fbpx

‘รัศมีแข’ ขอสิทธิให้ทุกเพศได้เป็นตัวเองอย่างเท่าเทียม

ภายใต้ความภาคภูมิใจที่สวยงามในเดือนแห่งความหลากหลาย (Pride Month) จากทั่วทุกมุมโลก แฝงไปด้วยการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และผลักดันความเท่าเทียมให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ยังไม่มีกฎหมายใดรองรับและคุ้มครองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเทียบเท่าเพศชายหญิง อีกทั้งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลายคนพยายามตะโกนเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมจากภาครัฐ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพียงเพราะมีเพศวิถีต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม

อาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยยอมรับ LGBTQ+ อย่างมีเงื่อนไข สิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มนี้เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย เกิดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพียงเพราะพฤติกรรมการแสดงออกไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศ ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ต้องเผชิญหน้ากับการถูกกระทำและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการดูถูก ดูหมิ่น บูลลี่ ทำร้ายร่างกาย หรือแม้กระทั่งกลายเป็นตัวตลกในสังคม

รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น นักแสดงชื่อดัง หนึ่งในผู้เรียกร้องความเท่าเทียมให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดในการเสวนา หัวข้อ ‘การป้องกันการเลือกปฏิบัติและการคุกคาม LGBTQ+ ในสถานที่ทำงาน’ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) 

รัศมีแข เล่าเบื้องหลังของการเป็น LGBTQ+ ที่ได้ใช้ชีวิตทั้งในไทยและสวีเดน หนึ่งในประเทศต้นแบบที่เปิดกว้างให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ว่า “จากการที่อาศัยอยู่ทั้งสองประเทศ ทำให้แขเห็นถึงความแตกต่างกัน ในขณะที่สวีเดน แขสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียม แต่พอมองกลับมาที่ประเทศไทย กลุ่ม LGBTQ+ หลายคนกลับทำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่กฎหมายในการใช้ชีวิตที่เท่าเทียม”

“แขเองพยายามหาคำตอบว่าอะไรสำคัญสุดในการที่เราเป็น LGBTQ+ แล้วก็ค้นพบว่า การที่เราได้เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยในเวอร์ชั่นของตัวเอง ไม่ว่าจะในสถานที่ทำงาน หรือพื้นที่ตรงไหนก็ตามในสังคม อันนี้คือความสุขที่สุดสำหรับแข” รัศมีแขกล่าวเสริม

LGBTQ+ ต้องทำทุกอย่างให้เหนือยอดมนุษย์

นอกจากบทบาทของดารานักแสดงบนจอทีวีแล้ว รัศมีแขยังมีความสามารถด้านอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอล นักมวย และนักวิ่งมาราธอน ทว่าความแข็งแกร่งเหล่านี้เป็นเหมือนบทพิสูจน์ของการเป็น LGBTQ+ เพื่อให้สังคมยอมรับในตัวตนของเขาเอง

รัศมีแขกล่าวว่า “เราต้องเล่นละครให้ขำที่สุด ต้องชกมวยให้เก่งที่สุด ต้องวิ่งมาราธอน 42 กิโลเมตร ในเวลาที่ดีที่สุด ซึ่งแขลองทำอะไรหลาย ๆ อย่าง และพยายามอย่างหนักเพื่อให้สังคมยอมรับ ในขณะที่มีคนมากมายต่างชื่นชมว่าเราเก่ง แต่แขกลับรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เกิดคำถามในตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่มันถูกหรือเปล่า เราต้องพิสูจน์ตัวเองขนาดนั้นเลยเหรอ การเป็น LGBTQ+ ต้องทำอะไรที่เหนือยอดมนุษย์ใช่ไหม สังคมถึงจะยอมรับในตัวของเรา”

‘มนุษย์แบบไหนที่สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยได้เร็วกว่า’

‘มนุษย์แบบไหนที่เป็นแชมป์มวยได้มากกว่า’

‘มนุษย์แบบไหนที่ทำงานได้เก่งกว่า’

รัศมีแขอธิบายว่า ไม่ใช่แค่เพศชายหญิงเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ แต่ทุกเพศสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน โดยเพศเป็นเพียงรสนิยมส่วนตัวที่ทุกคนต้องเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ต้องไม่มีใครถูกทำร้ายเพียงเพราะมีรสนิยมไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ อีกทั้งเพศไม่สามารถวัดกันได้ในเรื่องความรู้ ความสามารถ และกิจวัตรประจำวัน ที่สำคัญไม่ว่าใครจะมีรสนิยมทางเพศแบบไหน ก็ไม่ควรถูกตีตราและถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน

เมืองแห่งความหลากหลายแต่ไม่มีกฎหมายรองรับ

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ จากทั่วโลกเพื่อให้เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยภายใต้โครงการ GO Thai Be Free ผ่านการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวและเสนอขายให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ผลักดันไทยให้เป็น LGBTQ+ Friendly Destination หรือจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 

รัศมีแขกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “แขรู้สึกสะเทือนใจที่ประเทศเรามีแคมเปญการท่องเที่ยวในการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ เพียงเพราะเป็นการสร้างจุดขายที่ทำให้คนทั่วโลกมาเที่ยวในประเทศเท่านั้น แต่สิ่งที่กำลังถูกมองข้ามไปคือ ความเป็นอยู่ของ LGBTQ+ คนไทย จึงเกิดเป็นคำถามว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปลอดภัยสำหรับ LGBTQ+ ได้จริงหรือไม่ ในเมื่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่เป็นคนไทยด้วยกันเองยังไม่สามารถสัมผัสได้ถึงสิ่งเหล่านี้เลย

รัศมีแขกล่าวต่อว่า “ทางออกของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBTQ+ สิ่งที่จะทำให้ความแตกต่างทางเพศมีความหมายมากขึ้นก็คือ ‘กฎหมาย’ ข้อกำหนดที่ทุกคนยึดถือปฏิบัติในสังคม ซึ่งกลุ่ม LGBTQ+ ของเราพยายามตะโกนออกไปว่า เราคือคนปกติเพียงแค่มีรสนิยมทางเพศที่ไม่เหมือนคนส่วนมาก แต่กฎหมายของไทยกลับไม่มีพื้นที่ตรงนั้นให้เราเลย ทั้ง ๆ ที่พวกเราแค่อยากใช้ชีวิตภายใต้กฎหมายในข้อกำหนดเดียวกันกับเพศชายหญิงเท่านั้นเอง”

“กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจะไม่มีวันหมดไปจากโลกนี้ รสนิยมทางเพศเป็นเรื่องที่ไม่สามารถปิดบังกันได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนให้โอกาสพวกเราได้มีชีวิตเป็นมนุษย์ในเวอร์ชั่นของเราที่ดีที่สุด และที่สำคัญความรักไม่สามารถตัดสินได้ว่าเพศไหนดีที่สุด เพราะทุกคนต่างต้องการมีความรักที่ดีในแบบของตัวเอง จึงอยากฝากไปถึงภาครัฐ และหวังว่าในอนาคตอีกใน 40 50 ปี เราไม่ต้องมาฉลอง Pride Month กันแล้ว เพราะทุกคนเท่าเทียมกัน” รัศมีแขสรุป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า