fbpx

ฉ่อกุง-ศศิวิมล นักวาดภาพประกอบมือทองผู้ใช้ศิลปะเชื่อมเด็กเข้ากับโลกของหนังสือ

ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคุณ “ฉ่อกุง” เริ่มต้นขึ้นจากการสั่งเคสลายหนูน้อยหมวกแดงกับหมาป่าใจดีมาจากร้านค้าออนไลน์แห่งหนึ่งบนเฟสบุ๊คที่รวบรวมเอาภาพจากนักวาดไทยหลายคนมาสกรีนแล้วขายแบบถูกลิขสิทธิ์ 

ทางนี้ตัดสินใจเอาชื่อนามปากกา “Chorkung” ที่เขียนอยู่ตรงมุมขวาล่างของเคสไปค้นหาต่อบนโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อค้นพบช่องทางติดต่อ จึงไม่ยากเลยที่จะจรดปลายนิ้วโป้งลงไปบนปุ่มติดตาม ยิ่งดู ยิ่งชอบ (จะเรียกว่าเป็นอาการคลั่งรักก็คงไม่ผิดถนัดนัก) รู้ตัวอีกทีเราก็ตั้งเพจงานของคุณฉ่อกุงให้เป็น See First ในทุกช่องทางโซเซียลมีเดียซะแล้ว

ไม่บ่อยนักในชีวิตที่เราจะได้มีโอกาสพูดคุยกับศิลปินที่ตัวเองชื่นชม พอมีโอกาส เราจึงรีบนัดสัมภาษณ์คุณฉ่อกุงแทบจะในทันที แม้จะมีทุลักทุเลบ้างระหว่างติดต่อ เพราะข้อจำกัดหลายอย่าง รวมไปถึงต่างคนต่างมีตารางงานแน่นเอี๊ยดตลอดช่วงวันธรรมดา ทำให้ท้ายที่สุด พวกเราทั้งสองตัดสินใจนัดเจอกันในวันหยุดสุดสัปดาห์ ผ่านจอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ของคอมพิวเตอร์ ถ้าจะให้ขยายความเพิ่มเติม การเจอกันในครั้งนี้ดูไม่ค่อยเหมือนการสัมภาษณ์สักเท่าไหร่นัก หากเป็นการพบปะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดในสิ่งที่ชอบร่วมกันมากกว่า 

ทำความรู้จักกับ “ฉ่อกุง”

คุณฉ่อกุง-ศศิวิมล สุนทรวิกรานต์ (คุณกุง) เป็นคนสุภาพ น่ารัก เธอแนะนำตัวเองว่าเป็น Freelance Illustrator ผู้ชื่นชอบการวาดภาพประกอบหนังสือเด็กเป็นพิเศษ เพราะมีความสุขที่เห็นงานของตัวเองบนสิ่งของที่จับต้องได้ ทำให้เธอเลือกแบ่งเวลาบางส่วนมารับวาดรูปเล็กๆ น้อยๆ อย่างการวาดโปสเตอร์ การ์ด หรือสินค้าน่ารักๆ ประปรายบ้างในบางเวลา

เรื่องราวข้างหลังชื่อนามปากกา “ฉ่อกุง” มาจาก “เบ๊ฉ่อกุง” ซึ่งเป็นชื่อของคุณกุงในภาษาจีนแต้จิ๋วโดยมีอากงเป็นคนตั้งให้ 

“คำว่า ‘กุง’ ในภาษาจีนมันแปลว่าเป็นที่หนึ่ง แต่จะเป็นที่หนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับในวังหน่อย ใครชอบดูหนัง ดูซีรี่ส์ก็คงจะคุ้นกับชื่อตำแหน่งอย่าง ซังกุง อะไรแบบนี้มาบ้าง ความหมายจริงๆ ก็จะประมาณนั้นค่ะ”

คุณกุงเล่าให้ฟังว่าตัวเธอนั้นป็นเด็กที่ชื่นชอบการ์ตูนมาก จุดเริ่มต้นแรกของเธอในฐานะนักวาดคือการเริ่มวาดสิ่งที่ตัวเองชอบไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ แม้ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตในช่วงวัยมัธยมจะตัดสินใจเลือกเรียนสายวิทย์เพราะยังไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องการอะไร แต่เมื่อค้นเจอคำตอบของคำถามในใจ คุณกุงจึงเบนเข็มไปสายศิลป์ ด้วยเหตุผลว่านี่เป็นสิ่งที่ชอบ โชคดีที่ทางครอบครัวสนับสนุนให้เธอได้เลือกเดินบนเส้นทางที่เธอต้องการโดยไม่ได้ห้ามปรามอะไร

“ตอนแรกเราเลือกเรียนสายวิทย์ไว้ก่อนเพราะยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร (หัวเราะ) แต่ก็มาตัดสินใจตอนม. 5 ว่าเราอยากเข้าคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เลยเปลี่ยนสายตั้งแต่ตอนนั้น วาดมาตลอดก็จริง แต่เพิ่งมาเริ่มจริงจัง มาติววาดรูปก็ตอนม.5 นี่แหละ”

คุณกุงเล่าเพิ่มว่าก่อนหน้าที่จะเลือกเรียนมัณฑนศิลป์ ตัวเองเคยติวเข้าคณะสถาปัตย์มาก่อน เพราะอยากเข้าเรียนสายที่เกี่ยวกับการวาดรูป แต่พอได้เข้าไปติวจริงๆ กลับรู้สึกว่ามันไม่ค่อยตรงตามต้องการสักเท่าไหร่นัก การวาดรูปตามแบบของคณะสถาปัตย์จะเน้นไปที่การวาดอาคาร ต้นไม้ และฉาก ด้วยปัจจัยเหล่านี้ เข็มทิศชีวิตจึงพาเธอไปยังสายมัณฑนศิลป์ สถานีปลายทาง ที่โฟกัสการทำงาน Drawing และ Abstract ต่างๆ มากกว่า

“รู้สึกว่าตัวเองคงมาทางสายนี้ (มัณฑนศิลป์) มากกว่า คือมีโอกาสได้ไปดูหนังสือเด็กที่ชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย พอเราค้นประวัตินักวาด ก็มีนักวาดภาพประกอบบางคนจบคณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร เลยรู้สึกว่าถ้าเรียนตรงนี้ก็คงจะตรงกับสิ่งที่เราสนใจ”

