fbpx

ก้าวใหม่ที่สถานีอโศก และจุดเริ่มต้นใหม่ครั้งสำคัญของ นิปปอน-นวนันท์ ที่ช่องวัน 31

หากจะพูดถึงอาชีพผู้ประกาศข่าว หลายคนคงอยากที่จะเป็น แต่น้อยคนนักที่จะได้เป็น เอาเป็นว่าแค่หาตำแหน่งสมัครงานว่าขอเป็นผู้ประกาศข่าวในยุคนี้ยังเป็นเรื่องยากไปด้วยซ้ำ เพราะการเป็นผู้ประกาศข่าวต้องวัดศักยภาพที่หลากหลายอย่าง ในวงการข่าวเราจึงได้เห็นคนที่เริ่มต้นสายงานผู้ประกาศข่าวจากการลงพื้นที่ทำข่าวก่อนเสมอๆ

นิปปอน-นวนันท์ บำรุงพฤกษ์ คือหนึ่งในคนข่าวที่เริ่มต้นจากสายงานนักข่าวบันเทิง เธอเติบโตไปสู่สายงานนักจัดรายการวิทยุ และควบตำแหน่งผู้ประกาศข่าว ซึ่งทั้งสองที่ทำงานเป็นที่ทำงานที่เธอทั้งรักและดีใจที่ได้ร่วมงานอยู่เสมอๆ ถึงแม้ว่าคนภายนอกจะมองว่าเขาคือคู่แข่งกันก็ตาม จนเธอตัดสินใจมาอ่านข่าวเที่ยงที่ช่องวัน 31 อะไรที่เป็นการตัดสินใจของเธอ ซึ่งเธอบอกกับเราเองว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากมากที่สุดครั้งหนึ่ง รวมไปถึงเราจะพาทุกคนมาร่วมเรียนรู้เรื่องราวของเธอที่เปรียบเสมือนได้เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส 3 สถานีหลัก คือ “พร้อมพงษ์ – หมอชิต – พร้อมพงษ์ – อโศก” เส้นทางนี้มีอะไรให้เรียนรู้ถึงเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นวันนี้กันบ้าง?

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

เลือกที่จะเรียนและฝึกงานเพราะชอบและสนุก

“พี่เป็นคนชอบด้านภาษา แล้วชอบมาตั้งแต่เด็ก เราไม่เก่งเลข มีปัญหาด้านคณิตศาสตร์มาก (หัวเราะ) แล้วก็รู้สึกว่านิเทศศาสตร์มันสนุก มันดูหลากหลาย มันมีการสื่อสาร เราก็เลยเลือกนิเทศศาสตร์น่าจะเหมาะกับความชอบของเรามากที่สุด แล้วเราก็เลยเรียนในเอกการโฆษณาด้วย ซึ่งตอนฝึกงานเราเลือกฝึกที่ Ogilvy Bangkok ตอนนั้นได้ดูลูกค้าคือ Pepsi ด้วยนะ เราเริ่มฝึกพร้อมกับน้องแนน-ชลิตา เฟื่องอารมณ์ แล้วคือน้องแนนเขาสวยอะ แนนเค้าได้ดูแลลูกค้า POND’S แล้วเข้ากันเลย ของเราเป็นสายซ่า สายลุย เลยได้ Pepsi แต่ก็ได้ประสบกาณ์เยอะเหมือนกันเลยนะคะ ได้เห็นการทำงานของเอเจนซี่ที่เขาเป็นสากล แบบมีขั้นมีตอนชัดเจน เราก็เลยได้เห็นการทำงานแบบมืออาชีพ ก็ถือว่าเป็นหนึ่งโอกาสในชีวิตได้ฝึกงานสั้นๆ ค่ะ”

