fbpx

Gaslighting: การปั่นหัวให้วุ่นวายใจ ไม่ว่าใครก็เป็นเหยื่อได้

กลายเป็นดราม่าร้อนในโลกโซเชียลและถูกชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง หลังผู้เสียหายรายหนึ่งได้ออกมาโพสต์เล่าเรื่องราวพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของ ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ ชื่อดัง ทั้งคุกคามผู้หญิงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทักข้อความไปชวนคุย โทรหาตอนกลางคืน รวมไปถึงพฤติกรรมชอบพูดจารุนแรง ด่าทอ ทำให้รู้สึกผิด จนผู้เสียหายหลายคนรู้สึกกลัว สูญเสียความมั่นใจ และคิดฆ่าตัวตาย พฤติกรรมดังกล่าวของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์คนนี้เรียกว่า ‘Gaslighting’ หรือ ‘การปั่นหัว’ ซึ่งถือเป็นการทารุณกรรมทางจิตวิทยา (Psychological Abuse) รูปแบบหนึ่ง และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

‘Gaslighting’ คืออะไร

Gaslighting (การปั่นหัว) คือพฤติกรรมการพูด จัดการ บงการ หรือควบคุม จนทำให้อีกฝ่ายเกิดความสงสัยและเคลือบแคลงใจในพฤติกรรมหรือคำพูดของตัวเอง ถือเป็นการควบคุมทางจิตใจ (Psychological Manipulation) ที่ส่งผลทำให้ผู้โดนกระทำรู้สึกสับสนในความเป็นตัวเอง และอาจนำไปสู่ความเจ็บปวดทางจิตใจอย่างรุนแรง 

คำว่า Gaslighting มาจากภาพยนตร์เรื่อง Gaslight ที่เข้าฉายในปี 1944 เล่าเรื่องราวของสามีที่ต้องการฮุบสมบัติของภรรยา จึงหลอกลวงให้ภรรยาเชื่อว่าเธอมีอาการทางจิต ด้วยการหรี่ไฟในตะเกียง (Gaslight) และเมื่อภรรยาเอ่ยถาม เขาก็ตอบว่าเธอคิดไปเอง พร้อมพยายามพูดกรอกหูภรรยาตลอดเวลาว่าเธอผิดปกติและมีอาการทางจิต จนภรรยาเชื่อว่าตัวเอง ‘เสียสติ’ และสูญเสียความเป็นตัวเองในที่สุด

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Gaslighting กลายเป็นคำที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลจากขบวนการ #MeToo ซึ่งสะท้อนผ่านท่าทีของสังคมที่ตั้งคำถามกับผู้เสียหายที่เปิดหน้าสู้กับผู้กระทำ บางส่วนมาจากนักวิเคราะห์การเมืองที่ใช้คำนี้เพื่ออธิบายพฤติกรรมการปฏิเสธความจริงหรือบิดเบือนความจริงในช่วงรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่โลกโซเชียลมีเดีย ทั้ง X และ TikTok ก็หยิบคำว่า Gaslighting มาใช้กันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งปี 2022 Merriam-Webster ได้ยกให้คำว่า Gaslighting เป็น ‘คำแห่งปี’ ซึ่งเป็นผลจากการค้นหาที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 1,740%

ใครๆ ก็โดนปั่นหัวได้

หลายคนอาจเข้าใจว่า Gaslighting หรือการปั่นหัวนั้น มักจะเกิดขึ้นกับคนสองคนที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบคนรักเท่านั้น แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น เพราะการปั่นหัวให้อีกฝ่ายรู้สึกสับสน ไม่มั่นใจ หรือหวาดกลัว สามารถเกิดขึ้นกับ ‘ใครก็ได้’ และสะท้อนให้เห็นบริบทของ ‘ความไม่เท่าเทียม’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของ ‘อำนาจ’ และความรู้สึกที่เหนือกว่า โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์เพจ แอล. สวีต (Paige L. Sweet) อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ระบุว่า Gaslighting เกิดขึ้นได้กับคนในครอบครัวและที่ทำงานเช่นกัน

