fbpx

“มนต์รักนักพากย์” Media Disruption ฉบับย้อนยุค และ Nostalgia ที่ควรหวนหา (?)

การบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งหนึ่ง อาจเป็นการบอกรักสิ่งนั้นได้

เพราะต่อให้สิ่งนั้นจะตายไป แต่ทันทีที่เราเล่าขานเรื่องของสิ่งนั้น ก็เสมือนว่ามันได้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง

เช่นเดียวกับ “มนต์รักนักพากย์” ภาพยนตร์ที่ “อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” ตั้งใจให้เป็น “จดหมายรักถึงหนังไทย” บอกเล่าเรื่องราวของคณะฉาย “หนังกลางแปลง” ที่มีกิมมิคสำคัญคือ “การพากย์” ท่ามกลางกระแส Media Disruption ที่แนวโน้มผู้บริโภคเป็นไปในทางที่จะเลิกสนใจหนังในโรง หันมาบริโภคหนังตามช่องทางสตรีมมิงต่าง ๆ ที่สามารถเข้าถึงหนังได้หลากหลายทั้งประเภท พล็อต และสัญชาติ

ยิ่งแนวโน้มว่าคนจะออกห่างจาก “หนังไทย” มากขึ้น ผู้ผลิตหนังไทยยิ่งเกิดความกังวลใจขึ้นไปอีก เพราะภาพยนตร์ไทยถูกโจมตีจากความซ้ำซากของเนื้อหา Love line ที่ประดักประเดิด และการนำเสนอคุณค่าที่ไม่ยึดโยงกับสังคมจนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ด้วยกลิ่นอายยุควินเทจ ตลอดจนการนำเสนอชีวิตของคนในยุคนั้นอย่างสมจริง เราจึงอดไม่ได้ที่จะอยากรู้ว่า หากย้อนเวลากลับไปสัก 50 ปีที่แล้ว ความบันเทิงฉบับบ้าน ๆ เป็นอย่างไรบ้าง และการนำเสนอสิ่งเหล่านี้สะท้อน “อะไร”

หนังขายยา – หนังล้อมผ้า

ความบันเทิงฉบับ “ประชันโชว์” – “ประชาแชร์”

ถ้าจะเล่าถึงประวัติศาสตร์หนังไทย เราคงเริ่มต้นจากยุครัชกาลที่ 6 – 7 ที่เริ่มมีการถ่ายทำภาพยนตร์ภาษาไทย เรื่อยมาจนถึงคนไทยทำหนังเอง แต่ก็วนเวียนอยู่กับชนชั้นสูงเท่านั้น การก่อกำเนิดของโรงภาพยนตร์ในยุคแรกจึงกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง และเป็นที่พบปะสังสรรค์ของชนชั้นสูงเรื่อยมาจนถึงชนชั้นกลาง ตลอดจนคนที่ทำงานกับ “หน้าตา” ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นวงการการแสดงหรือแม้กระทั่งเหยี่ยวข่าว 

ฉะนั้น ความบันเทิงที่คนทั่ว ๆ ไปจะเอื้อมถึงคือการแสดงที่ “เร่” ไปตามที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลิเก ละคร หรือแม้กระทั่ง “ภาพยนตร์”

ถ้ากลับไปถามคุณตาคุณยายว่าสมัยก่อนเจอกันได้ยังไง หนึ่งในคำตอบสุดคลาสสิกที่จะได้รับคือ ไปเจอกันตอนดู “หนังกลางแปลง” มหรสพที่มาคู่กับการปูเสื่อรอดูหนังดัง และพากย์เสียงด้วยนักพากย์ตั้งแต่ “นักพากย์ 5 เสียง” (ประกอบไปด้วย พระเอก นางเอก ตัวโกง ตัวตลก และเสียงประกอบ ในคน ๆ เดียว) เรื่อยมาจนถึงยุคนักพากย์ “ชายจริง หญิงแท้” ที่เพิ่มความสมจริงให้หนังมากขึ้น เนื่องจากผู้แสดงมีทั้งชายทั้งหญิง ในยุครุ่งเรือง อาชีพ “นักพากย์” จึงทำเงินได้อย่างมหาศาลพร้อม ๆ กับการเดินทางออนทัวร์ทั่วประเทศเพื่อนำความบันเทิงไปส่งให้ถึงที่ด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่