จุดเริ่มต้น ณ บ้านพระราม 4

“ตอนนั้นเราเรียนจบนิเทศเอกการโฆษณา อยากทำงานด้านการโฆษณา แต่ว่าจังหวะปีที่จบมามันเป็นปีที่มีปัญหาเรื่องของวิกฤตต้มยำกุ้ง เอเจนซี่ก็เป็นรายแรกๆ ที่เขาต้องลดพนักงาน เราก็ต้องหันเหว่าจะไปทางไหนดี ตอนนั้นก็ลองทุกอย่างเลย มีงานที่ไหนก็สมัครหมด แล้วพอเพื่อนแนะนำว่ามีรับสมัครนักข่าว อยากลองไหม? เราก็คิดว่าพอได้ เพราะอยู่ในแวดวงนิเทศศาสตร์เหมือนกัน ถึงเราจะไม่ได้เอกตรงก็ตาม แล้วช่วงแรกเราไปสมัครงานทุกที่ สถานีโทรทัศน์ไอทีวีก็ไปกรอกใบสมัคร แต่ว่าเขาไม่เรียก เราก็เลยไปสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 แล้วตอนนั้นเขาไม่ได้เปิดรับผู้ประกาศข่าว มันไม่มีหรอก”

“แต่พี่ก็ได้ตำแหน่งนักข่าวบันเทิงมา ก็ต้องวิ่งทำข่าว เช่น ไปกองละคร ไปสัมภาษณ์ถือไมค์ แต่ก็บบังเอิญเป็นจังหวะที่หม่อมปุ้ม (หม่อมหลวงสุรีย์วัล สุริยง) จะเดินทางไปศึกษาต่อเมืองนอก ทำให้ตำแหน่งพิธีกรรายการสีสันบันเทิงก็ว่าง พี่ๆ ก็คงเห็นว่าเราวิ่งข่าวได้อยู่แล้ว รู้เรื่องเขียนข่าว ตัดต่อ ทำทุกอย่างได้หมด เลยจับมาอ่านข่าวด้วยแล้วกัน ก็เลยได้ทดสอบอ่านข่าวบันเทิงก่อน ซึ่งรายการมันเป็นเทปไม่ใช่รายการสด นั่นก็คืองานแรกที่อยู่หน้าจอทีวี ทำไประยะหนึ่งก็รู้สึกว่าการเป็นนักข่าวแบบใช้เวลาเยอะมากเลย ก็เลยเริ่มหันไปหาอย่างอื่นทำด้วย ก็คือจัดวิทยุของช่อง 3 (EASY FM 105.5 MHz ของไทยทีวีสีช่อง 3 อ.ส.ม.ท. ในขณะนั้น) จัดรายการช่วง 22:00-24:00 น. เราก็ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทีนี้ฝั่งวิทยุเขาก็ชวนให้เรามาทำเต็มเวลาเถอะ จัดดีจังเลย ประกอบกับตอนนั้นก็เริ่มเบื่อกับการเป็นนักข่าว ก็เลยตัดสินใจว่าจะลาออกดีไหม เขาก็บอกว่าไม่ต้องออกหรอก เพราะว่าเป็นช่อง 3 ด้วยกัน ก็เลยย้ายเฉย ๆ จากแผนกข่าวบันเทิง มาจัดรายการวิทยุเต็มตัว”

สีสันบันเทิง ท้าทายแต่ทำได้ทุกอย่าง

“ความท้าทายตอนทำสีสันบันเทิงของเราก็คือว่าเราเองก็ไม่ใช่คนที่ติดตามบันเทิงมาก เราใหม่มากจริงๆ นะ ตอนที่สมัครต้องยอมรับเลยว่าก็ลองดู แต่เราไม่ได้เป็นคอบันเทิงขนาดนั้น ดาราบางคนเรายังไม่รู้จักเลย มันเป็นความท้ายทายที่เราต้องเรียนรู้ แต่ว่าที่ท้าทายมากที่สุดในสมัยนั้นของการเป็นนักข่าวก็คือคุณต้องทำได้ครบทุกอย่างเลย คุณต้องได้ตั้งแต่เขียนรายงานข่าว ออกไปสัมภาษณ์และตัดต่อด้วย ผลิตเป็นชิ้นงานตัวเองจนเสร็จพร้อมออกอากาศ สมัยนี้ก็จะยังดีว่ามันมีการแยกกันเนอะ แล้วก็อาจจะมีเครื่องมือที่ช่วยได้มากขึ้นนะคะ บทบาทมันก็จะถูกแบบมีการสนับสนุนกันมากขึ้น อย่างคุณทำมาตัดต่อก็อาจจะแยกการทำงานไปเลย แต่ของเราสมัยก่อน เราต้องทำทุกอย่างแม้กระทั่งไมโครโฟนยังอยู่ในความครอบครองของเรา และเทปเบต้าเรายังต้องดูแลมันเอง มันก็จะแตกต่างกันหน่อย”

