fbpx

“มีสติเยอะๆ และวินัยสำคัญที่สุด”​ บทเรียนจากการเป็นผู้ประกาศข่าวของอ๊อฟ-ชัยนนท์

มีบุคลากรหลายๆ คนในวงการโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ที่เราสามารถเห็นหน้าเขาได้ทุกวันและหลายๆ สถานที่ หนึ่งในนั้นคืออ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์

ตอนเช้าเราจะเห็นเขาอ่านข่าวกีฬา

กลางวันจะเห็นเขาอ่านข่าวหลัก

เย็นก็สรุปข่าวประจำวันให้เราฟัง

กลางคืนก็สัมภาษณ์ผู้คนมากหน้าหลายตาในนามสื่อออนไลน์ที่มีมาตรฐานสูง

หรือบางทีเขาก็เล่าข่าวไอทีให้เราฟังบนรถไฟฟ้า

ยังไม่นับที่เขาเป็นพิธีกรในวาระและโอกาสต่างๆ และการเล่าข่าวบนพื้นที่แฟนเพจของตัวเองอีก

แต่พื้นฐานอย่างหนึ่งที่ยึดโยงและเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกหนีไม่ได้คือ การทำงานในฐานะคนเบื้องหน้า และการอยู่ในสนามข่าวที่ต้องเร็ว แม่น และดูงดูดให้ผู้ชมติดตามข่าวอยู่ตลอดเวลา

ช่องวัน 31 จัดสรรให้เราคุยกับอ๊อฟอีกครั้ง หลังจากรายการสดที่เราในนามส่องสื่อเคยสนทนาถึงเส้นทางการเป็นผู้ประกาศข่าว จากนักร้องหน้าใส สู่คนเล่าข่าวบันเทิง มาจนถึงผู้ครองเก้าอี้ข่าวทั้งช่องวัน 31 และช่อง GMM25 ในหลายช่วงเวลา 

อ๊อฟบอกเราว่าการสัมภาษณ์ครั้งนี้ยากกว่าครั้งที่แล้ว เพราะนี่คือการถอดบทเรียนในชีวิตการเป็นคนข่าวตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประสบการณ์ในโลกข่าวของเขาทำให้เขาต้องมีวินัยอยู่ในตัวเองเสมอ

เพราะการทำงานในชีวิตจริง วินัยสำคัญที่สุด

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ในฐานะผู้ประกาศข่าว ช่วยอธิบายให้ฟังได้มั้ยว่าข่าวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้อย่างไร

คือตื่นมา ทุกวันนี้ในหน้าฟีดเฟสบุ๊คก็จะมีแต่สำนักข่าวต่างๆ ที่เราติดดาวเอาไว้ กับ หรือพอหยิบมือถือขึ้นมาก็ต้องเช็คก่อนเลย ตื่นมาอันแรกก็คือ อ่านสคริปต์ของช่องกีฬาที่จะไปทำ หลังจากนั้นระหว่างวันเราก็จะสั่งงาน อย่าใช้คำว่าสั่งเลย คุยกับน้องๆ ในทีมเพจว่า โอเค เช้าวันนี้เป็นยังไงบ้าง เพื่อที่จะมาลงในเพจ เช่น บ่ายนี้ปารีณา (ไกรคุปต์) โดนตัดสินนะ เตรียมทำพาดหัวรอเลยว่าปารีณาจะรอดหรือไม่รอด ทำไว้ 2 แบบ คือทุกอย่างมันเหมือนทำให้เราต้องทำได้หลายอย่างพร้อมกัน แต่ว่าไม่รู้ดีหรือไม่ดี บางคนเขาบอกว่าจับปลาหลายมือมันไม่ดีก็ได้นะ มันควรจะโฟกัสกับอย่างใดอย่างหนึ่งให้มันดีที่สุดใช่มั้ย แต่ว่าเรากลายเป็นว่า เราเหมือนเป็นเป็ด เราไม่รู้หรอกว่าดีรึเปล่า แต่ทุกอย่างเราพอทำได้ มันก็ได้เกรด​ บี บีลบ บีบวก ซีบวกบ้าง มันอาจจะไม่ได้เอซักทาง แต่ว่าเหมือนกับเราต้องทำหลายด้าน หลายทางในเวลาเดียวกัน มันก็เลยไม่ได้รู้สึกแปลกที่บอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าแปลกอะ หยิบมือถือขึ้นมาแล้วไม่ได้ดูข่าวเนี่ยรูสึกแปลกละ เหมือนๆ ขาดอะไรไป

แล้วอะไรทำให้คุณทำเพจข่าวในชื่อของตัวเอง

เกิดจากอยากอ่านข่าว เพราะตอนแรกไม่ได้อ่านข่าว ตอนแรกเป็นพิธีกรข่าวบันเทิงแล้วรู้สึกว่าเบื่อ เบื่อข่าวบันเทิง ไม่อยากอ่านข่าวบันเทิงแล้ว ทำยังไงถึงจะได้อ่านข่าวดี เราก็ไม่อยากรอคอยโชคชะตา เพราะว่าเราก็ไม่รู้วันไหนเราจะได้อ่าน ตอนนั้นก็ยังอยู่ช่องวันนะ เราก็แบบ ทำไงดีถึงจะได้อ่านข่าว เพราะว่าเราเคยอ่านข่าวของช่องวันอยู่บ้างสมัยที่เขาขาดคน ผู้ใหญ่เห็นว่าเราพอทำได้ เราก็ไปแทน ก็อ๊ะ มีเพจนิ แต่เพจเอาไว้ลงรูปเวลาไปเที่ยว งั้นก็ไลฟ์ในเพจละกัน เริ่มจากการไลฟ์เล่าข่าวในเพจสั้นๆ เสร็จแล้วก็เลยคิดว่า เราจริงๆ เป็นคนชอบคิดคำ ก็เลยลองทำดู ให้น้องคนนึงช่วยออกแบบให้ ไอ้กราฟิกสี่เหลี่ยมนั่นน่ะ ขอเพลต เพลตนึงสีประมาณนี้นะ บรีฟเข้าไป เขาก็ออกแบบมาประมาณนี้ ตกผลึกกันอะ ปรับเอานั้นโน้นนี้ใส่เข้าไป ให้มันเป็นกรอบง่ายๆ และก็ใช้แค่ตัวอักษรเนื่องจากว่ เราทำคนเดียว เราไม่มีทีม เรากลัวว่าเราใช้รูปแล้วมันจะติดลิขสิทธิ์ เรากลัวว่าเราใช้คลิปเดี๋ยวก็จะติดลิขสิทธิ์ นักข่าวไปลงพื้นที่มาเขาลำบากตรากตรำกว่าจะได้ข่าวมา นึกออกมั้ยฮะ แล้วเราดูดมาใช้ อันนี้เราไม่โอเค งั้นเราใช้ตัวอักษรละกัน มันไม่ติดของใคร นั่นแหละ ก็เลยเป็นที่มาว่าอยากอ่านข่าว งั้นทำในเพจก่อนแล้วกัน

