fbpx

คุยกับหมู่คณะนักเรียนปรินส์รอยฯ ผู้ทำหนังสั้นเล็กๆ ไประดับโลกจนเข้ามหาวิทยาลัยได้

“ภาพยนตร์ เป็นการเล่าเรื่องรูปแบบหนึ่งโดยใช้ศิลปะที่น่าสนใจ ด้วยการเล่าเรื่องผ่านภาพ, เสียง, ภาพเคลื่อนไหว, และประสบการณ์.”

นี่คือประโยคที่จูโน่-ณภัทร อุนนะนันทน์ บอกกับเราว่าทำไมถึงชอบภาพยนตร์ ที่ต่อมาได้รวมทีมกับเพื่อนๆ และสร้างหนังที่สามารถไปเฉิดฉายบนเวทีระดับโลก จนส่งให้พวกเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่พวกเขาต้องการ

ผมเชื่อว่าหลายๆ คน เคยมีความฝันในวัยเด็กว่าอยากจะเป็นผู้กำกับ

ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น

แต่บางคนอาจจะมองว่า “ภาพยนตร์ทำง่ายเหมือนกับละคร” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาพยนตร์มีความซับซ้อนมากกว่านั้น ทั้งการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ และกระชับในระยะเวลาที่จำกัด รวมถึงการออกแบบภาพและเสียงที่มีรายละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น

แม้จะรู้ว่ายากแค่ไหน แต่ด้วย Passion ของพวกเขาที่มีความหลงไหลในคำว่า “ภาพยนตร์” มาตั้งแต่เด็ก ทำให้พวกเขาผ่านความยากเหล่านี้มาได้ และประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

ในวันนี้ The Modernist จะพาไปพูดคุยกับทีมสร้างภาพยนตร์รุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งจูโน่และเพื่อนๆ ของเขาอีกสองคนคือกีตาร์-ธนพงศ์ เทพรักษ์ และยอดจัง-สิรภพ รินชุมภู ที่เริ่มต้นจากการทำหนังเล่นๆ กับเพื่อน สู่ผลลัพธ์ที่เกินความคาดหมาย และส่งให้พวกเขาได้รางวัลในระดับโลก

กรุณาปิดเสียงโทรศัพท์ แล้วไปรับชมเรื่องราวของพวกเขากันเลย

Prologue
ทีมสร้างหนังที่เริ่มต้นจาก Passion 

“การที่เราค้นหาตัวเองได้ไว จะทำให้เราเจอทางที่จะต่อยอดได้ไว หากเรายังหาไม่เจอเราอาจจะเสียโอกาส หลายๆ อย่างได้” และจูโน่ ก็เป็นคนที่หาตัวเองจนเจอว่าตัวเองชื่นชอบในภาพยนตร์ และมีความใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นผู้กำกับ แล้วก็ได้เรียนรู้การทำหนังด้วยตนเอง ค้นคว้าเทคนิคต่างๆ และลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ

และแล้วจูโน่ก็ได้พบกับกีต้าร์ ผู้ที่ชื่นชอบ และเติบโตมากับภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก จากการที่บ้านของเขาอยู่ใกล้ๆ ร้านขายดีวีดี จึงสบโอกาสในการเช่าหนังแผ่นมาดูบ้างครั้งละเรื่องสองเรื่อง จนทำให้เขามีความฝันอยากจะเป็นผู้กำกับเหมือนกับจูโน่

ทั้งสองได้คุยกันว่าอยากสร้างหนังด้วยกันก่อนที่จะจบม.6 จึงได้ตัดสินใจเริ่มสร้างหนังของพวกเขา และได้ชวนเพื่อนๆ มาทำโปรเจคนี้ด้วยกัน จากการชักชวนก็ได้พบกับยอด ผู้ที่หลงไหลในงานดนตรีและเสียงจากการดูหนังหรือวิดิโอทั่วไป และมองว่ามันคือศิลปะที่มีความสร้างสรรค์ และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายศาสตร์ โดยยอดมาช่วยเหลือในด้าน Sound Production อีกทั้งยังได้ร่วมงานกับผู้คนมากมาย จนได้รวมกันเป็นทีมในเวลาต่อมา

