fbpx

“อัน – บิ๊ว” เจ้าสาวในขบวนไพรด์ กับความหวังใน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายน บรรยากาศในสังคมก็ดูจะคึกคักและมีสีสันมากขึ้นกว่าปกติ เพราะแทบทุกพื้นที่ทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ ต่างประดับประดาไปด้วยสีรุ้ง เนื่องในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month และหากยังจำกันได้ เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการจัดงาน “Bangkok Pride” ครั้งแรก หลังจากที่ห่างหายไปหลายปี และหนึ่งในภาพอันน่าประทับใจในวันนั้น คือภาพของ “เจ้าสาว 2 คน” ในชุดสีขาว ที่เดินจูงมือกันในขบวนพาเหรดของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแม้ไม่ต้องป่าวประกาศ เราก็ทราบได้ทันทีว่า ทั้งคู่ได้ลั่นระฆังวิวาห์กันในพื้นที่แห่งความหลากหลายในวันนั้นเอง

“อัน – อันธิฌา แสงชัย” และ “บิ๊ว – วรวรรณ แรมวัลย์” คือคู่เจ้าสาวในวันนั้น ผ่านไป 1 ปี ทั้งคู่เติบโตขึ้นพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายที่สนับสนุนการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “สมรสเท่าเทียม” ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นความหวังให้กับคู่รัก LGBTQ+ ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เท่าเทียมกับเพศหญิงชาย เพราะฉะนั้น The Modernist จึงชวนทั้งคู่มาพูดคุยเกี่ยวกับความรักและความหวังของพวกเธอต่อกฎหมายนี้

การพบกันครั้งแรก

เส้นทางความรักของอันธิฌาและวรวรรณนั้นมีส่วนผสมระหว่างความโรแมนติกและการเมือง เพราะทั้งคู่พบกันในช่วงที่มีการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ในกลุ่ม non-traditional matchmaker ที่วรวรรณเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม โดยตั้งกลุ่มนี้จากความรู้สึกแปลกแยกในกลุ่มหาคู่กระแสหลัก ส่วนอันธิฌานั้นเป็นนักกิจกรรมและนักวิชาการด้านเพศ ซึ่งเข้าร่วมในกลุ่มนี้เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ ทั่วไป 

จนกระทั่งวันหนึ่ง วรวรรณได้เริ่มบทสนทนากับอันธิฌา ด้วยการขออภิธานศัพท์เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ทว่าจนถึงทุกวันนี้ อภิธานศัพท์ที่ว่านั้นก็ไม่เคยเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือความรักของทั้งคู่ และในที่สุด อันธิฌาก็ตัดสินใจขับรถจากจังหวัดปัตตานี ไปหาวรวรรณที่จังหวัดภูเก็ต แม้ขั้นตอนการเดินทางออกจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งในสถานการณ์โควิดจะยากลำบากมากก็ตาม

“ตอนที่คุยกันแรกๆ ถ้าออนไลน์มันก็เห็นตัวหนังสือ มันก็มีความเซ็กซี่บางอย่างของการใช้ตัวหนังสือ แต่พอเจอหน้ากัน ด้วยระบบทางสังคมที่ครอบเราอยู่ เขาก็ดูเป็นผู้ใหญ่ มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ เราก็เรียกตัวเองว่าหนู” วรวรรณเล่าถึงความรักในช่วงแรก ก่อนอันธิฌาจะเสริมว่า

“เขาเกรงใจค่ะ ตอนแรก เพราะว่าอาจจะอายุห่างกัน แล้วก็ไม่เคยเจอกัน เขาก็จะแทนตัวเองว่าหนู เราก็เลย เฮ้ย เราต้องหาวิธีการว่าเราจะแทนสรรพนามกันอย่างไรที่ไม่ต้องมีของแบบนี้”

เธอทั้งคู่เรียกกันและกันว่า “ที่รัก” หมายถึงที่ที่ทั้งสองคนรักกันและไว้วางใจกัน และพัฒนาเป็นคำเรียกที่สะท้อนถึงความไว้วางใจกันอย่างที่สุด คือคำว่า “อ้วน” เช่นเดียวกับคู่รักทั่วไป ที่ออกเดตกันตามร้านอาหารแสนอร่อย และพากันน้ำหนักขึ้นในที่สุด

