fbpx

‘เรือนร่าง ค่าแรง เวลางานที่เป็นธรรม’ เมื่ออุตสาหกรรม K-POP รื้อกฎหมายเกี่ยวกับไอดอลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

“อายุไอดอลเกาหลีเหมือนจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ” 

‘ไอดอล’ กับ ‘อายุ’ เป็นสิ่งที่สังคมปัจจุบันยังคงให้ความสนใจและหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่เสมอ ยิ่งในช่วงที่กระแส K-POP ได้รับความนิยมมากเท่าไร เราก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าศิลปินวงดังๆ เริ่มเดบิวต์กันตั้งแต่อายุน้อย มีค่าเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 14-19 ปี 

บทความในเว็บไซต์ koreaboo ระบุว่า ความกังวลเกี่ยวกับไอดอลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกำลังเพิ่มสูงขึ้นในหมู่แฟนคลับ หลังมีกระแสว่าค่ายเพลงต่างๆ จะคัดเลือกเด็กฝึกหัด หรือที่เรียกกันว่า ‘เด็กเทรน’ หรือ ‘เทรนนี่’ ที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ก่อนตั้งคำถามถึงกฎหมายแรงงานที่ชี้เฉพาะเจาะจงไปยังนักแสดง นางแบบ ศิลปิน หรือไอดอลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และเริ่มเข้าสู่โลกแห่งการทำงานเร็วกว่าเพื่อนในช่วงวัยเดียวกัน

หนึ่งในบริษัทที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในบทสนทนาคือ ADOR ที่มีเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังอายุเฉลี่ยน้อยอย่าง Newjeans (นิวจีนส์) ที่มักเน่ของวงอย่างฮเยอิน เข้าสู่วงการเดินแบบตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และเดบิวต์เป็นไอดอลตอนอายุ 14 ปี หรือวง IVE (ไอฟ์) จากค่าย Starship Entertainment มีอีซอเป็นมักเน่อายุ 14 ปี เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มาหมาดๆ รวมถึงค่าย YG Entertainment ที่ถูกพูดถึงจากการวางแผนเดบิวต์วง BABY MONSTER ซึ่งตัวเต็งที่จะได้เดบิวต์อย่างชิกิต้า ก็มีอายุเพียง 13 ปี 

ความกังวลนี้แตกประเด็นได้หลากหลาย เช่น ความเป็นห่วงไอดอลที่เป็นเยาวชนเวลาจะต้องรับมือกับแฟนคลับหลากหลายรูปแบบ ที่มีตั้งแต่แฟนคลับปกติไปยันแฟนคลับไม่ปกติ คำถามเรื่องการใช้แรงงานเด็กของค่ายต่างๆ ความกังวลว่าไอดอลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะถูกผู้มีอำนาจหรือต้นสังกัดเอารัดเอาเปรียบ โดยที่พวกเขาหรือเธอไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกผู้ใหญ่ที่เป็นทั้งคนทำงานและแฟนคลับ Gaslighting รวมถึงกรณีที่ อี ซึงกิ (Lee Seung-gi) ฟ้องต้นสังกัดตัวเอง ก็เป็นอีกครั้งที่ศิลปินเกาหลีฟ้องค่ายเพราะถูกกดขี่จากสัญญาจ้างกับการดูแลที่ไม่เป็นธรรม

เพราะเป็นเยาวชน จึงต้องรอบคอบรัดกุม และมีกฎหมายคุ้มครองชัดเจน

วันที่ 21 เมษายน 2023 มีรายงานว่า กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองไอดอลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่มีในหมวด Pop Culture and Arts Industry Development Act มุ่งไปยังประเด็นเรื่องเวลาการทำงานและค่าตอบแทนที่ยุติธรรม

กฎหมายฉบับนี้จะทำให้บริษัทหรือค่ายเพลงในเกาหลีใต้ที่มีศิลปินที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะต้องแจ้งรายได้รวมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และต้องแจ้งค่าตอบแทนเมื่อศิลปินร้องขอทุกครั้ง นอกจากนี้ยังปรับเวลาการทำงานใหม่เป็นห้ามทำงานเกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

