fbpx

หนัง – ซีรีส์อาชีพ ต้องสมจริงแค่ไหน ถึงจะเรียกว่า “ให้เกียรติคนทำงาน”

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกรณีดราม่าปะทะฝีปากผ่านคีย์บอร์ดกันอย่างเผ็ดร้อน หลังจากที่มีการเปิดตัวภาพยนตร์ “Hunger” ภาพยนตร์สัญชาติไทย โปรดักชั่นอลังการบน Netflix ตัวอย่างภาพยนตร์อันระทึกใจว่าด้วยความหิวกระหายของมนุษย์ทั้งในครัวและนอกครัว ทำให้คอหนังทุกคนต่างจับตารอชมผลงานด้วยใจจดจ่อ ทว่าเสียงตอบรับหลังจากชมภาพยนตร์นั้นดูจะแตกเป็นสองทาง ทางหนึ่งชื่นชมความสนุกสนานบันเทิง และแนวคิดเบื้องหลังที่แปลกใหม่ ขณะที่อีกทางกลับมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีจุดด่างพร้อยมากมาย แต่ท่ามกลางการถกเถียงของผู้ชมทั้งสองฝ่าย ไฟดราม่าก็โหมขึ้นอีกครั้ง เมื่อบุคคลที่ทำงานในวงการอาหารและเชฟสาดน้ำมันเข้ากองไฟด้วยประโยคที่ว่า “หนังเรื่องนี้ไม่ให้เกียรติอาชีพเชฟ”

สำหรับสาเหตุหลักที่ Hunger ถูกโจมตีนั้น ก็เป็นเพราะว่า “ไม่สมจริง” ด้วยเหตุนี้ The Modernist จึงพูดคุยกับนักเขียนบท และบุคคลจากสาขาอาชีพต่างๆ ที่มักจะมีการหยิบมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ละคร หรือซีรีส์ เพื่อหาคำตอบว่า ต้องสมจริงแค่ไหน ถึงจะเรียกได้ว่าภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องนี้ให้เกียรติคนทำงานในวิชาชีพต่างๆ

สมจริงไม่ใช่ความจริง

“สมจริงมันไม่ใช่ความจริง มันคือเรานำเสนอจินตนาการให้ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด คืออะไรก็ตามที่มันเป็นเรื่องเล่า มันถูกถ่ายทอดผ่านบุคคล นักเขียน ผู้กำกับ นักแสดง มันมีการตีความอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การนำเสนอใดๆ ก็ตามผ่านสื่อ มันไม่ใช่เรื่องจริงแล้ว ในระหว่างการสื่อสาร มันเกิดการตีความ มันเกิดการเลือกนำเสนอ เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่ความจริง” เพียงไพฑูรย์ สาตราวาหะ หรือ ครูมาย นักเขียนบทละครกล่าว

ครูมายอธิบายว่า โดยทั่วไป ในการเล่าเรื่อง จะมีสิ่งที่เรียกว่า Fictional Truth คือความจริงภายใต้กรอบของเรื่องเล่า ซึ่งไม่ได้จำเป็นว่าเรื่องนั้นต้องเป็นความจริง แต่เมื่อผู้ชมดูต้องเกิดความเชื่อว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเกิดขึ้น

บนดาวอังคาร ในจักรวาลอันไกลโพ้น หรือในอดีต ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์แฟนตาซีอย่าง Avatar ที่แม้ว่าดาวแพนดอรากับชาวนาวีจะไม่มีอยู่จริงในโลกแห่งความจริง แต่ผู้ชมทุกคนกลับเชื่อและมีอารมณ์ร่วมไปกับภาพยนตร์ได้

“การทำละครมันเป็น selective art ศิลปะของเราคือการสร้างความเชื่อ โดยการที่เราเลือกว่าให้ผู้ชมดูสิ่งนี้ โดยที่เราตั้งเป้าหมายเลยว่า คนดูดูแล้วเชื่อ เชื่อแล้วอิน อินแล้วสนุก อยากเอาใจช่วยตัวละคร อยากจะเห็นความสำเร็จของตัวเอกฝ่ายดี อยากจะเห็นความพินาศล่มจมของฝ่ายตัวร้าย อันนี้คือความจริงในละคร จริงก็คือไม่จริงนั่นแหละ แต่ว่าเรามีเป้าหมายว่าเราต้องทำให้คนดูเชื่อนะ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องโกหกสุดๆก็ตาม” ครูมายกล่าว

