fbpx

ด้วย ‘ภาพ’ และ ‘ประพันธ์’ รีวิว ‘ด้วยรักและผุพัง’ ฉบับทั้งปกและเนื้อใน

“ขอแสดงความยินดีกับ นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ เจ้าของผลงาน “Family Comes First ด้วยรักและผุพัง” ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปีนี้”

เราเห็นข้อความนี้บนหน้าฟีดแทบจะทันทีที่มีประกาศผลรางวัลซีไรต์จากโพสต์ของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวกับหนังสือหลายแห่ง ด้วยความที่มีหนังสือเล่มนี้ในครอบครอง สนใจประเด็นเรื่องครอบครัวอยู่แล้ว บวกกับเกิดอยู่ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน จึงไม่แปลกใจนักที่รวมเรื่องสั้นเรื่องนี้จะได้รับรางวัล ด้วยสำนวนและกลวิธีที่น่าจับตามองจนเราไม่เชื่อว่านี่คือหนังสือเล่มแรกของเขา ไม่ทันข้ามวัน กลิ่นดรามาตลบไทม์ไลน์ จากคำตัดสินรางวัลดังกล่าวอันเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง

ในฐานะผู้อ่านคนหนึ่ง เราขอทดดรามาไว้ก่อน และด้วยความเชื่อว่าหนังสือ ‘ดี’ มันต้องดีในทุกองค์ประกอบ เราขอชวนทุกคนละเลียดหนังสือเล่มนี้โดยพินิจไปพร้อมกัน

Family comes first
ใครจะทำร้ายเราเท่าเรากันเอง, ไม่มี!

สิ่งที่ชัดเจนที่สุดจนกลายเป็น “ชื่อ” หนังสือเล่มนี้ คือประเด็นเรื่อง “ครอบครัว”

แน่นอนว่าด้วยชื่อเรื่อง – ด้วยรักและผุพัง – ทำให้เราเห็นได้ไม่ยากว่าสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่ทั้ง “สร้าง” และ “ทุบทำลาย” ตัวตนของเราไปพร้อมกัน สะท้อนผ่านการเล่นคำระหว่าง “ผุพัง” และ “ผูกพัน” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเลียนแบบการออกเสียงของคนจีนโพ้นทะเลในไทย ในขณะเดียวกัน เมื่อเราอ่านเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่องในเล่ม เราก็สามารถเชื่อมโยงตนเองได้ทันทีว่า บางครั้งความผูกพันจากผู้คนร่วมสายเลือดก็มัดเราจนเจ็บปวดจับขั้วหัวใจ

ความเหินห่างของครอบครัว, ความคาดหวังที่มีต่อบุตรหลาน, ความลำเอียงจากการรักลูกไม่เท่ากัน และสารพัดเรื่อง toxic ในครอบครัว ถูกร้อยเรียงผ่านเรื่องราวที่ดูธรรมดาสามัญ เราเชื่อเหลือเกินว่าเราทุกคนต่าง (เคย) เจ็บปวดจากการเป็นลูกที่ไม่เอาไหน พี่น้องที่ไม่ใส่ใจ สมาชิกครอบครัวที่แปลกแยก และผิดไปจากบรรทัดฐานความเป็น “คนดี” ของครอบครัว โดยที่ยังไม่ต้องเอาเชื้อชาติมาเกี่ยวข้อง

ในประเด็นความเจ็บปวดผ่านครอบครัวนี้ เราอยากชี้ชวนให้คุณอ่านเรื่องสั้น “หลานชายคนโปรด” เป็นพิเศษ เนื่องจากเรื่องสั้นเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึง “ความคาดหวัง” ที่ครอบครัวมีต่อลูกหลานอย่างชัดเจน ชวนให้นึกถึงงานรวมญาติที่เด็กน้อย ๆ จะยืนสวัสดีผู้ใหญ่ คอยตอบคำถามที่ไม่สะดวกใจตอบด้วยคำพูดกลาง ๆ ยิ้มแห้ง ๆ และเสียงหัวเราะแกน ๆ หรือแม้กระทั่งเพื่อนหน้าตาอิดโรยคนที่เคยเดินสวนกันในโรงเรียนมัธยม และคุณรู้ว่าเขาเรียนหนักเพื่อสนองความคาดหวังของครอบครัวจนอยากจะบอกมันให้ไปใช้ชีวิตบ้าง

อีกสองเรื่องที่น่าสนใจและดาร์กไม่น้อยคือ “น้ำตกใจสลาย” และ “พี่สาวของผม” ที่ชวนให้นึกถึงคู่พี่น้องที่ถูกเปรียบเทียบกันทุกด้าน แค่เข้าโรงเรียนเดียวกัน พ่อแม่ก็โดนคุณครูกระทบกระเทียบให้หลายรอบว่าทำไมพี่น้องไม่เห็นจะเหมือนกันเลย ทั้งที่พี่กับน้องก็เป็นคนละคนกัน ชอบอะไรต่างกัน แต่สำหรับเรื่องสั้นเรื่องนี้ แค่เกิดมาคนละเพศก็ทำให้ความคาดหวัง (และความรัก) เพิ่มขึ้นหรือลดระดับทวีคูณแล้ว แถมยังส่งผลต่อเส้นทางชีวิตของคนทั้งสองที่ต่างกันสุดขีดอีกต่างหาก

พลันทำให้อยากดัดแปลงประโยคโปรยซีรีส์ “เลือดข้นคนจาง” ซีรีส์สะท้อนความตึงเครียดของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนร่วมสมัย ที่พอจะสรุปความสัมพันธ์ของครอบครัวในรวมเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้ว่า

ใครจะทำร้ายเราเท่าเรากันเอง, ไม่มี!

