fbpx

“เพราะดนตรีคือส่วนประกอบของชีวิต” รู้จักอาชีพ Film Composer ให้มากขึ้นกับแม็ก-หงษ์เจริญ

แม็ก-เจษฎา หงษ์เจริญ เป็นบุคคลที่ค่อนข้างยุ่ง 

เรื่องนี้พวกเราชาว Modernist พิสูจน์มาแล้วด้วยตัวเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเดดไลน์งานที่แสนรัดตัว (ซึ่งพี่เขาบอกว่าเป็นเรื่องปกติ) ไปจนถึงเสียงโทรศัพท์ที่ดังอยู่หลายครั้งตลอดการสัมภาษณ์ มองแว่บเดียวก็รู้ว่าชายคนนี้คงเป็นที่ต้องการตัวของโปรเจกต์อะไรก็ตามที่ทำค้างอยู่ ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะลำพังภายในปี 2021 ถึงปัจจุบัน เพียงระยะเวลาปีกว่าๆ พี่เขาได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์และซีรีส์ ซึ่งเพิ่งฉายจบ และกำลังจะฉายไปมากกว่า 17 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น รักแท้แค่เกิดก่อน, Groovin On – รักนี้ต้องอิมโพรไวส์, Extraordinary Siamese Story: Eng and Chang, ผู้บ่าวไทบ้าน ไปจนถึง จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี (2022) ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ ยังไม่รวม Leio ไลโอโคตรแย้ยักษ์ (2022) ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากค่ายเนรมิตรหนัง ฟิล์ม ที่เพิ่งปล่อยตัวอย่างเต็มๆ ให้ชมไปเมื่อไม่กี่วันก่อนอีกด้วย นี่คือส่วนหนึ่งจากงานทั้งหมดที่พี่เขาถือไว้ในมือ เรียกว่าทำงานหนักมากและเยอะมากอย่างเห็นได้ชัด 

“ถึงอาชีพปัจจุบันจะเป็น Film Composer แต่จริงๆ ก็ทำทุกอย่างนะ คือแต่งเพลงประกอบหนังด้วย แล้วก็แต่งเพลงเพื่อการโฆษณาด้วย ทำทั้งไทย ทั้งต่างประเทศเลย” เท่าที่ฟังเหมือนขอบเขตของสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘นักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์’ จะกว้างและหลากหลายกว่าที่เราเข้าใจกันมาก พวกเราจึงถือโอกาสนี้ เจาะลึกถึงชีวิตการทำงานในทุกๆ แง่มุมของอาชีพที่ยังไม่ได้รับความสนใจในประเทศไทยมากนัก 

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

จุดเริ่มต้นที่เข้าสู่เส้นทางสายดนตรี    

เราเริ่มต้นด้วยการเป็นเด็กวงโยธวาทิตก่อน เล่นทรอมโบน เนี่ยเขาว่าคนเล่นเครื่อง brass หน้าตาดี (หัวเราะ) ตอนนั้นเรียนสวนกุหลาบแถวบ้าน สวนกุหลาบรังสิต แล้วก็เล่นวงโยฯ จนถึงม.3 คือจริงๆ เราเป็นคนเรียนไม่เก่งแหละ เราก็เลยเหมือนหาทางออกให้ตัวเองไปเรียนที่อื่น เพราะรู้ว่าตัวเองจะสอบนู่นนั่นนี่ไม่ติด ก็เลยหาทางออกด้วยการไปเรียนที่ pre-college มหิดล คือตอนนั้นมันก่อนจะมีหนังเรื่อง Seasons Change (2006) อีกนะ แต่ว่าเราสอบไม่ติด (หัวเราะ) มันจะมีการสอบสามรอบ ก็ไปรอบสุดท้ายนั่นแหละ แล้วก็ไม่ติด เลยกลับไปเรียนม.4 ที่เดิม แล้วค่อยติวแล้วกลับมาสอบใหม่ ซึ่งก็ติดในปีถัดมา แต่เอาจริงๆ ตอนสอบเข้าดนตรีก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันจะง่ายกว่านะ จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตอนนั้นชอบดนตรีแล้วรึยัง รู้แค่ชอบดูหนัง ชอบฟังเพลงมาก ก่อนจะเข้ามหิดลก็เริ่มฟัง Soundtrack แล้ว ซึ่งสมัยนั้นก็มีอะไรอะ Harry Potter (2001) นั่นแหละก็เลยรู้สึกว่า ‘เอ๊ะ หรือดนตรีมันจะโอเคสำหรับเราวะ’ ก็เลยลองมาสอบดู แต่ก็ติวหนักเหมือนกันนะ ทั้งทฤษฎีแล้วก็ปฏิบัติ เพราะวงโยฯเขาไม่ได้สอนอะไรเลยเว้ย Theory ใดๆ คือต่อให้ภาคปฏิบัติมันได้บ้าง แต่ทฤษฎีมันไม่ได้ ก็ต้องมาเริ่มติวใหม่หมดเลย อย่าง 4-Part Harmony (การเรียบเรียงเสียงประสาน 4 แนว) ตอนสอบเข้าก็ใช้ทรอมโบนนี่แหละ แล้วพอเรียนไปประมาณนึงเราก็สนใจการ Arrange (การเรียบเรียงดนตรีและเสียงประสาน) เป็นพิเศษ 

คือพอเราเป็นติ่ง Harry Potter แล้วคนที่ทำเพลงให้เรื่องนี้คือ John Williams ซึ่งก็เป็นคอมโพเซอร์ที่ดังมาก เราเลยศึกษาตัวเขาเพิ่ม บวกกับได้รู้จักกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่เขาเรียนที่อเมริกา แล้วเขาเรียนเพลงประกอบฟิล์มแบบนี้เหมือนกัน เราก็ไปขอเรียนกับเขา ขอความรู้จากเขา ก็ให้เขาสอนมา แถมตอนนั้นเพื่อนชวนไปเริ่มทำวง Brass Quintet (วงเครื่องทองเหลืองแบบ 5 ชิ้น) ก็เลยเริ่มอะเรนจ์เพลงให้ Brass Quintet แต่ตอนนั้นไม่ได้มีเราทำแค่คนเดียวนะ มีคนช่วยกันเรียบเรียงสามคน ก็ได้ฝึกการเรียบเรียงเพลงช่วงนั้นแหละ แต่ระหว่างทางเราก็รู้ตัวว่ายังชอบเพลงประกอบตลอดมา ก็ฟังหมดเลย แต่ถ้าถามว่ารู้ตัวว่าชอบมาเนืองๆ มั้ย ก็คงตอบได้แค่ว่า ‘มั้ง’ คือตอนเด็กๆ มันคือเรามั่นใจแหละ ว่าความชอบของเรามันคือการได้เอาเพลงของคนอื่นมาเรียบเรียงเสียงประสานให้มันฟังดูน่าสนใจขึ้น เออตอนนั้นอะสนุกมาก ส่วนตอนนี้ก็อยู่ในวงการมาจะเข้าปีที่ 8 แล้ว ได้แต่รู้สึกว่า ‘อื้ม’ 

คำนิยามของการทำ Film Music Composition

ต้องย้อนกลับไปที่คำจำกัดความของ Composition ก่อน ในความคิดของเราซึ่งไม่รู้ว่าถูกมั้ยนะ เรามองว่า Composition มันคือการถ่ายทอดของคนแต่ง แบบคนแต่งต้องการอะไร อยากให้คนฟังได้ฟังอะไร อยากสื่ออะไร สิ่งเหล่านี้ก็จะออกมาจากคนแต่ง 100% อาจจะมีคอมเมนต์จากอาจารย์หรือคนอื่นบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ส่วนมาก กว่า 90% มันคือมาจากคนแต่งนี่คือ composition

