fbpx

รู้จัก “Gilbert” ฟอนต์เพื่อรำลึก Gilbert Baker ผู้สร้างธงสีรุ้งของกลุ่ม LGBTQ+

เข้าสู่เดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month กันอีกครั้ง ซึ่งในปีนี้หลังจากการเลือกตั้งใหม่ ก็ดูเหมือนเส้นทางของความเท่าเทียมในทุกด้าน ที่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ กำลังจะเจอแสงสว่างที่เรืองรองอยู่ตรงหน้า

หากกวาดสายตาไปยังท้องถนน สถานที่ต่างๆ หรือบนโลกออนไลน์ในช่วงเดือนนี้ เราจะเห็น “สีรุ้ง” แห่งความหวังผสมผสานลงไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพที่เราเห็นตรงหน้าบ้างไม่มากก็น้อย แต่ที่แน่ ๆ คือพื้นที่นั้นได้เปิดกว้างเพื่อโอบรับทุกความหลากหลายที่กำลังจะกลายเป็นความธรรมดาสามัญในอนาคตอันใกล้

บทบาทของ “สีรุ้ง” ที่ห่มคลุมกลุ่มคนเพศหลากหลาย ได้ทำให้สีสันของโลกใบนี้กว้างขึ้นเรื่อย ๆ และยังเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ระดับโลก ที่เชื่อมผู้คนแตกต่างหลากหลายจากทั่วสารทิศเข้ามาไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

The Modernist เลยขอพาไปรู้จักกับหนึ่งบทบาทของสีรุ้งที่สร้าง “น้ำเสียง” ของกลุ่มคนเพศหลากหลายให้ชัดเจนขึ้oได้ ผ่านการดัดแปลงเป็นรูปแบบตัวอักษร หรือ “ฟอนต์” ในชื่อ “Gilbert” ฟอนต์ภาษาอังกฤษสีสดใส ที่เกิดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการจากไปของ “Gilbert Baker” ผู้ทำให้นิยามของ “สีรุ้ง” ขจรขจายไปทั่วโลกใบนี้

Gilbert Baker

ผู้ยืนหยัด ศรัทธาตัวตนของตัวเอง ผ่านการออกแบบ

กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1951 ที่แคนซัส สหรัฐอเมริกา เธอเติบโตในบ้านเมืองที่มีความอนุรักษ์นิยมสูง เป็นเด็กผู้ชายที่ชื่นชอบด้านศิลปะและการออกแบบแฟชั่นตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ชีวิตค่อนข้างห่างเหินกับเพื่อนคนอื่นๆ จนในช่วงหนึ่งเธอใช้ชีวิตโดยการเลือกเป็นทหาร อาชีพนี้ทำให้เธอถูกย้ายไปยังซานฟรานซิสโก ที่นั่นเธอพบกับโลกใบใหม่ ซึ่งทำให้เธอสามารถเปิดเผยตัวตนความเป็นเกย์ได้มากขึ้น

หลังจากเป็นทหาร เบเกอร์เลือกใช้ความสามารถด้านการออกแบบของเธอ ออกแบบธง และป้ายผ้าสำหรับใช้ในการเรียกร้องสิทธิให้กับเกย์และเลสเบี้ยนในซานฟรานซิสโกมากมายหลายครั้ง ตามคำแนะนำของเพื่อนร่วมงาน รวมถึงคำแนะนำจาก “ฮาร์วีย์ มิลก์” นักการเมืองชาวอเมริกันคนแรกที่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ ซึ่งเป็นทั้งหัวหน้างาน และเพื่อนของเธอด้วย

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ “ธงสีรุ้ง (Rainbow Flag)” ถือกำเนิดขึ้นผ่านความคิดของเธอในปี ค.ศ. 1978 โดยได้รับแรงบันดาลใจในการทำจากเพลง Over the Rainbow ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Wizard of Oz ขับร้องโดย จูดี้ การ์แลนด์ นักร้องและนักแสดง ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นเกย์ไอคอนคนแรก

และแรงบันดาลใจอีกส่วนจาก “ธงห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ (Five Races Under One Union)” ที่ใช้ในช่วงการปฏิวัติซินไฮ่ เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง การปฏิวัติครั้งนั้นทำให้การปกครองของจีนเปลี่ยนไปสู่รูปแบบประชาธิปไตยและสถาปนาสาธารณรัฐจีน ธงผืนนี้ถูกออกแบบให้เป็นธง 5 สีเรียงกันตามแนวนอน ประกอบไปด้วยสีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีขาว และสีดำ

