fbpx

Next Station ??? สถานีต่อไป รถไฟฟ้าอยู่ตรงไหนล่ะเนี่ย

ข่าวการมาถึงของ “น้องนมเย็น”รถไฟฟ้าสายสีชมพู (มีนบุรี – ศูนย์ราชการนนทบุรี) แล่นเข้าโซเชียลมีเดียเราทุกช่องทาง รวมถึงมิตรสหายชาวรามอินทรารอบตัวที่ตื่นเต้นว่าในที่สุดฉันก็ไม่ต้องทนรถติดอีกแล้ว ทำเอาเราอดไม่ได้ที่แวบไปลองใช้ “รถไฟฟ้า” สาย “ใหม่” สักนิด

แน่นอนว่า ในระหว่างการลองใช้ สิ่งที่เราสังเกตมากที่สุดคือ “ชื่อสถานี” เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่เอาไว้ใช้นัดหมายกัน และ Pain Point สำคัญที่รถไฟฟ้ามีมาตลอดคือ “ชื่อ” นี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นชื่อแปลก ๆ ที่คนไกลไม่รู้ว่ามันมาจากอะไรหนอ ยิ่งเปลี่ยนระบบรถไฟฟ้าจากสีหนึ่งไปอีกสีหนึ่ง ชื่อสถานียังไม่เหมือนกันเลย แม้กระทั่งป้ายบอก “ปลายทาง” ยังทำเอาคนใช้รถไฟฟ้าเป็นประจำอย่างเราตั้งสติหลายวินาที

The Modernist ขอชวนทุกคนตีตั๋วสำรวจชื่อสถานีรถไฟฟ้าไปพร้อม ๆ กับเรา ทั้งนี้ โปรดสังเกตสองข้างทางและสถานที่ใกล้เคียง และระวังชื่อสถานีจะทำให้คุณสับสนได้

Rules of naming
กฎการตั้งชื่อรถไฟฟ้า

ตามกฎของกรมการขนส่งทางราง ชื่อสถานีรถไฟฟ้าจะต้อง

  1. จดจำได้ง่าย
  2. กระชับ ได้ใจความ มองปราดเดียวรู้เรื่อง (กล่าวคือ ภาษาไทยไม่ควรเกิน 5 พยางค์ ส่วนภาษาอังกฤษไม่ควรเกิน 15 ตัวอักษร)
  3. ใช้ได้อย่างยั่งยืน – คือไม่ต้องเปลี่ยนชื่อกันบ่อย ๆ
  4. ระบุตำแหน่งได้ชัดเจน เกี่ยวข้องกับพื้นที่ตั้งสถานี
  5. เฉพาะเจาะจง ไม่สร้างความสับสน
  6. เชื่อมโยงกัน เพื่อให้สะดวกต่อการวางแผนการเดินทาง

ขอให้ทุกคนจดจำกฎทั้ง 6 ข้อนี้ไว้ แล้วตามเราเดินทางไปด้วยกัน

Set A
สถานีนี้ ลงตรงไหน

  • สถานีสายลวด

สถานีชื่อ (เคย) งง แห่งนี้อยู่ในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS สายสุขุมวิท) ส่วนต่อขยายแบริ่ง – เคหะ ตั้งชื่อตาม “แยกสายลวด” ทางแยกบริเวณใกล้เคียง

เหตุที่แยกสายลวด (รวมถึงถนนสายลวด ซึ่งเป็นถนนเส้นเล็ก ๆ ในตัวเมืองสมุทรปราการ) มีชื่อนี้ เป็นเพราะนี่คือถนนสายแรกที่กองทัพเรือตั้งเสาสัญญาณโทรเลขเชื่อมระหว่างสมุทรปราการกับกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเสาสัญญาณเหล่านี้ถูกรื้อถอนไปแล้ว เหลือเพียงชื่อถนนที่บอกถึงประวัติศาสตร์ของการสื่อสารข้ามจังหวัดไว้

