fbpx

สำรวจชีวิต ‘ตุ้ม’ จาก ‘เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์’ ผ่านสิ่งละอันพันละน้อยในห้องของเธอ

ตั้งแต่ชีวิตมนุษย์ปุถุชนทั่วโลก ‘พลิกผัน’ จากหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และประเดประดังเข้ามาพร้อมกันหลายระลอก วิถีชีวิตและมุมมองของผู้คนก็เปลี่ยนไปในหลายแง่มุม ชีวิต ‘ตุ้ม-มนฤดี สานพันธ์’ พนักงานขายประกันภัยสาวในยุค COVID-19 ที่ถูกเลย์ออฟกะทันหันก็พลิกผันไม่แพ้กัน เพราะชีวิตของเธอดันตกไปอยู่ในวงจรทุนสีเทา การคอร์รัปชั่น จนนำไปสู่คดีฆาตกรรมและอาชญากรรมที่ยิ่งใหญ่เกินคาดเดา

ใช่ นั่นคือชีวิตของ ‘ตุ้ม’ ตัวเอกจาก ‘เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์’ ละครชุด 6 ตอนที่ดัดแปลงเนื้อหามาจากภาพยนตร์เรื่อง ‘เรื่องตลก 69’ ของค่ายไฟฟ์สตาร์ ที่ออกฉายเมื่อปี 2542 ก่อนจะถูกนำกลับมาขยายเรื่องราว และบิดสถานการณ์ที่โอบล้อมจากยุค ‘ต้มยำกุ้ง’ ในภาคก่อน ให้กลายเป็นยุค ‘ไวรัส’ แพร่ระบาดในภาคนี้ ผ่านมุมมองของผู้กำกับและเขียนบทคนเดิมอย่าง ‘ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง’

จุดที่เราสนใจในฐานะคนที่เพิ่งลองเปิดดูเวอร์ชั่นภาพยนตร์ก่อนจะมาดูเวอร์ชั่นซีรีส์ ก็คือวิธีการวาง setting แต่ละอย่างภายในเรื่อง ที่ชวนให้คิดอยู่เสมอว่าเวอร์ชั่นภาพยนตร์ จุดนี้เคยเป็นยังไงมาก่อนนะ หรือมีอะไรหายไปบ้างจากเวอร์ชั่นก่อน หรืออีกจุดสำคัญเลยของการ setting นั่นคือ ‘ห้องของตุ้ม’ สถานที่ซึ่งเป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมด ที่ระหว่างทางเราก็จะเห็นห้องของตุ้มมุมนี้บ้าง มุมนั้นบ้าง และทำให้เราได้เห็นการใช้ชีวิต หรือเห็นกระทั่งวิธีคิดของตุ้มได้เลยทีเดียว

วันนี้เราเลยอยากเคาะประตูห้องเบอร์ 9 เอ้ย.. เบอร์ 6 สามที แล้วให้ตุ้มเปิดประตูพาเราเข้าไปสำรวจสิ่งละอันพันละน้อยที่ประกอบรวมเป็นชีวิต ‘ตุ้ม’ ในยุคนี้กัน

‘หนังสือ’ ที่น่าสนใจในห้องของ ‘ตุ้ม’

หลังจากเดินจนทั่วห้อง เราเดาว่าตุ้มมีหนังสืออยู่ในห้องกว่า 100-200 เล่ม เธอคงเป็นนักอ่านตัวยงเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากชั้นหนังสือของเธอแล้ว ทุกโต๊ะก็มีหนังสือบางส่วนไปแหมะเอาไว้อีก โต๊ะหัวเตียงก็มี โต๊ะกินข้าวก็มี โต๊ะหน้าทีวีก็มี ขนาดที่ทำงานตุ้มยังเอาหนังสือไปอ่าน ถูกเลิกจ้างก็ไม่ยอมทิ้งหนังสือเหล่านั้น เก็บกลับมาคืนที่ชั้นเหมือนเช่นเดิม

ตุ้มดูจะเป็นคนที่สนใจเรื่องราวหลากหลาย ทั้งสังคม วรรณกรรม เรื่องสั้น รวมทั้งวงการภาพยนตร์ (?) จากลิสต์หนังสือมากมายที่รวมกันในห้องของเธอด้านล่างนี้ ที่เราจะหยิบมาเล่าสัก 5 เล่มก็แล้วกัน

– ‘อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง’ โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

หนังสือรวบรวมบทความวรรณกรรมศึกษา และบทวิจารณ์วรรณกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ ที่เคยตีพิมพ์ลงในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ในช่วงปี 2530-2540 โดยชื่อหนังสือเปรียบการอ่านเอาเรื่องราวก่อน และอ่านสิ่งที่ไม่อยู่ในเรื่องราวอีกทอดหนึ่งเพื่อตีความเนื้อหาที่แทรกอยู่ระหว่างบรรทัดเหล่านั้น

