fbpx

GendersMatter เพจเรื่องเพศที่เล่ามากกว่าเรื่องจู๋และจิ๋ม แต่พูดถึงเรื่องเพศที่ทุกคนต้องเข้าใจ

ในหลักภาษาอังกฤษ คำว่า Gender ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า “เพศ” เป็นได้ทั้งนามเอกพจน์และพหูพจน์

แต่เต้ย-ปณต ศรีนวล บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งบอกว่าที่มาของการเขียนชื่อเพจว่า GendersMatter ว่าอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าไม่ว่าจะเพศสภาพใด รสนิยมทางเพศแบบไหน หรือคุณ “หลงรัก” ใคร เรื่องเพศมันคือเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน และมีมิติที่ลึกซึ้งมากกว่าเครื่องเพศแค่สองแบบ

ด้วยวิธีการเลือกหัวเรื่องที่สามารถนำไปอธิบายเป็นความเรียงที่เข้าใจง่ายๆ แต่เป็นความรู้เรื่องเพศเชิงลึกที่มีมิติองค์ความรู้อย่างรอบด้านซึ่งครอบคลุมแทบจะทุกมิติ หรือบางทีก็เปิดพื้นที่ถกเถียง-ถกถาม หรือเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่

แน่นอนว่าคนจะทำอะไรสักอย่างได้ออกมาดีและรู้มือ ก็ควรจะต้องเป็นคนที่มีความคุ้นเคยกับสิ่งๆ นั้นบ้างไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งเต้ยใช้ประสบการณ์จากการเผชิญหน้า ประจันข้อท้าทาย และฝ่าฟันการกดทับทางสังคมจากตัวตนที่ “แตกต่าง” กว่าคนทั่วไป

จึงทำให้ GendersMatter กลายเป็นเพจที่คุณ “ต้อง”​ อ่าน 

หากอยากทำความเข้าใจเรื่องเพศในแบบที่ควรจะเป็นจริงๆ

ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง

“เต้ยรู้ว่าตัวเองเป็นผู้หญิงตั้งแต่เด็ก แต่เราเป็นตัวเราเองไม่ได้เพราะที่บ้านเราไม่เข้าใจ เขาห้ามเราออกสาว เราก็ไปออกสาวได้ที่โรงเรียน แต่ไม่ชอบให้เพื่อนเรียกว่าตุ๊ดนะ ร้องไห้เลยนะ ต้องบอกว่ายากมากเลยนะ วิธีส่วนตัวเต้ยคือเรียนให้เก่ง พอเราเรียนเก่งคนจะไม่ค่อยยุ่งกับเรา เขาจะมองเราเป็นอีกชนชั้นนึง แต่มันเป็นความจำเป็นเพราะถ้าเราเรียนไม่เก่งก็จะโดนว่าประมาณว่า ‘เป็นกะเทยอยู่แล้ว ยังจะทำให้ชีวิตตกต่ำอีกหรอ’ มันเลยเป็นสิ่งที่เราบอกกับตัวเองว่าเราต้องเก่งเราต้องดีให้ได้ 