แน่นอนว่าเมื่อเราใช้คำว่า “ปูเสื่อรอ” สถานที่ฉายจึงต้องเป็นที่สาธารณะซึ่งหนีไม่พ้นลานวัด ลานโรงเรียน หรือว่าทุ่งกว้าง ๆ พร้อมมีของกินหลากหลายให้คนได้เพลิดเพลิน คนจากชุมชนใกล้เคียงจึงอาศัยโอกาสนี้มาพบปะกัน ซึ่งทำไปทำมากลายเป็นตกหลุมรักกันก็มี หรือกลายเป็นอริบ้างก็มีเช่นกัน หนังกลางแปลงที่เราว่ามานี้มีหลายชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็น “หนังล้อมรั้ว” “หนังล้อมผ้า” หรือตัวชูโรงของหนังเรื่องนี้อย่าง “หนังขายยา” ซึ่งจะคั่นด้วยการขายยาต่าง ๆ ตามชื่อ ซึ่งการโฆษณาเหล่านี้อาจจะเป็นได้ทั้งความรำคาญ และความบันเทิงให้กับผู้ชม เพื่อปลายทางคือการขายผลิตภัณฑ์ยาไปด้วย จึงถือว่าหนังเหล่านี้เป็น “มหรสพ” อย่างหนึ่ง เพื่อเป็นทั้งการฉลองศรัทธาเจ้าภาพและสร้างความบันเทิงให้กับผู้คน และเพื่อเป็นการสร้างความรื่นเริงขั้นสุด บางครั้งงานเหล่านี้จึงมีการฉายหนังประชันกัน 2 จอ เรียกคนเข้ามาดูให้มากขึ้น แถมยังเป็นการวัดพลังของการฉายหนังแต่ละคณะด้วยจะพากย์ได้ “ถึงเครื่อง” แค่ไหน

ยิ่งจังหวะที่ “มนต์รักนักพากย์” เข้าฉายในเน็ตฟลิกซ์ มาตรงกับเทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง” ที่ย้อนเอาบรรยากาศการฉายหนังกลางแปลงเข้ามาอยู่ในแลนด์มาร์กต่าง ๆ ของเมืองหลวง ฟื้นบรรยากาศของพื้นที่สาธารณะให้เต็มรูปแบบมากขึ้น และพิเศษขึ้นไปอีกที่ปีนี้จะมีทั้งการฉายหนังพากย์สด และหนัง 3 มิติอีกต่างหาก ไม่แน่ว่าความประจวบเหมาะนี้จะทำให้คนเข้าถึงหนังเรื่องนี้มากขึ้นด้วย

จากจอผ้าสู่จอแก้ว

Media Disruption เวอร์ชัน Old School

ช่วงทศวรรษ 2500 – 2510 ถือว่าเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของวงการสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ในระยะเวลานี้

การเข้ามาของระบบกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์สร้างความเปลี่ยนแปลงสู่การกระจายข่าวสารที่กว้างไกลมากขึ้น ทำให้อัปเดตสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงมีรูปแบบสื่อที่หลากหลายขึ้นด้วย

เริ่มต้นจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกที่เริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 2500 ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการทหาร การก่อกำเนิดโทรทัศน์เอกชนแห่งแรกอย่างไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี 2513 และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสิ้นทศวรรษดังกล่าว การแพร่ภาพในโทรทัศน์ช่วงนั้นได้กลายเป็นระบบโทรทัศน์สีทั้งหมด รายการต่าง ๆ ที่เข้ามาจึงนำเสนอทั้งข่าวที่รวดเร็วเห็นภาพบรรยากาศ และความบันเทิงในรูปแบบใหม่ ๆ ไปด้วย

สำหรับวงการภาพยนตร์ การเข้ามาของ “หนังเสียง” สั่นสะเทือนอาชีพนักพากย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถใส่เสียงภาษาไทยได้ การพากย์หนังจึงปรับเปลี่ยนมาเพื่อรับกับการเข้ามาของภาพยนตร์ต่างชาติเป็นหลัก ส่วนด้านการโฆษณา สื่อวิทยุโทรทัศน์ซึ่งสามารถกระจายเสียงได้อย่างแพร่หลายกลายมาเป็นช่องทางหลักในการโฆษณา ด้วยความที่ได้เห็นทั้งภาพและเสียงในคราวเดียวโดยไม่จำเป็นต้องเสียต้นทุนเพิ่มเติม รองลงมาคือสื่อสิ่งพิมพ์ที่กระจายทั่วอยู่ก่อนแล้ว โฆษณาผ่านหนังขายยาจึงอาจเป็นตัวเลือกท้าย ๆ สำหรับเจ้าของกิจการในขณะนั้นด้วย

จะว่าไปแล้ว ภาวการณ์เช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับ Media Disruption ที่เกิดขึ้นขณะนี้ สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย สื่อออนไลน์ก็แข่งขันฟาดฟันด้วย “จุดเด่น” ของตนที่ต้องชัดเจน หรือแม้กระทั่งวงการบันเทิงไทยที่ถูกตั้งคำถามถึง “คุณภาพ” ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา 

และคำถามที่เกิดขึ้นในวงการนี้มาตลอดคือ ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถ “รอดพ้น” จากภาวะนี้ได้?