– ‘ที่โรงภาพยนตร์ไกลบ้านคุณ’ โดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

หนังสือแนว Road Movie ในวันที่ ‘นวพล’ ยังเป็นนักทำหนังหน้าค่อนข้างใหม่ เขาเกิดบ้าส่งหนังสั้นไปเทศกาล แล้วเทศกาลก็เกิดบ้าให้หนังเขาเข้ารอบ แถมยังอัญเชิญไปถึงเยอรมนี การท่องเที่ยวกลางกรุงเบอร์ลินแบบจินตลีลาจึงเกิดขึ้น เพราะผู้เขียนใช้ ‘หนัง’ เดินทางต่างสองเท้ากับการเที่ยวแบบลุยเดี่ยวต่างแดนครั้งแรกในชีวิต ในแบบที่ตัวเขาก็กำกับและตัดต่อเองไม่ได้

– a day ฉบับที่ 241 ‘สถาน ณ กาลไม่ปกติ’ โดย กองบรรณาธิการนิตยสาร a day

a day คือนิตยสารรายเดือน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ a day ปล่อยนิตยสารเดือนนั้นเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ก ผ่านรูปแบบหนังสือรวมเรื่องสั้นจากสถานการณ์ไม่ปกติ ‘COVID-19’ ที่เราเคยเจอกันหนัก ๆ มาก่อน จากนักเขียน 15 คน อาทิ คงเดช จาตุรันต์รัศมี, จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, ปราบดา หยุ่น, วิศุทธิ์ พรนิมิตร, อุทิศ เหมะมูล เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นฉบับสะท้อนชีวิตที่ไม่ปกติช่วงนั้นด้วยการออกรูปแบบที่ไม่ปกติเหมือนที่เคยทำมา

– ‘You sadly smile in the profile picture’ โดย ธนชาติ ศิริภัทราชัย

รวมเรื่องสั้นสั้นเอาแต่ใจ 25 เรื่อง อ่านไว ๆ ว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ผ่านพ้น ความสุขที่แซดเศร้า ความเยาว์ที่ไม่รู้อะไรบ้างเลย แรนดอม และไหลไปเรื่อยเปื่อยผ่านลีลายียวนและโรแมนติกในเวลาเดียวกันของ ‘ธนชาติ ศิริภัทราชัย’ อบอวลไปด้วยเมฆหมอกของความเศร้า อารมณ์ครุ่นคิดอุ่นเหงา และอาการขำจนไหล่สะท้าน

– ‘เจ็บนิดเดียว เดี๋ยวก็เช้า’ โดย ภูมิชาย บุญสินสุข

หนังสือบอกเล่าเรื่องราวชวนคิด แล้วปิดท้ายด้วยคำศัพท์ หรือประโยคเด็ดภาษาอังกฤษที่น่าสนใจ เนื้อหาบางตอนนั้นแนะนำคำศัพท์ไว้ให้ได้ใช้สอยไม่กี่คำ ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำให้คะแนน TOEFL IELTS TOEIC พุ่งพรวด แต่เชื่อมั่นว่ามันจะทำให้สนุกกับการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้อย่างแน่นอน เพราะภาษาอังกฤษไม่ต่างจากแฟน หมั่นทำความเข้าใจ ใช้เวลาด้วยเยอะๆ เดี๋ยวมันก็จะดีเอง

‘ภาพยนตร์’ ที่น่าสนใจในห้องของ ‘ตุ้ม’

ตุ้มยังคงเป็นมนุษย์คอนโดฯ ที่ใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกยุคโบราณในปี 2565 ทีวีจอตู้หนัก ๆ เครื่องเล่นวีซีดีสีเงินเก่า ๆ แม้แต่โทรศัพท์บ้านเชื่อมสายเจ้าปัญหา ทั้งหมดนี้หากอยู่ในบ้านคนอื่นอาจจะถูกเอาไปขายต่อ หรือทิ้งไปแล้วก็ได้ แต่ตุ้มก็ยังคงใช้มันสร้างความบันเทิงในห้องขนาดกะทัดรัดแห่งนี้อยู่เสมอ

ในชั้นหนังสือของตุ้มที่นอกจากจะมีหนังสือมากมายก็ยังมีหนังแผ่นแทรกอยู่ช่องล่างสุด รวมถึงยังมีแผ่นซีดีอีกมากมายที่วางเรียงกันอยู่ด้านล่าง นับรวมได้ราว 10 แผ่น เราเลยแกะหนังแผ่นเหล่านั้นมาให้คุณได้รู้จักกันคร่าว ๆ  5 เรื่อง ด้านล่างนี้