อะไรนำไปสู่การต่อยอดจนได้ทำเพจข่าวเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น

คือพอเราทำไปเรื่อยๆ บางทีไลฟ์มันค่อนข้างจำกัดว่าในหนึ่งวัน หนึ่งไลฟ์ เราคงไม่มานั่งไลฟ์ทั้งวี่ทั้งวัน แล้วเราจะทำยังไงให้เพจมันมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นตลอดเวลา เรารู้สึกว่า เออ เราก็ทำตัวเองให้เป็นเหมือนสำนักข่าวสำนักหนึ่ง จริงๆ ตอนแรกไม่ได้คิดขนาดนั้น คิดแค่ว่าอยากแจ้งข่าวให้คนได้รู้แบบเร็วๆ และอ่านได้ง่าย เพราะปัญหาคือมาจากตัวเราเองว่ากดเข้าไปในลิงก์ของสำนักข่าวอื่นๆ แล้วมันยาวมากเลยอะ อ่านไม่รู้เรื่องบ้าง บางทีคำข้อกฎหมาย คนให้สัมภาษณ์ก็พูดไม่รู้เรื่อง เรารู้สึกว่ามันเสียเวลา แล้วอยากให้คนอื่นที่เข้ามาอ่านในเพจเราไม่เสียเวลา ถ้าเขาเข้ามาดูไลฟ์เขาก็ต้องเสียเวลาฟังเรา งั้นทำไงให้ไม่เสียเวลา งั้นเราทำแบบนี้ละกัน ทำพาดหัวและก็ย่อข่าวให้มันสั่นและเข้าใจง่าย แต่ทำขนาดนี้บางทีมีดราม่าเลยนะเรื่องพาดหัว เราก็เข้าใจนะ มันก็ไม่สามารถทำให้ถูกใจทุกคนได้เนาะ พาดหัวแค่ 4-5 บรรทัด แต่เราพยายามเลี่ยงนะ เลี่ยงแบบ Clickbait เลี่ยงคำที่มันจะส่อไปทางดราม่า

การทำเพจข่าวในลักษณะนี้ต้องรับมือกับอะไรบ้าง

ตอนแรกไม่โดน คือเหมือนกับมันยังไม่ได้เยอะ ทีนี้พอเหมือนคนเริ่มแชร์มากขึ้น บางคนเซฟเอาไปลงเอง ซึ่งแชร์มากกว่าของเราอีก แล้วเขียนคำเพิ่มด้วยคำที่แบบ Emotional คำหยาบหน่อย มันก็อาจจะโดนใจคนไง แต่เราไม่สามารถทำงั้นได้ เราก็ต้องแบบทำกลางๆ มันก็มีดราม่า อันแรกเลยนะ ทำไมพาดหัวแบบรุนแรง ทำไมถึงใช้คำนั้น ทำไมถึงใช้คำนี้ สอง-โดนถามว่ามีวิธีการเลือกข่าวอะไรมาลง ทำไมถึงลงข่าวนี้ ผิดหวังมาก 

ตอนลุงพล (ไชยพล วิภา) นี่โดนเหมือนกัน ซึ่งคิดแล้วนะว่าเราเป็นเพจที่ลงข่าวลุงพลน้อยที่สุดแล้ว ถ้าเทียบสำนักข่าวใหญ่ๆ เราแทบจะไม่ได้คุยเรื่องข่าวนี้กับน้องในทีมเลย ยกเว้นว่าจะมีเรื่องใหญ่จริงๆ ค่อยเอา ยกตัวอย่างเช่น ตัดสินแล้ว มีคำตัดสินออกมา หรือยอมรับแล้วว่าเป็นคนทำ หรือไม่ยอมรับ เอาใหญ่ๆ ค่อยลง เผอิญจำได้วันนั้น มีออกหมายจับ มันเป็นวันเดียวกับในสภา เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ อะไรสักอย่าง แล้วมันมาเวลาไล่เลี่ยกันมาก จำได้เลย เราก็คุยกับน้องในทีมเลยว่า อะไรมาก่อน อะไรจบก่อนเอาอันนั้น แต่ลงทั้ง 2 นะ ปรากฎว่าลุงพลมันจบก่อน และเราต้องการความไวใช่มั้ย เราก็ลงโพสต์ต์ลุงพลไปก่อน โห คนกดไลค์กดแชร์กันเยอะมาก เป็นหมื่น แต่คนก็มาด่าด้วย เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องการเมือง แต่เราก็ลงในโพสต์ต่อมา ซึ่งห่างกันประมาณแบบครึ่งชั่วโมง เชื่อมั้ย โพสต์ที่เกี่ยวกับการเมืองอันนั้นคนกดไลค์ไม่ถึง 1000 ผมก็เอาลิ้งค์โพสต์นั้นไปแปะใต้โพสต์ข่าวลุงพลว่าเนี่ย อยู่นี่ไง สุดท้ายแล้วบางทีมันก็ไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียวเนาะ เฟซบุ๊กมันขึ้นอยู่กับว่าอัลกอริทึมของใครสนใจเรื่องอะไรด้วย อันนี้ก็โดนหนัก