“จนถึง ม.5-6 เราก็คิดว่า ‘ไม่เป็นตุ๊ดได้ไหม เป็นเกย์ได้ไหม’ แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ คือตอนที่เราได้ทุนไปเรียนที่บรูไนอยู่ครึ่งปี ตอนนั้นเราอยู่ท่ามกลางคนที่เราไม่รู้จักเลย เราไปมีชีวิตใหม่ของเราอีกชีวิตหนึ่ง ฉะนั้นเราจะเป็นอะไรก็ได้ที่เราอยากเป็นจริงๆ เราก็เริ่มคิดว่าอยากใช้ฮอร์โมน อยากแต่งหน้า แต่บรูไนเป็นประเทศมุสลิม แล้วเราดันไปเป็นเก้งป๊อปๆ ที่โน้น ตอนนั้นคนไม่ได้คิดว่าเราเป็นเก้ง คิดว่าเป็นผู้ชาย เขาเข้าใจว่าที่เราคุยกับผู้หญิงเก่ง เพราะเราเป็นเสือผู้หญิง ทีนี่ทุกครั้งพอตกกลางคืน เราเริ่มคิดว่าอยากจะเปลี่ยนแล้ว คือเรามโนว่าพอเป็นผู้หญิงแล้วฉันใส่ชุดสวยๆ คงจะมีความสุขมากเลย แต่พอตื่นมาตอนเช้า เราต้องอยู่กับความเป็นจริง ตอนนั้นใช้ชีวิตแยกกันเลย กลางวันกลางคืน กลางคืนคือตัวตนจริงๆ กลางวันเป็นโลกแห่งการหลอกลวง ตอนนั้นก็ถามเพื่อนที่เป็นทรานส์ว่า ถ้าเทคฮอร์โมนตอนนี้ทันมั้ย นางบอกว่าไม่น่าทันแล้วหละ มันกลายร่างไปแล้ว เราก็เชื่อเพื่อน 

“พอกลับมาที่ไทยมันเกิด Reverse Culture Shock คือเราไม่อินกับวัฒนธรรมหลายๆ อย่างของไทย ตอนเราไปแลกเปลี่ยนมันไม่ใช่แบบนั้น ตอนนั้นจำได้ว่าเราต่อต้านการเป็นทรานส์มาก แบบห้ามเลยนะ ก็เลยเอาเงินไปจ้างเทรนเนอร์ แล้วก็ทำยังไงก็ได้ให้มีกล้าม ก็เลยเป็นช่วงเล่นกล้าม ตอนนั้นสุขภาพกายดีขึ้นมาก แต่สุขภาพใจมันแย่ลง เราเห็นภาพตัวเองเป็นผู้ชายที่ล่ำๆ แต่มันไม่ใช่เรา”

เด็กต่างจังหวัดที่สู้ทุกทางเพื่อเข้ารั้วจุฬาฯ

“ที่เต้ยมาเรียนอักษรฯ จุฬาฯ เพราะเต้ยอ่านหนังสือของพี่ส้ม (ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ) แล้วเราเป็นคนที่ชอบเรียนภาษามาก เราก็รู้สึกว่าอยากเรียนอะไรที่เป็นแนวภาษา ปรัชญา แต่เต้ยมาติสท์แตกตอน ม 4 ช่วงที่เราเริ่มค้นหาว่าชีวิตเราต้องการอะไรที่มันมากกว่าการเป็นรูปธรรมอะไรบ้างอย่าง ก็เลยคิดว่าน่าจะมีคณะที่ตอบโจทย์เราได้ในแง่นามธรรม ก็รู้สึกว่าอักษรฯ จุฬาฯ น่าจะตอบโจทย์ที่สุด แต่ดันสอบติดเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นโลกทั้งใบเหมือนถล่มลงมา รู้สึกว่าความหวังทั้งชีวิตมันหายไปแล้ว

“สรุปไปเรียนธรรมศาสตร์ได้ 1 เดือนเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเราก็เลยลาออกแล้วกลับมาที่ศรีสะเกษ ก็พยายามมาสอบอีกรอบเพื่อเข้าอักษรฯ จุฬาฯ ให้ได้ ตอนนี้มันจะมีมิติของการไปสอบเข้าอักษรฯ ถ้าเราจะใช้ภาษาที่ 3 สอบเข้า ต้องมีพื้นฐานมาก่อน แต่โรงเรียนเต้ยไม่เคยมีการสอนภาษาที่ 3 เลย ถ้ามีก็จำกัดมากๆ เพราะบุคลากรไม่พอ ทำให้เราต้องศึกษาเอง

