fbpx

“คนดี” ในหลักสูตรการศึกษาไทย “ดี” แบบไหนที่รัฐไทยต้องการ

เรื่องราวความดีจากหนังสือ “ภาษาพาที” หนึ่งในแบบเรียนที่เด็กไทยส่วนใหญ่ต้องเคยอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงใยบัวผู้อิ่มเอิบใจจากข้าวไข่ต้มครึ่งฟอง เรื่องราวของใบพลู ผู้อิดหนาระอาใจกับความไร้น้ำใจของพ่อค้าข้าวแกง ที่ไม่เต็มใจให้น้ำปลามาราดข้าวมันไก่ จนถึงชายหนุ่มใจบุญ ที่ทุ่มเงินทุกบาททุกสตางค์ที่มี บริจาคเงินช่วยเหลือผู้อื่นจนหมด กลายเป็นกระแสครึกโครมที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวคิดอันล้าสมัยและไม่สมเหตุสมผล รวมทั้งความตลกที่ถูกต่อยอดเป็นมีมและคอนเทนต์ขำขันต่างๆ 

แต่ภายใต้กระแสความดีอย่างสุดขั้วและความฮาอย่างสุดขีดนั้น “ภาษาพาที” ได้สะท้อนถึง “คุณสมบัติของคนดี” ที่รัฐไทยต้องการ โดยสื่อสารผ่านหลักสูตรการศึกษา

The Modernist จึงเกิดความสงสัยว่า “คนดี” แบบไหนที่รัฐไทยแต่ละยุคต้องการ ซึ่งเราอาจจะพิจารณาหาคำตอบได้จาก “หลักสูตรการศึกษา” ที่เปลี่ยนไปมาตามยุคสมัยและสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา

แผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2503: คนดีในยุคสงครามเย็น

พ.ศ.2490 – 2534 โลกอยู่ในยุคสงครามเย็น ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างประเทศโลกเสรี ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และประเทศคอมมิวนิสต์ ที่มีสหภาพโซเวียตและจีนเป็นผู้นำ

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ขึ้นตำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของประเทศไทย ภายหลังจากการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2501 และได้เปิดทางให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในการเมืองและเศรษฐกิจของไทย ในรูปแบบของการให้ทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา เพื่อให้ไทยเป็นฐานที่มั่นสำหรับนโยบายต่อต้านการแผ่อิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในเอเชีย

จอมพลสฤษดิ์เคยกล่าวไว้ว่า “งานสำคัญของเราในระยะปฏิวัตินี้คืองานพัฒนา ได้แก่ งานพัฒนาการเศรษฐกิจ การศึกษา การปกครอง และทุกสิ่งทุกอย่าง” และหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของเขา คือการตราพระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2502 ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและการปกครองประเทศภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่รวมศูนย์อำนาจการปกครองโดยอ้างสถานการณ์ความมั่นคงในช่วงสงครามเย็น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ แผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2503 ที่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อ “ให้พลเมืองทุกคนได้รับการศึกษาตามควรแก่อัตภาพ ได้รับการศึกษาอยู่ในโรงเรียนจนอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เป็นอย่างน้อย และตอบสนองความต้องการของสังคมตามแผนเศรษฐกิจและแผนการปกครองประเทศ” โดยเนื้อหาในระดับประถมศึกษาตอนต้น มี 6 หมวดใหญ่ คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย ศิลปศึกษา พลานามัย สำหรับระดับประถมศึกษาตอนปลายเพิ่มหมวดวิชาภาษาอังกฤษและหัตถศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทั้งสายสามัญและสายอาชีพต้องเรียนเลขคณิตและพีชคณิตตลอดทั้ง 3 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แบ่งเป็น 3 แผนก คือ แผนกทั่วไป วิทยาศาสตร์ และศิลปะ

อย่างไรก็ตาม วิทยานิพนธ์เรื่องการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการการศึกษาภาคบังคับของไทย โดยเพ็ญจันทร์ ทัพประเสริฐ ระบุว่า “มีการวิพากษ์การศึกษาตามแผนการศึกษาปี 2503 ว่า ไม่ได้ให้สาระที่จะนำไปพัฒนาชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น เห็นได้จากข้อวิจารณ์ในปี 2515 ว่า ได้กำหนดความมุ่งหมายเกินกำลังที่ครูทั่วไปจะปฏิบัติให้บรรลุผล มิได้คำนึงถึงระดับวุฒิภาวะของเด็ก ‘มีความเป็นสากลเกินไป ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริงแห่งแผ่นดินไทย’ และเนื้อหาสาระจำนวนมากมิได้เป็นความรู้ที่มีส่วนพัฒนาระบบความคิดหรือปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น”

