมวลชนมากมายที่เกาะติดการเดินขบวนครั้งนี้อย่างใกล้ชิด

อีกทั้งนักการเมือง อินฟลูเอนเซอร์ นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม ดารา และผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงผู้คนทั่วไปอีกมากมายที่เข้ามาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชน สร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน และร่วมผลักดันให้กรุงเทพฯ กลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของ World Pride ที่คนทั่วโลกจะจดจำได้ว่า ประเทศเล็ก ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศนี้ก็ไม่แพ้ชาติใดในโลกเช่นเดียวกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : ข่าวความหลากหลายทางเพศ / utopia-asia / youtube / mthai / fridae.asia / sarakadeelite / Sarakadee Lite

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า