“เนื่องจากว่าที่โรงเรียนไม่มีสอน เราเลยต้องเรียนเองในกูเกิ้ล แล้วก็คิดว่าต้องหาหนังสือ เลยนั่งรถไปร้านซีเอ็ดในห้างที่ใหญ่ที่สุดในศรีสะเกษ แต่ไม่มีหนังสือ ก็เลยนั่งรถจากศรีสะเกษเข้ามากรุงเทพฯ มาที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เพื่อที่ซื้อหนังสือภาษาฝรั่งเศส และตอนนั้นเหลือเวลาในการเตรียมตัวสอบ 1 เดือน เต้ยก็มานั่งอ่าน อา เบ เซ เด ใหม่หมดเลย เราก็พยายามหาข้อมูลในเน็ต แล้วเราก็เจอเว็บนึงที่ให้ความรู้ฟรีแบบดีมากๆ ต้องขอบคุณอาจารย์ต้นจากเว็บ Bonjour Ajarn Ton เราเรียนรู้เองจากตรงนั้นจากไม่มีพื้นฐานอะไรเลยภายใน 1 เดือน จนสอบคะแนนเต็ม 100 เราได้ 70 คะแนน คือ 210/300 

“สุดท้ายเราสอบติดเข้ามาก็ต้องมาแข่งกับคนที่มีพื้นฐานดีกว่า ฉะนั้นพอมีการกดดันมากๆ ว่าเราต้องทำให้ได้จากสังคม มันหล่อหลอมให้เราเป็นคนที่มีความกดดันในตัวเองสูง เลยกลายเป็นคนที่ถ้าไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ก็จะไม่หยุดทำ จะไม่มีการผ่อนปรน”

ออกไปเจอโลกใบใหม่ โลกที่กว้างใหญ่

“คณะอักษรฯ เปิดโลกเราเลยนะ เต้ยเคยเจอรุ่นพี่คนนึงเป็นระดับตำนานของคณะเลย เรียนเก่งมาก นางเป็นคนเขียนบท ทำงานสายละคร นางไว้หนวดไว้เคราเข้มมากแล้วใส่ส้นสูงสีแดงเป็นส้นเข็ม เรารู้สึกว่าแบบทำไมเขาเก๋จังเลย แล้วตอนนั้นเรายังไม่แต่งหญิงแต่เราอยากจะแต่งหน้ามันก็จะมีความเป็นเควียร์ แล้วก็ตอนนั้นเรียนวิชา Public Spieaker เราก็มั่นมาก เป็นเด็กปี 2 คนเดียวที่ไปเรียนก็บพี่ปี 4 ทุกคนก็ยอมรับนะว่าเราเก่ง เราเจ๋งจริง แต่อาจารย์หมั่นไส้นะ ตอนพรีเซนต์งานแกคอมเมนต์เราว่า พูดดีนะ ภาพรวมดี แต่แต่งหน้าส้มไปหรือเปล่า ก็เงียบกันทั้งห้องเลยนะ จังหวะนั้นก็ช็อคสิคะ งงมาก แล้วตอนนั้นเราก็ไม่ได้ใส่ชุดนิสิตไปเรียนอาจารย์แกก็ไม่ชอบ แกบังคับเลยหลังจากนี้ต้องใส่ชุดนิสิตไปเรียน เราก็ใส่ชุดนิสิตชายแต่กางเกงเป็นเลกกิ้ง เราใส่ไปเราว่าเราสวยนะ แต่อาจารย์ด่ายับเลย (หัวเราะ)”

แต่ความจริงกับความฝันดันต่างกันโดยสิ้นเชิง

“เต้ยโดนเหยียดจากการตั้งคำถาม ตอนนั้นเราเรียนวิชา Philosophy of Women มันมีคำถามที่ทำให้เต้ยสงสัยว่าทำไมเราต้องรับน้องแยกชายหญิง มันมีปัญหาตรงข้อกำหนดของเขา คำว่าชายคือเพศกำเนิดชาย ซึ่งก็ใช่ แต่บางคนเขารู้ตัวเองมาตลาดว่าเขาเป็นผู้หญิง การทำแบบนี้เหมือนเป็นการตอกย้ำแล้วมันทำให้เขาหดหู่ 