แล้วความไม่สมจริงในภาพยนตร์หรือซีรีส์เกิดขึ้นได้อย่างไร ครูมายอธิบายว่า อาจเป็นเพราะว่าสิ่งที่นักเขียนบทหรือผู้กำกับเลือกมานำเสนอ อาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยยกตัวอย่างภาพยนตร์ Hunger ซึ่งเล่าเรื่องผ่านอาหารและผู้ชมเกือบทุกคนย่อมมีประสบการณ์ในเรื่องนี้

“เราคิดว่าอย่างเรื่อง Hunger สิ่งที่เขาเลือกมานำเสนอมันอาจจะยังไม่เข้าเป้าซะทีเดียว เหมือนการแข่งขันที่ให้ทำข้าวผัด แล้วมีมีมในเฟซบุ๊ก บอกว่า คนที่รู้ว่าทำข้าวผัดต้องใช้ข้าวเก่ามีเป็นฝูง แต่คนเดียวที่ไม่รู้ว่าต้องใช้ข้าวเก่าคือเชฟพอล มันก็เลยเกิดความไม่เมคเซ้นส์ แล้วคนดูก็เกิดความรู้สึกว่ามันไม่สมจริงขึ้นมา”

ดังนั้น สิ่งที่ตามมาเมื่อผู้ชมสัมผัสได้ถึงบางอย่างที่ไม่สมจริง คืออาการที่เรียกว่า Alienation Effect

“คนดูพอเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่จริง ก็เลยถอยห่างออกมา แล้วก็คิดว่าฉันกำลังดูเรื่องที่ไม่จริงอยู่ มันไม่สมจริง ก็มันไม่จริง พอมันไม่จริงมันก็ตรงข้ามกับ ‘ก็ฉันอินกับละครเรื่องนี้ อันนี้ฉันไม่อินเลย’ ฉันกระเด้งตัวออกมาเลย แล้วก็เกิดการคอมเมนต์ต่างๆ” ครูมายอธิบาย

เมื่อภาพยนตร์ ละคร หรือซีรีส์ เป็นศิลปะที่เผยแพร่ให้คนหมู่มากชม และยิ่งผู้ชมมีประสบการณ์และอารมณ์ร่วมมากเท่าไร นักเขียนบทก็ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและระมัดระวังในการเขียนบทมากขึ้น ซึ่งครูมายให้ความเห็นว่า

“ละคร ภาพยนตร์ มันเป็นศิลปะร่วม คือมันมีทั้งนักแสดงที่เขาใช้ศิลปะการแสดง มีช่างภาพ มีฝ่ายศิลป์ มี production design เข้ามาร่วมกันเยอะแยะมากมาย มันเป็น mass media คนไม่ได้เดินเข้าแกลเลอรีแล้วดูงานเราแค่ชิ้นเดียว แต่อันนี้เราก็ต้องคิดว่าคนดูงานเรากว้างมากขึ้น ขยายมากขึ้น คนที่จะมาทำงานกับงานชิ้นนี้มันเยอะ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองคนเดียวแล้ว มันก็ต้องทำเพื่อตอบวัตถุประสงค์ของคนอื่นๆ เขาจะมาดูละครเราเพราะอะไร เรากำกับเรื่องนี้ มีมุมไหนที่เขาสนใจนะ ผู้จัด สปอนเซอร์ มีหลายส่วนที่ต้องคิดถึง เพราะฉะนั้น เราก็ต้องตอบโจทย์ให้รอบด้านอยู่แล้ว คนทำหนัง ทำละครในปัจจุบันก็ต้องคิดคำนึงถึงส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญในการทำงานเลยค่ะ”

การหาข้อมูล: ขั้นตอนที่ถูกลืม

ในการเขียนบทภาพยนตร์หรือซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม ล้วนมีความท้าทายทั้งสิ้น โดยเฉพาะความรู้อันจำกัดของนักเขียนบท ดังนั้น “การค้นคว้าหาข้อมูล” จึงเป็นขั้นตอนพื้นฐานในการทำงานของนักเขียนบท ซึ่งครูมายบอกว่า

