fbpx

จุฬาธิปไตย มินิซีรีส์ตีแผ่ปัญหาในรั้วจุฬาฯ ที่ไปไกลจนถึงปัญหาสังคม

มีอะไรให้อ่านบ้างในบทความนี้?

เหตุการณ์ ตัวละคร และองค์กรที่ปรากฎในภาพยนตร์ซีรีส์นี้เป็นเรื่องสมมติ (แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นเรื่องจริงได้) หากมีองค์ประกอบอันหนึ่งอันใดไปคล้ายคลึงหรือก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจต่อบางบริษัทนายทุนในคราบสถานศึกษา ทางทีมผู้สร้างต้องขออภัยตามสมควรมา ณ ที่นี้

คำบรรยายข้างต้นปรากฎอยู่ในตอนต้นของซีรีส์จุฬาธิปไตย ซึ่งทำโดยนิสิตกลุ่มหนึ่งในรั้วจุฬาฯ

แรกเริ่มเดิมที เราคิดว่าน่าจะเป็นการทำอย่างอิสระของนิสิตกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดความอ่าน ไม่ได้ขึ้นตรงใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อทราบว่าซีรีส์เรื่องนี้แรกเริ่มเป็นโครงการของสภานิสิตจุฬาฯ ซึ่งว่ากันตามตรง เราก็ถึงตกใจไม่ใช่น้อย เนื่องจากไม่คิดว่าโครงการที่ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยจะมีเนื้อหาที่วิจารณ์ตัวมหาวิทยาลัยเองได้

และเมื่อลองไปดูจริงๆ จุฬาธิปไตย ทั้ง 7 ตอน ไม่เพียงพูดถึงปัญหาในรั้วจุฬาฯ เท่านั้น แต่ยังนำเสนอปัญหาและค่านิยมต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม เช่น ความยากจน, ความเหลื่อมล้ำ, Beauty Standard และอื่นๆ และนอกจากนำเสนออย่างตรงไปตรงมา แต่ก็ไม่ได้ตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือผิด แต่เหลือพื้นที่ให้คนได้ลองกลับไปคิดหรือมาถกเถียงกันได้

เวลาผ่านไป 1 ปี โครงการนี้ก็กลับมาอีกครั้งใน จุฬาธิปไตย Part 2 ที่เมื่อได้ดูตัวอย่างก็พบความทะเยอะทะยานของทีมงานที่ต้องการไปให้ไกลจากปัญหาในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ยกระดับไปถึงปัญหาในสังคมใหญ่

เราจึงนัดคุยกับทีมงานจุฬาธิปไตยทันที นำทีมโดย โอ๊คแลนด์-กฤษฏิ์ เอื้ออุดมเจริญชัย โปรดิวเซอร์ และ แพท-กุลพัทธ์ เอมมาโนชญ์ ผู้กำกับ พร้อมด้วยทีมนักแสดงทั้ง 3 คน ลิลลี่-ณิชากร เมฆวรวุฒิ, ปอ-ภากฤษ เสริฐศรี และ ต้า-ภาคภูมิ เศรษฐกวิน เพื่อคุยถึงที่มาที่ไป

และการเดินทางของพวกเขากับโครงการจุฬาธิปไตยตลอดสองปีที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นของ “จุฬาธิปไตย”

โอ๊คแลนด์: มันเริ่มต้นมาจากการตอนเดือนมิถุนายนปี 2020 โอ๊คเข้ามาเป็น PR ของทางสภานิสิต เราก็มีไอเดียว่าเราอยากจะทำสื่อเพื่อยกระดับการรับรู้ต่อปัญหาที่มีในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น เพราะจากการที่เราเป็นสภานิสิต เราได้รับข้อร้องเรียนต่างๆ จากนิสิต รวมไปถึงเรื่องราวที่เราได้รับการรับรู้จากองคาพยพต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมันเป็นปัญหาที่มีอยู่ แต่มันไม่เคยถูกบอกเล่า ไม่เคยถูกทำให้อยู่ในการรับรู้ของคนหมู่มากเลย เราก็เลยอยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้เสียงเหล่านี้มันถูกส่งออกไปสู่คนหมู่มาก ว่ามันมีปัญหาเหล่านี้อยู่นะ ก็เลยมีไอเดียของการทำหนังสั้นขึ้นมา ก็ได้ติดต่อกับทางแพทไป

แพท: จนกระทั่งคิดไปกันไปคิดกันมาก็รู้สึกว่าถ้าทำเป็นมินิซีรีส์มันน่าจะใช้พื้นที่นำเสนอประเด็นได้เยอะกว่า เลยได้เป็นมินิซีรีส์ขึ้นมา ตอนแรกก็จะมีแค่ 4 ตอน แต่เขียนไปเขียนมามันก็ยาวขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดซีซั่นแรกก็มีออกมา 7 ตอน
โอ๊คแลนด์: จริงๆ เราไม่เคยคุยกันมาก่อนเลย แค่เป็นเพื่อนในเซคเดียวกันเฉยๆ แต่เราก็เคยเห็นผลงานของแพท ก็เลยติดต่อให้มาทำงานให้กับทางทีม PR ของสภานิสิต และก็ค่อยๆ พัฒนาจนเป็นซีรีส์จุฬาธิปไตยขึ้นมา

ทำไมต้องชื่อ “จุฬาธิปไตย”

โอ๊คแลนด์:เราคิดชื่อจุฬาธิปไตยนี้ขึ้นมา โดยสมาสคำขึ้นมาเอง เราต้องการนิยามว่า นี่คืออธิปไตยของเด็กจุฬาฯ นี่คือระบอบการปกครอง ผู้ปกครองซึ่งก็คือนิสิต จะเป็นผู้ที่สามารถเลือกได้เองว่าเขาต้องการให้มันเป็นแบบไหน มันคือระบอบการปกครองที่ออกแบบโดยนิสิต เพื่อนิสิต ซึ่งมันก็เหมือนประชาธิปไตยนี่แหละ แต่เราต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาในหลายๆ ครั้ง ระบบการศึกษาหรือระบบที่ออกแบบมามันออกแบบโดยคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ หรืออาจารย์ ซึ่งเขาไม่ได้มีความเข้าใจในตัวนิสิตหรือความคิดความอ่านของนิสิตอย่างถูกต้อง มันเลยไม่ Practical เราเลยอยากตะโกนออกไปว่าเราต้องการระบบที่ออกแบบโดยนิสิตเองจริงๆ แล้วมันไม่หลงลืมหรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง ก็เลยนิยามคำว่าจุฬาธิปไตยขึ้นมา