แต่ว่า Film Music Composition เราแต่งเพลงบริการคนอื่นน่ะ มันจะเป็นงานบริการนิดนึง (หัวเราะ) แล้วเรื่องที่ตลกมากคือนอกจากเป็นงานขายบริการแล้ว ยังต้องเป็นนักจิตวิทยาด้วย เพราะว่าต้องแปลความต้องการของผู้กำกับออกมาให้ได้ เราต้องดูให้ออกว่าผู้กำกับต้องการอะไร เจ้าของงานต้องการอะไร แล้วค่อยแปลออกมาเป็นเพลงให้ตรงตามความต้องการของเขา แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าเราจะตามใจเขาหมดนะ เราก็ต้องเอาความรู้ที่เรามีมาช่วยเสนอแนะเขาด้วย เออผมว่าแบบนี้น่าจะดีนะ คือช่วยๆ กัน เราไม่ได้ดันทุรังทำเพลงเพื่อตามใจเรา แต่เราทำเพลงเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเขาซะมากกว่า คือทำทุกอย่างตามที่ได้รับมอบหมาย แต่ทำให้มันดีน่ะมั้ง ขอลงท้ายด้วยคำว่า ‘มั้ง’ (หัวเราะ) เพราะไม่มั่นใจเหมือนกัน ตรงนี้เป็นความคิดของเรานะ ไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด แค่เราคิดแบบนี้

กระบวนการทำงานกว่าจะเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนนะ ว่าในกระบวนการทำภาพยนตร์หรือซีรีส์มันมีส่วนที่เรียกว่าโปรดักชั่นยังไงบ้าง โดยปกติมันจะแยกออกเป็น 3 ส่วนนะ คือ Pre-Production ก็คือส่วนของการเตรียมตัว ช่วง Production ก็คือช่วงของการออกกองถ่าย และช่วงสุดท้ายคือ Post-Production ซึ่งการทำเพลงจะอยู่ในส่วนนี้ แต่ในช่วงแรก เราก็ต้องเข้าไปคุยกับผู้กำกับและโปรดิวเซอร์บ้าง เพราะสิ่งที่เราจะต้องรู้ก่อนเริ่มแต่งเพลงเลยคือ ‘บรีฟ’ สำคัญมากนะ เพราะมันกำหนดทิศทางทุกอย่างเลย เนื้อเรื่องเป็นยังไง โทนหนังประมาณไหน เป็นรัก สยองขวัญ หรือแอ็กชันใดๆ แล้วในยุคนี้ส่วนใหญ่ทางทีมผู้สร้างจะมีสิ่งที่เรียกว่า Reference Music เพื่อเอามาให้เราดูเลยว่า เขาอยากได้เพลงประมาณนี้นะ แนวคิดที่เขาได้ในหัวคือแบบนี้ 

หลังจากที่ได้รับบรีฟแล้ว เราก็จะสร้างธีมใดธีมหนึ่งขึ้นมา แล้วค่อยขายผู้กำกับว่าถ้าเราทำธีมออกมาประมาณนี้มันโอเคมั้ย รู้สึกยังไงบ้าง แต่มันไม่ได้ดราฟท์แบบคร่าวมากอะไรขนาดนั้นนะ เช่น ถ้าสมมติเพลงนั้นเป็นออเคสตร้า เราก็ต้องเขียนออเคสตร้าเต็มเลย เพราะบางครั้งผู้กำกับหรือผู้จัดอาจจะไม่เข้าใจไอเดียของการทำ Draft Music ไม่เหมือนคนทำเพลงกันเองที่เรากดเปียโนไป ตึ๊ง เรารู้อยู่แล้วว่าอันไหนคือคอร์ดอันไหนคือเมโลดี้ แต่ถ้าเป็นคนทั่วไป มันอาจจะต้องทำไปทั้งหมดเพื่อให้เขาเข้าใจและเห็นภาพที่สุด คือมันก็คล้ายๆ เราทำ Storyboard ไปให้เขาดูแหละว่าซีนมันจะเป็นยังไง แต่แค่อันนี้เป็นดนตรี แต่พอดี Music Education ในไทยเราอาจจะยังไม่ได้ละเอียดมากพอที่ทุกคนจะเข้าใจได้ มันก็เลยต้องทำละเอียดมากขึ้น ซึ่งจริงๆ มันควรจะต้องเข้าใจเท่ากัน 

ทีนี้พอเราทำส่วนของ Storyboard ไปแล้ว ส่วนของเราที่ทำงานมันจะแยกออกไปอีกทีเป็น 2 แบบ อันแรกเรียกว่า Score to Pictures คือเราดูภาพแล้วแต่เพลงตามภาพ อันนี้คืออันปกติที่เราแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ เราก็จะได้ตัวอย่างที่เขาคัตติ้งมาให้ดูว่าซีนมันประมาณไหน แล้วเราก็แต่งเพลงไป ถ้าเป็นภาพยนตร์จะใช้วิธีนี้ แต่ว่าในงานละครหรือซีรีส์ที่มันมีหลายตอนมากๆ เราจะใช้วิธีการที่เรียกว่า Stock Music หรือ Music Library แทน ก็คือเราแต่งเพลงออกมาหลายๆ เพลงเลยตามบรีฟ แล้ว Editor หรือผู้กำกับจะเอาเพลงของเราไปตัดต่อเอง ซึ่งเพลงที่ออกมามันจะต่างกันมากๆ เลยนะ ถ้าเป็น Score to Pictures เราจะมีโอกาสสร้าง Variation หรือเชื่อมจุดต่อหรือส่งจุดต่างๆ ได้สมูทและสวยงามกว่า แต่ถ้าเป็น Stock Music เราถูกจำกัดด้วยการตัดต่อ เราไม่สามารถคอนโทรลตรงนั้นได้ เพราะฉะนั้นการเขียนเพลงของเราเลยจะค่อนข้างจำกัดกว่า คือคงไม่สามารถจะทำเพลง 4 ห้องแล้ว Variation ได้เลย แบบเปลี่ยนคีย์ปุบปับคงทำไม่ได้

จริงๆ คำถามนี้เราเคยโดนถามเมื่อปีที่แล้วนะ ในช่วงเดียวกันนี้เลย ตอนนั้นเราทำเพลงประกอบซีรีส์เรื่อง Groovin’On รักนี้ต้องอิมโพรไวส์ (2021) เป็นออริจินอลซีรีส์ของทางช่อง POPS ครับ ตอนที่ไปให้สัมภาษณ์เขาก็ถามเราแบบนี้แหละว่าทำอะไรบ้าง ซึ่งตอนนั้นเราร่วมงานกับหลายคนเลยนะ แต่สิ่งที่สนุกที่สุดคือ การได้เอาเพลงต่างๆ จากค่าย SpicyDisc มาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นแจ๊ส ซึ่งตอนนั้นน้องปิ๊ง ศรัทธา โรจนกตัญญู เป็นคนเรียบเรียง ส่วนเราเป็น Music Supervisor ก็คือไม่ได้ทำงานคนเดียวหรอก มีทีมงานช่วยๆ กันทำ ซึ่งก็ต้องอธิบายไปอีกนะว่า งานไหนเราทำคนเดียวได้ก็ทำ แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเดดไลน์ (หัวเราะ) ถ้างานไม่ได้รีบมากแบบหูตาเหลือก ทำคนเดียวก็ควบคุมคุณภาพและการทำงานได้ง่ายกว่า

‘ถ้างานไม่รีบมาก’ ระยะเวลาในการทำงานต่อหนังสักเรื่อง นานแค่เท่าไหนคือไม่รีบ

ไม่ได้รีบมากคือ 2 – 3 เดือนขึ้นไป แต่ระยะเวลาเท่านี้ไม่ใช่ต่อเพลงนะ ต่อหนังทั้งเรื่อง แต่แบบนี้ไม่ค่อยเจอหรอก ส่วนมากเจอแต่เดือนสองเดือนต่อหนังทั้งเรื่อง แบบใช่ๆๆๆ ก็คือโคตรรีบ งานสายศิลป์มันก็แบบนี้อะ ที่เขาพูดกันว่า ‘สร้างแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง’ อะไรนั่นอะ ไม่มีหรอกนะ ไม่มีเลย คว้าอะไรได้คว้ามาก่อน คนสายดนตรีถึงบอกกันไงว่า ถ้าอยากดูหนังเกี่ยวกับดนตรีอย่าไปดู Season Change (2006)  ไปดู Whiplash (2014) เพราะอะไร เพราะงานมันเครียดนะ เคยเห็นโคว้ตคำพูดในเน็ตมั้ย ที่เขาชอบพูดกันว่า ‘ลูกค้าสั่งวันนี้เอาเมื่อวาน’ นั่นเรื่องจริงนะ ลูกค้ามาบรีฟวันนี้ แต่ความจริงคือ ‘อ๋อต้องส่งงานเมื่อวานค่ะ รบกวนขอเย็นนี้ได้มั้ย’ ก็มีแต่คำว่าได้ครับ ก้มหน้าทำไป 

