fbpx

Orange Peel Theory พิสูจน์รักแท้ แค่ปอกเปลือกส้ม (?)

“ถ้าเขารักเรา เขาจะแกะเปลือกกุ้งให้เราเอง”

ประโยคคลาสสิกของคู่รักที่บ่งบอก “ความใส่ใจ” ในความสัมพันธ์อย่างชัดเจนว่า ถ้าเขารักเรา เขาจะดูแลเราอย่างดี ทำเอาเราสงสัยว่า แล้วในสังคมอื่น ๆ เขาจะมีความคาดหวังกับคนรักแบบนี้บ้างไหม ทันใดนั้นเอง คำว่า “Orange Peel Theory” ก็โผล่เข้ามาในไทม์ไลน์ของเรา

Orange Peel Theory เป็นเทรนด์ฮิตใน Tiktok ต่างประเทศในตอนนี้ ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์และชีวิตคู่
“ทฤษฎี” นี้มีอยู่ว่า ถ้าเขารักเรา เขาจะทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างปอกเปลือก “ส้ม” ที่ถึงแม้ว่าเล็บจะจิกเข้าไปถึงเนื้อ แล้วน้ำส้มจะเปรอะนิ้ว หรือแม้กระทั่งเป็นส้มเปลือกแข็งที่ต้องใช้มีดปอก และเสี่ยงที่น้ำส้มจะกระเด็น แต่คนรักก็จะทำสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ให้เราโดยไม่ต้องร้องขอ

อันที่จริง Keyword เกี่ยวกับความสัมพันธ์ถือเป็นท็อปปิกฮิตในโซเชียลมีเดียตลอดมา ก่อนหน้านี้ “Princess Treatment” การดูแลแฟนสาวประหนึ่งเจ้าหญิงก็เป็นเทรนด์ในโลกออนไลน์ว่า นี่คือมาตรฐานที่คู่รักต้องทำให้กัน และสำหรับคนโสด นี่คือมาตรฐานที่พวกเธอไม่อาจยอมลดลงไปได้ ยิ่งส่องแฮชแท็กเหล่านี้ก็ยิ่งเห็นว่าการถูกรักถูกดูแลอย่างนี้ “หวาน” ยิ่งกว่าน้ำตาลทั้งโลก

ภายใต้ความหวานแหววของแนวคิดความรักเหล่านี้ มีอะไรซ่อนอยู่บ้าง

เพราะฉันเหมาะสมกับ “ความรักที่ดี”

“ถ้ามีความรักแล้วไม่ดีกว่าที่อยู่คนเดียว ก็ขอยอมอยู่คนเดียวดีกว่า”

เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงคิดแบบนี้ เพราะบางครั้งการใช้ชีวิตอยู่คนเดียวก็อาจจะไม่ได้ยากลำบากอะไรนัก แถมในสังคมนี้ความรักยังหายากอีกต่างหาก การมีคนรักเข้ามาเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของชีวิตจึงพ่วงมากับความคาดหวังว่า เมื่อใครอีกคนเข้ามา จะทำให้ชีวิต “เบา” ลงกว่าที่เคย เพราะมีใครอีกคนคอยแชร์สิ่งต่าง ๆ ด้วยกัน

มากไปกว่านั้น ในความสัมพันธ์ก็ยังมีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการกินกุ้งในร้านชาบูปิ้งย่าง ปอกผลไม้ ผูกเชือกรองเท้า หรือความซุ่มซ่ามของคนรัก การเอาใจใส่เรื่องเหล่านี้จึงเป็น extra point ที่ทำให้คนเราประทับใจกัน หรือแม้แต่เป็น “ความพิเศษ” ในความสัมพันธ์ด้วย และเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้อาจนำไปสู่การตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ ระหว่างกันได้อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อแฮชแท็ก #orangepeeltheory ปรากฏตัวในโลกโซเชียล จึงมีผู้คนออกมา “แชร์” ความใส่ใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนรัก เช่นผู้ใช้ Tiktok คนหนึ่งเล่าว่า เธอมักจะอบเค้กเป็นประจำ และประสบปัญหาเมื่อแยกไข่ขาวออกจากไข่แดง สามีจึง “เซอร์ไพรส์” เธอด้วยการซื้อไข่ขาวสำหรับทำเบเกอรี่ให้