กฎหมายที่ปรับแก้เพิ่มเติม มีเนื้อหาคร่าวๆ ดังนี้ 

– เยาวชนที่เป็นไอดอลหรือศิลปินอายุต่ำกว่า 12 ปี จะสามารถทำงานได้ไม่เกิน 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วันละ 6 ชั่วโมง 

– เยาวชนที่เป็นไอดอลหรือศิลปินที่มีอายุระหว่าง 12-15 ปี จะสามารถทำงานได้ไม่เกิน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วันละ 7 ชั่วโมง

– เยาวชนที่เป็นไอดอลหรือศิลปินที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะสามารถทำงานได้ไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วันละ 7 ชั่วโมง

เมื่อนำเวลางานของเยาวชนในวงการบันเทิง มาเทียบกับแรงงานทั่วไปที่บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2018 ที่มีเวลาทำงานตามปกติอยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 19 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะเห็นว่าเยาวชนมีเวลาทำงานน้อยกว่าแรงงานทั่วไปอยู่ 5 ชั่วโมง

ทว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดียุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) พยายามปรับแก้ระยะเวลาทำงานใหม่ โดยหวังให้ยืดหยุ่นตามที่นายจ้างกับลูกจ้างจะตกลงกันเอง พยายามขยับเพดานเวลาทำงานรวมแล้วให้ไม่เกิน 69 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเวลาทำงานตามปกติอยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 29 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก่อนเตรียมส่งเรื่องไปยังสภาเพื่อลงมติพิจารณาอนุมัติในเดือนกรกฎาคม 2023 การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์เชิงลบอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนเจนเนอเรชัน Z ซ้ำยังเกิดความเป็นห่วงว่า หากรัฐบาลสามารถปรับเพิ่มเวลางานของคนทั่วไปได้สำเร็จ เวลางานของเยาวชนที่เพิ่งลดลงจะถูกแก้ใหม่ให้เพิ่มขึ้นหรือไม่ 

ข้อกำหนดในกฎหมายที่เพิ่มมายังระบุว่า ห้ามไม่ให้บริษัทละเมิดสิทธิด้านการศึกษาของศิลปินที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ห้ามไม่ให้เข้าชั้นเรียนเพราะต้องฝึกซ้อม ห้ามบังคับให้เด็กในสังกัดลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงานเต็มตัว รวมถึงข้อห้ามอื่นๆ ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเยาวชน เช่น การบังคับให้เยาวชนต้องลดน้ำหนักแบบหักโหม รักษารูปร่างอย่างหนัก หรือประเด็นย่อยเรื่องการควบคุมอาหารจนทำให้เด็กในสังกัดไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ การกระทำใดที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ฯลฯ 

การปรับเพิ่มข้อกำหนดในกฎหมาย เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสิทธิของศิลปินที่ยังเป็นเยาวชนจะได้รับการคุ้มครอง รวมถึงมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่จะทำหน้าที่สอดส่องดูแล เป็นผู้รับผิดชอบในประเด็นนี้ เพื่อปกป้องสิทธิและความเป็นอยู่ของพวกเขา รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ยังสั่งการให้พิจารณาผลการสอบสวนเกี่ยวกับสัญญาจ้าง เพื่อหาวิธีแก้ไขสัญญาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับผู้ประกอบอาชีพนี้

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาส่วนนี้เป็นแค่การอธิบายกฎหมายใหม่แบบคร่าวๆ ยังไม่ได้ถกเถียงกันว่าค่ายกับศิลปินจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายนี้ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่

กฎหมายกับค่านิยมเก่าที่ทำกันมา สิทธิแรงงานเด็กจึงพูดง่ายแต่ทำยากหรือไม่?

