fbpx

เกาหลีอาจเดินไปไกล แต่ทำไมถึงยังล้มเรื่องเพศ ? ‘ผีเฟมินิสต์’ ความกลัวของสื่อมวลชน ที่ยอมบิดสารเพื่อทำให้หายไป

      สื่อเกาหลีบิดสารว่า “บาร์บี้ไม่ใช่เฟมินิสต์ แต่เป็นมนุษยนิยม”

      มิเชล โหย่ว ไม่ได้พูดว่า ‘ถึงผู้หญิงทุกคน’ แต่พูดว่า ‘ถึงทุกคน’

      อันซานถูกสังคมเกาหลีใต้เกลียดชัง เพราะมีคนบอกว่าเธอคือเฟมินิสต์

      สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นล้วนเกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ดินแดนที่เรื่องราวของเฟมินิสต์และความเท่าเทียมหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่พูดได้ยาก หลายครั้งหลายหนเราได้เห็นสื่อมวลชนและผู้คนในเกาหลีใต้ พยายามกระทำบางอย่างเพื่อทำให้คำว่า ‘เฟมินิสต์’ ไม่ถูกพูดถึงในพื้นที่สื่อมากนัก หรือบางครั้งก็ถึงขั้นลงทุนเปลี่ยนแปลงเนื้อหา ละเมิดจรรยาบรรณ จนเนื้อหาใจความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสตรีนิยมผิดเพี้ยนไปจากเดิม

มิเชล โหย่ว และ อันซาน 

      อันซาน (An San) นักกีฬายิงธนูที่สามารถคว้าสามเหรียญทองจากการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก ทว่าสื่อบางสำนักมักไม่ค่อยรายงานเรื่องราวของเธอ ไม่ชื่นชมความสำเร็จของเธอ และในบางครั้ง เวลาที่เธอไปออกรายการโทรทัศน์ร่วมกับนักกีฬาประเภทอื่นๆ อันซานก็มักถูกทำให้หายไปอยู่เสมอ 

      การต่อต้านเธอมีเหตุผลรองรับแค่ว่าเพราะเธอผมสั้น มีบุคลิกเหมือนผู้ชาย และอาจเป็นเฟมินิสต์ ทั้งที่สังคมเกาหลีใต้มักให้ความเคารพนับถือนักกีฬา แต่พอมีเรื่องเฟมินิสต์เข้ามาเกี่ยวข้อง ต่อให้เป็นคนที่สร้างผลงานมากมายขนาดไหน ก็จะถูกทำให้หายไปได้อยู่ดี 

      ทว่าในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แล้วต้องนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเฟมินิสต์ สื่อบางสำนักก็ถึงขั้นเปลี่ยนข้อมูลให้ผิดไปจากต้นฉบับ เพื่อทำให้เรื่องราวของเฟมินิสต์กลายเป็นสิ่งที่เลือนราง จับต้องไม่ได้ เหมือนกับว่าไม่มีอยู่จริงในสังคมเกาหลีใต้ 

      กรณีที่เห็นได้ชัดเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แต่ที่ถูกพูดถึงมากคือช่วงที่ผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 ออกมาว่า Everything Everywhere All at Once (2023) ได้รับรางวัลภาพยนตร์แห่งปี แถม มิเชล โหย่ว นักแสดงชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ยังคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงไปครอง ส่งผลให้ทั่วโลกต่างทำข่าวเธอ แปลสุนทรพจน์และการให้สัมภาษณ์ของเธอ ทว่าสื่อบางเจ้าในเกาหลีใต้ กลับบิดเบือนคำพูดของมิเชลจนทำให้สิ่งที่จะสื่อผิดเพี้ยนไปจากเดิม  

      ในการกล่าวสุนทรพจน์บนเวที มิเชลพูดว่า “ถึงผู้หญิงทุกคน จงอย่ายอมแพ้ อย่ายอมให้ใครมาบอกว่ายุคทองของคุณจบลงแล้ว” เนื่องจากประสบการณ์ส่วนตัวของเธอเคยเผชิญกับคำสบประมาทมากมาย เช่นเรื่องวัยของนักแสดงหญิงที่จะโรยราเร็วกว่านักแสดงชาย การเหยียดเพศและเชื้อชาติ เธอจึงขอส่งสารให้กับผู้หญิงอีกจำนวนมากที่เป็นเหมือนกับเธอ

      ทว่าสำนักข่าว SBS News ต่อเติมเสริมแต่งคำพูดของเธอ จากการพูดว่า ‘ถึงผู้หญิงทุกคน’ กลายเป็น ‘ถึงทุกคน’ ทั้งการตัดต่อคลิปใหม่ รวมถึงการเขียนซับไตเติลที่ไม่มีคำว่าผู้หญิงอยู่ในประโยคเลยแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนสำนักข่าวอื่นๆ เช่น KBS ไม่ได้ตัดคำว่าผู้หญิงทุกคนทิ้งไป และซับไตเติลก็ยังคงเขียนว่า 여상분들 (Ladies) ที่สร้างเสียงวิจารณ์และเปรียบเทียบการทำงานของสำนักข่าวสองแห่ง เพราะเจ้าหนึ่งรายงานตามปกติ ขณะที่อีกเจ้าหนึ่งนำอคติส่วนตัวมาปะปนกับการทำงาน

