fbpx

จาก “โรงละคร” ถึง “โรงหนัง” แง้มม่าน “แมนสรวง” ผ่านเรื่องจริงยุคพระนั่งเกล้า

      เป็นเวลาร่วมครึ่งปีแล้วนับตั้งแต่ Be On Cloud ประกาศว่าจะสร้างภาพยนตร์ “แมนสรวง” โดยเลือก “มาย – ภาคภูมิ” และ “อาโป – ณัฐวิญญ์” เป็นนักแสดงนำ ห้วงเวลานั้นเร้าให้เราตื่นเต้นและรอคอยการมาสู่จอเงินของภาพยนตร์นี้ในทุกมิติเท่าที่จะนึกออก – ตื่นเต้นที่ภาพยนตร์วายจะบรรจบกับความเป็นภาพยนตร์พีเรียด ตื่นเต้นกับงานศิลป์ที่อลังการ ผสมผสานกับศิลปะการแสดงอย่างไทย และตื่นเต้นว่า “สารสำคัญ” ของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ยิ่งประกอบกับการโปรโมตที่ส่งเสริมศิลปะและย่านสร้างสรรค์อย่าง “ทรงวาด” ก็ยิ่งทำให้เราตื่นเต้นเข้าไปใหญ่

      เราคาดว่าความตื่นเต้นเหล่านั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อเราได้ชม “แมนสรวง”

      แต่ไม่เลย ความตื่นเต้นเหล่านั้นยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีก

      เนื้อเรื่องที่เข้มข้น ปมปัญหาที่ซับซ้อน นาฏยศิลป์ที่งดงาม ความสัมพันธ์สามเหลี่ยม (?) ของตัวละครหลักในวงแสดงอย่าง “เขม” นายรำฝีมือเอก “ฉัตร” มือตะโพน และ “ว่าน” เพื่อนรักของเขม รวมถึงการแสดงของนักแสดงทุกคนที่สมบทบาทจนเราอดชื่นชมไม่ได้ ยิ่งมี “ปอนด์ – กฤษดา” จาก KinnPorsche The Series เป็นผู้กำกับ เสริมทัพด้วย “แน็ต – ชาติชาย” และ “ครูหนิง – พันพัสสา” ซึ่งมาจากสายละครเวทีแล้ว ยิ่งขับให้แมนสรวง “ไปสุด” ในทุก ๆ องค์ประกอบ 

      และเมื่อพูดถึงภาพยนตร์หรือละครพีเรียดซึ่งต้องยอมรับว่ามีทั่วไปในตลาดแล้ว Pain Point สำคัญคือการศึกษาและตีความประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งหากอ้างอิงได้ดี ปรับใช้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ มีรสชาติกลมกล่อม ไม่มีรสใดรสหนึ่งโดดออกมา 

      การเลือกช่วงเวลาของเรื่องเป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ซึ่งปรากฏหลักฐานทั้งความหลากหลายทางเชื้อชาติ ความหลากหลายทางเพศ และการชิงไหวชิงพริบทางอำนาจของชนชั้นนำในสังคมจึงเป็นเรื่องท้าทาย เพราะผู้สร้างหลายคนใช้ช่องว่างในช่วงเวลานี้สร้างหนัง-ละครพีเรียดมากมายที่มีต่างรสกันไป

      “แมนสรวง” คือตัวอย่างภาพยนตร์ในช่วงนี้ที่มีรสกลมกล่อม น่าดูชมนัก

      เราจึงอยากพาทุกคนไปสัมผัสบางมิติที่มีอยู่ “จริง” และเชื่อมโยงกับ “แมนสรวง” ในฐานะเกร็ดสนุก ๆ ที่เพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง

      ว่าแล้วก็เตรียมตัวไปแง้มม่านดู “มหรสพ” กันเลยดีกว่า

“มิให้คนทั้งหลายสงสัย”
ความบันเทิง อำนาจ และชายรักชาย (?)