คุณกุงบอกว่าตัวเองไม่ใช่นักเรียนสายวิชาการที่นิยมชมชอบการเรียนในห้องสักเท่าไหร่ ตอนติววาดรูปเพื่อเตรียมเข้าคณะในฝันจึงเป็นช่วงเวลาที่สนุกมาก เหมือนได้ปลดปล่อย

“เครียดมากกับการวาดรูปนะ แต่ก็สนุกมากเหมือนกัน มันต้องทำงานให้มันได้ในระดับที่ว่าต้องสอบผ่าน ต้องทำให้ได้มาตราฐานของความเป็นงานที่ดี เพราะทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับการซ้อมจริงๆ มันขึ้นอยู่กับการซ้อมวาด การหา Reference เพราะว่าในการสอบ เราไม่รู้เลยว่าเราจะได้โจทย์แบบไหน ก็ตื่นเต้นมาก แล้วพี่ติวเขาก็จะชอบชงว่าแบบ เออเนี่ย คนอยากเข้าที่นี่กี่คน แล้วมันผ่านเข้าไปได้จริงๆ แค่กี่คน มันก็เลยมีความกดดันเกิดขึ้น”

ตั้งแต่เด็กจนโต หากมีโอกาสได้ไปร้านหนังสือ เพราะถูกดึงดูดด้วยสีสันหลากตา ชั้นวางหนังสือเด็กจึงเป็นปลายทางของเธอเสมอ

‘คิดไว้แล้วรึเปล่าว่าไม่ว่าจะยังไงต่อจากนี้ ก็จะต้องเป็นนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กให้’ หลังจากได้ยินสิ่งที่เราถาม คุณกุงก็ส่ายหัว ก่อนตอบกลับด้วยน้ำเสียงที่ฟังแล้วรู้สึกสบายใจ

“ไม่ได้คิดว่าอนาคตจะเป็นอะไรขนาดนั้น แค่คิดว่าเราอยากมีหนังสือ แค่นั้นแหละ แล้วก็จะพยายามทำให้ได้”

กลับกลายเป็นเราเองที่พูดไม่ออก ส่วนหนึ่งในใจก็อดรู้สึกนับถือตัวตนที่เรียบง่ายนั้นไม่ได้ คุณกุงบอกว่าเป้าหมายของตัวเองนั้นเป็นเป้าหมายระยะสั้น เธอไม่ได้คำนึงหรือผูกมัดตัวเองกับอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ขนาดนั้น เธอยินดีที่จะฝันแบบพอเพียง ทำทุกวันให้ดี ชอบสิ่งใด ก็จะทำสิ่งนั้นอย่างสม่ำเสมอแบบที่เธอทำมาตลอด

บนเส้นทางศิลปะ

เป็นเรื่องปกติที่คนในแวดวงศิลปะมักจะทำงานเสริมระหว่างเรียน คุณกุงเองก็เช่นกัน เธอเริ่มรับงานวาดรูปตั้งแต่เรียนยังเรียนไม่จบ โดยสวมหมวกของการเป็นนักวาดฟรีแลนซ์ควบคู่กับการเป็นนักศึกษาในสังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากร 

ผลงานแรกที่ทำให้เธอก้าวเข้าใกล้ความฝันอีกขั้นคือผลงานเรื่อง ‘ความฝันของเจ้าหลอดไฟน้อย’ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งจากการลงงานประกวดหนังสือนิทานของมูลนิธิเด็ก 

“เพราะตั้งใจอยู่แล้วว่าอยากทำ ไม่ว่าจะยังไงก็จะทำ ก็เลยส่งผลงานเรื่อง ‘ความฝันของเจ้าหลอดไฟน้อย’ ไป พอประกาศผลว่าเราได้รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง แล้วก็ได้ตีพิมพ์คือดีใจมาก เหมือนฝันเป็นจริงเลย ซึ่งมันเร็วมากเลยนะ เป็นงานประกวดที่ตราตรึงใจที่สุดในชีวิตเลย ภูมิใจมาก งานนี้เราทำเป็นงานมือทั้งเล่มด้วย เป็นงานสีน้ำ จะเรียกว่าเป็นช่วงที่ตื่นเต้นที่สุดในชีวิตเลยก็ได้”

งานศิลปะจะถูกค้นเจอเมื่อเรามีพื้นที่ให้แสดงออก นี่เป็นสิ่งที่คุณกุงบอกเมื่อเราถามถึงความคิดเห็นของเธอที่มีต่องานประกวด แม้จะมีหลายเสียงโต้แย้งว่าเดิมทีงานประกวดนั้นไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่อวัดคุณค่าของศิลปะ เพราะอาจทำให้คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์บางอย่างถูดลดทอน แต่ถึงกระนั้นคุณกุงก็ยังคงเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่าการประกวดเป็นประตูที่จะนำพานักวาด และผลงานไปสู่อะไรบางอย่าง มันไม่ใช่แค่เรื่องการขายงานตัวเองออกสู่สายตาสาธารณะชน แต่งานประกวดจะทำให้นักวาดมีวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น เมื่อเธอหรือเขาได้ไปเห็นงานที่มีความหลากหลายของศิลปินอื่นๆ

“ถ้ามีประกวดเราก็จะพยายามส่งเรื่อยๆ แต่ว่าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้หรอก แต่ว่าก็ส่งไป ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ได้บ้าง ไม่ได้บ้างมันเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มันก็เฟลแหละ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นโอกาสนะ เราอาจจะไม่ได้รางวัลก็จริง แต่การที่งานเราออกไปสู่สาธารณะมันก็เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับงานอื่นๆ ต่อ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย อยู่ดีๆ เราคงไม่โดนจ้างทำงานหรอกถ้าเขาไม่เคยเห็นงานเรา การประกวดมันก็ทำให้เขาเห็นงานเรามากขึ้น สิ่งสำคัญอีกอย่างคือมันต้องดูเกณฑ์ด้วยนะว่าเราเข้าเกณฑ์ไหม อันนี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องสไตล์หรือทักษะการวาดนะ อันนั้นมันอีกเรื่อง บางครั้งงานประกวดมันมีเกณฑ์ซ่อนอยู่มากกว่าที่เราคิด สมมุติว่าเขามีเกณฑ์ที่ต้องการ แต่เราไม่เข้าเกณฑ์เขา เราเลยไม่ผ่าน ไม่ผ่านไม่ได้แปลว่าเราทำไม่ดี แค่สิ่งที่เขาต้องการกับสิ่งที่เราทำมันอาจจะไม่ตรงกันเฉยๆ เท่านั้นเอง มันไม่ได้ลดทอนคุณค่าอะไรเลย”