– ‘The Pianist’ โดย Roman Polanski

ภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวประวัติของ ‘Wladyslaw Szpilman’ ศิลปินนักเปียโนชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความพลิกผันของชีวิต จากความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งมีบ้านและครอบครัวที่แสนอบอุ่น กลับต้องมาถูกกดขี่จากทหารเยอรมัน หรือกลุ่มนาซี ที่ได้บุกเข้ายึดประเทศโปแลนด์ และกระทำการอันโหดเหี้ยมอำมหิตมากมายหลายเรื่องที่ต้องจารึกเอาไว้บนหน้าประวัติศาสตร์โลก

ซึ่งในมุมหนึ่งก็เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนความพลิกผันอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวของตัวละครไม่ต่างกับชีวิตของตุ้ม

– ‘Happy Together’ โดย Wong Kar-wai

ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคู่ชายรักชายชาวฮ่องกง คือไหล่เยิ่วฟา กับ ห่อโปวเหวง ที่อยากไปน้ำตกอีกวาซู ในประเทศอาร์เจนตินา ด้วยกันสักครั้งในชีวิต แต่ระหว่างทางกลับมีอุปสรรคที่กระทบกับความสัมพันธ์มากมาย เราเคยเล่าความน่าสนใจในหนังเรื่องนี้ไปแล้วในบทความ https://themodernist.in.th/the-complex-relationships-of-politics-and-people-in-happy-together/ ไปตามอ่านกันต่อได้เลยถ้าสนใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร

– ‘Drive’ โดย Nicolas Winding Refn

ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของนักขับรถสตันต์แมนคนหนึ่งในลอสแอนเจลิส ซึ่งนั่นคืองานอดิเรกของเขา แต่จริง ๆ แล้วงานของเขาคือการขับรถพาโจรหนีตำรวจ จนเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เขาได้กลายเป็นที่หมายหัวของกลุ่มคนที่อันตรายที่สุดในลอสแอนเจลิส และเมื่อเขาถูกไล่ล่า สิ่งเดียวที่เขาต้องทำคือ “ซิ่ง!”

‘Children of Men’ โดย Alfonso Cuarón Orozco

ภาพยนตร์ไซไฟ-ดิสโทเปีย ที่ออกฉายใน ค.ศ. 2006 ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อ ‘The Children of Men’ ของพี. ดี. เจมส์ ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1992 กล่าวถึงสังคมมนุษย์ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร หากมนุษย์ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้

‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ โดย เป็นเอก รัตนเรือง

เป็นเอกยังอุตส่าห์ซ่อนดีวีดีหนังตัวเองไว้ในเรื่องหลายแผ่น นี่คือหนึ่งเรื่องที่เราหยิบมาเล่า ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรณกรรมขายดีของ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ เรื่องราวเล่าถึงชีวิตของแผน หนุ่มบ้านนอกผู้รักการร้องเพลงที่ต้องจากเมียรักมาเกณฑ์ทหารในเมืองกรุง แต่ด้วยความฝันอันแรงกล้าทำให้แผนหนีทหารไปตามหาความฝัน และพบเจอเรื่องราวที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับชีวิต

‘สิ่งของ’ ที่น่าสนใจในห้องของ ‘ตุ้ม’

– Hakone Open Air Museum Picasso Mug

แก้วกาแฟที่ตุ้มใช้ชงพร้อมน้ำตาล 9 ช้อนในตอนแรก คือแก้วกาแฟจากพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งในเมืองฮาโกเนะ ประเทศญี่ปุ่น ที่รวมผลงานแกะสลักร่วมสมัยกว่า 120 ชิ้น มาอยู่ในสวนขนาดใหญ่ราว 70,000 ตารางเมตร ซึ่งนอกจากผลงานกลางแจ้ง ก็ยังมีอาคารที่จัดแสดงผลงานจากปิกัสโซ (Picasso) หนึ่งในจิตรกรเอกของโลกอีกด้วย และแก้วใบนี้ก็คือสินค้าที่ระลึกจากร้านค้าภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั่นเอง

– ภาพวาดนกยูงคู่สไตล์จีน

ตุ้มแขวนภาพนี้ไว้เหนือหัวเตียง เป็นภาพนกยูงรำแพนสองตัวคู่กัน ตามหลักฮวงจุ้ยเชื่อว่านกยูงเป็นสัตว์มงคลที่ช่วยกระตุ้นโชคดีในด้านชื่อเสียง เสริมการเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน ดึงดูดความสนใจจากผู้อื่น จากการที่มันมีดวงตาถึง 1,000 ตา ซึ่งช่วยปกป้องจากโชคร้ายและอันตราย 

