fbpx

ก้อง วิทยา: เณร บาริสต้า พระเอกเอ็มวี และนักแสดงที่น่าจับตาของช่องวัน 31

คืนก่อนสัมภาษณ์ เราเพิ่งดูก้อง-วิทยา เทพทิพย์ โลดแล่นอยู่บนจอช่องวัน 31 ทั้งรอบหัวค่ำและรอบหลังข่าวใน 2 บทบาทที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

หนึ่งทุ่มเราจะเจอเขาในบทบาททนายความหนุ่มในทายาทพันธุ์ข้าวเหนียว เด็กหนุ่มผู้เคยบวชเรียนในวัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนบอกเราว่า นี่คือบทบาทที่ท้าทายทั้งการต้องเว่าภาษาอีสาน การท่องศัพท์แสงจากประมวลกฎหมาย หรือการประชันบทบาทกับดาวลูกทุ่งทั่วฟ้าเมืองไทยที่บรรยากาศในกองถ่ายนั้นสุดจะม่วนซื่นอีหลีเด้อ

หรือหลังสองทุ่มเราจะเจอเขาในอีกฐานันดรหนึ่ง กับบทเจ้าชายชัยทัศน์ในสิเหน่หาส่าหรี อดีตบาริสต้าอายุงาน 4 ปีจากเชียงใหม่บอกเราอีกว่า นี่คือการแสดงที่ทำงานกับจินตนาการอย่างถึงที่สุด เพราะคงไม่มีใครได้เป็นเจ้าชายกันได้ง่ายๆ รวมถึงการปะทะบทบาทกับดาราแถวหน้า และดาราเจ้าบทบาทหลายๆ คน ทำให้เขาต้องทำงานหนักเพื่อให้บทบาทหน้ากล้องออกมาดีที่สุด

แม้กระทั่งวันนี้ที่เขานั่งสนทนากับเราในตึกแกรมมี่ หลังจากพบพี่ๆ สื่อมาทั้งวัน อดีตนายแบบและพระเอกมิวสิกวิดีโอยังเขินอายกับการสัมภาษณ์ครั้งนี้ แต่กับแต่ละคำตอบที่เราได้ยินจากคู่สนทนาข้างหน้า มันคือความจริงใจของนักแสดงคนหนึ่ง กับเป้าหมายที่ชัดเจนมากๆ ในสายอาชีพของเขา

นั่นคือการเป็นนักแสดงที่สามารถหยิบจับบทบาทอะไร ก็สื่อสารให้ผู้ชมเชื่อได้ด้วยความจริงใจ

เป็นนักเรียน เป็นเณรน้อย

ก้องยิ้มกว้างให้เมื่อเราแนะนำตัวว่า เราก็เป็นคนถิ่นเหนือเหมือนกันเน่อเจ้า~

ย้อนกลับไปที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก้องโตมากับย่าทวดเพราะพ่อกับแม่ของเขาแยกทางกัน จึงทำให้ชีวิตของเขานั้นไม่เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ นอกจากการเรียนหนังสือแล้ว มีไม่กี่สิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตของเด็กคนหนึ่งในมีความสุขได้

หนึ่งในนั้นคือ การเล่นกีฬา

“ตอนเด็กๆ ผมเป็นสายนักกีฬา ผมเคยเล่นเปตอง ต่อยมวย เป็นนักวิ่ง เป็นนักฟุตบอล จริงๆแล้วตอนเด็กๆ คือชอบฟุตบอลมากที่สุด แล้วอยากเป็นนักฟุตบอลมากที่สุด ผมเคยไปแข่งของโรงเรียนครับ ก็ได้มีโอกาสเล่นตอนประถมมัธยม

“กีฬาเป็นความชอบครับ คือผมหัวไม่ค่อยไปเรื่องวิชาการ แต่ว่าเรื่องกีฬาเนี่ยผมชอบ ผมรู้สึกว่ามันเท่ดี ได้เป็นนักกีฬาของโรงเรียน แต่ไม่ได้ชอบแบบ คนอื่นมากรี๊ดมานู่นนี่นั่น แต่ชอบเวลาได้เล่นกีฬา ได้อยู่กับเพื่อน”

