fbpx

ค้นทุก Tips จากทุกทิศของมัณฑิตา จินดา ผู้ก่อตั้ง Digital Tips Academy

โลกของ ‘การตลาด’ เป็นหนึ่งสิ่งที่มีความผันผวนมากที่สุด ไม่ต่างจากหุ้น หรือคริปโตเคอร์เรนซี เพราะการทำการตลาดขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม ประชากรศาสตร์ เศรษฐกิจ เทคโนโลยี รวมไปถึงสิ่งสำคัญอย่างลูกค้า ที่เป็นเป้าหมายหนึ่งของการตลาด ซึ่งมีความแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล ทุกอย่างล้วนประกอบกันเพื่อให้การตลาดนั้น ๆ ประสบความสำเร็จได้

เช่นเดียวกันกับโลก ‘การตลาด’ ของ ทิป-มัณฑิตา จินดา ผู้ก่อตั้ง และผู้สอนประจำคอร์สต่าง ๆ ของ Digital Tips Academy ที่เริ่มต้นสนใจในด้านการตลาดนี้ด้วยการมองเป็นเรื่องสนุก และน่าสนใจ มีเรื่องมากมายที่ชวนให้เธอคุ้ยแคะแกะเกา และเอามาเป็นส่วนประกอบ จากแค่เพียงความชอบของเธอ กลายเป็น Passion ที่คอยขับเคลื่อนทุกสิ่งในชีวิตของเธอนับแต่นั้นมา จนปัจจุบัน เธอกลายเป็น ‘ผู้รู้’ แห่งโลกการตลาดดิจิทัลในเมืองไทย เป็นผู้จัดงาน Seminar on Stage (SOS) เกี่ยวกับการตลาดในโลกดิจิทัล ทั้ง Digital SME Conference Thailand และ Social Media Platform Conference Thailand เป็นผู้สร้างสรรค์รายการ SME Biz Talk ทางช่อง Workpoint รวมถึงการเดินสายบรรยายเรื่องราวที่น่าสนใจซึ่งเกี่ยวกับการตลาด

ชีวิตของเธอคลุกเคล้าไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการตลาด จากความชอบ พัฒนาเป็นความรัก และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว วันนี้ The Modernist ชวนเธอมาเล่า ‘Tips’ หรือเกร็ดชีวิตที่น่าสนใจ รวมไปถถึงเกร็ดที่เกี่ยวข้องกับการตลาดจากทั้งหมดของชีวิตเธอ เหมือนกับที่เธอทำสิ่งในเพจของเธอเอง กลั่นกรองผ่านเรา และเล่าให้คุณได้อ่านในบทความนี้

1st Tips
เลือกเส้นทางที่ใช่ บนความชอบของตัวเองไว้ก่อน

“ช่วงแรกที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เราคิดว่าตัวเองอยากจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ก็เลยสอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่พอเราได้เริ่มเรียนจริง ๆ ก็รู้สึกได้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ความเป็นเราเท่าไหร่ เพราะเราค้นพบว่าตัวเองชอบใช้ชีวิตนอกคณะเศรษฐศาสตร์มากกว่า ชอบทำกิจกรรม เล่นละครเวที ทำงานบอล ออกค่าย เป็น DJ ซึ่งมันพอจะพูดได้ว่าคณะนี้ไม่ค่อยตรงกับตัวเอง”

“ส่วนตัวเราเป็นคนสนใจด้านการตลาด เพราะรู้สึกว่าการตลาดเป็นเรื่องสนุก มันไม่ตายตัว ชอบอ่านเคสที่น่าสนใจ ชอบดูวิธีคิด วิธีการทำงานของเขาว่าเขาคิดแคมเปญยังไง หาอินไซต์ยังไง เป็นศาสตร์ที่ไม่ได้มีค่ามาตรฐานตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทอย่างอื่นได้ เราเลยยิ่งรู้สึกว่าเรื่องการตลาดมันมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ อยู่เสมอ มีเรื่องราวใหม่ ๆ ให้เราติดตามได้ตลอด มีเรื่องให้เรานำไปคิด วิเคราะห์ต่อได้เรื่อย ๆ จากเคสต่าง ๆ ที่ทำให้มันไม่ได้เป็นเรื่องราวที่จำเจ หรือน่าเบื่อสำหรับเรา”