ชื่อภาษาอังกฤษ Chulasphere ก็คิดขึ้นมาเองเหมือนกัน เราคิดว่าชื่อจุฬาธิปไตยมันติดหู แพทก็โยนกลับมาว่าแล้วชื่อภาษาอังกฤษล่ะ ขอเก๋ๆ นะ เราก็ไปนั่งคิดมา ก็ได้มาเป็นคำนี้ คือเอาคำว่า Chula มาสมาสกับ Sphere ที่แปลว่าบรรยากาศ Chulasphere ก็คือบรรยากาศของจุฬา แล้วมันก็พ้องเสียกับคำว่า Chula’s fear เพราะเรารู้สึกว่าผู้ใหญ่เขาโคตรกลัวเราเลย

จริงๆ ตอนแรกโครงการนี้มีชื่อว่า Chula Parasite เพราะว่าตอนนั้น Parasite ดังมาก แต่มันเป็นหนังที่ทั้ง Mass และ Niche กวาดทั้งกล่องและเงินในเวลาเดียวกัน ก็เลยตั้งชื่อโครงการขำ ๆ ไป เพราะเราก็อยากทำได้แบบนั้นบ้าง

ทำงานในส่วนการคิดบทหรือประเด็นที่จะเล่าในเรื่องยังไง

แพท: เราก็จะมาคุยกันกับคนในสภา มีกันประมาณ 4-5 คนว่ามันมีประเด็นปัญหาอะไรน่าสนใจใจจุฬาฯ บ้างที่น่าหยิบขึ้นมาพูด ซึ่งประเด็นที่หยิบมาจะไม่ใช่ประเด็นเรื่อยๆ ทั่วไป แต่จะเป็นประเด็นที่น่ามาดีเบต อย่างในซีซั่นแรกมันก็มีประเด็นที่น่าดีเบตอย่างเช่น Beauty standard หรือความเลื่อมล้ำต่างๆ พอลิสต์ประเด็นออกมาก็จะนำมาเชื่อมเป็นบทต่อกัน

โอ๊คแลนด์: เราก็จะมีประเด็นที่อยากให้เขาเล่า เช่น ความเหลื่อมล้ำ การศึกษา ทุนการศึกษา เราก็จะให้ประเด็นเป็นการบ้านแพทกลับไปเขียนบทมา แล้วก็มาถกเถียงกันในทีม

มีกระบวนการคัดเลือกนักแสดงอย่างไร และนักแสดงทำงานกับบทอย่างไร

โอ๊คแลนด์: หลังจากที่เขียนบทเสร็จ ก็ถึงขั้นตอนการ Casting ว่าจะเอาใครมาเล่นดี ซึ่งทั้งสามคนนี้ (จากนักแสดงหลักทั้ง 4 คน) รู้จักกับโอ๊คอยู่แล้ว เนื่องจากเราเคยเล่นละครอักษรมาด้วยกัน แล้วมันก็บังเอิญว่าในคาแรคเตอร์ที่เราเขียนมา มันก็ไปสอดคล้องกับนักแสดงทั้ง 3 คนพอดี “ฤทธิ์” จะเป็นตัวละครที่เป็นหนุ่มหล่อที่โดยคาแรคเตอร์เขาจะมีความ Ignorance โดยไม่ได้ตั้งใจเพราะเขาเกิดมาบนกองเงินกองทอง มุมมองเขาก็มีแค่นั้น เขาก็พยายามจะแก้ปัญหาในแบบที่เขาคิดว่ามันดีแล้ว แต่พอมองด้วยอีกเลนส์หนึ่งมันไม่ได้ดีอย่างที่เขาคิด ซึ่งพี่ปอเองเขาก็ไม่ได้เป็นคนแบบนั้น แต่เขาจะมีความภูมิฐาน มีมาด ซึ่งสามารถที่สอดคล้องไปกับตัวละครได้ดี และในนิเทศและในจุฬาฯ เองก็จะหานักแสดงผู้ชายที่เล่นได้และตรงกับคาแรคเตอร์ยากมาก เพราะว่าอย่างนิเทศเองประชากรผู้ชายค่อนข้างจะขาดแคลน (หัวเราะ) แล้วคนนี้ (ปอ) ก็เหมาะสม เล่นได้ คาแรคเตอร์ ภาพลักษณ์ได้ เป็นตัวเลือกแรกของเราเลย ซึ่งจริงๆ ที่เหลือก็เป็นตัวเลือกแรกของเราเหมือนกัน

ตัวละคร “ภู” เป็นตัวละครที่มีความตัวเล็ก ไม่ค่อยกล้าที่จะส่งเสียงสักเท่าไร ซึ่งมันก็เป็นคาแรคเตอร์ของพี่ต้าเลย ที่จะมีความขี้อายนิดนึง จะไม่ได้โผงผาง ก็จะตรงเป๊ะเลย หรือตัวละคร “อร” ที่โดน Beauty Standard ทำร้าย เราก็รู้สึกว่ามันตรงกับพี่ลิลลี่มากๆ หลังจากพูดคุยกันเราก็ค้นพบว่าในชีวิตเขาก็เคยโดน Beauty Standard ทำร้ายมาจริง ๆ เพราะฉะนั้นทุกคนที่อยู่ตรงนี้รวมไปถึงป๋อมแป๋ม (แทนรักษ์ อัศวเลิศลักษณ์ รับบท “บิว”) จึงเป็นตัวเลือกแรกของเราหมดเลย อ่านบทแล้วมันต้องเป็นคนนี้