รางวัลชนะเลิศในครั้งนั้นเหมือนเป็นการแจ้งเกิดนามปากกาฉ่อกุงในวงการหนังสือเด็ก คุณกุงมีงานวาดภาพประกอบหนังสือเข้ามาอยู่เรื่อยๆเธอมีโอกาสได้ร่วมงานกับทางสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, Little Heart, PassEducation, ทวท. และอื่นๆ อีกมากมาย แต่เมื่อถามถึงผลงานอันดับต้นๆ ที่ภาคภูมิใจที่สุด (ไม่นับเรื่องความฝันของเจ้าหลอดไฟน้อย) เธอก็ยกนิทานเรื่อง “สัตว์ป่าเมืองไทย” และ “บนต้นไม้มีใครอยู่นะ” ออกมาเล่าให้เราฟัง

“‘สัตว์ป่าเมืองไทย’ ทำตอนทีสิส อันนี้ก็มีความทรงจำกับมันเยอะมากเพราะว่าต้องหาข้อมูลเอง แล้วก็เอามาวาดเอง เป็นทั้งนักเขียนแล้วก็นักวาดในคนเดียว ก็นับว่าเป็นก้าวสำคัญของตัวเองในวงการเหมือนกัน เพราะว่าหลังจากทำเล่มนี้เสร็จก็มีแต่หนังสือนิทานที่วาดสัตว์เข้ามาตลอดเลย (หัวเราะ) ทั้งไดโนเสาร์ สัตว์น้ำ สัตว์ป่า เพียบ ส่วนอีกเล่มที่ภูมิใจมากๆ ก็คงเป็นหนังสือที่แต่งเอง ‘บนต้นไม้มีใครอยู่นะ’ จุดเริ่มต้นคืออยากลองวาดตามใจดูบ้าง เพราะบางทีเวลาคนมาจ้างอะ เขามีภาพในหัวแล้วว่าเขาอยากให้เราวาดแบบไหน มันมีกรอบมาตลอด ถึงจุดนึงก็เลยรู้สึกว่าเราอยากวาดแบบที่เราอยากวาดบ้าง อยากลองอะไรใหม่ๆ ในแบบที่ไม่มีใครมาจ้างเราให้วาดในสไตล์นี้หรอกเพราะว่าเขาไม่เคยเห็น แต่สุดท้ายก็ได้ตีพิมพ์กับของนานมีบุ๊คส์นะ”

สำหรับคุณกุง การเป็น Freelance Artist มันกดดันในหลายๆ ด้าน ถึงแม้ว่าการเป็น Freelancer จะทำให้เธอได้ทำในสิ่งที่อยากทำมากกว่า แต่มันก็แลกมากับการที่รายได้ต่อเดือนนั้นไม่ค่อยสม่ำเสมอ รวมไปถึงเธอต้องพยายามที่จะพรีเซ้นต์งานตัวเองออกไปเพื่อให้มีคนจ้างมากขึ้น ทำให้เธอตัดสินใจที่จะหางานประจำทำควบคู่

ปัจจุบัน เธอเป็นพนักงานประจำอยู่ที่ “The Monk Studios” ในฐานะ Digital Artists ที่ทำงานในศิลปะแขนง Concept Art (ภาพไอเดียแรกเริ่มที่ใช้ในการออกแบบ animation) แต่ยังคงรับงานฟรีแลนซ์วาดปกหนังสือในช่วงดึกของวันธรรมดาหรือว่าช่วงเสาร์อาทิตย์อยู่

“อยู่กับศิลปะขนาดนี้ เคยเบื่อศิลปะบ้างไหม”

“ไม่ได้เบื่อนะ อาจเป็นเพราะเราอยู่กับมันแบบเรื่อยๆ มาตลอดก็ได้”

สภาวะหมดไฟเป็นอาการที่เหล่าศิลปิน (ความจริงก็ทุกอาชีพ) ต้องเผชิญอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต พอวาดงานไม่ออก คิดงานไม่ได้ ก็จะเริ่มรู้สึกก็จะเอื่อยเฉื่อย ติดอยู่ในเขาวงกตความคิดจนวันๆ นึงแทบไม่อยากทำอะไร เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนเป็นปัจเจก แต่ละคนจึงมีวิธีรับมือกับวันตันๆ ของตัวเองในรูปแบบที่ต่างกันออกไป 

คุณกุงออกว่าตัวเองไม่ใช่คนที่ชอบฝืนทำอะไร ไม่อยากวาด ก็ไม่วาด ถึงกระนั้นก็ยังมีแอบฝืนๆ (ไฟลุกโชน) บ้างเป็นครั้งคราวหากเดดไลน์เดินทางเข้ามาเคาะเรียกถึงหน้าประตู 

“สำหรับการวาดเล่น ถ้าช่วงไหนไม่อยากวาด เราก็จะไม่วาดค่ะ จะไม่พยายามฝืนนั่งหน้าคอมแล้ววาดออกมา คือจะไปทำอย่างอื่นเลย ไปเที่ยว ไปหาของกิน ไปพักผ่อน หาแรงบันดาลใจ บางทีเวลาได้ดูหนังหรือพักผ่อน ไฟในการวาดรูปมันก็กลับมาเองแหละ นี่ก็เคยมี ช่วงที่ไม่อยากวาดมากๆ แล้วได้ไปดูแอนิเมชั่นเรื่อง Spider-Man: Into the Spider-Verse พอได้ดูก็ โอโห อยากกลับมาวาดทันที เราจะอยากกลับมาวาดเองเลยถ้าเราเจอแรงบันดาลใจ การลองอะไรใหม่ๆ บางครั้งมันก็ทำให้เรามีพลังมากขึ้นจริงๆนะ แต่ส่วนตัวกุงเป็นคนขับเคลื่อนตัวเองด้วยเดดไลน์ประมาณนึง (หัวเราะ) ถ้ากำหนดส่งงานใกล้เข้ามาแล้ว เดดไลน์ก็จะเป็นตัวบังคับเราให้มีไฟเองค่ะ”

คุณกุงอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ต่อให้เป็นงานที่ชอบแค่ไหน สักวันก็ต้องมีวันที่เบื่อหน่าย นี่เป็นเรื่องปกติในชีวิตการทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม เหรียญมีสองด้านเสมอ เมื่อมีวันที่เบื่อก็ต้องมีวันที่สนุก เพียงแต่การได้ทำในสิ่งที่ชอบอาจทำให้เปอร์เซ็นต์ของความสนุกมีมากกว่า

“อย่างเวลาทำงานมันมีช่วงที่สนุกนะ แบบวาดๆ แล้วรู้สึกว่าอันนี้สนุกจัง มันก็เป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ และมันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราไม่ได้ลงมือทำ ยากสุดก็แค่ช่วงเริ่มวาดนี่แหละ ที่ต้องเอาชนะความขี้เกียจให้ได้”

ประกอบร่างสร้างหนังสือ

การทำหนังสือเด็กเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่งานที่คุณกุงจะสามารถทำคนเดียวได้ กระบวนการทั้งหมดเลยต้องเกิดจากความร่วมมือของกองบรรณาธิการที่ทำงานร่วมกับนักวาด 

“ความชัดเจน” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงาน ชัดเจนแรกคือชัดเจนในเรื่องของกระบวนการทำงานเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชัดเจนที่สอง คือชัดเจนในตัวผลงานเพื่อทำให้นักอ่านตัวน้อยอย่างเด็กๆ เข้าใจโดยไม่ต้องอาศัยทักษะในการตีความอะไรมากนัก

นอกจากสำนักพิมพ์ในไทยแล้ว คุณกุงยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับสำนักพิมพ์อังกฤษอย่าง Campbell – Pan Macmillan ด้วย เธอบอกว่าขั้นตอนการทำงานกับทาง Pan Macmillan ไม่ค่อยต่างจากการทำงานกับสำนักพิมพ์ไทยสักเท่าไหร่ ทั้งสองที่ยังคงคอนเซ็ปต์การทำหนังสือเด็กที่มีความละเอียดละออ และเป็นขั้นเป็นตอนเหมือนเดิม

“โดยปกติการวาดภาพประกอบหนังสือเด็กเล่มหนึ่งใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าว่าจะเป็นแบบ Board Book หรือว่าหนังสือแบบ 17 หน้าคู่ ขั้นตอนแรกคือทางสำนักพิมพ์เขาจะส่งเรื่องราว และ Reference ที่จำเป็นมาให้ ถ้าหนังสือเด็กเรื่องนี้อิงกับความจริง (สารนุกรม หรือ Non-Fiction) ข้อมูลจะต้องเป๊ะมาก เป็นข้อเท็จจริงทุกอย่าง เขาจะต้องบรีฟค่อนข้างละเอียด สมมุติ ถ้าต้องวาดเกี่ยวกับไดโนเสาร์ เขาก็จะส่งภาพไดโนเสาร์เป็นไฟล์มาให้เลยว่า พันธุ์นี้หน้าตาแบบนี้ อยู่สถานที่แบบนี้ อยู่ในยุคนี้ คือระบุมาอย่างละเอียด แล้วก็จะมีการกำหนดมาเลยว่าเราจะต้องวาดฉากแบบไหน ในฉากมีต้นไม้พันธุ์อะไรบ้าง ไดโนเสาร์ตัวนี้ทำท่าแบบนี้ คือบรีฟจะดีมาก”

“หลังจากได้บรีฟมา เราก็จะสเก็ตช์ภาพร่างให้ทางบก. ไป ก็คือจัดองค์ประกอบภาพไปให้ดูก่อนแบบไม่ละเอียดมาก ติดชื่อว่าไดโนเสาร์ตัวนี้ชื่อนี้กำลังทำอันนี้ๆ นะ แล้วถ้าเกิดผ่าน ทางบก. เขาก็จะขอดูแบบละเอียดขึ้น คือเราก็จะมี Draft Sketch แล้วก็ Color Sketch เพื่อให้เขาดูอีกทีว่าสีในภาพโทนมันจะประมาณนี้นะ ถ้าเขาโอเคก็ถึงจะค่อยเก็บรายละเอียด แต่ถ้าเป็นหนังสือนิทาน (Fiction) ตัวอย่างเช่น ‘ฮีโร่จ๋อ’ ที่ทำกับสำนักพิมพ์ห้องเรียน อันนี้ก็จะฟรีหน่อย ต้นไม้เป็นยังไงก็ได้ สีอะไรก็ได้ สัตว์เดินสองขาก็ได้ สำนักพิมพ์ก็จะให้อิสระเราเยอะขึ้นว่าเราจะดีไซน์หรือจะวาดยังไง มันเป็นการทำงานแบบต้องคอยอัพเดตกับกองบรรณาธิการเรื่อยๆ นะ ส่งไปส่งกลับ ไม่ใช่ว่าทำเสร็จหมดแล้วไฟนอลเลย แล้วค่อยมาแก้ไม่ใช่แบบนั้น มันใช้เวลา”

 ผลงานของคุณกุงมีสีสันสดใสสะดุดตา จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เมื่อเธอให้สัมภาษณ์ว่า ขั้นตอนการลงสีและเก็บรายละเอียดเป็นขั้นตอนที่เธอโปรดปรานที่สุดเวลาทำงาน 

เพราะงานศิลปะทุกงานบนโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่มีที่มา ไม่มีใครเป็นเจ้าของผลงานของตัวเองแต่เพียงผู้เดียวโดยสมบูรณ์ ศิลปินทุกคนล้วนมีบ่อเกิดของแรงบันดาลใจที่ส่งผลโดยตรงต่อผลงาน

