fbpx

เปิดเบื้องหลังประกาศเรื่องทรงผม และการเปิดความหลากหลายของ “มัธยมวัดธาตุทอง”

ไม่นานมานี้ ประกาศว่าด้วยระเบียบและทรงผมของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กเพจของโรงเรียน กลายมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ทั้งในด้านเสียงชื่นชมถึงความกล้าหาญและความก้าวหน้าของทางโรงเรียน และในด้านเสียงวิจารณ์ว่าด้วยความเหมาะสม จนกระทั่งเกิดปรากฎการณ์ที่คนพูดถึงกันอย่างมากมาย

ในโอกาสนี้ The Modernist ได้เคยนัดหมายครูก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล ครูสังคมและครูปกครองที่อยู่กับโรงเรียนนี้มาหลายปี มาคุยกันถึงตัวตนและเบื้องหลังของปรากฏการณ์ในครั้งนี้ และในครั้งนี้เราขอย้อนเหตุการณ์มาเล่ากันอีกครั้งถึงปรากฎการณ์นี้ที่จากความเชื่อในความหลากหลาย สู่การลงมือทำและเป็นที่ยอมรับในสังคมกัน

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

ย้อนกลับไปในสมัยเป็นนักเรียน เคยมีประสบการณ์โดนกดทับจากกฎระเบียบในโรงเรียนบ้างไหม

ในสมัยเป็นนักเรียนมัธยม เรารู้สึกว่าครู Forced เรา บอกเราว่าเธอจะต้องตัดผมทรงนี้นะ เธอจะมีระเบียบวินัยหากเธอสามารถปฏิบัติตามกฎของโรงเรียนได้ ในตอนเด็กๆ ครูจะบอกเราเสมอว่า หน้าที่และสิทธิต้องมาพร้อมกัน หากหน้าที่เธอบกพร่อง เธออย่ามาเรียกร้องสิทธิ ตอนเด็กๆ เราก็ไม่ได้คิดอะไรนะ เราไม่ได้โตพอ ครูสั่งเราก็ทำตาม แต่โชคดีที่ว่า ณ ตอนนั้นโรงเรียนของเราไม่ได้บังคับให้ตัดทรงนักเรียน สามารถไว้รองทรงได้ แต่ทุกวันจันทร์แรกของต้นเดือนก็ต้องมาตรวจผมอยู่ดี

ย้อนกลับไป 15 ปีที่แล้ว ความคิดความอ่านของสังคมมันไม่เหมือนกับเด็กรุ่นปัจจุบัน พวกเขาเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้ง่าย เด็กกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าที่จะออกมาแสดงออก จริง ๆ ตอนนั้นมันก็มีแหละฮะ การต่อต้านของเราก็คือการวิ่งหนี ไม่ไปเข้าแถวตอนเช้า หนียังไงก็ได้เพื่อไม่ให้ครูตรวจผมเรา แต่ถ้าถามว่ามันเป็นเหมือนปัจจุบันนี้ มันมีแฮชแท็กไหม เป็นเทรนด์ในทวิตไหม ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี มันก็ไม่ได้มีการต่อต้านในระดับที่ส่งผลต่อสังคมเป็นวงกว้างเหมือนกับทุกวันนี้

ทำไมถึงตัดสินใจมาเป็นครู มาอยู่ในระบบที่ครั้งหนึ่งมันก็เคยกดทับเรามาก่อน

เราชอบวิชาสังคม เราชอบตั้งคำถามว่า ทำไมอันนี้ถึงเกิดมา ทำไมอันนี้ถึงเป็นแบบนี้ และเราก็ชอบเที่ยว ชอบไปได้เห็นสิ่งต่างๆ ก็เลยมาเป็นครู เริ่มด้วยการมาเป็นครูที่  โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) อยู่ 2 เดือน ก็มีการเปิดสอบบรรจุพอดี ต้องบอกก่อนว่าในสมัยเรียน เราเป็นคนที่ไม่ได้ตั้งใจเรียนเลย เราทำกิจกรรมอย่างเดียว เป็น 3 คนสุดท้ายของห้อง เป็นเด็กท้ายห้อง พอเขาเปิดสอบ แม่ก็บอกว่าไปลองสอบให้หน่อย อยากรู้ว่าลูกจะสอบได้ไหม ปรากฎว่าก็สอบได้ ตอนแรกเราก็ตัดสินใจอยู่นะ แต่แม่ก็บอกว่าเป็นๆ ไปเถอะ ก็เลยเป็น และมาเลือกที่โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองนี้