แพท: ทุกตัวละครเราสร้างมาจากประเด็น แล้วก็นำมาพัฒนาเป็นตัวละคร ตัวละครฤทธิ์ที่ซีซั่นแรกอาจไม่ได้ดูมีประเด็นเป็นของตัวเอง แต่เราตั้งใจให้ตัวละครนี้เป็นภาพแทนคนดูในจุฬาฯ เราคิดว่าในจุฬาฯ ประชากรส่วนใหญ่น่าจะเป็นอะไรประมาณนี้ เราเลยพยายามแทนสายตาของคนดูผ่านฤทธิ์ที่จะไปเจอกับประเด็นของตัวละครต่างๆ รวมไปถึงซีซั่นสองเราก็ยังคงให้ฤทธิ์เป็นตัวแทนของเด็กหลายๆ คนในนี้

ลิลลี่: ทั้งซีซั่นแรกและซีซั่นสอง เรารู้สึกว่า ไอ้เชี่ย นี่มึงเอาชีวิตกูมาเขียนแน่ ๆ (หัวเราะ) มันค่อนข้าง Relate มากๆ เป็นตัวเราในเวอร์ชั่นที่เราคิดว่านี่คือเรื่องที่เราอยากเล่า โดยเฉพาะซีซั่นสองเราคิดว่านี่เป็นตัวเราในเวอร์ชั่นที่เราคิดว่าถ้ามีโอกาส เราน่าจะไปทางนี้แน่ๆ เลย เพราะฉะนั้นในการทำงานของเรา อย่างในซีซั่นแรกที่เราเล่นตอนใกล้จะเรียนจบแล้ว มันก็คือการย้อนความทรงจำในสมัยปีหนึ่งปีสองว่าเราเคยประสบพบเจออะไรมาบ้าง และก็เอามาใช้ และมาขยายให้กับเรื่องนี้ มันก็เป็นเรื่องที่เราเคยเจอจริงๆ ในซีซั่นสองก็เป็นการเอาประสบการณ์ส่วนตัว เรื่องที่เราเคยคิดเคยหวังมาใช้ ก็มีคนที่เขาทักไอจีเรามาบอกว่าเหมือนเราได้พูดแทนเขาเลย เขาก็เคยเจอเรื่องประมาณนี้เหมือนกัน

ปอ: เอาจริงๆ ในกระบวนการทำงานมันทั้งยากทั้งง่ายในเวลาเดียวกัน Ignorance ของฤทธิ์มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างไกลตัว แต่ในขณะเดียวกันมันก็ใกล้ตัวเพราะเราก็เคยเป็นมาก่อน มันเหมือนกับว่าเราต้องไม่เข้าใจอีกคนหนึ่งเลยพอสมควร ตัวละครนี้มันเหมือนเป็นตัวละครที่พุ่งชนตลอดเวลาโดยไม่คำนึงถึงว่าเขาจะรู้สึกยังไง มันแค่อยากช่วยและคิดว่าสิ่งที่เขาทำมันดีแล้ว และบางทีมันก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมอีกคนไม่แก้ปัญหาแบบที่เขาทำ

ต้า: อย่างที่โอ๊คแลนด์บอกว่าตอนแคสต์มา เราก็มีอะไรบางอย่างที่ตรงกับตัวละครอยู่แล้ว เราก็รู้สึกว่าเราสามารถใช้คาแรคเตอร์อะไรบางอย่างของเราที่มันตรงกับตัวละครได้ แต่ว่าเราเรารู้สึกว่าที่เราไปทำเพิ่มเยอะๆ คือเราต้องไปทำความเข้าใจว่าคนที่เขาเจอแบบนี้ เขารู้สึกอย่างไร เพราะเราก็มีเพื่อนที่มีแบคกราวนด์ประมาณนี้ ก็ไปทำความเข้าใจให้มากที่สุด เพราะเรากลัวว่าที่จะไปผลิตซ้ำหรือไปเอาแบคกราวนด์ของพวกเขามาใช้หาประโยชน์ แต่โดยรวมมันก็สามารถใช้ตัวเองได้เยอะจากประสบการณ์และคาแรคเตอร์ของตัวเอง

ระหว่างการถ่ายทำได้เจอมิติหรือมุมมองใหม่ๆ ของประเด็นที่เราหยิบมาเล่าบ้างไหม

โอ๊คแลนด์: มากๆ เราก็จะมีประเด็นที่เราลิสต์ไว้ว่าเราอยากเล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำ การศึกษา เศรษฐกิจ ค่าเทอม ทุนนิยม หอใน ฯลฯ อย่างประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนเขียนบทและนักแสดงไม่ได้มีใครที่มาจากชนชั้นรากหญ้าเหมือนตัวละครภู เพราะงั้นในช่วงเขียนบทมันจึงเป็นการจินตนาการว่าเขาจะใช้ชีวิตยังไง เรานั่งคำนวนกับ Co-Producer ว่าตัวละครภูมันต้องมีเงินเท่าไร ต้องอยู่ที่เท่าไรถึงจะพอ ต้องเสียค่าห้องเท่าไร และถ้ามีรายได้เท่านี้เขาต้องอยู่ห้องแบบไหน มันเป็นจินตนาการความจนว่ามันจะจนได้สักแค่ไหนกัน ไม่มีใครเข้าใจจริงๆ เลยว่าคนที่เขามีรายได้แบบนี้ และต้องมาเป็นนิสิตในมหาวิทยาลัยใจกลางเมืองที่มีค่าครองชีพสูงมันจะเป็นยังไง มันเป็นแค่การจินตนาการ
แต่พอเราได้สำรวจประเด็นนี้ในระหว่างการถ่ายทำไปเรื่อยๆ