ส่วนชื่อเต็ม ๆ ของธงสีรุ้งของกิลเบิร์ต คือ “ธงสีรุ้งแห่งความภาคภูมิชุมชนหลากหลายเพศ (Rainbow LGBT Pride Flag)” มีขนาดอยู่ที่ 30 – 60 ฟุตโดยประมาณ ในผืนธงรูปแบบดั้งเดิมกิลเบิร์ตเลือกใช้ 8 สี ในการออกแบบธงผ่านการเรียงต่อกันในแนวนอน ไล่ลงมาจากด้านบนสู่ด้านล่างในขนาดที่เท่ากัน

ประกอบไปด้วยสีชมพูสดเฉดฮอตพิงก์ (Hot Pink) สื่อถึงเพศวิถี (Sex) / สีแดง (Red) สื่อถึงชีวิต (Life) / สีส้ม (Orange) สื่อถึงการเยียวยา (Healing) / สีเหลือง (Yellow) สื่อถึงแสงตะวัน, แสงอาทิตย์ (Sunlight) / สีเขียว (Green) สื่อถึงธรรมชาติ (Nature) / สีฟ้าเทอร์ควอยซ์ (Turquoise) สื่อถึงศิลปะ (Art) / สีคราม (Indigo) สื่อความกลมเกลียว, ความปรองดอง, ราบรื่น, แจ่มใส (Harmony) และสีม่วง (Violet) สื่อถึงจิตวิญญาณของมนุษย์ (Spirit)

ก่อนที่ต่อมาจะถูกแก้ไขอีกครั้ง โดยการนำสีชมพูสด และสีเทอร์ควอยซ์ออก เพราะเป็นสีพิเศษที่ยากต่อการผลิต จึงจำเป็นต้องลดสีในธงสีรุ้งลงเหลือแค่ 6 สี คือ สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีม่วง โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ของการให้ความหมายแต่อย่างใด ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายของความแตกต่างหลากหลายทางเพศไว้ครบทุกประการ

ในการผลิตออกมาเป็นธงนั้น เบเกอร์ได้รับเงิน 1,000 ดอลลาร์ จากคณะกรรมการวันเสรีภาพเกย์ ในปี ค.ศ. 1978 เพื่อผลิตและตัดเย็บธงสองผืนแรก สำหรับการใช้เป็นสัญลักษณ์ครั้งแรกในขบวน Gay Freedom Day Parade ที่ซานฟรานซิสโก ในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1978

ซึ่งเป็นพาเหรดที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อการเรียกร้องจากเหตุการณ์จลาจลที่สโตนวอลล์ (Stonewall Riots) ตั้งแต่ปีถัดมาหลังจากเหตุการณ์ที่ชุมชนชาวเกย์อเมริกันรวมตัวกันเพื่อประท้วงตำรวจอเมริกันที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ จากสภาพแวดล้อมทางสังคมในช่วงนั้นที่มีการต่อต้านการรักร่วมเพศเป็นอย่างสูง 

นอกจากงานที่เกี่ยวกับธงของเธอ เธอยังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประเภทอื่นเพื่อเชิดชู และเฉลิมฉลองของกลุ่มเพศหลากหลายอีกมากมาย ที่ทำให้ผู้คนมองเห็น และให้ความสนใจกับความหลากหลายทางเพศบนโลกใบนี้มากขึ้น

และตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา กิลเบิร์ตได้รับเชิญในฐานะผู้สร้างคุณูปการของกลุ่มเพศหลากหลาย ผ่านกิจกรรมแห่งความภาคภูมิใจของ LGBTQ+ ในเมืองต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ที่กิลเบิร์ตเดินทางมาถึงจุดสูงสุดจุดหนึ่งในชีวิตการเคลื่อนไหวด้านกลุ่มเพศหลากหลาย จากการได้รับเชิญไปทำเนียบขาวเพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงฉลองเดือนแห่ง LGBTQ+ Pride ที่นั่นเธอได้มอบธงสีรุ้งที่ย้อมด้วยมือให้กับประธานาธิบดี “บารัค โอบามา”