      สิ่งที่เราเห็นได้ชัดที่สุดจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือการพยายามชูบทบาทของฉากหลักอย่าง “แมนสรวง” ให้เป็นสถานเริงรมย์ที่เต็มไปด้วยยอดฝีมือด้านความบันเทิง ทั้งนายรำ นางโลม และวงดนตรี ที่ถึงแม้จะเป็นโรงมหรสพของคนจีนแต่ก็ครบเครื่องไม่แพ้ของคนไทย ที่แห่งนี้เองที่เขม (อาโป-ณัฐวิญญ์) และว่าน (บาส-อัศวภัทร์) ต้องเข้าไปแฝงตัวเพื่อค้นหา “ความลับสำคัญ” แลกกับการมีชีวิตที่ดีขึ้น

      แง่หนึ่ง การพยายามฉายให้เห็นถึงศิลปะขนบไทยอย่างการรำละครและดนตรีไทยอาจมองเป็นการชู Soft Power ในบริบทสังคมปัจจุบัน นึกภาพว่าถ้าเราเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ โชว์นาฏศิลป์ที่อลังการเป็นไฮไลต์หนึ่งที่เราต้องมาชมสักครั้ง แต่หากมองในอีกบริบทหนึ่ง การอุ้มชูศิลปะอันทรงคุณค่านี้เป็นแสดงให้เห็นถึง Hard Power อย่างชัดเจน 

      ย้อนกลับไปในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บรรดาเจ้านายและขุนนางผู้มีบรรดาศักดิ์ล้วนมีคณะละครและวงดนตรีเป็นของตน ธรรมเนียมเช่นนี้สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เลยทีเดียว และหากเป็นแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ เจ้านายและเจ้าคณะละครที่ทรงอิทธิพลที่สุดในบ้านเมืองคงจะหนีไม่พ้น “หม่อมไกรสร” (อดีตกรมหลวงรักษ์รณเรศ) ผู้เป็นเบื้องหลังสำคัญในการบริหารราชการในแผ่นดินดังกล่าว โดยถึงแม้จะครองตำแหน่งเจ้ากรมสังฆการี กำกับดูแลคณะสงฆ์ทั้งสยาม แต่อำนาจของหม่อมไกรสรไพศาลถึงขั้นตัดสินคดีความชี้เป็นชี้ตายผู้คนเลยทีเดียว 

      ทว่าอำนาจคือดาบสองคม บารมีของหม่อมไกรสรอาจล้นฟ้าจนคนทั้งหลายยำเกรง แต่บารมีล้นฟ้านี้เองก็ทำให้มีคนส่งบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนถึงความลุแก่อำนาจ จ้องจะซ่องสุมผู้คน “คิดการใหญ่” หากผลัดแผ่นดิน รวมถึงมีการร้องเรียนถึงพฤติกรรมความเป็นชายรักชายของหม่อมไกรสรซึ่งเกิดในโรงละครของตน ข้อกล่าวหาทั้งสองข้อนี้นำไปสู่การถอดยศลงเหลือเพียงเป็น “หม่อมไกรสร” และการประหารชีวิตในที่สุด จึงไม่แปลกเลยที่แมนสรวงจะมีกลิ่นอายของความเป็น “วาย” ในโรงมหรสพเช่นนี้ ยิ่งมีการเปรียบเทียบ “เขม” ว่า “งามดังอิเหนา” ที่อรชรอ้อนแอ้นก็เข้าขนบของตัวละครเอกหนึ่งในนิยายวายด้วย แถมยังสะท้อนถึงความนิยมเรื่องอิเหนาในชนชั้นสูง ชนิดที่ว่าสามารถท่องกันได้ เล่นละครก็ได้รับความนิยม แถมยังมีวรรณคดีล้อเลียนเรื่องอิเหนาอย่าง “พระมะเหลเถไถ” หรือ “ระเด่นลันได” ด้วย

