fbpx

“Herester TV” ความหลอนฉบับ “ภาพ” และ “เสียง” สัญชาติไทย

คำแนะนำ: บทความนี้ เหมาะสำหรับผู้อ่านทั่วไป แม้อาจมีภาพ เสียง หรือเนื้อหา ที่ควรได้รับคำแนะนำ

คืนหนึ่งในปี 2021 หน้าฟีดของเราปรากฏภาพหลอน ๆ จากฉากโทรทัศน์ไทยสมัยก่อนพร้อมลิงก์ยูทูปให้ตามไปเจอเรื่องฉบับเต็ม ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เราจึงกดเข้าไปชม และเสียวสันหลังวาบกับความหลอนที่จงใจสร้างให้ดูเก่าจริง

เรามารู้ทีหลังว่าสื่อบันเทิงเชิงหลอนแบบนี้มีนามว่า ‘Analog Horror’ พลันคิดว่า จะมีใครสักคนลุกขึ้นมาทำเรื่องหลอนแบบนี้บนเส้นเรื่องแบบไทย ๆ ไหม แล้วมันจะเป็นอย่างไร

ราวกับมีคนได้ยิน คนที่แชร์วิดีโอหลอนบนหน้าฟีดของเราวันนั้น กลายมาเป็น Creator สร้างเรื่องหลอนจนทำให้คนสนใจติดตามเส้นเรื่องของเขาเป็นจำนวนมากในวันนี้ เรียกได้ว่าถ้าคิดถึง Analog Horror ไทย ชื่อของ Herester TV จะไม่ทำให้คุณผิดหวัง

ในโอกาสวันฮาโลวีน เราจึงไม่รอช้า นัดหมายเขามาคุยกันว่าด้วยเบื้องหลังการสร้างเรื่องหลอน 1 เรื่อง มาเผยแพร่บนช่องทางวิดีโอนั้นผ่านเส้นทางอะไรมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเส้นเรื่อง งานภาพ หรือว่าดนตรี ที่พูดได้เลยว่าเรื่องราวของเขาเหมือนเพลงไทยดี ๆ สักเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกดึงดูด แต่ก็หลอนซ่อนนัย

ไม่ว่าขณะนี้คุณจะอยู่ตัวคนเดียวหรืออยู่ท่ามกลางผู้คน เปิดอ่านบทความนี้ยามกลางวันหรือยามกลางคืน
“ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ”

ที่มาของความสนใจใน Analog Horror ของคุณเป็นอย่างไร ?

ย้อนไปเมื่อปี 2021 ช่วงนั้นมันเป็นช่วงโควิด ก็ว่างมาก ว่างสุด ๆ ก็เลยไปหางานพาร์ตไทม์ทำ แล้วงานที่ทำมันว่างมากจนสามารถจับคอมพ์ จับมือถือได้ Analog Horror ในไทยยังไม่ได้รับความนิยม หรือไม่เป็นที่รู้จักเลย ส่วนใหญ่แล้ว Analog Horror ตอนนั้นจะเป็นของต่างประเทศ แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีคลิปหนึ่งของคนไทยโผล่ขึ้นมา ชื่อคลิปว่า “Contingency”  ซึ่งเป็น adaptation ของช่องต่างประเทศชื่อ “Local58”  เนื้อหาโดยรวมมันเป็นการแทรกสัญญาณขององค์กร ๆ หนึ่ง ซึ่งในอเมริกาเรียกว่า “กลุ่มรักษ์สันติราษฎร์ของชาวอเมริกา” 

ซึ่งการประกาศนี้เป็นรูปแบบของการแทรกสัญญาณผ่านโทรทัศน์ ก็คือ ในทีวีจะขึ้นว่า ประชาชนทุกคน อเมริกาของเรากำลังจะแย่แล้ว ด้วยความรักศักดิ์ศรีของชาวอเมริกา เราจงมาทำตามที่ทีวีบอกกันเถอะ คนไทยก็เอามาทำ แต่เปลี่ยนบริบทจากอเมริกาเป็นไทย จากเพลงชาติอเมริกาก็เปลี่ยนเป็นเพลง “สยามานุสสติ” เพื่อบิลด์อารมณ์ให้คนไทยกลัว แล้วก็แปลประกาศก็เป็นภาษาไทย ซึ่งพอดูแล้วก็รู้สึกว่า ฮึ้ย น่ากลัวและตื่นเต้น ไม่เคยเห็นสื่ออะไรที่ทำให้รู้สึกหวาดระแวง รู้สึก insecured เท่านี้มาก่อน