ถ้าถามว่าทำไมเราถึงตัดสินใจมาอยู่ในระบบนี้ เรามองว่าถ้าวันนึงเวลามันผ่านไป เมื่อความเปลี่ยนแปลงของโลกมันไปไวขึ้น ความคาดหวังส่วนตัวของเราคือ เราก็อยากเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนอะไรก็ตามแต่ที่ตอนเด็กๆ เราเจอมา และเรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันไม่โอเค ไม่สมเหตุสมผล ครูไม่ควรทำแบบนี้กับเด็ก ถ้าไม่ใช่ครู แล้วใครล่ะจะเปลี่ยนได้  และมันน่าจะทำอะไรได้มากกว่าถ้าเทียบกับเราไปทำอย่างอื่นแล้วเปล่งเสียงออกมา เรามาเป็นเอง มาอยู่ในระบบเอง แล้วมาดูสิว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง เพราะงั้นเราก็เลยคิดว่ามาเป็นครูดีกว่า 

ตอนที่เข้ามาอยู่ในระบบนี้แล้ว รู้สึกยังไงบ้าง

ตอนเข้ามาบรรจุที่โรงเรียนนี้ เขาให้เราไปทำกิจการนักเรียน (ฝ่ายปกครอง) และในวันเปิดเทอมวันแรก นักเรียนต้องตรวจผม เรารู้อยู่แล้วแหละว่ามันต้องมีอะไรแบบนี้ ตรวจผม ตรวจเล็บ ซึ่งตรวจเล็บเราก็พอทำใจได้ มันเป็นเรื่องสุขลักษณะ แต่พอมาถึงเรื่องทรงผม คือเหมือนก่อนเวลาตรวจแล้วก็ต้องไถเลยนะฮะ ครูเนี่ยก็จะถือปัตตาเลี่ยน กรรไกร ด้วยวัฒนธรรมองค์กรในตอนนั้น มันบีบให้เราต้องทำแบบนั้น เราก็รู้สึกผิดในใจมาตลอดนะครับ ว่าเราเป็นครูสังคม…

(ทันใดนั้นเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งก็เดินเข้าห้องกิจการนักเรียน เพื่อมาปรึกษาเรื่องปัญหาสีผมที่ผิดระเบียบ)

เราเป็นครูสังคม การที่เราไถหัวเด็ก นั่นคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ซึ่งในรัฐธรรมนูญบอกไว้เลยว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในร่างกายของตัวเอง ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า และถ้าเป็นครูสังคมแล้วยังทำแบบนี้จะมีหน้าไปสอนใครเขาได้ ซึ่งทุกคนก็บอกว่าเราก็ออกจากกิจการนักเรียนสิ ถ้ารู้สึกว่าเราทำแล้วไม่มีความสุข เราก็คิดในใจว่า ไม่ออก โดยธรรมชาติเราเป็นนักสู้ เป็นคนชอบเอาชนะ ฉันจะไม่ยอมแพ้ โอเคไม่เป็นไร ให้เราตัดใช่ไหม เราก็ตัด เริ่มจากตัดเอง ก็ไถให้เขานิดนึง เพื่อจะให้เขาไปตัดแก้ต่อได้ จนเราเริ่มขี้เกียจตัดแล้ว หน้าโรงเรียนจะมีร้านเสริมสวย พอดีเจ้าของเป็นผู้ปกครอง เราเลยไปดีลกับเขา ให้ทุกต้นเดือนเขามาตัดให้ เราก็จะทำหลับหูหลับตาไปบ้าง เวลาช่างถามว่าตัดแบบนั้น ตัดแบบนี้ได้ไหม จนวันเวลาผ่านไป เวลาที่เราเล่าเนี่ยอาจแค่ 2 นาที แต่เวลาจริง ๆ มัน 4-5 ปีเลยนะที่เราต้องทนทำแบบนี้ เด็กนักเรียนทุกคนในโรงเรียนจะรู้ฮะ ต้นเดือนจะไม่อยากมาเข้าแถวกันเลย เพราะว่าก้าวกรณ์จะตรวจผมหน้าเสาธง 

