fbpx

คุยกับหนึ่งในอาสาสมัครกู้ภัยดับไฟโรงงานกิ่งแก้ว: ฮีโร่หลังฉากภัยพิบัติผู้ถูกลืมเลือน

“ฮีโร่ ผจญเพลิง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงหามร่าง 1 ใน 3 อาสาบรรเทาสาธารณภัยที่ถูกไฟคลอกบาดเจ็บ ออกจากจุดเกิดไฟไหม้โรงงาน”

– หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 6 กรกฎาคม 2564


เหตุเพลิงไหม้โรงงานสารเคมีบริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ซอยกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ หรือที่ทุกคนเรียกกันว่าเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์อัคคีภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีผู้เสียหายและได้รับผลกระทบมากมาย และยังมีถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้อีกด้วย ก็คืออาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย หรือ พอส-กรสิทธิ์ ลาวพันธุ์  ได้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 

พอสกลายเป็นฮีโร่ผจญเพลิง คำถามเกิดขึ้นภายในหัวความคิดไม่รักดีตั้งคำถามว่า ‘การเป็นฮีโร่ของเขา จำเป็นต้องแลกกับชีวิตของเขาเลยหรอ’

“นักดับเพลิงคือเจ้าหน้าที่ของสถานีดับเพลิง ขึ้นตรงกับรัฐบาล อาสาสมัครก็คือประชาชน คนทั่วไปที่เข้าไปช่วยเขาเฉยๆ”

แมน-ณัฐภัทร หยุ่นกิ้มเซ้ง รองหัวหน้าชุดที่ 2 อาสาสมัครร่วมกตัญญู จุดปู่เจ้า และอาสาบรรเทาสาธารณภัยใต้ 36-00 นามเรียกขาน สี่พระยา 50 ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วนี้ เปรียบเทียบระหว่างนักดับเพลิงกับอาสาสมัครกู้ภัยมีความแตกต่างกันยังไง 

อาสาสมัคร ตามพจนานุกรมแปลว่า บุคคลที่เสนอตัวเข้าทำงานด้วยความสมัครใจ การเป็นอาสาสมัครนอกจากความสมัครใจแล้วพวกเขาต้องสละทั้งเวลาและเงินของตัวเอง อุทิศให้กับงานอาสาสมัคร หลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ได้บอกถึงความสำคัญของงานอาสาสมัคร ก่อนที่พวกเขาจะถูกมองข้ามและถูกลืมเลือนไป 

ว.35 : เตรียมพร้อมเพื่อปฏิบัติการ

“แต่ก่อนตอนเป็นวัยรุ่น เห็นชุดแล้วมันเท่ดี และได้ออกจากบ้านตอนกลางคืนด้วย จริงๆ ตอนนั้นคิดแค่นั้นแหละ และไปเห็นคนโดนรถชนเลยอยากไปช่วยเขา พอช่วยเสร็จได้รับคำขอบคุณ เราก็ภูมิใจนิดนึงที่ช่วยเขาให้พ้นวิกฤต ก็ทำมาเรื่อยๆ”

จุดเริ่มต้นของการเป็นอาสาสมัครของแมนเริ่มจากความชื่นชอบในเครื่องแบบของอาสาสมัครจนมาถึงการได้เข้าไปช่วยเหลือคนอื่น ชายวัย 43 ปี เริ่มเป็นอาสาสมัครตั้งแต่เขาเรียนจบ ปวส. เป็นระยะเวลารวมกว่า 20 ปี ที่เขาทำงานอาสาสมัครให้กับมูลนิธิร่วมกตัญญู ปัจจุบันแมนประกอบธุรกิจส่วนตัวเป็นอาชีพหลัก

การเป็นอาสาสมัคร สิ่งที่ต้องมีก็คือ ความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้อื่น เพราะงานอาสาสมัครจะไม่ได้ค่าตอบแทนจากการทำงานนี้ ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรมีก็คือความพร้อม-พร้อมที่จะเสียสละ ไม่ว่าจะเป็นการเสียสละเงิน เพราะเมื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัคร จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ วิทยุสื่อสาร รถที่ใช้ออกไปทำภารกิจ อุปกรณ์ประจำตัวที่ต้องใช้ทำงาน ของพวกนี้อาสาสมัครต้องจัดหาด้วยตัวเอง และเสียสละเวลา การเป็นอาสาสมัครต้องเสียสละเวลาในการพักผ่อน เมื่อตอนที่แมนยังทำงานประจำอยู่ เขาทำงานตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น. และเขาเริ่มเข้าเวรตอน 19.00 – 23.00 น. 