“มีเพื่อนรุ่นเต้ยเองที่เป็นทรานส์ ก็จะชอบมีคนถามเหมือนกันว่าทำไมมันไม่เข้ารับน้อง เราก็ไม่เข้านะ แต่เพื่อนโดนหนักกว่าเพราะแต่งหญิงด้วย เต้ยเลยถามเข้าไปในวิชานั้นว่าทำไมต้องรับน้องแยก ทำไมเรายังสืบต่อวัฒนธรรามที่มันกดขี่คนอื่นอยู่ คำถามนั้นเปลี่ยนชีวิตเต้ยเลย เพราะมีพี่ที่เป็นสภานิสิตฯ อยู่ในวิชาด้วย เขามองว่าเราไปท้าทายอำนาจเขา หลังจากนั้นไม่ว่าเต้ยจะทำอะไร จะมีคนมาล้อเลียนอยู่ข้างหลังเสมอ แบบเหมือนจะหาเรื่องเราตลอดเวลา แม้แต่เพื่อนเราก็เริ่มเป็นแบบนั้นเหมือนกัน เราโดนด่าในโซเชียลมากขึ้น เครียดมากขึ้น 

“สุดท้ายแล้วเมื่อปีก่อนมันมีกระแสต่อต้านรับน้องออกมา เต้ยได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกไปแล้วมันเป็นไวรัล จากนั้นน้องที่เป็นสภานิสิตอักษรฯ รุ่นนั้นเขาทักมาขอโทษในสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตแล้วเขาก็ยกเลิกการรับน้อง กลายเป็นว่าสิ่งที่เราเจ็บปวดในอดีต และเรา Call Out ต่อมาจนถึงปัจจุบันมันก็สัมฤทธิ์ผล และพี่ๆ ที่เข้าทำรับน้องนี้เขาก็มาขอโทษนะ แต่ตัวใหญ่ๆ เขาก็ปล่อยผ่าน แต่เราก็ถือว่าเราไม่ได้ต้องการคำขอโทษจากเขาขนาดนั้น เพราะชีวิตเรามันดีขึ้นแล้ว”

เรื่องเพศอยู่ในหัวตลอดเวลา

“หลังจากผ่านเรื่องร้ายๆ ตรงนั้นมา เต้ยไม่ทำอะไรเกี่ยวกับคณะอีกเลย รู้สึกฝังใจ เราเลยไปทำงานข้างนอกหมดเลย ไปได้รางวัลที่ทำสารคดีหลายๆ อย่าง แต่ไม่ได้ทำเกี่ยวกับเพศขนาดนั้น เราควรเก็บเป็นความชอบไหม หลังจากเรียนจบตอนนั้นเป็นช่วงที่เริ่มแต่งหญิง เริ่มเทคฮอร์โมน ก็มีแฟนคนแรกในชีวิตเป็นฝรั่ง แฟนเราเป็นคนที่จู้จี้จุกจิกเรื่องร่างกายเรามาก พอสุดท้ายเราเลิกกับแฟนมา เต้ยก็เริ่มขึ้นเวทีปราศรัยไปก่อน พูดเรื่องสมรสเท่าเทียมขึ้นม็อบเลย ขึ้นแถบอีสานใต้เยอะมาก ใช้เวลาอยู่ 4 เดือนจนกระทั้งต้องทำงาน ก็ได้ไปทำงานที่เพจด้านเพศแห่งนึง ตอนนั้นทำไปได้ 5 เดือนแล้วเราก็ออกมาเพราะมันมีอะไรบ้างอย่างที่มันไม่ตรงใจเรา ตอนนั้นรู้สึกว่าเรื่องเพศในไทยคงจะจบแค่นั้นแล้วฉันคงจะไม่ทำอะไรเกี่ยวกับเพศแล้ว ก็เลยเปลี่ยนไปทำ Data Analysis ทำได้ 1 เดือนแต่ก็ไม่รอด 

