fbpx

อีวานเกเลียน : ภาพแผลใจของเด็กในสงครามหุ่นยนต์

สำหรับคนหลายๆ คนชีวิตวัยเด็กอาจจะเป็นช่วงชีวิตที่สดใส ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวล้วนสวยงามและเป็นมิตร อาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขที่สุด ทว่าสำหรับคนบางคนชีวิตในวัยเด็กอาจจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และไม่ได้มีความสุขเหมือนเด็กคนอื่นๆ ปมในใจในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเกิดจากปัญหาในครอบครัว ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ พ่อแม่แยกทาง หรือแรงกดดันจากความคาดหวังของสังคมรอบข้าง ปัจจัยต่างๆ มากมายที่ส่งผลให้เด็กคนหนึ่งอาจจะใช้ชีวิตในวัยเยาว์อย่างยากลำบาก แม้กระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งปัญหาจากอดีตก็ยังคงตามหลอกหลอนถึงในปัจจุบัน 

ความสับสนและความซับซ้อนของปัญหาในวัยเด็ก เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ถูกหยิบยกออกมาพูดถึงมากมายในหลายสื่อ ไม่ว่าจะเป็นบทความทางวิชาการ ภาพยนตร์ ละคร หรือ การ์ตูนอะนิเมชัน บางครั้งก็นำเสนอออกมาอย่างตรงไปตรงมา หรือบางครั้งก็สอดแทรกอยู่ในเนื้อหา ในครั้งนี้เราจะมายกตัวอย่างถึงผลงานขึ้นชื่อที่นำเสนอปัญหาในจิตใจของเหล่าเด็กๆ ออกมาได้อย่างแยบยลมีเสน่ห์ เป็นที่ประทับใจคนมากมาย ถึงขนาดที่มีการพูดกันว่า ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่ปฏิวัติวงการอนิเมะญี่ปุ่นในยุค 90s และส่งอิทธิพลแก่ผลงานอนิเมะในรุ่นหลัง นั่นคือเรื่อง “อีวานเกเลียน มหาสงครามวันพิพากษา

“Neon Genesis Evangelion” หรือชื่อไทย “อีวานเกเลียน มหาสงครามวันพิพากษา” เป็นผลงานสร้างชื่อของผู้กำกับ อันโนะ ฮิเดอากิ เป็นอนิเมะแนวหุ่นยนต์ไซไฟ ดรามา ออกฉายครั้งแรกทางโทรทัศน์ประเทศญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2539 และได้สร้างเป็นภาพยนตร์ใน พ.ศ. 2540 อีกทั้งยังมีการรีบูทสร้างขึ้นใหม่เป็นภาพยนตร์ 4 ภาค ในชื่อ Rebuild of Evangelion หรือชื่อไทยว่า “อีวานเกเลียน กำเนิดใหม่วันพิพากษา” ใน พ.ศ. 2550 โดยในภาคที่ 4 ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของภาพยนตร์ชุดอย่าง “Evangelion 3.0+1.0 Thrice Upon a Time” ก็เพิ่งปิดฉากไปใน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ อีวานเกเลียน ยังถูกดัดแปลงทำเป็นสื่ออีกมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือการ์ตูน นิยาย และเกมส์ 

“อีวานเกเลียน มหาสงครามวันพิพากษา” เป็นเรื่องราวของอิคาริ ชินจิ เด็กหนุ่มอายุ 14 ปี ที่ถูกเรียกตัวโดย อิคาริ เก็นโด ผู้เป็นพ่อที่ทิ้งชินจิไปตั้งแต่ยังเด็ก ให้มา ณ เมืองนีโอโตเกียวที่ 3 ที่นั่นชินจิได้พบกับสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์ที่ถูกเรียกว่า “เทวทูต” และชินจิจำเป็นจะต้องขึ้นบังคับอาวุธรูปแบบมนุษย์ขนาดยักษ์ อีวานเกเลี่ยน ที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้องค์กร “เนิร์ฟ” (NERV) โดยมีคุณพ่อหรือเก็นโด เป็นผู้บัญชาการองค์กร ชินจิที่ถูกยัดเยียดภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงที่เรียกว่า “การปกป้องมนุษยชาติ” ต้องเข้าไปพัวพันกับแผนการที่อยู่เบื้องหลัง ดำดิ่งเข้าไปในอารมณ์ความรู้สึก การเผชิญหน้ากับตัวเองและคนรอบข้าง 