Oliver Jeffers คือแรงบันดาลใจนั้นของคุณกุง นอกจากความสามารถขั้นเซียนที่เป็นทั้งนักวาดและนักเขียนในคนเดียวกันแล้ว ความพิเศษอีกอย่างที่เธอชื่นชอบเป็นพิเศษคือเรื่องของเนื้อหาที่สามารถนำมาตีความได้หลายระดับ กล่าวคือ ไม่ว่าจะคนอ่านจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็สามารถเข้าใจและอินไปกับเนื้อหาได้ เช่น ถ้าเป็นเด็กอ่านก็จะเข้าใจในระดับนึง แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่อ่านก็จะเข้าใจในอีกระดับ ผู้ใหญ่อาจเห็นสิ่งที่ซ่อนระหว่างบรรทัดมากขึ้นจากหลังผ่านประสบการณ์ชีวิต 

ในส่วนของ Concept Artist คุณกุงก็ชื่นชอบผลงานของ Lou Romano ที่ออกแบบงานอาร์ตให้กับ Pixar จากเรื่อง UP! แล้วก็คุณ Aurelien Predal คนออกแบบงานอาร์ตให้กับเรื่อง Hotel Transylvania 3 พอแอบไปดูงานของทั้งสามคนนี้ก็รู้สึกว่ามีโทนและอารมณ์ภาพคล้ายกับของคุณกุงอยู่ประมาณนึง แต่ก็ไม่ได้เหมือนสักทีเดียว ลายเส้นของคุณกุงติดจะต่างออกไปนิดหน่อย

เราชวนเธอคุยต่อถึงเรื่องความสำคัญของลายเส้น เพราะสำหรับนักวาดภาพประกอบ ลายเส้นนั้นเป็นดั่งอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่ทำให้งานของศิลปินนั้นแตกต่าง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักวาดรุ่นใหม่หลายคนที่ยังมีรอบบินในวงการไม่มากนักหวั่นวิตก และด้นดั้นอย่างสุดความสามารถในการหาอัตลักษณ์นี้ 

เราคาดหวังกับคำตอบของคุณกุงเอาไว้ประมาณนึงตอนถามเธอถึงกระบวนการการเฟ้นหาลายเส้น ทว่า คำตอบที่ได้รับกลับกลายเป็นว่า

“ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตอนนี้เรียกว่าเจอลายเส้นตัวเองรึยัง” 

ไม่รู้ว่าเพราะสงสารหรือเอ็นดูที่เราทำหน้างงเป็นไก่ตาแตก คุณกุงเลยตัดสินใจอธิบายต่อ

“สิ่งที่เราวาดบ่อยๆ มันจะเป็นสิ่งที่ติดมือเราไปเอง สมมุติว่าเราชอบการ์ตูนเรื่องนี้ หรืองานคนนี้มากๆ แล้วเราก็ฝึกวาด ลายเส้นเราก็จะกลายเป็นส่วนผสมของสิ่งที่เราชอบ หรือรับมา นี่เลยไม่แน่ใจว่าอย่างกุงคือเจอลายเส้นตัวเองรึยัง คือตอนเด็กๆ ก็คิดเหมือนกันนะว่าแบบ เอ๊ย วาดแล้วไม่มีเอกลักษณ์เลย แต่ว่าพอทำไปเรื่อยๆ มันก็เจอเอง ลายเส้นของเราซ่อนอยู่ในสิ่งที่เราชอบวาด แต่ถึงอย่างนั้นก็อย่าไปยึดไว้แน่นเพราะมันก็มีโอกาสเปลี่ยนตลอด มันเป็นสิ่งที่พัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ ถ้าดูภาพวาดของเราสมัยก่อนมาเทียบกับตอนนี้มันก็มีความต่าง ลายเส้นมันยืดหยุ่น มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์เลย”

คำตอบของคำถามนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องของความชัดเจน คุณกุงชี้แจงว่าในฐานะนักวาดภาพประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นนักวาดประกอบหนังสือโดยมีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักแล้ว ความชัดเจนเป็นสิ่งที่ศิลปินต้องใส่ใจมากๆ เพราะสิ่งที่ปรากฎอยู่บนหนังสือจะเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในความทรงจำของเด็กไปตลอด คนวาดต้องสามารถใช้เครื่องมือที่ตัวเองมีได้อย่างเชี่ยวชาญเพื่อสื่อสาร ‘สาร’ ออกไปให้ได้อย่างครบถ้วนและถูกต้องที่สุด 

“เหมือนกับว่า ถ้าเป็นหนังสือที่อยากให้เด็กเห็นชัดๆ ว่าสัตว์ตัวนี้คืออะไร นักวาดก็ต้องใส่ใจเรื่องความชัดเจนมากๆ ต้องชัดขนาดว่าถึงจะยังไม่อ่านหนังสือก็ต้องพอเห็นภาพ และพอเดาได้ว่าในภาพเกิดอะไรขึ้น ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ภาพหนังสือเด็กก็คือต้องเล่าเรื่องได้ เน้นตรงนั้น เราต้องคิดเผื่อเด็กที่อาจจะยังอ่านหนังสือไม่คล่องด้วย  ยิ่งเด็กเล็ก ยิ่งต้องวาดออกมาให้เคลียร์ อย่างสมมุติวาดกระต่าย กระต่ายก็ต้องเป็นกระต่ายที่เหมือนกระต่าย เราไม่สามารถ Abstract ได้เท่าไหร่ ถ้าให้สรุปก็คือเน้นความเข้าใจ สมจริง เล่าเรื่องได้ ซึ่งส่วนนี้ทางบก. ก็จะช่วยเราเช็คอีกทีอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นงานภาพประกอบธรรมดาที่ให้เด็กที่โตหน่อยหรือผู้ใหญ่เสพ มันสามารถเป็นภาพที่เราดูแล้วอาจจะไม่ต้องเข้าใจทั้งหมดก็ได้ เพราะพวกเขามีทักษะด้านการอ่านและประสบการณ์ชีวิตมาช่วยเสริม เป้าหมายของภาพมันเลยเน้นไปที่การดูแล้วสร้างความรู้สึกบางอย่างมากกว่า” 

แม้จะรังสรรค์ผลงานเอาไว้มากมาย แต่สุดท้ายทุกคนย่อมมีสิ่งที่ไม่ถนัด ยาขมสำหรับคุณกุงในฐานะศิลปินคือการวาดกายวิภาคมนุษย์ (Human Anatomy) เธอต้องใช้พลังเยอะมากในการวาดกล้ามเนื้อคน กล้ามแขน กล้ามขา หรือท่าทางต่างๆ เพราะส่วนตัวถนัดวาดแบบตัวละครตัวเล็กๆ น่ารัก กุ๊กกิ๊ก ตัวยืด หรือแบบไม่มีกระดูกตามสไตล์หนังสือเด็กมากกว่า