งานวิวาห์บนถนนสีรุ้ง

ราว 1 ปีผ่านไป ทั้งคู่รู้สึกได้ว่าความรักครั้งนี้ราบรื่น ประกอบกับการที่ทั้งคู่เป็นคนที่จริงจังกับความสัมพันธ์ จึงพร้อมใจกันขยับสถานะไปเป็นคู่แต่งงาน วรวรรณเล่าถึงการแต่งงานอย่างไม่เป็นทางการครั้งหนึ่งว่า

“เราชอบพูดกันว่าแต่งงานกันเถอะ แต่งงานกันเถอะ จนกระทั่งคนนี้ (อันธิฌา) ก็โพสต์เฟซบุ๊กขึ้นมา กลายเป็นเหมือน Crowdwedding ไม่ต้องมีการเชิญมาร่วมงาน คนก็กดไลก์ คอมเมนต์ ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าเราแต่งงานกันแล้วในระดับหนึ่ง”

จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2565 ขณะที่ทีมงานนฤมิตไพรด์ ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนสนิทของอันธิฌา กำลังเตรียมการจัดงาน Bangkok Pride 2022 อันธิฌาและวรวรรณก็ตั้งใจจะไปร่วมเดินขบวน พร้อมเตรียมแต่งชุดแฟนซีเป็นแดร็กควีนให้เข้ากับบรรยากาศ ทว่าอันธิฌากลับมีไอเดียที่เซอร์ไพรส์กว่านั้น

อันเคยเดินงานไพรด์ที่ต่างประเทศมาก่อน เรารู้สึกว่าบรรยากาศแบบนี้มันคือคำอวยพร มันคือพลัง มันคือการให้คุณค่าร่วมกัน แล้วก็เราคิดว่า ดีจังเลยถ้าเราได้แต่งงานในบรรยากาศแบบนี้ แล้วมันก็ดูเท่มากเลยนะ แต่งงานกันที่ท้องถนน ในขบวนที่เรียกร้องเรื่องสิทธิ เราก็เลยตัดสินใจเดินไปหาเขา แล้วก็ชวนเขาว่าแต่งงานกันในไพรด์ดีกว่า” อันธิฌากล่าว

“ตอนนั้นมันรู้สึกเหมือนเราได้รับความไว้วางใจ ถูกยอมรับค่ะ มันเติมเต็มมาก” วรวรรณเล่าถึงความรู้สึกของตัวเอง

หลังจากนั้น ว่าที่เจ้าสาวทั้งคู่ก็มีเวลาเพียงไม่กี่วันในการหาชุดเจ้าสาว ซึ่งอุปสรรคที่หนักหนากว่าระยะเวลาอันสั้น คือการที่ร้านเช่าชุดแต่งงานไม่เข้าใจแนวคิดของขบวนไพรด์พาเหรด รวมทั้งชุดแต่งงาน ที่มีไว้เพื่อ “เจ้าบ่าวเพศชาย” และ “เจ้าสาวเพศหญิง” เท่านั้น ทว่าสุดท้าย ทั้งคู่ก็ได้พบกับร้านที่เข้าใจพวกเธอโดยบังเอิญ วรวรรณเล่าเหตุการณ์ที่พวกเธอลงความเห็นว่าเหมือนได้รับคำอวยพรในวันนั้นว่า

“เราไปเจอเจ้าของร้านที่เป็น LGBTQ+ ค่ะ ทั้งคู่เลย เป็นแฟนกัน คนหนึ่งแต่งหน้า คนหนึ่งทำคอสตูม พอเราพูดว่า จะหาชุดแต่งงานไปเดินในงานไพรด์ค่ะ เขาก็กระโดดข้ามบันไดลงมา ถามว่า อะไรนะครับ ก็นั่งคุยกันอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็ได้ไปลองชุด มันเป็นร้านที่เขามีเจตนาที่อยากช่วยเรา แล้วก็รู้สึกว่าการที่ได้ชุดจากร้านนี้มันเป็นอะไรที่ made my day”

“เป็นการอนุญาตให้เราได้สวมใส่ชุดนี้จากคนที่เป็นเจ้าของ คนที่เขาให้คุณค่าเดียวกันกับเรา” อันธิฌาเสริม

