fbpx

Pop Art Pop ใจ : ทำไมงานป็อบถึง (กลับมา) ป็อบในใจคน

หากสังเกตอีเวนต์ทางศิลปะในช่วงนี้ ต้องบอกเลยว่าเต็มไปด้วยสีสันอันฉูดฉาด ตั้งแต่เพลงแนว Synth Pop และ City Pop ที่ยังคงครองส่วนแบ่งในตลาดและทำให้คนคุ้นเคยกับเสียงซินธิไซเซอร์ (เครื่องสังเคราะห์เสียง) ในเพลงที่ให้ฟีลโลกอนาคต แต่ก็ชวนให้หวนนึกถึงอดีต รวมถึงอีเวนต์งานศิลปะที่เริ่มมีงาน Pop Art มากขึ้นเรื่อย ๆ 

ก่อนอื่น เราจำเป็นต้องนิยามให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า Pop Art เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 ลักษณะสำคัญของศิลปะกลุ่มนี้คือ ทำงานศิลปะจากสิ่งที่ดูไม่ใช่ศิลปะ เช่น สินค้าต่าง ๆ ที่เกิดมาจากระบบอุตสาหกรรม หรือกระแสนิยมในขณะนั้น ซึ่งการสร้างศิลปะเช่นนี้ได้รับอิทธิพลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เมื่อสงครามจบลง ก็ต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วโลกให้หายจากความบอบช้ำสาหัส อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพกลายเป็นสิ่งที่แต่ละชาติให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ เพื่อให้ประชาชาติสามารถอยู่รอดได้

และเมื่อใดก็ตามที่ความอยู่รอดมาก่อน ภาวการณ์ของศิลปะก็จะกลายเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ศิลปะในยุคนี้จึงหยิบฉวยสิ่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมและความนิยมของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสพสื่อโทรทัศน์ซึ่งเพิ่งเข้าสู่ยุคโทรทัศน์สี สีสันของสิ่งที่เรามองเห็นจึงได้รับการถ่ายทอดสู่สาธารณะ และได้รับการบันทึกไว้ด้วย

การกลับมาของ Pop Art ให้เราสงสัยว่าทำไมงานป็อปที่เคยโลดแล่นในอดีต จึงกลับมาป็อปอีกรอบหนึ่งได้ มาช่วยกันต่อจิ๊กซอว์หาคำตอบไปด้วยกัน

Accidentally Pop

เพราะอัลกอริทึมรวน จึงป็อป

ในช่วงล็อกดาวน์ อยู่ดี ๆ เพลง City Pop จากญี่ปุ่น 2 เพลงก็โด่งดังชนิดที่ว่าขึ้นหน้าฟีดยูทูปแทบทุกคน ทั้งสองเพลงถือว่าเป็น “เพลงครู” ของเพลงกลุ่มนี้ทีเดียว นั่นคือ Plastic Love ของ Mariya Takeuchi และ Stay With Me (หรือชื่อภาษาญี่ปุ่นคือ 真夜中のドア (Mayonaka No Door) – แปลว่า ‘ประตูยามเที่ยงคืน’) ของ Miki Matsubara

ปรากฏการณ์ความป็อปของทั้งสองเพลงที่เกิดขึ้นนี้มีคำอธิบายรองรับว่า เป็นเพราะอัลกอริทึมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการอัปโหลด Cover Version ของทั้งสองเพลง ทำให้คนตามไปฟังเพลงต้นฉบับต่อจนกลายเป็นไวรัล ด้วยจังหวะที่เป็นเอกลักษณ์ การใช้ซินธิไซเซอร์ในการสร้างทำนองของเพลง สะท้อนภาพสังคมญี่ปุ่นขณะนั้นที่ก้าวสู่ความเป็นสังคมเมืองที่อุตสาหกรรมรุ่งเรืองเต็มที่ วิถีชีวิตของคนเมืองก็เปลี่ยนไป แม้แต่เพลงไทยในขณะนั้นเองก็ใช้เครื่องสังเคราะห์เสียงนี้เป็นเครื่องมือสร้างทำนองให้เป็นเอกลักษณ์ เช่นเพลงที่แฟนซินธ์ป็อปไทยคุ้นเคยอย่าง “อยากอยู่ใกล้ ๆ” ของศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์

เมื่อเวลาผ่านไป การกลับมาของดนตรีแนวซินธ์ป็อป โดยเฉพาะในเพลงไทยอาจส่งผลให้เพลง City Pop เป็นที่นิยมด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นเพลงของ Polycat และ อิ้งค์-วรันธร เปานิล ที่ทำให้ซินธิไซเซอร์กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง

The Pop of Night Life

ป็อปหนักหนาคือ ‘ราตรี’

ความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมอุตสาหกรรมทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่ดนตรีเท่านั้น แต่อีกสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปด้วยคือ “วิถีชีวิต”

