fbpx

‘เด็กไม่ได้ยั่ว แต่จิตใจผู้ใหญ่ต่างหากที่ผิดปกติ’ เปโดไม่มีวันถูกต้อง ไม่มีวันถูกกฎหมายและไม่มีวันถูกนับเป็นเพศวิถี

‘เห็นเด็กอนุบาลนี่ก็มีอารมณ์แล้วนะ’

‘เห็นเด็ก ม.ปลาย ถักเปีย แล้วอยากจะมุดใต้กระโปรงจริงๆ เลย’

‘เด็กม.ปลายนั่งข้างหน้า กลิ่นความสาวของน้องเข้าจมูกพี่เต็มๆ เหมือนมีพลังชีวิตเพิ่ม’

ข้อความทั้งหมดที่เห็นนี้มีภาพประกอบ ภาพที่ว่าเป็นภาพแอบถ่ายของผู้โพสต์ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่ถ่ายเด็กมัธยมต้นหน้าโรงเรียน ถ่ายเด็กตัวเล็กๆ ที่เดินผ่านไปผ่านมา ถ่ายเด็กประถมที่นั่งกินข้าวอยู่อีกโต๊ะหนึ่ง หรือแม้กระทั่งถ่ายลูกสาวของเพื่อน แล้วเขียนแคปชันว่าชื่นชอบ รัก และอยากมีอะไรกับเด็ก

บางคนอาจจะตีความการกระทำนี้ว่าเป็นการหยอกล้อเชิงผู้ใหญ่เอ็นดูเด็กก็ได้ (อันนี้มองในแง่ดีแบบหัวว่างเปล่าที่สุด) หรืออาจเป็นแค่การกระทำคึกคะนองเท่านั้น ซึ่งผู้โพสต์ก็ได้ออกมาขอโทษและยอมรับผิด โดยอ้างว่าตอนนั้นทำไปโดยไม่คิด ทำด้วยความคึกคะนองแบบไม่มีอะไรจะแก้ตัว ตอนนี้ได้เรียนรู้และทราบถึงผลกระทบในวงกว้าง เติบโตขึ้นและปรับปรุงตัวแล้ว ก่อนจะล็อกบัญชีทวิตเตอร์ของตัวเองไว้เพื่อไม่ให้คนอื่นย้อนไปขุดทวีตที่มีข้อความล่วงละเมิดได้อีก

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สังคมได้เห็นอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาจากโพสต์จำนวนมากที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายดังกล่าวเคยโพสต์ไว้ ทั้งแนวคิดอันตรายจากผู้โพสต์ที่อาจอนุมานได้ว่ามีพฤติกรรมใคร่เด็ก รวมถึงการถ่ายรูปคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่รู้ตัวหรือไม่ยินยอม และการโพสต์ข้อความประกอบที่มีเนื้อหาล่อแหลม คุกคามทางเพศ 

‘ผู้มีอาการใคร่เด็ก’ ไม่ใช่แค่รสนิยม แต่เป็นอาชญากรรม 

‘เด็กเขินอะ ขาขาวมาก น่าจริงๆ น่ารักจริงๆ’ 

‘จากใจเลยนะ เห็นเด็กผู้หญิงแล้วอ่อนไหว รักเด็ก’ 

‘ผู้หญิงมองพุงเรา คืออยากมีลูกกับเราใช่ปะ เดี๋ยวกูแทงแม่งตรงนี้’

เมื่อข้อความส่วนใหญ่ที่เป็นประเด็นมีภาพประกอบเป็นเด็กตัวเล็กๆ โรคใคร่เด็ก (Pedophilia) จึงถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง ตามข้อมูลของสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) ระบุว่าโรคใคร่เด็กเป็นโรคทางจิตประเภทหนึ่ง โดยการแสดงออกว่าชอบหรือรักเด็ก เป็นความรักที่เกินขอบเขต รักแบบคลั่งไคล้ ต้องการให้เด็กเป็นของตัวเอง จนนำไปสู่การนำเด็กมาเป็นเหยื่อบำบัดความใคร่ทางเพศ 