ปกติแล้วสื่อที่ทำให้เรากลัวได้จะเป็นหนังผี หรือเรื่องผีแบบ The Shock The Ghost อะไรอย่างงี้ แต่อันนี้เป็นสื่อใหม่มาก ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าอยากศึกษา อยากค้นหาต่อ ก็เลยไปเสิร์ชดูใน database ว่า Analog Horror คืออะไร ดำเนินเรื่องยังไง มีเนื้อหายังไง แล้วมีช่องไหนที่ทำบ้าง ก็ลองศึกษาดูเรื่อย ๆ จนรู้ว่าวิธีการดำเนินเรื่องเป็นแบบนี้นะ พล็อตประมาณนี้ ก็เลยเริ่มเอามาทำเป็น analog horror ของตัวเอง ชื่อว่า “Real Sleep” หรือแปลไทยว่า “การนอนหลับที่แท้จริง” ซึ่งก็มาจากช่องเดียวกัน คือ Local58

เป็นคลิปเกี่ยวกับการแนะนำวิธีการนอนหลับที่ถูกต้อง การนอนหลับเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายมาก พอไปถึงกลาง ๆ เรื่องก็จะไม่ใช่ละ จะมีสิ่งลี้ลับเข้ามาแทรกแซงสัญญาณ แล้วก็บอกว่า การนอนหลับเป็นสิ่งที่ปัญญาชนไม่ทำกัน จงอย่านอน มันก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งตอนจบก็ปิดว่า ราตรีสวัสดิ์ ถ้าคุณทำตามขั้นตอนเหล่านี้แล้ว คุณนอนไม่หลับ อย่าไปหาหมอ ให้อยู่แต่บ้าน ซึ่งมันค่อนข้างน่ากลัว แบบ เฮ้ย ทำไมดูคลิปนี้จบแล้วมีอาการแปลก ๆ ทำไมกูต้องไม่ไปหาหมอวะ 

ซึ่งโดยรวมแล้ว เรานิยามว่า Analog Horror มันคือสื่อแบบใหม่ที่เล่นกับความไม่รู้ของคน และความที่สมัยก่อนมันมีสื่อหลักทางเดียวคือทีวี มันไม่มีอินเทอร์เน็ต พอคนเห็นสิ่งที่ทีวีประกาศปุ๊บ 90% ก็เข้าใจว่าอันนี้เป็นทางการ ต้องเป็นเรื่องจริงแน่นอน ประมาณนี้

เห็นว่าคุณพูดถึงความรู้สึก insecured พอคุณศึกษาจนเห็นกลวิธีแล้ว คุณได้ปรับใช้กับงานของคุณอย่างไร ?

จริง ๆ แล้ว Analog Horror ส่วนใหญ่ ภาพจำของคนดูทั้งคนไทยและต่างประเทศจะเป็น “ประกาศเตือนภัย” เกิดอะไรที่มันไม่ปกติสักอย่างในประเทศนี้แหละ แล้วออกมาในรูปแบบที่เป็นประกาศของรัฐ แต่ว่า Analog Horror ของ Herester TV จะไม่ได้มีแบบนั้นอย่างเดียว มันจะมี แนวเล่าเรื่องเหมือนหนัง มีตัวละคร มีสถานที่จริง  ซึ่งแนวประกาศเตือนภัยเป็น Analog Horror แบบ AS (Alert System; ระบบเตือนภัย – ผู้เขียน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของช่องเราเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด คือ Herester TV มีทั้งแนวเนื้อเรื่อง แล้วก็ประกาศเตือนภัย มีทั้งแบบอื่น ๆ ด้วย

ซึ่งถ้าถามว่าเราเห็นความ insecured จากวิดีโอต่างประเทศแล้วเอามาปรับใช้ไหม ก็มีบ้าง เพราะส่วนใหญ่แล้วการดำเนินเรื่องของ Analog Horror จะซ้ำ ๆ กัน คือเริ่มด้วยรายการปกติก่อน สักประมาณ 5 วิ 10 วิ แทรกรายการเข้ามา มีคำเตือนแปลก ๆ เข้ามา แรก ๆ คำเตือนก็ยังเป็นคำเตือนที่ยัง make sense อยู่ แต่พอดำเนินไปสักกลาง ๆ คลิปเนี่ย จะเริ่มแล้ว เฮ้ย อะไรวะ แวบนึง เฮ้ย ๆ อะไรวะ แวบนึง ไม่ใช่ละ ผิดปกติ