แต่ถึงอย่างนั้นชีวิตของก้องก็มาถึงจุดเปลี่ยน

และนับว่าเปลี่ยนจริงๆ เพราะก้องตัดสินใจบวชเรียนเป็นเณรอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง

“คือก่อนบวชผมเป็นคนดื้อเงียบมาก แล้วย่าทวดท่านก็อยากให้ผมไปบวช ผมก็ปฏิเสธท่านมา 3-4 รอบ พอวันหนึ่งผมรู้สึกว่าท่านแก่ขึ้นมากแล้ว แล้วท่านเริ่มไม่ไหวแล้ว ผมก็เลยตัดสินใจไปบวชเพื่อลดภาระของท่าน ตอนไปบวชได้แรกผมก็ไม่เก็ต ผมอยากกลับบ้าน เพราะว่าเป็นเณรมันต้องอยู่ในกรอบมากๆ แล้วก็พอบวชไปได้ประมาณปีหนึ่งย่าทวดก็เสีย ซึ่งผมอยู่กับย่าทวดมาตั้งแต่เด็กๆ 2 คน พอย่าทวดเสียผมก็เป๋ ผมก็บวชต่ออีกประมาณ 3 ปี ก็สึกออกมาก็ไม่มีใครแล้ว

“แรกๆ ที่ไปบวชผมไม่เข้าใจ แล้วไม่มีสังคมในนั้นเลย ไม่มีเพื่อน ไม่มีคนที่รู้จักเลย ช่วงแรกๆ ก็ร้องไห้อยากกลับบ้าน คุยกับย่าทวดทุกวัน ย่าทวดก็คอยปลอบ ก็อยู่มาได้ปีนึงแล้วก็เริ่มชอบอยู่ในผ้าเหลือง เริ่มสนุกกับการได้บวชเรียน ก็อยู่ไปเรื่อยๆ ก็ผมก็รู้สึกว่าการบวชมันได้ซึมซับอะไรบางอย่างที่มันดีครับ มันเหมือนอาจารย์ก็สอนให้ผมคิดเป็น จากเด็กที่ไม่เอาไหนเลย ไม่ทำอะไรเลย วันๆ ก็นอน เล่น กิน แค่นั้น” ก้องเล่าถึงช่วงชีวิตเมื่อบวชเรียน

ก้องเสริมว่า จากการเรียนรู้ธรรมะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ธรรมะช่วยทำให้ใจของเขาเย็นลง รู้เท่าทันสติ และคิดก่อนทำเสมอ

เป็นบาริสต้า เป็นนายแบบ

ก้องบวชเรียนอยู่ 4 ปีก่อนจะเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยตัวเอง แบบที่เขาไม่รู้จักใครเลย

ไม่รู้จักใครเลยจริงๆ

ถึงอย่างนั้นการเดินทางสู่ที่ทางใหม่ก็ยังไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินไป ก้องได้รับความช่วยเหลือจากญาติในการฝากงานแรกในชีวิตของเขา ซึ่งก็เป็นเรื่องใหม่มากๆ สำหรับทิดที่เพิ่งออกมาจากร่มกาสาวพักตร์ นั่นคือ การเป็นบาริสต้าในร้านกาแฟ

“ผมไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับกาแฟเลย” ชายตรงหน้าพูดกับฉัน ยิ้มและหยิบกาแฟขึ้นมาดื่ม

“นั่นคืองานแรกในชีวิตจริงๆ ผมก็ตื่นเต้น ต้องเรียนรู้สูตรกาแฟ ชงกาแฟ ไปรับลูกค้า รับผิดออเดอร์บ้างก็โดนลูกค้าด่าบ้าง ก็สนุกครับ แต่คือการทำกาแฟมันต้องชิม ผมเลยรู้สึกว่าผมดีดอยู่ทุกวันเลย ตาค้างทุกวันเลย ตี 3 ตี 4  ก็ง่วงแต่ตาก็คือค้าง ผมเคยไม่นอน 2 วันเลย” ก้องเล่า

ก้องอยู่ในวงสังคมของคนกินกาแฟอยู่พักใหญ่ๆ จนงานในสายบันเทิงอาจเป็นเรื่องไกลตัวของเขา แต่จริงๆ เขาก็ได้ชิมลางมาบ้างจากการเป็นนายแบบ