“งานของนักเขียนบทมันยากอยู่แล้ว ยากทุกแบบ ยากตลอด เพราะว่าแต่ละเรื่องเราก็จะเสนอโลกใบใหม่ไปเรื่อยๆ เรื่องนี้เราเขียนถึงเชฟ แต่เรื่องหน้าเราเขียนถึงหมอ แต่ละเรื่องเราก็จะรู้ว่ามันมีอะไรที่เรารู้ และอะไรที่เราไม่รู้ ส่วนที่เราไม่รู้นั่นแหละที่เราต้องรีเสิร์ช แล้วเราไม่รู้เยอะแค่ไหน ถ้าเราไม่รู้แล้วเราไม่รีเสิร์ช แล้วเราก็เขียนไป อันนี้ก็ถือว่าเราก็เป็นนักเขียนที่ใช้ไม่ได้ เพราะว่าเราคิดเองเออเอง แล้วก็บอกให้คนดูดูแบบนี้ ให้คนดูเชื่อแบบนี้”

สำหรับซีรีส์หรือภาพยนตร์เกี่ยวกับอาชีพ ที่ขณะนี้นิยมสร้างกันในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย นักเขียนบทก็จำเป็นต้องทำงานหนัก เพื่อเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ ให้มากที่สุด ซึ่งจักรภัทร ทรงพลนภจร นักเขียนบทซีรีส์ Midnight Motel เล่าว่า การเขียนบทซีรีส์หรือภาพยนตร์เกี่ยวกับอาชีพจะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่าซีรีส์หรือภาพยนตร์ประเภทอื่น

“เมื่อคุณเจาะไปที่อาชีพ คุณก็ต้องเข้าใจสภาพสังคม สภาพชีวิตของเขา ระบบการทำงาน วิถีชีวิตว่าเขากินอยู่อย่างไร ต้องเจอกับภาระอะไรบ้าง แล้วเอาข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาดัดแปลงเข้ากับเนื้อเรื่องของเรา ทำให้บทนั้นสมจริง โดยพื้นฐานในการเขียนบทมันก็ต้องรีเสิร์ชอยู่แล้ว แต่ถ้าเน้นอาชีพใดอาชีพหนึ่งเป็นหลัก มันก็ต้องเจาะให้ได้กลิ่นของอาชีพนั้นมาอยู่ในเรื่องด้วย” จักรภัทรกล่าว

อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งที่ภาพยนตร์หรือซีรีส์ฝีมือคนไทยได้ออกฉายในช่องทางต่างๆ ก็มักจะได้รับก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้ จากเสียงวิจารณ์เรื่องบทที่ขาดความสมเหตุสมผล เนื้อเรื่องไม่สนุก ไม่ถูกใจผู้ชม ซึ่งจักรภัทรก็ได้สะท้อนข้อจำกัดในการทำงานของนักเขียนบทว่า เกิดจากระยะเวลาในการทำงานที่สั้นและกระชั้นชิดเกินไป และขั้นตอนที่จะถูกย่นย่อให้สั้นที่สุดคือขั้นตอนเขียนบท ทำให้ยากที่จะพัฒนาบทให้สมบูรณ์ ไม่ต้องพูดถึงการหาข้อมูล ซึ่งถูกมองข้ามไป และกระทบต่อคุณภาพของงานอย่างแน่นอน

ด้านครูมายเสริมว่า การทำบทภาพยนตร์จะแตกต่างกับบทละครหรือซีรีส์ตรงที่บทภาพยนตร์จะมีความเป็นปัจเจกของคนทำงานสูงกว่า โดยสามารถหาข้อมูล เขียนบท และนำเสนอกับสตูดิโอได้เลย ขณะที่ละครและซีรีส์จะรับโจทย์มาจากผู้จัดและช่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีโครงเรื่องมาให้แล้ว และไม่ได้ลงรายละเอียดในการหาข้อมูลมากนัก รวมทั้งงบประมาณในการหาข้อมูล ซึ่งมีไม่มากนักเช่นกัน

