fbpx

เฟมินิสต์? หยิ่งทะนง? หลงตัวเอง? ตัวตนของ ‘แพง อรุณรัศมี’ จาก ‘มาตาลดา’ ทำเสียงวิจารณ์แตกเป็นสองฝั่ง

      “ตัวละครแพงใช่เฟมินิสต์อย่างที่บางคนนำเสนอจริงเหรอ” 

      “เราว่าแพงไม่ใช่เฟมินิสต์ แค่รู้สึกว่า I’m not like other girl”

      “ทำ research เฟมฯ จากกรุ๊ปเบียวหรือเปล่า”

      หลังละครเรื่อง ‘มาตาลดา’ ของช่อง 3 ออกอากาศมาได้ระยะเวลาหนึ่ง ก็ได้สร้างการถกเถียงขึ้นในสังคมเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) รวมถึงการที่บางคนได้นิยามตัวละครในเรื่องว่านี่อาจจะเป็นตัวแทนของเฟมินิสต์ (feminist) ยุคใหม่ที่พบเจอได้บ่อยในสังคมไทย 

      มาตาลดา เป็นละครแนวโรแมนติกที่จะเล่าเรื่องคู่ไปกับการเผยให้เห็นมุมมองและชีวิตของ LGBTQ+ ความสัมพันธ์ในครอบครัวของแต่ละบ้าน กับคำถามที่เคยคิดกันเล่นๆ ว่าทำไมแต่ละคนถึงมีลักษณะนิสัยหรือบุคลิกที่แตกต่างกัน ซึ่งคำตอบส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากการหล่อหลอมเลี้ยงดูของครอบครัวที่จะทำให้เราเติบโตมาเป็นคนในรูปแบบต่างๆ และถือว่านำเสมอมุมมองที่หลากหลายได้อย่างน่าสนใจ ทำให้ภาพรวมของละครเรียกเสียงวิจารณ์เชิงบวกได้มากพอดู 

      ในบทความนี้ เราจะไม่พูดถึงภาพรวมของมาตาลดา เพราะจะเจาะลึกไปยังตัวละครในเรื่องอย่าง แพง อรุณรัศมี (รับบทโดย อแมนดา ชาลิสา ออบดัม) เด็กสาวจากครอบครัวที่มีฐานะทางสังคมสูง เป็นลูกสาวรัฐมนตรี เรียนจบจากเมืองนอก ภายนอกเธอดูอย่างไรก็เป็นคนมั่นใจ ไม่ยอมใคร และแพงสมชื่อ รวมถึงอาจมีความคิดความเข้าใจในประเด็นความเท่าเทียมหลากหลายทางเพศเป็นอย่างดี 

      ถึงจะเป็นสาวสวย มั่นใจ ประสบความสำเร็จในชีวิต เบื้องหลังเรื่องราวในครอบครัวของเธอเต็มไปด้วยความขัดแย้ง พ่อมีบ้านเล็กบ้านน้อย ส่วนแม่ก็จำยอมทุกอย่างตามที่พ่อต้องการ เหมือนละครกำลังพยายามบอกกับผู้ชมว่า ตัวละครนี้ที่อาจดูแข็งแกร่ง สามารถควบคุมทุกอย่าง แต่เธอก็เป็นคนที่มีความขัดแย้งในตัวเองสูงอยู่เหมือนกัน

      หลายเพจที่ได้ดูละครเรื่องนี้ได้นำเสนอว่าบทของแพงถ่ายทอดแนวคิดของเฟมินิสต์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ตัวละครนี้ดู ‘ยกย่องความเป็นหญิง’ ตระหนักรู้ในศักดิ์ศรีของตัวเอง และเรียกแพงว่าเป็น ‘เฟมทวิต’ จนทำให้เสียงวิจารณ์แตกเป็นสองฝั่ง โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดคำว่าเฟมทวิตขึ้นในสังคมไทย กับการตั้งคำถามว่า แพง อรุณรัศมี เป็นเฟมินิสต์จริงหรือไม่ 

แพง = เฟมินิสต์?