ถึงแม้โครงเรื่องที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์และการต่อสู้เพื่อปกป้องโลก อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการอนิเมะในช่วงเวลานั้น แต่สิ่งที่ทำให้อนิเมะเรื่องอีวานเกเลี่ยนมีความโดดเด่นกว่าเรื่องอื่นและเป็นที่พูดถึงอย่างมาก คือการที่นำหลักการต่างๆ มาดัดแปลงและนำเสนอออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนาความเชื่อ จิตวิทยา การตั้งคำถามถึงความสุข ชีวิตของผู้คน ภาวะกดดันทางจิตใจที่นำไปสู่ปัญหาโรคซึมเศร้า และการเอาชนะปัญหาดังกล่าว นำไปสู่การยอมรับในตนเอง และการก้าวเป็นผู้ใหญ่ของเหล่าเด็กๆ อาจเรียกได้ว่าหนึ่งในเสน่ห์สำคัญและเป็นความสนุกของเรื่องก็คือ เรื่องราวของเด็กหนุ่มเด็กสาว ที่ประสบกับปัญหาด้านจิตใจ ความสับสน ความเหงา และความต้องการการยอมรับจากสังคมรอบข้าง การก้าวข้ามและเอาชนะอุปสรรค เข้าใจในตนเอง 

อิคาริ ชินจิ เด็กหนุ่มผู้เป็นพระเอกของเรื่อง เป็นเด็กที่มีปัญหาครอบครัว เนื่องจากสูญเสียแม่ตั้งแต่ยังเด็กและถูกพ่อทิ้งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้ชินจิโตมาในสภาพที่ขาดความอบอุ่นจากครอบครัว อีกทั้งยังเกิดเป็นปมด้อยในจิตใจที่ชินจิมองว่า ตนเป็นเด็กที่ไม่มีใครต้องการ นำไปสู่ปัญหาการเข้าสังคม ที่ตัวชินจิจะไม่กล้าเข้าหาคนอื่น กลัวที่จะแสดงความคิดความรู้สึกของตัวเอง แต่อย่างไรตัวชินจิก็ยังเหงาและต้องการการยอมรับจากคนรอบข้าง จนสุดท้ายรูปแบบการใช้ชีวิตของชินจิ จึงกลายเป็นเพียงการโอนอ่อนตามคนรอบข้าง ไหลไปตามกระแส เหมือนกับการที่ขึ้นไปบังคับอีวาให้ต่อสู้กับศัตรู ทั้งที่แท้จริง ชินจิไม่ได้อยากที่จะทำอะไรเสี่ยงอันตรายแบบนี้ แต่ทั้งหมดก็ทำเพื่อที่ตนจะได้ถูกคนรอบข้างยอมรับ โดยเฉพาะจากเก็นโดผู้เป็นพ่อ จะเห็นได้จากชินจิมักจะพยายามถามหาเหตุผลจากเพื่อนที่เป็นนักบินอีวาเหมือนกันว่า อะไรเป็นเหตุผลที่ขึ้นขับอีวา เพราะชินจิต้องการเหตุผลให้กับตัวเอง ในการทำสิ่งที่ตนไม่ชอบ เพื่อที่จะให้คนอื่นชอบตน แต่สุดท้ายการทำในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบก็นำไปสู่ความทุกข์และการกดดันตัวเอง ท้ายที่สุดก็คือการปิดกั้นตัวเอง หนีจากสังคมรอบข้าง ขณะเดียวกัน การอยู่คนเดียวก็โดดเดี่ยวเหลือเกิน

ตัวละครหนึ่งของเรื่อง อย่าง อาสึกะ ที่เป็นนักบินของอีวาหมายเลข 02 ที่ฉากหน้าคือเด็กสาวผู้เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ ความทะนงตน และความกล้า แต่ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ฉูดฉาดกลับซ่อนบาดแผลลึกไว้ภายใน เพราะแท้จริงอาสึกะไม่ใช่เด็กที่กล้าและมั่นใจในตนเองมากมายขนาดนั้นแต่เธอสร้างภาพทั้งหมดขึ้นเพื่อสะกดจิตตัวเองว่าเธอเป็นที่หนึ่ง เธอเก่งกว่าใครๆ และเป็นจุดสนใจของทุกคน 