จาก ‘ผูกพัน’ ถึง ‘ผุพัง’
ความไม่ยึดโยงกับครอบครัว เชื้อชาติ และความผูกพัน

ย้อนไปไม่นานนัก เราเคยถามผู้ใหญ่ในบ้านว่า “เรามองตัวเองเป็น ‘ตึ่งนั้ง’ หรือ ‘ฮวงนั้ง’– แปลว่า เรามองตัวเองเป็น ‘คนจีน’ หรือ ‘คนอื่น’

ในที่นี้ คนอื่น มีความหมายว่า คนจีนจะมองเราว่าเราต่ำกว่า และเราไม่ยึดโยงกับแผ่นดินใหญ่อีกต่อไป

แม้บ้านเราจะไหว้เจ้าสม่ำเสมอไม่ว่าจะจนจะมี นับญาติกันด้วยคำจีน หรือคุ้นเคยกับธรรมเนียมจีนหลายอย่าง แต่บ้านเราก็นิยามตนว่าเป็น “ฮวงนั้ง” ไปแล้ว ด้วยความที่เราจะไม่มีทางยึดโยงตัวเองกับแผ่นดินใหญ่อีกต่อไป สารเบื้องหลังที่น่าสนใจของรวมเรื่องสั้นเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ความรู้สึกว่าตัวเองจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของชนชาติแถมเข้ามาด้วย

แม้เราพอจะบอกได้ว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นคนไทยเชื้อสายจีน แต่ความไม่ยึดโยงกับความเป็นจีนมีให้เห็นมากมาย ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนหลายครอบครัวเลือกที่จะไม่สืบสานพิธีกรรมต่าง ๆ ในครอบครัวหลังคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ตายจากไปด้วยความยุ่งยาก บางครอบครัวแยกบ้านไปแล้วก็ขาดการติดต่อกับครอบครัวใหญ่ไป ไม่กลับมาร่วมวงกินข้าวด้วยกันอีก

คุณค่า (?) ของการรวมกลุ่มเป็นครอบครัว บูชาบรรพชน และสืบสานข้อปฏิบัติต่าง ๆ ตลอดจนความไม่เสมอภาคทางเพศที่สะท้อนในความเชื่อแบบจีน – แน่ล่ะว่าสิ่งเหล่านี้ถูกสะท้อนผ่านเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่องด้วย เราอาจตีความได้คร่าว ๆ ว่า นอกจากบาดแผลจากครอบครัวจะทำให้เราเจ็บปวดแล้ว แต่หน้าที่และความรับผิดชอบอันเนื่องมาแต่เชื้อชาติ (ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งต่อกันผ่านสายเลือด) ซึ่งกำหนดพฤติกรรมของคนแต่ละคน มีที่มาสืบเนื่องจาก “รากความคิด” ในแต่ละชนชาติซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับยุคสมัย และอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไม่ยึดโยงกับแนวคิดและความเป็นเชื้อชาตินั้นด้วย

สำหรับประเด็นนี้ เราอยากชวนคุณอ่านเรื่อง “ป๊าบอกว่า” ในฐานะตัวแทนบรรยากาศการปะทะระหว่างการกอดจารีตประเพณีไว้แน่นแนบหัวใจ กับการปรับตัวตามความเปลี่ยนไปของยุคสมัย ผ่านการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างพี่น้อง และ “คุณ, วันฝนพรำ และแมวสีดำ” ที่ชวนให้นึกถึงคำว่า “ม่านประเพณี” ที่กีดกันคนสองเชื้อชาติไม่ให้รักกันเสียจนจับใจ

ความไม่ยึดโยงตนต่อสถาบันทางสังคมใด ๆ อาจสะท้อนให้เห็นภาวะของสังคมสมัยใหม่ที่ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยกไป อีกบริบทที่น่าสนใจคือ “ด้วยรักและผุพัง” เผยแพร่ในช่วงเวลาที่วัฒนธรรมครอบครัวทั้งไทยและจีนถูกตั้งคำถามอย่างหนัก เช่นเดียวกับโครงสร้างทางสังคมที่กดทับใครหลาย ๆ คนอยู่ วิกฤตตัวตนที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่คืบคลานเข้ามาพร้อม ๆ กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วรรณกรรมจึงมีพันธกิจที่ไม่เพียงแต่ส่องสะท้อนสังคมเท่านั้น แต่ยังต้องเสนอทางออกให้กับสังคมไปด้วย