ตลอดเวลาที่เราตัดผมเด็กเนี่ย เราก็จะคิดตลอดเลยว่า อย่าให้ถึงเวลาของเราล่ะกัน ถ้าวันไหนเรามีโอกาสในการที่จะเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ เราจะทำ จนมาถึงสิ่งที่ทำให้โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองเกิดความเปลี่ยนแปลง ในช่วงปี 2563 ในสมัย ผอ.วัชราบูรณ์ บุญชู ตอนนั้นก็พูดได้ว่าเราพอจะมีปากมีเสียงแล้ว โอกาสที่เราจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ก็มาถึง เราก็เดินเข้าไปคุยกับ ผอ. โดยยกตัวอย่างเราเอง เมื่อก่อนทรงผมเราไม่ใช่แบบนี้นะ การแต่งกายเราก็จะใส่เสื้อฮาวาย กางเกงขาเต่อ รองเท้าผ้าใบ ผู้ใหญ่ก็จะมองว่า เป็นครูปกครอง ถ้าทำแบบนี้จะไปบอกนักเรียนให้ทำตามกฎได้ยังไง เราก็เถียงในใจบ้าง เถียงต่อหน้าบ้างว่า เราเป็นครู เด็กก็รู้ เขาไม่ได้มองเราที่ทรงผมหรือเครื่องแต่งกาย เราก็มองกลับกันว่านักเรียนเขาจะเรียนได้หรือไม่ได้ ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ทรงผมเขา ตอนแรกเราก็บอก ผอ. ว่าแค่ขอทดลอง คิดซะว่าเหมือนเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ขอลองได้ไหมว่าให้นักเรียนไว้ผมทรงอะไรก็ได้ เราไม่ตรวจผมเลย และมาดูกันสิว่าในปีการศึกษานี้ ผลการเรียนเด็กจะแย่ลงไหม ประกอบกับในปีนั้นกระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบทรงผมมาพอดี เราก็ลอกตามมาเลย 

หลังจากผ่านไป 1 ปีการศึกษา ครูทุกคนก็ได้พบความจริงว่า จริงๆ แล้วเด็กนักเรียนดูแลตัวเองได้ ไม่มีใครหรอกที่อยากจะไว้ผมยาวจนทิ่มลูกตาตัวเองแล้วเวลาเรียนก็ต้องคอยมานั่งปัดผมจนน่ารำคาญ ก็มีคนแย้งว่าแล้วถ้าเป็นเหาล่ะ เราก็บอกว่าถ้าเป็นเหาก็ไปรักษา ถ้านักเรียนเป็นเหานั่นหมายความว่าเขาไม่ดูแลตัวเขาเอง ไม่รับผิดชอบเรื่องความสะอาด ปัญหาการเป็นเหาไม่ใช่ปัญหาของครู แต่เป็นปัญหาของเด็ก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองก็ใช้ระเบียบทรงผมนี้ตามกระทรวงศึกษาธิการเรื่อยมา เราห้ามแค่สองอย่างคือ ห้ามย้อมกับห้ามดัด แต่ในใจเราก็คิดนะถ้าวันนึง กระทรวงศึกษาธิการปลดล็อคเรื่องทรงผม จะเสรีทรงผม เราก็อยากให้ถึงวันนั้นไวๆ นักเรียนจะได้เป็นอิสระทางทรงผมสักที

ช่วงปลายปีที่แล้ว คุณเผยแพร่บันทึกข้อความว่าด้วยความเดือดร้อนของนักเรียน LGBTQ+ ที่อยากจะแต่งกายตามเพศสภาพของตัวเอง เหตุการณ์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