การปรับกฎหมายเกิดขึ้นหลังสำนักข่าวออนไลน์ Dispatch เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนว่า อี ซึงกิ ศิลปินชื่อดังวัย 35 ปี ทำงานภายใต้การกดขี่จากต้นสังกัดอย่าง HOOK Entertainment มาอย่างยาวนาน จนสุดท้ายเขาได้จ้างทีมกฎหมายยื่นฟ้องต้นสังกัดตัวเอง เพราะตลอดระยะเวลา 18 ปี อี ซึงกิ มีผลงานเพลงกว่า 137 เพลง จาก 27 อัลบั้ม และได้รับรางวัลมากมาย แต่เขาไม่เคยได้รับค่าตอบแทนจากผลงานเหล่านี้เลย 

ทนายความของอี ซึงกิ ระบุว่า ค่ายเพลงมักอ้างว่าผลงานจำนวนมากนี้ยังไม่สามารถสร้างกำไรได้ จึงจ่ายให้ได้แค่เงินสำหรับใช้จ่ายทั่วไปเดือนละ 2 ล้านวอน (ประมาณ 54,000 บาท) ถ้าศิลปินใช้จ่ายเกินงบก็ต้องออกเงินเอง เมื่อเรื่องราวกลายเป็นคดีความ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกค้นข้อมูลในสำนักงาน พบว่าบริษัทมีรายได้จากผลงานของอี ซึงกิ รวมแล้วแตะหลักหมื่นล้านวอน 

ในแง่ของรายได้และสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจนถูกเรียกกันว่า ‘สัญญาทาส’ ก็พบเห็นได้บ่อยในอุตสาหกรรม K-POP ที่มักมาพร้อมกับการ Gaslighting จากต้นสังกัด เทคนิคที่ว่านี้สามารถเป็นได้ทั้งคำพูดหรือการกระทำบางอย่าง ที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกผิด ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ ทั้งที่อีกฝ่ายอาจไม่ได้ผิดจริงเลยก็ได้ 

Dispatch ยังเปิดเผยบทสนทนาระหว่างประธานค่ายกับพนักงานในบริษัท อ้างว่าสาเหตุที่ อี ซึงกิ เป็นนักร้องที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้ค่ายได้ เป็นเพราะเขาไม่ดีพอ มีการพูดว่าแฟนคลับของเขาไม่ยอมซื้ออัลบั้ม แต่กลับอยากให้ค่ายปรับนั่นปรับนี่ เรียกร้องหลายเรื่องจากค่าย มิหนำซ้ำประธานค่ายยังบอกให้ผู้จัดการของ อี ซึงกิ ปรามตัวศิลปินบ้างเพราะมีรสนิยมดีเกินไป (เหมือนพยายามจะสื่อว่ามีรสนิยมสูงเกินตัว) และบอกให้เขาประหยัดมากกว่านี้ 

การ Gaslighting ในทำนองเดียวกันยังพบเห็นได้ในประเด็นรูปร่าง ความเป็นอยู่ การออกกำลังกาย การอดอาหาร ที่กฎหมายใหม่ระบุว่าห้ามบังคับให้ศิลปินที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะได้รับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ 

ตัวอย่างที่พอจะทำให้เห็นภาพยังเกิดขึ้นกับวง LE SSERAFIM (เลอ เซราฟิม) ที่เคยกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย เพราะเนื้อหาในสารคดีของพวกเธอตอนหนึ่งเผยให้เห็นว่า คนที่เป็นพนักงานทำงานเบื้องหลังของบริษัท แนะนำเรื่องการรักษารูปร่างกับสมาชิกวง เพราะเขามีธงในใจว่าไอดอลที่สมบูรณ์แบบจะต้องมีรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพแบบใด รวมถึงแนะนำให้พวกเธอกินผักเยอะๆ จนทำให้ซากุระ หนึ่งในสมาชิกวงที่มีประสบการณ์ในวงการนานกว่าสิบปี แสดงความคิดเห็นว่าตอนนี้มีบางอย่างไม่ยุติธรรม เธอรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่กำลังสร้างปัญหาให้กับวงขนาดนั้น

การวิจารณ์ของผู้ที่ได้ดูสารคดีส่วนใหญ่ไปในทางเดียวกันคือความเป็นห่วงเมมเบอร์ เพราะในวงมีเยาวชน พวกเธอเป็นวัยรุ่นที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับสารอาหารเพียงพอ ต้องกินให้อิ่ม นอนให้พอ ไม่ใช่โฟกัสไปยังการอดอาหารให้รูปร่างผอมบาง หากมองจากโปรไฟล์ในเว็บไซต์ของค่ายต้นสังกัด จะเห็นว่าสมาชิกวงมีน้ำหนักประมาณ 42-53 กิโลกรัม มีส่วนสูงเฉลี่ย 163-175 เซนติเมตร มองอย่างไรก็ไม่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน 