“อย่างผมอยู่มูลนิธิร่วมกตัญญู มันก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิร่วมกตัญญู เขาก็จะมีเงินเดือน เขาก็จะมีสวัสดิการเหมือนทำงานเลยครับ แต่ว่าเงินเดือนก็ไม่ได้เยอะเท่าไหร่ ส่วนอย่างที่สอง อย่างผมเป็นอาสาสมัคร รถก็ของตัวเอง ชุดก็ของตัวเอง ก็คือไปทำร่วมกับเขา”

งานอาสาสมัครจะปฏิบัติงานทุกอย่าง ทั้งเหตุรถชน เคลื่อนย้ายคนป่วย เหตุภัยพิบัติต่างๆ โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คืองานกู้ชีพ ทำหน้าที่ส่งผู้ป่วย ปฐมพยาบาลคนเจ็บเบื้องต้นและนำส่งโรงพยาบาล และงานกู้ภัย ทำหน้าที่ช่วยงานภัยพิบัติต่างๆเลย เช่น อัคคีภัย การดำน้ำหาร่างผู้เสียชีวิต การช่วยคนจากที่สูง หรือการช่วยคนจากน้ำป่า 

“สวัสดิการของอาสาสมัครก็ไม่มีครับ ชุด อุปกรณ์ต่างๆ ก็ซื้อกันเอง”

สถานที่ทำงานของหน่วยของแมน มีเพียงสถานที่เก็บอุปกรณ์ภายในที่จอดรถ ของโรงพยาบาลวิภาราม ชัยปราการเพียงเท่านั้น เมื่อมีรับแจ้งเหตุ พวกเขาก็จะร่วมตัวกันมานำอุปกรณ์กู้ภัยของพวกเขาที่โรงพยาบาล ก่อนไปที่จุดเกิดเหตุ โดยสถานที่รวมพลของพวกเขาคือ ลานจอดรถหน้าร้านสะดวกซื้อในซอยวัดสวนส้ม 

“การให้ความรู้อาสาก็สำคัญนะ เพราะว่ามีอาสาที่เข้ามาใหม่ อยากลุย อยากทำงาน แต่ถ้าลุยอย่างเดียวมันลุยไม่ได้ไง ต้องมีรุ่นพี่คอยบอก”

ในเวลาว่างจากเหตุต่างๆ หน่วยฯ ของแมนมีการฝึกอบรมให้แก่ลูกค่ายในหน่วยฯ หรือการสอนงานให้กับอาสาฯ ใหม่ที่ต้องการเข้ามาเป็นอาสาสมัคร เป็นการสอนงานและดูศักยภาพของสมาชิกใหม่ด้วยว่าเหมาะสมกับงานอาสาสมัครไหม การที่จะเป็นอาสาสมัครได้นั้น จำเป็นต้องรู้จักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย แต่ถ้าหากยังไม่มีทักษะทางด้านนี้ ทางหน่วยของแมน ก็พร้อมที่เปิดอบรมสอนให้ 

“เหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมมาทำดับเพลิงเลยนะ เพราะว่าแต่ก่อนผมเป็นอาสาสมัครปกตินีแหละ ไม่ได้มีความรู้ด้านการดับเพลิงอะไร ตอนนั้นได้รับแจ้งว่ามีไฟไหม้และมีคนติดในผับ พอไปถึงเราก็ทำอะไรไรไม่ได้ เพราะตอนนั้นไฟไหม้และคนนอนกองอยู่ เราไปช่วยไม่ได้เพราะอุปกรณ์ไม่มี ได้แต่มองเขาค่อยๆ หมดลมหายใจ ก็นึกอยู่ในใจว่า ถ้าในตอนนั้นเรามีความพร้อม เรามีชุด เรามีอุปกรณ์ดับเพลิง เราจะช่วยคนได้เยอะเลย”

แมนเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตัวเองเคยเจอมา ซานติก้าผับก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์นั้น กลุ่มของแมนมาถึงเป็นกลุ่มแรกแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ได้แต่เพียงมองผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือเพราะพวกเขาเองก็ไม่มีความสามารถทางด้านงานกู้ภัยเหมือนกัน หลังจากนั้นแมนจึงได้เข้าอบรมการดับเพลิงจนเชี่ยวชาญ และตั้งใจเก็บเงินเพื่อซื้อชุดและอุปกรณ์เป็นของตัวเอง เผื่อที่เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นอีก เขาจะได้สามารถเข้าไปช่วยเหลือคนอื่นได้ทันท่วงที ไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นอีก