ในตอนนั้นครูหญิง ซึ่งเป็นครูที่ปรึกษานักเรียนชั้น ม.3 และก็เป็นครูแนะแนวด้วย ก็เข้ามาคุยกับเราที่เป็นเป็นหัวหน้าระดับ ม.3 และเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการนักเรียน ว่ามีเด็กในห้องคนหนึ่งเขาอยากแต่งหญิง ในตอนนั้นโรงเรียนก็จะเรียนแบบออนไลน์กัน เด็กอยู่บ้าน แล้วพอช่วงโควิดมันซา เขาให้มาเรียนที่โรงเรียน ก็จะมีเด็กที่เขาไว้ผมยาวแล้ว พอเขามาแต่งแบบนักเรียนชาย เขาก็รู้สึกว่ามันไม่เข้ากับเขา เขาก็คงส่องกระจกทุกๆ วัน แล้วคิดว่านี่มันไม่ใช่ตัวเขา เขาก็มาปรึกษาครูหญิง เราก็บอกเด็กว่าให้ไปบอกผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองเอาใบรับรองแพทย์มา ณ ตอนนั้นนะฮะ เน้นว่า ณ ตอนนั้น แล้วเราก็ให้ที่ปรึกษาทำบันทึกข้อความมา แล้วเราก็รับทราบ และส่งเรื่องต่อรองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียน ซึ่งในตอนนี้ก็อยู่ในช่วงที่ต้องหารือ ขอความคิดเห็นจาก คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าเขาจะมีความคิดเห็นว่าอย่างไร เพราะถ้านักเรียนสามารถแต่งได้ แล้วรูปจบที่ติดบนใบ ปพ. หรือถ้าเป็นในมหาวิทยาลัย รูปแจ้งจบเนี่ยก็ต้องถามว่าสามารถใช้รูปที่แต่งกายตามเพศสภาพของตัวเองได้ไหม ก็ต้องปรึกษาหารือกัน โดยส่วนตัวก็หวังนะฮะ ว่าถ้ามันเป็นไปได้ก็ดี แต่ถ้ามันยังเป็นไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็รอว่าเมื่อไรที่เรื่องนี้ (เสรีภาพในการแต่งกายตามเพศสภาพ) จะลงมาถึงรั้วโรงเรียนสักที เพราะในทุกวันนี้ระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่ที่เห็น ก็สามารถให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพและอัตลักษณ์ตามเพศตัวเองได้แล้ว บางมหาวิทยาลัยยกเลิกคำนำหน้าด้วยซ้ำ ก็หวังว่าสักวันนึงจะลงมาถึงรั้วโรงเรียนด้วย แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ทุกอย่างมันมีค่าใช้จ่าย เด็กนักเรียนมัธยมเขายังเป็นเยาวชนอยู่ ถ้าพูดง่าย ๆ คือถ้าวันหนึ่งเด็กเขาอยากจะแต่งหญิง ผู้ปกครองก็ต้องยินยอมก่อน  ค่าใช้จ่ายในที่นี้ก็คือ เรื่องชุดที่เด็กจะต้องเปลี่ยนจากชุดนักเรียนชายไปเป็นชุดนักเรียนหญิง ค่าใช้จ่ายมันก็มี ผู้ปกครองก็ต้องมาคุยกับโรงเรียนว่าถ้าผู้ปกครองยินยอม ก็ต้องมาว่ากัน แต่ทางท่าน ผอ.ก็รับเรื่องไว้พิจารณานะฮะ ก็ต้องขอบคุณท่าน และก็รอการปรึกษากับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าทำได้ มันก็จะเป็นการก้าวกระโดดของโรงเรียนระดับมัธยม โอเค โรงเรียนอื่นๆ เขาอาจทำไปแล้วก็ได้ แต่เราก็อยากทำให้มันเป็นทางการ เป็นมาตรฐานเลยว่านี่คือระเบียบการแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง

โรงเรียนนี้ผลิตศิลปิน ไม่ว่าจะเป็น โยชิ รินรดา, เอแคลร์ จือปาก หรือ ยังโอม เรารู้สึกว่าถ้าโรงเรียนของโยชิทำได้ มันก็จะเป็นบรรทัดฐานให้โรงเรียนหลายโรงเรียนว่า เฮ้ย มันก็ทำได้เหมือนกันนะ แต่ของแบบนี้ต้องใช้เวลา ต้องใช้การพูดคุยด้วยเหตุและผล และทุกอย่างมันก็จะเป็นไปได้

ประกาศบนเฟซบุ๊กเพจของโรงเรียนว่าด้วยระเบียบทรงผมของนักเรียนที่ตอนนี้ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก ในแง่หนึ่งมันก็เป็นเรื่องที่จริง ๆ ทุกโรงเรียนก็ควรจะทำได้ แต่พอเราทำกลับกลายเป็นความก้าวหน้า คิดว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้โรงเรียนอื่นๆ ทำไม่ได้แบบที่เราทำ