จนถึงจุดสุดท้ายของชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2017 เธอเสียชีวิตขณะกำลังนอนหลับที่บ้าน และอยู่ระหว่างการวางแผนเดินทางกลับบ้านในวัยเด็กที่เมืองพาร์สันส์ รัฐแคนซัส ทางด้านพิธีรำลึกของกิลเบิร์ต จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน ที่ซานฟรานซิสโกและนิวยอร์กซิตี้ มีผู้คนมากมายมาร่วมไว้อาลัย และรำลึกถึงสิ่งที่เธอฝากไว้หลายสิ่งบนโลกนี้

Gilbert

ฟอนต์ที่ไม่ใช่แค่ฟอนต์ แต่คือสิ่งเตือนใจความพยายามของกิลเบิร์ต

ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น

ภายหลังการสูญเสียของกิลเบิร์ต “NewFest” เทศกาลภาพยนตร์ LGBTQ+ ในนิวยอร์ก และ “NYC Pride” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเกี่ยวกับ LGBTQ+ ในนิวยอร์ก จึงรวมตัวกันในนาม “Type With Pride” เพื่อทำแคมเปญรำลึก และให้เกียรติต่อคุณูปการของกิลเบิร์ตที่ขับเคลื่อนสังคมกลุ่มคนเพศหลากหลายให้ก้าวมาจนถึงปัจจุบันนี้

โดยมี “Ogilvy” เอเจนซี่โฆษณาระดับโลก และ “Fontself” บริษัทเจ้าของโปรแกรมสร้างฟอนต์ มาเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์และพัฒนาไอเดีย โดยตั้งต้นจากความสนใจในสัญลักษณ์ “ธงสีรุ้ง” ที่มีความหมายชัดเจน และดูจะเป็นไอเดียหลักสำหรับการต่อยอดเพื่อเชิดชูเกียรติของเธอ และเพื่อทำให้ผลงานธงสีรุ้งของเธอในฐานะนักเคลื่อนไหวยังคงดำเนินต่อไปได้ในอนาคตข้างหน้า

จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า “หากเราเอาความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี มาต่อยอด ‘ธงสีรุ้ง’ ผ่านการแยกชิ้นส่วนแถบสีทั้งหมด และนำมาปรับเปลี่ยนรูปร่าง สีสัน แล้วนำมาเรียงต่อกันเป็นตัวอักษรในรูปแบบ ‘ฟอนต์’ จะเป็นอย่างไร” ยิ่งไปกว่านั้น “จะเกิดอะไรขึ้นหากสิ่งนี้ถูกนำไปกระจายต่อแบบออร์แกนิกทั่วโลก และทำให้มันกลายเป็น ‘กระบอกเสียง’ ที่ชัดเจนขึ้นของกลุ่มคนเพศหลากหลาย”

นั่นทำให้โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นโดยการไม่ใช้งบประมาณ และมีเป้าหมายในการสร้างแนวคิดในการยอมรับความหลากหลายให้อยู่ร่วมกันได้ เหมือนกับกิลเบิร์ต ที่เชื่อว่าธงสีรุ้งของเขา “เป็นของประชาชน” และเวลาที่ผู้คนใช้ฟอนต์นี้ก็เหมือนกับการโบกธงสีรุ้งให้ปลิวไสว ผ่านการใช้ถ้อยคำเพื่อเรียกร้องด้วยความหวังอันแรงกล้า

จึงเกิดเป็นฟอนต์ “Gilbert” ฟอนต์ที่เป็นตัวแทนเสียงพูดของธงสีรุ้ง จากเมื่อก่อนที่ธงเป็นเพียงสัญลักษณ์ซึ่งแสดงออกผ่านสีสัน ถูกพัฒนาให้สามารถแปลความหมายอันแข็งแกร่งของธงเป็นข้อความได้

คริส โรลสัน ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Ogilvy ให้สัมภาษณ์กับ Dezeen ถึงวิธีการออกแบบฟอนต์ตัวนี้ไว้ว่าเขาเก็บกลิ่นอายของการออกแบบกราฟิกในยุคปลายทศวรรษ 1970 มาใช้ในการออกแบบฟอนต์ตัวนี้ ทั้งจากขั้นตอนการ “ผ่าธง” ผ่านการดึงเอาสี และสัดส่วนของแถบสีบนธงแต่ละแถบออกจากกันเพื่อสร้างรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ๆ ที่เรียบง่าย