  • สถานีภาวนา

เมื่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเริ่มทดลองเปิดให้บริการ มีชื่อสถานี 2 สถานีที่ได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นพิเศษ
สถานีแรกคือสถานี “ภาวนา” (มาถึงตรงนี้ เราอนุญาตให้คุณฮัมเพลง “ภาวนา” ไม่ว่าจะเป็นเพลงของศิลปินท่านใดก็ตามที่คุณรู้จัก) อยู่ถัดจากสถานีต้นทางอย่างสถานีลาดพร้าวไป 1 สถานี อยู่เหนือแยกภาวนา ถนนลาดพร้าว

สำหรับชื่อ “ภาวนา” นี้ มีผู้อธิบายว่ามาจากชื่อหมู่บ้านที่อยู่ในซอยลาดพร้าว 41 ซึ่งเป็นหมู่บ้านแรก ๆ ที่ตั้งในบริเวณดังกล่าว จนกลายมาเป็นชื่อของตลาด และสี่แยกตามลำดับ ส่วนสถานีที่สองคือ

  • สถานีกลันตัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ “กลันตัน” เป็นชื่อรัฐหนึ่งมาเลเซียไม่ใช่หรือ แล้วมาอยู่อะไรตรงรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนี้ล่ะ

จริง ๆ แล้วชื่อ “กลันตัน” นี่แหละที่ทำให้เกิดชื่อ “คลองตัน” อันเป็นเขตและคลองที่อยู่ใกล้เคียงรถไฟฟ้าสายนี้ เพราะช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่นี้เป็นที่อยู่ของชาวกลันตันในปัตตานี ซึ่งถูกกวาดต้อนขึ้นมาจากสงครามที่เกิดในหัวเมืองปักษ์ใต้ เหตุนี้เอง เมื่อมีการขุดคลองเชื่อมคลองแสนแสบกับคลองพระโขนงขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 3 เพื่อประโยชน์ในการสงคราม ชาวกลันตันก็เป็นแรงงานสำคัญในการขุด คลองนี้จึงได้ชื่อว่า “คลองกลันตัน” ที่กลายมาเป็น “คลองตัน” ในที่สุด พอรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมาเยือน จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเลือกใช้ชื่อนี้เพื่อบ่งประวัติศาสตร์อีกครั้ง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของสถานีชื่อแปลกที่เราอาจจะ “งง” เมื่อเดินทางไปถึง เพราะเมื่ออ่านชื่อแล้ว เราอาจนึกไม่ออกเลยว่า เราจะเดินทางไปสถานที่ใกล้เคียงนั้นอย่างไร แต่เราอยากให้คุณย้อนกลับขึ้นไปพิจารณากฎการตั้งชื่อรถไฟฟ้าอีกครั้งว่า ต้องใช้ได้ไปตลอด จึงอาจไม่สอดคล้องกับสถานที่ที่อยู่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือสถาบันการศึกษาของเอกชน หรือแม้กระทั่งย่านใกล้เคียง อย่างกรณี สถานีสามยอด ที่ก่อนหน้านี้เคยเกือบจะชื่อว่าสถานี “วังบูรพา” เพราะเป็นย่านที่มีชื่อเสียงใกล้เคียง แต่เมื่อพิจารณาแล้วทางออกหลักใกล้เคียงกับแยกสามยอด (ที่ตั้งจากชื่อประตูสามยอด อันเป็นประตูแบ่งเขตเมืองชั้นใน – ชั้นนอกในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์) มากกว่า จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สามยอด” เป็นต้น

แต่ก็มีอีกกรณีที่น่าสนใจคือ “สถานีแยก” ในรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งแยกจากสถานีเมืองทองธานีไปอีก 2 สถานี คืออิมแพ็ค เมืองทองธานี และทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทาง นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล ผู้ถือสิทธิการเดินรถ MRT สายสีชมพู และบางกอกแลนด์ ผู้ดำเนินกิจการเมืองทองธานี 

ไม่แน่ว่า นี่อาจเป็นโมเดลตัวอย่างของการตั้งชื่อสอดคล้องกับสถานที่เอกชนก็เป็นได้

Set B
ลงสถานีนี้ ต่อสถานีไหน

นับไปนับมา ระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในตอนนี้มีถึง 10 สายด้วยกัน ไม่รวมโครงการในอนาคตที่จะมีเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย

