fbpx

เมื่อผีป่ามาสู่เมือง : “ครูกายแก้ว” ศรัทธา และชายขอบของจักรวาลความเชื่อไทย

ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา เลื่อนผ่านโซเชียลมีเดียไหนๆ ก็เห็นข่าวรูปปั้นติดสะพานลอยบริเวณถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นที่ทราบภายหลังว่าเป็น “ครูกายแก้ว” บรมครูผู้เรืองเวทย์ จนถึงพิธีบูชาครูกายแก้วที่โรงแรมย่านรัชดา เรียกทั้งเสียงฮือฮา ศรัทธา และเสียงวิจารณ์จากทุกฟากฝั่งของสังคม การปรากฏตัวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรูปปั้นกายสีดำนี้อาจเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่า แม้จะเป็นความเชื่อที่เป็นชายขอบก็สะท้อนให้เห็นถึงภาวการณ์บ้านเมืองตอนนี้ได้

ครูกายแก้ว เป็นรูปปั้นของชายผู้บำเพ็ญเพียรคนหนึ่ง ที่มีลักษณะพิเศษคือ มีตาและเล็บสีแดง มีปีกงอกจากข้างหลัง และมีเขี้ยวออกจากปาก เชื่อกันว่า เป็นบรมครูผู้เรืองเวทย์ที่มีพระธุดงค์เข้าไปพบขณะธุดงค์ไปในแถบปราสาทนครวัด กัมพูชา แล้วนำองค์ครูมาให้นักร้องของกรมดุริยางค์ทหารบูชาจนมีชื่อเสียงโด่งดัง และส่งต่อความเชื่อนี้แก่อาจารย์ทางไสยเวทย์ในฐานะเครื่องบูชาส่วนตัว ทั้งยังเป็นที่นับถือของชาวจีนมาอย่างยาวนานอีกด้วย แต่สำหรับในประเทศไทย ผู้บูชาเดิมมีอยู่เพียงเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางเหมือนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ว่ากันว่าผู้ใดบูชาก็จะมีเงินทองไหลมาเทมา ค้าขายคล่อง ประสบความสำเร็จในทุกด้าน

โดยทั่วไปแล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยที่เป็นที่ยอมรับเชื่อมโยงกับความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของสังคมไทย ที่หมายถึงเป็นสังคม “พุทธ-พราหมณ์-ผี” ที่ฝังรากลึกมาช้านาน การเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่นับถือในสังคมจึงจำเป็นต้องยึดโยงกับความเชื่อเหล่านี้ เช่น เทพเจ้าในศาสนาฮินดูอย่างพระพิฆเนศ พระแม่ลักษมี หรือเทพยดาอารักษ์ผู้ปกปักรักษาสถานที่ต่างๆ

หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จำเป็นต้องมาพร้อมกับ “เรื่องเล่า” ที่แสดงให้เห็นคุณสมบัติของท่านอย่างชัดเจน เช่น เมตตาบารมี ปาฏิหาริย์ต่างๆ ความซื่อสัตย์ หรือคุณธรรมที่โดดเด่นอย่างใดอย่างหนึ่ง นำมาสู่แรงศรัทธาของผู้คนอย่างล้นหลาม จนกลายมาเป็นปรากฏการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นตารางสีเสื้อมงคล วอลล์เปเปอร์เสริมดวง หรือการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่คุ้นหูกันในนาม “การมูเตลู”

ไม่ว่าจะเป็นไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ ท้าวเวสสุวรรณ จตุคามรามเทพ เพื่อขอให้โชคดีในด้านการเงิน การงาน ความรัก สุขภาพ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้คำอธิษฐานของเราสมหวังคือ การประพฤติตนเป็นคนดีและรักษาคุณธรรม ไม่ละเมิดผู้อื่น เมื่อสำเร็จแล้วจึงก่อให้เกิดการบอกต่อแบบปากต่อปากและกระแสศรัทธาที่ท่วมท้น ยิ่งรัฐพยายามส่งเสริมบทบาทของศาสนาเพียงใด การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมสอดคล้องกับศาสนาตามไปเช่นกัน 

แต่กรณีของครูกายแก้ว ซึ่งมีที่มาอันคลุมเครือ จึงอาจไม่เข้าข่ายความเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยอมรับได้ในสังคมไทย นอกจากนี้ การยอมรับว่าครูกายแก้วเป็นอสุรกาย “สายดำ” ก็อาจไม่สอดคล้องกับนิยามความเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่ควรได้รับการยอมรับนับถือได้ นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งรูปลักษณ์ของครูกายแก้ว และอันตรายจากการบูชาสิ่งที่อยู่ในข่ายของศาสตร์มืด รวมถึงสารพัดการปั่นที่อ้างว่าควรใช้ “ชีวิต” สังเวยรูปปั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ ยิ่งทำให้ภาพความน่ากลัวของครูกายแก้วชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย 

ภาพลักษณ์ของครูกายแก้ว ทั้งความเป็นสายดำ และรูปลักษณ์ที่น่ากลัว ยังมีผู้เชื่อมโยงไปสู่เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ที่ว่า “ผีป่าจะวิ่งมาสิงเมือง ผีเมืองจะวิ่งมาสิงไพร” ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่บ่งบอกถึงความวิบัติของบ้านเมือง

หากเปรียบเทียบว่าครูกายแก้วเป็นเสมือน “ผีป่า” ความเป็นผีป่าของครูกายแก้วและปาฏิหาริย์ที่บอกต่อโดยกลุ่มผู้นับถือเดิมอาจไม่ได้นำไปสู่ความคิดที่ชอบธรรมตามระบบศาสนา กลับกัน ครูกายแก้วเป็นเสมือนเครื่องมือที่นำไปสู่ “ความมั่งคั่ง” ที่เป็นเสมือนนิพพานของสังคมยุคนี้ เช่นเดียวกับช่องทางลัดอื่น ๆ ที่นำไปสู่รายได้มหาศาล ผู้บูชาความมั่งคั่งล้วนพร้อมที่จะยอมแลกทุกสิ่งเพื่อสรณะอันสูงสุด คำถามสารพัดที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้จึงเปิดเผยช่องโหว่ของสังคมไทย ที่ความเหลื่อมล้ำถ่างออกกว้างจนคนต้องหันหาสิ่งใดก็ตามที่ดูจะเป็น “ที่พึ่งทางใจ” เพื่อให้ตนสำเร็จสมปรารถนา ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็น “ผีป่า” ที่ดุดัน ลึกลับ และไม่ต้องตามระบบความเชื่อก็ตาม 

ทั้งมิติความลึกลับ ความคลุมเครือ และความเชื่อ และที่น่าสนใจคือการฉวยใช้กระแสนี้ “ปั่น” ให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นมาในสังคม ก็อาจทำให้ครูกายแก้วกลายเป็น “ชายขอบ” ในระบบความเชื่อของสังคมไทย และการปรากฏตัวของ “ครูกายแก้ว” ตอกย้ำความจริงที่ว่า เราไม่มีทางแยกขาดระหว่างวิถีความเชื่อเดิมไปได้ และเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในสังคมนี้อาจจะเป็น “พระเจ้าเงินตรา” ที่ทำให้เราหลงลืมผิดชอบชั่วดีเพื่อบูชาพระเจ้าองค์นี้

แล้วนอกเหนือจากความเป็นที่พึ่งทางใจ เราขอเชิญชวนผู้อ่านมาร่วมคิดกันว่า เรามูเตลูกัน “เพราะอะไร” 

แหล่งอ้างอิง : silpa-mag / thairath / youtube / chula

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า