ชีวิตยามราตรีของหนุ่มสาวในโลกสมัยใหม่ทำให้เกิดการสังสรรค์ยามราตรีขึ้น การสังสรรค์ดังกล่าวนำมาสู่การเติบโตของสถานบันเทิงและกิจการอาหารอย่างชัดเจน แน่นอนว่าที่ขาดไม่ได้สำหรับความเป็นคนสมัยใหม่สุดป็อปคือ “ดนตรี” ที่เราได้กล่าวถึงไปแล้ว และ “แฟชัน”

การเข้าถึงแฟชันต่าง ๆ ย่อมอาศัย “สื่อ” เป็นตัวช่วยสำคัญ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสื่อเหล่านี้ย่อมนำเสนอวิถีชีวิตและแฟชันของดารา นักแสดง รวมถึงกลุ่มคนในแวดวงชั้นสูง ซึ่งถือเป็น “Influencer” ในสังคม สื่อจึงต้องนำเสนอไลฟ์สไตล์และประสบการณ์คัดสรรที่แตกต่างออกไปเพื่อชี้ให้เห็นถึงรสนิยมที่ยูนีค เข้าถึงฐานแฟนคลับได้อย่างเต็มที่ ซึ่งพื้นที่สำคัญที่จะทำให้แฟชันของคนได้เฉิดฉายคือ “พื้นที่สาธารณะ” อย่างที่ทำงาน และการได้ออกไปพบปะผู้คนภายนอก รวมถึงการสังสรรค์หลังเลิกงาน

แน่นอนว่าเสน่ห์ของยามราตรีต่อชาวออฟฟิศอย่างเรา ๆ คือการได้ปลดปล่อยความเครียดของตนออกมา สานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความเห็นทั้งต่องานและต่อสังคม จึงไม่แปลกที่งานป็อปอาร์ตจะเข้ากับชีวิตยามราตรีอย่างชัดเจนผ่านสีสันที่ฉูดฉาด ซึ่งได้รับอิทธิพลจากงานโฆษณา

Ca ‘pop’ talism

สิ่งใดแข็งกระด้าง เอาเงินง้างก็ป็อปได้

เรามักได้ยินเสมอว่าศิลปะเป็นเรื่องของความสูงส่ง สุนทรียะ

แต่การเข้ามาของ Pop Art เป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้ความสูงส่งของศิลปะแบบนี้ พร้อมทั้งเล่นล้อไปกับภาวะของสังคมที่การผลิตจำนวนมากตอบโจทย์ความอยู่รอดของคนทั้งโลก

การทำให้สิ่งที่ดูจะไม่ใช่ศิลปะ เป็น “ศิลปะ” ขึ้นมาได้

หากจะพูดถึงตัวอย่างของ Pop Art ชื่อแรก ๆ ที่จะขึ้นมาในหัวคือชื่อของ Andy Warhol ผู้สร้างงานศิลปะจากงานพาณิชย์และโฆษณาซึ่งล้อไปกับกระแสสังคมอย่างชัดเจน อย่างภาพพิมพ์พอร์เทรตของมาริลีน มอนโร ซูเปอร์สตาร์ในยุคนั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในตัวเธออย่างชัดเจน

ที่มา: awhl03-andy-warhol-shot-marilyns-1187×1735.webp

หากสังเกตเทคนิคการสร้างงาน การพิมพ์ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการสร้างงานศิลปะไป ผิดจากเดิมที่งานศิลปะจะต้องสร้างขึ้นด้วยการวาดมือ ทั้งนี้เราอาจมองว่าการสร้างภาพพิมพ์เป็นร่องรอยหนึ่งของการนำเอาเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมสื่อมาใช้กับการสร้างงานศิลป์ไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น การปรากฏตัวของ Pop Art ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าโลกทุนนิยมที่บังคับให้เราใช้ชีวิตแบบซ้ำซากจำเจ ทำให้เราต้องมองหาความงดงามในสิ่งที่ไม่น่าจะงดงาม หรืออีกนัยหนึ่ง ในเมื่อมันซ้ำซากนัก ก็จับมันมาเป็นสิ่งสร้างความบันเทิงใจเสียเลย

ภาวการณ์ของโลกยุค Post-Covid ก็เช่นกัน ความบีบคั้นที่เกิดขึ้นทั้งจากภาวะทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งระดับในประเทศและระหว่างประเทศย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตคนอย่างชัดเจน การมีพื้นที่ศิลปะเพื่อฮีลใจจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนสามารถเยียวยาตนจากชีวิตประจำวันอันยุ่งเหยิง รวมถึงงาน Pop Art ที่กลับมาป็อปอีกครั้งอาจจะเป็นเครื่องมือฮีลใจ ทั้งเสียดสีสังคมทีเราอยู่ทุกวันนี้ และหวนหาอดีตที่หอมหวาน

เพราะว่าแค่เงินอย่างเดียวมันพยุงหัวใจไม่ได้ ศิลปะจึงจำเป็นต่อจิตวิญญาณเราเสมอ

แหล่งอ้างอิง britannica / intheknow / mixmag / chula / fromlight2art / warhol

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า