      การมีวงดนตรีและคณะละครของชนชั้นสูงจึงอาจเป็นไปเพื่อประชันทั้ง “ฝีมือ” และ “อำนาจ” กัน เรียกได้ว่าถ้าวงของใครยิ่งมีขนาดใหญ่และรวมนักดนตรีฝีมือฉกาจมากเพียงใด อำนาจของเจ้าของวงยิ่งสูงและแผ่ขยายทั่วแผ่นดินเช่นกัน ทั้งประกอบกับความนิยมเรื่อง “อิเหนา” ที่ได้กล่าวไป บางฉากบางตอนในเรื่องนี้จึงทำให้เราคิดถึงบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 ตอนที่องค์ปะตาระกาหลา บรรพบุรุษแห่งวงศ์เทวัญจะแปลงนางบุษบาเป็นชายหนุ่มนาม “อุณากรรณ” เพื่อลงโทษอิเหนาที่เผาเมืองวอดวายแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง

“…เราจะแต่งแปลงองค์ให้เป็นชาย มิให้คนทั้งหลายสงสัย
พรุ่งนี้ก็จะได้เข้าไป สำนักในนครประมอตัน…”

      ถ้านางบุษบาต้องแปลงเป็นชายเพื่อหลบซ่อนตน ผ่านความยากลำบากนานาเพื่อค้นหาอิเหนาจนพบฉันใด การแฝงตัวของเขมและว่านใน “แมนสรวง” ก็เป็นการแฝงตัว เสี่ยงกับการหลุดโป๊ะ เพื่อเปิดเผยทั้งสิ่งที่อยู่ในใจตน และ “ความลับ” ที่สำคัญต่อบ้านเมืองฉันนั้น

      และยิ่งเป็นความลับระดับ “พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน” ยิ่งเป็นอันตราย!

จีน-ไทย ใช่อื่นไกล “พี่น้องกัน”
การค้า ผลประโยชน์ และความหลากหลาย

      “แมนสรวง” เป็นโรงละครที่มี “เจ้าสัวเฉิง” (แน็ต-ชาติชาย) เป็นเจ้าของ ให้ความบันเทิงแก่ผู้มีอันจะกินที่เข้ามาซ่องเสพความสุขเมื่อว่างจากการงาน หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า แมนสรวงเป็นเหมือนคลับเฮาส์ของชนชั้นนำและคนต่างชาติในพระนคร จึงมีโชว์หลากหลายให้ได้ชม ไม่ว่าจะไทย จีน หรือภาษาใด ๆ ซึ่งเจ้าสัวเฉิงตั้งใจว่าจะวางมือจากแมนสรวง ยกให้ “ฮ้ง” (ต๋อง-ธนายุทธ) ลูกชายคนเดียวของตนขึ้นสืบทอดกิจการต่อ โดยให้มือขวาอย่าง “เตียง” (สายฟ้า ตันธนา) ช่วยสอนงานให้เห็นถึงการบริหารแมนสรวงอย่างถึงแก่น

      จะว่าไปแล้วเราอาจจะคุ้นกับคำกล่าวที่ว่า “จีน-ไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” ด้วยค้าขายระหว่างกันมาช้านาน แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันหลายชั่วคน ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติจึงผูกพันเหนียวแน่น เช่นการตั้งชุมชนชาวจีนอย่าง “สามเพ็ง” (สำเพ็ง) ที่ต่อมาได้ขยายพื้นที่ไปยังริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างถนนทรงวาด ไปจนถึงบริเวณเยาวราชปัจจุบัน หรือการที่รัชกาลที่ 3 อวยยศเจ้าสัวโต คหบดีเชื้อสายจีนผู้รับราชการในกรมพระคลังเป็น “เจ้าพระยานิกรบดินทร์” ทั้งทรงสร้างวัดให้ ซึ่งวัดนั้นมีนามว่า “วัดกัลยาณมิตร”

      และถึงแม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 การค้าระหว่างสยามกับต่างชาติจะเจริญถึงขีดสุดในยุครัฐจารีต จนต้องสร้างความรู้เรื่องชนชาติไว้อย่าง “โคลงภาพคนต่างภาษา” ในวัดโพธิ์ ทว่าปัญหาที่ตามมาคือการปราบปรามการกระทำผิดของคนต่างชาติในไทยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คนจีน”