ไม่เพียงเท่านี้ ไอดอลหญิงคนหนึ่งยังเคยออกมาบอกว่า เธอลดน้ำหนักด้วยการกินแต่ถั่ว นม กะหล่ำปลี ผลไม้บางชนิด คู่กับการออกกำลังกาย บางคนเล่าว่ากินอกไก่ชิ้นเล็ก กินสลัด ดื่มกาแฟดำ ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ 

จนทำให้แฟนคลับตั้งข้อสังเกตว่าหลายครั้งที่ไอดอลต้องปรับอาหารการกินจนแทบจะอดอาหาร แต่กลับออกมาเล่าด้วยความรู้สึกภูมิใจที่สุดท้ายตัวเองก็ลดหุ่นได้ตามเป้า แทนที่จะตั้งคำถามถึงวิธีลดที่หักโหมเกินไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูก Gaslighting จากทีมเบื้องหลังและต้นสังกัดหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่แค่ต้นสังกัดเท่านั้น ยังรวมถึงความคิดเห็นเชิงลบที่วิจารณ์รูปร่างหน้าตาของไอดอลของคนทั่วไป ที่ยิ่งตอกย้ำให้ไอดอลต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้หลุดกรอบความงามที่สังคมกำหนดไว้ 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าข้อบังคับเรื่องเวลางานของไอดอลถูกปฏิบัติตามอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากกว่าเรื่องอื่นๆ หากใครที่ตาม K-POP มาช่วงเวลาหนึ่ง อาจสังเกตได้ว่ามีการบังคับใช้กฎเวลางานของไอดอลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาพักใหญ่แล้ว ไอดอลที่เป็นเยาวชนจะไม่สามารถทำงานหลัง 4 ทุ่มได้ ทำให้ในงานเทศกาลต่างๆ หรือในงานประเทศรางวัลที่มักจัดในช่วงดึก ศิลปินหรือไอดอลวงใดที่มีสมาชิกอายุไม่ถึงเกณฑ์ ก็จำเป็นจะต้องกลับที่พักก่อนโดยไม่สามารถต่อรองได้

เราอาจเห็นตัวอย่างการเลิกงาน 4 ทุ่มของไอดอลได้ผ่าน vlog ของวง LE SSERAFIM เพราะในวันที่ถ่ายทำคลิปดังกล่าว พวกเธอมีคิวงานในช่วงเทศกาลนับถอยหลังวันขึ้นปีใหม่ที่จะต้องอยู่ในงานหลัง 4 ทุ่ม จึงทำให้สมาชิกคนสุดท้องอย่างอึนแชที่มีอายุ 16 ปี ไม่สามารถขึ้นแสดงร่วมกันคนอื่นๆ ได้ เธอได้ถ่าย vlog ส่วนตัวว่า หลังจากนั้นเธอกลับมารอที่โรงแรม แล้วเปิดทีวีอยู่ในห้องดูพี่ๆ ในวงทำงานกันต่อ

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเหล่าศิลปินที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทำงานเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดมากน้อยแค่ไหน 

ก่อนหน้านี้ การปรับแก้เวลาการทำงานและสัญญาจ้างระยะยาว ก็เกิดขึ้นหลังการฟ้องร้องระหว่างสมาชิก 3 คนจากวง TVXQ (ทงบังชินกิ) เมื่อประมาณ 14 ปีก่อน ในยุคที่ผู้คนเรียกกันว่าเป็นช่วงเวลาบุกเบิกของ K-POP เพราะไอดอลต้องเซ็นสัญญากับบริษัทนานถึง 13 ปี ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม การใช้งานศิลปินหนักเกินกฎหมายกำหนด ข้อจำกัดเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ฯลฯ 