แพทย์ อาชีพยอดฮิตของกองละคร

นับตั้งแต่เราจำความได้ ภาพของแพทย์ที่เรามักจะเห็นในจอทีวี คือชายวัยกลางคน ท่าทางสุขุม ใส่เสื้อกาวน์สีขาว ถือชาร์ตคนไข้ และมีบทพูดอยู่ไม่กี่ประโยค เช่น “ขอแสดงความเสียใจด้วยนะครับ” เมื่อมีตัวละครเสียชีวิต แต่ต่อมา เมื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์พัฒนาขึ้น แพทย์ไม่ได้เป็นเพียงตัวประกอบในละครที่ออกมาเฉพาะเมื่อมีคนตายอีกต่อไป แต่กลายเป็น “นักแสดงนำ” ในซีรีส์เกี่ยวกับวงการแพทย์หรือโรงพยาบาล อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

แต่สำหรับประเทศไทยเอง แม้จะมีความพยายามสร้างซีรีส์เกี่ยวกับแพทย์ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อผิดพลาดและความสมจริงอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้ พญ.อุบลพรรณ วีระโจง ผู้มีประสบการณ์ด้านการให้คำปรึกษากับทีมสร้างซีรีส์ กล่าวว่า เมื่อทราบว่าจะมีการสร้างซีรีส์เกี่ยวกับแพทย์ ก็มีความคาดหวังจะเห็นการนำเสนอแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับแพทย์ให้คนรู้จักมากขึ้น ทว่าที่ผ่านมา กลับไม่ได้มีการสร้างมิติให้กับตัวละครที่เป็นแพทย์แต่อย่างใด

“บางทีในเรื่อง ในบทประพันธ์ที่เอามาทำ หรือการสร้างตัวละคร ไม่ได้ลงเข้าไปในรายละเอียดว่าหมออะไร ทำงานอะไร ทำงานแบบไหน และต้องเจอเคสอะไรบ้าง เราแค่ใช้รูปลักษณ์ของความเป็นหมอ แล้วคนก็จะคิดว่าหมอต้องหน้าตาดี พูดเพราะ หล่อ บุคลิกดี เป็นไอดอล มันก็ง่ายในการที่ไม่ต้องบอกคาแรกเตอร์คนดูมาก ก็แค่เรียกคนนี้ว่าหมอ แล้วคนดูก็จะมีภาพแล้วว่าหมอต้องแบบนี้ มันก็เลยจบแค่ตรงนั้น 

แต่พอไปถึงการทำงานของหมอจริงๆ เรากลับไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรจริงๆ ก็คือเราไม่ได้สร้างตัวละครให้แข็งแรงตั้งแต่แรกว่าเป็นหมออะไร ทำงานอะไร ทำแบบไหน มันก็เลยไปต่อไม่ได้ พอไปถึงการถ่ายทำหรือการทำบท มันก็แก้ไม่ทันแล้ว”

แต่มากกว่าภาพจำแบบเหมารวมว่าแพทย์ต้องใจดี ยังมีข้อผิดพลาดอีกหลายจุดในการนำเสนอการทำงานของแพทย์ผ่านสื่อ ซึ่งหลายกรณีอาจส่งผลถึงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารเรื่องเหตุผล ความจำเป็น และผลข้างเคียงของการทำหัตถการโดยแพทย์ที่น้อยเกินไป มุมกล้องและภาพที่นำเสนอการรักษาพยาบาลให้ดูน่ากลัวมากกว่าจะมีความหวังในการช่วยชีวิตผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งภาพจำของผู้ป่วยในละคร ที่มีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยจริง อย่างการสร้างตัวละครคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคหายากและร้ายแรง 

“สมัยก่อนจะมีโรคในซีรีส์เกาหลีที่เป็นแล้วตายเยอะ คือมะเร็งตัวหนึ่ง แล้วเคสนี้เป็นเด็ก แต่เขาเป็นมะเร็งชนิดที่รักษาได้ แต่การดูซีรีส์ทำให้แม่ใจแป้วมาก คือเราไม่ได้ไปคุยกันว่าจะรักษายังไงนะ ไปคุยกันว่าในซีรีส์เป็นมะเร็งชนิดไหน แล้วก็ต้องมาคุยว่าของลูกเป็นมะเร็งชนิดไหน รักษายังไง เปอร์เซ็นต์รอดเป็นยังไงบ้าง กลายเป็นว่าเราต้องดูซีรีส์ที่ตัวเอกเป็นมะเร็งด้วย ไม่ใช่ดูซีรีส์การแพทย์อย่างเดียว”