โดยทีมนี้มีจูโน่, กีต้าร์, และยอดเป็นกำลังหลักของการสร้างภาพยนตร์ของพวกเขา ที่มีเป้าหมายเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และสร้างความทรงจำกับเพื่อนๆ แต่ด้วยความสามารถอันเก่งกาจของพวกเขา ทำให้หนังของพวกเขาได้ขึ้นฉายบนเวทีระดับโลก ในช่วงเวลาที่หนังสั้นทำได้ง่ายขึ้นตามยุคสมัย และวัดกันที่ไอเดียการเล่าเรื่องว่าใครสามารถสื่อสารออกมาได้ดีกว่ากัน

Chapter 1
The Temper ก้าวแรกของการสร้างภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่พวกเขาได้ทำร่วมกัน เป็นการทำหนังไปส่งในโครงการ Shot Science Film ได้แก่ “The Temper”

โดยความตั้งใจของกีต้าร์กับจูโน่ในการทำหนังเรื่องนี้คือ อยากทำหนังที่เป็นตัวตนของเราทั้ง 2 คน ให้เป็นเรื่องสุดท้ายที่พวกเขาอาจจะได้ทำร่วมกัน ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปตามทางของแต่ละคน เลยตกลงกันว่าจะทำให้ตัวงานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด โดยมองหาเพื่อนที่สนใจมาทำงานนี้ด้วยกัน ให้เขาได้ค้นหาตัวเองว่าใช่ทางของเขาไหม

“ตอนนั้นเราตื่นเต้นกันมาก เพราะทุกคนได้รับผิดชอบหน้าที่หลักๆ ของตัวเอง ยอดทำหน้าที่ sound กีต้าร์ดูด้านภาพ จูโน่เป็นผู้กำกับ แบ่งหน้าที่กันชัดเจน ทำให้งานมันเนี้ยบขึ้น มีความเป็นตัวตนของเรามากขึ้น เราก็ได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่างทั้งได้ออกกองครั้งแรก และพบข้อผิดพลาดหลายๆ อย่าง แล้วก็นำจุดนั้นมาปรับปรุงแก้ไขในจุดนั้นให้มันดีขึ้นในอนาคต”

ซึ่งผลออกมาคือเข้ารอบ ได้รับเงินทุน แต่ไม่ได้รางวัล 

พอผลออกมา พวกเขารู้สึกว่ายังวางแผนกันไม่ดีพอ หนังที่ออกมาไม่เหมือนกับที่คิดไว้ตอนแรก และยังมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ถ้ามองในเรื่องการทำงาน มันก็สนุกดีที่ได้ลองทำงานด้วยกัน จูนเข้าหากัน เพราะจริงๆ พวกเขาก็เผื่อใจไว้แล้วว่าอาจจะไม่ได้รางวัล เนื่องจากหัวข้อที่ไดรับมากับตัวหนังที่ทำยังไม่สอดคล้องกันเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยก็ได้เงินทุนเป็นผลพลอยได้

Chapter 2
เรื่องราวของไฟป่าในเชียงใหม่ ที่เติมไฟให้พวกเขา

ก้าวต่อไปของทีมนี้คือการตัดสินใจส่งหนังของพวกเขาไปแสดงในเทศกาลภาพยนตร์ โดยพวกเขามองเห็นโอกาสในการพัฒนาฝีมือ และคาดหวังที่จะได้รับ Feedback เรื่องภาพ, เสียง, และการดำเนินเรื่องกลับมาเพื่อนำไปปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และครั้งนี้เป็นการส่งไปประกวดในต่างประเทศ เพราะมองว่าได้รับอิสระในการ สร้างหนังมากกว่า ต่างจากโครงการประกวดภาพยนตร์ในไทยมีเงื่อนไขเยอะ ทั้งการกำหนดหัวข้อที่เฉพาะของแต่ละโครงการ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ทำหนังที่ต้องการทำ และการถือลิขสิทธิ์ไม่ให้หนังที่ส่งมาประกวดไปฉายในเทศกาลอื่น ซึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสในการเผยแพร่ผลงานไปสู่ทั่วโลก

หนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจจากการที่จูโน่กับกีต้าร์ได้ไปดูงาน CCCL ที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ทำให้พวกเขาอยากเล่าเรื่องเกี่ยวกับไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขา

“เชียงใหม่มีปัญหาเรื่องควันมานานแล้ว แล้วเมื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ก็ได้ไปเจอข้อมูลเกี่ยวกับการที่มีคนตาย การคอรัปชั่น เราก็เลยได้ไอเดียว่าอยากทำเรื่องเกี่ยวกับไฟป่า”

รวมถึงยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงประเด็นเรื่องภัยธรรมชาติในหนังมากนัก พวกเขาจึงต้องการสะท้อนให้สังคมเห็นว่าไฟป่าอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของธรรมชาติ แต่อาจเกิดจากการกระทำของคน หรือกลุ่มคนที่เห็นแก่ตัว เห็นอำนาจของเงินมากกว่าความถูกต้อง

พอได้เรื่องแล้วก็เริ่มเขียนบทว่า จะทำยังไง อารมณ์แบบไหน พยายามตั้ง Mood and Tone ให้เข้าใจกันทั้ง 3 คน โดยทำเป็นเรื่องย่อไปก่อน แล้วมาพัฒนาเป็นบทหนังยาวต่อไป โดยใช้วิธีการทิ้งข้อความไปให้คนได้ไปคิดวิเคราะห์ต่อ ว่ามันเป็นยังไงต่อ ตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราเล่าจริงหรือเปล่า เหมือนเราให้จิ๊กซอว์ไปแล้วให้เข้าไปต่อเองจนกลายเป็นความคิดของเขาเอง ไม่ใช่หนังที่สื่อข้อความแบบตรงๆ

แต่ด้วยความที่ยังเป็นเด็ก ซึ่งอาจจะยังมองโลกไม่กว้างพอ ทำให้เวลาคิดบทออกมามักจะเป็นมุมมองแคบๆ จนบางทีอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องที่เป็นไปได้ ทำให้ต้องค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ฟังความคิดเห็นของเพื่อนๆ เอาจุดที่ไม่สมเหตุสมผลออก และปรับเนื้อหาให้ลงตัวมากขึ้นจนได้บทที่สมบูรณ์ 

ในด้าน Post Production จะเป็นยอดที่ดูแลเรื่องเสียง โดยปรึกษากับจูโน่และกีต้าร์ว่าอยากได้เพลงแบบไหน อารมณ์แบบไหน เรื่องราวเป็นยังไง เมื่อได้เส้นเรื่องที่ชัดเจนแล้ว ก็เริ่มทำเพลง และส่งเดโมไปให้คนในทีมฟัง โดยต้องการให้เพลงออกมาไม่เชิงหม่น แต่ก็ไม่ได้สดใสขนาดนั้น ให้เกิดความสงสัย แล้วก็พยายามที่จะคงคำว่า “ความจริง” เอาไว้ในเนื้อเพลง เพราะต้องการให้คนฟังตั้งคำถามว่ามันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ความจริงที่ไม่มีใครพูดถึง มันถึงเวลาแล้วที่จะกล่าวที่คนทั้งโลกรู้ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้

“ช่วงที่เรากำลังจะส่งหนังเข้าเทศกาล พวกเราตื่นเต้นกันมาก มีวันนึงที่เรานัดรวมกันไปแก้งานที่บ้านจูโน่
จนไม่ได้นอนกันเลย 3 วัน แล้วมารู้ทีหลังว่าเขาให้เราส่ง final ไปแก้ทีหลังได้ เราก็ตกลงกันว่าจะมาทำให้มันเนี้ยบขึ้นด้วยเวลาที่เหลืออยู่ พอถึง 1 อาทิตย์ก่อนส่ง เราก็นัดเอางานมารวมกันที่บ้านยอด แล้วก็ส่งในวันสุดท้ายที่เขาเปิดรับ Final Draft เลย”

ภาพรวมของงานในตอนนั้นรู้สึกว่ามาไกลกว่าที่คิดไว้ตอนแรก หลายๆ อย่างดูดี แม้จะมีหลายอย่างอาจไม่เป็นไปตามที่คิด แต่โดยรวมแล้วถือว่าโอเคดี

กีต้าร์บอกกับเรา ถึงความรู้สึกว่าวันประกาศผล “ตอนแรกไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะเข้ารอบ แล้วตอนเห็นหนังของเพื่อนโรงเรียนอื่น เราก็ไม่ได้คาดหวังอยู่แล้วว่าจะชนะ เพราะหนังของแต่ละคนก็ค่อนข้างดี แต่พอถึงตอนประกาศผลว่าเราได้รับรางวัลชมเชย เราก็รู้สึกดีใจมากๆ” 