แล้วถ้าถามว่าเวลาสั้นขนาดนี้แต่งได้ยังไง เอาแมททีเรียลหรือแรงบันดาลใจมาจากไหน เราจะบอกว่าคือจริงๆ การแต่งเพลงพวกนี้น่ะ เราขอใช้คำว่า Practice Makes Perfect (การฝึกฝนทำให้เก่ง) มากกว่า คือพอเราเรียนคอมโพมา เราก็จะมีพื้นฐานด้านการแต่งเพลงประมาณหนึ่งอยู่แล้ว เราแค่เอามาดัดแปลงกับสิ่งที่ต้องใช้ในหนัง มันคือ Theme and Variation ปกติเลย ถ้าเอาให้เห็นภาพก็เหมือนเวลาศิลปินวาดรูป เขาก็จะเลือกวาดสิ่งที่คุ้นมือก่อน ในทำนองเดียวกัน เราที่ฟังเพลงของคนนั้นคนนี้มาเยอะมาก มันก็จะเป็นการแบบดูดๆ มาใช้ เช่น งานนี้มีซีนที่คล้ายกัน รักเหมือนกัน เราก็ไปดึงๆ มาใช้ เรียกว่าอุตสาหกรรมนั่นแหละ ตามสั่งมาก แต่ไม่ใช่ทุกงานที่จะทำได้ มันก็มีบางงานที่เปิดโอกาสให้เราได้คราฟท์ แต่สุดท้ายก็กลับไปที่ รีบคิดงานก่อนแหละ เอาให้ได้ตามสั่งก่อน แล้วก็อะก้มหน้าทำ (หัวเราะ)

นอกจากทำเพลงตามบรีฟแล้ว บางครั้งยังต้องเป็นนักจิตวิทยาด้วย

คือเราเชื่อว่าคนทำงานศิลปะน่าจะเจอปัญหานี้เหมือนกันหมด คือบรีฟที่ไม่เป็นบรีฟ เราใช้คำว่านั่งเทียน (หัวเราะ) บางทีเราได้อ่านบทเฉยๆ แต่ผู้กำกับไม่มีอะไรในหัวเลย เราก็ต้องนั่งเทียนออกมา อ่านบทแล้วตีความทั้งเรื่องออกมาเป็น main theme เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อตอนที่เราทำเพลงประกอบหนังผีเรื่องนึง เรารู้แค่ว่าเซ็ทติ้งของหนังผีเรื่องนี้จะอยู่ที่ไหน รู้แค่นักแสดงคือใคร แล้วก็รู้แนวว่าเรื่องนี้จะเป็น Comedy Horror รู้แค่อยากได้เท่ๆ ที่เหลือเราก็ต้องนั่งเทียนเอาเลย เขียนมันออกมาให้ได้ โชคดีนะที่เสนอไปแล้วเขาชอบมาก ก็เลยยึดอันนั้นเป็น Main Theme แล้วต่อยอดเอา 

หรือตอนนั้นเราเคยทำเพลงโฆษณาไปนะ 15 วิน่ะ ทำไปเกือบ 20 เวอร์ชัน มีแต่งใหม่ระหว่างนั้นด้วย สุดท้ายเขากลับไปเลือกตัวแรก  เคยเจอคำนี้อีก เราทำงานดีเกินไป เคยเจอเคสที่แบบว่าเราทำโปรดัคชันซาวด์ดีเกินไป ถ้านึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงละครช่องสีๆ ที่นางเอกกำลังนั่งมองนกมองฟ้า แล้วมีเสียงโอโบปลอมๆ ลอยมา ตอนนั้นเราทำเสียงโอโบจริงๆ คนอัดจริงๆ ไป แต่เขาไม่ชอบ อยากได้เสียงแข็งๆ เมื่อก่อนถ้าเจอแบบนี้เราก็สู้นะ แต่ตอนนี้ยึดตามความต้องการของลูกค้ากับเดดไลน์เป็นหลัก ก็คือรับผิดชอบงานให้จบก็พอ 

จุดที่คิดว่ายากที่สุดในกระบวนการทำงาน  

ต้องตอบแบบที่เดาได้ก่อน คือคิดว่าทุกงานยากง่ายไม่เหมือนกัน มันมีความยากแตกต่างกันไป ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่าง มันไม่มีคำว่ายากไปหรอกในกระบวนการ มีแค่ไม่คุ้นชิน อย่างก่อนหน้านี้เราบอกว่าคนจะทำเพลงต้องดูหนังก่อนใช่มั้ย แต่ต้องวงเล็บไว้หน่อยว่าส่วนใหญ่ที่เราได้ดู ประมาณ 80% มันจะยังไม่ใช่ Final Cut มันอาจจะมีเพิ่มหรือสลับบางซีนอะไรแบบนี้ ซึ่งการที่มันไม่ใช่งานไฟนอล มันก็ทำให้เราต้องทำไปก่อน สมมติการตัดต่อมันเปลี่ยน แล้วมันส่งผลต่อการเล่าเรื่องในซีนต่อๆ ไป เราก็ต้องทำเพลงใหม่ ก็ต้องแก้ คือมันก็ทำงานซ้ำซ้อนแหละ แต่เราก็ต้องเข้าใจนะ สมมติดราฟท์แรกมาแล้ว แต่โปรดิวเซอร์หรือทีมงานหรือใครก็ตามแต่ มองว่าการเล่าเรื่องแบบนี้มันยังไม่ดี เขาดูแล้วเขารู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ เขาต้องการจะเปลี่ยน เขาก็จะแก้คัตติ้ง พอแก้คัตติ้งแล้ว เราที่ทำเพลงก็ต้องแก้เป็นทอดๆ ไป ส่วนแก้มากแก้น้อยแค่ไหน ก็แล้วแต่ความซวยเลย ซวยสุดที่เคยแก้..ขอนึกก่อนนะ มันมีหลายระดับ ถ้าเอาแบบเบๆ ก็แก้ซีนแค่ไม่ถึง 10 วิ แค่ตัดออกลดทอน แต่ถ้าเอาที่เคยเจอเยอะที่สุด คือสลับลำดับใหม่เลย ถ้ามาแบบนั้นก็ต้องทำเพลงใหม่ ถ้าแค่แบบระดับวิสองวิ 10 วิเงี้ย มันแค่ music edit ขยับจังหวะนิดเดียวเพลงมันก็ขยับแล้ว แต่ถ้าเปลี่ยนลำดับภาพเราก็ต้องแก้ยกชุดเลย 

เอาจริงๆ เราคิดว่าคนทำอาชีพนี้น่าจะโดนกันทุกคน เพราะจากคนที่เรารู้จักในวงการนี้แล้วไปถามมาคือโดนทุกคน Hollywood เองก็เป็นนะ ถ้าหนังมันมีการปรับเปลี่ยนตัดมาใหม่ คนแต่งก็ต้องคิดตรงนั้นเลยเหมือนกัน ก็อุตสาหกรรมอะเนอะ แต่นั่นแหละ มันไม่มีอะไรยากที่สุดหรอก มันฟันลงไปเลยไม่ได้ คือบางงานเราโชคดีได้เข้าไปตั้งแต่ Pre-Production รับบรีฟอะไรมาแล้ว ในขณะที่เขาออกกองไปถ่ายกัน เราสามารถเขียนธีมเขียนเพลงให้เขาได้เลย แล้วถ้าผู้กำกับโอเค เขาก็จะใช้เพลงของเรานี่แหละในการไกด์อารมณ์เพื่อการถ่าย นี่คือโชคดีนะ แต่น้อย (ถอนหายใจ) เจอน้อยมาก ปกติเจอแต่ จะตัดต่อเสร็จแล้ว อีก 2 เดือนขอเพลงนะ แต่ก็ทำใจ เพราะมันคือ post-production ซึ่ง sound คือด่านสุดท้าย ทั้งเพลง เสียงประกอบ เสียงใดๆ Final Mix มันก็คือด่านสุดท้ายอะ ยิ่งในไทยเราอะ ส่งต่อการทำงานกันมาแบบนี้ คือไม่ได้บอกว่าต่างประเทศไม่มีนะ มีแหละ แต่มันไม่ได้เยอะเท่านี้ คือไทม์ไลน์มันคล้ายๆ กัน (หัวเราะ) ที่เคยไปทำมาก็คือที่จีน มาเลเซีย พม่า แล้วก็เกมของฝั่งอเมริกาก็มีเล็กๆ น้อยๆ แต่ส่วนมากก็เนี่ยแหละ ฝั่งเอเชีย มันคล้ายกันตรง Process อื่นๆ มันเสร็จหมดแล้วล่ะ แต่เพลงกับซาวด์ประกอบมันมัดรวมกันมา โดนด่านสุดท้ายตลอด แบบ Always (เน้นทีละพยางค์) เป็นแบบธานอสอะ ‘I am inevitable’ หลีกเลี่ยงไม่ได้ (หัวเราะ)

