fbpx

‘Heavy’ นิทรรศการภาพถ่ายที่ ‘น้อยแต่มาก-หนักแต่เบา’ ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

เชื่อว่าแฟนหนังหรือแฟนผลงานต่าง ๆ ของ ‘เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์’ ต่างรอคอยการกลับมาทำผลงานของเขากันทุกครั้ง อาจเพราะผลงานของเขาน่าสนใจ หรือผลงานของเขาเป็นผลงานที่ไม่มีใครเหมือน และหากจะหากลิ่นรสเช่นนี้ ก็ต้องพ่อครัวคนนี้เท่านั้น

ที่ผ่านมานวพลก็มีผลงานหลายรูปแบบออกมาให้เราชิมอยู่หลายจาน จานเล็กบ้างใหญ่บ้างตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย อย่างหนังใหญ่เรื่องล่าสุดของเขา ‘Fast and Feel Love’ ก็เป็นหนึ่งจานทดลองที่ท้าทายคนกินสุด ๆ ถ้าชอบก็ชอบไปเลย ถ้าเกลียดก็เกลียดไปเลยเช่นกัน

ผลงานอีกประเภทของนวพลที่ผู้คนล้วนให้ความสนใจ ก็คืองานนิทรรศการของนวพล ที่เรียกได้ว่าเป็นโอมากาเสะ ต้องค่อย ๆ ละเลียดเมนูเหล่านั้นจานต่อจาน, จานต่อจาน แล้วเมนูทั้งหมดเหล่านั้นค่อยทำงานกับเรา

‘Heavy’ นิทรรศการใหม่ล่าสุดที่ Bangkok Citycity Gallery จากนวพลก็ดูจะสมมติเหตุการณ์ได้ดีว่า ถ้าเรากินโอมากาเสะจากเชฟนวพลจะเป็นอย่างไร เพราะตลอดการเดินเท้าโดยรอบในพื้นที่จัดแสดงผลงานครั้งนี้ นวพลหย่อนความรู้สึกมากมายเอาไว้ในแต่ละพื้นที่ให้เราค่อย ๆ เก็บ ค่อย ๆ ชิมไปทีละคำ แล้วค่อย ๆ รับรู้ความรู้สึกนึกคิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปในงานของเขาครั้งนี้

นวพลเนรมิตห้องจัดแสดงของ Bangkok Citycity Gallery ให้เต็มไปด้วยรูปภาพขนาดใหญ่กว่า 137 ภาพ วางทับซ้อนกันอยู่บนฐานไม้ 12 ฐาน และยกเอารูปภาพบางส่วนมาแขวนไว้โดยรอบห้องนิทรรศการ เท่าที่เรานับดูมีภาพที่แขวนอยู่โดยรอบทั้งสิ้น 17 ภาพ เมื่อรวมกับภาพที่วางอยู่บนสุดของแต่ละฐานอีก 12 ภาพ นั่นแปลว่าผลงานที่เราได้เห็นแบบทันทีทันใดมีเพียง 29 ภาพเท่านั้น หากอยากดูภาพที่เหลือก็ต้องยกภาพจากฐานนั้นมาซ้อนฐานนี้ หรือยกจากฐานนี้ย้ายไปฐานนั้น อะไรแบบนี้

หากมองจากภายนอก นิทรรศการนี้ดูเหมือนจะเป็นนิทรรศการเบา ๆ สบาย ๆ เดินดูภาพจากฝีมือผู้กำกับที่หาตัวจับยากคนหนึ่งในไทย และดูไม่มีอะไรนอกจากภาพถ่ายเรียงรายอยู่ทั่วห้อง

แต่แท้จริงแล้วภาพถ่ายเหล่านั้นเต็มไปด้วยความหนักของความทรงจำที่บันทึกช่วงเวลาเสี้ยววินาทีจากชีวิตหลายสิบปีของนวพล และบรรจุลงไปในภาพถ่ายที่ขยายไซส์จนดูไม่เหมือนภาพเดียวกันที่เคยเห็นในจอภาพบนคอมพิวเตอร์