บาร์บี้ก็เป็นเฟมินิสต์

      อีกหนึ่งตัวอย่างเกิดกับภาพยนตร์เรื่อง Barbie (2023) เมื่อ Warner Bros. Korea ได้เปลี่ยนคำโปรยบนโปสเตอร์ที่เดิมเขียนว่า She’s everything. He’s Just ken. (เธอเป็นได้ทุกอย่าง ส่วนเคนก็คือเคน) มาเป็นข้อความว่า Barbie is Barbie. Ken is Ken. (บาร์บี้คือบาร์บี้ เคนก็คือเคน) 

      เหตุผลที่โปสเตอร์ของ Barbie มีถ้อยคำแบบนี้ เป็นเพราะส่วนหนึ่งของภาพยนตร์คือการพยายามนำเสนอว่าบาร์บี้ก็เป็นผู้หญิงที่พิเศษ เธอเป็นธรรมชาติในแบบที่ตัวเองเป็น และสามารถฝันได้ทุกอย่างที่อยากฝัน ภายใต้การตีความของผู้กำกับมากฝีมืออย่าง เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) ที่เคยสร้างผลงานไว้อย่าง Lady Bird (2018) และ Little Women (2020) ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเฟมินิสต์มากพอดู

      แต่พอมีการเปลี่ยนคำบนโปสเตอร์ ทำให้เนติเซนเกาหลีตั้งกระทู้วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้น เพราะดูเหมือนว่า Warner Bros. Korea อาจไม่อยากให้ผู้หญิงในเกาหลีใต้รู้สึกว่าพวกเธอนั้นสามารถโดดเด่น แตกต่าง และเป็นได้ทุกอย่างที่อยากเป็นหรือเปล่า เลยเปลี่ยนคำโปรยจนความหมายเดิมหายไปอย่างสิ้นเชิงว่าทุกคนก็เป็นคนทุกคนนั่นแหละ 

      ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ถูกพูดถึงแค่ในเกาหลีใต้ แต่ถูกพูดถึงไปทั่วโลก จนสุดท้าย Warner Bros. Korea ก็ต้องลบโปสเตอร์เจ้าปัญหานั้นทิ้งไปแบบจำยอม 

      อย่างไรก็ตาม มีอีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นกับ Barbie เหมือนกัน เมื่อ มาร์โก ร็อบบี (Margot Robbie) นักแสดงนำของเรื่อง ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับตัวละครบาร์บี้ว่าเธอมีความเป็น ‘เฟมินิสต์ในระดับ DNA และก็มีความเป็นมนุษยนิยมด้วยเหมือนกัน’ แต่สื่อใหญ่ของเกาหลีใต้กลับบิดคำสัมภาษณ์ดังกล่าวเสียใหม่ แล้วตัดต่อคลิปให้เหมือนกับมาร์โก้พูดว่า ‘บาร์บี้มีความเป็นมนุษยนิยมมากกว่าเฟมินิสต์’ 

‘ผีเฟมินิสต์’ ทำให้สื่อยอมทิ้งจรรยาบรรณ?

      อาการเกลียดกลัวเฟมินิสต์ในเกาหลีใต้มักมีให้เห็นเป็นประจำ และเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการล่าแม่มดในระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานที่ทำงาน ไปจนถึงการนำเสนอของสื่อมวลชน และแนวคิดของนักการเมืองระดับประเทศ 

      พวกเขาตีตรา พยายามทำให้แนวคิดเฟมินิสต์เป็นสิ่งที่เลวร้าย เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในสังคม แม้กระทั่งยอมบิดเบือนเพื่อให้เนื้อหาอะไรก็ตามที่เป็นเฟมินิสต์หายไปจากสังคม ดังเช่นกรณีของบาร์บี้, อันซาน, มิเชล โหย่ว และคนอื่นๆ  

      สิ่งที่น่าสนใจคือการตั้งคำถามว่าทำไมเกาหลีใต้ถึงได้เกลียดกลัวเฟมินิสต์ขนาดนี้ ซึ่งหากต้องลงลึกในรายละเอียด ความซับซ้อนนั้นถูกซ่อนอยู่ตามหน้าประวัติศาสตร์ ที่หลายคนมักมุ่งประเด็นไปยังการยึดถือแนวคิดและความเชื่อตามแบบขงจื๊อ ที่หากมองออกจากเกาหลีใต้ เราก็จะเห็นว่าญี่ปุ่นและจีนก็มีวัฒนธรรมร่วมแบบปิตาธิปไตยที่เข้มข้นไม่แพ้กัน 

      เมื่อแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่แทรกซึมอยู่กับสังคมมาอย่างยาวนาน จึงไม่แปลกที่ผู้คนในแวดวงต่างๆ ทั้งการเมือง การศึกษา กฎหมาย กีฬา บันเทิง ไปจนถึงสื่อสารมวลชน จะสมาทานแนวคิดดังกล่าวเข้ากับการทำงานและความถนัดของตัวเอง จนเราได้เห็นว่าเวลาเกิดประเด็นเกี่ยวกับเพศ หลายครั้งสื่อในเกาหลีใต้ก็พยายามมองผ่านหรือไม่นำเสนอเท่าที่ควร 

      สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าเกาหลีใต้เกลียดกลัวเฟมินิสต์มากกว่าใคร และพยายามทำให้เห็นว่าเฟมินิสต์ไม่ควรมีพื้นที่อยู่ในสังคม ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาของสังคมชายเป็นใหญ่ก็จะยังคงเป็นเรื่องคาราคาซังในเกาหลีใต้ต่อไปอีกนาน

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า