อยากจัดรายการวิทยุ เพราะชอบฟังเพลง

“ตอนนั้นเวลาเราทำงานที่สีสันบันเทิง มันจะมีหมวดของการตัดต่อด้วยที่พี่ต้องทำ เช่น งานแถลงข่าว ข่าวแฟชั่นโชว์ เราก็จะต้องเลือกเพลงมาใส่ สมัยนั้นต้องทำเอง พี่ก็จะเดินไปขอเพลงที่สถานีเขา ก็เป็นที่มาเลยแบบคุยกันทาบทาม”

“ถ้าปัจจุบันให้เลือกคลื่นในตึก (แกรมมี่) แล้วจะเลือก Greenwave 106.5 FM คือจริงๆ พี่เป็นคนชอบฟังคลื่น Greenwave 106.5 FM รองลงมานะ เพราะว่ามันรู้สึกมันสมชื่อเขานะ จริงๆ แล้วการตั้งชื่อคลื่นสำคัญมาก มันเป็นตัวตนที่ชัดเจนเลยว่าคุณฟังคลื่นนี้แล้วจะรู้สึกมันผ่อนคลาย มันให้อะไรที่แบบสบายๆ ก็น่าจะเป็นคลื่นที่อันดับ 2 แหละในสมัยนั้นที่ชอบ คลื่นเพลงสากลเป็นอันดับ 1 เพราะเราฟังเพลงสากลเยอะ ส่วนGreenwave 106.5 FM ก็จะเป็นเพลงไทยที่แบบฟังสบายๆ”

ในวันที่บ้านหมอชิตติดต่อมา

“ตอนที่เราลาออกมาจัดวิทยุก็ทำได้แค่ 1 เดือน คือหมดจากหน้าจอ ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ก็ถามว่าเราลาออกเลยเหรอ เราก็บอกว่ายังทำงานในช่อง 3 อยู่ แต่เราทำวิทยุ แล้วเขาก็เลยติดต่อมาว่าคุณแดง (สุรางค์ เปรมปรีดิ์) อยากให้ลองทดสอบหน้ากล้องในการอ่านข่าว ก็เลย ได้เข้าไปมีโอกาสทดสอบหน้ากล้อง แต่ว่าตอนนั้นเราก็ไปพร้อมแบบความมุ่งมั่นเลยนะว่าเราจะไม่อ่านข่าวบันเทิง เราจะต้องอ่านข่าวหลัก เพราะรู้สึกว่าเราลองแล้ว ถ้าเราได้ทำอะไรสักอย่าง เราควรจะได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ถ้าจะให้เราอ่านข่าวเราก็อยากอ่านข่าวหลัก อ่านข่าวทั่วไป เพราะว่ามันเป็นอีกก้าวหนึ่งที่เราอยากโตขึ้น ตอนนั้นก็เลยได้รับโอกาสมา แล้วก็ตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ช่อง 7 ก็คือรับเป็น Freelance นะคะ แต่เป็นพนักงานของช่อง 3”

“ซึ่งตอนที่จะไปเป็นผู้ประกาศข่าวที่ช่อง 7 เราก็ได้แจ้งผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายแล้วนะคะ ได้รับความเมตตาจากทั้งสองฝ่ายว่าโอเค คืองานของเรามันไม่ได้ก้าวก่ายกัน ก็รักษากฎกติกาให้อยู่ในร่องในรอย เราก็เลยได้ทำมายาวนานเลยค่ะ”