แน่นอนว่า “สถานีเชื่อมต่อ” เป็นหมุดหมายสำคัญที่เชื่อมโยงผู้คนจากสายหนึ่งไปอีกสาย จึงเป็นแหล่งนัดพบ และมีผู้โดยสารมากกว่าที่อื่น ๆ เป็นพิเศษ แต่ปัญหาสำคัญคือ ชื่อสถานีที่ไม่เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่อยู่บริเวณเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • MRT สวนจตุจักร – BTS หมอชิต
  • MRT พหลโยธิน – BTS ห้าแยกลาดพร้าว
  • MRT สุขุมวิท – BTS อโศก
  • MRT เพชรบุรี – Airport Link มักกะสัน
  • MRT สีลม – BTS ศาลาแดง

สิ่งที่น่าสนใจคือ ชื่อที่ไม่เหมือนกัน แสดงให้เห็นถึง “เจ้าของ” ที่ต่างกัน กล่าวคือ รฟม. (ผู้ดำเนินการ MRT) มักจะไม่ใช้ชื่อซ้ำกับ BTS หรือ Airport Link / รถไฟฟ้าสายสีแดง 

แต่ในระยะหลัง เรามักพบว่าสถานีเชื่อมต่อจะใช้ “ชื่อเดียวกัน” แทนที่ เช่น

  • MRT ลาดพร้าว (สายสีน้ำเงิน – สายสีเหลือง)
  • BTS / Airport Link พญาไท
  • MRT สายสีชมพู / รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม สถานีหลักสี่
  • MRT สายสีชมพู / BTS วัดพระศรีมหาธาตุ 

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการถือสิทธิการเดินรถของเครือ BTS ที่เพิ่มมากขึ้นจากบริษัทร่วมทุนในมือ อย่างในกรณีรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ถือสิทธิในการเดินรถ เป็นต้น แง่หนึ่ง การตั้งชื่อสถานีเหล่านี้ให้ “ตรงกัน” มีส่วนช่วยให้ผู้ใช้ไม่สับสน แต่ปัญหาที่แท้จริงอีกประการหนึ่งของ “สถานีเชื่อมต่อ” คือทางเดินที่ “ไม่เชื่อมต่อ” กันอย่างแท้จริง อาทิ สถานีหลักสี่ และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ที่ต้องเดินออกจากสถานีรถไฟฟ้าสายหนึ่ง เพื่อเดินขึ้นบันไดไปรถไฟฟ้าอีกสายหนึ่ง ความไม่เชื่อมต่อตรงนี้แหละที่เป็น Pain Point ต่อไปที่รถไฟฟ้าจะต้องแก้ไข

“ชื่อ” นั้น สำคัญไฉน

จะเห็นว่า ชื่อของสถานีรถไฟฟ้านอกจากจะทำให้เดินทาง “สะดวก” (หรือสับสนในบางกรณี) แล้ว ยังชี้ให้เห็นถึงความเป็นมาของย่านแต่ละย่าน สัมปทานในแต่ละสาย หรือแม้กระทั่งความร่วมมือของกิจการสองรูปแบบ

และเพียงแค่ชื่อของสถานีรถไฟฟ้ายังบ่งบอกได้ขนาดนี้ เราเลยอยากชวนคุณออกท่องเที่ยวโดยใช้รถไฟฟ้าในช่วงหยุดเสาร์อาทิตย์นี้ สำรวจเส้นทางว่าสถานีใกล้ – ไกลจากที่พักของคุณแค่ไหน และเดินทางยากหรือไม่ เพราะขนส่งสาธารณะที่ดีต้องเอื้อต่อ “ทุกคน”

แหล่งอ้างอิง : komchadluek / pptvhd36 / bangkokbiznews / กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม / livingpop / btsgroup

ขอขอบคุณที่มาภาพประกอบจาก twitter @WayfindingBKK

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า