จากข้อวิจารณ์ดังกล่าว นำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาครั้งใหม่ นั่นคือ หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 

หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 

หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ให้ผู้เรียนเป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความสุข รวมทั้งเป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติ” โดยแบ่งเนื้อหาสาระเป็นกลุ่มประสบการณ์ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มทักษะที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ หรือกลุ่มเครื่องมือ (ภาษาไทยและคณิตศาสตร์) 2. กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต หรือกลุ่มความรู้ความสามารถในการดำเนินชีวิตเพื่อช่วยแก้ปัญหาชีวิตและสังคม 3. กลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย หรือกลุ่มความดี (จริยศึกษา ศิลปศึกษา ดนตรีและนาฏศิลป์ พลศึกษา) 4. กลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพ (งานบ้าน งานเกษตร งานประดิษฐ์และงานช่าง) 5. กลุ่มประสบการณ์พิเศษ (วิชาชีพเพื่อดำรงชีวิต ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับชีวิต)

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรนี้ถูกปรับปรุงใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2533 เรียกว่า หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง 2533) โดยคำนำในหลักสูตรใหม่ ระบุว่า หลักสูตรเก่า “ยังไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาคุณภาพคน ให้มีความรู้ มีคุณธรรม สามารถพึ่งตนเองและนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต”

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 – 2523 มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมากถึง 10 คน นั่นหมายความว่า รัฐมนตรีแต่ละคนมีวาระการดำรงตำแหน่งราวครึ่งปีเท่านั้น

หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง 2533)  

หลักสูตรใหม่ที่ปรับปรุงใน พ.ศ. 2533 นี้ มีหลักการเป็นการศึกษาเพื่อปวงชน ที่มุ่งให้ผู้เรียนนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต และเป็นการศึกษาที่มุ่งสร้างเอกภาพของชาติ โดยมีเป้าหมายหลักร่วมกัน ให้ท้องถิ่นมีโอกาสพัฒนาหลักสูตรบางส่วนให้เหมาะสมกับสภาพและความต้องการได้ แบ่งออกเป็นหลักสูตรประถมศึกษา หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ “พร้อมที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

สำหรับเนื้อหาการเรียนการสอน หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง 2533) ยังคงแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มประสบการณ์ ส่วนหลักสูตรมัธยมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง 2533) ประกอบด้วยวิชาบังคับแกน (ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา พลานามัย และศิลปศึกษา) วิชาบังคับเลือก วิชาเลือกเสรี และกิจกรรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดฉบับหนึ่ง ประเทศไทยก้าวสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ ด้วยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีการรัฐประหาร ซึ่งส่งผลให้มีการกระจายอำนาจด้านการศึกษาไปด้วย ซึ่งหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และตามมาด้วยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาอีกครั้ง

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544

ในช่วงเวลาที่โลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ที่พลเมืองไทยไม่ได้เป็นแค่พลเมืองไทย แต่เป็นพลเมืองของทั้งโลก ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาเดิมจึงไม่ตอบโจทย์ของยุคโลกาภิวัตน์อีกต่อไป ดังนั้น จึงมีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “พัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ”

จุดเด่นของหลักสูตรฉบับนี้ คือการแบ่งระดับการศึกษาเป็น 4 ช่วงชั้น พร้อม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่

ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรนี้กลับสร้างความสับสนให้กับผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษา รวมทั้งมีหลักสูตรที่แน่นเกินไป มีปัญหาในการเทียบโอน และปัญหาคุณภาพผู้เรียนในด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 

ต่อมาใน พ.ศ. 2549 เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ถูกฉีกทิ้ง และการตัดสินใจต่างๆ ก็กลับไปรวมศูนย์ที่ชนชั้นนำที่ก่อรัฐประหาร เช่นเดียวกับนโยบายด้านการศึกษา