“เรารู้สึกนึกถึงเรื่องเพศตลอดเวลา มันต้องทำอะไรด้านนี้ ก็เลยออกมาแล้วตั้งใจเลยว่า ชั่งมัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นฉันจะทำในสิ่งที่ฉันอยากทำ ถ้าจะล้มก็ขอล้มท่ามกลางสิ่งที่เรารัก ตอนนั้นเราคิดว่าเราก็หาเงินเก่งนะถ้าเราจะทำด้านนี้มันมีวิธีหาเงินเยอะแยะเต็มไปหมด 

“ตอนที่เริ่มทำ GenderMatters ไม่ได้คิดเลยว่ามันจะทำเงินได้ แต่เต้ยมีโรงเรียนสอนภาษาเป็นของตัวเอง เต้ยคิดว่าจะทำ Gender Matters ด้วยแพสชั่นแล้วเอาเงินจากการสอนพิเศษมาขับเคลื่อน แต่ปรากฎว่าทำไปทำมา มันเป็นเงินแล้วมันอยู่ได้ด้วยตัวมันเองจริงๆ มันทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะทำเงินได้แต่มันทำได้มาก แล้วพอเราศึกษามากขึ้นเหมือนโลกเรามันกว้างขึ้น ตาเราสว่างมากขึ้น กลายเป็นว่ามันมีอาชีพรองรับ มีอะไรให้คุณทำเต็มไปหมด ก็เลยทำให้เรามาเป็นเจ้าของธุรกิจ”

Making Gender Content MATTERS

“ก่อนหน้านี้เราคิดอยู่แล้วว่ามันน่าจะมีคนทำเรื่องพวกนี้ เพราะเราเห็นมาตั้งแต่แรกว่า NGO (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร) ด้านเพศในไทยไม่เก่งการทำสื่อ เราเห็นว่ามันมีช่องว่าเราก็เลยมาทำ แล้วที่ทำงานเก่าเราไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็น NGO ไม่ใช่องค์กร ฉะนั้นเขาจะไม่เคยออกแถลงการณ์ ไม่เคยลงนามในปฏิญญาเพราะเขาไม่มีอำนาจที่จะทำตรงนั้นได้ เราก็คิดมาเล็กๆ ว่าเราอยากจะทำองค์กรบางอย่างที่สามารถลงนามปฏิญญาได้ ออกแถลงการณ์ได้ ในขณะเดียวกันเราก็เป็นสื่อด้วยเพราะยังไม่มีคนทำสื่อดีๆ เรารู้สึกว่าเราสามารถทำตรงนั้นได้ 

“แต่จุดที่ได้เริ่มทำจริงๆ เป็นตอนที่ UNDP เขาทำโครงการ แล้วช่วงกลางปีที่แล้วเป็นช่วงที่อยากเก็บคอนเน็คชั่นให้มากขึ้น เราก็เลยไปค้นหาในเน็ตว่าเกี่ยวกับการประกวดแข่งขัน มีอยู่ประมาณ 10 รายการเราแข่งหมดเลย แล้ว Gender Matters เป็นโครงการที่ลงให้กับ UNDP และเป็นโครงการเดียวที่ไม่เข้ารอบ และตอนนั้นเต้ยสร้างทีม เต้ยเห็นว่าใครทำอะไรเก่ง เราทักไปหาเขาแล้วขายงานเขาเลยว่าเราอยากทำอะไร ถ้าคุณโอเคมาทำด้วยกันไหม เรามีไอเดีย มีความสามารถทางด้านการเขียน การหาเงิน เราอยากได้ทักษะของคุณ งั้นเรามาทำสิ่งนี้ร่วมกันไหม จนตอนนี้ทีมเรามี 12 คน ตอนนั้นที่โครงการเราไม่ผ่านเข้ารอบ ก็มีพี่ฝ่ายประสานงานจาก UNDP เขาทักเข้ามาส่วนตัวบอกว่าเขาสนใจ Gender Matters พี่อยากจะจ้างเต้ยทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเพศ งั้นเต้ยกับทีมไปคิดมาเลยนะว่าจะคิดค่าจ้างเท่าไหร่ งานแรกของ Gender Matters เลยถูกจ้างด้วยราคา 3 หมื่นบาทโดย UNDP แล้วก็ทำมาจนถึงตอนนี้”