เพราะชอบภาษา จึงได้ทำข่าวต่างประเทศด้วย

“คือจริงๆ แล้วเราเป็นคนที่อาจจะได้โอกาสตรงนี้ แล้วก็ได้เปรียบนิดนึง เพราะตอนเราเด็ก ๆ เราได้เรียนที่ต่างประเทศมา แล้วก็เลยได้เรื่องของภาษา พอมาได้ภาษาอังกฤษก็เอามาใช้ในการทำงานด้วย เช่น  พอทำข่าวบันเทิงแล้วมีศิลปินที่มาจากเมืองนอกก็จะเป็นพี่ไปรับที่สนามบินดอนเมือง เราก็ไปเจอแฟนคลับ แล้วก็กลายเป็นเราเสมอที่สัมภาษณ์เขาเป็นภาษาอังกฤษ ทีนี้พอมาอยู่ข่าวภาคปกติ ภาษาตรงนี้มันก็กลับมามีประโยชน์ใหม่อีก เราก็จะกลายเป็นคนที่แปลข่าวหรือบางทีก็ติดตามข่าวต่างประเทศ ซึ่งเราก็ดูจากสำนักข่าวต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้นมันก็ซึมเข้ามาโดยความชอบเราไปเอง มันก็เลยกลายเป็นตัวตนของเราเหมือนกันว่าเราชอบข่าวต่างประเทศ ก็เลยกลายเป็นว่าเราที่สามารถจะสื่อสารให้คนอื่นเขาเข้าใจได้ง่าย เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วข่าวต่างประเทศบ้านเราก็มาเป็นรูปแบบข่าวแปล แล้วมันจะเป็นคำยากๆ นะ พอฟังหรืออ่านแล้วยังไม่เข้าใจเลย เพราะมันมีความยากในตัวด้วย แล้วเราก็ท้าทายไปเลยว่าเราอยากทำให้ทุกคนเข้าใจข่าวต่างประเทศเหมือนตอนดูหนัง”

สอบใบผู้ประกาศข่าว ความยากที่ทวีคูณในหมู่ผู้ประกาศข่าวหน้าใหม่

“เขาก็จะให้เราไปสอบที่กรมประชาสัมพันธ์ตอนนั้นค่ะ แล้วก็จะมีแบบฝึกหัดให้ แต่ว่าก่อนที่เราจะไปสอบ ก็จะมีเหมือนคล้ายๆ อาจารย์ท่านหนึ่งที่จะมาติว มาฟังเราก่อน แล้วก็จะให้คำแนะนำ แล้วก็จะมีเทคนิคที่ที่เขาสอนให้เรา เราก็เอากลับไปฝึกไปปฏิบัติ จนกระทั่งสุดท้ายมาถึงวันที่สอบก็ตื่นเต้นมาก เขาให้เวลาเราซ้อมข้างหน้าแต่เราก็ตื่นเต้นไปหมด เพราะมันไม่ใช่มีแค่เราคนเดียว มันเรียงกันประมาณ 10 คน แล้วทุกคนก็ซ้อมกันใหญ่เลย จนกระทั่งถึงช่วงที่เข้าไปข้างในห้องสอบก็จะมีแค่เราคนเดียวแล้วไม่มีใครเลย มีแค่เราอยู่คนเดียวกับเครื่องอัดกับไมโครโฟนไร ก็ลุ้นมากเพราะว่าสมัยก่อนคะแนนมันจะต้องถึง 50 คะแนนขึ้นไปถึงจะผ่านในการสอบผู้ประกาศข่าว สุดท้ายเขาก็ส่งผลมา เราได้ 58 คะแนน แล้วก็จะมีอ่านหลายพาร์ทค่ะ มีอ่านข่าวในพระราชสำนักก่อน แล้วก็จะมีอ่านกลอน แล้วก็เป็นบทความ มี 3 ช่วง”

“ตอนที่เข้าไปทำงานแล้วคุณแดงก็มีการตรวจสอบเรา มีอยู่วันหนึ่งท่านก็ให้คนมาเรียกให้มาหาที่ห้องนั่งฝั่งตรงข้ามแล้วก็โยนเอกสารพวกแฟกซ์มาให้อ่านไป แล้วท่านก็นั่งเซ็นหนังสือไป ก็อ่านไปตื่นเต้นไป แล้วคุณแดงก็จะคอยให้คำแนะนำเราทีละคำเลย เขาเป็นคนละเอียดมากจริงๆ นะคะ แล้วก็สอนเราในหลายๆ เรื่อง เช่น ร เรือไม่ต้องชัดทุกคำเพราะมันน่ารำคาญมาก หรือการใช้เสียงของการอ่านที่ชัดเจนแล้วไม่น่ารำคาญ เป็นต้น เพราะคุณแดงบอกสำคัญมากก็คือบางคนเขาไม่ได้ดูทีวีอย่างเดียว เขาฟังเอามันก็มี เพราะฉะนั้นก็ต้องได้ทั้งภาพแล้วก็เสียงค่ะ”