กับอีกเรื่องที่โดนหนักๆ ก็คือเรื่องของดาราเกาหลีที่บางทีเราอาจจะใช้คำอย่างนี้ ต้องระวัง ไม่ใช่แค่วงการของดารานักร้องเกาหลีอย่างเดียว จริงๆ ก็ทุกวงการ คือยุคนี้มันดราม่ากันง่าย เราก็ต้องระวังมากขึ้น หรือเราไปนำบทสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีมา แล้วเราก็นำคำของเขามาพาดหัว แต่ บางคนเค้าก็มองว่า ‘คุณรู้ได้ไงว่าสิ่งที่รัฐมนตรีพูดมันถูกต้อง’ แต่ของเรา ณ ตอนนั้นที่เรารู้สึกคือ เรามีหน้าที่ที่จะลงตามความจริง ความจริงคือเขาพูดแบบนี้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องลงแบบที่เขาพูด ส่วนถ้าเราจะไปเช็คว่าจริงไม่จริง โอเค เดี๋ยวอยู่โพสต์ต่อไปนะ เดี๋ยวเรามาคอนเฟิร์มให้นะ ว่าสิ่งที่รัฐมนตรีพูดจริงรึเปล่า 

บางทีเราเข้าใจได้ว่าคนเรามันไม่เหมือนกัน ความคิดเราจะไปบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันมันคงไม่ได้ มันก็มีมาเรื่อยๆ แหละครับ หรือบางทีโพสต์ก็ไปอยู่ในสภา ไปอยู่ที่พรรคนั้นพรรคนี้ ก็มี มีหมด

การที่คุณเริ่มเปลี่ยนเพจส่วนตัวเป็นสำนักข่าวเล็กๆ จริงๆ คุณทำเพื่อเติมเต็มจิตใจหรือได้คิดถึงเรื่องการหารายได้ในมิติอื่นๆ บ้างมั้ย

รายได้เนี่ยเป็นผลพลอยได้ ใช้คำนี้ละกัน เราไม่ได้ตั้งใจไม่ได้คิดว่ามันเป็นรายได้ให้กับเราเลยนะ แต่โดยส่วนตัวเนี่ย ด้วยการที่เราอยู่วงการบันเทิงมาก่อนเนี่ย มันก็พอมีงานในลักษณะประมาณนี้อยู่แล้ว งานที่มันมาจากตัวเรา งานรีวิวหรือพรีเซนเตอร์ หรืองานคลิปไวรัลอะไรต่างๆ มันพอมีอยู่บ้าง พอเรามาทำเพจใช่มั้ย มันก็เริ่มมีมากขึ้น ถามว่า ณ วันนี้ทำไปเพื่ออะไร ณ เอาใจจริงก็คืออยากทำเป็นสำนักข่าวออนไลน์สำนักข่าวนึงที่อยู่ได้ โดยที่อาจจะขยายทีมถึงขนาดที่ว่ามีนักข่าวเป็นของตัวเอง ไม่ต้องอ้างอิงมาจากสื่ออื่นแล้ว ลงพื้นที่ไปเก็บมาเอง อันนี้คือเป้าหมาย

การอ่านข่าวในหลายๆ สังกัด มันช่วยในเรื่องของการทำเพจข่าวมากน้อยแค่ไหน

ก็ช่วยนะ มันหลากหลายอยู่แล้ว ด้วยความที่เราอาจจะเป็นคนจับฉ่ายอยู่แล้ว เราทำหลายอย่าง อย่างล่าสุดก่อนที่จะมาคุยกัน เราก็ลงข่าว แบมแบม GOT7 ว่าเป็นคนไทยคนแรก หรือเป็น K-POP คนแรกที่ไป Half-Time Show ที่ NBA ของสหรัฐฯ คือแบบนี้มันก็ถือเป็นข่าวมั้ย อาจจะอยู่ในพาร์ทไหน บันเทิงผสมกีฬา นึกออกไหม เรารู้สึกว่าเฮ้ย คนแรกเลยนะ เขาน่าสนใจตรงที่ว่าเขาคือคนไทยคนแรก เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ Fix ว่าข่าวแบบไหนจะลงแบบไหน การที่เราทำหลายที่มันก็ทำให้เราได้มีมุมมองหลากหลายเนาะ เพจเราก็วาไรตี้อยู่ มันอาจจะไม่ใช่ว่าต้องการเมืองอย่างเดียว หรือต้องสังคมอย่างเดียว ฆ่ากัน ลูกฆ่าแม่เนี่ยตามอยู่อย่างนั้นอะ เราไม่ได้ขยี้เรื่องใดเรื่องหนึ่งขนาดนั้น แต่ว่าเราพยายามหลากหลายมากที่สุด ยกเว้นว่าข่าวเดิมแต่มีประเด็นใหม่ เราก็ต้องเล่นหน่อย แต่ส่วนมากเราไม่ค่อยหรอก เราเหมือนกับว่า ให้คนรู้ ถ้าคนอยากรู้ต่อ ก็ไปอ่านละเอียดที่อื่นได้ 

คุณคิดว่าผู้ชมและผู้ติดตามคาดหวังอะไรจากสิ่งที่คุณสื่อสารออกไป ทั้งการทำเพจและข่าวที่คุณอ่าน