“มันเริ่มมาจากอยากลองก่อนครับ มันเหมือนเราได้ทำลายกำแพงของเราในช่วงวัยเด็กว่าเราไม่ชอบการถ่ายรูป ว่าเราเป็นคนขี้เขินขี้อาย ก็ลองไปดูแล้วก็เริ่มสนุกกับการถ่ายแบบ” ก้องขยายความ

“แล้วตอนเด็กๆ คุณขี้อายขนาดไหน” เราถามต่อ

“ตอนเด็กๆ คือผมเห็นกล้องคือผมวิ่งหนีเลย ไม่ชอบ ไม่ชอบการถ่ายรูปตอนเด็กๆ มากๆ ก็เป็นคนขี้เขินขี้อายล่ะครับ” ชายตรงหน้าตอบพลางยิ้ม

งานแรกของก้องคือกองถ่ายนิตยสารเล็กๆ ที่มีทีมงานไม่เยอะมาก ก้องเล่าอีกว่าถึงจะเป็นกองเล็กๆ แต่หน้าเซ็ตก็ผ่านไปได้ด้วยดี รวมถึงงานเดินแบบที่ถึงเขาจะเดินแบบงกๆ เงิ่นๆ บนรันเวย์ไปบ้าง นั่นก็เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้ต่อยอดมากขึ้น จนไปสู่การเป็นพระเอกมิวสิกวิดีโอครั้งแรก

“เอ็มวีตัวแรกที่ได้ไปเล่นคือของพี่เอ๊ะ จิรากร (สมพิทักษ์) ครับ ชื่อเพลงว่าปาใส่หน้า แต่ผมออกมานิดเดียว ตัวที่สองก็อยู่ตรงนี้เสมอ เป็นหนังสั้น อันนี้แบบได้เล่นแบบเต็มๆ ของวงแคลช ที่ไปถ่ายที่อินเดีย เป็นหนังสั้นประกอบเพลง

“คือตอนไปถ่ายผมไม่เก็ตเลย ไม่เก็ตการแสดงเลย คืออะไรยังไง ผมก็แบบอ่านให้เข้าใจแล้วก็ค่อยเล่น ซึ่งความโชคดีก็คือพี่ผู้กำกับเขาใจดี ให้เวลาเรา ได้เล่นได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา ตอนนั้นคือไม่เก็ต ตอนที่ถ่ายทำ 8 วัน ไม่เก็ตเลย ผมไม่เข้าใจเลย แต่พองานมันออกมา ผม อ๋อ มันเป็นแบบนี้ มันรู้สึกดีนะที่ได้เห็นผลงานของตัวเองหน้าจอแบบใหญ่ๆ” นักแสดงตรงหน้าอธิบายความรู้สึกเมื่อเห็นงานครั้งแรกให้เราฟัง

เป็นบอสวศิน เป็นนักเรียนในคลาสการแสดง

เส้นทางในวงการบันเทิงของก้องเพิ่งจะเริ่มต้น แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่สวยใช้ได้

แต่การออดิชั่นเป็นนักแสดงของช่องวัน 31 ซึ่งเป็นสนามต่อไปหลังจากที่เขาเพิ่งเสร็จงานมิวสิกวิดีโอพอดิบพอดี ก็เริ่มจะขลุกขลักทันที เพราะการคัดตัวนักแสดงครั้งนั้นมีปัญหาตั้งแต่เขาเป็นชายหนุ่มหัวโล้นเข้าไปแคสติ้ง!

“ผมจำไม่ได้ว่าผมเล่นอะไรไปบ้าง” ก้องสารภาพกับเราก่อนจะระเบิดหัวเราะออกมา

“วันที่ผมเข้าไปแคสต์ ผมไปเล่นหนังมา เป็นบทนาค แล้วตอนนั้นผมไปแคสติ้ง New Gen ของช่องวันพอดี แต่ผมก็อยากไปแคสต์เพราะมันเป็นโอกาสแล้ว ตอนเข้าไปแคสต์ผมได้เล่นเป็นวศิน (เมีย 2018-2561) เอาจริงๆ ผมมองไม่เห็นใครเลยวันนั้น เจอพี่ฟิล์ม (ธนภัทร กาวิละ) ก่อนหน้านั้น แต่ว่าก็มีตื่นเต้นบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าพี่ฟิล์มจะเข้ามาดูด้วย” ก้องขยายความ

