fbpx

‘อ่อนแอก็แพ้ไป’ การแสดงออกของชัยชนะที่ด้อยค่าคนแพ้

เอ๊ะ นี่เรากำลังดีใจเกินหน้าเกินตาไปหรือเปล่า?

เชื่อไหมว่า… ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา เราทุกคนล้วนเป็นหนึ่งใน ‘ผู้เล่น’ ที่ลงไปอยู่กลางสนามแข่งขันมาโดยตลอด สังคมที่คอยผลักดันให้เราวิ่งให้เร็ว ต้องเป็นที่หนึ่งในทุกเรื่อง ต้องปีนขึ้นไปให้สูงกว่าคนอื่น ไม่มีเส้นชัยที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะประสบความสำเร็จก่อนกัน และคนที่สำเร็จคนแรกก็มักจะเป็นแชมป์ที่ทำให้มีสปอตไลต์ที่ส่องเข้ามาให้คนจำได้ และมักจะไม่มีใครจำว่าคนที่อยู่อันดับที่สอง ที่สาม หรือที่สี่ เป็นใคร

หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ คงเป็นเหมือนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กคนไหนที่สอบรับตรงผ่านตั้งแต่รอบแรกจะถูกมองว่าเป็นคนเก่ง เพื่อนร่วมชั้น ครู หรือแม้กระทั่งโรงเรียนติดป้ายแสดงความยินดีเพื่อการันตีว่าเด็กคนนี้มีความสามารถ การยกย่องเชิดชูเหล่านี้ทำให้เด็กมีความมั่นใจและภูมิใจในตนเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้รู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น 

ตัดภาพมาที่เด็กที่ต้องรอผลแอดมินชั่นเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสักแห่ง กลายเป็นช่วงเวลาเหล่านั้นพวกเขาถูกกดดันจากเพื่อนในรุ่นเดียวกันที่ทยอยมีที่เรียนกันเกือบหมด ความดีใจของเพื่อนเริ่มค่อย ๆ เป็นลดทอนคุณค่าของตนเองลง ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นคนแพ้ ตั้งคำถามในความสามารถของตนเองว่า ทำไมเราถึงไม่เก่งเหมือนคนอื่น และทำไมเราถึงไม่เป็นคนที่ถูกเลือกบ้าง

กรณีข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าเราทุกคนต่างเคยอยู่กับการแข่งขัน นอกเหนือจากเรื่องเรียนแล้วยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าเรากำลังเป็นหนึ่งใน ‘ผู้เล่น’ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือแม้กระทั่งรูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งเราจะเห็นได้บ่อย ๆ คือการที่หลายคนชอบแชร์เรื่องราวชีวิตที่ดีของตนเองบนโซเชียลมากกว่าเรื่องราวแย่ ๆ เพราะไม่มีใครอยากโชว์มุมที่อ่อนแอ และไม่มีใครอยากเป็นคนแพ้ในสังเวียนการแข่งขันของสังคม ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการเป็นนักกีฬาที่ต้องรักษาเกียรติและศักดิ์ศรี เมื่อลงแข่งในสนามก็อยากได้ชัยชนะกลับมาทั้งนั้น 

เมื่อเป็นผู้ชนะ ไม่ว่าใครก็ต้องดีใจทั้งนั้น และแน่นอนว่า ผู้ชนะมีสิทธิเต็มที่ที่จะแสดงออกถึงความปลื้มปีตินั้น แต่สิ่งที่ The Modernist อยากชวนทุกคนมาลองทบทวนกันคือ ในขณะที่เราเป็นผู้ชนะ ยังมีผู้แพ้อีกกี่คนที่เขาอาจจะรู้สึกผิดหวังกับผลลัพธ์ของการแข่งขันครั้งนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราควรจะมีความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) ต่อผู้อื่นด้วย

Jennifer Goetz อธิบายว่า การเห็นอกเห็นใจ (Compassion) เป็นการแสดงออกขั้นพื้นฐานที่ควรปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคนเมื่อพวกเขากำลังเผชิญกับความทุกข์ใจหรือความโศกเศร้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรามองเห็นคุณค่าของคนอื่นและทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่ากำลังถูกข่มด้วยชัยชนะที่เรามี

Dr. Blakely Low-Scott ผู้ให้คำปรึกษาและนักจิตวิทยาการกีฬา กล่าวว่า “คนที่เป็นนักกีฬาเมื่ออยู่บนสนามแข่งไม่มีใครทราบถึงผลแพ้ชนะได้ พวกเขาทำได้แค่ต้องแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด ชัยชนะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น แต่ไม่สามารถการันตีได้ว่าการแข่งขันครั้งนี้จะคว้าชัยชนะได้ ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพแค่ไหน ทุกคนต่างก็คุ้นเคยกับความผิดพลาดและความล้มเหลวทั้งนั้น” 

Fred Kofman กล่าวไว้ว่า ปัญญาที่ปราศจากความเห็นอกเห็นใจคือความโหดเหี้ยม ไม่ว่าคุณจะได้รับชัยชนะที่ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตามแต่ หากไม่มีความเห็นอกเห็นใจให้กับฝ่ายที่แพ้ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่มีจิตใจที่โหดเหี้ยม

การแสดงออกของชัยชนะคือความมีน้ำใจนักกีฬา?

ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช ระบุว่า การมีน้ำใจนักกีฬาเปรียบได้กับสปิริตของผู้เล่นที่ให้ความสำคัญกับชัยชนะ ในขณะเดียวกันคือการความเคารพต่อกฎกติกา กรรมการ รวมถึงผู้เข้าแข่งขันในสนามเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าเราทุกคนอาจไม่ใช่นักกีฬามืออาชีพทั้งหมด แต่สังคมที่ผลักดันให้เราต้องแข่งขันกับคนอื่นอยู่เสมอตั้งแต่เด็กจนโต ไม่ว่าจะอยู่ช่วงอายุไหนเราก็ต้องเป็น ‘ผู้เล่น’ ที่อยู่กลางสนามอยู่ดี 

อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตอาจไม่มีกรรมการและกติกาที่ชัดเจนเหมือนกีฬา แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คงเป็นเส้นชัยแห่งความสำเร็จที่ทุกคนต่างอยากวิ่งเข้าไปถึงเป็นคนแรก บางทีการคว้าชัยชนะอาจทำให้เราเหยียบย่ำหรือด้อยค่าคนที่แพ้ ด้วยการแสดงออกที่เกินหน้าเกินตา บางคนถึงขั้นวิจารณ์คนอื่นในจุดที่เขาทำพลาดด้วย ยิ่งทำให้คนที่เป็นฝ่ายแพ้ยิ่งรู้สึกด้อยค่ามากกว่าเดิม

ถึงเวลาหรือยังที่เราควรจะตระหนักถึงว่า มนุษย์ทุกคนเท่ากัน ชีวิตของบางคนอาจเต็มไปด้วยความกังวลและความเครียดที่เรามองไม่เห็น การล้มลุกคลุกคลานจึงเป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นแล้วการมีความเห็นอกเห็นใจไม่ซ้ำเติมกันเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีไม่ใช่หรือ?

ที่มา : psyche / greatergood

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า