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ยังคงมีเนื้อหาสาระ 8 กลุ่มสาระ เหมือนหลักสูตร 2544 แต่มีการกำหนดตัวชี้วัดมาให้ ส่วนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนั้นเพิ่มกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม และสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาอีก คือสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน 

แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ มีการบรรจุ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ไว้ในหลักสูตรเป็นครั้งแรก ซึ่งจากหนังสือ “เลาะตะเข็บอำนาจ ประวัติศาสตร์การศึกษาไทย” โดยภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กล่าวถึงจุดหมายของหลักสูตรที่มีการเปลี่ยนแปลงว่า “จุดหมายข้อแรก เดิมใช้ข้อความว่า ‘เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยในตนเอง ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์’ ปรับเป็น ‘เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยในตนเอง ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่ถูกให้ความสำคัญอย่างมากในช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 โดยปรากฏอยู่ในแบบเรียน การอบรมต่างๆ เรื่อยมาจนถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) ที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐประหารครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2557

หนังสือ “เลาะตะเข็บอำนาจ ประวัติศาสตร์การศึกษาไทย” ให้ข้อสังเกตไว้ว่า แม้จะมีการเพิ่มสมรรถนะของผู้เรียน เช่น ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา รวมทั้งคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข แต่ดูเหมือนหลักสูตรฉบับนี้จะมุ่งเน้นที่ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะมากกว่า

“ภาษาพาที” ซึ่งเป็นผลจากหลักสูตรดังกล่าว จึงมีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งคือการปลูกฝังวัฒนธรรมทางภาษา ความเป็นไทย ความเป็นคนดีของสังคมไทยและสังคมโลก รวมทั้งการนำความรู้และความคิดไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของ “ภาษาพาที” ก็ไม่ได้มีแค่การเป็นตำราเรียน แต่เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐปลูกฝัง “ความดีแบบไทยๆ” อันจำกัดกรอบไว้เพียงแค่ “ความพอเพียง” ที่ทำให้ความยากจนเป็นเรื่องโรแมนติกและเมินเฉยต่อปัญหาเชิงโครงสร้าง “ความใจบุญสุนทาน” ที่ไม่ประมาณกำลังทรัพย์ของตัวเอง หรือแม้กระทั่งการเรียกร้องความมีน้ำใจ จนละเลยข้อเท็จจริงต่างๆ

และหลังจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ความดีแบบไทยๆ ก็ไต่ระดับอีกครั้งด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560)

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560)

แม้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) จะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในแง่สาระการเรียนรู้ แต่สิ่งที่นับว่าเป็นจุดเด่นและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก คือการเพิ่ม “ค่านิยม 12 ประการ” ลงในหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย

  1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
  2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม
  3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์
  4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม
  5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม
  6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน
  7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง
  8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่
  9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี
  11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำหรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา
  12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

หนังสือ “เลาะตะเข็บอำนาจ ประวัติศาสตร์การศึกษาไทย” ระบุว่า ลักษณะดังกล่าวนี้ ถือว่า “เป็นคำประกาศที่ตรงข้ามกับความพยายามปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษ 2550 ที่พยายามมุ่งเน้นทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือเน้นการคิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ…” และ “…การกล่อมเกลาด้วยฐานความคิดแบบอนุรักษนิยม ได้สะท้อนให้เห็นแนวคิดที่คล้ายกับช่วงทศวรรษ 2520” 

นอกจากนี้ ในหนังสือเล่มเดียวกัน ยังกล่าวถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ประกาศใช้ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าด้วยแนวทางการจัดการศึกษา จากเดิมที่เน้น “การส่งเสริมและสนับสนุนให้เสริมสร้างความรู้และปลุกจิตสำนึกในยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มีการตัดคำว่า “ประชาธิปไตย” ออก และเปลี่ยนเป็น “การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” แทน

ที่มา :

  • ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2565). เลาะตะเข็บอำนาจ ประวัติศาสตร์การศึกษาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 1).สํานักพิมพ์สมมติ.
  • คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2562). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (พิมพ์ครั้งที่ 8)./สํานักพิมพ์มติชน.
  • http://titinan5581103080.blogspot.com/2013/07/blog-post_25.html
  • http://www.lertchaimaster.com/doc/Course-Definitions-2551.pdf

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า