พูดแล้วเหมือนตลก การทำงานอาสาสมัครก็เหมือนกับ พวกเขาต้องทำงานหลักเพื่อนำเงินมาจุนเจือในงานอดิเรก แต่งานอดิเรกนี้มีเพื่อช่วยเหลือชีวิตของคนอื่น การทำงานอาสาสมัคร นอกจากใจที่เสียสละแล้ว ต้องมีพื้นที่เหลือพอสำหรับการเรียนรู้อีกด้วย ทั้งความรู้ด้านการปฐมพยาบาล ความรู้ทางด้านการกู้ภัย และความรู้สำหรับข้อผิดพลาดอีกด้วย 

ว.9 : เหตุฉุกเฉิน

“เราไม่รู้ว่ามันจะระเบิดตอนไหน ถามว่าเข้าไปเสี่ยงไหม มันก็ไปเสี่ยงตั้งแต่แรกแล้ว ตั้งแต่ควันพิษ มันก็เสี่ยงแน่นอน 100% อยู่แหละ”

วันที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ในช่วงเวลาตี 3 แมนได้รับแจ้งว่ามีเหตุระเบิด พวกเขาจึงรีบไปที่สถานที่เกิดเหตุ ได้มีหน่วยงานบางส่วนอยู่ที่พื้นที่แล้ว จึงได้ทราบว่าเป็น โรงงานสารเคมีของบริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ภายในซอยกิ่งแก้ว 

“เห็นโรงงานข้างๆ เห็นรถ เหมือนกับสงครามกลางเมือง เศษซากปรักหักพัง รถพังเสียหาย พอไปถึงที่เกิดเหตุ ก็เห็นไฟ ไฟสูงมาก และร้อนมาก” 

เมื่อถึงจุดเกิดเหตุจึงเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ ที่มาถึงก่อนหน้านี้ โดยแบ่งเป็น 2 ชุด คือ ชุดหาแหล่งน้ำและชุดหาผู้บาดเจ็บ เมื่อฉีดน้ำเข้าไปจึงทำให้รู้ว่าไม่ใช่เชื้อเพลิงธรรมดา เพราะเมื่อยิ่งฉีดเข้าไปไฟยิ่งลุกขึ้น เพราะเชื้อเพลิงนี้มาจากสาร สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene Monomer) ต้องใช้โฟมชนิดพิเศษเท่านั้นในการดับ จึงทำได้เพียงฉีดน้ำเพื่อหลอมเลี้ยงไม่ให้ไฟลามไปโรงงานข้างๆ และในเวลาเดียวกัน หน่วยฯ ได้รับแจ้งว่ามีคนติดภายในโรงงานโดยที่โดนผนังทับอยู่ หน่วยฯ จึงต้องร้องขออุปกรณ์ตัดถ่างเพื่อนำผู้บาดเจ็บออกมา เมื่อสามารถช่วยเหลือคนบาดเจ็บมาได้แล้วจึงนำส่งโรงพยาบาล

เจ้าหน้าที่พยายามควบคุมเพลิงจนถึงรุ่งเช้าจึงมีประกาศให้คนอพยพออกจากพื้นที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่เองด้วย เพื่อออกไปวางแผนใหม่ เพราะในเวลานั้นไม่รู้ว่าต้นตอของเพลิงอยู่ที่ไหน และไม่มีข้อมูลของพื้นที่ด้วย 

เวลาประมาณ 11.00 น. โฟมชนิดพิเศษได้มาถึง ฟองโฟมถูกเทลงไปปกคลุมเชื้อเพลิง ทำหน้าที่เหมือนฟิล์มกันไม่ให้เชื้อเพลิงสัมผัสกับอากาศ 

“เกือบเที่ยงที่น้องฟอสโดนไฟคลอก มันเกิดเหตุการณ์ Burn Back คือเหตุการณ์ที่ไฟจุดติดขึ้นอีกครั้งตรงที่เราดับไปแล้ว”

ช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. เป็นเวลาเดียวกับที่ทราบว่าพอสถูกพบกลางกองเพลิง เพราะด้วยเชื้อเพลิงได้กลับมาจุดติดขึ้นอีกครั้ง อาจเป็นเพราะเมื่อเวลาผ่านไปโฟมที่ฉีดปกคลุมไฟเริ่มสลายตัวจึงทำให้ไฟกลับมาจุดติดอีกครั้ง จึงทำให้พอสติดอยู่ภายในกองเพลิง แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถช่วยออกมาได้