Classic Content Matters

“เราแบ่งคอนเทนต์ในเพจออกเป็น 2 แบบคือ Commertcial Content คือเป็นข่าวอะไรก็ได้ที่จำเป็นต้องลงในช่วงนั้น เช่นข่าวที่ Real Time มากๆ กับอีกย่างคือ Classic Content คือคอนเทนต์ที่อีก 10 ปีกลับมาอ่านก็ยังสนุกอยู่ เพราะฉะนั้นนักเขียนทุกคนจะได้โจทย์ว่าต้องทำ Classic Content ออกมาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 เรื่อง มันจะ Unique มาก เพราะคุณอาจจะหาเพจอื่นๆ ที่อยู่ๆ จะเขียนเรื่อง Verginia Woolf ขึ้นมา เพราะถ้าพูดถึงเขาในไทย ถ้าไม่ใช่นักเรียนวรรณกรรมใครจะรู้จัก ถ้าไปหาจากเพจอื่นว่าการทาปากแดงมันเกี่ยวข้องกับการเป็นโสเภนีในยุค Victorian ยังไง อาจจะหาไม่ได้อีกแล้ว คุณต้องมาหาในเพจเราเท่านั้น ฉะนั้นเนื้อหาพวกนี้มาจากความอินของนักเขียนของเราล้วนๆ เขาชอบเรื่องไหนก็ทำเรื่องนั้น ขอแค่ส่งโครงกับหัวเรื่องมามาแล้วเราจะตบให้เข้าที่ แต่ในตอนนี้เต้ยมองว่าสิ่งที่ Genders Matter ขาดไปคือ Localize Content เรายังไม่ได้วิเคราะห์ชีวิตคนไทย หรือคนที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนเยอะมากพอที่เราต้องการจะให้เป็นไปได้ เราก็อยากจะขยายหมวดหมู่ของคอนเทนต์ออกมาอีกเยอะๆ เลย

“เราบูมมากใน TikTok ซึ่งอันดับแรกเลยเราต้องไม่ดูถูกคนดู คือมันก็ไม่ได้มีแต่คนที่ดูแต่ความบันเทิง คนเต้นหรือลิปซิงก์อย่างเดียว มีคนที่ดูคอนเทนต์ประเภทอื่นเหมือนกัน แค่คุณอาจจะไม่เคยทำคอนเทนต์แบบนั้นมารองรับตรงนี้ แต่ที่เต้ยคิดว่าที่มันไปได้ขนาดนั้นเพราะยังไม่สื่อด้านเพศไหนมาทำตรงนี้เลย เราเป็นเจ้าแรกจริงๆ 

“คนที่มาทำคอนเทนต์ของเราจริงๆ จบด้าน Gender Study มา แต่เนื้อหามันไม่ต่อเนื่อง ฉะนั้นเราเลยคุยกันว่าเราจะต้องออกคอนเทนต์ทุก 3 ทุ่ม เลยเป็นสาเหตุว่าทำไมยอดเราถึงไปได้เรื่อยๆ ส่วนการเลือกคอนเทนต์คือเราจะมาถามกันว่ามีใครอยากรู้เรื่องอะไรมั้ย แล้วทุกคนจะมีสิ่งที่อยากรู้ต่างกัน ถ้ามีคนเสนอเนื้อหาที่เราไม่ถนัดขึ้นมาเพราะมันมีน้อย เราก็หยิบมาทำ เพื่อจะเรียกยอดจากคนที่เขาอยากรู้เรื่องนั้นเหมือนกัน เรายอมรับนะว่าคนติดตามอาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่ยอดวิวมันสัมพันธ์กัน และบางทีก็เยอะกว่ายอดคนติดตามไปมาก ส่วนมากจะเป็นเนื้อหาที่ย่อยง่าย เข้าใจง่าย หรือเป็นกระแสในช่วงนั้น”