ซึ่งจริง ๆ แล้ว Analog Horror มีสูตรสำเร็จอย่างนึง คือ จะมี hidden frame คือเฟรมที่ปรากฏแบบครึ่งวิ หรือ 5 วิในตอนที่เราจดจ่อกับวิดีโอนั้น แบบ เนื้อเรื่องก็ดำเนินไป แต่ว่าจะมีอะไรโผล่ขึ้นมาวิหนึ่ง ปึ๊บ แล้วก็หายไป คนดูก็ต้องพยายาม pause เพื่อดูว่าไอ้ที่ผ่านตาเราไปประมาณวินึงนี่มันคืออะไร ซึ่งเป็นจุดที่สร้างความหลอน แล้วก็จะดำเนินเรื่องแบบนี้ไปจนจบ

.

ที่มา: Herester TV

ส่วนเนื้อเรื่องก็จะวนเวียนอยู่กับสิ่งรอบตัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตหรือสิ่งที่สนใจ ?

ใช่ ก็คือ หยิบมาจากสิ่งรอบตัวแล้วก็ที่เราคุ้นหู คุ้นชิน และเรารู้จักดีอยู่แล้ว มันก็จะทำให้สิ่งที่เราทำออกมามันก็โอเค เพราะมันคือสิ่งที่เราชอบ แล้วก็เต็มที่กับมันเลย

สังเกตได้ว่างานของคุณค่อนข้างแตกต่างจาก Analog Horror ไทยอื่น ๆ ตรงที่มีการเลือกใช้ฟอนต์และฟุตเทจที่ตรงกับบริบทชัดเจน คุณต้องทำการบ้านเรื่องนี้หนักมากน้อยเพียงใด ?

เยอะมาก อย่างเรื่องฟอนต์ใน Analog Horror จะไม่ชัดใช่ไหม ฉะนั้น ก็ต้องเลือกฟอนต์ที่ต่อให้ไม่ชัด ก็ต้องมองเห็น ต้องอ่านออก เพราะว่าเคยลองใช้ฟอนต์ในยุคก่อนมีคอมพิวเตอร์อะ แล้วมันบางมาก แค่พิมพ์ลงกระดาษก็บางแล้ว พอลงในวิดีโอปุ๊บ ใส่เอฟเฟ็กต์ ใส่ VHS ให้มันไม่ชัด กลายเป็นว่าฟอนต์นั้นอ่านไม่ออก “เลย” แบบที่อ่านไม่รู้เรื่องจนโดนติงมา ก็เลยปรับเป็นฟอนต์ที่มีความใหม่กว่านิดนึง แต่ว่าหนากว่า ชัดกว่า อ่านรู้เรื่องกว่า ก็เอามาใส่แทน

ส่วนเรื่องรูปและไทม์ไลน์ ด้วยความที่เนื้อเรื่องของเราเป็นเนื้อเรื่องในยุค 2530 ลงไป การที่เราจะไปหารูป หรือ footage มาจากอินเทอร์เน็ตอะ เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว

ที่มา: Herester TV

เพราะรูปในอินเทอร์เน็ตสมัยนี้มันก็จะเป็นรูปที่ใหม่ เพิ่งถ่ายเมื่อ 10 ปี 5 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นการหารูปสถานที่จริงเก่า ๆ หรือว่ารูปที่มันอิงกับ พ.ศ. นั้น ๆ มันก็ยากพอสมควร ต้องมีตัวช่วยต่าง ๆ เช่นให้ AI generate รูปขึ้นมา แล้วก็ค่อยเอามาปรับแก้ทีหลัง คือคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าใช้ AI สร้างรูปแล้วจบ เอามาใช้ได้เลย แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เพราะว่าจริง ๆ แล้วแต่ละรูปที่เอามามันต้องผ่าน process ทั้งหมด

ที่มา: Herester TV

พูดกันเรื่องนี้ คนมักเข้าใจว่าเราพิมพ์ prompt ลงไปใน AI กด enter ปุ๊บ generate เสร็จใช้ได้เลย มันต้องเอามาทำต่ออีกแล้ว AI ไม่ได้ช่วยได้ทั้งหมด AI เป็นแค่ตัวช่วยเสริมเฉย ๆ ทำให้เราทำงานสะดวกขึ้น แต่สุดท้ายจบ process ก็ต้องใช้คนอยู่ดี

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้งานน่าสนใจมันคือเสียงที่ค่อนข้างสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง มีวิธีเลือกเสียงที่พากย์ และเพลงที่ใช้อย่างไร ?