พูดกันในเชิงหลักการทั่วไป เอาจริง ๆ เรื่องนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ลอยตัวนะ เพราะในก่อนวรรคสุดท้ายของ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. ๒๕๖๓ สุดท้ายแล้วกระทรวงก็ให้อำนาจสถานศึกษาและผู้อำนวยการในการตัดสินอยู่ดี กระทรวงฯ กำหนดเฟรมมาให้กว้างๆ เลยนะ ว่าผู้ชายซ้ายขวาเนี่ย ไม่เลยตีนผม  ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสม ไม่กำหนดเซนติเมตรใด ๆ ส่วนของผู้หญิงจะสั้นก็ได้ยาวก็ได้ แค่นั้นเลย โรงเรียนแต่ละโรงเรียนก็มาตีความกันสิฮะ โรงเรียนเอ ทรงผมผู้ชายด้านหน้าด้านหลังให้เป็นไปตามความเหมาะสม งั้นฉันก็กำหนดความเหมาะสมเลยว่า 8 เซนติเมตร สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นรองทรงสูง รองทรงต่ำ หรือทรงนักเรียน คือกระทรวงเองก็ยังให้อำนาจผู้อำนวยการในการตัดสินใจอยู่ นี่คือหนึ่งในสาเหตุที่โรงเรียนอื่นทำแบบเราไม่ได้ แต่เราก็ไม่ไปตัดสินนะ ว่าทำไมไม่ทำแบบฉัน เพราะก็ไม่รู้ว่าภายใน ระบบการบริหารของเขามันเป็นยังไง

แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่โรงเรียนเราทำมันเป็นเรื่องปกติ มันคือความปกติในความไม่ปกติที่คนอื่น ๆ เขาไม่ได้ทำกัน ในประเทศเรา อะไรที่มันเป็นปกติที่สังคมโลกเขาทำกัน แล้วพอเราทำขึ้นมา มันเป็นเรื่องที่วิเศษขึ้นมาทันทีเลย ตอนแรกตกใจนะ ในประกาศที่โรงเรียนเผยแพร่ออกไป ถ้าลองกลับไปสังเกตในโพสต์นั้นนะ ครูและนักเรียนของโรงเรียนเราจะไม่ค่อยตื่นเต้น เพราะเรารู้อยู่แล้ว มันเป็นเรื่องปกติของเรามากเลยว่า ก็ไม่มีการตรวจผมแบบนี้มาสองปีแล้ว แต่เรามองว่าถ้าโรงเรียนอีกหลายโรงเรียนจะใช้บรรทัดฐานของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองไปเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเขาเราก็ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี มันคือจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ในร่างกายของตัวเด็กเอง แต่ย้ำอีกครั้งนะว่ามันเป็นเรื่องปกติ

ในฐานะครูสังคม นอกจากจะต้องทำให้นักเรียนเข้าใจความแตกต่างหลากหลายแล้ว เราจะทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่และครูรุ่นก่อนๆ เข้าใจความแตกต่างหลากหลายนี้ด้วยเช่นกัน

โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ความเป็นพลวัตของสังคมมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา เราเป็นครู เราจะพูดเสมอเลยว่า พื้นที่ของคนเป็นครูคืออยู่ข้างๆ นักเรียน เราต้องยอมรับว่าเด็กในปัจจุบันเขาเครียดนะ เขาต้องแบกความคาดหวัง จากสังคม ครอบครัว คนรอบตัว ว่าเขาจะต้องเป็นคนที่ดีของชาติ ครูควรจะต้องปรับวิธีคิดว่าเขาไม่ใช่เราในตอนเด็ก สิ่งเดียวเลยที่จะทำให้ครูเข้าใจเขาได้คือเราต้องเปิดใจยอมรับ ว่าเด็กทุกคนไม่เหมือนกันนะ เราอาจเคยได้ยินว่าเด็กเป็นผ้าสีขาว แต่จริงๆ เด็กคือผ้าหลากสี คนหนึ่งอาจจะเป็นสีม่วง สีแดง สีรุ้ง หรือสีขาว หน้าที่ของครูคือเข้าใจในผ้าแต่ละสี และทำยังไงก็ได้ให้ผ้าแต่ละผืน แสดงความงดงามของผ้าผืนนั้นออกมา พูดแบบง่ายๆ คือ ครูต้องเข้าใจเด็ก ต้องทำให้เขาแสดงศักยภาพของเขาออกมา เคยดูเรื่อง The Gifted นักเรียนพลังกิฟต์ กันไหมฮะ เด็กทุกคนจะมีศักยภาพไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง และสักวันหนึ่งเขาจะแสดงศักยภาพของเขาออกมาได้