กระบวนการอาจจะไม่ได้ยาก งั้นถ้าให้พูดถึงงานที่เคยทำมาแล้วยากที่สุด

อะตอบแบบเดิม ทุกงานยากง่ายไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเอาที่ส่วนตัวจริงๆ นะ แบบที่เจอทุกครั้งแล้วก็รู้สึกว่ายากทุกครั้งเลยคือ ละครซีรีส์จีน คือของไทยอะ เราพอจะนึกภาพออกนะว่ามันจะออกมาประมาณนี้แหละ เพราะเราเป็นคนไทยอะเนอะ เราพอจะรู้ว่าวัฒนธรรมประเพณีบ้านเราเป็นยังไง ประเด็นคือ ละครจีนซีรีส์จีนอะ แม่ง 40 ตอน มันเยอะมาก (ลากเสียง) แล้วแม่งเหมือนละครเวทีอะ แบบที่นางเอกมองนกมองไม้แล้วเพลงต้องมา ความยากคือเราต้องเข้าใจวัฒนธรรมเพลงของเขาก่อน ซึ่งทุกวันนี้ที่ทำมา 2-3 เรื่องแล้วก็ยังไม่ชิน คือจริงๆ นอกจากละครจีนแล้ว หนังจีนเราก็ทำมาประมาณหนึ่งนะ แต่ยิ่งถ้าเป็นละครจีนแบบพีเรียตที่ใส่ชุดยาวๆ เหินฟ้ากันนะ โหโคตรยาก ยาก ยาก ยังดีนะที่ทุกครั้งเวลาเราทำงานจีน มันยังมี supervisor เจ้านายเราเขาเป็นคนจีน เขาก็จะบรีฟเราว่าเพลงของเรื่องนี้มันควรจะต้องออกมาประมาณไหน พูดง่ายๆ คืองานที่ยากจริงๆ สำหรับเรา คืองานวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นชินนี่แหละ จีนพีเรียตมากๆ หรืออาหรับพีเรียตมากๆ พอเราเรียนเพลงคลาสสิคมา ความคุ้นชินวัฒนธรรมอเมริกันและยุโรปมันสูงกว่า  เช่น มันมีงานนึงที่เราได้ทำเพลงเกม แล้วเหมือนเขาอยากได้แนวแบบ บาค (Johann Sebastian Bach 1685-1750) เป็นฟีลบาคอะ งานนั้นเราเสกใน 2 ชั่วโมง เพราะมันมีแนวทางของมันอยู่แล้ว แล้วความเป็นบาโรก (Baroque period, (17th–18th Century)) มันมีทางเลือกอยู่แค่นั้น

ในขณะที่ถ้าเราเจอเพลงที่มีความพีเรียตมากๆ หรือใหม่มากๆ เราก็ต้องไปทำรีเสิร์ชเครื่องดนตรี แถมต้องเลือกวิธีใช้งานมันอีก ที่เจองานล่าสุดนี่ก็เพิ่งรู้ว่าผีผา (Pipa) ที่กรีดตรึ้งๆ เนี่ย แต่ละการกรีดมันมีความหมายด้วยนะ เช่นแบบเยอะไปจะเป็นผู้หญิงอะไรแบบนี้ ซึ่งตรงนี้อะ Supervisor จะต้องบอกเรา ทั้งหมดนี้มันคือวัฒนธรรมบ้านเขาที่เราไม่คุ้นชินน่ะ ตอนทำยุโรป มันมีเซ็ตคอร์ดหรือโน้ตที่เราใช้เป็นสูตรได้ แต่การทำงานฝั่งเอเชีย หลายครั้งมันไม่ได้จบที่ Pentatonic มันมีสเกลอื่นอีกมากมายที่เราใช่มั่วไม่ได้ นี่แหละความยากทางวัฒนธรรม ที่เราต้องรู้วิธีการเล่นของเครื่องดนตรีและสเกลของเครื่องนั้นๆ ด้วย ซึ่งยาก ยากมาก ส่วนตัวคือถ้าเทียบกับงานในไทย งานบ้านเราง่ายกว่ามาก โดยเฉพาะซีรีส์ละคร ซีรีส์ละครในไทยมันจะมีสูตรสำเร็จบางอย่าง ต่อให้เป็นซีรีส์สมัยใหม่ แนวเรื่องแบบสืบสวนสอบสวนก็จะมีสูตรสำเร็จบางอย่างในการเล่าเรื่องแบบนั้นอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเอาตามความเป็นจริง ซีรีส์แนวนี้สืบสวนสอบสวนเนี่ยก็มาจากทางอเมริกัน มันก็มีวัฒนธรรมร่วมบางอย่างที่ไม่ได้ยากขนาดนั้น 

งานที่ชอบที่สุดและงานแบบไหนที่ยังไม่มีโอกาสได้ทำสักที 

เอาแนวเพลงที่ชอบทำก่อนแล้วกันนะ ที่ทำแล้วชอบที่สุดคือทำออเคสตร้า อาจจะเพราะมันเกี่ยวกับการที่เราชอบ John Williams อะ เราเลยชอบแบบนี้มากๆ อย่างปีที่แล้วมีโอกาสได้ทำหนังสั้นคล้ายๆ Star Wars แต่เป็น Parody (หนังล้อเลียน) เราอะเขียนดนตรีประกอบเกือบทั้งเรื่องที่เป็นสไตล์ John Williams หมดเลย คือเรานั่งทำแบบวันสองวันเสร็จ ทั้งเรื่อง เพราะความคุ้นชิน แต่เราไม่ได้เจองานที่เราชอบบ่อยๆ หรอก นี่คือความยากอย่างหนึ่งของการทำอาชีพนี้ ความยากของการเป็น film composer คือการต้องแต่งเพลงให้ได้ทุกสไตล์ เราเลือกไม่ได้ อย่างเนี่ยตอนนี้เราแต่งหมอลำเป็นแล้วนะ เพราะเราทำ ผู้บ่าวไทบ้านภาค 2 – 4  คือหมอลำเนี่ยไม่ได้ง่ายนะเว้ย ตอนแรกปัญหาเยอะมาก เราเขียนกลองชุดไปอยากให้เป็นหมอลำ แต่ดันออกมาเป็นสามช่า เราก็ต้องให้คนอื่นที่เขาเป็นกว่ามาช่วยสอน 