จะเห็นได้ว่าห้องของภู ที่ไม่ได้รวยเหมือนเพื่อน เงื่อนไขในชีวิตของเขาไม่ได้หรูหรา ห้องนั้นมันเป็นห้องของลูกน้องพ่อเรา ในชีวิตตลอด 19 ปี ในตอนนั้น นั่นคือครั้งแรกที่เราได้ไปพบว่าเขามีชีวิตอยู่แบบไหน เขานอนในห้องพัดลมที่เวลาเราไปค่ายธรรมะเราก็เหมือนจะตายแล้ว แต่นี่เขาต้องนอนทุกวัน นอนกับพื้นที่ไม่ได้เป็นเตียง เราไม่เคยจินตนาการมาก่อนว่าชีวิตที่มันต้องเข้านอนโดยไม่มีเตียง มันเป็นแค่ฟูกเก่าๆ ผ้าห่มก็ผ้าห่มเก่าๆ ของเราสมัยเด็กที่ไม่ใช้แล้ว พ่อก็เอาไปให้เขาใช้ เราจินตนาการความยากลำบากเหล่านี้ไม่ออกเลย จนกระทั่งได้ไปเห็นด้วยตัวเอง และเราถึงได้ตระหนักกับตัวเองว่า โห ความจนมันโคตรน่ากลัวเลย เราคิดในความรู้สึกของตัวละครภู ถ้าเลือกได้ใครจะยากจน มันทำอะไรไม่ได้ มันทำได้ดีที่สุดแค่นี้ คือการดิ้นรนต่อไป โดยหวังว่าวันหนึ่งจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ เราก็ไม่เข้าใจว่าคนที่เขาจนและเป็นนิสิตอยู่ในจุฬาเขาจะคิดยังไง จนกระทั่งมันออนออกไป เราได้ไปเห็นทวีตหนึ่งที่บอกว่า “เล่าเรื่องได้จริงมาก เหมือนห้องที่… ราคาห้าพัน ที่ถ้าขยับท่าผิดนิดหน่อย คุณจะไม่สามารถนอนเหยียดขาได้”

แสดงว่าตอนแรก ห้องของภูที่เราเขียนบทกันก็จินตนาการไว้ดีกว่านี้เหรอ

แพท: ใช่ๆ คิดไว้ดีกว่านี้ มัน Cinematic ประมาณหนึ่ง แต่พอมาเจอจริงๆ โห เจอบันไดยาวๆ มันค่อนข้างเหนือความคาดหมายจากตอนเขียนบทมากเลย

โอ๊คแลนด์: บันไดนี่มันสะท้อนความเหลื่อมล้ำมากเลย เหมือนฉากใน Parasite ที่ไต่ลงไปเรื่อยๆ เราไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น แต่พอไปเห็นโลเคชั่นจริง แล้วมันต้องเดินผ่านบันไดขึ้นไป มันเหมือนเปรียบเทียบไปโดยปริยายถึงความพยายามจะไต่เต้าทางชนชั้น ขึ้นสู่ชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในแต่ละก้าวที่บันไดที่โคตรชัน และในทุกๆ ครั้งที่กลับบ้านมาเหนื่อยๆ ต้องเดินผ่านซอยเหล่านั้น และเดินขึ้นห้องไป ก็จะตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจะมีความสุขกับชีวิตได้ยังไง

ความยากของการทำจุฬาธิปไตยคืออะไร

แพท: ความยากคือการที่เราเป็นนิสิตที่อาจไม่ได้มีโปรดัคชั่นต่างๆ ที่มันมากมายนัก อย่างในซีซั่นแรกงบของเราก็ไม่ได้เยอะเท่าไร มันก็ทำให้ค่อนข้างเหนื่อยพอสมควรที่เราไม่ได้มีทีมงานครบทุกตำแหน่งเหมือนในกองจริงๆ ขนาดนั้น และความยากในฐานะคนเขียนบทมันก็ต้องเซนเซอร์ตัวเองพอสมควรเลย เพราะว่ามันก็ทำให้ภายใต้องค์กรในจุฬาฯ ซึ่งในซีซั่นแรกอาจไม่ได้มีคนต้องตรวจงานเท่าไร แต่ในซีซั่นสองมันก็มีการส่งให้ผู้ใหญ่บางคนดูก่อนฉายด้วย มันก็ยากในการที่เราจะนำเสนอเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมา ในขณะก็ต้องเฉลี่ยกับความน่ารักบางอย่างที่ตัวซีรีส์ก็ต้องเก็บไว้ด้วย

ด้วยความที่เนื้อหาของซีรีส์ก็มีการเสียดสีจุฬาฯ ด้วยประมาณหนึ่ง มีแรงเสียดทานอะไรจากผู้ใหญ่บ้างรึเปล่า

โอ๊คแลนด์: แน่นอนว่ามี ตอนแรกเขายังไม่ค่อยอะไรเท่าไร แต่พอปล่อยโปสเตอร์ไป Executive Producer โทรมาบอกว่าเราว่ามีผู้ใหญ่โทรมาปลุกตอนเจ็ดโมงเช้า ตอนนั้นปี 2020 สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยคุกรุ่นมาก การประท้วงอะไรต่างๆ แล้วสภานิสิตเองก็เป็นหนึ่งในแกนนำของโครงการต่างๆ ในจุฬาอยู่ ดังนั้นทางผู้ใหญ่เขาก็จะกลัวมากว่าทำอะไร จะก่อม็อบก่ออะไรกันรึเปล่า เพราะชื่อ จุฬาธิปไตย มันก็มีความคลิกเบตมาก ชื่อมันดูการเมืองแน่ ๆ เลย คนคิดว่ามันเป็นหนังการเมืองรึเปล่า ทั้งๆ ที่จริงแล้วซีรีส์เราไม่ได้พูดถึงซีรีส์โดยตรง ซีซั่นแรกจะพูดถึงปัญหาในมหาวิทยาลัยมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงไปถึงการเมืองในภาพใหญ่ด้วย ดังนั้นพอปล่อยโปสเตอร์ไป ผู้ใหญ่เขาก็โทรมาคุยว่ามันจะการเมืองรึเปล่า เราก็อธิบายให้เขาไปว่ามันไม่ได้การเมืองขนาดนั้น มันเน้นพูดถึงปัญหาสังคมและการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์มากกว่า

หลังจากฉายไปแล้ว ผู้ใหญ่เขาก็เหมือนยอมรับไปโดยปริยายว่าซีรีส์ไม่ได้มาวิพากษ์การเมืองโดยตรงขนาดนั้น เขาก็เลยไม่ได้อะไรมาก แต่เขาก็จับตาอยู่ตลอดเวลาในทุก ๆ ตอนที่มันปล่อยออกไป ว่ามันจะยังไง จะมีอะไรรึเปล่า