ก้าวแรกสู่ “ข่าวภาคค่ำช่อง 7 สี” และการเป็นผู้ประกาศข่าว

“ตอนแรกที่ได้ข่าวว่าจะได้อ่านข่าวภาคค่ำช่อง 7 สีก็คือเหงื่อเต็มโต๊ะเลย เราอ่านครั้งแรกอ่านกับคุณพี่พิศณุ นิลกลัด ตื่นเต้นมาก แต่กลับกลายเป็นว่าพอเรามาได้อ่านจริงๆ พี่เขาใจดีจังเลย เขาช่วยทำให้เราหายตื่นเต้น”

“การเป็นผู้ประกาศข่าวพี่คิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดจะเป็นเรื่องสติและสมาธิ ไม่ว่าจะอยู่ข้างในสตูดิโอหรือจะอยู่ข้างนอกก็ล้วนยากทั้งสิ้น เพราะว่าข่าวมันมีความเปลี่ยนแปลง สถานการณ์เฉพาะหน้าเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้นต่อให้คุณเก๋าแค่ไหน ถ้าสมาธิคุณไม่ดีหรือสติคุณไม่ดีคุณก็หลุดไปได้ทันทีเลยนะ พี่ว่าสำคัญที่สุดในการเป็นผู้ประกาศข่าว เนื่องจากเราจะต้องฟังทั้งหูฟังก็คือห้อง Control ที่พูดกับเรา ซึ่งส่วนนี้จะอยู่ในสตูดิโอแล้วก็ต้องเข้าใจเขา ในขณะที่อันนี้ก็ต้องอ่านและมีเสียงมากมายอยู่ในห้องนั้นที่เขาอาจจะสั่งงานกันเองไม่ได้เกี่ยวกับเรา เราต้องแยกออกให้หมดเลยนะ”

“อีกสิ่งที่สำคัญมากๆ เลยก็คือข้อมูลที่เราต้องอ่านเอาไว้เพิ่มเติม เช่น ตอนที่ทำเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา พี่แบบอุทิศห้องนอนเลยนะ แบ่งเป็นหมวดๆ ก็อ่านแล้วค่อยๆ จดเล็กๆ เป็นเรื่องๆ แล้วก็ทำเป็นแผ่นๆ มันก็จะช่วยได้มาก เรารู้สึกว่าถ้าเขียนแล้วมันก็จะเข้าหัว ก็จะเสียเวลาหน่อย แต่ว่าพอถึงเวลาอ่านข่าวมันจะจำในส่วนที่เราอ่านมาให้เพิ่มเติมด้วย”

ความภูมิใจที่ไม่มีวันลืมในชีวิตของนักข่าว

“ตอนที่เราประทับใจที่สุดคือหลังเหตุการณ์สึนามิ แล้วบิล คลินตัน ตอนนั้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เขาก็เดินทางมาประเทศไทย ทางช่อง 7 สีก็ส่งพี่ลงไปในพื้นที่ตามติดและรายงานสดเข้ามาที่สถานี ซึ่งตอนนั้นทางสหรัฐอเมริกาเขาค่อนข้างเข้มงวด และห้ามสัมภาษณ์โดยเด็ดขาด เขาจะไม่ตอบอะไรเลยทั้งสิ้น ทำได้แค่เดินตาม แล้วก็มีที่กั้นและทีมรักษาความปลอดภัยแบบเต็มไปหมดเลย”