5 มิถุนายน 2565 เป็นวันที่อันธิฌาและวรวรรณได้สวมชุดเจ้าสาวสีขาว เดินจูงมือกันในขบวนสีรุ้ง พร้อมมิตรสหายในชุมชน LGBTQ+ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พวกเธอรู้สึกว่าได้รับการยอมรับและเคารพในตัวตนของพวกเธอ และสิ่งที่ทั้งคู่รู้สึกขอบคุณอย่างที่สุด คือสื่อมวลชนที่นำเสนอภาพการแต่งงานของพวกเธออย่างเคารพ ต่างจากในอดีต ที่การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกนำเสนอในฐานะ “ข่าวแปลก”

“เราขอบคุณสื่อมากๆ เพราะว่าเราได้ภาพสวยๆ มากมายที่คิดว่าเรามีเงินเท่าไรก็ซื้อแบบนั้นไม่ได้ มันเป็นภาพที่เขาถ่ายออกมาจากมุมมองของความภาคภูมิใจ ของการให้พื้นที่บางอย่าง มันมีพลังค่ะ แล้วก็ต้องขอบคุณอีกชั้นหนึ่งด้วย ที่ว่าภาพเหล่านั้นที่ส่งออกไปสู่สังคมในวงกว้าง มันไปให้พลังกับคนที่มองเห็นด้วยเช่นกัน”

“เราไปเจอคอมเมนต์หรือทวีตที่บอกว่าไม่เคยคิดเรื่องแต่งงานเลยนะ แต่พอเห็นภาพนี้ เริ่มคิดแล้ว เพราะว่ารู้สึกว่าการแต่งงานของเพศเดียวกัน หรือชุมชน LGBTQ+ มันยาก มันลำบากจังเลย ลุกขึ้นมาก็จะต้องเป็นที่ถูกมอง ถูกซุบซิบ หรือว่าต้องไปอธิบายอะไรมากมาย หลายคนก็เลยคิดว่าไม่เอาดีกว่า ถอดใจดีกว่า แถมมันก็ได้แค่พิธีกรรม มันไม่ได้สิทธิประโยชน์อะไรตามกฎหมาย และมันก็ไม่ได้มีกฎหมายรองรับ หลายคนก็เลือกที่จะไม่ต้องสนใจมันดีกว่า แต่จริงๆ ไม่ได้แปลว่าเราไม่ต้องการ หรือว่ามันไม่สำคัญ เพียงแต่เราไม่มีทางเลือก” อันธิฌากล่าว

บรรยากาศที่มีผู้ร่วมงานร่วมหมื่นคน รวมทั้งผู้ชมในโลกออนไลน์อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้ทั้งคู่รู้สึกเหมือนได้รับคำอวยพรอย่างท่วมท้นจากคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก

“มันเป็นงานแต่งงานที่ไม่ใครมาด่าทอหรือว่าถูกทำให้เป็นของแปลก เราเลยรู้สึกว่า ช่างเป็นเราที่โชคดีเหลือเกินที่มีโอกาสแบบนี้ แล้วเราก็รู้สึกว่า อยากให้พลังแบบนี้ อยากให้ความรู้สึกแบบนี้มันเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน” อันธิฌากล่าว

“สมรสเท่าเทียม” คำตอบของชีวิตคู่ที่มั่นคง

หาก LGBTQ+ สักคู่จะลุกขึ้นมาแต่งงานกัน ก็ต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งคำถาม ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีกฎหมายใดๆ มารองรับสถานภาพการสมรส แล้วพิธีแต่งงานจะมีความสำคัญได้อย่างไร อันธิฌาให้ความเห็นว่า พิธีแต่งงานของ LGBTQ+ ก็มีความหมายเหมือนพิธีแต่งชายของคู่หญิงชายทั่วไป คือเป็นหมุดหมาย หรือเป็นสัญญาณของการเป็นคู่ชีวิตของคนสองคน

พิธีเองมันคือการสื่อสาร มันคือการสื่อสารกับสังคม กับครอบครัว ว่าเราจะทำอะไรบางอย่าง ก็คือการใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน ที่สำคัญคือมันเป็นการสื่อสารระหว่างตัวเรากับคู่ชีวิตว่าฉันกับเธอกำลังจะทำอะไรบางอย่าง แล้วก็กับตัวเราเอง เป็นขั้นสุดท้าย ก็คือตอนนี้เรากำลังจะเปลี่ยนแปลงสถานภาพ จากสถานภาพหนึ่งไปสู่อีกสถานภาพหนึ่ง มันคือการสื่อสารหลายชั้นมาก แล้วก็ลึกมาก ลึกไปจนถึงข้างใน เราต้องเปลี่ยนแปลงคุณค่าบางอย่างที่เราเคยเชื่อมั่น เป็นคุณค่าร่วม” อันธิฌาอธิบาย