      กรณีที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่อง “จีนตั้วเหี่ย” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าซ่องสุมกำลังพลเพื่อสร้างความโกลาหลในบ้านเมือง คุมเหงย่ำยีเด็กและผู้หญิง รวมถึงการค้า “ฝิ่น” สร้างความเดือดร้อนในสังคมอย่างชัดเจน โดยการค้าฝิ่นนี้เป็นอิทธิพลหนึ่งจากจีนเมื่อติดต่อกับชาติตะวันตก จนนำไปสู่ “สงครามฝิ่น” ในประเทศจีนในที่สุด ส่วนในประเทศไทย เมื่อฝิ่นเข้ามา ประชาชนก็ติดกันงอมแงม ไม่เป็นอันทำงานการ จนต้องออกกฎหมายห้ามค้าฝิ่น แต่ก็ยังมิวายลักลอบค้าขายกัน สุดท้ายที่สุดจึงต้องเกิดการปราบปรามตั้วเหี่ยเหล่านี้จนหมดสิ้น

      ครั้งนั้นเอง คนจึงได้รู้ว่าตั้วเหี่ยมีลักษณะเป็นสมาคม มีการสาบานพี่น้อง หากใครในกลุ่มตายไป ลูกชายก็จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมนี้ ซึ่งคอยช่วยเหลือชาวจีนด้วยกันเองที่พลัดถิ่นมา โดยแต่ละก๊กจะมี “ตั้วเหี่ย” (คำเดียวกับ ‘ตั่วเฮีย’ ที่แปลว่าพี่ชายคนโต) เป็นหัวหน้าใหญ่คอยกุมบังเหียนก๊กตน หากเราเปรียบเทียบว่าจีนไทยเป็นพี่น้องกัน แต่ก็อาจเป็นแค่พี่น้องแบบลูกพี่ลูกน้องเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนโพ้นทะเลด้วยกันต่างหากที่เป็นพี่น้องในไส้ อย่างไรก็ตัดกันไม่ขาด แต่ถ้าคิดคดต่อกันอย่างไรก็ขอให้บรรลัยไปทั้งโคตร การจัดการกับตั้วเหี่ยสิ้นสุดลงเมื่อสามารถจับกุม “ตั่วเฮีย” ที่กุมอำนาจใหญ่ที่สุดได้ การลักลอบค้าฝิ่นจบลง มีการหล่อพระพุทธรูปจากกลักฝิ่นที่ปัจจุบันอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดสุทัศน์

      ทว่าใน “แมนสรวง” ปัญหาสำคัญคือ ฮ้งซึ่งเป็นลูกชายคนเดียวผู้รับสืบทอดกิจการกลับไม่มีความรู้ในธุรกิจของพ่อตน การซูฮกให้ฝั่งราชการไทยเพื่อสิทธิในการดำเนินกิจการเป็นเรื่องจำเป็น แต่ว่าในสถานการณ์อ่อนไหวเช่นนี้ “แมนสรวง” จะยังเป็นวิมานแฟนตาซีอยู่ต่อไป หรือจะสิ้นชื่อ

“เรือสำปั้น” ที่เข้าออกได้ทุกลำน้ำ
พลังหนุ่มสาว – คนธรรมดา กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม

“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว
จะมีอยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้

      ข้อความด้านบนเป็นส่วนหนึ่งจากกระแสพระราชดำรัสก่อนเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 3 ซึ่งอาจชี้ให้เห็นภาวะบ้านเมืองในยุคสมัยที่ “แมนสรวง” อาศัยเวลาดำเนินเรื่องอยู่ 

      ซึ่งถ้าถามว่าตอนนั้นซีเรียสแค่ไหน ก็ขอตอบว่าซีเรียสถึงขั้นที่ทำตัวหนา เอียง และขีดเส้นใต้อย่างที่เห็น