เราไม่ได้อยากดังอะ เราแค่อยากทำในสิ่งที่เราอยากทำ ทุกอย่างมันอาจจะบังเอิญว่ามันเป็นโอกาสที่เข้ามาพร้อมๆ กันทำให้เราได้ทำงานเยอะ ทำให้คนได้เห็นมากขึ้น มันก็เป็นผลพลอยได้ที่ดี แต่ว่าเราก็ยังเป็นเหมือนเดิมแหละ เราไม่ได้รู้สึกว่าเรามีงานเยอะขึ้น คนรู้จักมากขึ้น แล้วเรามีอิทธิพลอะไรมากขึ้นรึเปล่า โอเค เราอาจจะต้องคิดเยอะขึ้น ทุกวันนี้หัวจะแตก เวลาจะทำพาดหัวลงในเพจตัวเองคือคิดแล้วคิดอีกนะ คือเหมือนเป็นคนคิดซ้ำอะ คิดมากไปเลยว่าคำนี้ไม่เอาดีกว่าเดี๋ยวดราม่าว่ะ หรือไม่เอาข่าวนี้ดีกว่า มึงไม่ได้อะไรเ ดี๋ยวคนก็มาด่ากัน คือกลายเป็นว่าต้องคิดเยอะขึ้น จากเดิมที่คิดเยอะอยู่แล้ว

ในการที่คุณทำเพจข่าวในชื่อของตัวเอง ที่ต้องดูแลทั้งความรอบคอบและความน่าเชื่อถือ คุณจัดการเรื่องนี้ยังไง

สำหรับผมนะ ผมว่าความถูกต้องต้องมาก่อน จะช้ากว่าคนอื่นไม่เป็นไร จะไม่ดังไม่เป็นไร แต่ต้องถูกเพราะถ้าผิด คนเซฟรูปไปแล้วทำไงอะ เลยเป็นสิ่งที่เราเน้นย้ำน้องในทีมเสมอว่า อย่าพิมพ์ผิดโดยเฉพราะพาดหัว แคปชั่นผิด เดี่ยวค่อยไปแก้ไง ลบทิ้ง แต่พาดหัวถ้าผิดถ้าเค้าไม่ได้เอาไปทั้งโพสต์ล่ะ ถ้าเค้าแคปไปแต่รูป มันผิดแล้วผิดเลยนะ เราไม่รู้หรอกว่าไอ้ภาพที่มีแค่ตัวอักษรมันจะอิมแพ็คหรือเอฟเฟคต์ขนาดไหน เราก็ไม่ได้ประเมินตัวเองสูงอะครับ แต่ที่นี้พอมันมีเรื่องราวอะไรต่างๆ เข้ามาอะ มันก็เริ่มรู้แบบว่า เฮ้ย มันก็เริ่มมีเอฟเฟคต์หลายอย่างเข้ามา มันก็ต้องรอบครอบมากที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าตอบคำถามเมื่อกี๊ก็คือว่า ต้องถูกต้องตลอด แล้วก็ค่อยเร็ว ส่วนชื่อเสียงไม่เป็นไร มันก็ขึ้นอยู่กับ 2 อันนี้ ถ้ามันเร็วและมันถูกต้อง ชื่อเสียงมันก็คงจะดีเองแหละ

คุณปรับตัวยังไงบ้างกับการอ่านข่าวพร้อมๆ กันหลายๆ รายการ และหลายๆ สื่อ

มันก็เป็นความยากเหมือนกันนะ เพราะว่าแต่ละที่มันก็ต่างกัน อย่างทีสปอร์ตก็เป็นกีฬา มันโดดไปที่สุดในทุกๆ อัน เป็นความโชคดีอย่างนึงเลยคือว่า เราเป็นคนดูบอล เราเป็นคนสนใจกีฬามากๆ อยู่แล้ว มากถึงว่าซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิค ดูหมด ดูกีฬาทุกประเภท ยิมนาสติก มวย แบดมินตัน เทนนิส กอล์ฟ คือเราดูทุกอย่าง เราไม่ได้ดูแต่บอล และมันเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก มันก็เลยเหมือนกับว่ามันเป็นสิ่งที่มันซึมซับ เพราะฉะนั้นกีฬาเหมือนแทบไม่ต้องทำการบ้านเลย คือถามว่าดูมั้ย ดู อาจจะต้องดูไฮไลท์ฟุตบอลไปก่อน อาจจะไม่มีเวลาดูเต็มเกม 90 นาทีเหมือนแต่ก่อน เราก็มาเลือกดูไฮไลท์เพื่อดูว่าพรุ่งนี้เราต้องมาคุยคู่ไหน คุยเรื่องอะไรบ้าง กีฬาประเภทอื่นก็อาศัยดูในอินเทอร์เน็ตเอา อันนี้คือกีฬา ไม่ค่อยลำบากเท่าไหร่ ก็แยกไปเลย 

แต่ทีนี้พอเป็นข่าวหลักอย่างของ GMM25 มันก็โชคดีที่มีทีมงานที่เค้าเตรียมทุกอย่างไว้แล้ว แต่หน้าที่ของเราก็คือเราต้องมาคุยกับทีมว่า เราอยากได้ประเด็นไหนเพิ่ม เราอยากเล่นอะไรเพิ่ม เนื้อหาที่มีพอมั้ย ไอ้สิ่งที่เราอยากได้เค้ามีมั้ย ที่อื่นมี ทำไมเราไม่มี หรือเรามี ที่อื่นไม่มี ก็จะเป็นเรื่องที่มาคุยกันก่อน ก่อนที่จะอ่านเที่ยงหรืออ่านเย็น อ่านเที่ยงจะไม่ค่อยมีเวลา เพราะว่าผมต้องอ่านของทีสปอร์ตก่อนและก็มาที่ตึกแกรมมี่ แต่ว่าพอก่อนเย็น ก็จะมีเวลาเหมือนที่เรานั่งคุยอยู่ตอนนี้ ที่จะพอขึ้นมาคุยได้ มาเปิดดูฟุตเทจ ดูภาพดูข่าว ดูในถังข่าวว่ามันมีอะไรบ้าง อันนี้ก็จะเป็นการทำงานของที่  GMM25 ครับ ข่าวเที่ยงกับข่าวเย็นก็จะแลกเปลี่ยนกันตลอด