ข้อมูลจาก ผู้ป่วยโรคใคร่เด็กกับขอบเขตความรับผิดทางอาญา : ศึกษาเปรียบเทียบ

กฎหมายต่างประเทศ นิยามถึงโรคใคร่เด็กว่าเกิดจากโรคทางจิตเช่นกัน คือการนิยามถึงผู้ที่เกิดความต้องการทางเพศกับเด็กที่อายุเฉลี่ยประมาณ 13 ปีหรือน้อยกว่านั้น เพียงแค่ได้เห็น ได้ใกล้ชิดหรือได้สัมผัสตัวเด็ก แม้ว่าเด็กในช่วงอายุดังกล่าวจะมีสรีระและลักษณะทางร่างกายเจริญเติบโตไม่เต็มที่ แต่คนกลุ่มนี้มักจะมองเด็กว่าเป็นสิ่งที่มีแรงดึงดูดทางเพศ หรือมองเด็กในแง่ของการเป็นวัตถุทางเพศ 

ลักษณะของการกระทำมีตั้งแต่การไม่สัมผัสร่างกาย เช่น การเปลือยกายหรือให้เด็กดูอวัยวะเพศของตัวเอง แอบดูเด็กอาบน้ำ พูดจาลวนลาม พูดสองแง่สองง่าม เซ็กซ์โฟน หรือการให้เด็กดูภาพลามก วิดีโอลามก เพื่อเร่งเร้าหรือกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ จนไปถึงกรณีมีการล่วงเกินโดยการสัมผัสร่างกายเด็กและการล่วงละเมิดทางเพศ

ส่วนข้อมูลจากโรงพยาบาลพญาไท ระบุถึงโรคใคร่เด็กว่าอาจเป็นผลมาจากพันธุกรรมหรือเกี่ยวข้องกับภูมิหลังได้เช่นกัน อาทิ อ้างอิงจากประวัติการเลี้ยงดูในวัยเด็กของผู้ป่วยบางราย จะพบว่าผู้ป่วยอาจเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อนจนเกิดปมในใจ และแสดงออกในรูปแบบของกามวิปริตที่มีต่อเด็ก

ที่น่ากลัวกว่านั้น คนที่เป็นโรคใคร่เด็กจะไม่แสดงอาการชัดเจน ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไปในสังคม เหยื่อจึงไม่สามารถระวังตัวได้ทัน บางคนมีอาชีพการงานที่ดีหรืออยู่ในสถานภาพที่มีอำนาจทางสังคม ยิ่งเพิ่มโอกาสในการนำไปสู่การก่ออาชญากรรมทางเพศ บางรายร้ายแรงถึงขั้นค้าประเวณีเด็ก

เนื่องจากอาการใคร่เด็กเป็นโรคที่เกิดทางจิต หากผู้ป่วยยอมรับตนเองและเข้ารับการบำบัดรักษาจากจิตแพทย์อย่างถูกต้อง ก็มีโอกาสหายได้ การรักษามักเริ่มจากการปรับพฤติกรรมและอาจใช้ยาร่วมด้วย เช่น ยาลดความรู้สึกทางเพศ ยาต้านโรคซึมเศร้า รวมไปถึงแนะนำวิธีการรับมือ การควบคุมอารมณ์ ซึ่งการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้

‘เรื่องเปโด ทำให้นึกถึงตอนได้ยินผู้ชายคนหนึ่งพูดว่าชอบตัวละครโลลิมาก ชอบผู้หญิงที่ร่างเด็กแต่อายุเกิน 18 คืออยากให้ร่างกายยังเป็นเด็กผู้หญิงอยู่แบบนั้น ซึ่งการอยากให้อายุจริงเกิน 18 ตีความได้อย่างเดียวคือสามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศได้หรือชู้สาวได้ แต่เราตงิดใจว่าทำไมคนเราถึงจะอยากชู้สาวกับ ‘ร่างกายของเด็ก’ อึดอัดบอกไม่ถูก’ – ความคิดเห็นหนึ่งในทวิตเตอร์