“เอาเข้าจริง ก็รู้สึกเหมือนว่าตัวเองหนีมาตลอดเหมือนกัน จริงๆ ก็ชอบวาดหนังสือเด็กตรงที่แบบมันเป็นอะไรก็ได้ มันไม่ต้องถูกอนาโตมี่ก็ได้ เราหนีมาตลอด แต่ว่าพอมาทำงานประจำที่บริษัท เราก็ต้องทำ เพราะว่ามันเป็นงาน”

ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งแน่นอน

ช่วงครึ่งหลังของบทสัมภาษณ์พวกเราคุยกันต่อถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว (และมีแนวโน้มว่าจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ ) อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่สิบปี คุณกุงยังคงเชื่อว่า หนังสือเด็กจะยังดำรงอยู่ แม้จะมีเทคโนโลยีเสริมพัฒนาการเด็กอื่นๆ จะเข้ามามีบทบาท 

เธอบอกว่าหนังสือที่เป็นเล่ม มีข้อได้เปรียบใหญ่หลวงอยู่ข้อหนึ่ง คือหนังสือนั้นสามารถ “จับต้องได้” ประสาทสัมผัสทั้งห้าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อมนุษย์ และการถูกต้องสัมผัส ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อพัฒนาการเด็ก 

“อย่างหลานเราเวลาอ่านหนังสือนิทาน เขาก็จะชอบหยิบหนังสือนิทานมาปูๆ ลงบนพื้น แล้วก็จับๆ เลือกๆ ว่าเขาอยากอ่านเล่มไหน คือหนังสืออะ ไม่ว่าจะเป็น E-Book หรือเป็นเล่มๆ คือมันอ่านได้เหมือนกันแหละ เพียงแต่ว่าหนังสือมันจับได้ มันเลยสร้างความผูกพันกับเด็กได้มากกว่า เหมือนพอมันอยู่ในจออะ เด็กก็ไม่สามารถสัมผัส และรู้สึก หนังสือทีละหน้าๆ ได้ เด็กๆ เขาชอบการจับ สัมผัสอยู่แล้ว จริงๆ หนังสือเด็กค่อนข้างสำคัญนะในด้านพัฒนาการ มันปลูกฝังนิสัยรักการอ่านด้วย เลยคิดว่าหนังสือเด็กไม่หายไปหรอกถึงจะมีเทคโนโลยีอื่นเข้ามา แล้วถ้าถามเราอะ เราก็ชอบอ่านหนังสือที่เป็นเล่มๆ เหมือนกัน ชอบมากกว่าอ่าน E-Book เด็กๆ ก็คงรู้สึกเหมือนกัน”

คุณกุงออกตัวว่าตัวเองไม่ใช่คนเชี่ยวชาญหรือมีความรู้คร่ำวอดในวงการการทำหนังสือสักเท่าไหร่นัก ดังนั้น เธอจึงกำชับอย่างแน่นหนักเสมอว่านี่เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนตัวของเธอแต่เพียงผู้เดียวเมื่อเราพูดคุยกันต่อถึงเรื่องวงการหนังสือในไทย 

แม้ตอนนี้วงการหนังสือของประเทศไทยจะดูซบเซากว่าช่วง 10-15 ปีก่อน แต่คุณกุงยังคงมองเห็นแสงแห่งความหวังอยู่ เธอกล้าพูดอย่างเต็มปากว่า หนังสือเด็กของไทยนั้นมีคุณภาพคับเล่มไม่ต่างจากหนังสือเด็กของต่างประเทศเลยสักนิด พร้อมกับยกตัวอย่างหนังสือเด็กของสำนักพิมพ์ห้องเรียนเล่มหนึ่งให้เราดู 

“หนังสือเด็กในไทยคุณภาพไม่ได้แพ้ต่างประเทศเลยนะ ทั้งเนื้อเรื่องแล้วก็ทั้งภาพ อย่างภาพประกอบหนังสือของสำนักพิมพ์ห้องเรียนก็คือภาพสวยมาก สวยเกิน เหมือนจิตรกรรมไปแล้ว (หัวเราะ) แค่มันอาจจะแบบไม่ได้ World Wide เท่าเมืองนอก เพราะว่าเมืองนอกเขาสามารถพิมพ์แล้วก็ส่งออกไปได้ในหลายประเทศ จริงๆ ไทยเองก็พิมพ์แล้วส่งไปหลายประเทศนะ แค่ตลาดเราเล็กกว่า แต่คุณภาพแน่นมากแน่นอน”

หากความต่างที่คุณกุงชี้ให้ผ่านแว่นของคนที่วาดภาพประกอบมาแล้วทั้งในและต่างประเทศคือเรื่องของเนื้อหา ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องและวิพากย์ได้ยากกว่าภาพประกอบ 

“สิ่งที่คิดว่ามันต่างกันประมาณนึงคือเรื่องเนื้อหา หนังสือเด็กของไทยจะชอบมีคุณธรรมค่อนข้างเยอะ แบบอ่านเรื่องนี้จะได้คติสอนใจอะไร แต่อย่างของเมืองนอกเท่าที่เห็น ปัจจุบัน เขาก็จะเน้นเรื่องรอบตัว เน้นไปที่การเตรียมเด็กให้ทันโลก อาจจะไม่ได้เน้นคุณธรรมมาเป็นที่หนึ่ง ยกตัวอย่างอย่างเรื่อง Here We Are ของ Oliver Jeffers ที่เกี่ยวกับโลกอะ แน่นอน ภาพสวยมาก เนื้อเรื่องก็ดีมากๆ คือเขาก็อธิบายเกี่ยวกับโลกเราว่าในโลกใบนี้มันมีหลายประเทศ คนหลายเชื้อชาติ มีสัตว์หลายอย่าง แต่ความนัยที่ซ่อนอยู่คือถึงเราจะต่างกัน เราก็จะต้องไม่ตัดสินว่าเขาไม่ใช่พวกเรา หรือว่าเขาเป็นคนไม่ดี นี่เลยทำให้รู้สึกว่าแบบ เนื้อหามันลึกนะ คือเด็กอ่านก็จะเข้าใจประมาณนึงแหละ แต่พอเป็นผู้ใหญ่อ่าน เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้มันเด็กน้อยเลยอะ ต้องเข้าใจนะว่าไม่ได้หมายความว่าของไทยไม่ดี เราแค่มุ่งเน้นคนละอย่าง”