พอ The Standard มันเน้นการเมือง ประเด็นการเมืองเป็นประเด็นที่หนัก และเป็นประเด็นที่เจาะ เพราะงั้น The Standard NOW ถือว่าหนักสุดใน 1 วันสำหรับผมนะ คือมันเป็นช่วงที่อาจจะชิวสุดก็จริง คือมันจัดออนไลน์จัดที่บ้านและจัดคนเดียว อยากพูดอะไรก็พูด อยากทำไรก็ทำ มันไม่ใช่งานหน้าจอ แต่กลายเป็นว่าภาระด้านเนื้อหา มันค่อนข้างที่จะหนักสุด เพราะว่าเราต้องเลี้ยงรายการคนเดียว 1 ชั่วโมง และบางทีเรามีแขกด้วย และแขกก็แต่ละคนก็มีทั้งนักการเมือง นักวิชาการ อาจารย์ หรือคนที่อยู่ในสังคม คนที่อยู่ในข่าว ซึ่งมันค่อนข้างที่จะโหดมากๆ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เหนื่อยเหมือนกันคือว่าเราไม่มีเวลาที่จะมาโฟกัสมันได้ 100 เปอร์เซนต์ คือไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดีนะครับ บางคนอาจจะดีก็ได้อย่างเช่น พี่จอมขวัญ (หลาวเพ็ชร) เขาทำรายการถามตรงๆ เขาทำรายการเดียว 1 วัน ก่อนหน้านั้นเขาก็ทำการบ้าน หาข้อมูลเกี่ยวกับที่เขาจะสัมภาษณ์ตอนเย็น แต่เราไม่ได้ เราคือทุกวันนี้ติดโทรศัพท์มาก คือไม่ได้เล่นเกมหรือไม่ได้ทำอะไร เช็คข่าว คุยไลน์ คือทำทุกอย่างอยู่ในนี้หมด กับทีม The Standard คือคุยกันตั้งแต่เช้าจนมาถึงก่อนที่จะมาสัมภาษณ์ตอนเย็น เพราะว่าเราไม่มีเวลาที่จะมาเตรียมไงฮะ เพราะฉะนั้นเราจะคุยผ่านไลน์กันตลอด จนมาขมวดเพื่อไลฟ์ตอน 2 ทุ่ม

แต่ถามว่าปรับตัวได้มั้ย มันเริ่มอยู่ตัวแล้วดีกว่า เพราะมันทำแบบนี้ทุกวันซ้ำๆ มันก็เลยเหมือนเป็นกิจวัตรที่ถ้าวันไหนไม่มีอะ อย่างวันนี้เสร็จงานทุ่มนึง ทำอะไรดีวะ นึกออกมั้ย และบางทีมันด้วยความเคยชินว่ามันไม่มี แต่เรายังส่งเข้าไปในกลุ่มของโต๊ะข่าวว่า เฮ้ย มันมีเรื่องนี้นะเว้ย เผื่อเปลี่ยนใจจะไลฟ์มั้ย ก็ได้เหมือนกัน

ในบรรดาข่าวที่อ่านทั้งหมด ชอบข่าวประเภทไหนมากที่สุด

 ยากจัง แต่จริงๆ ชอบการเมืองนะ เพราะรู้สึกว่ามันสนุก คือแต่ก่อนอะ ส่วนตัวกับข่าวการเมือง กราฟมันเหมือนขึ้นๆลงๆ แต่เปรียบเทียบให้ดูว่า เวลาเราอ่านข่าวการเมืองสมัยก่อนอะ เรารู้สึกว่ามันสนุก เพราะมันมีอะไรให้มันติดตาม รู้ว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลัง มันไม่ใช่อย่างที่เราเห็นหรอกเพราะฉะนั้นเรารู้สึกเราอยากติดตาม เรารู้สึกว่าที่เขานั่งคุยอยู่กับเราอะมันมีอะไรมากกว่านี้แน่นอนและเราอยากรู้ว่าเขาจะตอบว่าอะไร เราอยากรู้ว่าเขาจะคุยกับเราว่าอะไร แต่ถ้าเอาจริงๆ นะ กีฬาสนุกที่สุด เพราะเราชอบกีฬาอยู่ แต่ถ้าเอาข่าวทั่วไปก็ข่าวการเมือง 

