fbpx

จากความเจ็บปวดสู่พลังสีรุ้งของ “ต้น – ศิริศักดิ์ ไชยเทศ”

สำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ชื่อของ “ต้น – ศิริศักดิ์ ไชยเทศ” น่าจะเป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในสื่อมากเป็นอันดับต้นๆ ด้วยการทำงานเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นจริงจังทั้งในเรื่องสิทธิของ LGBTQ+ และพนักงานบริการ และคอสตูมที่สร้างสรรค์และโดดเด่นไม่เหมือนใครในทุกพื้นที่ที่ทำกิจกรรม นอกจากนี้ ศิริศักดิ์ยังเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่มแรกๆ ที่รณรงค์ขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศในเชียงใหม่ ในวันที่ LGBTQ+ ยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคมวงกว้างอย่างทุกวันนี้ และเขายังเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงต่อ LGBTQ+ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ภายหลังมีการเรียกชื่อว่า “เสาร์ซาวเอ็ด”

จุดเริ่มต้นของ “เสาร์ซาวเอ็ด”

จากความสำเร็จในงาน “เชียงใหม่ไพรด์ 2551” คณะทำงาน ซึ่งศิริศักดิ์เป็นหนึ่งในนั้น ได้ร่วมมือกันจัดงานนี้อีกครั้งใน พ.ศ. 2552 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “เชียงใหม่เกย์ไพรด์” เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ แม้จะรู้ดีว่าเชียงใหม่ในยุคนั้นยังไม่ได้มีพื้นที่ให้ LGBTQ+ มากนัก

เพียงแค่คำว่า “เกย์” คำเดียว ก็สร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมในขณะนั้นไม่น้อย

“พอเติมคำว่าเกย์เข้าไปปุ๊บทุกคนแบบ… แตกตื่น เพราะเขาคิดว่า เกย์ไพรด์เนี่ย เขาจะคิดถึงเหมือนบราซิลที่เกย์กะเทยจะมาเปิดก้น เปิดนม เป็นคาร์นิวัลแบบนั้นหรือเปล่า คนเขาคิดแบบนั้น มันก็เลยมีกระแสต่อต้านออกมาเรื่อยๆ”

ศิริศักดิ์เล่าว่า สังคมเชียงใหม่ในขณะนั้นมองว่า การที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมารวมตัวกันและเดินขบวนบนถนน เท่ากับเป็นการทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม “ขึดบ้านขึดเมือง” หรือเป็นอัปมงคลต่อบ้านเมืองนั่นเอง ทว่าสำหรับเขา การที่ LGBTQ+ จะเดินบนถนนนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต่างจาการเดินขบวนในวาระอื่นๆ

“แต่ในระหว่างที่เราเตรียมงานเกือบ 6 เดือนนี้ มันจะมีช่องวิทยุช่องหนึ่ง เขาก็จะพูดทุกวัน เขาจะเอาชาวบ้านมาสัมภาษณ์ พี่จำได้แม่นเลยมีป้าคนหนึ่ง ก็พูดว่า ป้านะเตรียมไม้หน้าสามไว้แล้ว เตรียมถุงเลือด ถุงปลาร้าไว้ ถ้ากะเทยมันเดินผ่าน ป้าจะขว้างใส่มันเลย”

จนกระทั่งช่วงเย็นก่อนเริ่มงานในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ผู้คนจำนวนมากได้เดินทางมาปิดล้อมที่วัดอุปคุต พุทธสถานเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดตั้งขบวนไพรด์ และชูป้ายโจมตี LGBTQ+ ว่าเป็นพวกทำลายศีลธรรม และขับไล่ LGBTQ+ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้จัดงาน ทั้งกลุ่มที่อยู่ภายในพุทธสถานและกลุ่มที่ถูกสกัดไม่ให้เข้าร่วมงาน ต่างพากันนั่งสมาธิ เพื่อเป็นการยืนยันจุดยืนอย่างสันติ โดยไม่ปรารถนาจะตอบโต้ด้วยความรุนแรง