ส่วนที่อยากทำแต่ไม่มีโอกาสสักทีคือ การ์ตูนกับแอนิเมชัน ที่เคยลงมือทำไปจริงๆ จะเป็นแอนิเมชันฟีลๆ Sci-Fi หน่อยแบบ Ice Age (2002) แต่ว่าเป็นการ์ตูนสั้น ประมาณ 6-10 นาที ยาวๆ เลยนี่ยังไม่เคยทำ ไม่มีโอกาสเลย อาจจะเพราะมันไทยด้วยแหละ คงต้องรอลูกค้าต่างชาติ ถ้าเอาที่ดูเป็นไปได้ที่สุดก็คงจีน ตั้งแต่เราทำงานกับเขามา งานประเทศเขาดีขึ้นเรื่อยๆ เคยทำงานนึงที่ผู้กำกับเป็นคนไทย แต่ทุนสร้างเป็นของจีน เป็นหนังสัตว์ประหลาด ผู้กำกับตอนนั้นก็คือพี่แน็ต ชาติชาย เกษนัส ก็คือตอนนี้กำลังกำกับ จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี (2022) ละครทางช่อง ThaiPBS มันเป็นละครเฉพาะกลุ่มหน่อย เราก็มีส่วนในการทำเพลงของเรื่องนี้ คือมันก็จะมีงานที่แมสกับไม่แมสแหละ แต่พอเราทำไปเรื่อยๆ เออมันมีตลาดเฉพาะกลุ่มด้วยว่ะ เช่น ผู้บ่าวไทบ้านที่เราทำมา แม่งมี 4 ภาคแล้วอะ ตอนแรกเราก็สงสัยนะ ทำไมมันยังขายได้ แต่กลายเป็นว่าหนังเรื่องนี้เจาะตลาดกลุ่มคนอีสานได้ดีมาก เราก็เป็นคนอีสานนะ แต่เราก็ไม่ได้รู้เลย อาจจะเพราะเราอยู่ในเมืองทำงานตรงนี้ ก็เลยไม่ได้มีเวลาไปศึกษาตลาดอื่นเท่าไหร่

กลับมาที่งานของพี่แน็ต งานของพี่เขาจะเจาะกลุ่ม culture เป็นหลัก ไทย พม่า อย่างก่อนหน้านี้พี่เขาก็ทำงานพม่ามา 2-3 เรื่องแล้ว ตอนนั้นเราไม่ได้ทำนะ แต่ก็พอจะรู้ขั้นตอนอยู่

ส่วนงานที่เราเพิ่งทำไปเป็นหนังผี ชื่อว่า The Only Mom (มาร-ดา 2019) อันนั้นก็คือเจาะตลาดฝั่งพม่าเลย

เล่าจุดเริ่มต้นของการทำเพลงประกอบจากเจ้าพระยาสู่อิรวดีให้ฟังหน่อย 

งานนี้อะใช้เวลานานมาก มันฉายปีนี้นะ 2022 แต่ความจริงเรื่องนี้เริ่มก่อนต้นปี 2021 ด้วยซ้ำ คือมันถอยไปนานกว่านั้นอีก จำได้เลยว่าวันแรกที่พี่แน็ตเรียกประชุม ไปรับบรีฟ คือคุยกันมานานมาก เพราะปีที่แล้วมันมีโควิด-19 ใช่ป่ะ แล้วมันก็มีเรื่องสงครามในพม่าที่ค่อนข้างรุนแรง แล้วตัวพระเอกในเรื่องอะ เดาง์ (รับบท สะสะ) เขามีความเห็นทางการเมืองที่ค่อนข้างชัดเจน ทำให้เขามีปัญหาในการออกกอง คือเอาจริงๆ แผนแรกๆ ของพี่แน็ตเขาอะ ต้องมีไปถ่ายที่พม่าด้วย ต้องไปหาโลเคชั่นที่นั่นด้วย แต่พอเขาถ่ายไปประมาณนึงมันมีเรื่องปิดประเทศและมีเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบเข้ามา ก็เลยต้องถ่ายไปพักไป แถมคนในกองมีติดโควิดอีก ก็เลยต้องถ่ายๆ พักๆ ระยะเวลามันก็เลยยืดมาเรื่อยๆ จากต้นปี 2021 มาออกต้นปี 2022 คือนานมาก ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะนานขนาดนี้ ซึ่งในตอนนั้นพอรับบรีฟจากพี่แน็ตก็เริ่มทำงานเลย แต่ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะยืดมาจนถึงทุกวันนี้เหมือนกัน (หัวเราะ) 

ตอนที่เราได้รับบรีฟมา พี่แน็ตก็เล่ามาว่าแกต้องการการเพลงประมาณไหน อารมณ์แบบไหนจะได้ใช้เยอะที่สุด ก็คือเขาจะบอกเราเลยว่าอยากได้ Orchestra Period ที่ฟังดูไม่เก่ามากจนเกินไป คือต้องทันสมัยหน่อย แต่ว่ามันจะมีโจทย์นึงที่คนแต่งเพลงจะต้องระวัง ตอนนั้นพี่แน็ตเล่าว่าในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นน่ะ เครื่องดนตรีไทยบางชิ้นยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นมันมี 2 เครื่องหลักๆ เลยที่ห้ามใช้คือ ระนาดทุ้ม กับฆ้องวงเล็ก เขาอยากให้ตัวดนตรีเอง มันกลืนไปกับตัวหนังด้วย เราก็ต้องไปกากบาทตัวแดงๆ ไว้เลยว่า เออเครื่องดนตรีไทยชิ้นนี้ใช้ไม่ได้นะ 

นึกออกละ แรกเริ่มสุดเลยก่อนที่จะคุยเรื่องเพลงประกอบ พี่แน็ตเขาพูดว่าในซีรีส์เรื่องนี้เขาจะใช้เพลง เสน่หา (ต้นฉบับโดยสุเทพ วงศ์กำแหง) เป็นธีมหลักของเรื่อง ฟีลเพลงมันจะคล้ายๆ My Heart Will Go On ที่ประกอบกับ Titanic (1997) ประมาณนั้นเลย คือก่อนที่เขาจะพูดเรื่องสกอร์เขาพูดเรื่องเพลงเสน่หาก่อน บรีฟแรกสุดที่เราได้ก็คือเพลงนี้ โดยที่พี่แน็ตบอกว่าเราอยากได้เพลงเสน่หาในมู้ดที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ซึ่งเวอร์ชันแรกสุดของเพลงนี้ที่ทุกคนได้ยินกันเลยคือเวอร์ชันพม่า พอเราทำ Backing Track ไปปุ๊ป ผู้กำกับแฮปปี้ พี่แน็ตชอบเลย เคาะเลยว่าเอาอันนี้แหละ เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน จริงๆ เขาก็มีเรฟมาให้ประมาณนึงเพื่อให้เราเห็นภาพขึ้น ส่วนเราก็ไปทำการบ้านมา ซึ่งมันคือคนละเวอร์ชันกับที่ปล่อยทางยูทูบตอนนี้นะ แรกเริ่มจริงๆ มันจะไม่มีเสียงร้อง แต่ตอนที่เราทำ เรานึกถึงเสน่หาต้นฉบับ ซึ่งมันเป็นเพลงร้องไง พอถึงตอนที่เพลงเสร็จเอาไปให้พี่แน็ต เขาก็อะไหนลองเอานักร้องมาร้องดูซิ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่กว่าจะลงตัวที่เป็นพม่าเนี่ย ขยับไปขยับมาบ่อยมาก คิดเยอะมากว่าเราจะสื่อมันออกมายังไงดี สุดท้ายแล้วออกมาเป็นเวอร์ชันพม่า ตอนนั้นคือซีรีส์ใกล้จะฉายแล้วแหละ ช่วงประมาณตุลาคม – พฤศจิกายนแล้ว ก็เคาะกันเลยว่าเอาเพลงนี้เป็นคนร้อง ร่วมกับว่าตอนนั้นฉากในช่วงกลางๆ ถึงท้ายๆ ของซีรีส์ จะมีฉากของเดาง์ที่นึกถึงนางเอก เลยแบบโอเคเอาเวอร์ัชันพม่าไปเลย

ย้อนกลับไปก่อนเผื่อจะงง เสน่หาเนี่ยมันมีหลายเวอร์ชันใช่มั้ย มีทั้งพม่าและไทย เราอะทำแค่เวอร์ชันพม่านะ ส่วนไทยจะเป็นน้องอีกคนทำ คือพี่แน็ตเขาอยากได้เสน่หาในหลายๆ เวอร์ชัน มันก็เลยมีทั้งการเอาน้องแตงโม สยาภา สิงห์ชู มาร้อง กับเวอร์ชันพม่า ซึ่งเวอร์ชันพม่าที่เราได้ยินในซีรีส์ก็เป็นนักร้องชาวพม่านะ ซึ่งอัดเสียงมาจากทางพม่าเลย ไม่ใช่เดาง์ อัดเสียงมาก่อนเลยแล้วเราก็ค่อยมามิกซ์มาอีดิท แล้วค่อยส่งให้พี่แน็ตไปตัดลงซีรีส์ ซึ่งพอตัดเอาไปลงกับฉากที่เดาง์คิดถึงนางเอก ปรากฎว่าเรตติ้งมันดีมาก มันดันพีคมาก ซึ่งก็ดันไปตรงกับความต้องการแรกเมื่อปีที่แล้วแหละ ที่อยากให้เดาง์ร้อง แล้วตอนนั้นเราก็เอาตัวอย่างเพลงไปให้อัดไปให้เดาง์ลองร้องแล้วด้วย แต่เพราะตอนนั้นอะไรบางอย่างมันยังไม่เข้าที่ มันก็เลยยังไม่ได้ แต่พอมารอบนี้คือมันพร้อมทุกอย่างละ ก็เลยเอาวะ ให้เดาง์มาลองร้องอีกรอบ กับให้น้องแตงโมมาร้องเป็นไทย – พม่า คู่กัน ก็เลยออกมาเป็นเอ็มวีตัวนั้น 