สาเหตุที่อาสึกะต้องทำแบบนี้ก็เป็นเพราะปมในใจเรื่องของแม่ เดิมทีอาสึกะเป็นเด็กที่ไม่มีพ่อ เพราะเธอเกิดจากการนำอสุจิในธนาคารน้ำเชื้อมาผสมกับไข่ของแม่ ทำให้ชีวิตของอาสึกะมีแม่เป็นที่พึ่งมาตั้งแต่เกิด ทว่าโศกนาฎกรรมก็เกิดขึ้น เมื่อแม่ของอาสึกะประสบอุบัติเหตุจากการทดลองจนทำให้เสียสติ ไม่สามารถรับรู้ถึงการมีตัวตนของอาสึกะ และเอาตุ๊กตามาเป็นลูกตัวเองแทน สุดท้ายก็แขวนคอฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลต่อหน้าอาสึกะ จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นกลายเป็นแผลใจของอาสึกะ เธอยึดเอาคำว่าอันดับหนึ่งมาเป็นตัวตั้งในการใช้ชีวิตตลอดมา เธอจำเป็นจะต้องเก่งเหนือใคร ต้องสมบูรณ์แบบ ไม่เช่นนั้นตนเองจะไม่มีใครมองเห็น จะไม่มีใครให้ค่า จะเป็นแค่เพียงตุ๊กตา 

หลังการต่อสู้อันยากลำบากในหลายศึก อาสึกะ เริ่มจะไม่สามารถสร้างผลงานที่น่าพอใจได้ ความมั่นใจและความภูมิใจที่สะสมมาเริ่มพังทลาย ยิ่งกดดันตัวเองมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ก็ยิ่งแย่มากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งอาสึกะถูกการโจมตีทางจิตใจของเทวทูตจนตัวเองป่วยเป็นโรคทางจิตอาการโคม่า นอนรักษาตัวในโรงพยายบาล

จากที่ยกตัวอย่างมาจะเห็นได้ว่า นอกจากเนื้อหาการต่อสู้ หุ่นยนต์เนื้อหาในส่วนดรามาเองก็ค่อนข้างเข้มข้น ในกลุ่มผู้ชมบางส่วนที่ชื่นชอบในอีวานเกเลียนที่บางคนอาจจะไม่ได้เข้าใจเนื้อหาหลักมากนัก แต่ติดใจในการเล่าเรื่องของภาวะจิตใจของบรรดาตัวละครก็มีไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ถึงจะดูเป็นอนิเมะที่เล่นกับภาวะจิตใจ ที่ดูแล้วอาจจะทำให้หดหู่ได้ แต่ภายในเรื่องก็ได้มีการบอกเล่าถึงวิธีการก้าวข้ามความเจ็บปวดไว้ด้วยเช่นกัน นั่นคือการยอมรับในตนเอง การรู้ถึงคุณค่าในตัวเอง การแสดงความรู้สึกของตนเองให้ผู้อื่นรู้ และการรับความรู้สึกของผู้อื่นมาใส่ในใจของตนเอง ทว่าไม่ว่าจะส่งความรู้สึกออกไปหรือรับความรู้สึกเข้ามาทุกอย่างล้วนต้องทำอย่างพอดี ต้องค่อยๆ ปรับจูนกันไป นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าการอยู่ร่วมกับตัวเองและผู้อื่น เมื่อเข้าใจและสามารถรับผิดชอบในการกระทำของตน เมื่อนั้นก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริง ปัญหาจิตใจที่เกิดขึ้นกับเหล่าเด็กๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขได้ง่ายๆ หลายๆ คนอาจจะไม่ได้พบกับโอกาสหรือผู้คนที่พร้อมจะรับฟังและแก้ปัญหาไปด้วยกันได้ และหลายครั้งปัญหาเหล่านี้ก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้าย ไม่ว่ากับตัวเด็กเอง ครอบครัว หรือแม้กระทั่งคนรอบข้าง 

ในยุคที่ปัญหาภาวะจิตใจเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่พบเจอ โดยเฉพาะในหมู่เด็กๆ ที่เป็นกันมมากขึ้นจากปัญหาภายในครอบครัว การแข่งขันที่สูงและความกังวลต่ออนาคตที่ไม่แน่นอน เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้า การดูแลเรื่องสุขภาพจิตของเด็กๆ จึงเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรให้ความใส่ใจ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า