ช่องจะเลือกใช้เพลงที่ “เก่าจริง” และ “ไม่แมส” สมมติคนจะเข้าใจว่าเพลงไทยเดิมจะมีแต่ลาวดวงเดือน เขมรไทรโยค ซึ่งพอฟังแล้วก็รู้สึกว่า ใคร ๆ ก็รู้จัก ฉะนั้น ด้วยความที่เรียนครุศาสตร์ ดนตรีศึกษา แล้วก็เอกดนตรีไทยด้วย ก็ต้องฟังเพลงไทยในหัวเยอะ เลยจะเห็นว่าเพลงนี้ เหมาะกับงานนี้แล้วเอามาใช้ ซึ่งเป็นเพลงที่กลุ่มคนดูในช่องไม่รู้จักถ้าไม่ได้ติดตามเพลงเก่าจริง ๆ แล้วเอามาใส่ ambience ใส่ sound พอเอามาประกอบรวมกันแล้ว ความที่คนดูเขาไม่เคยฟังเพลงนี้แถมเป็นเพลงเก่าและสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องด้วย

มันก็เลยสร้างบรรยากาศให้คนดูเขาอินไปกับงานนั้น ๆ ด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วขั้นตอนของ Analog Horror ของเรา การทำซาวนด์ ตั้งแต่เลือกเพลง ทำ sound พากย์เสียงจะนานที่สุด ภาพกับเนื้อเรื่องไม่เท่าไหร่ แต่ละเอียดกับซาวนด์มากที่สุด เพราะรู้สึกว่าถึงแม้ว่าภาพมันไม่ได้ แต่ว่าถ้าเสียงมันได้ มันก็ดึงอารมณ์คนดูมาได้มากพอสมควรทีเดียว

ส่วนการพากย์เสียง โดยรวมงานที่พากย์มีก็ไม่เยอะเท่าไหร่  เกณฑ์หลัก ๆ ที่เลือกคนพากย์เสียงก็คือมี ความโบราณในเนื้อเสียง ออกแนวเสียงคนสมัยก่อนนิดนึง โตนิดนึง

อย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือเรื่อง “อจินไตย” เราเลือกพี่คนนึงมา เพราะว่าเนื้อเสียงเขาเหมือนกับผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์สมัยก่อนมาก ๆๆๆ แล้วก็มีความโบราณในเนื้อเสียง ฟังแล้วรู้สึกว่าเขาผ่านโลกมาเยอะ ถ้าเราเอาวัยรุ่นมาพากย์ก็จะดูใหม่ ฟังแล้วไม่อิน ก็อยากให้ลองไปเสียงงานนี้ดู อันนั้นคือโบราณเลย ก็เลยเลือกมาพากย์

ส่วนเรื่อง “กระสือ” จะออกแนวละคร เนื้อเรื่องมันคือการถูกควบคุมโดยสิ่งมีชีวิตประหลาด ให้ทำตามสิ่งที่มันสั่ง ดังนั้นการที่ตัวละครพูดมันก็จะดูละครนิดนึง ไม่เป็นธรรมชาติ แต่ว่าก็ยังมีความสูงต่ำของน้ำเสียงอยู่ แบบ “คุณก็ลองจ้องตาฉันดูสิคะ” อะไรแบบนี้

เรื่องภูมิภาคก็มีส่วนเหมือนกันที่ทำให้เหมาะสมกับคาแรกเตอร์ อย่าง “ปริศนาดวงตาที่สาม” ก็เลือกคนที่พูดภาษาพื้นเมืองได้ เพราะว่าตัวเอกเป็นคนเหนือ แล้วเราจะพยายามไม่ให้คนภาคกลางมาพากย์เป็นคนเหนือ ถ้าคนภาคกลางมาพูดภาษาเหนือก็จะแปลก ๆ ไป เราเลยไปหาน้องในคณะที่เป็นคนเชียงรายจริง ๆ  แล้วสำเนียงได้มาพากย์ จะได้สมจริง

การผลิตงานสักชิ้นใช้เวลานานไหม ?