Feedback จากคนดูหลังจากที่ออกฉายไปแล้ว เป็นอย่างไร

แพท: ก็ต้องยอมรับว่าซีซั่นแรก มันจะเริ่มมาแมสประมาณหนึ่งตอนใกล้จะจบแล้ว ฟีดแบคค่อนข้างดี มันอาจไม่ได้มีคนดูเยอะขนาดนั้น แต่เขารู้สึกว่าอินไปกับเรื่อง มันพูดเสียงของคนที่ไม่ได้เป็นคนส่วนใหญ่

โอ๊คแลนด์: มันจะมีคอนเทนต์ที่ปล่อยออกมาในระหว่างซีรีส์ฉาย อย่างคอนเทนต์โควทคำพูดที่ตัวละครพูดที่พูดว่า “กูไม่รู้เลยว่าแค่อยากเรียนดี ๆ อยากมีชีวิตดี ๆ แม่งจะต้องใช้เงินเยอะขนาดนี้” ก็มีคนแชร์หลักพัน อาจไม่ได้เยอะนะ แต่ก็ทำให้ใจชื่น สิ่งสำคัญที่ทำให้จุฬาธิปไตยประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งคือความเข้าถึงได้ ตอนนั้นทั้งๆ ที่มีโควิด นิสิตไม่ได้มาใช้ชีวิตที่มหาวิทยาลัยเลย แต่จุฬาฯ ยังลดค่าเทอมแค่ 10% ก่อนหน้านั้นก็ไม่ลดด้วย หรือเรื่องหอในเอง มันเกี่ยวโยงกับเขา มันก็เกิดเป็นฟีดแบคที่ฮีลใจมาก ช่วงแรกมันอาจยังเงียบๆ อยู่ แต่มันไปแมสใน TikTok และทำให้เราได้เห็นฟีดแบคในภาพใหญ่จริงๆ ว่าชีวิตเขาเป็นยังไง และเรื่องที่เราเล่ามันไปสัมพันธ์กับเขายังไง อย่างเรื่อง Beauty Privilege เราก็ตั้งใจสร้างมาให้มีการถกเถียงกันอยู่แล้ว ทุกครั้งที่มีการถกเถียงกันมันก็จะมีสิ่งดีๆ กลับมา ถามว่ามีฟีดแบคลบไหม ก็มีแต่น้อยมาก อาจมีแต่เราไม่เห็น เพราะเราเองก็ทำการบ้านมาดีพอสมควร

แพท: เหมือนฟีดแบคด้านลบจะแยกกลุ่มชัดเจนเลย บางครั้งที่เราเห็นมันจะเป็นคอมเมนต์แปลกๆ ประมาณหนึ่ง ไม่ได้จะเหมารวมนะครับ แค่อันที่เราเห็น แต่ส่วนใหญ่โปรไฟล์จะเป็นคนสูงวัย ประมาณว่ามาพูดปัญหาอะไร ทำไมไม่เปลี่ยนแปลงที่ตัวเองอะไรแบบนี้ จะเป็นแนวๆ ผู้ใหญ่มาสั่งสอน

โอ๊คแลนด์: ก่อนซีรีส์ออนจะเห็นบ่อยมาก โดยเฉพาะซีซั่นสอง เราจะมี Tagline ว่า “จะยอมแพ้ให้กับโลกที่สิ้นหวัง หรือจะแปรเปลี่ยนที่นี่ให้ดีกว่าเดิม?” ก็จะมีคนมาคอมเมนต์ว่าทำให้มันดีเท่าเดิมให้มันได้ก่อนน้อง (หัวเราะ) เขาก็จะมีความมาปรามาส แล้วต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่แต่คนรุ่นเดียวกันก็มีเหมือนกัน ในซีซั่นแรก โครงการเรากว่าจะผ่านมาได้มันก็ผ่านหลายกระบวนการ มันจะก็จะมีคนมาปรามาสเหมือนกันว่าไม่ประสบความสำเร็จหรอก เอางบมาทำหนัง ไม่เกิดประโยชน์ เอาตังค์ไปทำสิ่งที่มันเห็นผลจริงๆ ดีกว่า ก็จะเป็นขั้วลบที่มีมาเสมอตั้งแต่ซีซั่นหนึ่งจนซีซั่นสอง แต่พอซีรีส์ออนเขาก็เงียบไป

แต่มีประเด็นไหนบ้างไหมที่พอมาคิดทีหลัง รู้สึกว่ามันไม่ใช่ หรือทำการบ้านมาไม่ดีพอ

ลิลลี่: มี เช่น ตอนทะเลาะกันเราคิดว่ามันน่าจะอารมณ์นี้ แต่พอย้อนกลับมาดูเราพึ่งเข้าใจว่าตัวละครรู้สึกแบบนี้ เราน่าจะแสดงออกมาแบบนี้

แพท: คล้ายๆ กัน คืออาจไม่ได้มีการสื่อสารผิดซะทีเดียว เรารู้สึกว่ามันยังมีบางประเด็นที่มันน่าจะยืดขยายให้ลึกมากกว่านี้ได้ ซีซั่นแรกมันค่อนข้างไปไวมาไว ทุกประเด็นมันจบในตอน ซึ่งบางครั้งมันก็ขาดตกอะไรบางอย่างไป
ในช่วงตอนที่ 6 ที่เราเล่นเรื่องประเด็นแอบถ่าย ดูเผินๆ มันอาจดูเหมือนไม่ใช่ประเด็นที่ใหม่สักเท่าไร แต่พอเรามารีเสิร์ชเราค้นพบว่าในสังคมจุฬาฯ มันมีอะไรแบบนี้เยอะมาก และส่วนใหญ่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นด้วย มันยังอยู่ตรงนั้น และเหยื่อก็ไม่ได้ออกมาต่อสู้อะไรต่อไป ถ้าเลยมาซีซั่นสอง คือต่อให้คนกระทำผิดมาสารภาพผิดกับตำรวจ คนนั้นก็จะไม่โดนอะไรอยู่ดี สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เราอยากจะขยายเพิ่มในซีซั่นแรก ก็ได้มาขยายเพิ่มในซีซั่นสอง