กว่า 30% ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยของสวีต ระบุว่าพ่อแม่ปั่นหัวพวกเขา โดย ‘ออเดรย์’ เล่าถึงแม่ที่ไม่เชื่ออาการป่วยทางใจของเธอ โดยแม่มักจะยืนยันว่าโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลที่ออเดรย์เป็น “ไม่มีจริง” ออเดรย์แค่ขี้เกียจ เป็นดราม่าควีน และคิดไปเองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ออเดรย์เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พยายามฆ่าตัวตาย และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐเนื่องจากเธอไม่สามารถทำงานได้ ทว่า ออเดรย์ก็ยังคงเฝ้าถามตัวเองว่าอาการของเธอเป็นความจริงหรือไม่ และจะมีใครเชื่อว่าเธอป่วยจริงหรือเปล่า

พฤติกรรม Gaslighting ยังพบได้ในที่ทำงาน ซึ่งเป็นผลจากการใช้อำนาจที่เหนือกว่าของคนหนึ่งต่ออีกคนหนึ่ง โดยอาจมาในรูปแบบของการตอกย้ำว่าเขาเป็นคนไม่มีความสามารถ ไม่แสดงการยอมรับ ใส่ร้าย หรือจับผิด จนนำไปสู่การตั้งคำถามกับตัวเอง เกิดความเครียดสะสม เหนื่อยล้าทางจิตใจ และเกิดภาวะหมดไฟ สวีตระบุว่าพนักงานที่รายงานเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงานมักจะถูกปั่นหัวหรือควบคุม โดยเธอยกตัวอย่างกรณีของ ‘มายา’ ที่ขอให้หัวหน้าของเธอหยุดเล่นมุกใต้สะดือ แต่เขากลับกล่าวหาว่าเธอ ‘คิดมากไปเอง’ และบีบให้เธอลาออกจากงาน แน่นอนว่ามายาฟ้องร้องต่อศาล แต่เจ้านายของเธอก็แสดงหลักฐานว่ามายา ‘หัวเราะ’ กับมุกตลกของเขา พร้อมให้การต่อศาลว่าเธอแต่งเรื่องขึ้นมาเอง 

ไม่เพียงเท่านี้ ในบริบทของการเมืองก็สามารถเกิด Gaslighting ได้เช่นกัน โดยฟาราห์ ลาทิฟ (Farah Latif) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ระบุว่านักการเมืองหรือหน่วยงานทางการเมืองมักจะใช้ Gaslighting เป็นกลยุทธ์ในการหลอกลวงหรือบิดเบือนข้อมูลเพื่อสนับสนุนตัวเองและโจมตีคู่แข่ง

Gaslighting กับประเด็น Gender

Gaslighting สามารถเกิดขึ้นกับคนเพศไหนก็ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมที่มีเรื่องของ ‘อำนาจ’ เข้ามาเกี่ยวข้อง มักจะมีความเชื่อมโยงกับ ‘เรื่องเพศ’ อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ จึงทำให้บริบทของการปั่นหัวหรือ Gaslighting ที่กำลังพูดถึงนี้ มักถูกนำใช้อธิบายปัญหาความสัมพันธ์แบบคนรัก ซึ่งนักวิจัยได้ค้นพบว่าพฤติกรรม Gaslighting มักจะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ต่างเพศ (Heterosexual Relationship) ซึ่งฝ่ายชายจะเป็นคนปั่นหัวฝ่ายหญิง

ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) มีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรม Gaslighting อย่างมาก จากข้อมูลของสายด่วนความรุนแรงในครอบครัวของสหรัฐฯ ระบุว่าผู้หญิงกว่า 74% ที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเคยผ่านการถูกปั่นหัวจากสามีหรือสามีเก่า ซึ่งผู้ชายที่เป็นสามีเหล่านี้มักจะใช้ ‘การเหมารวมเรื่องเพศ’ เมื่อทำการปั่นหัวคนรักของพวกเขา