“เราเลยเริ่มจะเบนเข็มความสนใจตัวเองมาทางด้านการตลาดมากขึ้น อย่างหลังจากเราเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ เราก็มีความฝันที่อยากจะเป็นนักการตลาด เราก็ทำงานในสายงานการตลาดในบริษัทที่ทำเกี่ยวกับ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) แล้วก็เรียนต่อปริญญาโทเกี่ยวกับด้านการตลาดและการจัดการ สุดท้ายก็ทำงานประจำตำแหน่ง Vice President of Digital Marketing and Brand Communication ที่ Workpoint Entertainment ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับการตลาดมาโดยตลอด”

2nd Tips
หากรู้ความสนใจของตัวเอง ให้เร่งรัดพัฒนาให้เป็นงาน

“เราต้องบอกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ทำงานอย่างที่ตัวเองชอบ ที่มาจาก Passion ของเรา เราเป็นคนเสพสื่อที่เกี่ยวข้องกับการตลาดทั้งรายการ SME ตีแตก, Marketing Oops!, Time’s Up หรือ The Standard มาโดยตลอด หรือในมุมของการทำงานเราก็คลุกคลีอยู่กับเรื่องราวเหล่านี้เสมอ มันเหมือนกับว่าทุกวันนี้เราไม่ได้รู้สึกว่าเรากำลังทำงานอยู่ เพราเรากำลังทำในสิ่งที่เราสนใจ หรือชอบมาก ๆ อยู่แล้ว เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่เราสนใจ เราก็จะไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราฝืนใจทำ ในทางกลับกันเวลาคนอื่นมองเข้ามาที่เรา เขาอาจจะรู้สึกว่าทำไมคนนี้บ้างานจัง ทำงานเจ็ดวันได้โดยไม่เบื่อ เพราะในสิ่งที่เรากำลังทำ มันคือตัวเรา”

“อย่างเพจ Digial Tips Academy ก็เกิดขึ้นตอนที่เราดูแลแผนกดิจิทัลอยู่ ในหนึ่งวันเราหมดเวลาไปกับการประชุม หรือทำงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เวลาที่เหลือเราจึงใช้ไปกับ Passion ซึ่งก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับการตลาด อีกทั้งการที่เราบังเอิญมีขาข้างหนึ่งอยู่ในองค์กร อยู่ในด้าน SME และขาอีกด้านที่อยู่เกี่ยวกับแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งทั้งสองข้างที่เราอยู่เราคดว่าบางครั้งคนทั่วไปอาจจะไม่ได้เจอเรื่องราวแบบเรา เราก็เลยอยากนำสิ่งที่เราเจอมาเล่า จึงเริ่มต้นทำเพจขึ้นมาเพียงเพราะแค่เราอยากเขียน อยากเล่าเรื่องราวที่เราพบเจอมาในเรื่องนี้ ซึ่งในช่วงแรกเราทำเพียงการเขียนเล่าเรื่องราว แล้วก็มีผู้คนเข้ามาตอบโต้ด้วย เริ่มมีคนถามคำถามเข้ามา เราก็ตอบไป ถามกันไปมาก็เริ่มมีคนถามว่าอยากสอนเรื่องนี้ไหม เราก็เลยเริ่มต้นเปิดคลาสเรียนเล็ก ๆ เป็นงานอดิเรกต่อยอดจากการทำเพจ จนผู้เรียนบอกกันปากต่อปากกลายเป็นคลาสเรียนที่มีคนเข้ามาเรียนมากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงที่เราทำสิ่งนี้ขนานไปกับการเป็นพนักงานบริษัท เราจึงต้องเลือกเส้นทางที่เราสามารถให้ความชัดเจนกับชีวิตมากขึ้น จึงตัดสินใจเดนออกมาจากการเป็นพนักงานบริษัท และทำ Digital Tips Academy เต็มตัว”