      เมื่อมีบทวิเคราะห์ออกมามากขึ้น ก็ยิ่งเกิดการวิจารณ์ โดยหยิบยกเหตุการณ์ต่างๆ มาไล่เรียงดูอีกครั้ง เช่น แพงมีนัดกินข้าวกับพระเอกของเรื่อง แต่เธอกลับปล่อยเวลาผ่านไป แล้วไปสายกว่าที่นัดหมายไว้เป็นชั่วโมง เพื่อต้องการแสดงออกกลายๆ ว่าเธอไม่ได้ตั้งตารอการนัดหมายขนาดนั้น ประกอบกับคิดว่าถ้าไปก่อน ผู้ชายอาจรู้สึกว่าเราตั้งใจมาเจอมากเกินไป รวมถึงบทพูดดูถูกผู้ชายที่เป็นนักเรียนทุน เพราะมองว่าแค่จะส่งตัวเองเรียนยังทำไม่ได้ ต้องขอทุนเอา แล้วแบบนี้จะดูแลเธอได้อย่างไร 

      “แพงตั้งใจไปกินข้าวสายเป็นชั่วโมง เพื่อแสดงออกว่าไม่ได้ให้ความสนใจผู้ชายขนาดนั้น งงมาก เฟมทวิตเป็นแบบนี้เหรอ?” คอมเมนต์หนึ่งในทวิตเตอร์แสดงความงุนงงกับเรื่องดังกล่าว

      อย่างไรก็ตาม บางส่วนมองว่าภาพลักษณ์เฟียสมั่นใจกับการปล่อยให้คนอื่นรอเก้อ ไม่สามารถตอบโจทย์ว่าตัวละครนี้เป็นเฟมินิสต์ได้เลย แต่ควรจะต้องมาถกเถียงกันเรื่องนิสัยของแพงมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องมารยาททางสังคม ที่ใครๆ ก็ควรจะต้องตระหนักกับเรื่องนี้ 

      ยังมีเหตุการณ์ที่เธอบอกว่าตัวเองไม่ได้ร้องไห้มานานแล้ว เพราะการร้องไห้ก็แสดงถึงความอ่อนแอ (ซึ่งเป็นปมวัยเด็กของตัวละครนี้) และก็บอกให้ผู้ชายรวมถึงแม่ของตัวเองอย่าร้องไห้ ซึ่งได้สร้างความงุนงงให้กับผู้ชมที่อีกครั้งว่าพฤติกรรมนี้เกี่ยวกับเฟมินิสต์ตรงไหน จนเกิดคอมเมนต์น่าสนใจในทวิตเตอร์ที่เราได้หยิบยกให้พิจารณาร่วมด้วย 

      “แค่บอกว่าไม่ร้องไห้เพราะอ่อนแอก็ไม่ใช่เฟมินิสต์แล้ว เพราะมันคือวิธีคิดแบบปิตาธิปไตยเข้มข้น เฟมฯ จริงๆ จะโอบรับความเปราะบาง” 

      “ไม่รู้ว่าจงใจหรือเปล่าที่พยายามทำให้ตัวละครนี้ดู woke แต่ขาด empathy พรีเซนต์ตัวเองด้วยคำว่าไม่เคยร้องไห้ เพราะแปลว่าอ่อนแอ (อันนี้อาจจะเป็นเรื่องของปมของตัวละคร) แถมดูๆ ไปก็รู้สึกว่าจงใจทำให้คนแบบนี้ดูน่ารำคาญ เป็น pick me girl มากกว่า feminist” 

      “พ่อมีเมียน้อยเลยสอนแม่ว่าอย่าอ่อนแอ เฟมฯ อะไรเบลมเหยื่อ abusive relationship แบบนี้” 