แล้วคืนนั้นก็มีทีมงานโทรมาบอกผลการคัดตัวว่าก้องผ่านการคัดเลือก และได้เป็นนักแสดงของช่องวัน 31 แล้ว ซึ่งใครที่ได้ยินประโยคนี้ก็ควรจะต้องดีใจ แต่ก้องกลับบอกว่า ชีวิตของเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลยแม้แต่น้อย

“ผมไม่เคยรู้จักการแสดงเลย มืดแปดด้านเลย ซึ่งมันก็ถูกแล้วที่เขาให้ผมเรียนก่อน 6 เดือนแล้วค่อยให้เล่นละคร ถ้าให้ผมเล่นละครเลยผมก็คงแบบมึนตึ๊บ ผมได้เรียนเทคนิคการแสดง ได้เรียนเทคนิคการเข้าออกตัวละคร แล้วก็การตีความตัวละคร แล้วก็วิธีการทำการบ้าน การอยู่กับตัวละคร การสร้าง Background ของตัวละคร ผมเรียนกับครูหลายคนมากๆ ซึ่งเป็นผลดีกับการได้เล่นละคร” ก้องอธิบาย

แต่เพราะการแสดงคือศาสตร์ที่ต้องใช้แรงกาย และแรงใจในการศึกษาเล่าเรียน นั่นย่อมทำให้ก้องท้อถอยและเกิดคำถามในใจ ธรรมะในใจ และวิธีคิดบางอย่างที่เขาถูกสอนสั่งจึงทำงานในวันที่ยากลำบาก และทำให้เขาเปลี่ยนวิธีคิดสู่การผจญภัยในโลกการแสดง 

“ถ้าสมมติว่านอยด์ มีปัญหาที่แก้ไม่ได้ อาจารย์บอกว่าให้หลับ แล้ววันพรุ่งนี้มันจะมีวิธีการแก้ปัญหา หลับอย่างเดียวครับ มันเหมือนเราได้พัก เหมือนคอมพิวเตอร์ที่เครื่องร้อนๆ แล้วมันอืด ถ้าเรา Shutdown มันซักชั่วโมง 2 ชั่วโมง มันก็ลื่นเหมือนเดิม แล้วก็จะมี Value ในการหาทางแก้ปัญหาได้ ผมรู้สึกว่ามันคือการชาร์จแบตที่ดีมากๆ” ก้องขยายความ

เป็นน้องใหม่ เป็นใบ้

แต่การเรียนในห้องก็ไม่สู้นำความรู้มาใช้จริง เมื่อก้องต้องลงสนามในการถ่ายละครเรื่องแรกนั่นคือเรือนไหมมัจจุราช (2562) ซึ่งเป็นละครพีเรียดกำลังภายในแบบจีนๆ ที่ยากมากๆ สำหรับก้อง

“เล่นยากมากครับ เป็นเรื่องแรกแล้วเป็นพีเรียตด้วย แล้วเป็น Fantasy ด้วย ยากสำหรับผมมากๆ ด้วยการพูด แล้วผมก็ไม่ค่อยเข้าใจการแสดงมากเพราะว่าเรียนมาอย่างเดียว ยังไม่เคยลงสนามจริงๆ เลย พอมาเจอสนามจริงๆ แล้วก็แบบ อะไรวะ คือไม่เข้าใจ ก็โดนด่าไปเยอะเหมือนกัน แต่ว่าก็โชคดีที่เจอพี่อาร์ต (จาริวัฒน์ อุปการไชยพัฒน์-ผู้กำกับ) แกก็คอยช่วย คอยสอนตลอด

“ซีนอารมณ์ยากสำหรับผม เพราะว่าเรื่องแรกก็มาเจอพีเรียดแล้วก็มาเจอซีนดราม่าหนักมาก  ในเรื่องคือผมต้องเล่นเป็นใบ้ตอนเด็กๆ แล้วโตมาก็ค่อยๆ พูดได้ แต่ว่าโดนไล่ฆ่า แล้วก็ตกหน้าผาไป วันหนึ่งก็มาเจอแม่ แม่เป็นบ้าเพราะเรา มันก็มีความซับซ้อนทางอารมณ์เยอะพอสมควรเหมือนกัน