“ผมเพิ่งพบว่านิทรรศการนี้ ‘น้ำหนัก’ ของมันอยู่ที่ระหว่างทางการสร้างนิทรรศการนี้ไม่น้อยไปกว่าผลลัพธ์รูปภาพที่เลือกมาแสดง เป็นปกติเสมอเมื่อคุณจัดการกับสิ่งของ มันมีน้ำหนัก มันจึงต้องใช้แรง และเมื่อคุณใช้แรง คุณเหนื่อย การทบทวนบางอย่างจึงเกิดขึ้น”

นวพลเขียนข้อความนี้ลงในสูจิบัตรของนิทรรศการ เพื่อบอกเล่าความหนักอึ้งที่เขาต้องเจอระหว่างก่อร่างสร้างตัวให้นิทรรศการชิ้นนี้เกิดขึ้นจริง

นิทรรศการชิ้นอื่น ๆ บนโลกอาจเป็นการสร้างงานขึ้นใหม่ที่ต้องเริ่มจาก 0 แต่นิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกนี้ของนวพลคือการคัดภาพถ่ายอันเต็มไปด้วยความทรงจำหลักเมกกะไบท์ออกมาราว 120 รูป (แต่จริง ๆ มีถึง 137 รูปแหน่ะ) จากคลังภาพในฮาร์ดดิสก์ 2 ลูก น้ำหนัก 2 กิโลกรัม ที่เขามีอยู่กว่า 50,000 รูป นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

หากเดินดู หรือยกผลงานภาพถ่ายขนาด 110 × 165 เซนติเมตร ทั้งหมดนั้นดู เราจะเห็นภาพถ่ายอยู่ราว 2 ประเภทจากสายตานวพล ประเภทแรกคือภาพถ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานของเขาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งหนังใหญ่ หนังเล็ก หรือหนังโฆษณา ที่หากเราเคยผ่านตาผลงานเขามาบ้าง ก็คงจะพึมพำกับตัวเองหรือคนข้าง ๆ ที่มาด้วยเบา ๆ ว่า “อ๋อ..” ระหว่างการเดินดูภาพทั้งหลายที่เป็นใบหน้าของนักแสดง หรือเบื้องหลังการถ่ายทำที่นวพลบันทึกไว้

ส่วนอีกประเภทก็คือภาพถ่ายจากชีวิตส่วนอื่นของเขา ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่ต้องถูกสนใจจากนวพลเสียก่อน เขาจึงเลือกบันทึกช่วงเวลาเหล่านั้นไว้ก่อนที่มันจะหายไปจากชีวิต

นวพลฉลาดในการเปรียบเทียบน้ำหนักทางความรู้สึกที่มนุษย์มีต่อสิ่งบันทึกความทรงจำที่เรียกว่า ‘ภาพถ่าย’ ได้เป็นอย่างดี เราเองก็เชื่อว่าทุกคนต้องมีภาพถ่ายสะสมกันเอาไว้บ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อย่างน้อยที่สุดภาพถ่ายก็บันทึกช่วงเวลาบางอย่างของชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด มันบันทึกรูปร่าง แสง สี วัตถุ หรือสีหน้าท่าทางของสิ่งมีชีวิตในภาพได้แบบไม่ต้องโกหกกัน

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือความแตกต่างอย่างสุดขั้วของการให้ค่าความสำคัญภาพถ่ายในฐานะ ‘รูปภาพที่ถูกอัด’ และ ‘ไฟล์รูปภาพดิจิทัล’ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์ในการลดภาระค่าใช้จ่ายของการอัดรูปภาพ แต่ก็ทำให้ความสำคัญของภาพถ่ายหายไปจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว

บางคนก็เลือกภาพเพียงหนึ่งภาพมาอัดกรอบให้ใหญ่เต็มฝาบ้าน บางคนยังคงอัดรูปที่มีคุณค่าทั้งหมดในยุคปัจจุบันเก็บไว้ในสมุดอัลบั้มภาพถ่าย บางคนเคยอัดรูปในสมุดอัลบั้มแล้วถูกน้ำท่วม ภาพทั้งหมดเสียหายไปเลย หรือบางคนก็ยังคงเก็บแผ่นฟิล์มทุกม้วนในชีวิตไว้เป็นอย่างดีก็มี

‘รูปภาพ’ ในฐานะวัตถุประจำบ้านคือสิ่งล้ำค่าในชีวิตทุกคนอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าจะสำคัญน้อย สำคัญมาก แต่รูปภาพในฐานะไฟล์ดิจิทัลมันยิ่งทำให้เราไม่ต้องเสียเวลา ‘ทะนุถนอม’ มันมากนัก ถ่ายมาแล้วก็เก็บไว้ในหน่วยความจำ เมื่อความจำใกล้เต็มแล้วก็ไล่ลบออกไปบางส่วนก็ยังได้

ผิดกับภาพถ่ายในฐานะของรูปที่ถูกอัด หลายครั้งมันมักจะถูกจดจำได้อยู่เสมอ กลับกันเราเองก็ลืมไปแล้วเสียด้วยซ้ำว่าไฟล์รูปภาพดิจิทัลในโฟลเดอร์บนคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนของเรามันเคยมีภาพอะไรอยู่บ้าง เพียงเพราะหน้าที่เรามีเพียงแค่ ‘ถ่าย’ มันเอาไว้แค่นั้น

หลักใหญ่ใจความของงานที่เรามองเห็นคือการทำให้คุณค่าของไฟล์รูปภาพดิจิทัลมี ‘น้ำหนัก’ มากขึ้นในโลกความเป็นจริง ‘เท่า ๆ กัน’ มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะรูปภาพทุกรูปต่างอัดกรอบไม้สักเหมือน ๆ กัน และถูกพิมพ์ด้วยกระดาษโฟโต้เคลือบผิวเรซินเช่นเดียวกัน และถูกเลือกมาด้วยจำนวนภาพที่เพียงพอต่อการเดินชมอย่างละเมียดละไมในระยะเวลาไม่นานนัก ซึ่งแม้มันจะเป็นเพียงภาพบางส่วนจากชีวิตนวพล แต่มันก็ทำหน้าที่บอกเล่าตัวตน และวิธีการมองโลกในแบบของเขาได้เป็นอย่างดี

นิทรรศการนี้นอกจากจะทำให้นวพลกลับมารื้อฟื้นความทรงจำของตัวเองผ่านรูปภาพกว่าครึ่งแสนในฮาร์ดดิสก์ของเขาแล้ว เราเองในฐานะผู้เข้าชมนิทรรศการก็ได้ทบทวนชีวิตของเราทั้งในฐานะผู้ชมที่เชื่อมโยงกับงานชิ้นที่ผ่านมาของนวพล และทบทวนชีวิตของเราในฐานะผู้บันทึกช่วงเวลาคนหนึ่งผ่านรูปภาพที่เราทุกคนล้วนมีอยูในหน่วยความจำบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สักแห่งด้วยเช่นเดียวกัน

และเชื่อเหลือเกินว่า แท้จริงแล้วนวพลอยากเอาภาพในฮาร์ดดิสก์ทั้ง 50,000 ภาพมาอัดใส่กรอบไว้ในนิทรรศการครั้งนี้เป็นแน่ ติดแค่ตรงที่สถานที่จัดนิทรรศการมี ‘พื้นที่’ ไม่ใหญ่พอให้นวพลบันทึกความทรงจำของเขาผ่านมัน

นิทรรศการภาพถ่ายแห่งความหนักทางอารมณ์และทางกายภาพ ‘Heavy’ โดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จัดแสดงที่ Bangkok Citycity Gallery ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน – 11 พฤศจิกายน 2566 นี้ เปิดให้เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย วันพุธ-วันอาทิตย์ 13.00 – 18.00 น.

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า