มุมมองเรื่องเพศของคนทำคอนเทนต์เรื่องเพศ

“ยุคนี้ของไทยเป็นยุคที่เราตั้งคำถามกันมากขึ้น เรากล้าถามมากขึ้น เพราะตัวสังคมเองมีพลวัตทางความคิดไปไกลประมาณหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามองในแง่การค้นคว้า คนไทยเรายังหาข้อมูลภาษาไทยได้น้อยอยู่ มันเลยทำให้การค้นคว้าเรื่องเพศในไทยยังไปไม่ถึงไหน คือคนไทยทุกคนไม่ได้เก่งภาษษาอังกฤษ แล้วองค์ความรู้เกี่ยวกับเพศที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ยากมาก คือเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องที่ตาจับต้องได้ มันเป็นมากกว่านั้น มันเป็นเรื่องที่นามธรรม แล้วลองคิดดูว่าต้องอ่านภาษาอังกฤษในรูปแบบนามธรรมทั้งหมด คุณต้องเก่งมากนั้น เต้ยเข้าใจเลยเพราะการศึกษาด้านภาษาของไทยเรามันไม่ได้ดีรวมถึงตรรกะด้วย

“ต่อเมื่อทุกคนเข้าใจว่าความเท่าเทียมทางเพศคืออะไร เพราะเราไม่มีทางเข้าใจในสิ่งที่ตาเรามองไม่เห็นถ้าเราไม่ทำความเข้าใจ ถ้าคุณอยากรู้ว่าความเท่าเทียมอยู่ตรงไหน คุณต้องไปนิยามมาก่อนว่าความเท่าเทียมคืออะไร ซึ่งเต้ยยินดีนะที่มันจะมีนิยามที่ไม่ตายตัว เพราะมันแปลว่าคุณต้องใช้สมองมากขึ้น นั้นหมายความว่าประชากรในประเทศก็จะฉลาดมากขึ้น นิยามของมันตอนนี้อาจจะไม่เหมือนกับในอีก 50 ปี ซึ่งถ้ามันไม่เหมือนกันแปลว่ามันมีพลวัตทางความคิดและแปลว่าคนในประเทศมีการประมวลผลอะไรบางอย่างเกิดขึ้นและเต้ยยินดีที่จะให้นิยามตรงนี้เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา”

ความหมายของเต้ยและ GendersMatter

“เต้ยคิดภาพตัวเองไม่ทำ GenderMatters ไม่ออกเลย ทุกครั้งที่คิดว่าเราจะไปทำธุรกิจอื่นที่ได้เงินมากกว่า แต่เราทิ้งมันไม่ลง เรามีความคิดว่าเราไม่ได้ทำแค่เพื่อเงิน มันมีคุณค่าที่จะส่งต่อไปยังสังคม เต้ยนอนไม่หลับนะ ถ้าไม่คิดว่าพรุ่งนี้จะทำคอนเทนต์อะไรลง Tiktok เต้ยเป็นแบบนี้มาประมาณ 4-5 เดือนละ GenderMatters เป็นเหมือนลูกที่เราต้องประคอง ถ้าลูกคนนี้หลุดจากมือเราไป เราไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตต่อยังไง มันเลยทำให้คิดว่าถ้าเราจะเรียนต่อเราจะไม่ได้ตอบสนองใจเรา แต่เราจะตอบสนองความต้องการของ GenderMatters ว่าเขาขาดทักษะอะไร เขาต้องการอะไร ที่จะทำให้เข้าไปได้ไกลในอนาคต”

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า