“พวกข้างนอกเขาก็ขว้างเม็ดมะขามใส่บ้าง แล้วก็มีบางคนเขาขว้างพวกถุงเลือดเข้ามาในนี้ ด้วยความที่เชียงใหม่ไพรด์ มันไม่ใช่ขบวนเกย์กะเทย มันมีกลุ่มเยาวชน มีกลุ่มชาติพันธุ์ ตอนนี้ทุกคนต้องวิ่ง ปีนออกไปทางนั้น ชาวบ้านแถวนั้นก็ให้เข้าไปหลบในบ้าน”

“ระยะเวลามันยาวนานมาก ตั้งแต่ 4 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม ระหว่างนั้น แก๊งเขาโหดร้ายมาก มีไม้หน้าสาม มีผู้ชายถือไม้หน้าสามขี่มอเตอร์ไซค์ กะเทยขี่มอเตอร์ไซค์มานะ จะเข้ามาขบวน อีแก๊งนี้  ‘เฮ้ย กะเทยๆ’ ขี่ไล่จะเอาไม้หน้าสามฟาด กะเทยต้องขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าไฟแดงหนีกัน อันนี้คือเหตุการณ์ข้างนอกที่น้องกะเทยเขาเล่าให้ฟังว่าเขาโดนแบบนั้น”

หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างเหนื่อยล้าจากการปะทะติดต่อกันหลายชั่วโมง ทางผู้จัดงานจึงต้องไปเจรจาเพื่อหาข้อยุติ โดยฝ่ายที่โจมตียื่นข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ยุติการจัดงานเกย์ไพรด์ปีนั้นทันที 2. ห้ามจัดงานชียงใหม่เกย์ไพรด์ 1,500 ปี และ 3. ผู้จัดงานต้องกราบขอโทษกลุ่มผู้ที่มาชุมนุม

“พี่ไม่ยอมละ กูไม่กราบ ยังไงกูก็ไม่กราบ ก็คือยอม ไม่มีใครกราบนะ ก็คือว่าขอจบงาน”

“เราไม่ได้มองว่าเราแพ้นะ เรามองว่ามันเพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าร่วม”

หลังจากวันนั้น ศิริศักดิ์และคณะจัดงานจัดตั้งกลุ่มที่มีชื่อว่า “เสาร์ซาวเอ็ด” จากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ และสถาปนาวันดังกล่าวให้เป็นวันยุติความรุนแรงต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยในช่วงแรก มีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ทุกเดือน ในจังหวัดต่างๆ จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นปีละครั้ง

10 ปีต่อมา หลังจากเหตุการณ์รุนแรง กลุ่มเสาร์ซาวเอ็ดตัดสินใจจัดเชียงใหม่เกย์ไพรด์อีกครั้ง ในวันที่บรรยากาศของสังคมเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ LGBTQ+ ได้รับการยอมรับและมีเสรีภาพมากขึ้น ประกอบกับตัวของศิริศักดิ์เอง ที่เปลี่ยนความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ในปี 2552 มาเป็นพลังในการสร้างความตระหนักให้กับสังคม

“พี่รู้สึกว่า ที่ผ่านมาพี่ต่อสู้คนเดียว พี่โดนบูลลี่เป็นตัวบุคคล แต่ครั้งนั้นพี่ถือว่า LGBTQ+ ทั้งประเทศไทยโดนหมด พี่เลยประกาศตัวเองว่า ฉันจะเป็นนักปกป้องสิทธิ์ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา”

“มันเป็นการเปลี่ยนแปลง generation ด้วย แล้วก็มันเหมือนคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ และคนทั่วโลก เขาพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น แล้วก็สิทธิของ LGBTQ+ เนี่ย มันเป็นสิทธิที่ทุกคนพูดถึง แม้กระทั่งวงการการเมืองก็ให้ความสำคัญทุกมิติเลย มันก็เลยประสบความสำเร็จมากในปี 2019”

Rainbow washing กับเชียงใหม่ไพรด์ 2023

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month กลายเป็นเทศกาลยอดนิยมประจำเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งงานไพรด์ในประเทศไทยเองก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างงดงาม ทั้งในส่วนของภาคประชาชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกที่เปิดฤดูกาล Pride Month ด้วยงาน “เชียงใหม่ไพรด์ 2023” ซึ่งศิริศักดิ์กล่าวว่า