เอาจริงๆ ขั้นตอนการ อัดเสียงของเดาง์อะ เราได้คนช่วยไว้เยอะมากเลยนะ เช่น อาจารย์หน่อง อานันท์ นาคคง ที่ปรึกษาด้านดนตรีที่อยู่กับพี่แนท ก็ได้ทั้งสองคนนี้แหละช่วยกันตบทั้งเพลงทั้งสกอร์ให้เข้าที่ อัดเสียงวันเดียวเองนะเวอร์ชันนี้ แต่ก็หลายชั่วโมงอยู่ แต่สุดท้ายแล้วตอนที่ทำอันนี้อะ เราไม่ได้ทำคนเดียวนะ คนที่ทำสกอร์หลักๆ น่ะมี 3 คน ก็แบ่งๆ กัน ช่วยๆ กัน 

เรามีเพลงประกอบภาพยนตร์ไปทำไม

มีไปทำไมเหรอ เอาจริงๆ ไม่มีก็ได้นะ คือมันแล้วแต่ความต้องการของงานชิ้นนั้นๆ อะว่าเขาอยากให้มันเป็นแบบไหน อย่างเช่นงานบางงานที่เขาดีไซน์มา แล้วมันสามารถเล่าเรื่องทุกอย่างใน 1 ชั่วโมงครึ่งแล้วเข้าใจ มันก็ไม่จำเป็นต้องมีเพลงก็ได้ เคยดูเรื่องนี้มั้ย Mother (2017) คือหนังไม่มีเพลงเลยนะ แต่เล่าเรื่องเข้าใจหมดเลย กรณีแบบนั้นมันก็มี

แต่มันก็มีบางเรื่องนะที่ขาดเพลงแล้วหลงเลย เช่น Star Wars (1977-2019) ดังนั้นทุกอย่างมันก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของหนังนั่นแหละ ต้องมาดูว่ามันมีความจำเป็นต้องใช้เพลงในการอุ้มหนังเรื่องนั้นหรือไม่ ก็เลยตอบว่าจริงๆ ก็ไม่จำเป็นหรอก ถ้าโปรดิวเซอร์หรือผู้จัดเขามองว่าหนังเขาสามารถเล่าได้ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเพลงก็ได้ อย่างเรื่อง Signs สัญญาณสยองโลก (2002) เอ้ยหนังเก่ามากเลยว่ะ (หัวเราะ) หนังเอเลี่ยนอะ หนังฝรั่ง ที่มันเป็นวงอยู่ในไร่อะ ที่ทำนองเพลงมัน ตื่อดือดึดๆ (ฮัมทำนอง Signs – Main Titles) จะบอกว่าจริงๆ อะ M. Night Shyamalan เขาดีไซน์ตอนแรกเลยคือ เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีเพลงก็ได้ อันนั้นเขาคิดไว้แบบนั้นเว้ย แต่พอเขาไปคุยกับ James Newton Howard ซึ่งเป็นคอมโพเซอร์เรื่องนี้ เขาบอกว่าให้ลองใส่เพลงดูมันช่วยเสริมแน่ๆ แล้วก็เลยได้ออกมาเป็นไอ้ตื่อดือดึดๆ นั่นอะแหละ คือเพลงมันก็มีบทบาทหน้าที่ของมัน เหมือนเป็นตัวเสริม ไม่ใช่ตัวหลักซะทีเดียว เป็นตัวชี้นำอารมณ์คนดูอีกที  เพราะหนังบางเรื่องหรือละครบางเรื่อง ต้องการเพลงที่ชี้นำคนดู เช่น หนังผีทั้งหลาย 

เอาจริงๆ ตั้งแต่เราเริ่มทำงานมา คือเราเริ่มเข้ามาด้วยการเข้าบริษัททำเสียง แล้วเครดิตบริษัท Vanilla Sky นี่น่ะ เป็นเครดิตที่ได้มาจากหนังผีพวกนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นงานแรกๆ ที่เราทำก็จะเป็นหนังผี หนังพวกนี้แหละ ใช้เพลงชี้นำคนดูเยอะมาก คือเราทำเยอะมากอะ ตอนนั้นเริ่มทำ มอญซ่อนผี Ghost Ship (2015) ของทาง Five Star ถ้าถามว่าทำแล้วเป็นยังไง ก็ทำจนเลิกกลัวผีไปเลย (หัวเราะ) ทำจนทุกวันนี้ดูหนังผีได้ทั้งที่เมื่อก่อนกลัวผีมาก คือ Insidious (2010) หรือ Conjuring (2013) เรานั่งดูแบบนี้เลย (ทำหน้านิ่งๆ) คือหนังมันจะมีจังหวะของมันอยู่ ยิ่งหนังผีนี่ยิ่งชัด ดังนั้นเราขอตอบว่าเพลงประกอบภาพยนตร์มีขึ้นเพื่อให้หนังมันเล่าเรื่องได้ดีขึ้นแหละ จะมีหรือไม่มีก็ได้ 

ระยะเวลา 8 ปีที่ทำงานอยู่ในสายอาชีพนี้ เห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการยังไงบ้าง 

ข้อแรกคืออาชีพนี้เติบโตและแพร่หลายขึ้นมาก หรือไม่แน่ใจว่าเพราะรู้จักคนเยอะขึ้นด้วยหรือเปล่า ก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ มีคนชอบทำงานสายนี้ประมาณนึงนะ แต่ว่าด้วยโอกาสด้วยแหละว่าใครจะได้รับโอกาสในการทำงาน คือถ้าถามว่าพัฒนาการของวงการบันเทิงในไทยมันเติบโตกว่าสมัยสิบปีที่แล้วมั้ย เราว่ามันเติบโตขึ้นเยอะนะ โดยเฉพาะ อันนี้ในมุมที่ตัวเองผ่านงานมา เรายังได้รับโอกาสที่จะได้ทำงานในซีรีส์หรือหนังที่มันมีเกรดดีประมาณนึง แต่ก่อนเราอาจจะเห็นแค่ละครหรือซีรีส์ผัวเมียตบตีกันอะไรอย่างงี้ใช่ป่ะ แต่เราได้ทำซีรีส์ที่เป็นสืบสวนสอบสวนเหมือนหนังฝรั่งหรืออะไรพวกนี้เยอะมากขึ้น ก็รู้สึกว่าจริงๆ ทีมงานเขาก็มีแพชชั่น มีมุมมอง มีสิ่งที่ต้องการพัฒนาวงการให้มันดีขึ้น แต่ถ้าถามว่ายังไปได้อีกมั้ย โห ยังต้องการพื้นที่ในการเติบโตอีกเยอะ ส่วนตัวจากที่ทำงานมา คือคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆนะ คือคนไทยมีฝีมือเยอะ เยอะมากๆ แหละ รู้จักหลายคนแล้ว แต่ด้วยอะไรก็ไม่รู้มันไม่เอื้อให้คนมีฝีมือมันเติบโตในบ้านเราเลยเว้ย นั่นแหละ ถ้าถามโดยรวมนะ วงการดนตรี มันมีคนเก่งแหละ ทุกวันนี้เราก็เห็นหลายๆ คนเติบโต คือเราก็เป็นหนึ่งคนที่ไม่ได้เก่งอะไรขนาดนั้น แค่เอาตัวรอดได้ ก็เห็นว่าจริงๆ คนเก่งก็มีเยอะ แล้วส่วนใหญ่คนเก่งๆ ก็คือไปเติบโตที่อื่นหมด ซึ่งก็ดีแล้วสำหรับเขา (หัวเราะ) 