เมื่อเราพิจารณาสารจากรวมเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่อง เราอาจบอกได้ว่าสารเหล่านั้นไม่ได้นำไปสู่แค่การถกเถียงเพื่อให้เห็นว่ายุคสมัยสมควรต้องเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการโอบกอดตัวตนที่ผุพัง และสิ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตเหล่านั้นเอาไว้ในฐานะ “สิ่งประกอบสร้างตัวตน” แม้มันจะแหว่งวิ่นฉีกขาด เจ็บช้ำบุบสลายอย่างไรก็ตาม

Do(n’t) judge a book by its cover
เมื่อ ‘หน้าตา’ อาจเป็นหน้าต่างของเนื้อใน

ความน่าสนใจของคำประกาศตัดสินรางวัลซีไรต์ประจำปีนี้คือการพิจารณา “สารรอบตัวบท” (Paratext) ประกอบด้วย นำมาสู่ดรามาในวงการหนังสือในเวลาต่อมา

ในโลกปัจจุบัน เรามักเห็นหนังสือที่วางขายตามร้านต่าง ๆ เป็นหนังสือที่มีพลาสติกซีลเคลือบไว้อีกชั้น การจะพิจารณาว่าหนังสือเล่มนี้น่าสน ไปจนถึงน่าซื้อถูกปิดกั้นให้เห็นเพียงหน้าปกเท่านั้น ปกจึงต้องเป็นสิ่งสำคัญที่เล่าเรื่องได้ทั้งเรื่องในฐานะสิ่งดึงดูดสายตาที่สุด

ตามคำประกาศตัดสิน เราพิจารณาภาพปก “ด้วยรักและผุพัง” ว่านี่คงพูดถึงความเจ็บปวดของสมาชิกครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนในภาวะสมัยใหม่แน่แท้ ฟอนต์อักษรไทยที่ดัดแปลงให้กว้างและมีเหลี่ยมคล้ายอักษรจีน แต่ก็มีปลายแหลมคล้ายมีด แถมด้วยเปลวเพลิงที่ชวนให้นึกถึงไฟเวลาเราเผากระดาษอุทิศเครื่องไหว้แก่บรรพบุรุษ ช่างสอดคล้องกับประโยคคำถามหน้าปกที่ครอบคลุมเนื้อในทั้งหมดอย่างชัดเจน สีแดงดำ อันเป็นสีมงคลของจีนที่ใช้เป็นสีธีมหลักของเล่มก็สื่อความทั้งความหมายในเชิงทฤษฎีสี และกลิ่นของหนังจีนโมเดิร์นไปด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ ทางสำนักพิมพ์แซลมอนได้เปิดเผยเบื้องหลังการออกแบบปกไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว

อนึ่ง การอ่านหน้าปกหนังสือและภาพประกอบในฐานะ “สารรอบตัวบท” เป็นสิ่งที่นักวิจารณ์ควรพิจารณาในฐานะองค์ประกอบสำคัญของเรื่องราวในหนังสือเพื่อให้สามารถตีความ “สาร” ในตัวบทได้อย่างชัดเจน แต่หากบริบทนี้ เราอาจโต้แย้งได้ว่ารางวัล “วรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน” มีเพื่อเชิดชูวรรณกรรม ส่งเสริมความสามารถของนักเขียน และสร้างความเข้าใจต่อกันในประเทศอาเซียน คำประกาศตัดสินครั้งนี้จึงชี้ชวนให้เราตั้งคำถามต่อไปว่าการพิจารณาคุณค่าวรรณกรรมจากเป้าประสงค์ทั้งหมดที่ว่ามานี้จำเป็นต้องพินิจเพียงตัวบทอย่างเดียว หรือพิจารณาสิ่งแวดล้อมรอบตัวบทไปด้วย

หากเป็นอย่างหลัง เราเชื่อว่านี่จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมหนังสือให้คึกคักยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่เพียงแต่วง “วรรณศิลป์” เท่านั้นที่ต้องการการส่งเสริม แต่วงการอื่น ๆ ที่รายล้อมหนังสือ 1 เล่มก็ต้องการการส่งเสริมเช่นเดียวกัน เพื่อที่จะนำไปสู่ปลายทางที่ทำให้ “วัฒนธรรมการอ่าน” หยั่งรากแข็งแรง

หากเป็นอย่างแรก เราอาจต้องตั้งคำถามต่อไปถึงการมอบรางวัลวรรณกรรม (และรวมถึงรางวัลหนังสืออื่น ๆ) ในประเทศนี้ว่า คำตัดสินของคนกลุ่มหนึ่งจะชี้นำสังคมให้มองเห็น “คุณค่า” ของวรรณกรรมไปในทิศทางที่ต้องการได้มากน้อยแค่ไหน หากใคร ๆ ก็สามารถตัดสินคุณค่าของหนังสือได้

ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีใครตอบได้ นอกเหนือจากผู้อ่านแต่ละท่านจะใช้วิจารณญาณเอาเอง

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า