“ความคิดที่ว่าผู้หญิงเป็นพวกไร้เหตุผล ความเป็นชายเท่ากับเหตุผล ขณะที่ความเป็นหญิงคือการใช้อารมณ์และไร้เหตุผล นั่นแหละคือต้นตอของการทำให้เกิด Gaslighting ในความสัมพันธ์แบบคนรัก” สวีตกล่าว พร้อมยกตัวอย่างกรณีของ ‘เซลาห์’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) ที่โดนสามีเก่าปั่นหัวเป็นเวลานาน เขามักบอกว่าเธอเสียสติและต้องพบจิตแพทย์ กระทั่งเธอขอเลิกกับเขาและย้ายออกมาอยู่อะพาร์ตเมนต์ สามีเก่าก็แอบเข้ามาในอะพาร์ตเม้นต์ของเธอ และทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถึงขั้นถามเธอว่าพวกเขาจะกินอะไรเป็นอาหารเย็น ซึ่งการกระทำดังกล่าวคือการบิดข้อเท็จจริงว่าเธอได้ทิ้งเขาไปแล้ว ด้วยการยืนยันว่าเขาและเธอยังคบหาเป็นสามีภรรยากันอยู่

Gaslighting กับเพศสภาพยังสามารถเกิดขึ้นในระดับสังคมได้เช่นกัน และผู้หญิงมักก็จะเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมนี้ โดย ดร.ซินเธีย เอ.สตาร์ก (Cynthia A. Stark) ผู้เขียนบทความเรื่อง ‘Gaslighting, Misogyny and Psychological Oppression’ ยกตัวอย่างกรณีนักฟุตบอลระดับมัธยม 2 คน ที่ข่มขืนเด็กสาววัย 16 ปี แต่สำนักข่าวกลับรายงานว่าพวกเขาคือเด็กหนุ่มอนาคตไกลที่ต้องสูญเสียทุกอย่าง ซึ่ง ดร.ซินเธีย ชี้ว่า การรายงานข่าวในลักษณะนี้คือ Gaslighting ที่ทำให้ผู้หญิงและคนในสังคมไม่สามารถยอมรับได้ว่าการกระทำของผู้ชายเป็นสิ่งที่ผิด และสิ่งที่พวกเธอทำอาจจะเป็นการตีโพยตีพายไปเอง

รับมือกับ Gaslighting อย่างไร?

เป็นที่ชัดเจนว่าพฤติกรรม Gaslighting ส่งผลกระทบต่อ ‘ความมั่นใจ’ ของผู้ถูกกระทำ ดังนั้น หัวใจสำคัญที่สุดในการป้องกันตัวเองจากพฤติกรรมเป็นพิษเหล่านี้ คือเชื่อมั่นในความคิดและความรู้สึกของตัวเอง ตั้งใจฟังเสียงของตัวเองให้ดี ให้ชัดเจนมากที่สุด และทำตามเสียงหัวใจของตัวเอง แต่ต้องระวังการปั่นหัวที่อาจจะเพิ่มระดับมากขึ้น เพราะยิ่งเสียงหัวใจของตัวเองชัดเจนเมื่อไร ผู้กระทำก็จะยิ่งรู้สึกว่าตัวเขาสูญเสียอำนาจในการควบคุมเมื่อนั้น

สิ่งสำคัญคืออย่าเก็บปัญหาเอาไว้คนเดียว เล่าเรื่องราวของตัวเองให้คนที่ไว้ใจฟัง การมีใครสักคนอยู่ข้างๆ ช่วยรับฟังจะทำให้เราได้เห็นมุมมอง ‘ความจริง’ ที่แตกต่างออกไปและมีจุดยืนกับความจริงที่มั่นคงขึ้น และหากคุณรู้สึกว่ากำลังโดนปั่นหัวให้ประสาทเสีย  ก็จงกล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง 

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าใครก็อาจตกเป็นเหยื่อ Gaslighting ได้ทั้งนั้น และถ้าคุณกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่โดนปั่นหัวจนรู้สึกไม่มั่นใจหรือสงสัยในตัวเอง ก็ขอให้จำไว้ว่าคุณเป็นคนเก่งและมีคุณค่ามาก ดังนั้น อย่าให้ใครก็ตามมาบอกว่าคุณไม่มีคุณค่าและไม่คู่ควรที่จะได้รับสิ่งที่ดีเลยนะ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า