อันตรายจากผู้มีอาการใคร่เด็กหรือที่สังคมมักเรียกสั้นๆ ว่า ‘เปโด’ จะส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง เป็นอันตรายจากความไม่รู้เดียงสา เพราะเปโดมักใช้ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็กๆ เป็นเครื่องมือให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เด็กจำนวนมากอาจถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือกำลังถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่รู้ตัว เพราะด้วยความเป็นเด็ก หลายคนอาจไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเองเป็นเรื่องผิด เป็นเรื่องที่ไม่มีใครควรทำกับร่างกายของตัวเอง เช่น คำพูดล่อหลอกขอกอดขอแตะเนื้อต้องตัว ขอจูบ ขอหอมแก้ม บีบคลำร่างกาย แม้กระทั่งคำขอดู ขอจับอวัยวะเพศ หรือขอให้เด็กสำเร็จความใคร่ให้ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กเสี่ยงโดนล่วงละเมิดทางเพศได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเองมันละเมิดหรือสร้างอันตรายกับตัวเองอย่างไร ขนาดคนที่โตแล้วยังถูกล่วงละเมิดทางเพศกันมากมาย แล้วเด็กที่ยังไม่เติบโต เด็กที่ยังไม่ได้เรียนรู้หรือมีประสบการณ์ชีวิตมากพอ เด็กเหล่านี้จะไม่สามารถป้องกันตัวเองจากการคุกคามของผู้ใหญ่ได้เลย 

ผู้ใหญ่จึงมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ที่จะต้องเฝ้าดูแลบุตรหลานของตัวเองอย่างใกล้ชิด ให้ความรู้ความเข้าใจกับเด็กเกี่ยวกับส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ห้ามผู้อื่นแตะต้อง สอนให้พวกเขารู้ทันถึงรูปประโยคที่ซ่อนความนัยไม่ดี รวมถึงสอนให้เขารู้ถึงอันตรายจากผู้ใหญ่ เพราะเราไม่สามารถตีความได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าผู้ใหญ่รอบตัวเด็กทุกคนจะเป็นคนดี หรือไม่ได้เข้ามาใกล้ชิดเพื่อฉกฉวยอะไรบางอย่างจากเด็กๆ

หากมองว่าคนรู้จักของพวกผู้ใหญ่น่าจะไม่ทำอะไรลูกหลานของตัวเอง ทวิตเตอร์ของบุคคลที่เป็นประเด็นอยู่นี้ก็เคยถ่ายรูปเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังนั่งล้างรองเท้าอยู่หน้าบ้าน แล้วโพสต์ข้อความว่า ‘ลูกของเพื่อนโตแล้ว ขยันแต่เด็กๆ อยากมีลูกผู้หญิง แต่ก็กลัวว่ามันจะเจ็บจิ๋มนี่แหละ #ชอบเด็กผู้หญิงงะ’

คำถามที่ต้องถามคือเราจะให้คนที่มีความคิดแบบนี้อยู่ใกล้กับลูกหลานหรือเด็กที่เรารักได้อย่างไม่ต้องเป็นห่วงอะไร และสามารถปล่อยให้คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้อยู่กับเด็กได้จริงหรือ?

นอกจากนี้ มุมมองในการตีความว่าใครเป็นเปโดในปัจจุบันก็ถูกขยายมากกว่าเมื่อก่อน จากเดิมที่คนส่วนใหญ่มักมองว่าเปโดคือการที่ผู้ใหญ่คิดเรื่องทางเพศกับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 0-13 ปี ทว่ามุมมองปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะหลายกรณีก็ไม่ได้เกิดขึ้นตามกรอบอายุที่ว่าไว้ แต่อาการของคนที่ใคร่เด็กยังมักจะเกิดขึ้นกับ ‘คนที่มีรูปร่างหน้าตา บุคลิกลักษณะเหมือนเด็ก’ ได้ด้วยเหมือนกัน

‘เบื่อที่บอกว่าไม่ใช่เปโด เพราะเปโดคือไม่เกิน 13 ปี คือถ้าผู้ชายชอบผู้หญิงไร้ขน ตัวเล็ก จิ๊มิ๊ชมพู ก็คือเรดแฟลกเปโดเลยนะ เพราะเปโดไม่ใช่แค่อายุอย่างเดียว แต่ไปจนถึงรูปลักษณ์หรือแม้กระทั่งนิสัย มันมีพวกที่ทาเก็ตคนออทิสติกที่อ้อแอ้เหมือนเด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่ก็มี’ – ความคิดเห็นหนึ่งในทวิตเตอร์

‘ไม่จำเป็นต้องเป็นอายุจำกัดไว้ที่ 13 ก็ได้ ในโซนเอเชียเด็กมหาลัยบางคนยังดูเหมือนเด็ก ม.ต้น อยู่เลย เรื่องเปโดมันไม่ได้แบบแค่จำกัดอายุไว้ทื่อๆ แบบนั้น เพราะบางทีพรีเดเตอร์บางตัวก็เลี่ยงบาลีด้วยการคบเด็กที่อายุมากกว่าเกณฑ์ขึ้นมาหน่อย เพราะเวลาคนนอกมองจะได้ไม่รู้สึกว่ามันดูเหี้ย’ – ความคิดเห็นหนึ่งในทวิตเตอร์

