fbpx

#ดรามาจองตั๋วรถไฟฯ สะท้อนอะไรในการสื่อสารผ่าน infographic ของหน่วยงานภาครัฐบ้าง ?

ในยุคสมัยที่ผู้คนให้ความสนใจกับงานออกแบบเพิ่มมากขึ้นอย่างนี้ บ่อยครั้งที่เรามักเห็นไวรัลชวนทัวร์ลงเกี่ยวกับเรื่องงานออกแบบ หรือกระบวนการสื่อสารที่เป็นปัญหา อย่างล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมากับประเด็นของ infographic ของ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจองตั๋วเดินทางล่วงหน้า ซึ่งในแง่การออกแบบก็มีปัญหาอยู่บางส่วน จากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในแง่ของการออกแบบ infographic ที่ถูกวิธี เพราะเนื้อหาบนงานกราฟิกดีไซน์ชุดนี้นั้นเต็มไปด้วยตัวอักษรเล็กใหญ่เรียงรายกันจนเกินความจำเป็น

ซึ่งนั่นยังไม่เท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการและชาวเน็ตปวดหัวกว่าเลยคือเนื้อหาภายใน ซึ่งการจองตั๋วล่วงหน้าแบบใหม่นี้แยกย่อยระยะเวลาการอนุญาตให้จองตามระยะทางของปลายทาง ถ้านั่งไปสถานีใกล้ ๆ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ก็จองภายในวันเดียวก็ได้นั่ง แต่ถ้าจองไปที่ไกล ๆ ก็ต้องจองล่วงหน้าภายใน 90 วัน ฟังดูเหมือนง่าย แต่พอทุกคนเจอ infographic รายละเอียดการจองชุดนี้ไปถึงกับต้องหงายเงิบ

ภาพจาก – ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

นี่ไม่ใช่ข้อสอบเตรียมอุดมฯ แต่อย่างใด แต่คือรายละเอียดการจองที่พยายามแจกแจงเนื้อหามากเกินไปจนทำให้ผู้อ่านสับสนได้แทบจะทันที นอกจากวิธีการอธิบายความแตกต่างของระยะการจองที่พยายามตีความเป็น ‘ค่าเปอร์เซ็นต์’ แล้ว รูปแบบการยกตัวอย่างในส่วนถัดมาของกราฟิกชุดนี้ยิ่งทำให้ผู้อ่านสามารถเทียบเคียงเนื้อหาบนกราฟิกเป็น ‘กระดาษข้อสอบ’ เข้าไปอีก

หลังจากความสับสนถาโถมไปยังเพจประชาสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย พวกเขาจึงรีบอธิบายความเข้าใจด้วย infographic อีกชุดโดยทันที

ภาพจาก – ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

เทียบกันแล้ว infographic ชุดนี้ยังมีความเป็น ‘infographic’ มากกว่าชิ้นที่ผ่านมา สีของขบวนรถ หมุดแสดงสถานีต่าง ๆ และกรอบคำแสดงระยะเวลาที่สามารถจองล่วงหน้าได้ แสดงผลได้เป็นระบบมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อเสียเรื่องของรายละเอียดการสื่อสารซ้ำซ้อนมุมซ้ายล่าง อาจเพราะพวกเขากลัวว่าประชาชนดูกราฟิกแล้วยังไม่เข้าใจอีก เลยอธิบายเพิ่มเติมด้วยภาษาทางการ จนทำให้ขนาดตัวอักษรในแต่ละข้อความมีขนาดเล็กจนไม่น่าให้อภัย และยิ่งออกแบบเลย์เอาต์งานให้เป็นแนวนอน ก็ยิ่งส่งผลให้วิธีการอ่านของประชาชนเป็นไปได้ยากเข้าไปอีก

ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไปออกข่าวแสดงความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าจริง ๆ ทุกอย่างดำเนินการง่ายกว่านั้น จนกลายมาเป็น infographic ชิ้นสุดท้ายที่ทำให้ดราม่าครั้งนี้ซาลงไปพอสมควร

ภาพจาก – ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

จริง ๆ เนื้อหาของกราฟิกชุดนี้เป็นเพียงการย่อยเนื้อหาของ infographic ชิ้นก่อนหน้าเท่านั้น เพื่อสร้างความกระจ่างกับประชาชนว่าขบวนรถด่วนพิเศษขบวนไหนบ้างที่มีการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ซึ่งก็ยังคงมีประชาชนหลายส่วนเกิดความสงสัยในรายละเอียดยิบย่อยอื่น ๆ ตามมาอีกเช่นกัน

กลับไปที่ประเด็นหลักของการสื่อสารครั้งนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ต้องการทำการตลาดเพื่อให้ได้กำไรที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น จากการที่แต่เดิมผู้โดยสารที่นั่งระยะทางใกล้ และระยะทางไกลมีโอกาสเริ่มจองที่นั่งก่อนเท่ากัน ทำให้หลายครั้งที่รถไฟเดินทางไปไม่กี่สถานี ผู้โดยสารที่ลงจุดหมายปลายทางใกล้ ๆ ลงรถก่อน และเกิดเป็นที่นั่งว่างจนสุดเส้นทาง ทำให้โอกาสในการสร้างมูลค่าของที่นั่งทั้งขบวนลดน้อยลงไป หากเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารที่นั่งระยะทางไกลจองก่อน ก็จะทำให้โอกาสการทำเงินในแต่ละที่นั่งเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมได้

