fbpx

“Music Shaming” คืออะไร ? รสนิยมการฟังเพลงที่ไม่ควรถูกเหยียด

“ชอบฟังเพลงแนวไหน ?” หนึ่งในคำถามสั้นๆ ง่ายๆ ที่เป็นการเปิดบทสนทนา ก่อนที่เราจะทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับใครสักคน ซึ่งถ้ารสนิยมการฟังเพลงของคู่สนทนาตรงกัน ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะพัฒนาความสัมพันธ์จนคนสองคนกลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด หรือหากความชอบไม่ตรงกัน ก็อาจนำไปสู่การ “ป้ายยา” และแลกเปลี่ยนความชอบซึ่งกันและกันได้ อาจเรียกได้ว่า ดนตรีเป็นภาษาสากลที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบรรยากาศแห่งมิตรภาพของผู้คน ที่เชื่อมโยงกันด้วยดนตรี หลายครั้งก็เกิดความขัดแย้งกัน เมื่อรสนิยมการฟังเพลงแนวหนึ่งถูกมองว่า “ไม่ดี” เท่ากับแนวเพลงอื่นๆ เกิดการเปรียบเทียบระหว่างคนสองกลุ่ม และนำไปสู่การตัดสินและตีตราเพลง ศิลปิน ไปจนถึงการตัดสินและตีตราตัวตนของกลุ่มคนที่ฟังเพลงนั้นๆ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า การเหยียดรสนิยมการฟังเพลง หรือ Music shaming ซึ่งเมื่อเกิดกรณีเหล่านี้ขึ้น ก็มักจะลุกลามเป็นดราม่าในโลกออนไลน์

Music Shaming คืออะไร

การเหยียดรสนิยมการฟังเพลง หรือ Music shaming คือการที่คนคนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์รสนิยมการฟังเพลงของบุคคลอื่น เพียงเพราะรสนิยมเหล่านั้นแตกต่างจากรสนิยมของเขาเอง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการยกย่องดนตรีแนวหนึ่งหรือศิลปินแนวหนึ่งให้เหนือกว่าแนวเพลงหรือศิลปินอื่นๆ และผู้ที่ไม่นิยมฟังเพลงแนวนี้ หรือศิลปินคนนี้ จะถือว่าเป็นคนที่ไม่มีรสนิยม

แม้ว่าเมื่อพิจารณาจากดราม่าต่างๆ ดนตรีป็อปจะตกเป็นจำเลยสังคมเสียเป็นส่วนใหญ่ จากการถูกเหยียดว่าเป็นเพลงที่ไร้รสนิยมในหลายกรณี แต่ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพลงมิวสิคัล, ร็อก, อินดี้, อัลเทอร์เนทีฟ, ป็อปกระแสหลัก, แจ๊ซ, คลาสสิก หรือแม้กระทั่งแร็ป ที่ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าไม่เป็นแม้กระทั่งเพลง ล้วนถูกเหยียดทั้งสิ้น ทั้งจากอุตสาหกรรมดนตรีเอง รวมถึงผู้ฟัง

ขณะที่ดนตรีป็อปกระแสหลักถูกมองว่าเป็นเพลงตลาดที่มีไว้ขายอย่างเดียว ไม่ได้ใช้ทักษะทางดนตรีและสุนทรียศาสตร์มาก แถมยังถูก “อวย” ว่าดีเกินจริง และผู้ที่นิยมชมชอบในดนตรีแนวนี้มักจะถูกมองว่า “ไม่ฉลาด” เท่ากับคนฟังเพลงแนวที่ซับซ้อนกว่า แต่ดนตรีแนวอื่นๆ ก็เผชิญกับการเหยียดและการเหมารวมเช่นกัน ดนตรีคลาสสิกถูกตีตราว่าเป็นเพลงโบราณที่ต้อง “ปีนบันไดฟัง” เข้าไม่ถึงผู้คน ดนตรีร็อกและเมทัล ที่มักจะถูกวิจารณ์ว่าเสียงดังหนวกหู และเป็นเพลงของพวกหัวรุนแรง หรือฮิปฮอป ที่หลายคนมองว่าไม่ได้เป็นแม้กระทั่งเพลง