“ผมสังเกตพี่ๆ ดาราในกองด้วยครับ แต่ก็ไม่ได้ไปถามอะไรมาก แต่ว่าพี่ๆ แนะนำบ้าง มาสอนบ้างเพราะว่าต้องเล่นเป็นพ่อลูกกัน แล้วก็ซึมซับจากพี่หลายๆ คน สังเกตเวลาพี่ๆ เขาเล่นละครอย่างนี้ครับ เขาก็จะมีเทคนิคในการเข้าออกตัวละคร ในการตีความ ทำการบ้านของเขา ตอนนั้นผมคิดว่าผมทำดีที่สุดแล้วแหละ ผมทำดีที่สุดแล้ว แต่พอได้มาดูผลงานของตัวเองจริงๆ มันก็ต้องมีหลายอย่างที่ปรับแก้หลายอย่างมากๆ” นักแสดงหน้าใหม่เล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกให้เราฟัง

เป็นเจ้าชาย เป็นทนาย

“อะไรยากที่สุดในการเล่นเป็นเจ้าชายชัยทัศน์” ฉันถาม

“ด้วยลุคด้วยแหละครับ แล้วก็เป้าหมายของตัวละครเจ้าชายชัยทัศน์นี่คือขึ้นครองบัลลังก์อย่างมีความสุขกับนิลปัทม์ ก็ต้องทำการบ้านให้เยอะ แล้วก็ Research หาข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นเจ้าชาย พี่อาร์ตผู้กำกับเขาก็จะให้โจทย์มา ให้ไปหาข้อมูลตรงนั้นมาว่าเขาทำเพื่ออะไร วัตถุประสงค์ของเขาคืออะไร และความท้าทายของมันคือการเป็นเจ้าชายครับ เพราะเราไม่ได้เป็น เราไม่รู้ว่าอินเนอร์ของคนที่จะต้องให้ผู้คนขนาดนั้น มันยิ่งใหญ่ขนาดไหน” ก้องตอบคำถามของเรา

“แล้วกับอาชวินล่ะ” เราถามต่อ

“ก็ไกลตัวอยู่เหมือนกันครับ เพราะว่าในเรื่องก็ต้องพูดศัพท์กฎหมายด้วย มันค่อนข้างที่จะยากเพราะว่าเราต้องดูเรื่องกฎหมาย หาข้อมูลเรื่องกฎหมาย เวลาเราได้บทมาก็ต้องพูดให้มันเข้าปาก แล้วก็มีพูดภาษาอีสานบ้าง ก็ฟังรู้เรื่องและพอพูดได้บ้าง” ก้องเล่าต่อ

ก้องบอกเราต่อว่า ทั้งสิเน่หาส่าหรีและทายาทพันธุ์ข้าวเหนียวถ่ายทำในเวลาไล่เลี่ยกัน ก้องเลยต้องปรับจูนด้วยการ “อยู่กับตัวละคร” และทำการบ้านในการจำแนกตัวละครให้ออกอยู่ตลอด ซึ่งก้องบอกว่า ละครเย็นมีความจริงกับความรู้สึก ส่วนละครหลังข่าวจะมีความเป็นละครเวทีที่ต้องเล่นให้ชัด เพื่อส่งอารมณ์และตัวตนของตัวละครให้ผู้ชม ซึ่งเคล็ดลับของก้องในการเล่นละครสองเรื่องพร้อมๆ กันให้อยู่มือคือ การอ่านบทให้เข้าใจ และการสร้างปูมหลังของตัวละครให้ชัดเจน

ที่สำคัญคือ การทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

“เสน่ห์ของการแสดงคือ คือการที่เราได้เป็นคนอื่น มันทำให้ผมได้เรียนรู้ชีวิตใครหลายๆ คน แล้วการเป็นนักแสดงคือไม่ตัดสินคน ไม่ว่าดีหรือไม่ดี เราตัดสินคนอื่นไม่ได้เพราะว่าชีวิตมันไม่มีผิดไม่มีถูก เพราะชีวิตคือศิลปะอย่างหนึ่ง เราเรียนรู้และเราก็เก็บเอาไว้ใช้ แค่นั้น” ก้องส่งท้าย

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า