แล้วแต่ความยาวของวิดีโอและเนื้อเรื่อง ถ้าเป็นคลิปสั้น ๆ 2-3 นาที ก็จะใช้เวลา 3-5 วันในการตัด แต่ว่าถ้างานไหนที่มันสเกลใหญ่มาก ๆ อย่างงานล่าสุด “‘มิตร’ ประชาธิปไตย” อันนี้นานสุด ๆ เพราะ ข้อแรกเราต้องแปลจากงานต่างประเทศ บริบทต้องมาครบว่า เราจะดำเนินเรื่องยังไง สองคือเปลี่ยนจาก James Dean (นักแสดงอเมริกันชื่อดังยุค 1950s; ผู้เขียน) เป็น มิตร ชัยบัญชา สาม คือต้องเขียนบทเรื่องนี้ ซึ่งยาวมาก ประมาณ 8 หน้า A4

แล้วก็เรายังต้องเปลี่ยนคำให้มันโบราณและดูเป็นไทย เช่น คำว่า scare, afraid พอเราเอามาแปลเป็น “กลัว” มันก็จะ แค่ “กลัว” เองหรอวะ ต้องแบบ “ประหวั่นพรั่นพรึง” จะดูเป็นนิยายนิดนึง ซึ่งต้องใช้เวลานาน แล้วกว่าคนพากย์จะพากย์เสร็จ กว่าคนพากย์จะส่งเสียงมาให้ กว่าจะเอาเสียงมาลงกับ footage กว่าจะตัดให้มันชนกันก็เป็นเดือน จนออกมาเป็นคลิปความยาวประมาณ 12 นาที

เราสนใจการแปลบริบทของ Analog Horror มาก อย่างงานล่าสุดที่เลือก “มิตร ชัยบัญชา” เพราะว่าเขาสนใจการเมือง ?

ใช่ แล้วเขาเคยลงสมัครเลือกตั้งด้วย ส่วนงานอื่นก็เปลี่ยนเยอะ เพราะต่างประเทศกับไทย วิถีชีวิตมันไม่เหมือนกันเลย สถานที่ก็ไม่เหมือน การนับศักราชก็ไม่เหมือน ภาษาก็คนละแบบ ดังนั้น เราจะเอาเข้ามาปรับยังไงให้คนไทยดูแล้วเข้าใจ ดูแล้วรู้สึกว่าอันนี้คือไทย ไม่ใช่ต่างประเทศ เพราะว่า Analog Horror ของต่างประเทศส่วนใหญ่สิ่งที่มันเป็นแกนหลักของเรื่องคือตัวประหลาด เอเลี่ยน ซาตาน แม่มด อะไรก็ตามที่คนไทยไม่รู้จัก

สมมติว่าพูดถึงซาตานให้คนไทยฟัง คนไทยก็จะงง ซาตานคืออะไรวะ พอเราแปลโต้ง ๆ มาเลยคนก็จะงงว่า สมมติซาตานทำ แล้วซาตานน่ากลัวตรงไหนวะ หรือเอเลี่ยนน่ากลัวตรงไหน จับกินแม่งเลย ก็เลยต้องเปลี่ยนจากสิ่งมีชีวิตประหลาดพวกนั้นเป็นสิ่งที่คนไทยรู้จัก เช่น กระสือ ที่คนไทยรู้จักเยอะ และนานมาก มีทั้งหนัง ละคร และข่าวที่ออกกันรึ่ม ๆ แทน แล้วก็ศัพท์พื้นฐานในภาษาอังกฤษ พอแปลเป็นภาษาไทยแล้วมันก็ธรรมดา ถูกไหม กิน เดิน นอน กลัว เราก็ต้องเอามาปรับให้เป็นภาษาสมัยก่อนที่คนไทยใช้กัน แบบเจ้าบทเจ้ากลอน มีความเป็นนิยายนิดนึง เวลาพูดจะต้องมีคำสร้อย

ถ้าหยิบเรื่องผีในไทยสักเรื่องที่อยากเอามาทำ Analog Horror ได้ คุณจะหยิบเรื่องไหนมา เพราะอะไร ?