      หากได้รู้ภูมิหลังของตัวละคร จะรู้สึกว่าบางการกระทำของเธอก็สมเหตุสมผล ไม่ใช่ว่าเป็นการกระทำที่ดีหรือถูกต้อง แต่จะมองด้วยความรู้สึกเข้าใจได้ เพราะแพงโตมากับครอบครัวที่แตกสลาย เธอมักเห็นแม่ร้องไห้ซ้ำแล้วซ้ำอีกจากการกระทำของพ่อ แม้จะเจ็บช้ำน้ำใจแต่แม่ก็ไม่ได้ยืนหยัดลุกขึ้นสู้ แพงจึงอาจมีความรู้สึกเกลียดชังการกระทำทั้งพ่อและแม่ ด้วยภาพจำวัยเด็กที่เห็นจนชินชา ทำให้เธอมองว่าการร้องไห้คือความอ่อนแอ และมีลักษณะนิสัยระแวดระวังในความสัมพันธ์จนบางครั้งเธอก็กลายเป็นคนท็อกซิก ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่อยากได้คนรักที่เป็นแบบพ่อตัวเอง

      อย่างที่คอมเมนต์หนึ่งในทวิตเตอร์แสดงความคิดเห็น ค่านิยมการร้องไห้เท่ากับอ่อนแอเห็นได้บ่อยในสังคมที่มีแนวคิดแบบปิตาธิปไตย ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุดก็คือผู้ชาย เพราะการร้องไห้จะทำให้ไม่มีความมาดแมนสมชาย แสดงถึงความอ่อนแอ พ่ายแพ้ เจ้าอารมณ์ ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตัวเองได้ และเมื่อผู้ชายร้องไห้ โอกาสถูกล้อเลียนเสียดสี ถูกแซว ถูกเยาะเย้ย ก็จะมีมากกว่าผู้หญิง 

      ในขณะที่ผู้สมาทานแนวคิดเฟมินิสต์ส่วนใหญ่ มักพูดเสมอว่ามนุษย์นั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นเพศไหน ทุกคนก็ย่อมสามารถร้องไห้ได้อย่างไม่อายทั้งนั้น ซึ่งกรณีของแพงอาจไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นผู้สมาทานแนวคิดเฟมินิสต์ขนาดนั้น เธอเป็นผู้หญิงที่โตมากับสภาพแวดล้อมแย่ๆ แล้วสร้างกำแพงป้องกันตัวเอง

      “ส่วนตัวไม่ค่อยชอบที่เขาทำให้คนที่เป็นเฟมฯ ทำแบบนี้ มันค่อนข้างเหมือนตอนแปะป้ายเฟมทวิตว่าเป็นคนรุนแรง เหมือนที่ละครชอบสร้างภาพจำคนประเภทต่างๆ จะว่าตัวละครแค่นิสัยไม่ดีก็พูดลำบาก เพราะแต่ละอย่างที่ตัวละครทำ ถ้าเขาเห็นคนเท่ากันจะไม่ทำแบบนั้น” 

      “สงสัยว่าคนเขียนบทตั้งใจเขียนให้แพงเป็นคนแบบนี้จริงๆ หรืออยากเขียนให้เป็นเฟมินิสต์แต่ไม่เข้าใจหลักการความเป็นเฟมินิสต์จริงๆ เลยออกมาแบบเหมือนจะเป็นเฟมฯ มีความ I’m not like the other girl มีอีโก้ แล้วดูจะไม่มีมารยาท จากที่ว่าไปนัดเลทแค่เพราะอยากให้ดูว่าสนใจผู้ชาย”

      จริงๆ แล้วปัญหาอาจเป็นเรื่องของค่านิยมในสังคมไทยด้วยเหมือนกัน กับการแบบเหมารวมว่าเฟมินิสต์หรือเฟมทวิตจะต้องมีบุคลิกหลักๆ คือกล้าพูด มั่นใจในตัวเอง เกลียดชังผู้ชาย เลยทำให้ภาพของแพงที่บางส่วนเทียบว่าเป็นตัวแทนของเฟมินิสต์ถึงออกมาในลักษณะนี้ ซึ่งความเป็นเฟมินิสต์ของแพงที่เผยออกมาชัดที่สุดตอนนี้น่าจะมีอยู่เพียงฉากเดียวคือฉากเปิดตัว 

      “เฟมทวิตงงกับสิ่งนี้”

แพง =  Narcissistic หยิ่งทะนงและหลงตัวเอง?