โอ๊คแลนด์: เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องโปรดัคชั่น พอมาย้อนดู เราสามารถจะทำได้ดีกว่านี้ ทั้งในเชิงการเล่าเรื่องที่มันอาจแข็งไปหน่อย หรือการเขียนบท การถ่ายทำ ซึ่งเราก็นำมาปรับในซีซั่นสอง

จุฬาธิปไตยดูเป็นโครงการที่ก้าวหน้าพอสมควร คิดว่าความก้าวหน้าในรั้วจุฬาฯ ได้อิทธิพลจากแฟรงค์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) มากน้อยแค่ไหน

แพท: สำหรับผมอาจไม่ใช่แอคชั่นของพี่แฟรงค์ซะทีเดียว แต่รู้สึกว่ามันคือกระแสสังคมในช่วงเวลานั้น ซึ่งในปีที่มันสร้างอาจไม่ได้มากเท่าวันนี้ด้วยซ้ำ แต่มันก็ทำให้เรากล้าที่เราจะพูดอะไรบางอย่าง มันก็มาจากม็อบ จากอะไรหลายๆ อย่าง แต่มันก็รวมถึงพี่แฟรงค์ด้วยที่ทำหลายๆ อย่างในจุฬาฯ ซึ่งมันก็เหมือนผลักเราให้กล้าพูด จากเดิมที่เป็นเด็กน่ารักอยู่ในกฎมาโดยตลอดเลย

ต้า: อาจไม่ใช่เพราะแค่แฟรงค์คนเดียวด้วย คนอื่นหลายๆ คนรวมทั้งคนที่เราเป็นเพื่อนด้วย ทำงานด้วย และมันก็สร้างบรรยากาศอะไรหลายๆ อย่าง เราว่าคนในจุฬาฯ ส่วนใหญ่มันก็กล้ามากขึ้นในการกล้าจะแสดงออก

ลิลลี่: สำหรับเราก็ไม่แน่ใจว่ามันเริ่มที่ใคร แต่เราสัมผัสได้ถึงแรงกระเผื่อมที่ส่งมาถึงเรา มันก็ส่งมาเรื่อยๆ จนส่งมาถึงคนรุ่นเรา

โอ๊คแลนด์: มันก็ส่งมาเรื่อยๆ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าพี่แฟรงค์เป็นคลื่นลูกสำคัญจริงๆ ให้กระแสและวิธีคิดของนิสิตในจุฬาฯ เปลี่ยนไป อย่างในซีซั่นสองเราย้ายจากสภาฯ มาอยู่กับ อบจ. (องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ) ซึ่งพี่แฟรงค์ก็เป็นนายก อบจ. โครงการต่างๆ ก็ต้องได้รับการอนุมัติจากพี่แฟรงค์ ก่อนจะไปถึงส่วนอื่นๆ เราจำได้เลยว่าครั้งแรกที่เรานำเสนอโครงการนี้กับพี่แฟรงค์ ตอนนั้นเราพยายามที่จะขายว่ามันเป็นโครงการที่จะทำประโยชน์ให้กับ อบจ. เป็นการพีอาร์ให้ อบจ. ทำให้ อบจ. มีภาพลักษณ์ที่ดี แล้วพี่แฟรงค์ก็คอมเมนต์กลับมาเลยว่า “คุณไม่ต้องมาทำอะไรให้ อบจ. คุณไม่ต้องมาพีอาร์ให้กับ อบจ. อะไรเลย ผมเห็นคุณมีโครงการที่ดีที่อยากจะสร้างประโยชน์ให้กับนิสิต เราในฐานะมีผู้ทรัพยากร เราก็อยากจะสนับสนุน” เราก็แบบ โห นี่เป็นคนที่โคตรจะอุดมการณ์เลย คือเขาไม่ได้แคร์ตัวองค์กรด้วยซ้ำ เขาแคร์ประโยชน์ของคนหมู่มากเป็นหลัก รวมไปถึงหลายๆ โครงการ หลังจากซีซั่นหนึ่งออนไป พี่แฟรงค์ก็ติดต่อแพทให้ไปทำสารคดีให้ เขาไม่ได้เครดิตเลย ทั้งๆ ที่เขาก็สนับสนุนเยอะมาก

แพท: ตอนพิชชิ่งเสนอโครงการกับพี่แฟรงค์ เราพิชกันยาวมาก พิชเสร็จ พี่แฟรงค์ไม่คอมเมนต์อะไรเลย (หัวเราะ) ก็ให้ผ่านเลย

จากที่ซีซั่นแรกเราทำให้กับสภานิสิตฯ แต่ทำไมซีซั่นสองย้ายมาทำกับ อบจ.

โอ๊คแลนด์: ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะมีซีซั่นสอง มันเป็นไอเดียที่คุยกับแพทเล่นๆ แต่โอ๊คมีโอกาสเข้าไปทำงานใน Chula Expo เราเข้าไปเป็นทีมที่ต้องผลิตสื่อเพื่อเชิญชวนคนมางาน แต่โจทย์ของงานคือ แอนโทรโปซีน (Anthropocene) จะมีความดิสโทเปียนิดนึง รวมไปถึงคอนเซปต์ Light to the future เขาอยากให้งานนี้มันเป็นการชักนำให้สังคมดีขึ้น เราเลยคิดว่ามันแมทช์เข้ากับจุฬาธิปไตยพอดี เราเลยนำไปเสนอ Executive Producer ว่าขอทำซีซั่นสองได้ไหม ซึ่งแน่นอนมันมีการตั้งคำถามกลับมาว่ามันจะไม่ตอบโจทย์รึเปล่า แต่เรารู้สึกว่ามันแมทช์มาก ทุกคนก็ชอบมาก และตอนนั้น Chula Expo ห่างหายไปนาน และจุฬาธิปไตยมันเคยมีกระแสมาอยู่แล้ว เราเลยคิดว่ามันจะดึงคนเข้ามาได้ เราก็พิชผ่านผ่านด่านไปเรื่อยๆ จนไปถึงด่านอาจารย์ เขาไม่ซื้อ เขาบอกว่าแบรนดิ้งของจุฬาธิปไตยมันแข็งแรงเกินไปและมันจะมากลบ Chula Expo