เนื่องจากในช่วงเวลาฟ้องร้อง ทงบังชินกิเป็นวงที่ได้รับความนิยมล้นหลาม จึงส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมใหญ่ตามมา โดยคณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade Commission) และรัฐบาลเกาหลีใต้ ออกกฎหมายกำหนดระยะเวลาว่าจ้างระหว่างค่ายกับศิลปินจะต้องไม่เกิน 7 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มเดบิวต์ เพื่อตัดปัญหาเรื่องการร่างสัญญาที่ยาวนานเกินไป 

เกือบ 20 ปีในอุตสาหกรรม K-POP เราได้เห็นการฟ้องร้องระหว่างศิลปินกับต้นสังกัดเสมอ โดยเฉพาะประเด็นเดิมๆ อย่างการใช้แรงงานเกินควร การแจ้งรายได้และค่าลิขสิทธิ์คลุมเครือไม่ชัดเจน บริษัทไม่ได้ดูแลศิลปินดีเท่าที่ควร ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต รวมถึงมาตรการหละหลวมที่ไม่สามารถจัดการกับซาแซงแฟน (แฟนคลับสุดโต่งที่มีพฤติกรรมคุกคามศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ) ได้ดีเท่าที่ควร

ความเป็นห่วงต่อไอดอลอายุน้อย กังวลมากไปหรือถูกแล้วที่ต้องกังวล? 

ในกรณีที่ไอดอลยังเป็นเยาวชน ผู้คนก็ยิ่งแสดงความกังวลหนักกว่าเก่า เพราะขนาดไอดอลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หลายครั้งยังต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการต่อสู้กับต้นสังกัดหรือสู้กับซาแซงแฟน แล้วไอดอลที่ยังเป็นเยาวชนอยู่ จะถูกหล่อหลอมค่านิยมผิดๆ ตั้งแต่เด็กเพื่อให้ยอมทำงานหนักเกินไป หรือถูกคุกคามจากแฟนคลับบางกลุ่มที่ค่ายเองก็ไม่สามารถช่วยปกป้องได้เท่าที่ควรหรือไม่ 

ข้อกังวลเรื่องอันตรายจากการที่อายุเฉลี่ยไอดอลลดลงเรื่อยๆ ถูกเล่าในบทความหนึ่งทางเว็บไซต์ hercampus ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ศิลปินที่อายุน้อยจำนวนมากอาจกำลังถูกล่วงละเมิดบนโซเชียลมีเดีย โดยอ้างอิงจากการเลื่อนดูความคิดเห็นเกี่ยวกับวงที่มีไอดอลอายุน้อยในยูทูบ ติ๊กตอก หรือทวิตเตอร์ มักพบคอมเมนต์จำนวนมากที่เขียนว่า ‘ขายาวมาก’ ‘ขาวมาก’ ‘เซ็กซี่มาก’ ‘คนนี้ภรรยาผม’ รวมถึงพบวิดีโอที่ถ่ายช้อนใต้กระโปรงอย่างจงใจ 

แม้การชมเรื่องผิวขาว ขายาว หรือเซ็กซี่ อาจตีความได้ว่าเป็นคำชมทั่วไป ไม่ใช่การล่วงละเมิดทางเพศแต่อย่างใด แล้วการถ่ายคลิปหรือภาพมุมต่ำอาจกระทำโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อมองอีกแง่หนึ่ง ผู้เขียนบทความดังกล่าวแสดงความคิดเห็นมุมกลับ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ บางคนอาจรู้สึกแปลกๆ ที่เห็นผู้ใหญ่เขียนคอมเมนต์คาบเส้น หรือคอมเมนต์สองแง่สองง่ามกับไอดอลที่มีอายุเพียงแค่ 14 ปีเท่านั้น 

การตั้งคำถามไปยังวัฒนธรรมแฟนฟิกชัน (Fan Fiction) เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกพูดถึงบ่อย เนื่องจากผู้แต่งบางคนมักเขียนเนื้อหาทางเพศแบบโจ่งแจ้ง แต่หยิบยืมตัวตน ภาพลักษณ์ และอัตลักษณ์ของไอดอลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาเป็นต้นแบบ ที่หลายครั้งผู้อ่านหลายคนก็ไม่สามารถแยกได้ว่าสิ่งที่กำลังอ่านอยู่เป็นเพียงแค่จินตนาการของผู้เขียนเท่านั้น แล้วจำภาพจากฟิกนั้นมาทับกับตัวตนจริงของศิลปิน 