“พอเอาเขาเข้ามาอยู่ในกระบวนการรักษาแล้วทำให้เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เขาก็จะเริ่มเข้าใจว่า เออ ไม่รู้ว่าจะจบยังไงหรอก ไม่รู้ว่าต้องรอด 100% หรอก มันไม่มีอะไร 100% ในการแพทย์อยู่แล้ว แล้วเขาก็กลับมามองเลยว่าทุกคนพร้อมซัพพอร์ตเขา ไม่ได้ปล่อยให้เดียวดาย แล้วก็ออกไปขี่หลังพี่ชายอยู่แบบนั้น ก็เหมือนกับว่าเขาเริ่มแยกออกว่าความเป็นจริงมันมีขั้นตอนมากกว่านั้น เพราะว่าในซีรีส์มันเสนอแค่ว่าเป็น แล้วก็เร็วมาก แล้วก็ไปเลย ไอเป็นเลือดสองทีแล้วก็ไปเลย” พญ.อุบลพรรณเล่า

นอกจากประเด็นเรื่องอาการป่วยแล้ว ฉากหนึ่งในละครที่มักจะสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้ป่วย คือฉากที่พ่อแม่นางเอกป่วย และนางเอกต้องหาเงินตัวเป็นเกลียวเพื่อมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้หลายคนเข้าใจว่า การป่วยและเข้าโรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายเยอะ ซึ่ง พญ.อุบลพรรณเล่าว่า

“บางคนก็ยังกลัวอยู่ว่าการไปหาหมอ ไปโรงพยาบาลมันมีค่าใช้จ่ายที่มันเยอะ คนก็เลยหลีกเลี่ยง ไปหาหมอน้อยที่สุด หรือไปตอนที่อาการหนักแล้ว มันก็เลยแทนที่เราจะรักษาง่ายๆ เคสมันก็หนักมากขึ้นแล้วก็ยากมากขึ้น โดยที่เขาก็มารู้ทีหลังว่ามันก็มีระบบการรักษาที่เป็นพื้นฐานของประเทศ ที่ไม่ต้องจ่ายเงิน”

แม้ว่าทุกวันนี้จะมีการปรึกษาแพทย์เพื่อนำข้อมูลไปเขียนบท แต่ พญ.อุบลพรรณก็สะท้อนว่า วิธีการถามข้อมูลของทีมงานภาพยนตร์หรือซีรีส์ยังมีลักษณะเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ คือถามทีละส่วน โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับขั้นตอนหรือพัฒนาการของโรค

“เขาก็จะมาถามเป็นชิ้นๆ เป็นจิ๊กซอว์ ‘โรคนี้เป็นอย่างไรคะ’ ก็อธิบายไป ‘ฉากนี้ทำอย่างไรคะ’ ก็อธิบายไป แต่สิ่งที่มันขาดคือความต่อเนื่อง มีที่มาที่ไป มันขาดว่าก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร และหลังจากนี้เป็นอย่างไร อย่างบางทีที่เราเจอ เขามาถามว่า จะใส่ท่อช่วยหายใจ เคสนี้รุนแรงมาก ต้องการดราม่าใส่มาเต็มที่ ก็เลยถามว่า แล้วฉากต่อไปเป็นฉากอะไร ‘อ๋อ ก็ไม่เป็นอะไร หายแล้ว ออกจากโรงพยาบาล’ หืม… ได้เหรอคะ แล้วก่อนหน้านี้โดนอะไรมา มันก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องเป็นอะไรขนาดนั้น แค่ต้องการแตะการแพทย์นิดหน่อยกับสิ่งที่ดูตื่นเต้นและเร้าใจ แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้ ซึ่งหมอกลัวพวกนี้”