“แล้วบังเอิญเป็นจังหวะที่เขาเดินแบบผ่านมา พี่ก็ดันตะโกนออกไปเลยแบบ “Excellency!” แล้วตะโกนต่อว่าช่วยพูดให้กำลังใจหน่อย ทันใดนั้นทีมรักษาความปลอดภัยไม่รู้มาจากไหนเยอะมากเลยนะ พุ่งมาดันเราออกไปเลย แต่ตัวบิล คลินตัน เดินมาห้ามแบบว่าไม่เป็นไรๆ แล้วเขาก็แค่ถามว่าอยากรู้อะไร เราก็ภูมิใจมากที่เป็นช่องเดียวที่ได้สัมภาษณ์ แล้วเขาก็ตอบเราอย่างดี แต่หลังจากนั้นเขาก็ถามว่าเราภาษาอังกฤษดี ไปเรียนมาจากไหนมา เราก็บอกไปว่าครูฉันเป็นชาวอเมริกัน บิล คลินตันก็เลยให้พี่เดินขนาบข้างไปด้วยแล้วก็ช่วยให้แปลหน่อยซิ เราก็เลยรู้สึกภูมิใจที่เราตัดสินใจตะโกนออกไป มันเลยรู้สึกว่าจิตวิญญาณการเป็นนักข่าว มันทำให้เรื่องดีๆ เกิดขึ้นได้เสมอ”

ในวันที่กลับมาบ้านพระราม 4 อีกครั้ง

“ที่ตัดสินใจกลับมาช่อง 3 อีกครั้ง คือตอนนั้นทีวีดิจิตอลกำลังจะมา เราก็เลยกลับมา มันก็เหมือนจริงๆ เราก็อยู่ช่อง 3 อยู่แล้ว ซึ่งพี่ที่ฝ่ายข่าวของช่อง 3 เขาก็บอกว่าทำไมไม่บอกว่าอยากอ่านข่าว เราก็เลยรู้สึกเกรงใจ อยู่ ๆ จะไปขอเขา เขาก็เลยถามว่ากลับมาไหม ถ้ากลับมาก็เหมือนอยู่ที่เดียวไปเลย ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจกลับมาอีกครั้งนึง แล้วก็ประกอบกับช่วงจังหวะพอดีที่ทีวีดิจิตอลกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ เราก็เลยสนใจเพราะมันเป็นอะไรที่ใหม่ แล้วมันก็ท้าทาย ทำให้เรามีไฟกลับมา  พี่ก็กลับมาทำที่ช่อง 3SD ซึ่งจากคนที่เขาไม่ดูอะไรเท่าไหร่ ปกติทีวีดิจิตอลคนจะดูแต่แบบรายการบันเทิงและรีรันละครเก่า พอเราทำรายการข่าวก็ทำให้เรตติ้งข่าวมานะ ตอนนั้นทำรายการเที่ยงเปิดประเด็นกับพี่แฟรงค์ (ชัยรัตน์ ถมยา) ก็ไปไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ในขณะนั้น ก็เลยทำกับน้องแอน (กมลวรรณ ตรีพงศ์)

“หลังจากนั้นพอปิดสองช่องไป ทีนี้เราก็ได้มาทำเรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์ อย่างกับสมรภูมิเพราะมันยากจริงๆ เนื่องจากแต่ละรายการนั้น ตัวตนก็จะไม่เหมือนกัน การทำงานก็ไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์ก็จะไม่ได้มีสคริปต์แบบนั่งอ่าน คือคุณต้องไปทำความเข้าใจทั้งหมดมา แล้วก็ต้องไปอ่านจากหนังสือพิมพ์มาด้วย ก็จะเห็นได้ว่าพอคนดูนั่งดูในทีวีจะพบกับสคริปต์แบบเยอะมาก แล้วบางทีก็ต้องลุกกันนะ ตอนนั้นได้นั่งอ่านข่าวกับไก่ (ภาษิต อภิญญาวาท) ก็ถือว่าเป็นอีกโรงเรียนหนึ่งเลยที่สอนให้เราจับประเด็นข่าวเป็น วางประเด็นเรื่องแต่ละเรื่องเป็นสมมติเรื่องๆ นึง แล้วค่อยใส่รายละเอียดเพิ่มเติม”

ใต้โต๊ะเรื่องเล่าเช้านี้ / เรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์ที่ไม่มีใครรู้

“คือทุกคนเขาจะมีของกินอยู่ใต้โต๊ะอ่านข่าว เช่น ของไก่ (ภาษิต อภิญญาวาท) เขาจะเป็นไข่ต้มกับซอสถั่วเหลือง ของพี่ที่อยู่ประจำเลยจะเป็นนมถั่วเหลืองกับกล้วย เพราะว่าทานได้เร็วและก็อยู่ท้อง แล้วบางครั้งคุณแม่บ้านก็จะมีขนมจีบมาให้เราเล็กน้อย เพราะรายการมันยาวมาก แล้วก็เพิ่งรู้ว่าใช้พลังในการอ่านข่าวเยอะ แล้วมันทำให้หิวนะ เคยสงสัยเหมือนกันว่าไม่ได้เดินไปไหนเลยทำไมมันหิว (หัวเราะ)”