ก่อนจะนำแถบสีทั้งหมดมาหาวิธีจัดเรียง และซ้อนทับกันเพื่อสร้างรูปร่างของตัวอักษรภาษาอังกฤษ ทั้งตัวพิมพ์เล็ก-พิมพ์ใหญ่ ตัวเลข รวมถึงเครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ โดยใส่กิมมิกในการออกแบบเมื่อแถบสีแต่ละแถบ “ซ้อนทับกัน” จะทำให้เกิดสีใหม่ที่เกิดจากสีที่ซ้อนทับผสมผสานกัน ผ่านแนวคิดที่สื่อถึงความเปิดกว้างและการลื่นไหล

“เราชอบไอเดียของครอสโอเวอร์และการซ้อนทับนั้น มันสร้างสิ่งใหม่ๆ” เขากล่าว “ผู้คนไม่ใช่แค่สิ่งเดียว พวกเขาไม่ใช่แค่เกย์ หรือไม่ใช่แค่คนข้ามเพศ ทุกคนสามารถเป็นส่วนผสมของสิ่งต่างๆ ได้”

ผลลัพธ์ของฟอนต์นี้จึงออกมาเป็น Color Font หรือฟอนต์ที่ผู้สร้างสรรค์ออกแบบชุดสีลงไปบนตัวอักษรในไฟล์ฟอนต์เพื่อใช้เป็น “ค่ากลาง” ตามความต้องการของผู้สร้างสรรค์ฟอนต์นั้น ๆ เหมือนกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปตัวหนึ่ง ที่มีการกำหนดแฟชั่น และการดีไซน์ของเสื้อผ้า รวมถึงออกแบบสีสันบนผ้ามาแล้ว เราสามารถใช้งานสีดังกล่าวจากผู้สร้างสรรค์ได้เลย

ฟอนต์ “Gilbert” เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน ค.ศ. 2017 ในรูปแบบของ Display font ที่เล่นกับเรื่องของสีสัน และรูปร่างเรขาคณิตอันเกิดจากเส้นที่มีความหนา “เท่ากัน” และเดินเส้นเหลื่อมสีกันเพื่อให้ได้สีใหม่เพิ่มเติม แสดงออกถึงความหลากหลายที่มากกว่าเดิมของแถบสีบนธงที่มีเพียง 6 แถบสี

ตัวฟอนต์ประกอบไปด้วย 3 รูปแบบ นั่นคือ รูปแบบปกติ เป็นฟอนต์ทั่ว ๆ ไป, รูปแบบ Color font และรูปแบบ Animated font มาใน 2 อักขระภาษา คือ อักขระภาษาอังกฤษ และอักขระคาตาคานะของญี่ปุ่น ทั้งสามรูปแบบนี้สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีตามเว็บไซต์ https://www.typewithpride.com/ และ https://animography.net/products/gilbert

รวมถึงยังมีหน่วยงานจากประเทศเกาหลีใต้ในนาม “The Rainbow Foundation” ที่นำฟอนต์ตัวนี้ไปพัฒนาเป็นอักขระภาษาฮันกึล (Hangul) เพื่อให้สามารถพิมพ์คำหรือข้อความในภาษาเกาหลีได้ด้วย ซึ่งสามารถดาวน์โหลดฟอนต์นี้ได้ที่เว็บไซต์ http://rainbowfoundation.co.kr/Gilbeot_eng

นับตั้งแต่การปล่อยให้ดาวน์โหลดแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ฟอนต์ “Gilbert” ก็ได้ทำหน้าที่ไม่ต่างจากธงสีรุ้งของกิลเบิร์ต มันสามารถแสดงตัวตนที่ชัดเจน นำเสนออัตลักษณ์แห่งความหลากหลาย และเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของกลุ่มคนเพศหลากหลายอยู่เสมอ ผ่านการนำไปสกรีนเป็นเสื้อ ประกอบปกหนังสือ Entertainment Weekly ในฉบับ LGBTQ+ Pride หรือใช้เป็นข้อความประกอบงานศิลปะอีกหลากหลายชิ้นงานทั่วโลก

“Gilbert” กลายเป็นเครื่องมือทรงพลังของกลุ่มคนเพศหลากหลาย เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ผ่านการพิมพ์ด้วยข้อความที่แสดงความรัก ความหวัง ความภาคภูมิใจ และการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม

ในที่สุดฟอนต์ “Gilbert” ก็ช่วยให้ทุกคนชู “ธงสีรุ้ง” ได้ด้วยตัวอักษรทุกตัวที่พิมพ์

ขอบคุณข้อมูลจาก : gilbertbaker / bangkokbiznews /sftravel / makingqueerhistory / typewithpride /caples

_________________________________________________________________________________________

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า