อย่างไรก็ตาม มีบางเสียงค้านว่าถ้าผู้คนที่มีรูปร่างเหมือนเด็กแต่บรรลุนิติภาวะแล้ว การดำเนินคดีทางกฎหมายก็จะเป็นคนละเรื่องกับเคสที่เด็กถูกล่วงละเมิด หากบุคคลนั้นโตแล้วและยินยอมที่จะคบกับอีกฝ่าย ก็อาจตีความว่าเป็นความเต็มใจหรือเป็นรสนิยมของคนสองคนที่ตรงกัน แต่ถึงอย่างนั้น ประเด็นการตกลงร่วมกัน รสนิยม หรือความยินยอมทั้งสองฝ่าย จะไม่สามารถใช้ได้กับเด็กที่ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ ซึ่งความคลุมเครือนี้ก็ถือเป็นช่องว่างในการตีความที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันอยู่เสมอ 

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมั่นใจเต็มที่ในเวลานี้ คือเปโดจะไม่มีวันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ไม่สามารถเรียกว่าเป็นได้แค่รสนิยม เพราะเปโดจะไม่มีวันอยู่ในระนาบเดียวกับเพศวิถี หรือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) อย่างแน่นอน 

‘ทำผิดแล้วขอโทษ’ การวนลูปของผู้กระทำผิดที่มีให้เห็นเรื่อยๆ 

‘สาวเอแบคน่าลากไปข่มขืนมาก 55’

‘เป็นผู้หญิงอย่ายิ้มเห็นฟันนะครับ เพราะมีคนจ้องฟันคุณอยู่’

‘เด็กอนุบาลคนนี้น่า…จริงเลย’

‘คืนนี้โดนพี่แน่!!’

ประโยคข้างต้นดูอย่างไรก็มีปัญหา และเราจะทำอย่างไรให้เปโดกับการคุกคามทางเพศเป็นสิ่งที่สังคมควรตระหนักอย่างจริงจัง?

จากกรณีที่คนมีชื่อเสียงถูกขุดทวิตเตอร์จนเผยให้เห็นพฤติกรรมแอบถ่ายและเขียนข้อความคุกคามทางเพศทั้งเด็ก เยาวชน และผู้หญิง จนสุดท้ายเจ้าตัวต้องออกมาโพสต์ขอโทษและอ้างความคึกคะนองอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ทว่ามีผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตถึงคำขอโทษที่ว่ามีการเขียนว่าทำโดยไม่คิด ทำไปโดยคึกคะนอง คล้ายกับปัดความรับผิดชอบกลายๆ ก่อนตั้งคำถามแค่คำขอโทษที่ไม่ชัดเจนแบบนี้ จะเพียงพอกับสิ่งที่เคยทำไว้แล้วหรือยัง

ผู้โพสต์คนดังกล่าวที่ออกมาขอโทษยังไม่ได้พูดถึงประเด็นหลักที่ตัวเองเคยทำไว้ ทั้งการแอบถ่าย เขียนข้อความล่วงละเมิดทางเพศเด็กผู้หญิงที่ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กประถม และเนื่องด้วยผู้โพสต์เป็นบุคคลมีชื่อเสียง ข้อความกับภาพที่ผิดกฎหมายจำนวนมากนี้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน มีคนเห็น มีการรีทวีต เกิดการโพสต์โต้ตอบเรื่องทางเพศใต้ภาพเด็กที่ถูกแอบถ่ายกันอย่างสนุกสนาน เหมือนกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ใครๆ ก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเพศกับเด็กผู้หญิงได้โดยไม่ต้องรู้สึกว่าสิ่งนี้มันผิด 

แม้บางคนจะไม่เข้าข่ายมีพฤติกรรมใคร่เด็ก แต่การแสดงออกเชิงหยอกล้อในโซเชียลหรือพูดคุยในกลุ่มเพื่อน เช่น ขาวมากจนอยากลากไปข่มขืน อยากมุดกระโปรง ประโยคเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปกติ และไม่ใช่เรื่องถูกต้องที่จะบอกกับทุกคนให้รับรู้ถึงความคิดแย่ๆ ของตัวเอง เพราะนี่คือการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น 