สถานีต่อไป…อโศก

“ตอนที่ตัดสินใจย้ายออกมาเป็นผู้ประกาศข่าวที่ช่องวัน 31 ตอนนั้นตัดสินใจยากมาก เราไม่เคยคิดอยากจะไปไหนแล้ว แล้วทางช่องวัน 31 ก็คุยกับพี่มานานแล้ว ตั้งแต่ทำความรู้จักกันเสร็จ ครั้งต่อมาพี่เดียว วรตั้งตระกูล (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท วันสามสิบเอ็ด จำกัด) ก็ทักมาอีกว่าสนใจมาอ่านข่าวไหม เราก็บอกว่าเวลายังไม่ได้ ก็ผ่านไปอีกจนกระทั่งรอบสุดท้าย รอบนี่สิหวั่นไหวด้วยความที่ช่วงเวลามันน่าสนใจ แล้วพอได้ฟังรูปแบบของข่าวเที่ยงช่องวันที่เขาเสนอมา เรารู้สึกทันทีเลยว่าเราสนใจ เพราะมันไม่ใช่แค่การย้ายที่ทำงานธรรมดา แต่ว่ามันท้าทายเหมือนกัน แล้วเราก็ชอบรูปแบบของเขาที่นำเสนอมา ซึ่งก็เป็นรายการข่าวที่กรองให้กับคนดูแล้ว หมายความว่าคนดูเมื่อเปิดดูแล้วจะได้ประโยชน์จากมัน ตรงนี้ดีมากและเป็นสิ่งที่อยากทำ”

“ตอนนั้นที่ตัดสินใจออกก็ไม่กล้าบอกใครเลยนะ ณ ตอนนั้นรู้ว่าไม่กล้าลา เพราะว่ามันเป็นเหมือนเป็นครอบครัวเรานะคะ แต่ทุกคนก็น่ารักมาก เข้าใจมากว่าเรากำลังจะไปทำอะไรที่ท้าทายกับเรา สิ่งที่เราอยากจะทำ แล้วความสัมพันธ์ก็ยังเป็นพี่น้องในวงการเหมือนเดิม เพียงแต่ตอนนั้นใจหายมาก เพราะช่วงจังหวะตรงนี้ที่เราได้อยู่ตรงนี้ (ไทยทีวีสีช่อง 3) มันก็เป็นความสุข เป็นครอบครัวนึง แค่วันนึงเรากำลังจะเดินเส้นทางใหม่ที่เรารู้สึกว่ามันท้าทาย แล้วที่เราเลือกก็ไม่ได้หมายความว่าทางเก่าไม่ดี เรารู้สึกแบบนี้ว่าคนเรามีสิทธิที่อยากจะลองอะไรใหม่ๆ”