กรรมการบอกว่า “เขาเห็นความทะเยอทะยานของเราในความกล้าที่จะลองทำในสิ่งที่เด็กหลายๆ คนไม่กล้าทำ เราจับประเด็นที่อาจจะใหญ่ แล้วเราสามารถทำออกมาในรูปแบบนี้ได้ในระดับที่เรายังเป็นนักเรียน”

อย่างน้อยกรรมการก็มองเห็นในความพยายามของพวกเขา แม้อาจจะคิดว่ามันยังไม่ดี แต่กรรมการเขามองเห็นในจุดนี้ ทำให้ได้รางวัลชมเชยไปครองนั้นเอง

แต่สิ่งที่ดีที่สุด ที่งานชิ้นนี้ได้มอบให้กับพวกเขา คือการได้ร่วมงานกับเพื่อนๆ มันเป็นความทรงจำที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับใครบางคนด้วย แล้วก็เป็นความทรงจำที่น่าจดจำ เพราะเป็นงานที่ค่อนข้างใหญ่ ส่วนรางวัลที่ได้ก็เป็นแค่ผลพลอยได้เท่านั้นเอง

Chapter 3 
อาลูเซียร์ ก้าวที่ยิ่งใหญ่ สู่การไปเฉิดฉายบนเวทีระดับโลก

อีกหนึ่งผลงานของพวกเขา ที่บอกได้ว่าเป็นผลงานที่ส่งให้เขาได้ไปเชิดหน้าชูตาบนเวทีระดับโลก เป็นหนังที่พวกเขาได้ส่งไปประกวดในระดับโลกทั้งบราซิล และอเมริกา จนได้รางวัลกลับมานั้นก็คือหนังผีที่ชื่อว่า “อาลูเซียร์” 

ตอนที่ตัดสินใจทำหนังเรื่อง “อาลูเซียร์” พวกเขาคิดแค่ว่าอยากลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็เลยออกมาเป็นหนังเรื่องนี้ โดยตอนที่จะส่งไปประกวดที่ต่างประเทศ ก็ได้แก้ไขใส่ CG เพิ่มให้หนังออกมาดียิ่งขึ้น

พอถึงวันประกาศผล ก็คิดว่าคงไม่ได้รางวัลอะไร แต่พอตื่นเช้าแล้วรู้ว่าได้รางวัล “Best Director” ก็รู้สึกดีใจมากๆ ที่ได้รางวัลบนเวทีระดับโลก มันช่วยเติมไฟให้พวกเราในการทำหนังมากขึ้น และมีแรงที่อยากจะทำเรื่องอื่นต่อไป 

กีต้าร์บอกกับเราในวินาทีที่ได้รางวัลว่า “ตอนเขาประกาศรางวัล ก็คิดว่าคงไม่ได้หรอก เลยไปนอน พอตอนเช้าเขาก็อัพโหลดลงอินสตาแกรมของเขาว่ามีรายชื่อผู้ได้รางวัลคนไหนบ้าง เราก็เจอชื่อเรื่องของเรา แล้วชื่อประเทศข้างล่างเป็นคำว่า “Thailand” แต่เป็นภาษาเขา ผมก็ไปแปลมา แล้วก็บอกจูโน่ว่าเราได้รางวัล”

อีกเทศกาลหนังที่ได้ส่งไปประกวดคือ เทศกาลหนังสั้นงานหนึ่งที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พวกเขาก็ส่งอาลูเซียร์ ไปประกวด แล้วก็ผ่านเข้าไปใน Official Selection ซึ่งก็งงว่ามันคืออะไร จนได้รู้ทีหลังว่า มันคือรางวัลที่บอกว่า หนังที่ส่งไปผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลแล้วนะ และต่อมาก็ได้เป็นหนึ่งใน Selection 100 เรื่อง

จากนั้นก็จะมีการโหวต Popular Vote เดือนละ 2 เรื่อง ซึ่งเรื่อง “อาลูเซียร์” ได้ลำดับที่ 3 แต่อย่างน้อยหนังของพวกเขาก็ได้ถูกฉายในต่างประเทศ เพราะอยู่ใน Selection 100 เรื่องนั้นเอง