ซึ่งนี่เป็น pain point ที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่นั่งรถไฟไทยอาจจะเข้าใจกัน แต่ผู้คนอีกส่วนที่ไม่เคยนั่งรถไฟไทยไม่ได้เข้าใจไปด้วยทันทีตั้งแต่แรก ทำให้ first impression ของผู้คนที่เห็นวิธีการสื่อสารในงานชิ้นนี้ ล้วนเต็มไปด้วยคำครหา และเหน็บแนม ‘ความยาก’ ทั้งในแง่กระบวนการ และวิธีทำความเข้าใจกราฟิกชุดนี้พร้อม ๆ กันเป็นอันดับแรก

ภาพจาก – ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

และเมื่อลองย้อนกลับไปดู infographic ชิ้นเก่า ๆ ของเพจประชาสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็พบว่าส่วนใหญ่แล้วรูปแบบของเนื้อหาจะค่อนข้างแน่น จากความเยอะของรายละเอียดหลาย ๆ ด้าน ทั้งชื่อสถานี การเรียกรูปแบบของรถไฟ และจากความพยายามจะใส่ข้อมูลสำคัญเกือบทุกอย่างลงในกราฟิกแผ่นเดียว ทั้งหมดจึงทำให้เกิดปัญหาที่ใกล้เคียงกันในกราฟิกหลาย ๆ ชิ้นกับการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากพูดกันตามตรง เราจะเห็นว่าหลายครั้งเวลาหน่วยงานรัฐส่วนใหญ่เจอโจทย์การนำเสนอเนื้อหาเยอะ ๆ ลงในกราฟิกเพียงชุดเดียว ไม่ว่าการสื่อสารครั้งที่ผ่าน ๆ มา จะทำได้ดีขนาดไหน เมื่อเจอโจทย์ในการออกแบบ infographic ที่มีเนื้อหายุบยับแบบนี้ทีไร ฝ่ายประชาสัมพันธ์จะตกม้าตายทุกครา

ภาพจาก – กระทรวงศึกษาธิการ

ภาพจาก – กระทรวงยุติธรรม

นั่นแสดงถึงว่ารูปแบบการสื่อสาร infographic ของหน่วยงานภาครัฐในเนื้อหาขนาดยาวนั้นไม่ได้สร้าง ‘ความง่าย’ แก่สายตาประชาชนผู้อ่านได้มากเพียงพอเท่าไหร่นัก อีกทั้งกรณีของ infographic ชุดนี้ เป็นข้อมูลที่ผู้อ่านอาจจะต้องเข้าใจบริบทข้างเคียงของเนื้อหาชุดนี้ก่อน จึงจะสามารถเข้าใจเนื้อหาบนกราฟิกชุดนี้ได้ นั่นแปลว่ากราฟิกจะซับซ้อนไม่ได้ และจำเป็นต้องแจกแจงที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงการจองตั๋วรูปแบบนี้อีกด้วย

เมื่อลองเปรียบเทียบหลักการและขั้นตอนการออกแบบ infographic จากหลาย ๆ ที่แล้ว เวลาจะเริ่มออกแบบชิ้นงานสำหรับการสื่อสารประเภทนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ‘กำหนดกลุ่มเป้าหมาย’ ที่ต้องการสื่อสาร เราเลยเดาว่าผู้ส่งสารอาจจะตั้งใจออกแบบการสื่อสารนี้ให้ผู้ที่ใช้งานรถไฟอยู่แล้วเข้าใจก่อนเป็นอันดับแรกก็ได้ หรือจุดอ่อนอีกเรื่องของกราฟิกชุดนี้ น่าจะมาจากการสรุปข้อมูลได้อย่างไม่กระชับ และเต็มไปด้วยเนื้อหาที่มากเกินความจำเป็น

ซึ่งส่งผลให้ขั้นตอนหลังจากนั้นทั้งหมดพังครืน เพราะเนื้อหาที่เยอะส่งผลทั้งการวางโครงร่างกราฟิกที่ไม่เหมาะสมต่อการนำเสนอจริง ๆ หรือส่งผลให้รูปแบบการออกแบบให้กลายเป็น infographic นั้นยากขึ้นหลายระดับ เพราะแค่เนื้อหาที่เป็นตัวอักษรก็แทบจะไม่มีพื้นที่ให้สร้างสรรค์อะไรต่อได้อีก

อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ใช้งานบางส่วนที่ลองเอาเนื้อหาบน infographic ของการรถไฟแห่งประเทศไทยมาต่อยอดให้เข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นชิ้นงานด้านล่างนี้

ภาพจาก – Pic Production

จะเห็นว่าพอรูปแบบเกิดการลดทอนจนเหลือข้อความบนภาพเพียง 20-30% ทำให้เนื้อหาดูง่ายขึ้น ดูเข้าถึงง่ายขึ้น แต่จากประเด็นในการนำเสนอนั้นก็จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ควรทราบเบื้องต้นก่อนที่จะเข้าใจเนื้อหานี้อีกรอบอยู่ดี

จากดรามาครั้งนี้ที่ผู้คนถล่มไปยังต้นทางจนต้องแก้ไขการสื่อสารแล้วหลายครั้ง  ยังทำให้เราเห็นว่า ‘หน่วยงานภาครัฐ’ กับเนื้อหาประเภท ‘infographic’ ยังคงเป็นของแสลงต่อกันเสมอ และยังคงต้องแก้ไขความเข้าใจต่อกันแบบนี้อีกเรื่อย ๆ เป็นแน่ ตราบใดที่พวกเขายังคงตกผลึกเนื้อหาก่อนนำเสนอได้ไม่ดีนัก งาน ‘infographic’ ก็จะกลายเป็นเรื่องยากของพวกเขาเสมอมา และอาจจะตลอดไปหากไร้การให้ความสำคัญอย่างตรงจุดและเพียงพอ

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า