‘เปโด=วิปริต ไม่ฟังความเห็นต่าง คนปกติที่ไหนหมกมุ่นจ้องจะเ*ดแต่เด็กอนุบาล จริงๆ ที่ขุดคือรู้สึกว่ามันน่าจะมีจากต้นทวีตอีก แต่ไม่คิดว่าจะเจออะไรแบบนี้ มันไม่ใช่แค่ Sexual Harassment แล้ว มันเปโดตัวพ่อ แล้วแต่ละทวีตคนรีคนเฟบก็เยอะ’ – ความคิดเห็นหนึ่งในทวิตเตอร์ 

สิ่งที่สังคมบางส่วนยังคงต้องการจากผู้ก่อเหตุต้นเรื่องคือการขอโทษอย่างเป็นทางการ ที่ไม่ใช่การอ้างความคึกคะนอง ความไม่รู้ เพราะมีผู้เสียหายจริง แถมส่วนใหญ่ยังเป็นเด็ก เป็นเยาวชนที่ถูกแอบถ่ายและถูกนำมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดียที่มีผู้ติดตามหลายแสนคน 

อย่างไรก็ตาม ผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งมองว่าการขอโทษอย่างจริงจังก็อาจยังไม่พอเพียง และอยากให้เรื่องราวนี้ไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้เกิดเป็นกรณีตัวอย่างว่าการกระทำดังกล่าวนั้นมีความผิดตามกฎหมาย และเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรทำ หรือทำแล้วแค่ขอโทษสั้นๆ แล้วจบไป 

‘แล้วมีคนไม่รู้ควายหรือชายแท้ ถามว่าเขาขอโทษแล้วจะต้องทำยังไงให้คุณพอใจประมาณนี้ วีรกรรมเยอะขนาดนี้ควรแค่ขอโทษจริงเหรอ เราจะอยู่ร่วมกับคนแบบนี้ในสังคมเหรอ รูปแอบถ่ายชาวบ้านเป็นสิบเป็นร้อยทวีต เปโดอีก ขอโทษไม่น่าพอ ส่วนถามว่าจะต้องทำอย่างไร ก็ลองไปถามตำรวจน่าจะดีกว่า’ – ความคิดเห็นหนึ่งในทวิตเตอร์

‘ชายแท้เปโดโคตรไม่สมควรได้มีความสุข ท่ามกลางเด็กแล้วก็ผู้หญิงที่แกสร้างแผลใจไว้ให้เขา ต่ำเกินคน’ – ความคิดเห็นหนึ่งในทวิตเตอร์

อีกหนึ่งข้อกังวลคือหากขอโทษแล้วจบง่ายๆ การกระทำของคนมีชื่อเสียงเหล่านี้จะยิ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่ บางคนที่มีอาการใคร่เด็กเหมือนกันแล้วมาเห็นกรณีเหล่านี้ อาจเกิดความรู้สึกว่า ‘เขาทำได้ ฉันก็ทำได้’ หากโดนขุดโดนประจาน ก็แค่ออกมาขอโทษ แล้วทุกอย่างก็จะจบลง เป็นพฤติกรรมเลียนแบบที่ส่งต่อกันแบบวนลูป ทั้งที่ในความเป็นจริง การคุกคามทางเพศคืออาชญากรรม มีคนต้องตกเป็นเหยื่อและมีคนที่ได้รับความอับอายหรือเจ็บปวดจากการกระทำเหล่านี้จริงๆ แต่ผู้กระทำผิดจำนวนมากกลับแทบไม่ต้องชดเชยอะไรเหยื่อเลย 

เมื่อเห็นเรื่องราวทำนองนี้บ่อยครั้งเข้า จึงเกิดข้อสงสัยว่าผู้พูดหรือผู้เขียนข้อความที่ล่วงละเมิดทางเพศ อาจไม่ได้มองว่าผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงเหล่านี้มีค่าหรือมีความเป็นมนุษย์เท่ากับตัวเองหรือไม่ เพราะถ้ามองว่าผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงเป็นคนเท่ากัน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกับตัวเอง ก็คงไม่เกิดความรู้สึกอยากไปคุกคาม แอบถ่ายรูปมาพูดคุยกับกลุ่มคนที่มีความคิดแย่ๆ เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งลงมือล่วงละเมิดใครหรือเปล่า 

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า