“เด็กอะชอบหมดแหละ เผลอๆ ชอบนิทานสอนใจแบบนิทานอีสปนะ แต่ผู้ใหญ่หรือคนที่โตหน่อยก็จะชอบอะไรที่มัน implied ความนัยอย่างหลังมากกว่า แต่การสอนอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน มันก็จำเป็นกับเด็กเหมือนกัน”

แต้มสี

 หากเปรียบเปรยว่า “เด็กเป็นดั่งผ้าขาว” หนังสือที่เด็กๆ อ่านก็คือส่วนหนึ่งของสีที่ถูกแต่งแต้มลงไปบนผ้า เรากับคุณกุงคุยกันถึงหนังสือนิทานเด็กของสำนักพิมพ์ วาดหวังหนังสือ ที่เคยเป็นประเด็นร้อนอยู่บนโลกออนไลน์อยู่พักหนึ่งว่าด้วยเรื่องการทำหนังสือเด็กที่เนื้อหาไม่เด็ก คุณกุงดูเหมือนจะถูกใจเรื่อง “เสียงร้องของผองนก” ที่เล่าเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียมเป็นพิเศษ เราทั้งสองคนเชื่อว่าหนังสือเด็กที่ดีย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้ประมาณหนึ่ง และเนื้อหาเหล่านี้ควรถูกสอนตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในอนาคต คงจะดีไม่น้อยหากหนังสือนิทานมีส่วนหล่อหลอมทำให้บรรดาเด็กๆ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีควบคู่ไปกับการมีวิจารณญาณ

คุณกุงยังบอกอีกว่านอกจากเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ เธอก็ดีใจที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเนื้อหาในหนังสือเด็กเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจมากขึ้น เช่น การสอนให้เด็กตระหนักรู้คุณค่าของตัวเอง สอนให้เด็กตามอารมณ์ตัวเองให้ทัน หรือสอดแทรกแทรกทัศนคติบางอย่างที่จะเป็นต่อการใช้ชีวิตในวันที่เหล่านักอ่านตัวน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่

“เรามีหนังสือที่พูดเกี่ยวกับความรู้สึกเยอะขึ้นนะ เหมือนสมัยก่อนนิทานส่วนใหญ่จะเป็นฟีลประมาณนิทานอีสป แต่หลังๆ ก็เริ่มมีการสอดแทรกเรื่องของอารมณ์ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น ทางนี้ชอบที่หนังสือพูดถึงความรู้สึกข้างในของตัวละคร เช่นการเล่าว่าตัวละครตัวนี้คิดอะไรอยู่ ไม่ได้บรรยายเรื่องราวอย่างเดียว ส่วนหนังสือที่พูดถึงกลุ่ม LGBTQ+ ของไทยยังไม่ค่อยเจอนะ แต่ต่างประเทศเขามีมาตั้งนานแล้ว (เห็นตั้งแต่ตอนยังเรียนอยู่) เช่น การพูดถึงครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นผู้ชายทั้งสองคน อะไรแบบนี้ ก็ตื่นตาตื่นใจดีค่ะ ไทยยังไม่มี ก็อยากให้มีบ้าง หรืออาจจะมีแต่เรายังไม่เห็นเอง”

มันคงดีมากหากเราสามารถประยุกต์ความเป็นหนังสือนิทานที่มีภาพสวยๆ เข้ากับหนังสือเรียนของไทย คุณกุงรู้สึกเสียดายที่หนังสือเรียนในไทยดูไม่ค่อยดึงดูดให้อยากเรียนสักเท่าไหร่นัก

“จำได้ว่าตอนเราเรียน เราชอบหนังสือวิชาภาษาอังกฤษมากเพราะภาพสวยมาก น่ารักมาก แล้วมันทำให้น่าเรียน หรือแบบหนังสือญี่ปุ่นก็น่ารักมากเลยนะ น่าอ่านหมดเลยไม่ว่าจะเป็นหนังสืออะไร เขาใส่ใจและทำหนังสือเรียนเหมือนหนังสือนิทานเลยอะ” 

“ไต้หวันเขาเคยจัดนิทรรศการหนังสือเรียนที่สวยๆ คือเขาเอาหนังสือเรียนของแต่ละประเทศที่เขารู้สึกว่ามันสวยมาจัดโชว์ นี่ผ่านไปพอดีก็รู้สึกชอบมาก แบบมันดีมากเลย ถ้าเราเป็นเด็กเราก็คงอยากเรียนมากๆๆ ยังไม่ทันได้อ่านเนื้อหาเลยก็ชอบแล้ว เพราะภาพกับการจัดวางมันก็ดึงดูดสายตาเราก่อนเลย”

ได้ฟังดังนั้นก็อดคิดไม่ได้ว่าหากไทยเราทำหนังสือเรียนให้น่าหยิบมาอ่านเหมือนหนังสือนิทาน ระบบการศึกษาในไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้รึเปล่า เพราะบางครั้งการมีพื้นที่หรือมีงานนิทรรศการมันก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนหลายๆ กลุ่ม คนทั่วไปมาดูก็อยากอ่าน อยากใช้ อยากเรียน ส่วนสายผลิตอย่างนักวาดหรือคนทำหนังสือก็มีกำลังใจที่จะทำหนังสือเรียนออกมาให้ดี ผลประโยชน์จึงตกแก่ทั้งสองฝ่าย แถมดีกับระบบการศึกษาในระยะยาว 

ศิลปะอยู่ทุกที่ ขึ้นอยู่กับว่ามันจะถูกให้ความสำคัญหรือมีพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์แสดงฝีมือหรือไม่ ด้วยเหตุนี้บทสัมภาษณ์จึงลากยาวต่อถึงประเด็นว่าด้วยเรื่องของการสนับสนุนจากภาครัฐ