“เชียงใหม่ไพรด์ของเรามีครบทุกมิติ ก็คือสร้างความเท่าเทียมให้สังคมเกิดความตระหนักรู้ แล้วก็เข้าใจในการอยู่ร่วมกันกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และก็ส่งเสริมเรื่องของสิทธิมนุษยชนทุกมิติ ที่ไม่ใช่แค่สิทธิของ LGBTQ+ เพราะเรามองว่า LGBTQ+ อยู่ในทุกมิติอยู่แล้ว มี LGBTQ+ ที่เป็นชาติพันธุ์ LGBTQ+ ที่เป็น sex worker LGBTQ+ ผู้ใช้ยา LGBTQ+ ที่เป็นชาวสวนชาวไร่ ฉะนั้น เรามองว่า ถ้าเกิดว่าเราช่วยกันสนับสนุนในมิติใด LGBTQ+ มันก็ได้ด้วยอยู่แล้วอัตโนมัติ”

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กลุ่ม LGBTQ+ ก็ยังผลักดัน 4 ประเด็นหลักให้กลายเป็นนโยบายในระดับการเมือง ได้แก่ สมรสเท่าเทียม การรับรองเพศสภาพ สิทธิของพนักงานบริการ และสิทธิทางด้านสุขภาพ ผ่านกระบวนการยื่นหนังสือและเรียกร้องต่างๆ ซึ่งกลุ่ม LGBTQ+ ก็มีส่วนร่วมทุกครั้ง

“เราพูดเสมอว่านโยบายต่างๆ มันต้องออกมาจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหาอย่างแท้จริง ถ้าเราเป็นคนที่เสนอนโยบายอะไร เสนอกฎหมายอะไรแล้วมันออกมาหรือไม่ออกมา แต่เรามีส่วนร่วม นั่นก็ถือว่ามันเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่มีส่วนร่วมเลยกับกลไกรัฐสภาหรือกลไกนโยบายเนี่ย เราก็ยังรู้สึกว่ามันไม่ออกมาจากฉันนะ ใครเป็นคนเขียนล่ะ เออ มันไม่ได้ออกมาจากประชาชนจริงๆ ซึ่งมันก็จะทำให้กฎหมายไม่สมบูรณ์แบบ” ศิริศักดิ์กล่าว

แม้กิจกรรมเชียงใหม่ไพรด์ในปีนี้จะได้รับการสนับสนุนมากมายจากหลายภาคส่วน แต่สิ่งที่ดูจะหนีไม่พ้น คือ Rainbow washing หรือการที่องค์กรต่างๆ เข้ามา “สวมบทบาท” ในการสนับสนุน LGBTQ+ เพื่อการตลาดหรือภาพลักษณ์ขององค์กร แต่กลับไม่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นอย่างจริงจัง

“ก็มีหลายองค์กรมาก แบรนด์ดังมาก ที่โทรหาพี่แล้วแบบว่า ขอแค่หาคนมาถือป้ายให้ได้ไหมคะ แล้วก็ถือของได้ไหมคะ แต่ไม่ร่วมแล้วก็ไม่ซัพพอร์ตอะไรเลย ซึ่งอันนี้รู้สึกว่าเหมือนเขาดูถูกเรา แล้วก็เหมือนเขาใช้ช่องทางของเราในการพีอาร์ของเขา โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย บางที่ไม่สนับสนุนเงินเรา แต่บอกว่าขออาสาสมัคร ถืออันนี้ให้หน่อยได้ไหมคะ เอาของมาแจกตามบูธได้ไหมคะ แต่คุณกลับไม่มีส่วนร่วมกับเราเลย แบบจริงๆ จังๆ ซึ่งเรารู้สึกไม่โอเคกับตรงนี้ เพราะว่าเราโอบรับคุณมาร่วมขบวนได้ โดยที่คุณอยากทำอะไรก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณมาขอให้เราทำนั่นทำนี่ แต่คุณกลับไม่มาด้วยตัวเอง รู้สึกว่าไม่จริงใจสักเท่าไร”