“แต่มันก็จะดีกว่า ถ้าเราทำให้มันถูกตั้งแต่แรก เพราะว่าจะได้ไม่ต้องกลับมาแก้ข้อผิดพลาดในภายหลัง ไม่ต้องกลัวว่าออกมาแล้วจะดราม่าไหม ถ้าทำให้ถูกต้องแต่แรก” พญ.อุบลพรรณกล่าว

แอร์โฮสเตสที่ไม่ได้สวย (อย่างเดียว) เหมือนในละคร

หากยังจำกันได้ ช่วงปี 2551 – 2554 อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือแอร์โฮสเตส เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ถูกหยิบมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นตอน เที่ยวบิน 224 ในภาพยนตร์เรื่องสี่แพร่ง ละครสงครามนางฟ้า และตามด้วยดอกส้มสีทอง ซึ่งถึงแม้ว่าเรื่องราวของแอร์โฮสเตสทั้งสามเรื่องจะมีทั้งความสนุกและแซ่บแบบครองมงกุฎพริกขี้หนูสวนอยู่หลายสมัย แต่ก็มีหลายจุดที่ตอกย้ำภาพจำผิดๆ ให้กับอาชีพแอร์โฮสเตสเช่นกัน

“สี่แพร่ง ถ้าจำไม่ผิด มันเป็นตอนที่ทำให้คนคิดว่าคนเป็นแอร์ต้องใส่ส้นสูงตลอดเวลาที่อยู่บนเครื่อง เพราะมีฉากที่พลอยเอาส้นสูงมาคนกาแฟ แต่จริงๆ เราทำงานโดยที่เราใส่รองเท้าส้นแบน และไม่มีเหตุผลอะไรที่นักบินจะไล่แอร์ไม่ให้ไปนั่งในค็อกพิต หรือว่าเข้ามาทำไมบ่อยๆ เพราะว่าปกติเป็นเรื่องของเราเลยที่มีหน้าที่เช็คห้องนักบินตลอดเวลา อาจจะแล้วแต่โปรโตคอลของสายการบินด้วย อาจจะทุกๆ 20 นาที ทุกๆ 15 นาที แล้วแต่ว่าสายไหนจะตั้งเท่าไร” ตาล อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาสคนหนึ่งเริ่มเล่า

จากรายละเอียดเล็กๆ อย่างรองเท้าหรือข้อปฏิบัติบนเครื่องบิน ขยายสู่ภาพจำอย่าง “แอร์โฮสเตสต้องเป็นแฟนกับนักบิน” ไปจนถึงเรื่องฉาวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างลูกเรือกับนักบิน โดยละครดังที่เน้นตบไม่เน้นเจรจาอย่าง “สงครามนางฟ้า” ซึ่งทำให้อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินผู้นี้ต้องเจอกับคำถามที่ว่า “เคยเป็นแฟนกับนักบินหรือเปล่า” รวมทั้งสังเกตว่าแอร์โฮสเตสมักจะถูกเหมารวมในประเด็นนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง แอร์โฮสเตสหลายคนก็ใช้ชีวิตตามปกติ ใช้เวลาไปกับการทำงาน และรอคอยเครื่องลงจอด เพื่อที่ตัวเองจะได้ไปใช้ชีวิตส่วนตัวของตัวเองต่อไป

แต่ดูเหมือนอาชีพแอร์โฮสเตสจะยังคงมีเรื่องให้ขยายต่อไม่หยุด เพราะในปี 2554 แอร์โฮสเตสในตำนานอย่าง “เรยา” ก็ถือกำเนิดขึ้นในละคร “ดอกส้มสีทอง” พร้อมประโยคทองอันลือลั่นว่า “ถ้าฟ้าเสียตัว ฟ้าต้องได้เป็นแอร์” ที่ไม่เพียงแต่จะลดทอนคุณค่าของผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำภาพจำว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเป็นเพียง “คนใช้ลอยฟ้า” ที่ใช้ความสวยจับผู้ชายรวยๆ เท่านั้น