“คือในบางประเทศ อย่างที่เห็น พอรัฐเขาให้ความสำคัญกับศิลปะ มันก็ทำให้ศิลปินมีโอกาส มีพื้นที่ในการแสดงออกเพิ่มขึ้น เช่น อาจจะมีการจัดนิทรรศการ ทุน หรืออะไรก็ตามแต่ ถ้าให้เปรียบเทียบ อย่างประเทศเกาหลีกับไทย มันก็เห็นได้ว่าประเทศเขาให้ความสำคัญกับศิลปะมากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเลย ทุกวันนี้การมีอินเทอร์เน็ตมันทำให้ศิลปินกระจายผลงานตัวเองได้มากขึ้นอยู่แล้ว อย่างเรานี่ก็ไปลง NFT เหมือนกัน NFT ก็ถือเป็นอีกแพลตฟอร์มที่เราเอาไว้ขายงานเพื่อสร้างเครือข่าย และเปิดรับโอกาสใหม่ๆ เอาจริงศิลปินเขาก็หาทางให้ตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้ารัฐเข้ามาช่วยมันก็คงทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้นจริงๆ แหละ”

“ศิลปะสอนให้เราภูมิใจในตัวเองนะ”

‘ฉันทำอะไรได้ไม่ดีสักอย่าง’ ล้วนเป็นกับดักทางความคิดอันร้ายกาจที่โลกโซเซียลมีเดียกระทำต่อเราด้วยคมดาบที่มองไม่เห็น บ่อยครั้งที่เรากังขาในความสามารถของตัวเอง หรือรู้สึกมืดแปดด้านที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็ไม่เห็นทางไปต่อ 

ขณะที่กำลังตาบอดเดินหลงทางอยู่ในเขาวงกต ศิลปะอาจเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเห็นทางไปต่อ ปลายทางของการทำงานศิลปะที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือผลงาน สำหรับคุณกุง เธอมองว่าบางครั้งศิลปะก็เป็นที่ยึดเหนี่ยวเล็กๆ ในใจ 

“เราภูมิใจในตัวเองว่า ‘ฉันทำได้นะ’ เวลาที่ทำงานสำเร็จ งานนั้นก็จะเป็นชื่อของเรา เราเลยต้องตั้งใจทำให้เต็มที่ การที่มีคนอื่นชอบงานเรา เราก็นับว่าเป็นกำไรที่ทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเองมากขึ้น ดีใจที่เราเป็นกำลังใจให้กับคนอื่นได้”

สำหรับคุณกุง ศิลปะอาจไม่ได้ทำให้เธอมีความสุขกับสิ่งรอบตัวได้ง่ายขึ้นสักเท่าไหร่นัก เธอมองว่าคนเราสามารถมีความสุขกับอะไรเล็กๆ ในชีวิตได้อยู่แล้ว แม้จะไม่ได้ทำงานอยู่ในวงการศิลปะ คนที่วาดรูปไม่เป็นก็สามารถมีความสุขและรับรู้ถึงความสวยงามของพระอาทิตย์ตกได้ แต่ถึงกระนั้น ศิลปะก็มีส่วนช่วยทำให้เธอกลายเป็นคนช่างสังเกตมากขึ้น 

“สมมุติว่าเวลาเราเจอสถานที่สวยๆ สีอะไรสวยๆ หรือลักษณะของสิ่งของต่างๆ ก็ทำให้ช่างสังเกตมากขึ้นนิดนึงเผื่อเอาไปใช้ทำงาน และพอเรามีประสบการณ์ รู้ขั้นตอนการทำงาน มันก็ทำให้เวลาดูงานของคนอื่น เราก็จะคิดไปถึงกระบวนการทำงานเบื้องหลังของงานนั้นๆ ด้วย อย่างเรามีประสบการณ์ในการทำแอนิเมชั่น พอไปดูแอนิเมชั่นเรื่องอื่น มันก็คิดตามแบบอัตโนมัติเลยว่าแบบเขาแยกเลเยอร์ยังไง มีขั้นตอนการทำงานยังไงได้บ้าง”

ก่อนจบการสัมภาษณ์ คุณกุงก็ได้ฝากข้อความถึงน้องๆ และคนที่อยากทำงานสายเดียวกับเธอในอนาคตว่า

“ถ้ารักในการวาดรูปหรือรักในการทำงานในสายนี้ ก็คือไม่ต้องหยุด ทำไปเรื่อยๆ วาดไปเรื่อยๆ หาข้อมูล ถ้าทำบ่อยๆ แล้วเราก็จะเจอสิ่งที่เราชอบ เจอตัวตนของตัวเองในงาน แล้วก็เวลาวาดเราต้องโชว์งานด้วยนะ ถ้าเก็บมันก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้ามีเพจ มีแอคเคาน์ เว็บส่วนตัว ก็คือลงไปเลย หมั่นลงเรื่อยๆ วาดเก็บไปเรื่อยๆ แล้วมันจะมีคนชอบงานเราเอง ถึงตอนนั้นเราก็จะได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ที่สำคัญสุดคือ อย่าหยุดพัฒนา”

สุดท้ายนี้คุณกุงได้ฝากคำทักทายถึงนักอ่านและผู้ติดตามทุกคนที่กดติดตามเธอในฐานะ “ฉ่อกุง” มาตลอดในทุกช่องทาง 

“ขอบคุณทุกคนที่ติดตามกันนะคะ ฝาก Animation เรื่อง Sea of Love แล้วก็แบรนด์ของฝากไทย ชื่อว่าแบรนด์ “LAMOOD” กุงทำเป็นเทปลายอาหารไทยกับสติกเกอร์ ตอนนี้มีสินค้าแค่สองอย่างก็จริง แต่กำลังซุ่มทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือไปเที่ยวญี่ปุ่นมา เห็นว่าของฝากเขาน่ารักมาก อย่างพวกเครื่องเขียนอะไรแบบนี้ ก็เลยคิดว่าเราอยากให้ไทยมีอะไรน่ารักๆ แบบนี้บ้าง ส่วนหนังสือนิทานก็ขอฝาก “บนต้นไม้มีใครอยู่นะ” ที่เป็นหนังสือแต่งเอง สามารถไปติดตามกุงได้ทั้ง Facebook และ Instagram: Chorkung นะคะ แล้วก็ขอฝาก NFT ที่ทำอยู่ตอนนี้ด้วยค่ะ”

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า