จากการอ่านข่าวถึง 5 โต๊ะพร้อมๆ กัน คุณมองเห็นภูมิทัศน์ในวงการข่าวเป็นอย่างไรบ้าง

ผมว่ามันไหลตามกันนะ คือตั้งแต่มาทำข่าว มีเข้าไปอ่านในโลกออนไลน์เยอะมากเลยนะ ที่คนแบบด่าเหมารวมว่าแบบ “สื่อไทยนี่มันไม่ได้เรื่อง” ทุกคนก็น่าจะเห็น เราเคยถามน้องที่มาสมัครงาน น้องที่มาฝึกงานว่า จะฝึกงานกับพี่ คิดยังไงที่คนเขาด่าสื่อทุกวันนี้ แล้วเราด่าด้วยรึเปล่า”เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันไหลตามกัน คือตัวเราเองเวลาเราเลือกข่าวลงเพจเนี่ย สมมติ 10 ข่าว มันจะเป็นข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเป็นคุณภาพ 10 ข่าวมั้ย ไม่ มันแบ่งกันหลักการของผมคือ ข่าวที่คนสนใจครึ่งนึง กับข่าวที่เป็นประโยชน์และคนต้องรู้อีกครึ่งนึง มันอาจจะไม่ได้ครึ่งๆ แต่ว่ามันต้องแบ่งกัน แต่ผมอ่านข่าวจริงๆ ประมาณ 2 ปีกว่า ถ้าเอาแบบเฉพาะข่าวหลักอย่างเดียวนะ ไม่รวมเฉพาะกิจ เรารู้สึกว่าประสบการณ์เราน้อยมาก ถ้าเทียบกับพี่ๆ ระดับเซียน นึกออกมั้ย เค้าอ่านมาเป็นแบบ 10-20 ปี กูจะเอาไปเทียบหรอ แล้วอีกอย่างก็คือว่า เราไม่มีประสบการณ์ภาคสนามเหมือนคนอื่น บางคนเขาไต่เต้ามาจากการเป็นผู้สื่อข่าว ขึ้นมาเป็นผู้ประกาศอะ กว่าจะได้มานั่งโต๊ะ นั่งหน้าจออะ โอ้โห สมบุกสมบัน ลุยมาไม่รู้กี่ปีไม่รู้กีที่ ซึ่งเราซูฮกและนับถือคนเหล่านี้มากๆ อะ คือเรานับถือมากเลย เพราะเรารู้สึกว่า อย่างเวลามีคนมาบอกว่า เฮ้ย คุณเป็นนักข่าว ผมบอกผมไม่ใช่นักข่าว เพราะผมไม่ได้ไปหาข่าว ผมคือคนเล่าเฉยๆ ผมฉะนั้นผมจะไม่ค่อยรับว่าผมเป็นนักข่าวเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าเราไม่ได้มีเกียรติขนาดนั้นแล้วกัน คือเราแค่คือคนเล่า นักข่าวนี่ นั่งกันเต็มไปหมดนี่ ที่เขาไปหาข่าวนี่ เราคือแค่เอาข่าวจากเขามาเล่าให้มันรู้เรื่อง ให้มันเข้าใจ

แต่ในทางปฏิบัติคนทั่วไปก็เข้าใจว่าผู้ประกาศข่าว หรือพิธีกรข่าวก็คือนักข่าวนะ ทำไมคุณถึงไม่เรียกตัวเองว่าเป็นนักข่าว

คือผมรู้สึกว่ามันเป็นเกียรติที่สูงส่งเกินไป คือเรารู้สึกว่านักข่าวเป็นอาชีพที่เราไม่รู้ใครบัญญัติเอาไว้ แต่เรารู้สึกว่า เราเหมือนข้ามขั้นอะ เรากระโดดมาจากการเป็นพิธีกร เป็นนักร้อง นักแสดง พิธีกร ดีเจ คือเราผ่านงานในวงการบันเทิงมา และจู่ๆ เราก็โผล่มาเป็น ผู้ประกาศข่าว ซึ่งที่นี่เขาไม่ใช่ผู้ประกาศข่าวด้วยซ้ำ เค้าเรียกว่าพิธีกรข่าว เพราะฉะนั้นถามเรา เราเหมือนเป็นคนที่ขึ้นโทลเวย์มาอะ เราขึ้นทางลัดมา เพราะฉะนั้นอีกใจหนึ่งเราเลยรู้สึกว่า เราต้องทำหน้าทีหรือโอกาสที่เราได้รับมอบหมายมาให้ดีที่สุด แบบดีมากๆ เพราะคนที่เขาอยากเป็นแบบเรา มันเยอะมากเลยนะ น้องนักข่าวแบบไปทุกสมรภูมิมา อยากจะมานั่งอยู่หน้าจอ ยังไม่ได้นั่งสักที และเราเป็นใครวะ อายุก็ไม่เท่าไหร่ จู่ๆ แซงมานั่งอ่านข่าวอยู่ตั้งกี่ช่วง เราก็เลยเป็นเหมือนกับ สิ่งที่เราเตือนใจตัวเองอยู่เสมอ เห้ยโอกาสแบบนี้มันไม่ได้ง่ายนะ เราต้องทำให้มันดีที่สุด พัฒนาตัวเองให้มันดีต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ว่า ได้อ่านเยอะและก็หยุดอยู่เท่านี้อะ มันคงไม่ใช่ 

คุณมีวิธีพัฒนาตัวเองจากการนั่งอ่านข่าวร่วมกับผู้ประกาศข่าว หรือพิธีกรข่าวรุ่นพี่ยังไงบ้าง

ในบรรดาทุกคนที่เราอ่านมาด้วยทั้งหมดอะ เราประสบการณ์น้อยที่สุด เพราะงั้นเราพยายามสังเกตละกัน เราเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากันและกัน คือผมเป็นคนที่เปลี่ยนคู่อ่านมาเยอะมาก ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ดวงผมมันกินคน (หัวเราะ) คือเปลี่ยนคู่อ่านแบบเยอะมาก พอรู้สึกว่าบางทีเคมีมันกำลังได้แต่ก็ต้องเปลี่ยนอีกแล้ว อันนี้ก็ตอบยากเหมือนกัน แต่ว่าสิ่งที่พยายามเรียนรู้ก็คือว่า เราก็พยายามสังเกตคนที่เค้าอ่านๆ มาเป็น 10 ปีเนี่ย เขามีแง่มุมไหน เขาทำยังไง เขาพูดยังไง ยกตัวอย่าง พี่กฤต (เจนพานิชการ) พี่กฤตเป็นคนที่ขยันมาก ทำการบ้านหนักมาก อันนี้แบบอยากเชิดชูมาก เค้าเลยมีมุมแบบที่เค้าลงพื้นที่ข่าวมาแล้ว ขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาแล้ว ภาคสนามมาแล้ว หน้าจอก็อ่านมาแล้ว อยู่ตั้งหลายช่อง itv ช่อง 11 ช่อง 3 จนมา GMM25 คือบางทีเค้ารับข่าว เราก็แบบ เออว่ะ เราไม่คิดแบบเค้าเลย หรือว่าเราไม่มีแบบนี้เลย มุมแบบนี้เลย หรือพี่ลิซ่า (อาลิซาเบธ แซ๊ดเลอร์ ลีนานุไชย) ก็เหมือนกัน พี่ลิซ่าก็อยู่มาแทบจะทุกช่องแล้ว ก็เออว่ะ เค้ามีมุมนี้ด้วยหรอ มันแบบนี้ก็ได้เหมือนกัน หรือพี่แอน (ทวีรัตน์ จิรดิลก) พี่แอนก็จะเป็นมุมที่เป็นมุมบวกอะ เราอาจจะมองเรื่องนี้ในมุมลบมากๆ แต่พี่แอนก็เปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็นมุมบวกได้ แต่ละคนมันก็มีอะไรที่ต่างกัน แล้วรู้สึกว่า ในมุมนึงของการได้เปลี่ยนคนเปลี่ยนคู่อ่านก็สนุกดีเหมือนกัน ว่าอ่อมันก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ นะครับ 