ดังนั้นพี่ๆ เขาก็เห็นความตั้งใจของเรา เลยเสนอทางออกว่าให้เป็นโครงการของ อบจ. ก็กลายมาเป็นโครงการเดี่ยวๆ ขึ้นมา ทำทุกอย่างเองหมดเลย ซึ่งมันก็ง่ายกว่าตอนทำกับสภาฯ บางคนอาจไม่เก็ท ว่า อบจ. กับสภาฯ ต่างกันยังไง หลายที่จะมีแค่สโมสรนิสิต อบจ.จะเหมือนฝ่ายบริหารในสภา ส่วนสภาฯ ก็เป็นฝ่ายค้าน เป็นนิติบัญญัติ ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แต่แน่นอนว่าสภาฯ เป็นฝ่ายค้าน และการทำงานในฝ่ายค้านประเทศไทยมันเหมือนกันเลย ทำงานยาก ทรัพยากรไม่พอ งบประมาณก็ไม่ได้มาก เพราะงั้นตอนย้ายมาอยู่กับ อบจ. มันก็ง่ายกว่าพอสมควร

พอทำซีซั่นสอง คิดว่าประเด็นที่เราอยากสื่อสารมันครบถ้วนแล้วหรือยัง จะมีซีซั่นสามอีกไหม

แพท: จากตัวซีซั่นแรกที่ประเด็นปัญหาส่วนใหญ่มันวนเวียนอยู่ในจุฬาฯ แต่ในซีซั่นสองออกห่างจากจุฬาฯ และไปสู่ประเด็นในภาพใหญ่มากขึ้น สำหรับผมในตอนนี้ ก็คิดว่าค่อนข้างครบถ้วน ถ้าถามว่าจะมีซีซั่นสามอีกไหมก็เป็นเรื่องของอนาคตครับ

โอ๊คแลนด์: หลังจากจบซีซั่นหนึ่ง ก็มีคนเข้ามาขอบคุณมากมายที่ได้เล่าประเด็นของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนมาฝากกับเรามากให้ช่วยเล่าประเด็นนี้ให้หน่อย เช่น เรามีเรียนรวมกับนิสิตครุศาสตร์ แล้วเขาก็มาฝากประเด็นเรื่องสวัสดิการแม่บ้านในจุฬาฯ ที่ทุกวันนี้เขาก็ต้องอยู่ตามห้องน้ำ ไม่มีที่ให้พักผ่อนอย่างเหมาะสม ซึ่งในซีซั่นนี้พอเราขยายประเด็นไปสู่ประเด็นใหญ่ๆ มากขึ้น เราเลยไม่ได้นำประเด็นเหล่านั้นมาเล่า แต่เราก็เล่าผ่านตัวละครหนึ่งที่นำประเด็นนี้มาเหมือนกัน ในห้องเขียนบทก็พยายามอย่างดีที่สุดที่จะนำเสนอประเด็นเหล่านี้ แต่แน่นอนว่าสังคมมันขับเคลื่อนไปโดยตลอด อะไรใหม่ๆ มันเกิดขึ้นทุกวัน เวลาผ่านไป มันก็จะมีประเด็นใหม่ๆ เมื่อถึงเวลาสิ่งที่เราเคยเล่าก็อาจตกยุคไปแล้ว หรืออาจทันสมัยอยู่ แต่มันก็อาจมีสิ่งตกค้างที่เรายังไม่ได้เล่า เราก็ฝากให้คนรุ่นต่อไป เป็นผู้เอาไปบอกเล่ามันต่อ
แพท: เพราะถ้าให้เราคิดต่อ เราจะคิดไม่ออกแล้ว เพราะเราก็ใส่ไปเต็มเม็ดมากในซีซั่นสอง ถ้ามันผ่านไปสักปีสองปี มันก็อาจมีต่อก็ได้ ถ้ามันมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นมาในสังคม ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางไหนต่อ

คิดว่า Chulasphere หรือบรรยากาศของจุฬาฯ เป็นแบบไหน

แพท: มันน่าจะเป็นบรรยากาศของคนที่ประพฤติตัวตามครรลองอะไรบางอย่าง เรานึกถึงภาพของเด็กที่ขึ้นไปเรียนหนังสือ ปฏิบัติตามกฎระเบียบ

ต้า: ถ้าคิดไว ๆ มันก็จะเป็นแบบที่แพทพูดด้วยว่าเป็นบรรยากาศของเด็กเรียน แล้วก็เรียนจบประสบความสำเร็จ แล้วก็เป็นบรรยากาศของชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้นด้วย

ปอ: ก็คิดเหมือนกันว่ามันเป็นบรรยากาศของชนชั้นกลางขึ้นไป แต่บรรยากาศแรกที่ผมรู้สึกคือตอนลงทะเบียนเรียน ที่เราต้องแข่งกันลงในเซคที่ไม่เพียงพอสำหรับนิสิต

ลิลลี่: เรารู้สึกว่าบรรยากาศในจุฬาฯ มันเป็นควันสีพาสเทล ดูข้างน้อยมันเป็นควันที่สวยจัง สีอ่อนหวาน น่ารัก แต่พอเข้าไปอยู่ข้างในมันคือฝุ่นที่พอสูดเข้าไป มันรู้สึกว่า เชี่ย อะไรวะเนี่ย ตอนที่เราเข้ามามันก็เป็นสังคมอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้เปิดขนาดนี้ เราก็รู้สึกว่าทำไมภาพที่เราเห็นจากคนที่ยังไม่เข้า กับภาพที่พอเราเข้ามาเห็น มันคนละภาพเลยวะ ทำไมเรื่องนี้เราไม่เคยรู้ว่ามันมีมาก่อน คนข้างนอกก็จะมองว่าพอเข้าจุฬาได้ก็สบายแล้ว ได้เงินเดือนสูง จบไปคนแย่งตัว เป็นมหาวิทยาลัยที่ดี สังคมดี แต่พอเข้าไปในจุฬาฯ มันก็มีหลักสูตรที่ก็ไม่ได้ปรับตัวให้ทันสมัยกับโลก หรือตลาดแรงงาน ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตเรื่องโรคซึมเศร้าที่เป็นกันทั้งคณะแล้ว