แต่สำหรับเรา เราก็อยากเติบโตในทุกๆ ที่ที่มีโอกาส เราไม่อยากปฎิเสธงาน ถ้ามีโอกาสในจำนวนบัดเจทที่เหมาะสม เราก็จะทำ ต้องเลิกคิดก่อนนะว่าทำอาชีพนี้แล้วจะรวย ยิ่งฝั่งอเมริกานี่ต้องคิดดีๆ เลย ดังนั้นก็นอกจากเรื่องการเติบโตแล้ว เม็ดเงินมันก็สำคัญแหละ มันก็ต้องคุ้มค่า อยู่ในเรทที่เหมาะสมด้วย ซึ่งจุดนี้วงการในไทยเราต้องพัฒนาอีกเยอะ 

จากวันที่เป็นพนักงานประจำ จนวันที่เป็นฟรีแลนซ์มองว่าตอนนี้ Work Life Balance รึยัง 

ยัง (ตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น) ต้องการงานที่ได้เงินเยอะขึ้นแล้วก็เวลาพักผ่อนเยอะขึ้นมากๆ เลย คืออย่างที่บอกว่าด้วยความเป็นเดดไลน์ บางทีเราทำงานหามรุ่งหามค่ำ ปีที่แล้วเราได้พักจริง คือช่วงปีใหม่นะ ได้หยุดแบบ long แบบ 4-5 วัน 7 วัน สองวีคต่อกันคือแค่ช่วงปีใหม่แค่นั้นเอง แล้วเราเป็นคนเลือกเองด้วยว่าจะหยุด คือบอกคนที่จ้างว่า ‘รับงานนะครับ แต่ยังไม่ทำ เพราะปีนี้ยังไม่ได้พักเลย ขอพักก่อน’

เพราะบทเรียนสำคัญที่สุดที่เราได้เรียนรู้ตอนทำงานนี้เลยคือ ตอนนั้นมีรุ่นพี่คนนึงพูดกับเรา รุ่นพี่ที่ทำงานด้วยกันนี่แหละ เขาบอกว่า

 ‘เราทำงานเราทุ่มเทให้ตรงนั้นก็จริง แต่เราต้องทุ่มเทให้ตัวเองบ้าง’

คนในวงการทุกคนเขารู้กันอยู่ ว่าเราทุ่มเทให้กับงานตรงนี้มากประมาณนึงแล้ว ต้องรักษาสุขภาพดูแลตัวเองทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต คือจริงๆ แล้วในวงการน่ะ มีคนที่ประสบปัญหากับสุขภาพจิตใจค่อนข้างเยอะนะ อย่างตอนทำงานที่บริษัท ก็มีไปหาจิตแพทย์เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า กินยาดูแลตัวเองอยู่เป็นปี ปีกว่าๆ เลย หรืออย่างตัวเราเองตอนที่รู้ตัวว่าไม่ไหวแล้วต้องไปหาหมอแล้ว ก็เพราะมีอาการนั่นแหละ เป็นความรู้สึกทั่วไปที่สามารถหาในกูเกิ้ลได้ว่า ‘อาการซึมเศร้ามันเป็นยังไง’ คือความรู้สึกพื้นฐาน แล้วก็ปรึกษากับเพื่อนสนิท คือเพื่อนมีเจ้านายที่เป็น เพื่อนก็เลยแนะนำให้ไปที่นี่ๆ ก็เลยเริ่มเข้ากระบวนการรักษา พอไปเจอหมอ ได้ทำแบบทดสอบก็ใช่เลย

แต่เอาจริงๆ ส่วนตัวเราคิดว่ามันเป็นผลพวงมาจากหลังเรียนจบ เพราะตอนที่เราเรียนจบ เรามีปัญหาเรื่องการเรียนต่อ มันไม่ได้เป็นแบบที่คาดหวัง มันเลยต้องมาทำงานเลย แล้วเราอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ ถูกสอนมาว่าให้ทำงานตามใจตัวเอง แล้วพอเรามาเจอ Commercial Music จริงๆ มันกลายเป็นเราต้องมาทำงานตอบโจทย์คนอื่น ซึ่งมันขัดกับทุกอย่างที่เราเคยได้เรียนและถูกสอนมา เราปรับตัวไม่ทัน ช่วงนั้นเราเป๋เลย เคยทะเลาะกับลูกค้าด้วยนะ หนักมาก ซึ่งแบบแย่มากนะ ไม่ดีเลย ไม่ดีมากๆ ไม่ว่าใครที่กำลังทำงานอะไรอยู่อย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง (หัวเราะ) ตอนนั้นน่าจะเป็นเพราะทำงาน 2 – 3 งานทับซ้อนกัน แล้วสติแตกด้วย อันนั้นน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่พีคที่สุดแล้วเท่าที่ทำงานมา คืองานนั้นจำได้เลยว่าพอทะเลาะกับลูกค้า จนถึงจุดที่เราระเบิดปุ๊ป เราป่วยเลย ทำงานเสร็จ 3 วันไม่ได้ไปออฟฟิศเลย นอนซมอยู่ที่บ้าน เพราะว่าก่อนหน้านั้นเราทำงาน 12 ชั่วโมงบวกๆ แบบที่ไม่ได้นอนเลย นั่งหน้าคอมตลอดกดตึกๆ ตลอดเวลา 

ดังนั้นย้อนกลับไปเมื่อกี้ ถามว่ามันบาลานซ์รึยัง ก็ยังหรอก แต่ถ้าถามว่าเราเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนมันมั้ย แน่นอน ตอนนี้เราก็มีความคาดหวังนะ อาจจะดูมโนไปหน่อย (หัวเราะ) แต่เราก็ยังทุ่มเทกับงาน คืออยากทำงานที่สเกลใหญ่เท่า John Williams คือได้ตอบโจทย์ในการเขียนเพลงที่มีความเป็นตัวเอง รู้สึกแฮปปี้ที่จะทำ ได้ตอบโจทย์ตัวเองด้วย ได้เสิร์ฟงานลูกค้าด้วย ได้ทำงานที่รักและถนัดด้วยค่าตอบแทนที่คุ้มค่า อันนั้นแหละจะเป็น Work Life Balance สำหรับเรา 

นักดนตรีและศิลปินส่วนมากเป็นซึมเศร้า ส่วนตัวคิดว่าจริงมั้ย 

มันคงมีส่วนแหละ ไม่ใช่แค่ดนตรีแต่เป็นงานศิลปะทั้งหมด คืองานศิลปะเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ต้องใช้มู้ดบางอย่างในการสร้างผลงาน อย่างเราเนี่ยต่อให้พูดว่าเราทำงาน commercial นะ ทำงานเสิร์ฟความต้องการลูกค้า ซึ่งไอ้พวกนี้อะ มันเพิ่มไปอีกระดับเลยนะ เพราะเราต้องเค้น ต่อให้เราไม่มีอารมณ์เขียนเพลง ณ ตอนนั้น เราก็ต้องมี คือเดดไลน์ 2 ทุ่ม ทุ่มนึงเรายังไม่ได้งานเลยก็ไม่ได้ มันต้องเค้นอะไรก็ได้ออกมา ณ ตอนนั้น ซึ่งเราคิดว่าแค่คิดเฉยๆ นะ บางทีอาจจะเป็นเพราะเราทำต่อๆ กัน มันทับถมไปเรื่อยๆ บวกกับตอนนั้นยังบริหารความคิดตัวเองไม่เป็น มันเลยอาจจะก่อให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมา คิดว่าเป็นประมาณนี้ ส่วนตอนนี้ไม่ได้เจอหมอมาหลายปีละ  2 – 3 ปีได้แล้ว ก็ไม่ได้รักษาแล้ว แต่อย่างที่หมอบอกนั่นแหละ ยาอย่างเดียวมันไม่ได้ช่วย มันต้องปรับพฤติกรรมเราด้วย