การนั่งอ่านข่าวที่ช่องวัน 31 ในครั้งนี้ ยากขึ้นหรือง่ายขึ้นยังไงบ้าง

จริงๆแล้ว ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมเท่าไหร่ สิ่งที่เปลี่ยนไปเยอะเลยก็คือ ทีมใหญ่ขึ้นเยอะ เพราะว่าข่าวของช่องวันเองก็กำลังจะกลายเป็นสำนักข่าวเนาะ เชื่อว่าพี่ๆหลายท่านก็น่าจะให้สัมภาษณ์ ไปแล้วว่ากำลังจะกลายเป็นสำนักข่าวแบบจริงๆจังๆ คือสำนักข่าววันนิวส์ ถามเรา เราก็รู้สึกว่ามันก็เป็นความท้าทายอย่างนึง ที่เราเป็นตัวเล็กๆ ตัวที่อยู่ในกระบวนการที่เขากำลังเทิร์นตัวเองไปสู่จุดนั้น เราก็พยายามช่วยทีมให้มากที่สุดแหละ ในส่วนของเรา แต่ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก น้องๆ บางคนก็ยังอยู่เหมือนเดิม บากคนก็หน้าใหม่ไม่รู้จักชื่อเลย ทีมเยอะมากเลย

คุณนำประสบการณ์จากบทบาทก่อนๆ ในวงการบันเทิง เช่น ดีเจ พิธีกรข่าวบันเทิง มาปรับใช้กับการนั่งอ่านข่าวหลักยังไงบ้าง

โห เยอะ อย่างแรกเลย สมมติถ้าอย่างตอนเป็นดีเจของ Virgin Star (ปัจจุบันคือ Star FM) ตอนนั้นดีเจมันมีเวลาพูดเปิดไมค์น้อย 30 วินาที ไม่เกิน 1 นาที ต้องพูดให้จบ แล้ว 1 ชั่วโมง มันมีช่วงพูดแค่ 4 ครั้งอะ เท่ากับว่าสมมติคุณเปิดไมค์ครั้งนึงมันสำคัญมากเลยนะ ห้ามพูดผิด อยากพูดอะไรต้องได้พูด ต้องฟังรู้เรื่อง ต้องไม่เร็ว ไม่รัว หรือ ช้าเกินไปอะไร แล้วสิ่งที่เราได้ก็คือมันทำให้เราเป็นคนที่คุมเวลาได้ อยากได้เร็ว บอก เดี๋ยวทำให้ อยากช้าเหรอ ได้เหมือนกัน มันเลยทำให้เราช่วยโปรดิวเซอร์ส่วนนึงอะ เพราะเขาต้องคุมเวลาใช่มั้ย เวลาทำรายการ เราก็จะคอยสังเกตเวลาไปด้วยว่า อ๋อ มันจะล้นแล้ว อ๋อ มันช้าไปรึเปล่า หรือเวลาเหลือนะ ทำอะไรเพิ่มมั้ย อันนี้มันก็จะได้มาจากดีเจที่เวลามันค่อนข้าง Fix อย่างนี้อะ หรืองานพิธีกรข่าวบันเทิง ผมว่ามันทำให้เราเป็นคนกวนตีนนิดนึง (หัวเราะ) คือผู้ประกาศข่าวทั่วไปบางทีเขาก็จะมีความเนี๊ยบ ความเป๊ะอะไรของเขาอะ แต่ด้วยความที่เราทำบันเทิงมา ที่มันต้อง Entertain คน หรือทำพิธีกรมาที่มันต้องสนุก ทำให้เรามีความกวนตีoนิดนึงอะ ในการเล่าข่าวบางข่าวหรือมี Emotional กับข่าว อันนี้ผมว่ามันมันน่าจะช่วยนะ

มีใครเป็นต้นแบบในการอ่านข่าวมั้ย

โห จริงๆ ไม่มีนะ แต่ว่าอาศัยอย่างการเอาเอกลักษณ์ของหลายๆ คนมาประกอบกัน เราดูพี่สรยุทธ (สุทัศนจินดา) เล่า พี่ยุทธเล่ายังไง เราดูพี่หนุ่ม (กรรชัย กำเนิดพลอย)​ สัมภาษณ์ พี่หนุ่มสัมภาษณ์ยังไง ทำไมเขาถึงกล้าพูด กล้าถาม เป็นเราเราจะกล้าถามมั้ยวะ โอเค เราอาจจะไม่กล้าถามเท่ากับเขา เราจะมีวิธีถามยังไงให้ใกล้เคียงกับคำถามนั้น เราอาจจะไม่ดี ไม่อาวุโส ไม่ได้แกร่งกล้า เราจะไม่ถามแบบนั้นเราคงโดนตีกบาลอะ (หัวเราะ) เราไปอุ๊ยๆ ใส่เขา กวนตีนเนี่ยนึกออกปะะ มันก็ไม่ได้อะ เราก็จะหยิบจับของแต่ละคนมาประกอบกัน

ถ้าให้นิยามตัวเอง ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ เป็นพิธีกรข่าวหรือผู้ประกาศข่าวแบบไหน