พวกเขาไม่ได้มองว่าการที่เราได้ไปอยู่ในเวทีระดับโลกได้แสดงว่าเก่ง เพราะเราไม่สามารถบอกได้ว่าเราเก่ง บางคนก็อาจจะไม่ชอบ แต่คนอีกกลุ่มอาจจะมองว่าดี เพราะแต่ละคนก็ชอบหนังที่ไม่เหมือนกัน แต่การได้ไปอยู่บนเวทีระดับโลก พิสูจน์ว่าหนังของพวกเขาสามารถสื่อสารกับคนดูในระดับสากลได้ โดยที่ไม่ต้องคำนึงว่าเป็นภาษาอะไร ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าพอใจ แล้วก็ยังต้องพัฒนาไปอีกเรื่อยๆ

อีกทั้งการได้ลองส่งประกวดในต่างประเทศครั้งนี้ ยังเป็นการที่เรากล้าที่จะออกจากกรอบเดิมๆ และได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ในสิ่งที่หลายๆ คนไม่มีโอกาสได้ทำมากขึ้น

End Credit
ความสนุกคือสิ่งที่ภาพยนตร์มอบให้

การทำหนังกับเพื่อนๆ กับทำหนังกับทีมงานจริงๆ มันต่างกันมาก เพราะการทำหนังกับเพื่อนยังสามารถหยวนๆ กันได้ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และไม่เครียดเหมือนอยู่กองถ่ายหนังจริงๆ

“เหมือนเรามองว่าเรามาเที่ยวกัน ใช้เวลาว่างด้วยกัน และทำในสิ่งที่เรารักด้วยกัน ดูเป็นอะไรที่น่าจดจำมากกว่าการทำกองแบบจริงจัง”

การทำงานกับเพื่อน ทำให้ได้ลองอะไรหลายๆ อย่าง ที่อาจจะไม่มีโอกาสได้ลองอีกแล้ว เพราะการทำงานจริงๆ เราไม่สามารถผิดพลาดอะไรได้เลย แต่การทำงานกับเพื่อนๆ ทำให้สามารถลองทำอะไรก็ได้ พอเจอข้อผิดพลาดอะไร ก็ใช้ความเป็นเพื่อนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และช่วยกันแก้ปัญหาร่วมกันได้ ทำให้พวกเขาทำงานด้วยใจ โดยไม่ต้องใช้เงินหรืออะไรมาเป็นตัวนำ และนำประสบการณ์ครั้งนี้ไปใช้ในอนาคตได้ 

ผลงานภาพยนตร์ ก็เหมือนการรวมคนหลายๆ คนมารวมกันเป็นหนัง 1 เรื่อง ในสายตาคนอื่นอาจจะเป็นแค่ภาพยนตร์เฉยๆ แต่เบื้องหลังของหนังเรื่องนี้ มีความทรงจำต่างๆ ที่ทำให้นึกถึงวันที่ถ่ายทำ ว่ามันหนักหน่วงแค่ไหน ผ่านอะไรมาบ้าง บางคนอาจจะเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่มันคือประสบการณ์ที่มาทำด้วยกันที่อาจจะไม่มีโอกาสทำอะไรแบบนี้อีกแล้ว

“หลายๆ คนอาจจะมาลองทำงานนี้ครั้งแรก เขาอาจจะชอบแล้วเอาไปต่อยอดได้ บางคนไม่ชอบเขาก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เราก็ดีใจที่ได้ช่วยเพื่อนๆ หาตัวตนด้วย เพราะอนาคตก็อาจจะไม่ได้เจอเพื่อนที่จะได้มาทำหนังด้วยกัน มันต้องไปทำงานภายใต้แรงกดดันของกองถ่าย ที่มีเงื่อนไข กฎเกณฑ์ต่างๆ เมื่อเรามองย้อนกลับมามันก็จะบอกเราว่า เราเคยทำอะไรแบบนี้กับเพื่อนมาแล้วเป็นยังไงบ้าง” 

ด้วยผลงานภาพยนตร์อันยอดเยี่ยมของพวกเขา ทำให้พวกเขาได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำ อย่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บัดนี้สิ่งที่พวกเขาตั้งใจทำด้วยใจรัก ได้มอบสิ่งที่พวกเขาสมควรจะได้รับแล้ว และเราหวังที่จะได้เห็นพวกเขา รวมตัวกันสร้างผลงานหนังที่ยอดเยี่ยมอีกครั้ง และได้เห็นจูโน่ และกีต้าร์ ได้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และหวังว่าเราจะได้เห็นเขาสร้างผลงานหนังที่ยอดเยี่ยมอีกครั้งในอนาคต

สัมภาษณ์วันที่ 14 มีนาคม 2565

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า