“งานของเราไม่ได้เน้นแค่สวยอย่างเดียว บางคนยังไม่รู้เลยว่าแอร์บางสายต้องเรียนทำคลอด ต้องเรียนรู้วิธีจัดการกับระเบิด เราต้องเรียนรู้ว่าถ้ามีไฮแจ็คขึ้นมาทำอย่างไร ไฟไหม้ทำอย่างไร เราดับไฟได้ เราประเมินสถานการณ์ได้ คือเราไม่ได้มีหน้าที่แค่เดินไปแล้วถามว่า ‘น้ำไหม’ ‘กาแฟไหม’ ‘เอาเนื้อหรือเอาไก่’”

“แล้วก็จะคิดว่าคนเป็นแอร์ แค่สวยอย่างเดียวก็ได้ ไม่ต้องเก่งก็ได้ แค่สวยก็เข้าไปได้แล้ว แต่จริงๆ แล้ว ตอนเทรนมันต้องมีการสอบ พวก Safety, Security ต่างๆ ถ้าไม่ได้เกิน 80% ก็ไม่ผ่าน เก็บของกลับบ้าน ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้ว เราขึ้นไป หน้าที่หลักของเราคือ Safety, Security แล้วถึงจะเป็น Service” 

สมจริงแค่ไหนถึงจะให้เกียรติอาชีพ?

ภาพยนตร์ Hunger จุดกระแสดราม่าทั้งจากบทที่มีช่องโหว่ และพฤติกรรมของตัวละคร โดยเฉพาะ “เชฟพอล” ตัวละครหลัก ที่ไม่ตรงกับประสบการณ์ของผู้ชมที่เคยทำงานครัวมาก่อน และบานปลายกลายเป็นการไม่เคารพในอาชีพเชฟ ซึ่งประเด็นนี้ ครูมายมองว่า ในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ ก็ยังคงจะเขียนบทเกี่ยวกับอาชีพต่อไปเมื่อมีโอกาส และตามความสามารถของตัวเอง

“เวลาเราทำละคร ก็มีคนรัก มีคนเกลียดอยู่แล้ว คนที่ทำงานตรงนี้มันยอมรับจุดนี้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าเราไม่ได้ทำเพื่อคำสรรเสริญอย่างเดียว ใช่แหละว่าเราชอบให้คนดูชอบผลงานของเรา อยากให้คนดูสนุก อยากให้คนดูอิน หรือถ้าเกลียดไปเลยก็แบบ มันกระตุ้นความคิดอะไรบางอย่างในสังคมได้ อันนี้มันสำคัญมากกว่า”

“กลับไปที่เรื่องความสมจริง เราคิดว่าพอคนดูไม่เชื่อซะแล้ว ก็ไปจับผิดจุดอื่น แล้วก็รู้สึกว่าอันนี้มันไม่จริงเกินไปจนทำให้เขารู้สึกไม่พอใจ การที่เขารู้สึกไม่พอใจก็อาจจะทำให้เขารู้สึกว่านี่ไม่ให้เกียรติกัน”

ด้านจักรภัทรให้ความเห็นว่า การไม่ให้เกียรติอาชีพนั้นๆ เป็นคนละเรื่องกับการสร้างตัวละครในอาชีพนั้นๆ ให้เป็นตัวร้าย 

“สำหรับผม ถ้าเป็นการไม่ให้เกียรติ น่าจะเป็นการที่คุณหยิบอาชีพมาเล่าโดยที่ผิดจากหลักการข้อเท็จจริงไปหมด แม้แต่เรื่องพื้นฐานคุณยังเล่าผิดๆ มันเหมือนเป็นการดูถูกวิชาชีพนั้นๆ อันนี้ผมแยกให้เป็นคนละอย่างกับการให้ตัวละครอาชีพนั้นเป็นคนเลวนะ ถ้าไม่ให้เกียรติหมายถึงให้ตัวละครเป็นคนไม่ดี ซีรีส์ต่างประเทศที่หยิบเอาข้าราชการ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง หมอ ทนาย เป็นตัวร้าย ก็คงไม่กล้าทำกันหรอก ถ้ามัวแต่หวงเกียรติของอาชีพ” จักรภัทรกล่าว

สำหรับตาล อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ให้ความเห็นว่า หากจะมีการสร้างภาพยนตร์หรือซีรีส์เกี่ยวกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ก็อยากให้นำเสนอภาพความพยายามของคนที่อยากทำอาชีพนี้ มากกว่าเรื่องรูปลักษณ์หรือประเด็นอื้อฉาว