คีย์สำคัญของ Orange Peel Theory คือการทำบางสิ่งบางอย่างให้โดย “ไม่ต้องร้องขอ” หรือเมื่อร้องขอแล้วทำตาม ความใส่ใจเหล่านี้เองนำมาซึ่งความประทับใจต่อกัน ไม่เพียงแต่กับคู่รักเท่านั้น แต่ยังหมายรวมกับคนรอบตัวของคุณด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือครอบครัว แต่อีกด้านหนึ่ง “ทฤษฎีปอกเปลือกส้ม” ก็ทำให้สามารถตระหนักถึง “ปัญหา” ในความสัมพันธ์ได้เช่นกัน

มีผู้ใช้ Reddit คนหนึ่งโพสต์ว่า เธอต้องร้องขอให้คนรักของเธอช่วยมัดผมให้ แต่คนรักไม่ได้ใส่ใจ ทั้ง ๆ ที่เขาก็เคยไว้ผมยาวมาก่อน และรู้วิธีมัดผม หรือแม้กระทั่งขอให้อุ่นผ้าเช็ดตัวเพื่อให้ตัวอุ่นขึ้นหลังจากอาบน้ำ แต่เขาก็ไม่ใส่ใจเช่นกัน จนทำให้เธอตัดสินใจเลิกกับเขาในที่สุด เพราะเธอตระหนักว่าที่ผ่านมา เธออยู่กับผู้ชายที่ขี้เกียจและไม่ใส่ใจอะไรมาโดยตลอด

แง่หนึ่ง ทฤษฎีนี้สอดคล้องกับแนวคิดทางความสัมพันธ์อย่าง “Gottman Method” ซึ่ง John Gottman นักจิตวิทยาความสัมพันธ์ ได้รวบรวมปัญหาจากคู่รักที่เข้ามาทำการปรึกษา จนกลายเป็นแนวทาง 7 ข้อ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ โดยหนึ่งในนั้นคือ การตอบสนองต่อ “คำพูด” ของคนรัก เช่น หากคุณชี้ชวนคนรักดูนก คนรักจะมองตาม หรือเมินเฉย ซึ่งคู่รักที่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ระยะยาวจะ “ทำตาม” สิ่งที่คนรักบอก

หากลองย้อนกลับไปดู “Princess Treatment” keyword มาแรงในช่วงก่อนหน้าว่าด้วยการ “ปรนนิบัติ” แฟนสาวราวเจ้าหญิง ซึ่งแง่หนึ่งเป็นเสมือน “ขั้นต่ำที่สุด” ของหลาย ๆ คนที่ต้องการจากคนรักว่าจะดูแลเราเป็นอย่างดี เหมือนเรื่องรักของเราเป็นเทพนิยายที่เราเขียนขึ้นเอง และสอดคล้องกับแนวคิดของ Gottman ที่ยกมา

แต่อีกนัยหนึ่ง Princess Treatment ก็นำไปสู่วิถีชีวิตที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ที่หรูหราไปด้วย ซึ่งหากคู่รักของคุณไม่ได้มีฐานะการเงินที่ดี ก็อาจจะเป็นการ “กดดัน” กันเกินไปหรือเปล่า

และน่าสงสัยว่าเทรนด์จาก keyword ด้านความสัมพันธ์จะทำให้รักที่มีอยู่มันดี (ขึ้น) จริง ๆ หรือ

หรือเรากำลังใช้ “อุดมคติ” สะกดจิตคนข้างตัว?

