fbpx

ธุรกิจยุคใหม่ต้องหาคนที่ใช่มาช่วยขาย ด้วย ‘Affiliate Marketing’

วันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา The Modernist ได้เข้าร่วมงาน Creative Talk 2023 พร้อมเข้าฟังการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “The Art of Affiliate Marketing ศิลปะแห่งการหาคนมาช่วยขาย” โดยคุณ ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Priza และคุณพลาวุฒิ เจริญจิตมั่น ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Micron Group ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจในการตลาดยุคใหม่ ทั้งนี้ The Modernist จึงสรุปมาเนื้อหาให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับ Affiliate Marketing พร้อมกัน

คุณธนาวัฒน์ อธิบายว่า Affiliate Marketing เป็นโมเดลธุรกิจหลักและหัวใจสำคัญในการทำเงินให้กับธุรกิจ Priza แพลตฟอร์มที่ช่วยลูกค้าค้นหา เปรียบเทียบ และแนะนำสินค้า จากกลุ่มคนที่เป็น Affiliate โดยทางผู้บริโภคไม่ได้ซื้อของบนแพลตฟอร์มของ Priza โดยตรง แต่จะเป็นการคลิกลิงก์เพื่อไปยังช่องทางการสั่งซื้อในแอปพลิเคชันหรือช่องทาง E-Commerce ต่าง ๆ โดยทาง Priza สามารถติดตามผลได้ว่าหากผู้บริโภคเกิดการซื้อสินค้าจริง ทางฝั่งคนขายจะมีการส่งค่าคอมมิชชั่นให้กับ Affiliate และแพลตฟอร์ม Priza

ในอดีตโฆษณาเป็นแรงกระตุ้นหลักในการทำให้คนอยากซื้อสินค้า ทว่าโฆษณาไม่สามารถการันตียอดขายได้ ตรงกันข้ามกับ Affiliate Marketing ที่สามารถกันตียอดขายได้ โดยทางผู้ขายจะจ่ายค่าโฆษณาให้ต่อเมื่อสามารถทำยอดขายได้จริงเท่านั้น

ทางด้านของคุณพลาวุฒิ ยกตัวอย่างการทำ Affiliate Marketing ร่วมกับเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน’ โดยทางด้านคุณพลาวุฒิมีการทำธุรกิจเกี่ยวกับกล่องจัดเก็บสิ่งของ จึงมองหานักการตลาดที่จำเป็นต้องใช้สินค้าที่ตรงกับทางแบรนด์และสามารถทำคอนเทนต์ได้ จึงได้มีการร่วมมือกัน นอกจากจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์แล้ว ยังตอบโจทย์การทำงานของทางแมวบินด้วยเช่นกัน

“ความแตกต่างระหว่าง Affiliate Marketing และ KOL Marketing คือการตลาดแบบ Affiliate ไม่ใช่การที่แบรนด์ต้องจ่ายเงินให้กับคนที่เป็น KOL ในราคาเป็นแสน แต่เป็นการทำโปรเจกต์ร่วมกัน เราสนับสนุนด้วยอุปกรณ์จากแบรนด์ของเรา แล้วถ้าคนที่เป็น Affiliate สามารถขายสินค้าได้ นอกเหนือเงินที่ได้รับจากการบริการจัดบ้านให้ลูกค้าแล้วยังได้ค่าคอมมิชชั่นในการขายสินค้าให้กับแบรนด์อีกด้วย ซึ่งต้นทุนในการจ้าง Affiliate ค่อนข้างน้อยและคุ้มค่ามากกว่า” คุณพลาวุฒิกล่าวเสริม

ทิศทางการเติบโตของ Affiliate Marketing เป็นอย่างไร?