      ความกังวลใจต่อ “พวกวิลาศ” หรือชาวตะวันตกของชนชั้นนำในช่วงเวลาอ่อนไหวสั่นสะเทือนความมั่นคงของบ้านเมืองอย่างชัดเจน เช่น การมีโรงพิมพ์และการรักษาแบบตะวันตกของหมอบรัดเลย์ หรือการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายเข้ามาของบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ เป็นต้น ซึ่งทั้งสองเข้ามาในฐานะ “หมอสอนศาสนา” ผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์สู่สังคม ซึ่งแน่นอนว่าความวิตกกังวลไม่ได้จบแค่เรื่องคนไทยจะ “เข้ารีต” เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการแทรกแซงการปกครองด้วย 

      จากเหตุการณ์เหล่านี้ ชนชั้นนำสยามในขณะนั้นมีทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็หวาดวิตกภัยจากชาติตะวันตก เช่น เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค; ภายหลังเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค; ภายหลังเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาพิไชยญาติ) ซึ่งรายหลังเคยมีเรื่องวิวาทกับทูตสหรัฐอเมริกาว่าด้วยระเบียบพิธีทางราชการไทยในการทูลเกล้าฯ ถวายสาส์นจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาด้วย โดยข้าราชการเหล่านี้มีบทบาทในการปราบปรามจีนตั้วเหี่ยและเมืองประเทศราชอื่น ๆ ที่มีเค้าจะเป็นกบฏตลอดมา ชนชั้นนำกลุ่มนี้มีแนวโน้มว่า คบค้ากับจีน จะยังดีเสียกว่าคบพวกวิลาศ

      แต่ขณะเดียวกัน ก็มีเจ้านายและข้าราชการรุ่นหนุ่มที่สนใจการเข้ามาของชาติตะวันตก ในฐานะโอกาสเปิดหูเปิดตา และ “เปิดตัว” ติดต่อกันอย่างเป็นทางการ เช่น พระวชิรญาณภิกขุ (สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4) เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ภายหลังเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ผู้ร่ำเรียนวิชาการแพทย์ตะวันตก หรือพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค; ภายหลังเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) ซึ่งในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 กลุ่มบุคคลเหล่านี้นี่แหละที่มีบทบาทสำคัญให้การ “หันหัวเรือ” สยามออกสู่โลกกว้างมากขึ้น

      นอกเหนือจากนี้ แนวคิดว่า “มนุษย์จะเป็นอะไรก็ได้” ยังไหลทะลักเข้ามาพร้อม ๆ กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมระลอกนี้ด้วย (แม้จริง ๆ แล้วจะมีเค้าลางความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่เข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์) โดยเฉพาะในกลุ่มที่เรียกว่าเป็น “ชนชั้นกระฎุมพี” ได้แก่ พ่อค้าและข้าราชการรุ่นหนุ่ม แม้จะยังไม่มีงานเขียนหรือมูฟเมนต์ใดในเชิงปลุกระดมสังคม แต่หลักฐานเชิงวรรณกรรมสามารถเล่าถึงแนวคิดของคนรุ่นนี้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นนิราศที่มีเพิ่มมากขึ้น (จากเดิมที่นิราศมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องเดินทาง) วรรณคดีกล่าวถึงคนต่างชาติมากขึ้น แทรกเหตุการณ์จริง คนจริงไว้ในเรื่อง ตลอดจนความคิดเรื่องคนที่ซับซ้อนขึ้น จากการฉายภาพคนต่ำศักดิ์ว่าเป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่ ไปสู่การมองว่ายศศักดิ์ไม่ใช่สิ่งที่จะบอกว่าใครเป็น “ผู้ดี” จึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่ากระแสความคิดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้สะเทือนแค่ชนชั้นนำเท่านั้น แต่ยังหมายถึงมีการก่อกำเนิดชนชั้นใหม่ ของคนรุ่นใหม่อีกด้วย