และหลังจากที่ทั้งคู่ก้าวเข้าสู่โลกของพันธสัญญาระหว่างกันมานาน 1 ปี ทั้งอันธิฌาและวรวรรณบอกว่า พวกเธอจริงจังกับการใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวางรากฐานของชีวิต การทำธุรกรรมต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งบ่งบอกว่าทั้งคู่กำลังมองไปข้างหน้าด้วยกัน

“มันเป็นการมองไปข้างหน้าด้วย เป็นการมองว่าเราจะใช้ชีวิต ดูแลครอบครัวกันอย่างไร มันไม่ใช่แค่เราสองคน ก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่คิดกันเรื่องมีลูกด้วย เรารู้สึกว่าเราอยากจะมี แล้วถ้าเตรียมตัวสักหน่อยหนึ่งเราสามารถมีได้โดยที่ว่า เดี๋ยวรอกฎหมายออกมา เรามั่นใจว่าสังคมกำลังเปลี่ยน อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่เราคิดกัน เรื่องเก็บเงินเก็บทอง สร้างบ้านด้วยกัน เกษียณอายุด้วยกัน มันก็จะมาพร้อมกับการที่เราแต่งงานแล้วเรามองเห็นอนาคตไปกับคนอีกคนหนึ่งด้วย” อันธิฌากล่าว

เพราะฉะนั้น กฎหมายที่รับรองสถานภาพสมรสของ LGBTQ+ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

“สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่คู่รัก LGBTQ+ ไม่มีเหมือนคู่รักต่างเพศ ก็คือหนึ่ง กฎหมาย สองก็คือการยอมรับในเชิงสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสองอันนี้มันดันมาด้วยกัน ไม่ใช่แค่เราทำพิธีกรรม พ่อแม่รับรู้แล้วจบ” อันธิฌาเปิดประเด็น ก่อนที่วรวรรณจะเสริมในมุมของการเป็นพยาบาลว่า สวัสดิการสังคมบางอย่างผูกโยงกับการเป็นญาติสายตรง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง คู่สมรส ซึ่ง LGBTQ+ ไม่สามารถได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้ได้ ถ้ากฎหมายไม่รับรอง แม้จะจ่ายภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และควรจะได้สิทธิ “อย่างเท่าเทียม” กับคู่สมรสหญิงชาย

“เราคิดว่าถ้ามันมีสวัสดิการที่สามารถจะรองรับเรื่องพวกนี้ได้ เราคิดว่าก็จะดูแลกันได้ดียิ่งขึ้น หรือว่าถ้าเจ็บป่วยถึงกระทั่งทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างแทนกันเพื่อจะกู้ชีวิตนั้นไว้ มันคือความปลอดภัยอย่างหนึ่งในชีวิตที่เราไม่ต้องกลัวว่าวันหนึ่ง ถ้าคนข้างๆ เราเป็นอะไร เราสามารถที่จะดูแลเขาได้ถึงตรงไหน” วรวรรณกล่าวเสริม

นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับแล้ว อันธิฌาชี้ว่า กฎหมายอย่าง “สมรสเท่าเทียม” จะช่วยลดความกังวลใจของพ่อแม่ที่มีลูกเป็น LGBTQ+ และทำให้คนกลุ่มนี้มีเสรีภาพที่จะรักกันมากขึ้น

“ถ้าเป็น LGBTQ+ เราไม่มีความปลอดภัยในทางชีวิต ในทางกฎหมายที่รองรับ ดังนั้น อย่าลืมว่าสิ่งนี้เป็นเงื่อนไขอันหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวหลายๆ ครอบครัวต่อต้านการมีชีวิตคู่แบบ LGBTQ+ เพราะว่าเขารู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัยกับลูกฉันนี่ ดังนั้นตรงนี้มันจะเปลี่ยนเลย มันจะพลิกเลยทันที่ที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมออกมา”