หรือเรื่อง Beauty Standard ที่พอเข้ามาแล้วพบว่ามันมีจริง จากก่อนที่เราจะเข้ามามีคนบอกว่าถ้าเราอยากเป็นอะไร เราเป็นได้ทุกอย่าง ขอแค่เราขวนขวาย ถ้าได้ลองทำทุกอย่าง มันก็จะมีทางไปของมันเอง แต่เราค้นพบว่าบางอย่างกูยังไม่ทันได้ลองด้วยซ้ำ มันไม่มีโอกาสที่จะได้ลอง

โอ๊คแลนด์: มันคือความนายทุน เราเห็นภาพมันเป็นห้างที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสลัม มันเป็นคอนโดสูงที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชนบท ซึ่งมันก็เหมือนเป็นภาพของผังเมืองประเทศไทยทุกวันนี้ เรากำลังจะสื่อว่ามันเป็นที่ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน แต่เขาเลือกที่จะคำนึงถึงกระแสของทุนนิยม มากกว่าจุดประสงค์หลักที่เขาตั้งขึ้นมาจริงๆ นั่นคือการเป็นมหาวิทยาลัย เขาคำนึกถึงความ Commercial เป็นหลัก การทำธุรกิจเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ให้ความสำคัญกับการหารายได้แต่หลงลืมความเป็นสถาบันการศึกษา ถึงแม้เขาจะพยายามสร้างที่ต่างๆ แล้วบอกว่ามันเป็น Co-Working Space หรือเป็น Learning Space แต่มันก็ดูออกว่าจุดประสงค์หลักมันคือการหารายได้อยู่ดี ถามว่ามัน Practical ต่อนิสิตไหม ก็ไม่ได้ขนาดนั้น

เราเห็นด้วยกับที่พี่ลิลลี่พูดมาเลยคือบรรยากาศของจุฬาฯ มองจากภายนอกมันสวย แต่มันสวยแต่รูปจูบไม่หอม แต่มันจะจูบหอมถ้าคุณรวยอยู่แล้ว คุณมีสังคมที่ดีอยู่แล้ว คุณอาจไม่รู้สึกถึงเขม่าควันปัญหาเหล่านี้เลย ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในสเตตัสนั้น หรือคุณได้รับการเบิกเนตรให้เห็นความจริง คุณก็จะมองเห็นว่า อ่อ ควันพิษมันอยู่ตรงนี้นี่เอง

แล้วจุฬาธิปไตยทั้งสองซีซั่น ส่งผลให้บรรยากาศของจุฬาฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

โอ๊คแลนด์: คนมี Awareness เพิ่มขึ้น นิสิตจุฬาฯ จำนวนไม่น้อยที่ Aware กับปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม จากการที่เขาเขียนมาบอกเราในโซเชียลมีเดียว่าเขารับรู้ถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ก็ไม่รู้ว่าผู้ใหญ่คิดยังไง แต่เรารู้ว่าผู้ใหญ่ได้ดู แต่เราไม่รู้เลยว่าเขาดูแล้วเขารู้สึกยังไง เขาจะรู้สึกไหมว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ นะ เรามองข้ามไป เราเดินผิดไป เราหลงลืมนิสิตไป หรือเขาจะมองแค่ว่า ทำเชี่ยไรเนี่ย เล่าเชี่ยไรเนี่ย เรื่องทุน เราให้ทุนนิสิตครบถ้วนไม่มีตกหล่นนะ แต่เขาจะตระหนักไหมว่ามันมีคนที่ตกหล่น เพราะมหาวิทยาลัยนี้ให้ทุนตามจำนวนนิสิตในคณะ คณะใหญ่จะได้ทุนเยอะ คณะเล็กอย่างนิเทศจะได้ทุนน้อย แต่ความจนมันไม่ได้แปรผันตามจำนวนคน เขาจะรับรู้ไหมว่ามันเป็นปัญหา หรือเขาจะเมินเฉยมัน

เราก็ได้แต่หวังว่าเมื่อผนวกกับเสียงของนิสิตที่จะกล้าจะส่งเสียงมากขึ้น โดยมีเราชูป้ายไฟอยู่ว่า เฮ้ย สู้ มันจะมีพลังมากพอให้ผู้ใหญ่เหล่านั้นหันมามอง เพราะโกลแรกสุดเลยของโครงการนี้คือการ Raise Awareness แต่ถ้าคนมี Awareness อย่างเดียว ไม่เกิดแอคชั่น มันก็ไม่เกิดผล ดังนั้น Ultimate Goal คือการเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม จะเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ เราก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

ปอ: เมื่อก่อนผมเองก็จินตนาการไม่ออกว่าการใช้ชีวิตอยู่ของคนไม่มีเงินในจุฬาฯ มันเป็นยังไง เพราะแค่หอถูกๆ ใกล้ที่นี่ มันก็หลัก 8,000 แล้ว ถ้าไม่มีตังค์จริงๆ อยู่แทบไม่ได้ หรืออาการการกิน แต่ละที่ที่ตอนนี้เขาก็เริ่มทุบไป มันจะกลายเป็นที่ที่อาหารแพงๆ แล้ว คนที่ไม่มีตังค์เขาจะอยู่กันยังไง ผมว่าสิ่งนี้มันก็ส่งมาที่ผม

ต้า: ในจุฬาฯ ไม่แน่ใจ แต่นอกจุฬาฯ มันก็มีน้องๆ มัธยมที่เขาอยากเข้าจุฬาฯ หรือคนที่ไม่ได้เรียนจุฬาฯ มันก็มีน้องที่มาบอกเราว่าจริงๆ ในจุฬาฯ มันก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิด ภายนอกอาจดูสวย แต่จริงๆ ก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิด

แพท: สุดท้ายเราก็ไม่รู้หรอกว่าทั้งซีซั่นหนึ่งและซีซั่นสองมันจะแมสไปได้ไกลแค่ไหน แต่สิ่งที่เราพยายามทำมาตลอดคือการจุดประเด็นให้คนได้นำไปพูดต่อ ส่วนสังคมจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่คนดูที่รับสารไป แล้วจะทำยังไงกับมัน

Content Creator

Photographer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า