The return of good (?) old days

กลับมาเถิดวันวาน (?)

คุณเคยมี “รักครั้งแรก” ไหม?

ต่อให้รักแรกนั้นจะเจ็บปวด ผิดพลาด หรือเลวร้ายยังไง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเราย้อนมองกลับไปก็รู้สึกว่ามันสวยงาม เช่นเดียวกับความรู้สึกที่เรามีต่อเหตุการณ์ในอดีตอื่น ๆ ที่รู้สึกว่าชวนหลงใหลทุกครั้งที่นึกถึง

นี่คือกลไกหนึ่งของ “Nostalgia” หรือที่ชื่อภาษาไทยเรียกแล้วครอบคลุมคอนเซ็ปต์ทั้งหมดว่า “การหวนหาอดีต” 

การหวนหาอดีตมีไอเดียสำคัญคือการหวนคิดถึง “อดีต” ซึ่งอดีตที่ว่าไม่ใช่อดีตที่เราเคยประสบมา แต่เป็นอดีตอันหอมหวานที่เราใฝ่ฝัน และสิ่งที่ใฝ่ฝันมีแกนหลักอยู่สองจำพวก – “ไม่มีแล้ว” และ “ไม่มีจริง” ยิ่งการใช้ชีวิตสมัยนี้ที่บีบคั้นทั้งเรื่องเงิน เรื่องงาน หรือคุณภาพชีวิตที่ไม่ใคร่จะดีนัก ทำให้เรามองปัจจุบันว่าช่างโหดร้ายและแห้งแล้ง ด้วยเหตุนี้เองความเป็นสมัยใหม่จึงแยกขาดจากกันกับความคิดถึงอดีตไม่ได้ เพียงเพราะความตระหนักว่าอดีตอันสวยงาม “ไม่มีอยู่แล้ว”

คอนเซ็ปต์ของ Nostalgia ถูกใช้เพื่อสร้างสำนึก “อุดมการณ์” บางอย่างเพื่อเรียกคืน “ความสุข” (ที่หมายถึง ความสงบ) กลับคืนสู่สังคม เพื่อเป้าประสงค์บางอย่าง สำหรับ “มนต์รักนักพากย์” เราเชื่อว่าอดีตที่ต้องการจะสื่อคือการฉายให้เห็นถึง “ยุครุ่งเรือง” ของภาพยนตร์ไทย ผ่านพระเอกไอคอนิกตลอดกาลอย่าง “มิตร ชัยบัญชา”

มรณกรรมของมิตรสร้างความสะเทือนใจแก่ประชาชนอย่างมาก เพราะเป็นทั้งความตายของพระเอกตลอดกาล และการสูญเสียนักแสดงที่เต็มไปด้วย “ความสามารถ” “คาริสมา” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความทุ่มเท” ต่องานแสดงที่เขารัก และถือได้ว่ายุคที่เขาแสดงภาพยนตร์เป็น “ยุคทอง” ของภาพยนตร์ไทยในตำนานทีเดียว หากเราจะกล่าวได้ว่าการย้อนรำลึกถึงมิตรในฐานะ “มิตร” ของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่สมจริงสำหรับภาพยนตร์ไทยพีเรียดที่พูดถึงวงการหนังโดยตรง

นอกจากมิติความสมจริงแล้ว เราเชื่อว่าอีกมิติหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ต้องการนำเสนอคือ Media Disruption แต่ไม่ใช่ว่าจะหวนหาอดีตในฐานะที่อยากกลับไปสู่คืนวันอันหอมหวาน (?) แต่อาจเป็นการหวนหาอดีตเพื่อกลับมา “รีเซ็ต” ปัจจุบันก็ได้

Media Disruption ก็เช่นกัน ในวันที่วงการหนังไทยต้องการที่จะก้าวไปสู่เวทีโลก ความคาดหวังทุกประการลงมาสู่ผู้ผลิต พร้อมความกังวลว่าแค่ในบ้านสถานการณ์ก็ “สั่นคลอน” เอามาก ๆ แล้ว “มนต์รักนักพากย์” จึงอาจไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นอดีตที่คนนึกถึงเท่านั้น แต่อาจชี้ชวนให้ทุกคนกระตุกต่อมคิดไปด้วยกันว่าเราจะรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในวงการหนังไทย สื่อไทย และสังคมไทยอย่างไร

เพราะการเปลี่ยนแปลงอาจไม่น่ากลัวเท่าการไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนรัก

(ภาพ: ศุภณัฐ เลิศรักษ์กุล)

แหล่งอ้างอิง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า