      เมื่อเสียงบางส่วนมองว่าการกระทำของแพงอาจไม่ทำให้เราสามารถเรียกเธอว่าเป็นเฟมินิสต์ได้เต็มปาก และหลายครั้งก็ยังมองหาความเป็นเฟมินิสต์จากตัวละครนี้ไม่เจอ เลยเกิดการต่อประเด็นไปว่าหรือเธอจะมีแนวคิดแบบหยิ่งทะนงหลงตัวเอง 

      I’m not like the other girl (ฉันไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่น) จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์ตัวละครดังกล่าว ความหมายของประโยคนี้มักพบบ่อยกับผู้หญิงที่มีทัศนคติเหยียดผู้หญิงด้วยกัน หรือใช้โจมตีผู้หญิงบางกลุ่มที่คิดว่าไม่ตรงกับบรรทัดฐานที่ใครไม่รู้เป็นผู้กำหนด คู่กับการเชิดชูความเป็นหญิงของตัวเองไปพร้อมกัน เช่น ฉันเป็นผู้หญิงลุยๆ ไม่แต่งหน้าแต่งตัว มีเพื่อนผู้ชายเยอะ ไม่ใช้เสียงสอง เปิดขวดน้ำเองได้ และไม่ชอบสีชมพู ฯลฯ 

      บางครั้งคนที่มีแนวคิดแบบ I’m not like the other girl ก็ไม่ใช่ผู้หญิงที่นำเสนอความเป็นสายลุยอย่างเดียว แต่หมายถึงผู้หญิงที่แต่งตัวเก่ง พูดเก่ง มีความรู้ความสามารถ และมองว่าตัวเองเหนือกว่าทุกคน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับบุคลิกของแพง อรุณรัศมี อยู่ไม่น้อย 

      “สำหรับเราคิดว่ามีความเฟมฯ อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ออกไปทางเย่อหยิ่ง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ไม่มี empathy ไม่มีมารยาท ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศไม่แย่ แต่อย่างอื่นไม่ได้เลย ไม่เหมือนคนเป็นเฟมฯ เหมือนคนเป็น Narcissist (บุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง) ไม่ก็พวก Egoist (ทะนงตน) มากกว่า”

      “แพงไม่ใช่เฟมฯ เพราะเฟมฯ ต้องให้เกียรติทุกคน แต่แพงไม่ให้เกียรติทั้งพระเอกทั้งเพื่อนตัวเองที่ทำงานเลย จะแก้ว่าเป็นเฟมฯ เพราะทำวิจัยก็ไม่น่า แค่เป็นตัวละครที่หลงใหลตัวเองมากๆ ไม่แคร์ใคร”

      หากให้พิจารณา I’m not like the other girl ก็มีความขัดแย้งกับแนวคิดเฟมินิสต์เช่นกัน เพราะความคิดที่ว่าฉันไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ เกิดขึ้นจากความรู้สึกอึดอัดในใจกับมาตรฐานบางอย่างที่สังคมยัดเยียดให้กับผู้หญิง และไม่อยากเป็นไปตามบรรทัดฐานบางอย่างในสังคม จนหลายครั้งเผลอกดเพศหญิงให้ต่ำลงโดยไม่รู้ตัว 

      ข้อมูลตอนหนึ่งจากบทความ ‘สวย เก่ง มั่นใจ ไม่กลัว’ การต้องพิสูจน์ตัวเองของผู้หญิงยุคใหม่ ภายใต้แนวคิดแบบ ‘Girlboss’ กล่าวถึงการนิยามผู้หญิงยุคใหม่ที่ถูกเรียกว่า Girlboss ไว้น่าสนใจ เนื่องจากเป็นภาพที่ค่อนข้างทับซ้อนกับตัวตนของแพงมากกว่าคำว่าเฟมินิสต์

      ‘ภาพลักษณ์ของ Girlboss ยังมีความจำกัดอยู่ที่การเป็นสาวมั่นแบบชาวตะวันตก ผู้ที่มีท่าทางกระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว แม้จะเดินบนรองเท้าส้นเข็มสูงหลายนิ้ว และที่สำคัญคือต้องเป็นคนระดับชนชั้นกลางขึ้นไปที่ทำงานในออฟฟิศติดแอร์ที่เมืองใหญ่’