วันแรกที่ตกหลุมรักกัน คุณกับคนรักอาจจะรู้สึกตรงกันว่าเราต่างรักกันมากมาย แต่เวลาผ่านไป เราอาจต้องการคำยืนยันว่ารักของ “เรา” ยังเหมือนเดิม การดูแลกันอย่างดีก็คงเป็นคำตอบหนึ่งที่ช่วยยืนยันความรักได้

แต่หากวันหนึ่งวันใดเราเริ่มไม่มั่นใจในตัวเองแล้วว่า เราอาจจะคิดมากไป สูญเสียความมั่นใจในความสัมพันธ์ เมื่อนั่นแหละ เราอาจต้องตั้งคำถามแล้วว่า “มาตรฐาน” ที่อีกฝ่ายร้องขอ “ควบคุม” เราหรือเปล่า

เราอาจคุ้นเคยกับคำว่า “Gaslighting” ทริคทางจิตวิทยาที่ “ปั่นหัว” ให้อีกฝ่ายตั้งคำถาม สงสัยในตัวเอง จนถึงสูญเสียความเป็นตัวเองไปในความสัมพันธ์ ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้กับทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่กับลูก เจ้านายกับลูกน้อง หรือที่ได้ยินบ่อยครั้งที่สุดคือ ระหว่างคนรัก

บางครั้ง การสร้างเงื่อนไขให้กับความรักความสัมพันธ์อาจนำไปสู่การ gaslight ได้ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการละเลย ไม่ให้ความสำคัญ หรือแม้กระทั่งบิดเบือนความจริงแล้วโยนความผิดไปให้อีกฝ่ายแทนว่า เธอนั่นแหละผิด (จากการตั้งคำถาม) ความรู้สึกเหล่านี้เองที่บั่นทอนความมั่นใจในความสัมพันธ์ และนำไปสู่การถูกควบคุมในความสัมพันธ์จนสูญเสียตัวตนในที่สุด

อนึ่ง ภาพอุดมคติที่เกิดขึ้นจากเทรนด์ในโลกออนไลน์ก็ไม่อาจบอกได้ว่า ความสัมพันธ์ของคนที่เรากำลังส่องและนำมาเป็นแบบอย่างจะไม่มีปัญหา หรือการทำตามเทรนด์เหล่านั้นจะใช้ได้กับทุกคู่เสมอไป ไม่แปลกที่เราจะมีความคาดหวังว่าความสัมพันธ์จะสวยงาม แต่อย่าปล่อยให้ภาพฝัน “กัดกิน” ชีวิตจริง

หากคุณกำลังเจอสถานการณ์ของการ gaslight เราอยากให้คุณค่อย ๆ ถอยออกมาจากสิ่งเหล่านี้ แล้วค่อย ๆ คิดว่าตกลงเรา “ผิด” จริงหรือเปล่า ถ้าคำตอบออกมาว่าเราไม่ผิด สิ่งที่เราทำมันเป็นความจริง โปรดก้าวออกมาจากความสัมพันธ์เสีย ส่วนใครที่อาจจะมีความคาดหวังต่อคนรัก แต่ความคาดหวังนั้นไม่สัมพันธ์กับชีวิตจริง การพูดคุยกันเพื่อหา “จุดกึ่งกลาง” เป็นสิ่งที่เราอยากแนะนำ เพราะความคาดหวังที่มากเกินไปอาจกดดัน ทำให้รู้สึกผิด และรู้สึกถูกด้อยค่าในความสัมพันธ์จนไร้ความเป็นตัวเอง

เพราะแค่ปอกเปลือกส้มอาจไม่ได้พิสูจน์รักแท้ การ “แคร์” กันอย่างจริงใจต่างหากที่เป็นเครื่องพิสูจน์

แหล่งอ้างอิง: Independent / New York Post / Reddit / National Library of Medicine / The Gottman Institute / Dailymail / Medium / Faculty of Psychology / Chulalongkorn University / Mission to the Moon

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า