นอกจากนี้ ยังมีการเหมารวมพฤติกรรมของคนฟังเพลง เช่น เช่น การมองว่าผู้ชายอายุ 20 กว่า ที่ชอบเพลงของ Justin Bieber หรือวัยรุ่นหญิงโยกหัวในคอนเสิร์ต  Metallica เป็นเรื่องแปลก ทั้งที่ในความเป็นจริง การที่ใครคนหนึ่งจะชอบเพลงหรือศิลปินคนใดนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเพศหรือวัยแต่อย่างใด

ปัญหาการเหยียดรสนิยมการฟังเพลง ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในยุคนี้ ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งโลกออนไลน์ที่เปิดกว้าง ก็เปิดโอกาสให้คนจำนวนมากขึ้นสามารถแสดงท่าทีรังเกียจคนที่มีรสนิยมการฟังเพลงไม่ตรงกับพวกเขา รวมทั้งยังเกิดชุมชนออนไลน์ที่เต็มไปด้วยการชี้นำว่าคุณควรชอบฟังเพลงอะไร ต้องคิดเห็นอย่างไรถึงจะถูก และศิลปินคนไหนที่คุณควรจะฟังเพลง

การเหยียดรสนิยมการฟังเพลงจึงถือเป็นการแบ่งแยกผู้คนออกจากกัน ซึ่งดูจะผิดไปจากคุณสมบัติของดนตรีที่สร้างความบันเทิงและเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ การเหยียดรสนิยมการฟังเพลง เป็นการทำลายความมั่นใจและบั่นทอนตัวตนของผู้อื่น เพียงเพราะสิ่งที่พวกเขาชอบนั้นไม่ตรงกับคนอื่นๆ ส่งผลให้หลายคนกลัวที่จะแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองผ่านเพลงโปรด และกลัวที่จะถูกตัดสินจากเพลงที่ตัวเองฟัง แทนที่จะได้เลือกฟังเพลงที่ตัวเองชอบโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกใครตัดสินหรือถูกมองในแง่ลบ

ทำอย่างไรให้คนเราเลิกเหยียดรสนิยมในการฟังเพลง

รสนิยมการฟังเพลงเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่กลายเป็นปัญหา เมื่อคนเราตัดสินกันเอง แทนที่จะตัดสินคุณภาพของเพลง และพยายาม “โชว์เหนือ” ว่ารสนิยมการฟังเพลงของตัวเองดีกว่าของคนอื่น ประเด็นสำคัญของปัญหานี้ คือการไม่ยอมรับความแตกต่าง และเหยียบย่ำคนที่ฟังเพลงแตกต่างจากตัวเอง เพียงเพราะมีรสนิยมการฟังเพลงไม่เหมือนคนอื่น เพราะฉะนั้น เราควรทำความเข้าใจและปรับทัศนคติของเราใหม่ ดังนี้

1. ดนตรีเป็นอัตวิสัย ความชอบเป็นของใครของมัน

ดนตรีเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับศิลปะแขนงอื่นๆ นั่นคือความเป็นอัตวิสัย (Subjective) รสนิยมทางดนตรีของบุคคลขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแนวดนตรีที่พวกเขาได้เสพเมื่อสมัยยังเด็ก ไปจนถึงความชอบส่วนตัวในภาพรวม รวมทั้งปัจจัยทางสังคมและชีววิทยา เช่น ปริมาณความไม่สอดคล้องกันที่เราได้ยิน ซึ่งเป็นตัวกำหนดความสนุกสนานในการฟังเพลง ตัวอย่างเช่น ดนตรีตะวันตกอาจจะเป็นซาวนด์ที่เราคุ้นเคยมากกว่าดนตรีจากภูมิภาคอื่นของโลก ดังนั้น เราจึงชอบฟังดนตรีตะวันตกมากกว่า เพราะฉะนั้น เพลงที่เราอินจึงไม่ได้มาจากคุณภาพของเพลงเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าสมองของเราคุ้นเคยกับโทนและเสียงเหล่านั้นมากแค่ไหน