      ‘ภาพดังกล่าวส่งผลให้ Girlboss จะไม่มีทางเป็นผู้ใช้แรงงานหนัก แบกหาม หรือประกอบอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับว่ามีเกียรติ ซึ่งหมายความว่า ผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นไปตามคุณลักษณะนั้นก็จะถูกมองข้ามอยู่ดี คำว่าหญิงแกร่งตามแบบฉบับ Girlboss จึงมีความหมายที่แคบมาก และครอบคลุมเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จตามสูตรของสังคม’

      ‘แม้จะเคยเป็นกระแสมาก ในระยะหลังแนวคิดแบบ Girlboss นอกจากจะโดนโจมตีว่าไม่ได้เป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศแล้ว แนวคิดดังกล่าวยังสวนทางกับวิถีชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะคน Gen Z ที่กำลังเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน และไม่ได้มีวัฒนธรรมบูชาการทำงานหนัก จนถึงกับมีกระแส ‘That Girl’ ที่มีขึ้นเพื่อต่อต้าน Girlboss’

หรือจริงๆ แล้วเราไม่ควรรีบแปะป้ายใครหรือเปล่า

      การถกเถียงยังคงดำเนินต่อไป บ้างก็มองว่าเป็นเพราะบทละครที่ออกมาอาจไม่ได้เข้าใจถึงหลักการเฟมินิสต์จริงๆ จนทำให้ภาพของแพงออกมาเป็นคนงงๆ หลายครั้งมีพฤติกรรมย้อนแย้ง ค่อนข้างท็อกซิกต่อคนรอบข้าง ควบคู่กับการสร้างภาพจำว่านี่คือเฟมินิสต์ 

      ขณะเดียวกัน ชาวเน็ตยังมองว่า บทความบางชิ้นที่เขียนชัดเจนว่า แพง อรุณรัศมี คือ ‘เฟมทวิต’ ถือเป็นการ clickbait เกินความเป็นจริงไปหรือเปล่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรด่วนตัดสิน ไม่ควรเหมารวมว่าคนที่มีทัศนคติแบบแพงจะต้องเป็นเฟมทวิต เพราะการนำเสนอในมุมมองเพียงด้านเดียว อาจทำให้ประเด็นหรือความเข้าใจบางอย่างที่ละครตั้งใจสื่อสารอาจผิดเพี้ยนไปจากเดิม  

      เพราะตัวละครแพงคือการสะท้อนให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งของคนที่มีปมปัญหาทางบ้าน สื่อให้เห็นถึงพื้นฐานการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัวที่จะทำให้เด็กเติบโตมาไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะบ้านที่มีการกดทับจากอำนาจของเพศชาย ที่ทำให้เธอเติบโตมามีนิสัยบางอย่างที่ไม่น่ารักเท่านั้นเอง 

      หากแพงเป็นภาพแทนของเฟมินิสต์จริงๆ ก็หนีไม่พ้นการตั้งคำถามต่อเรื่องการพยายามสร้างมูฟเมนต์บางอย่างในเรื่อง โดยเฉพาะในประเด็นสตรีนิยม ที่อาจจะยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังเล่นอยู่อย่างลึกซึ้งพอ ภาพที่ออกมาเลยทำให้แพงมีพฤติกรรมย้อนแย้ง

      ท่ามกลางคอมเมนต์มากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ บางส่วนเรียกร้องให้สื่อหรือสำนักข่าวออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวละครนี้ กระตุ้นให้เกิดการครุ่นคิดต่อว่าการผลิตซ้ำความเข้าใจผิดแบบนี้ให้อะไรกับสังคมบ้าง ที่สุดท้ายคำตอบน่าจะวนกลับไปเรื่องเดิมว่าปัญหานี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ชมแต่ละคนมองเฟมินิสต์ไม่เหมือนกัน

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า