เด็กโรงเรียนเรา ข้อจำกัดในชีวิตเขาเยอะแล้ว แต่โชคดีครูโรงเรียนของเราเป็นวัยรุ่นเยอะ พอเป็นวัยรุ่นเราก็จะเข้าใจเขา ในระดับที่ว่าเราเหมือนเป็นพี่ เป็นเพื่อนเขา ด้วยข้อจำกัดทางรายได้ ปัญหาครอบครัวของเด็ก ๆ ถ้าเราจะทำให้เด็กโรงเรียนเรา เรียนเก่งเหมือนเด็กโรงเรียนดีๆ เด่นดัง เรามองว่าตัวป้อนเราทำไม่ได้ เพราะงั้นเรามาหาดีกว่าว่าอะไรคือจุดเด่นของโรงเรียนเรา ผู้บริหารของเราบอกว่าอยากทำให้โรงเรียนของเราเป็นสนามเด็กเล่น ให้เด็กได้แสดงศักยภาพออกมา ครูมีหน้าที่สนับสนุน อย่างเด็กติดเกม เวลาเรียนก็ตีป้อมกัน เราจะทำยังไงอยากให้เขารู้สึกว่า การติดเกมของเขามันมีความหมาย เราก็จัดแข่งขัน ROV ให้ แต่ก็มีข้อแม้ว่า ถ้าใครเล่นในห้องตอนเรียน เราจะยกเลิกการแข่งขัน การเล่นเกมในห้องก็หมดไป เลิกเรียนเด็กก็จะมาซ้อมกัน เด็กทุกคนมีศักยภาพ ครูจะต้องเข้าใจและให้โอกาสเขา เรามีคติว่า มาเรียนต้องสนุกและมีความสุข

เราเสียงบประมาณไปเยอะมากกับการไปดูงานต่างประเทศ ที่บ่อยๆ ก็จะเป็น ฟินแลนด์ แต่จริงๆ แบบอย่างที่ดีเราก็มีคือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) ซึ่งหลักสูตรของเขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเด็ก อย่างหลักสูตรของโรงเรียนเราก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากที่นี่ เราไม่ต้องไปไกลเลย ตัวอย่างในประเทศไทยดีๆ มีเยอะนะ ที่เขาให้ความสำคัญกับเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกว่าการมาโรงเรียนได้มาเล่นมาสนุก เขาได้แสดงตัวตนเขาออกมา แค่นั้นก็พอแล้วนะ แค่ทำตามตัวอย่างที่มีในประเทศให้ได้ก่อน 

แต่ละโรงเรียนมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ขณะที่ถ้าถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เด็กโรงเรียนอื่นอาจตอบว่าอยากเป็นหมอ อยากเรียนที่นั้น เรียนที่นี่ เด็กโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองจะตอบว่าเขาอยากขับ Grab เขามองว่าเขาจบ ม.6 ทำไมเขาต้องเสียเวลาอีกตั้ง 4 ปีไปเรียน แต่ฉันไม่มีเงิน ไม่มีงาน แต่ถ้าไปขับ Grab เขาก็ได้เงินเลย ความคาดหวังของเรามีแค่ว่า เราส่งเขาจนจบม.6 หรือ ม.3 และเขาไม่เป็นภาระของใคร ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ตัวเอง หรือสังคม สามารถใช้ชีวิตในสังคมนี้ต่อไปได้

มีจุดไหนของหลักสูตรครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ในประเทศไทยที่คุณมองว่าเป็นปัญหา ทำให้ผลิตครูที่ไม่สามารถทำความเข้าใจเด็กได้ออกมา

เรามองว่า แต่ละมหาวิทยาลัยผลิตนักศึกษาที่เรียนครูให้ออกไปเป็นครูวิชาเฉพาะ เช่น เราเป็นครูวิชาสังคม ทุกคนจะอัดเนื้อหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศาสนา อัดนักศึกษาเข้าไป แต่เมื่อสุดท้ายเด็กจบออกไปแล้วไปเป็นครูจริงๆ ไปสอนวิชาสังคม สอนประวัติศาสตร์ เขาไม่ได้สอนให้เด็กนักเรียนจบไปเป็นนักสังคมศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ เราแค่สอนให้เด็กคนนึงให้เตรียมความพร้อมในการเป็นพลเมืองเท่านั้นเอง ถ้าพูดรวมไปถึงวิชาอื่นด้วย เราไม่ได้จะผลิตเด็กให้เป็น นักคณิตกร นักวิทยาศาสตร์ หรือศิลปิน ฯลฯ

หลักสูตรครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ในประเทศไทยควรจะยืดหยุ่นได้มากกว่านี้ ในแง่ที่ว่าไม่ต้อง Fix เนื้อหามากขนาดนั้น แต่ควรจะสอนจิตวิทยาสำหรับเด็ก ซึ่งจริงๆ เขาสอนนะฮะ แต่เราคิดว่าอาจจะต้องมีเนื้อหาทำนองนี้มากกว่านี้ ยิ่งหลักสูตรที่ปรับเหลือเพียง 4 ปีจาก 5 ปี เราว่าอาจไม่เพียงพอ สำหรับการให้เด็กวัยรุ่นคนนึง ซึ่งเรียน 3 ปี แล้วอีกปีก็ไปฝึกสอนเลย ซึ่งในมุมมองของอาจารย์บางท่านก็เห็นด้วยว่าให้พวกเขาได้ออกไปสู่สังคมการทำงานจริงๆ แต่เรามองว่าคนเป็นครู ต่อให้ครูที่ไปฝึกสอน แต่ว่านักเรียนไม่ได้มาฝึกเรียน เขาเรียนจริงๆ เพราะฉะนั้นเราควรเตรียมความพร้อมครูให้สมบูรณ์แบบก่อนที่จะให้เขาได้ไปเจอนักเรียน ต้องมีเนื้อหาที่ทำให้เขาพร้อมเมื่อออกไปเจอนักเรียนจริงๆ เขาควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร และทุกวันนี้เด็กที่เข้ามาเรียนครู ความคิดความอ่านก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ  ครูผู้สอนที่อยู่ในระดับมหาวิทยาลัย เขาควรที่จะต้องปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติ ปรับการสอนให้เข้ากับเด็กรุ่นใหม่ๆ ถ้าเขายังใช้วิธีคิดและวิธีการสอนแบบเดิมๆ เราว่ามันจะไม่รอด เด็กที่เข้ามาเรียนเขาก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นครูแบบที่เป็นตัวเอง

ยังมีปัญหาอะไรอีกในระบบการศึกษาไทยที่คิดว่าท้าทายและอยากจะทำให้ได้บ้างไหม

ความฝันของเราเลยนะ อยากให้วลีที่ว่า “เรียนที่ไหนก็ได้ เรียนที่ไหนก็เหมือนๆ กัน” เป็นจริงสักที อยากให้มาตรฐานการศึกษาของทุกโรงเรียนในไทยเท่ากัน มันอาจต้องใช้เวลาทั้งชั่วชีวิตเลยด้วยซ้ำ แต่เราอยากให้เด็กทุกคนในประเทศเราได้รับโอกาสที่เท่ากัน ไม่อยากให้มีการสอบเข้าเลยสักโรงเรียน เพราะถ้าเมื่อไรมาตรฐานของทุกโรงเรียนเท่ากัน มันไม่จำเป็นต้องมีสอบเข้า เด็กเรียนที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องไปเรียนไกลๆ เด็กเรียนไกลๆ นี้เหนื่อยนะ 

ในเรื่องหลักสูตรมันอาจต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งยิ่งใหญ่เลยนะ หลักสูตรที่ต้องสร้างมาให้เป็น Standard คือไม่ได้หมายความว่าทุกโรงเรียนในประเทศไทยจะต้องผลิตเด็กออกมาเป็นหุ่นยนต์แบบเดียวกัน แต่อย่างน้อยคือมันต้องมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เด็กทุกคนไปเรียนที่ไหนก็ได้แบบมีความสุข แล้วถ้าจะไปต่อในอุดมศึกษาก็ค่อยว่ากัน 

ถ้าวันนึง หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน คุณภาพครู ทุกอย่างเลยตั้งแต่ระดับบนสุดจนถึงล่างสุดในระบบการศึกษาไทยมันเท่าเทียมกันได้ นั่นแหละคือสิ่งที่เราอยากให้การศึกษาไทยเป็นแบบนั้น 

และวลีที่ว่า “เรียนที่ไหนก็ได้ เรียนที่ไหนก็เหมือนๆ กัน” ก็จะเป็นจริง

บทความเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า