เป็นนักข่าว = ไม่มีเวลาหยุดอ่านข่าว

“เราไม่ค่อยมีเวลาของตัวเองค่ะ แม้แต่เรานอนหรือว่าพักผ่อน เราก็จะยังนึกถึงข่าวตลอดเวลา คือเอาง่ายมันคือคนที่อยากรู้อยากเห็น รู้ไปหมด ดูไปหมด คิดไปหมด เป็นอย่างนึงที่เราเป็น แต่เราก็ไม่ได้ไปบอกใคร ขนาดเราไปพักผ่อน เช่น ลาพักร้อน มีแค่ครั้งเดียวในชีวิตเลยที่ไม่ได้ตามข่าว แล้วก็ตัดขาดชนิดที่ไม่ได้แม้แต่ดู ไม่ได้แม้แต่อ่าน ตอนนั้นก็คือตอนที่คุณพ่อเสีย มันยากลำบากมากจริงๆ มันทำใจไม่ไหวจริงๆ เพราะว่ามันถึงจุดหนึ่งที่เราจำเป็นต้องตอบคำถามของคุณหมอซึ่งมีผลต่อชีวิตของคุณพ่อ ตรงนี้พี่ว่ามันยากเหลือเกินแล้วที่พี่จะแยกงานหรือปิดลิ้นชักได้ ซึ่งวันสุดท้ายที่ก่อนจะหยุดอ่านข่าวคือคุณหมอโทรมาถามว่าถ้าต้องปั๊มหัวใจท่าน แล้วเราก็คิดว่าเราจะทำยังไงดี มันรู้สึกกำลังอยู่ในเส้นแบ่งความเป็นความตายของคนที่เป็นพ่อของเรา แล้วเราจะต้องขึ้นมานั่งอ่านข่าว จะต้องปิดลิ้นชักอันนี้เอาไว้ก่อน แล้วมาทำงานต่อ หลังจากนั้นคุณหมอก็วางสายไปตอน 19:20 น. เราก็ขึ้นมาอ่านข่าวประมาณ 19:50 น. แต่ก็ผ่านมันไปได้นะ ทำจนเรียบร้อย สุดท้ายเราคิดว่าก็คงต้องพักแล้ว เดี๋ยวมันไม่โฟกัสขึ้นมา”

กำลังใจในวันที่หนักที่สุดของชีวิต

“ตั้งแต่ที่พี่ย้ายงานมา และทุกๆ ช่วงจังหวะของชีวิต อย่างเช่นการสุญเสียที่ผ่านมา กำลังใจสำคัญมาก พูดกับน้องไบร์ท (พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ) ซึ่งเขาก็จะผ่านอะไรมาคล้ายๆ กัน วันนี้เราเข้าใจเลยตอนเวลาใครที่มาบอกว่าเสียใจด้วยนะ ให้กำลังใจนะ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่การแสดงความเสียใจธรรมดา แต่เรารู้สึกว่ามันมีค่ามากเลย มันทำให้เรารู้ว่าเรายังมีกำลังใจ แล้วก็เป็นส่วนที่สำคัญมากที่ทำให้เรากลับมาอ่านข่าวได้เลยหลังจากจบงานเสร็จก็คือกำลังใจที่ทุกคนมาบอกกล่าว ก็รู้สึกว่าตัวเองต้องกลับมาให้เต็มที่กับคุณผู้ชมด้วย”

งานโฆษณาและทำเบเกอรี่ คืองานที่จะทำถ้าไม่ได้มาอ่านข่าว

“ถ้าเราไม่ได้มาเป็นผู้ประกาศข่าว เราก็คงทำงานอยู่เอเจนซี่โฆษณา เพราะเรายังชอบงานโฆษณา รู้สึกว่างานโฆษณามันท้าทาย เหมือนเราขายของแต่ว่าเราต้องทำเนียนๆ เราก็เลยรู้สึกชอบ แล้วเราก็รู้สึกสนใจในศาสตร์แบบนี้ รู้สึกมันเป็นศิลปะกับพาณิชย์ที่มาคู่กัน แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะไปทำเบเกอรี่แล้วก็ได้”

บทเรียนจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง

“อยากฝากนะคะว่าน้อง ๆ เป็นคนอีกรุ่นที่มีแต้มต่อมาก จงใช้แต้มต่อตรงนั้นให้เป็นประโยชน์ แต้มต่อตรงนั้นที่พี่พูดถึงก็คือความทันสมัยของเทคโนโลยีที่ทำให้การทำงานในทุกวันนี้มันง่ายขึ้นมากเลย แล้วก็ความคิดความอ่านของน้อง ๆ ในยุคสมัยนี้ก็กว้างขึ้น เปิดรับสื่อมากขึ้น เพราะฉะนั้นอยากให้เอาตรงนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับทุกงาน สมัยก่อนบางคนจะรู้ว่ามันเฉพาะตัวมากเลย จะมีสักกี่คนที่เป็นผู้ประกาศข่าว แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้วนะคะ พี่ก็เลยอยากจะบอกน้อง ๆ ทุกคนว่าวงการนี้ยินดีต้อนรับมากๆ ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นได้ ขอแค่อย่างเดียวว่าคุณรักมันจริงๆ แล้วคุณก็เข้าใจงานมันจริงๆ แล้วคุณจะทำมันได้ดีค่ะ”

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า