อะอย่างตอนเราป่วยอะ จำไม่ได้ จำไม่ได้เลยว่าผ่านมาได้ยังไง จำได้แค่ว่าต้องเค้นให้ผ่านไปให้ได้ แล้วก็จำได้แค่นั้นจริงๆ ส่วนตอนนี้อาจจะดีหน่อยเพราะเรามีเพื่อนร่วมงานที่เราไว้ใจได้ ถ้าเรามีปัญหาเราก็ปรึกษาเพื่อนร่วมงานเลย เราสามารถขอความช่วยเหลือได้เลย ซึ่งจุดนี้เรามองว่ามันเป็น perk ของการเป็นฟรีแลนซ์ คือเราสามารถขอความช่วยเหลือคนอื่นได้ เพราะว่าตอนนั้นที่เราทำออฟฟิศอะ เราเป็นคนทำเพลงแค่คนเดียว ดังนั้นไม่ว่ามีงานอะไรก็ตาม สมมติเราถือหนังอยู่ แล้วมีงานโฆษณาเข้ามาก็ต้องทำเลย ขอความช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้เลย เพราะมันเป็นงานส่วนที่เราต้องทำ 

ตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์แล้ว ถ้าสมมติเรารับงานมา แต่มันมีงานแทรกงานซ้อน งานราษฎร์ งานหลวง เข้ามาแล้วทำไม่ทัน เราก็ขอความช่วยเหลือเลย เอาจริงๆ เราได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นเยอะมากเลยนะ เลยทำให้ผ่อนคลายลงไปได้เยอะ (หัวเราะ)  

มีจุดที่อยากเลิกทำอาชีพนี้ หรือมองเห็นตัวเองในอาชีพอื่นมั้ย 

อุ๊ย ให้ตอบเหรอ ทุกวัน (หัวเราะ) แต่ถ้าพูดถึงจุดอิ่มตัว เอาจริงๆ คิดว่าคงไม่เลิกทำ คงจะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพิการหรือเกิดอะไรขึ้น แต่จุดนึงก็คาดหวังว่าจะสามารถหาที่ทำงานที่รู้สึกสบายตัวกับตัวเอง ไม่ต้องรับงานเยอะจนทำไม่ไหว รับงานเท่าที่เรารู้สึกโอเค ในจำนวนเงินที่รับได้ด้วย ถ้ามองแบบมโนหน่อยคนปกติก็น่าจะเกษียณสัก 40-50 แต่ส่วนตัวเราคงยังต้องทำอยู่ ถ้ามีคนจ้าง (หัวเราะ) ไม่ต้องอะไรมากเลย ตอนนี้ John Williams อายุเท่าไหร่แล้วล่ะ หรือ Alan Silvestri ที่ทำ Avengers อายุเท่าไหร่แล้ว  เอาจริงๆ อยากทิ้งก็อยาก แต่รักก็รัก 

ส่วนอาชีพอื่นๆ ถ้าตอนนี้เราไม่ได้ทำดนตรี เอาจริงๆ มั้ย อยากทำงานในสวนสัตว์ หรือทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับสัตว์ เพราะชอบ รักสัตว์น่ะ (หัวเราะ) แต่เอาจริงๆไม่ต้องสวนสัตว์ก็ได้นะ แค่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ ได้เห็นก็ดีใจละ อยากไปดูแลสัตว์จริงๆแบบให้เขาอยู่ตามธรรมชาติ แค่เราได้เห็นก็ดีใจแล้ว 

สำหรับใครก็ตามที่อยากทำอาชีพแบบนี้ต้องเรียนอะไรบ้าง 

ถ้าใครอยากแต่งเพลงประกอบ แน่ๆ ก็ต้องไปเรียนแต่งเพลงแหละ คือต้องศึกษาความรู้เกี่ยวกับการแต่งเพลงนะ แล้วถ้าทำได้ก็ต้องศึกษาทุกประเภทด้วยนะ ในฐานะคนทำงานแต่งเพลงประกอบมันเลือกไม่ได้อยู่แล้ว เราต้องทำงานได้หลากหลายสไตล์มากๆ คลาสสิค คลาสสิคเก่า ป็อป ร็อค เมทัล ฮิปฮอป อีสาน ต่างประเทศ คัลเจอร์ มันต้องรอบโลกมากเลย เพราะมันเป็นสิ่งที่ควรจะต้องรู้ แอบเหมาะกับเป็ดนะ เอาจริงๆ เราไมไ่ด้ฟังแค่เพลงแนวๆ นี้นะ ป็อปแบบปกติเราก็ฟัง Lea Salonga เราก็ชอบ Idina Menzel เราก็ฟัง คนไทยคุณอิ้งค์ วรันธร เราก็ชอบ ป๊อป ปองกูล งี้  คือมันต้องฟังบ้างแหละ ส่วนถ้าเป็นคลาสสิคยังไงก็ชอบยุคโรแมนติก ฟังเพลงกว้างๆ อย่างตอน Star Wars ภาคแรก คนเขาก็พูดๆ กันนะว่า Lucas เอา Gustav Holst (20th Century) มาเป็นเรฟ คือมันก็มีคนถามแหละว่าก็อปมั้ย แต่จริงๆ เรามองว่ามันเป็นสิ่งที่เขาได้ร่ำเรียนมา ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นออริจินอลหรอก คือลิขสิทธิ์ในไทยมันก็ยังต้องพัฒนาต่อไปนะ แต่จริงๆ เรื่องนี้คุยกันได้อีกยาวๆ เอาจริงๆ ในวงการอื่นเราไม่รู้นะ แต่ในวงการฟิล์มเราจะรู้กันอยู่แล้ว ว่าลูกค้าหรือผู้กำกับเขาจะมีเรฟของเขาอยู่แล้ว เราอะถูกตีกรอบมาแล้วว่าเราอะ จะสามารถให้อิสระกับตัวเองและลูกค้าให้อิสระกับตัวเรามากแค่ไหน บางทีถ้าลูกค้าติดเรฟมากๆ ก็ต้องทำแบบนี้แหละ 

ฝากคำพูดถึงทุกคนที่ชอบงานของเรา และผลงานในอนาคตหน่อยค่ะ 

ขอบคุณ ขอบคุณครับที่มีความสุขกับหนัง หรือละคร หรืออะไรก็ตาม อะไรก็แล้วแต่ที่ได้ดูไป จริงๆ เราเป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้มันเกิดขึ้นเฉยๆ ไม่ได้สำคัญอะไรมากมาย แต่ก็ขอบคุณที่เขามีความสุข ถ้าคนดูมีความสุขเราก็ดีใจ ยกตัวอย่าง Voice – เสียงมรณะ (2019) ตอนนั้นเอาจริงๆ เหนื่อยมากนะ แต่มันเป็นงานแรกๆเลยที่คนถามกันเยอะมากว่าเพลงนี้คือเพลงอะไร เพลงนี้ดีจังเลย คือชอบงานชอบเพลงเราจริงๆ ตอนนั้นเรานั่งอยู่ออฟฟิศเลยนะ แล้วมีคนทักข้อความมาในเฟสบุ๊คของเพจ Vanilla เลยว่า เพลงนี้ของตัวร้ายอะ มีให้ฟังแยกไหม เขาชอบมาก เรียกว่าประสบความสำเร็จเลย เรามีความสุขมาก 

ส่วนผลงานตอนนี้ ที่เพิ่งออนแอร์จบไปคือ จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ผมแต่งเพลงกับทีมอีก 2 คน แล้วก็ทีม music edited ด้วย อีกอันที่เพิ่งทำเสร็จไป ยังไม่ได้ฉาย แต่เพิ่งปล่อยตัวอย่างเต็มๆ ออกมาคือ Leio โคตรแย้ยักษ์ (2022) เป็นหนังแอคชัน – คอมเมดี้ที่ก็ทำสกอร์ให้เหมือนกัน ช่องทางการติดต่อของตัวผมเองก็มีเว็บไซต์ครับ ไปดูผลงานที่ผมเคยทำได้ ผมพยายามอัพเดทเรื่อยๆ มี soundcloud ของทั้งสตูดิโอแล้วก็ตัวเอง ที่ก็จะพยายามอัพเดทนะครับ (หัวเราะ) Concept สำหรับปีนี้คือ 2565 จะว่างให้คุณจ้างเสมอครับ ไม่ว่างแต่จ้างได้ เสมอ//เน้นเสียง แค่ติดต่อมาเถอะครับ เดี๋ยวจัดการให้

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า