2. ดนตรีแต่ละแนวล้วนมีเสน่ห์เป็นของตัวเอง

นอกจากนี้ ดนตรีแต่ละแนวยังมีเสน่ห์เฉพาะตัว ดนตรีป็อปที่มีลักษณะเข้าถึงง่าย ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับคนส่วนใหญ่ แต่ความเสพง่าย ย่อยง่ายนั้นก็ไม่ได้แปลว่าอารมณ์ความรู้สึกในเพลงจะเจือจางกว่าดนตรีแนวอื่นๆ เพราะฉะนั้น การเป็นเพลงกระแสหลักจึงไม่เท่ากับเพลงไม่มีพลัง และไม่ได้แปลว่าเพลงป็อปจะฉลาด สนุก หรือเป็นเพลงที่ดีไม่ได้ ขณะเดียวกัน การชอบฟังดนตรีป็อปก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นมนุษย์ของใครลดลง และไม่ได้ทำให้ฉลาดน้อยลง เช่นเดียวกับดนตรีเมทัล ที่มีลักษณะกระโชกโฮกฮากและดนตรีที่ก้าวร้าวรุนแรง แต่ดนตรีชนิดนี้ก็เป็นการปลดปล่อยพลังของศิลปินและแฟนเพลง ส่วนภาพของแฟนเพลงเมทัลที่วิ่งชนกันในคอนเสิร์ต คล้ายกับการทะเลาะวิวาท แต่มันคือธรรมเนียม ซึ่งมีด้านหนึ่งเป็นภาพการช่วยเหลือผู้ที่ล้มหรือบาดเจ็บจากการพุ่งชนกันในคอนเสิร์ต หรือดนตรีร็อกและฮิปฮอป ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนเรื่องราวความเจ็บปวดของมนุษย์ จากการกดทับของการเมืองและสังคม ผ่านเสียงดนตรีที่กรีดบาดหู

3. ศิลปินทุกคนทำงานหนักเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน

ไม่ว่าจะเป็นแนวดนตรีใด กระแสหลักหรือกระแสรอง ศิลปินล้วนแล้วแต่พยายามอย่างหนักทั้งสิ้น ในการสร้างผลงานศิลปะจากเสียงดนตรีขึ้นมา เพราะฉะนั้น แทนที่จะเปรียบเทียบว่าศิลปินแนวไหนทำงานหนักกว่า ใช้ฝีมือมากกว่า ควรเปิดใจและทำความเข้าใจกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน และจะพบว่าศิลปินทุกแนวล้วนพยายามสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่ากันเลย

4. เปิดใจยอมรับความแตกต่าง

แต่สิ่งสำคัญที่สุดในประเด็นนี้ คือการเปิดใจให้กว้างและมีความอดกลั้นต่อความแตกต่าง การชอบดนตรีแนวหนึ่ง และไม่ชอบอีกแนวหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถดูถูกศิลปินหรือแฟนเพลงแนวอื่นได้ การชอบเพลงกระแสหลักและเพลงนอกกระแสในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่การทรยศต่อรสนิยมการฟังเพลงที่ดี และการเกลียดเพลงกระแสหลักไม่ได้ทำให้ใครดูฉลาดขึ้น

5. เรียนรู้ความหลากหลายเพื่อเข้าใจตัวเองและคนอื่น

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมดนตรียังเป็นอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทำให้เราได้ทำความรู้จักรูปแบบความบันเทิงที่หลากหลาย เพราะฉะนั้น นี่เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ทำความรู้จักแนวเพลงที่หลากหลาย เพื่อเป็นการทดลอง เรียนรู้สิ่งที่เราชอบและไม่ชอบในดนตรีเหล่านี้ เพื่อจะนำไปสู่การสร้างตัวตนของตัวเอง แทนที่จะคอยจับผิดและวิจารณ์สิ่งที่คนอื่นเลือกฟัง

ดนตรีเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ผู้คนใช้สะท้อนตัวตนของตนเอง การเคารพในความชอบและรสนิยมของผู้อื่น ก็คือการเคารพตัวตนของคนเหล่านั้น เพราะฉะนั้น คนเราควรแสดงตัวตนของตัวเองผ่านเพลงได้ โดยที่ไม่ต้องรู้สึกอับอาย หรือกลัวที่จะถูกตัดสิน เพียงเพราะความชอบของตัวเองไม่เหมือนคนอื่น

นอกจากนี้ ดนตรียังทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน ไม่ใช่แบ่งแยกผู้คนออกจากกันด้วยรสนิยมที่แตกต่าง เราอาจจะรู้สึกเชื่อมโยงกับคนที่มีรสนิยมในการฟังเพลงเหมือนๆ กัน แต่นั่นก็ไม่ควรเป็นเหตุผลที่เราจะผลักคนอื่นออกไป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า