“ถ้ามีกฎหมายรองรับตรงนี้ ความเป็นห่วง ความกังวลของการมีชีวิตคู่ลักษณะนี้มันจะลดน้อยลงทันที ดังนั้น ถ้าเกิดว่าพ่อแม่เขารู้ ถ้าเกิดครอบครัวเรารับรู้ว่า ‘อ๋อ มันแต่งงานไป อยากมีลูกก็มีลูกได้’ ‘เดี๋ยวไปรับบุตรบุญธรรมหรือเข้าสู่เทคโนโลยีอนามัยเจริญพันธุ์ ก็มีได้เหมือนคนอื่น’ ‘ไม่น่ากลัวแล้วล่ะ เพราะว่าแฟนเขาเป็นข้าราชการ เขาก็ปลอดภัย’ คือความกังวลมันไม่มี มันลดน้อยลง แล้วมันหายไป มันไม่ได้ต่างจากการที่เขาจะฝากผีฝากไข้ลูกสาวหรือลูกชายของเขาให้กับคู่สมรสของเขา” อันธิฌากล่าว

นอกจากนี้ อันธิฌายังเสริมอีกว่า ในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมอบสิทธิให้คู่ชีวิตที่เป็น LGBTQ+ สามารถดูแลครอบครัวของแต่ละฝ่าย และหากการแต่งงานของชุมชน LGBTQ+ เกิดขึ้นไม่ได้ สังคมไทยจะมีผู้สูงวัยที่โสด ที่รัฐต้องดูแลเพิ่มขึ้น แทนที่จะมีระบบครอบครัวที่สนับสนุนดูแล LGBTQ+ สูงวัย

“รัฐ” กับ “รัก” ของประชาชน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐใช้กรอบ “ศีลธรรมอันดี” ในการควบคุมความรักและความสัมพันธ์ของประชาชน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการทำให้เซ็กส์ทอยผิดกฎหมาย ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการห้ามวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การเฝ้าระวังโรงแรมม่านรูดในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์และลอยกระทง แต่สำหรับกฎหมายที่จะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุณภาพชีวิตของ LGBTQ+ รัฐกลับละเลย จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า รัฐควรจะมีบทบาทอย่างไรกับความรักของประชาชน

ประเด็นนี้ อันธิฌากล่าวว่า ณ ปัจจุบันนี้ ข้อถกเถียงหลายเรื่องมีความก้าวหน้ามาก ไม่ว่าจะเป็นการมีชุมชนคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ความรักระหว่างคนเพศเดียวกัน หรือการที่ประชาชนมีวิถีชีวิตทางเพศ รสนิยมทางเพศแตกต่างหลากหลาย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ทำลายความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น รัฐจะต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์ จากการควบคุม มาเป็นการดูแล

“การดูแลคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในภาพรวม มันช่วยให้รัฐจัดการอะไรบางอย่างได้ง่ายขึ้นด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการดูแลต่างๆ ดังนั้น เราว่ามันจะเปลี่ยนแหละ แทนที่จะควบคุม มันจะเพิ่มมิติของการดูแล การสนับสนุน การส่งเสริม เพราะว่ารัฐก็ได้สิ่งเหล่านี้ เพราะว่าคนที่อยู่ในรัฐนี้มีความสุข มีความมั่นคงในชีวิต มีโอกาสที่จะหารายได้ หรือว่าดูแลกัน รัฐก็ลดภาระลงด้วยซ้ำ”

“อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากก็คือว่า รัฐมีหน้าที่ มีพันธะโดยที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิด้วย มันไม่ใช่แค่ควบคุมหรอก แล้วก็คุณค่านี้มันเชื่อมโยงกับการเป็นประชากรโลก การเป็นประเทศหนึ่งที่เชื่อมโยงกับนานาชาติ แล้วคนที่จะมาอยู่ประเทศไทยก็อาจจะไม่ได้มีแค่คนไทยอีกต่อไปแล้วค่ะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไปด้วยกัน การที่เปิดกว้างกับคุณค่าที่แตกต่างหลากหลาย แล้วก็ดูแลไม่ให้มีคุณค่าอะไรมาเบียดขับ หรือว่าทำลายคุณค่าอื่น อันนั้นคือหน้าที่ที่รัฐควรจะดูแล” อันธิฌาสรุป

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า