มี 2 เรื่องที่คิดไว้ เรื่องแรกคือเรื่อง “ผีแม่ม่าย” ที่ผู้ชายอายุประมาณ 30+ อยู่ดี ๆ ก็นอนตาย แล้วคนก็เชื่อว่าผีแม่ม่ายมาเอาตัวไป ซึ่งมันสามารถเชื่อมโยงกับโรคที่ชื่อว่า “Brugada Syndrome” หรือว่า “โรคใหลตาย” ก็เลยคิดว่าถ้าเอาเรื่องโรคใหลตายมาเปิดว่าอาการเป็นยังไง แล้วก็แทรกสัญญาณ ฟรึ่บ จริง ๆ แล้วไม่ใช่โรคใหลตาย แต่เป็นผีแม่ม่าย อะไรอย่างงี้

อันนี้ก็เลยคิดว่าน่าสนใจ ส่วนอีกเรื่องคือ “ราหูอมจันทร์” หรือจันทรุปราคา อันนี้จะสามารถไปอิงกับประกาศเตือนภัยได้ เหมือนเปิดขึ้นมาคลิปก่อนว่าจะมีปรากฏการณ์จันทรุปราคา ว่าเป็นอย่างไร แล้วก็แทรกสัญญาณว่า ฟรึ่บ จริง ๆ แล้วเนี่ย ที่เกิดจันทรุปราคามันคือราหูอมจันทร์ต่างหาก สิ่งต่อไปที่ราหูจะอมก็คือหัวพวกมึงไงล่ะ

มันคือการสู้กันของวิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์ ?

ใช่ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่คนไทยเถียงกันมาตลอด ไม่ นี่คือวิทย์ นี่คือไสยศาสตร์ แต่เราเลือกที่จะเอามารวมกัน จบ ๆ

เรื่องแบบนี้ ถ้าทำให้ดี จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการสร้างสรรค์ได้ไหม ?

ได้ เพราะว่าเหมือนอย่างที่เราเคยเห็นผ่านตากันว่า คนเขาหยิบเรื่องนางรำมาทำเป็นเรื่องผี คนก็จะแอนตี้กัน มันจะมีดรามาช่วงหนึ่ง ไม่รู้เคยเห็นไหม ที่ “หยุดเอาดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทยมาทำเป็นเรื่องผีได้แล้ว ไม่งั้นเด็กมันจะไม่เคารพ” ซึ่งนี่มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่โอเคมาก ๆ

ถ้ายกตัวอย่าง หนังผีเรื่อง Conjuring เอาเพลง Can’t Help Falling in Love ของ Elvis Presley มาเป็น Theme song ซึ่งมีคนเข้าไปฟังตามเยอะ ก็ไม่มีคนมาโวยวายว่าเอาเพลงของเอลวิสมาใส่ในหนังผีได้ไง มันเป็นการไม่เคารพ ซึ่งพอเรามองประเทศไทย เราเอาดนตรีไทย เอาเพลงลูกกรุงมาประกอบในงาน ซึ่งมันอาจจะเป็นงานแนวไหนก็ได้ อาจจะเป็นงานสนุก หรืองานผี ทำไมต้องโดนว่าว่าไม่เคารพ

ซึ่งคุณก็พยายามทำเรื่องนี้อยู่ ?

จริง ๆ แล้ว เพลงไทยหรือดนตรีไทยมีอะไรที่มันน่าสนใจเยอะมาก เพียงแต่ว่าคุณไม่เคยฟัง การที่เรานำเพลงนั้น ๆ มาใส่ในสื่อของเรา แล้วมีคนตามไปฟัง มันก็ถือเป็นการเผยแพร่เพลงนั้นให้คนอื่น ๆ ที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะเสิร์ช ยกตัวอย่างเพลง “สวรรค์มืด” ของสุเทพ วงศ์กำแหง ที่เคยเอาไปลงในคลิป “ไข้ผีห่า”

พอลองไปดูในเพลงต้นฉบับก็มีคนไปคอมเมนต์ว่าตามมาจาก Analog Horror เรื่องนี้ แล้วมีคนมาเมนต์ต่อว่าตามมาเหมือนกัน ซึ่งมันเรื่องน่ายินดีไม่ใช่เหรอ ที่เพลงที่ในสัก 20-30 ปีข้างหน้ากำลังจะหายไป มีคนฟัง แล้วชอบ แล้วตามมาฟังจากงานของเรา มันก็น่าจะดีรึเปล่า

ติดตามงานของ Herester TV ได้ ที่นี่

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า