ส่วนความหมายของนกยูงในแง่ของการเป็นของตกแต่งบ้านอย่างที่ตุ้มใช้นั้น ถือว่าคือนกยูงคือสัตว์มงคล เป็นตัวแทนด้านโชค วาสนา และความสำเร็จ โดยเฉพาะถ้านกยูงอยู่ในท่ารำแพนยิ่งดีกันเข้าไปใหญ่ แต่ก็คงไม่ใช่วันที่ตุ้มกำลังเจอในเรื่องเป็นแน่

– เสื้อแขนกุด Even a bad day is just 24 hours

“Even a bad day is just 24 hours” หรือประโยคที่ว่า “ถ้าเจอวันแย่ ๆ ท่องไว้ มันก็แค่ 24 ชั่วโมง” เป็นประโยคปลอบใจวันแย่ ๆ ของทุกคนบนโลก จากการกำหนดขอบเขตของระยะเวลาสากลที่คงจะเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวเลวร้ายที่มีอยู่ให้ดีขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย ทั้งรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม เหมือนที่คนไทยคุ้นกับประโยคที่ว่า “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” หรือ “พรุ่งนี้ต้องดีกว่า” อะไรทำนองนี้นั่นเอง ซึ่งก็ตรงกับชีวิตของตุ้มในวันนั้นเสียเหลือเกิน

– โปสเตอร์รูปเปลือกหอยและปะการังสไตล์วินเทจ

โปสเตอร์อันนี้แขวนอยู่ข้าง ๆ ภาพวาดนกยูงคู่ เรียกง่าย ๆ ว่าอยู่เหนือโต๊ะหัวเตียงที่มีโทรศัพท์บ้านเจ้าปัญหาวางอยู่ โปสเตอร์นี้คือ ‘Bild poster’ ที่เป็นสินค้าในหมวดของแต่งบ้านในเครือ Ikea ที่จริง ๆ แล้วมีสองรูปขายคู่กัน เราอนุมานไปว่าเป็นภาพที่อาจทำให้ตุ้มดูแล้วหายคิดถึงบ้านที่ต่างจังหวัดก็ได้ เพราะบ้านของเธอน่าจะอยู่ทางภาคใต้

– Singing bird wall clock

นาฬิกาแขวนที่อยู่เหนือโซฟาเรือนนี้ไม่ได้มีตัวเลขบอกเวลา แต่ใช้รูปนกบอกเวลาแทน นาฬิกานี้คือสินค้าของ ‘National Audubon Society’ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหากำไรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอุทิศตนเพื่อการอนุรักษ์นกและถิ่นที่อยู่ของพวกมัน โดยเป็นผลงานการออกแบบจาก ‘Mark Feldstein & Associates’ บริษัทออกแบบและผลิตของแต่งบ้าน ที่ผลิตเจ้านาฬิกานกร้องได้นี้มาแล้วกว่า 24 ปี ทำยอดขายถล่มทลายตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

จุดขายของมันเลยก็คือการเป็นนาฬิกาที่บอกเวลาด้วยเสียงร้องของนก 12 ชนิดที่นำมาใช้แทนตัวเลขบอกเวลา ซึ่งจะส่งเสียงร้องที่แตกต่างกันในแต่ละชั่วโมงที่ผ่านไป อีกทั้งในกล่องที่บรรจุมายังมีโบรชัวร์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ การให้อาหาร และการย้ายถิ่นของนกเพิ่มเติมด้วย จากไอเดียที่น่าสนใจจึงทำให้มันขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หากแต่เรากลับไม่เคยได้ยินเสียงนกจากนาฬิกาในเรื่องเลย

ทั้งหมดนั่นคือสิ่งละอันพันละน้อยจากห้องของตุ้มที่เรารวบรวมมา ดูเหมือนว่าเราจะอยู่ในห้องของเธอนานเกินไปจนเริ่มกระอักกระอ่วนแล้ว เราบอกลาเธอและออกมาจากห้องก่อนดีกว่า

ทันทีที่เดินออกมาจากห้อง ตุ้มมองตามเราไม่ละสายตา ก่อนจะปิดประตูอย่างช้า ๆ และลงกลอนประตูเรียบร้อย ฉับพลันป้ายเลขหน้าห้องหมายเลข 6 ก็พลิกลงมาทางด้านขวากลายเป็นเลข 9 เหมือนอย่างที่มันเคยเป็น…

ขอบคุณข้อมูลจาก : Nontouch Promsri / teerachot jivorasetkul 1 / fromjapan.info

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า