3rd Tips
เลือกทำสิ่งใดแล้ว ต้องลงรายละเอียดกับสิ่งนั้นให้มากเข้าไว้

“เราเป็นคนทำคอร์สเรียนที่เตรียมตัวเยอะมากในทุก ๆ ครั้งที่สอน เพราะต่อให้เป็นคอร์สเรียนเดิม เราก็จะอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมเรื่อย ๆ บางครั้งเราก็เพิ่มสไลด์ใหม่ ๆ เข้าไปจนกระทั่งคืนสุดท้ายก่อนวันสอน เพราะเรารู้สึกว่าคนที่มาเรียนเขาควรจะได้เรียนในส่งที่เป็นปัจจุบันที่สุด ผ่านแก่นของแต่ละคลาสที่กำหนดเอาไว้แต่แรก เราเรียบเรียงเนื้อหาการเรียนด้วยวิธีการสวมหมวกเป็นผู้เรียน แล้วพยายามนึกว่า ถ้าเป็นเรา จะมีเรื่องราวอะไรรายล้อมบ้างที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ เราพยายามแทนใจคนมาเรียนว่าเขาควรจะได้เรียนรู้สิ่งไหนบ้าง มีหัวข้อไหนบ้างที่ยากเกินไป แล้วเราจะทำยังไงได้บ้างให้เรื่องราวเล่านั้นมันสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นสำหรับเขา เพราเรามองว่าเรื่องวิชาการที่ดีมันต้องเข้าใจง่าย ต้องสามารถถทำให้คนที่ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ มาก่อนเลยสามารถทำความเข้าใจได้ในเวลาอันสั้น เหมือนที่เราพยายามนึกว่า ถ้าเราเป็นคนมาเรียน เราอยากให้มีคนมาบอกกับเราแบบนี้มาก ๆ เพราะเรื่องบางเรื่องจำเป็นต้องใช้เวลาในการเข้าใจ รวมไปถึงหากสามารถเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้นได้แล้ว มันอาจจะเป็นประโยชน์แก่คนนั้น ๆ ได้อีกมาก”

“พอเราได้เป็นผู้บริหารเอง เราพยายามจะนำทีมไปในทิศทางที่ถูกต้อง เริ่มจากการพยายามวางระบบขององค์กรให้ดี จากตอนนี้ที่มีน้อง ๆ ไม่เยอะมาก เพื่อเป็นการก่อร่างสร้างตัวขององค์กรให้ได้ดีที่สุด เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ อย่างเรื่องของการทำงานก็จำเป็นต้องใช้การทำงานแบบ Multitasking หนึ่งคนควรจะทำได้หลาย ๆ อย่าง ในหลาย ๆ พื้นที่สื่อ น้อง ๆ จะได้โตขึ้น เราสนับสนุนน้อง ๆ ในเรื่องการเรียนรู้มากเราไม่อยากให้เขาทำแต่สิ่งเดิม ๆ อยากให้เขาสำรวจเส้นทางไปเรื่อย ๆ ซึ่งเขาอาจจะพบเจอเรื่องใหม่ ๆ ที่เขาชอบ หรือสนใจเพิ่มขึ้นก็ได้ ความยากของการทำองค์กรของเราก็เลยเกี่ยวข้องกับการหาคนที่สนุกกับการทำงานหลายอย่างได้ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการทำงานที่ไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่อย่างน้อยถ้าเราเจอ Passion ในการทำงานที่ตรงกัน งานก็จะไหลลื่น”

“เรามองอนาคตของ Digital Tips Academy ไว้ว่าเราอยากทำให้เรื่องของการศึกษามีคุณค่า ควรเป็นเรื่องที่เข้าถึงผู้คนในวงกว้างได้ และสามารถนำไปใช้แล้วทำให้ชีวิตดีขึ้นได้จริง ๆ เพราะว่าเรื่องบางเรื่องการที่เรารู้ หรือไม่รู้ อาจทำให้มุมมองเราเปลี่ยน เหมือนกับเรารู้ความลับของสวรรค์แล้วโลกก็เปลี่ยนไปเลย เราอยากให้ Digital Tips เป็นอย่างนั้น รวมไปถึงในระหว่างนั้น เราก็อยากเรียนรู้ และเติบโตไปพร้อม ๆ กับนักเรียนของเรา เพราะเอาจริง ๆ แล้วเราก็ไม่ได้คดว่าเราเก่ง หรือรู้ทุกอย่าง เรามีเส้นทางการเรียนรู้ของเราเหมือนกัน บางเรื่องที่เราเพิ่งเจอ หรือเพิ่งเข้าใจ เราก็เอามาบอกต่อ แม้แต่ความผิดพลาดที่เราเคยเจอ เราก็เอามาบอก”