เมื่อมีเหตุอาสาสมัครจากหน่วยงานอื่นได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์นี้จึงถูกยกระดับเป็นระดับภัยพิบัติใหญ่ เข้าสู่ช่วงบ่ายได้มีเฮลิคอปเตอร์ KA 32 จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้ามาช่วยฉีดโฟม แต่เนื่องจากพื้นที่กว้างจึงช่วยได้เพียงในระดับหนึ่ง เหตุเพลิงไหม้ยังคงไหม้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงประมาณ 18.00 น. จึงได้ทราบจุดวาล์วปิดถังเชื้อเพลิง  

เวลา 00.00 น. ก็สามารถควบคุมเพลิงได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 15 นาที เชื้อเพลิงที่เคยมอดกลับติดขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ โดยรวมแล้วใช้เวลาเกือบ 2 วันถึงจะสามารถควบคุมเพลิงไหม้ครั้งนี้ได้ 

เมื่อเหตุการณ์สงบ ก็ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวัง และดูดสารเคมีที่เป็นเชื้อเพลิงออกจากถัง เพื่อไม่ให้กลับมาไหม้ได้อีก โดยใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์ในการดูดสารเคมีทั้งหมด

“อุปกรณ์กู้ภัยภายในอาคารมันต้องพร้อม ถ้าไม่พร้อมคือลำบาก มันต้องได้มาตรฐานด้วยนะ ถ้าชุดเราไม่พร้อมแล้วเกิดเหตุขึ้นมา อย่างน้องพอสงี้ ไม่ได้ว่าเขานะแต่เขาคืออาสาสมัครไง อุปกรณ์เขามีแค่นั้นไง เขาก็ใช้แค่นั้น ตอนผมเห็นสภาพศพแล้ว คิดในใจว่าชุดดับเพลิงเรามันไม่ได้ช่วยอะไรเราได้เลยนะ”

อุปกรณ์ดับเพลิงต่างๆ จะมีระยะเวลาการใช้งานเฉพาะ ถ้าเป็นอุปกรณ์ของหน่วยงานราชการก็จะมีการปลดประจำการของอุปกรณ์ แต่สำหรับอาสาสมัคร พวกเขาจำเป็นต้องเป็นจัดหาอุปกรณ์เพิ่มด้วยกำลังของตนเอง เช่น ชุดดับเพลิงตัวหนึ่งมีราคาหลายหมื่นบาท อาสาสมัครจึงไม่สามารถปลดประจำการอุปกรณ์นั้นๆ ได้ ทำได้เพียงใช้จนกว่าชุดดับเพลิงชำรุด ดังนั้นอาสาสมัครจึงต้องรู้ถึงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ตัวเอง ถ้าหากอุปกรณ์ไม่สมบูรณ์แต่ยังดื้อดึงที่จะลงไปภาคสนามด้วยตัวเอง สุดท้ายแล้วตัวอาสาสมัครก็จะเป็นผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตซะเอง

จากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่นี้ สังคมควรตั้งคำถามว่า งานอาสาสมัครนั้นควรได้รับอะไรตอบแทนบ้างรึเปล่า เพราะอาสาสมัครกู้ภัยเองก็เสี่ยงชีวิตไม่ต่างกับหน่วยดับเพลิง พวกเขาไม่ใช่แค่ช่วยเหลือผู้อื่นแต่พวกเขายังคงต้องช่วยเหลือกัน เองด้วย ราคาอุปกรณ์ที่ต้องจ่าย รวมถึงราคาของความเสี่ยงจากการปฏิบัติภารกิจ มันก็คงไม่ต่างอะไรกับการที่ประชาชนช่วยเหลือประชาชนด้วยกันเองเท่านั้น

ว.7 : ขอความช่วยเหลือ

“หลังจากเคสล่าสุดที่กิ่งแก้วก็มีคนมาช่วยเหลือมีมาเพิ่มนะ อย่างคนรู้จักผม หรือคนรู้จักของน้องในหน่วยมาแจ้งว่า มีคนอยากช่วยสนับสนุนชุด สนับสนุนอุปกรณ์ก็มีนะ เขาเห็นข่าวเขาก็เข้ามาช่วยเหลือก็มี ก่อนหน้านี้เราก็เหมือนไปเรี่ยไรนิดนึงให้เขามาช่วย ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกชาวบ้าน คนรู้จักที่เขาเข้ามาช่วยเหลือ”

ค่าใช้จ่ายอุปกรณ์บางอย่างอาจสูงเกินไปที่อาสาสมัครจะจ่ายไหว จึงจำเป็นต้องไปขอความช่วยเหลือจากคนรู้จักในบางครั้ง ให้ช่วยสนับสนุนด้านอุปกรณ์บ้าง แต่หลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วทำให้ผู้คนต่างเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น โซเซียลมีเดียเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ผู้คนเห็นถึงความขาดแคลนของอุปกรณ์ เช่นรองเท้าบูทที่ใช้ในภารกิจไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วที่ชำรุดเสียหายเพราะถูกสารเคมีกัดกร่อน ทำให้มีผู้ใจดีมอบรองเท้าบูทใหม่ให้กับหน่วยของแมน 