      หากพูดเพียงเท่านี้ นี่คือชัยชนะของคนรุ่นใหม่ที่พลิกเกมจากอำนาจเก่าได้สำเร็จ แต่สิบกว่าปีต่อมา เมื่อเกิดการผลัดแผ่นดินอีกครั้งสู่แผ่นดินที่ 5 คนรุ่นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้กลายเป็นคนในกลุ่ม “สยามเก่า” ที่เชื่อว่าบ้านเมืองไม่ควรหันหาชาติตะวันตกมากไปกว่าเดิม ส่วนคนรุ่นหนุ่มอย่างรัชกาลที่ 5 และลูกหลานของข้าราชการผู้ใหญ่ในขณะนั้นได้รวมกันเป็นกลุ่ม “สยามใหม่” ที่เสนอว่าเราควรรับและเล่นล้อกับวัฒนธรรมชาติตะวันตกมากกว่านี้ ในขณะเดียวกันก็ดำเนินวิธีทางการทูตกับชาติตะวันตกอย่างประนีประนอม

      ใน “แมนสรวง” มีการเปรียบเทียบกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ด้วยเรืออย่างชัดเจน ทั้ง“เรือกลไฟ” ที่หมายถึงชาติเจ้าอาณานิคมตะวันตกซึ่งทรงพลังแข็งแกร่ง เคลื่อนตัวใกล้เข้ามาทุกที และดูท่าจะน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ หรือ “เรือสำเภา” ที่คุ้นเคยกันมานาน รู้จักกันอย่างดี และพร้อมเกี้ยเซี้ยเพื่อแลกผลประโยชน์ที่คุ้มค่า อันหมายถึงพ่อค้าวานิชที่มาจากจีน หรือแม้กระทั่งสำนวนอย่าง “น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ” ที่พยายามปรามคนรุ่นใหม่ว่าอย่าได้เข้าขัดขวางผู้ทรงอำนาจ อะไรจะเกิดขึ้นก็เกิดไป อะไรที่สมควรอยู่แล้วก็อย่าได้คิดจะเปลี่ยนแปลงมัน เช่นเดียวกับการรำละครที่จะต้องตรงตามขนบ จะมาด้นสดไม่ได้ 

      แต่ไม่จริง จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เราอาจเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมมากมายที่รันโดยคนหนุ่มสาวธรรมดา

      ผู้เป็นเหมือน “เรือสำปั้น” ที่เข้าออกได้ทุกลำน้ำ พร้อมซอกแซก รับได้ทุกการเปลี่ยนแปลง และอยู่ได้ในทุกสภาพแวดล้อม แม้น้ำจะเชี่ยวแค่ไหน เรือสำปั้นก็จะอยู่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองเช่นกัน เพียงเราเห็น “ศักดิ์ศรีความเป็นคน” ของตัวเอง

บทสรุป

      เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นเพียงจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งเท่านั้นในการปรุง “แมนสรวง” ให้เป็น “มหรสพชั้นเลิศ” ที่ครบรสทั้งการแสดง ท้องเรื่อง องค์ประกอบศิลป์ และแนวคิดสำคัญ  ซึ่งตอบโจทย์วงการสร้างสรรค์ไทย ที่ต้องการมหรสพชั้นเลิศเช่นนี้อีกมากมาย ทั้งที่ฉายทางจอเงิน จอแก้ว หรือแอปฯ สตรีมมิง และความเป็นมหรสพชั้นเลิศนี้ย่อมมีข้อพิสูจน์คือ “การดูสนุก” เข้าถึงทุกคน อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ชมประทับใจสักมุมหนึ่ง

      มาวันนี้ “แมนสรวง” เข้าฉายในทุกโรงภาพยตร์แล้ว เราจึงขอเชิญชวนคุณผู้อ่านก้าวเข้าโรงภาพยนตร์เข้าไปสัมผัสประสบการณ์อันหฤหรรษ์นี้ตัวเอง ไม่แน่ว่าเสน่ห์ของโรงมหรสพแห่งความลับ กิเลส และการชิงไหวชิงพริบแห่งนี้จะดึงดูดคุณชนิดที่ว่าไม่กล้าลุกออกจากเก้าอี้แม้แต่เสี้ยววินาที

      และหากคุณได้ชม “แมนสรวง” แล้วรู้สึกตื่นเต้นเช่นเดียวกับเราแล้วล่ะก็ อย่าลืมส่งบทความนี้ให้เพื่อนต่างคู่มือ แล้วบอกต่อพวกเขาอีกทีให้ “จงมาดูเอาเถิด” 

แหล่งอ้างอิง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า