โห ยากจัง แบบไหนเหรอ ยังไม่รู้เลยนะทุกวันนี้มันมีแบบไหนบ้าง (หัวเราะ) อันนี้อาจจะให้คนอื่นมาตอบแทน คือสิ่งนึงที่ผมตอบอันนี้ยากมากเพราะเรารู้สึกว่า เราทำมาไม่นาน เราทำมาประมาณ 2 ปี ไม่เกิน 3 ปีเรารู้สึกว่า คนอื่นที่เขากว่าจะมีลายเซ็นอะ พี่ยุทธ หรือแม้กระทั่ง พี่นิปปอน (นวนันท์ บำรุงพฤกษ์) พี่จั๊ด (ธีมะ กาญจนไพริน) คือกว่าเขาจะมีลายเซ็นอะ เขาอ่านมาตั้งกี่ปีใช่มั้ยฮะ แล้วเราเพิ่งอ่านมาแค่เนี๊ยะ ประสบการณ์ก็เสี้ยวของเสี้ยงของเขาอะ เราไม่กล้าบอกหรอกว่าเราเป็นแบบไหน เพราะเรารู้สึกว่าเราก็คงเป็นมาตรฐานทั่วไปแบบที่ดูไปแล้วไม่เสียหาย เป็นอย่างนี้แล้วกัน แต่ถามว่ามันจะดึงดูให้คนกดมาแล้วจ้องเรามั้ย อันนี้คงต้องอยู่ที่ประชาชนและคุณผู้ชมแล้วล่ะว่าเขาฟีดแบคกับเรายังไง แต่ ณ วันนี้เราไม่กล้าพูดขนาดนั้น ไม่กล้าเคลมตัวเอง

ถ้าวันนี้คุณไม่ได้นั่งอ่านข่าว คิดว่าตัวเองจะทำอะไรอยู่

เล่นเกม (หัวเราะ)  ไม่ๆ เอาจริงมั้ย แต่ก่อนอยากเป็นนักฟุตบอล อยากเตะบอล แต่ว่ามันไม่เอื้ออำนวยหลายๆ อย่างเนาะ แต่ถ้าถามนะ สมมติถ้าไม่ได้นั่งอ่านข่าว อาจจะไปเป็นโค้ชฟุตบอล เคยคิดว่าจะไปแบบ สมัครเป็นโค้ชเลย เป็นนักฟุตบอลไม่ได้ก็เป็นโค้ชละกัน หรือแบบ อยากเป็นนักพากย์ ไปในทางนั้น หรือก็เป็นนักร้องเหมือนเดิมก็ได้ ก็ยังชอบอยู่ 

เรียนรู้อะไรจากชีวิตในวัย 34 ปี

โอ้ กว้างจัง เรียนรู้อะไรอะ เรียนรู้ว่าต้องมีสติเยอะๆ ทำอะไรต้องมีสติ ต้องคิดเยอะๆ คือจริงๆเป็นคนคิดเยอะอยู่แล้วนะ แต่ว่าพอมาทำงานด้านข่าวมันก็ต้องยิ่งคิดเยอะเข้าไปใหญ่ คิดเยอะ คิดแทน อย่าคิดถึงแค่ตัวเรา เพราะถ้าคิดแค่นั้นปุ๊บจบเลย เพราะว่าที่เราทำมันมีผลต่อคนเยอะ แค่เอาแค่ตัวเราเป็นที่ตั้ง มันไม่ได้ เพราะงั้นในตอนนี้ ช่วงชีวิตนี้มันต้องคิดให้ดี รอบครอบ ต้องมีสติเยอะๆ

ถ้าให้สรุปชีวิตการทำงานข่าวเป็นบทเรียนได้ 1 ข้อ การเป็นผู้ประกาศข่าวสอนให้รู้ว่า?

วินัยสำคัญที่สุด

เราเป็นคนที่ไม่ค่อยมีวินัยในตัวเองสักเท่าไหร่ ถ้าไม่มีอะไรมาบีบ ผมว่าเด็กไทยเป็นทุกคน เรามีตารางเรียน เรามีตารางสอน เรามีพ่อ มีแม่ ผู้ปกครอง ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชว่า เฮ้ย ทำสิ ไปเรียนสิ ตื่น กินข้าว และมันก็จะเคยชินกับวิถีแบบนั้นมาจนโต แล้วพอไปเรียนธรรมศาสตร์ โอ๊ย อยู่หออีก บันเทิงเข้าไปใหญ่ วินัยก็ไม่ค่อยมี แต่พออายุเท่านี้แล้วมันไม่ได้ไง หน้าที่ความรับผิดชอบมันเยอะ มันไม่ใช่แค่ตัวเองด้วย  ไหนจะที่บ้าน ไหนจะทีมงาน ทั้งของตัวเองทั้งของแต่ละที่ที่เราไปทำงานกับเขา ถ้าเราไม่มีวินัยนี่ตายเลย ตายแบบตายสนิท สมมติตื่นเช้าไปอ่านข่าวไม่ทัน ทำไงอะ จบเลยเขาเสียหาย เข้ารายการไม่ทันทำไง จบเลยใช่มั้ยครับ หรือไปสัมภาษณ์แขกแล้วถามอะไรโง่ๆ ออกไปอะ ถามแบบไม่ทำการบ้าน ก็เสร็จเลยเหมือนกัน ทั้งหมดทั้งมวลก็สามารถสรุปอยู่ใน 1 คำแค่ “วินัย” ที่ว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่สุด ไม่ใช่แค่การทำงานข่าวอย่างเดียวนะ ผมว่าทุกอาชีพหรือว่าทุกช่วงอายุอะ คือคนเราต้องมีวินัย อาจจะด้วยตัวเองหรืออาจจะด้วยอะไรบีบบังคับก็ไม่อาจทราบได้ แล้วแต่คนอันนี้

สัมภาษณ์วันที่ 18 เมษายน 2565

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า