“ย้อนไป 3 – 4 ปีที่แล้ว มีองค์กรภาพลักษณ์ใหญ่แห่งหนึ่ง รู้สึกว่า rainbow washing เลย คือเป็นองค์กรที่สร้างภาพลักษณ์เป็น LGBTQ+ นะ แต่พูดแบบว่า ‘ไม่เอาอ่ะ’ แค่จะถ่ายรูปกับธงยังไม่ถ่ายเลย แต่ปีที่แล้วประสบความสำเร็จ เขามาเองเลยนะ ‘คุณต้นสวัสดีค่ะ เดี๋ยวปีหน้าช่วยกันเนอะ’ ก็เลยเริ่มเลย 

“แล้วปีนี้เขาเรียกพี่ไปประชุม ครั้งแรกพี่นั่งปุ๊บพี่พูดเลยว่าจริงใจรึเปล่าคะ เขาอึ้งเลยนะ พี่เล่าหมดเลยว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง องค์กรของคุณไม่มีความจริงใจ องค์กรของคุณเป็นองค์กรที่ rainbow washing ในคราบของภาครัฐที่บอกว่าสนับสนุน แต่จริงๆไม่สนับสนุน”

“ด้วยความที่เขาอยากทำงานกับเรามาก เขาก็เลยแบบว่า ‘ปีนี้เอาใหม่ เริ่มกันใหม่นะคะคุณต้น’ นี่คือส่วนหนึ่งที่บอกว่า เราจะทำอย่างไรให้ rainbow washing หมดไป ก็คือการไปให้ความรู้กับเขาด้วยความจริงใจ แล้วก็สะท้อนอย่างตรงไปตรงมา แล้วทำให้เขามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง” ศิริศักดิ์กล่าว

เปลี่ยนความเจ็บปวดให้เป็นพลัง

มนุษย์ไม่ว่าจะเพศใด ย่อมต้องการสิทธิเสรีภาพ แต่สำหรับ LGBTQ+ ในสังคมชายเป็นใหญ่อย่างประเทศไทย สิทธิเสรีภาพมักจะต้องแลกมาด้วยการต่อสู้และความเจ็บปวด ศิริศักดิ์ยอมรับว่า ความเจ็บปวดจากเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 2552 ยังคงอยู่ในความทรงจำของเขาเสมอ และมีบางครั้งเขาเองก็รู้สึกท้อแท้ใจ หมดสิ้นกำลังใจที่จะขับเคลื่อนเพื่อสิทธิของพี่น้อง LGBTQ+

“แต่พอวันหนึ่ง มันผ่านไป เรามีพลังมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เป็นบทเรียนคือว่า พี่จะไม่ทิ้งความเจ็บปวดนะ มันเก็บไว้ได้ แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเก็บไว้เพื่ออะไร เพราะความเป็นคนน่ะ การร้องไห้ไม่ผิดค่ะ การเสียใจกับสิ่งในอดีตก็ไม่ผิด ที่คิดอย่างนี้แต่ร้องไห้แล้วไง ร้องไห้แล้วก็ไปทำอันใหม่สิ ร้องไห้แล้วตื่นขึ้นมาก็จัดไพรด์ได้ใหม่ ไม่เป็นไรเลย”

“มันต้องสามารถเก็บความเจ็บปวดไว้ได้ แต่ต้องสามารถจัดการได้ และสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เฉกเช่นเดียวกัน”

เมื่อถามว่า ในฐานะหนึ่งในผู้จัดงานไพรด์ ศิริศักดิ์อยากเห็นชุมชน LGBTQ+ เติบโตไปอย่างไร เขาตอบว่า

“พี่อยากให้ชุมชน LGBTQ+ เกิดความรักกัน สนับสนุนกัน แล้วก็จับมือไปด้วยกัน แล้วก็ที่สำคัญ คือพี่อยากให้งานไพรด์เป็นงานที่อยู่ในปฏิทินของประเทศไทย เหมือนกับงานลอยกระทง หรือว่างานสงกรานต์ คืออยากให้บรรจุอยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวของไทยเลย เพื่อให้ต่างชาติได้รู้ว่า ถ้าเกิดเขาจะมาเที่ยวงานไพรด์ประเทศไทยเนี่ย เขาควรจะมาเดือนไหน วันไหนบ้าง และจังหวัดไหนที่จัด” ศิริศักดิ์ทิ้งท้าย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า