“อาสาสมัครไม่ดีก็มี วิ่งแล้วมีผลประโยชน์ก็มี มีในทุกวงการ”

การหาผลประโยชน์จากคนที่เสียสละ คงเป็นเรื่องปกติของโลกในยุคนี้ ในทุกวงการล้วนต้องมีคนเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ ในวงการอาสาสมัครเช่นกัน บางคนมาในรูปการขายโลงศพ หรือแม้แต่การเก็บเงินค่ารถจากญาติผู้เสียชีวิต ในสังกัดของแมนเองก็เคยมีเช่นกัน แต่ว่าบุคคลพวกนี้ เมื่อได้ผลประโยชน์แล้ว พวกเขาก็จะค่อยๆ หายไปจากสังกัดเอง 

โลกของเราเมื่อมีคนดี ก็ต้องมีคนชั่ว เมื่อมีคนเสียสละก็ต้องมีคนกอบโกยผลประโยชน์ วงจรความคิดของมนุษย์นั้นซับซ้อน เราคงไม่สามารถไปวิพากษ์ใครได้ ในบางครั้งที่เขาต้องทำแบบนั้นก็อาจเพราะสภาพแวดล้อมของเขาเอื้อให้เขาต้องเป็นคนร้าย เพราะถ้าหากการทำงานอาสาสมัครให้ผลตอบรับหรือได้รับการช่วยเหลือที่เพียงพอต่อพวกเขา ก็คงไม่มีอาสาสมัครคนไหนที่จะอยากจะกลายเป็นคนร้ายหรอก เราก็คงจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้บ้าง 

“จริงๆ อยากให้หน่วยงานของรัฐบาลเข้ามาดูแลนิดนึง อย่างงานดับเพลิงก็อยากให้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐเข้ามาช่วยเรื่องอุปกรณ์ เรื่องความรู้ เหมือนเปิดอบรมให้อาสาเลย เพราะอาสาออกไปวิ่งก็เหมือนไปช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่หลักเขาอยู่แล้ว”

ถ้าหากอาสาสมัครได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่นการให้ความรู้ด้านกู้ภัย เพราะมีอาสาสมัครที่เข้ามาใหม่และยังขาดประสบการณ์อีกมาก หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่ปลดประจำการแล้วที่ยังสามารถใช้ต่อได้ อยากให้จัดสรรให้แก่อาสาสมัคร คงจะช่วยเหลืออาสาสมัครได้ไม่ใช่น้อย เพราะงานอาสาสมัครก็มีเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการทำภารกิจอยู่แล้ว 

จากคำถามที่เราสงสัยว่า ‘การเป็นฮีโร่ของพอส จำเป็นต้องแลกด้วยชีวิตรึเปล่า’ เราคงมองได้เพียงว่า การทำงานอาสาสมัครไม่ควรต้องใครเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งไหนอีก เพราะคนเรามักจะเชิดชูคุณค่าก็ต่อเมื่อสูญเสียไปแล้ว แล้วทำไมเราจึงไม่ให้คุณค่ากับเขาเมื่อตอนที่เขายังอยู่

งานอาสาสมัครแทบเกือบจะเป็นหน่วยงานชายขอบที่มักถูกมองข้าม แต่เมื่อมีเหตุด่วนเหตุร้ายก็เป็นพวกเขาที่ไปยังสถานที่เกิดเหตุเป็นกลุ่มแรก เราคงอาจหลงลืมไปว่า พวกเขาก็เป็นแค่ประชาชนที่ ‘อาสา’ เข้ามาเหมือนกัน

“ทำแล้วได้อะไร มันตอบยากนะ มันต้องมารู้สึกเอง อย่างเมื่อเราไปช่วยใคร แล้วเขามาขอบคุณเรา ยกมือไหว้เราแบบนี้ มันก็รู้สึกโอเคอ่ะ อย่างมีเคสนึง พ่อเขาไม่สบายหนักๆ เขาจะรีบไปโรงพยาบาล พอพาเขาไปถึงโรงพยาบาล เขาก็ขอบใจเรายกมือไหว้เรา บอกเราว่า ‘พี่ ขอบใจนะ’ ผมว่าแค่นี้แหละก็พอแล้วสำหรับอาสาอย่างเรา” แมนส่งท้าย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า