มุมหนึ่ง การแสดงออกถึงตัวตน บุคลิก ความสามารถ คอนเซ็ปต์ แฟชั่นบนเวที ถือเป็นอิสระที่ทุกคนมีสิทธิแสดงออกได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุ ทว่าสิ่งที่สังคมต้องตระหนักไปพร้อมกันด้วย คือผลกระทบตามมาที่มีทั้งบวกและลบ ทั้งจากคนในค่าย รวมถึงแฟนคลับบางกลุ่มที่คาดหวังมากมายในตัวไอดอล

เยาวชนจำนวนมากที่เป็นไอดอลถูกกดดันจากผู้ใหญ่ที่อยู่ในค่าย ทั้งเรื่องการพัฒนาตัวเอง การคุมน้ำหนัก ขณะที่ไอดอลหลายคนยังไม่กล้าแม้แต่จะลุกขึ้นคัดค้าน หรือถามค่ายกลับเรื่องค่าตอบแทนที่จะได้รับ ผู้ใหญ่ที่เป็นแฟนคลับสุดโต่ง ทุ่มเงินซื้ออัลบั้มจำนวนมากเพื่อให้ได้เข้างานแจกลายเซ็น ก็เอาแต่พูดย้ำๆ กับไอดอลว่า เธอจะต้องจดจำเขาให้ได้ ไม่ว่าไปงานไหนก็จะต้องมองกล้องของเขา หรือการโทรหาเวลาไลฟ์ การตามไปยังสถานที่ต่างๆ จองที่นั่งบนเครื่องบินใกล้กับศิลปิน สิ่งเหล่านี้อาจสร้างความรู้สึกสับสนให้กับเยาวชน เพราะพวกเขาหรือเธอกำลังถูกละเมิดโดยไม่รู้ตัว 

ในทางสมมติฐาน ไอดอลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะอาจทราบหรือไม่ทราบถึงอันตรายจากเรื่องเหล่านี้ก็ได้ทั้งนั้น พวกเขาเพียงแค่ปฏิบัติตัวตามบรรทัดฐานเดิมที่มีอยู่ เข้าสู่วงการด้วยความหวังว่าจะได้รับชื่อเสียงเงินทอง ประสบความสำเร็จตามฝันที่วางไว้ และหลายครั้งจำเป็นต้องฟังค่าย ฟังคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานในวงการนี้ ที่เมื่อไรสังคมหยิบประเด็นนี้มาถกเถียง ก็มักจบบทสนทนาด้วยความคลุมเครืออยู่ดี เพราะเส้นแบ่งทางจริยธรรมของคนในวงการทั้งค่าย ศิลปิน และแฟนคลับที่ไม่เท่ากัน จึงทำให้มีมุมมองเกี่ยวกับศิลปินอายุน้อยแตกต่างกัน 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับอี ซึงกิ และศิลปินหลายราย ใช้เวลานานนับสิบปีกว่าจะเห็นว่าพวกเขาถูกกดขี่มานานแค่ไหน ก่อนจะเกิดการแก้กฎหมายให้รอบคอบรัดกุมขึ้น ท่ามกลางอุตสาหกรรม K-POP ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกำลังได้รับความสนใจจากเยาวชนทั่วโลก 

ความพยายามแก้กฎหมายไปทีละเรื่องจึงถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้เห็นการขยับเพดานบางอย่าง แต่ขณะเดียวกัน การขยับนี้มักเกิดขึ้นหลังเกิดเรื่องราวอันน่าสลดใจ เช่น การแก้กฎหมายหลังคดีฟ้องร้องใหญ่ ปรับลด-เพิ่มกฎหมายหลังเกิดเหตุไอดอลทำอัตวินิบาตกรรม ทั้งที่จริงๆ แล้ว อาจจะต้องมองย้อนไปยังวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เป็นการตระหนักร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ใช่รอให้เกิดเรื่องแล้วค่อยหาทางแก้ปัญหา

ที่มา : mk.co.kr / naver / dispatch / nextshark 1 2 / koreaboo / hercampus

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า