“ทุกอาชีพมันมีความพยายามน่ะ กว่าจะเป็นแอร์ กว่าจะสอบผ่าน อย่างของเรา สมัคร 4,000 คน แล้วเอาไปแค่ 20 คนน่ะ แล้วเข้าไปก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะได้บินนะ ถ้าเทรนไม่ผ่านเราก็ไม่ได้บิน เราต้องตื่นตีห้ามานั่งทำผมทุกวัน ไปเรียน มีสอบทุกวัน แล้วสอบต้องให้เกิน 80% ของทุกวิชา กว่าเราจะได้ขึ้นไปบิน ต้องมานั่งท่องส่วนต่างๆ ของเครื่องบินว่า เครื่องรุ่นนี้ที่เราบิน มีอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ขั้นตอนในการทำงานแต่ละเครื่องมีอะไรบ้าง มันน่าจะยังไม่มีหนังไทยเรื่องไหนที่ทำให้เห็นว่าจริงๆ เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่สมัครเสร็จ สัมภาษณ์ผ่านปุ๊บ ขึ้นไปบินได้เลย แต่ก็เข้าใจแหละว่ามันเป็นสื่อบันเทิง ไม่ใช่สารคดี แต่ให้เห็นบ้างนิดหนึ่งก็ยังดีว่า สมมตินางเอกเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งดูละคร ใฝ่ฝันว่าจะเป็นแอร์ ดูชีวิตง่ายจังเลย สุดท้ายเข้าไปเรียนรู้เองว่ามันไม่ง่ายขนาดนั้นนี่หว่า” ตาลกล่าว

ด้าน พญ.อุบลพรรณมองว่า วิชาชีพแพทย์มีเกียรติอยู่ในตัวอยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องเรียกร้องการให้เกียรติจากผู้อื่น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แพทย์ให้ความสำคัญมากที่สุด คือสิ่งที่ภาพยนตร์หรือซีรีส์สื่อออกมานั้นจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยหรือไม่ และจะแก้ไขได้อย่างไร เพราะแพทย์คือคนที่จะอยู่กับปลายทาง คือผู้ป่วยตัวจริง ไม่ใช่นักแสดงที่รับบทผู้ป่วย

“เราต้องถามตัวเองว่าเราช่วยเขาได้เรื่องอะไรบ้าง ถ้าสมมติทีมซีรีส์มาถามเรา ว่าจะทำอย่างไรดี โรคนั้นโรคนี้ ฉากนั้นฉากนี้เป็นอย่างไร แล้วเราไม่ได้มีความรู้เรื่องนั้น แต่เราตอบมั่ว แล้วเขาเอาข้อมูลมั่วไปทำต่อ ก็คือหมอคนนั้นไม่ให้เกียรติอาชีพตัวเอง”

“เราว่ามันไม่ได้เป็นการให้เกียรติหมออย่างเดียวนะ ต้องให้เกียรติตัวเองในการทำงานที่มีคุณภาพ ต้องให้เกียรติคนดูด้วยว่าเวลาเขามาดูงานของเรา เขาได้สิ่งที่ถูกต้องกลับไป ก็คือการให้เกียรติทั้งสามส่วน ทั้งคนทำ คนดู แล้วก็หมอ มันก็ทำให้หมุนวงล้อของการทำงานเกี่ยวกับอาชีพในวงการบันเทิงทุกอันไปได้ คือถ้าให้เกียรติหมอ เอาตามที่หมอบอกทุกอย่าง แต่เรื่องมันไม่สนุก เป็นสารคดีแพทย์ คนดูก็รับไม่ไหว มันยาก แต่คนทำรู้สึกว่าฉันทำเต็มที่ พาหมอมา แต่คนไม่ดู ก็ไม่ได้ หรือว่าทำไปผ่านๆ คนดูไม่รู้ว่าผิดหรอก หมอก็ช่างมัน มันก็ตอบสนองความต้องการของคนทำ แต่มันไม่ถูกต้อง มันก็ต้องไปด้วยกันทั้งสามส่วน” พ.ญ.อุบลพรรณทิ้งท้าย

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า