4th Tips
อย่าลืมให้โอกาสใหม่ ๆ กับชีวิต

“การทำงานใน Digital Tips Academy เราได้ทำงานหลายอย่างที่ทำให้รู้ว่าธรรมชาติของงานแต่ละงานไม่เหมือนกัน อย่างเวลาเราจัดอีเวนต์ก็เป็นแบบหนึ่ง จัดอีเวนต์รูปแบบไฮบริด หรือออนไลน์ก็เป็นแบบหนึ่ง ทุกโจทย์รับมือไม่เหมือนกัน ตัวอย่างง่าย ๆ อย่าเงวลาเราจัดงานฟรี กับงานขายบัตร คนทำงานก็ต้องรับมือกันคนละแบบ บางคนบอกว่าการทำงานฟรีอีเวนต์ง่าย แต่จริง ๆ แล้วไม่ง่าย เพราะเราต้องกังวลว่าจะมีคนเข้ามาดูงานเราไหม เขาจะอยู่กับงานของเราได้นานแค่ไหน เขาจะรับรู้ความตั้งใจทั้งหมดในเนื้องานของเราไหม เพราะถ้าเป็นงานขายบัตรอย่างน้อยเราเห็นยอดผู้ซื้อบัตรเข้างาน แต่งานฟรีเราไม่รู้เลย ลุ้นมากในทุก ๆ งาน”

“ในทุก ๆ ปีที่เราทำงาน ล้วนเป็นงานใหม่ตลอด งานที่เราจัดที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศเราก็ไม่เคยทำ ตอนจัดงานสัมมนา Digital SME Conference Thailand เราก็ไม่เคยทำ หรืออย่างการทำโปรดักชั่นรายการทีวีเราก็ไม่เคยทำ แม้แต่น้อง ๆ ของเราหลายคนก็ไม่เคยทำงานด้านโทรทัศน์มาก่อนเลย ทั้งหมดนี้ก็เป็นคลาสเรียนของเรา ที่ทำให้เรา และน้อง ๆ ของเราได้เรียนรู้งานอีกหลาย ๆ รูปแบบที่เราไม่เคยทำ ได้เห็นจุดแข็ง-จุดอ่อนภายในองค์กรของเราเอง ได้เห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวน้อง ๆ บางคนจากงานบางงาน ที่เราไม่เคยได้เห็นมาก่อน เพราะปกติเป็นการทำงานในออฟฟิศมากกว่า การทำงานใหม่บนพื้นที่ใหม่ ๆ มันทำให้เราได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่างมากขึ้น และะก็ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นด้วยเช่นกัน”

5th Tips
คนรอบข้าง เป็นส่วนหนึ่งของการทำตามความชอบ หรือความฝัน

“เราเป็นลูกสาวคนเดียวของบ้าน พ่อแม่เราเข้มงวดกับเรามาก แต่พ่อแม่เคารพเราให้เรื่องของกระะบวนการคิด และตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิต เขาไม่ได้จ้ำจี้จ้ำไช ไม่เคยบังคับเราเลย ไม่เคยบอกเราว่าต้องเลือกเรียนอะไร หรือต้องทำอะไร แต่เขาจะแสดงความชื่นชมเวลาเราทำอะไรแล้วเกิดผลดีต่อตัวเรา เขาจะดีใจมาก ไปคุยกับคนทั้งซอยได้เลย อีกอย่างคือเขาปล่อยให้เราสำรวจเส้นทางเดินในชีวิตของตัวเราเอง อย่างตอนที่เราเอนทรานซ์ติดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราเลือกเรียนที่ธรรมศาสตร์ เขาก็ถามเราว่าทำไมถึงไม่เลือกที่จุฬาลงกรณ์ เราก็บอกไปว่าเพราะตอนนั้นธรรมศาสตร์มีภาคอินเตอร์ เราอยากไปเรียนแลกเปลี่ยน ซึ่งเขาก็ให้เราตัดสินใจเอง เรื่องเหล่านี้พ่อแม่ไม่เคยเข้ามาแทรกแซงเลย วิธีการสอนของเขาทำให้เราโตขึ้นมาก”

“ครอบครัวเราซัพพอร์ตกันมาก ๆ แม้กระทั่งลูกของเราก็ซัพพอร์ตเราอยู่เสมอ คนที่บ้านคือเซฟโซนของเรา อย่างในช่วงที่เราเรียนมหาวิทยาลัยเราเป็นคนค่อนข้างไฮเปอร์ เราทำกิจกรรม ทำงานบอล ซ้อมละครเวที นอนค้างที่มหาวิทยาลัย หรือกลับบ้านดึกอยู่บ่อย ๆ พ่อแม่เราก็จะอยู่ในภาวะที่ต้องรับลูกตอนตีสอง แล้วเจ็ดโมงเช้ามาส่งที่คณะ ความโชคดีของเราคือพ่อแม่เราเข้าใจ อย่างพอเราถึงช่วงวัยของการทำงาน เราก็ไปทำงานแต่เช้า กลับบ้านดึกเหมือนกัน ถ้าคนที่บ้านไม่ได้เข้าใจเราขนาดนี้ เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิตได้เหมือนกัน”

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า