คุณธนาวัฒน์ อธิบายถึงการเติบโตของ Affiliate Marketing โดยมีการแบ่งออกเป็น 2 ยุคสมัย

ยุคแรก เน้นจำนวนคลิกให้ได้เยอะที่สุด โดยแทรกลิงก์ไว้ในบทความบนเว็บไซต์ (Blog) เพื่อให้เกิดการคลิกไปยังช่องทางสั่งซื้อ โดยจะให้ค่าคอมมิชชั่นเมื่อมีเว็บไซต์มีการคลิกเป็นจำนวนมาก

ยุคที่สอง เน้นคุณภาพและความจริงใจ อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของสื่อต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนจาก Blog กลายเป็น Influencer และ Creator เป็นหลัก เป็นกลุ่มคนที่มีความดึงดูดใจ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อสินค้าตามผ่านการรีวิวในรูปแบบต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติของผู้บริโภคที่มักจะฟังเสียงของเพื่อนที่พูดต่อกันไปแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ซึ่งเปรียบกับ Influencer ที่เหมือนกับเพื่อนคนสนิท และการที่กลุ่มผู้บริโภคจะกดติดตาม Influencer คนไหน หมายความว่าพวกเขาให้ความเชื่อใจในตัวของคนนั้น โดยคอนเทนต์ที่สร้างแรงกระตุ้นได้ดีจะเป็นคอนเทนต์รีวิวอย่างสมจริงและจริงใจกับผู้บริโภค

Affiliate Marketing ตอบโจทย์การทำธุรกิจอย่างไร?

คุณพลาวุฒิ อธิบายในมุมของคนทำธุรกิจที่มีงบประมาณจำกัดว่า Affiliate เป็นการตลาดที่เข้ามาตอบโจทย์การทำธุรกิจค่อนข้างดี โดยสามารถแบ่งเป็น 2 หัวข้อใหญ่ ได้แก่

1. เหล่าครีเอเตอร์เป็นขุมทรัพย์ทองคำสำหรับธุรกิจ

ปัจจุบันจำนวนครีเอเตอร์มีมากขึ้นทุกวัน ทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้ และด้วยแพลตฟอร์มที่มาแรงอย่าง TikTok เอื้อพื้นที่ให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้แสดงออก สามารถเข้าถึงคนได้ในวงกว้าง การทำคอนเทนต์จึงเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น ส่งผลให้คนที่เป็น Influencer ตัวเล็กตัวน้อยสามารถแจ้งเกิดได้แบบรวดเร็ว อีกทั้งเหล่า E-Commerce ใหญ่ ๆ อย่าง Shopee, Lazada หรือ Tiktok เริ่มมีการทำ Affiliate Marketing เป็นของตัวเอง ส่งผลให้การตลาดของ Affiliate มีการเติบโตมากยิ่งขึ้น

2. Affiliate มีแฟนด้อมเป็นของตัวเอง

คนที่เป็น Affiliate มักเป็นคนที่มีอิทธิพลทางความคิดและการตัดสินใจให้กับผู้อื่นได้ ซึ่ง Affiliate มักจะมีแฟนคลับหรือคอมมูนิตี้เป็นของตัวเอง โดยเป็นคนที่มีความสนใจในสินค้าหรือบริการที่คล้ายกัน เช่น กลุ่มเฟซบุ๊ก ‘งานบ้านที่รัก’ ที่เต็มไปด้วยกลุ่มคุณแม่ที่ทำงานบ้าน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ หากมีคุณแม่คนหนึ่งที่โพสต์คอนเทนต์แล้วได้รับความสนใจจากเพื่อนในกลุ่มเป็นจำนวนมาก ก็ถือว่าเป็นหนึ่งคนที่มี Powerful Influence โดยที่แบรนด์ไม่จำเป็นต้องจ้าง Influencer ที่มียอดผู้ติดตามเยอะ เพียงแค่พาแบรนด์ไปอยู่ในกลุ่มนั้น สินค้าก็จะถูกใช้ตาม ๆ กัน เพราะมีการบอกต่อหรือรีวิวให้นั่นเอง

3. สามารถติดตามผลลัพธ์และจับกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้

การทำคอนเทนต์แบบ Affiliate สามารถดูผลลัพธ์ได้อย่างรวดเร็วและหากทางแบรนด์เห็นว่าคอนเทนต์ไหนมีประสิทธิภาพสูง ได้ยอด Organic ดี ก็สามารถนำคอนเทนต์นั้นมา Retargeting หรือจับกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้ผ่านการโปรโมตโฆษณา โดยที่ต้นทุนในการทำโฆษณาลดลง เพราะเน้นดูคอนเทนต์ที่มีคุณภาพเป็นหลักและสามารถเลือกคอนเทนต์ได้เองอีกด้วย

สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นทำ Affiliate Marketing แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ทางด้านคุณธนาวัฒน์ได้แชร์เทคนิค 5 ขั้นตอนของการเริ่มต้นทำ Affiliate Marketing เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจใน Affiliate Marketing และพัฒนาธุรกิจต่อไป ได้แก่

1. การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน

หากคุณเป็น E-Commerce ที่อยากขายสินค้า ต้องดูว่าอยากขายเพราะอะไร และสร้างหน้าร้านที่พร้อมขายสินค้าในแพลตฟอร์ม E-Commerce ไม่ว่าจะเป็น Shopee, Lazada, TikTok ฯลฯ

2. ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

กำหนดผลตอบแทนให้กับคนที่เป็น Affiliate อย่างเหมาะสม โดยดูจากมาร์จินของสินค้า (ยอดขาย – ต้นทุน) เช่น ขายสินค้าในราคา 100 บาท มีมาร์จินอยู่ที่ 30% มาดูต่อว่าใน 30% ของกำไรจะแบ่งให้กับทาง Affiliate เท่าไร ยิ่งเซ็ตผลตอบแทนสูงยิ่งเป็นจุดดึงดูดคนที่เป็น Affiliate ทำให้พวกเขาอยากรีวิวสินค้าให้มากยิ่งขึ้น 

3. ซื้อใจ Influencer ให้มาเป็นทีมเดียวกัน

Affiliate Marketing คือการสร้างพันธมิตรกับเหล่า Influencer โดยแบรนด์ต้องไม่มองคนกลุ่มนี้เป็นเพียงแค่คนรีวิวสินค้าเท่านั้น แต่แบรนด์ต้องซื้อใจด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างมิตรภาพเพื่อให้เขาเปิดใจในสินค้าหรือบริการมากขึ้น ที่สำคัญคือการมอบความเอ็กซ์คลูซีฟให้กับกลุ่ม Influencer ที่จะมารีวิวสินค้าให้ เช่น แคมเปญ Double date มีการให้ลิงก์รีวิวสินค้าเพียงไม่กี่คน ทำให้เขาเป็นคนกลุ่มแรกในการสร้างยอดขายได้ก่อนใคร

4. การติดตามผล

ทุกสินค้าที่มีการรีวิว ต้องเป็นลิงก์ที่สามารถติดตามผลลัพธ์ของแคมเปญได้ ทั้งจำนวนคลิก จำนวนคนซื้อสินค้า ยอดขายของสินค้า ประเภทของสินค้า และวันที่ในการซื้อสินค้า

5. การวัดผล 

ในปัจจุบันมี Influencer ในประเทศไทยกว่า 2,000,000 คน ฉะนั้นแล้วการติดตามยอดขายสินค้า ทำให้แบรนด์เห็นประสิทธิภาพการทำงานของ Influencer แต่ละคนได้ เช่น Influencer บางคนสามารถสร้างยอดคลิกได้ดี แต่ไม่มียอดขายเกิดขึ้นจริง เป็นต้น ช่องโหว่ต่าง ๆ ในการตลาดเหล่านี้ Affiliate Marketing สามารถแสดงผลของข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้แบรนด์สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาธุรกิจได้ทันท่วงที

“สิ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจคือการควบคุมต้นทุน ต้นทุนที่สำคัญก็คือต้นทุนการตลาด การที่แบรนด์จะสามารถควบคุมต้นทุนการตลาดได้ ต้องทำ Affiliate ให้เวิร์ก เพราะสุดท้ายคนที่เป็น Influencer อยู่ในทะเลของแบรนด์เต็มไปหมด โดยไม่ได้อินกับสินค้า ทั้งนี้แบรนด์ต้องลุกขึ้นไปคุยและสร้างความสัมพันธ์กับ Influencer ให้มากขึ้น เพราะยุคนี้เป็นยุคเปลี่ยนผ่านของ E-Commerce สู่ยุคของการสร้างความสัมพันธ์กับ Influencer หรือเรียกว่า Business to Influencer (B2I)” คุณธนาวัฒน์สรุป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า