fbpx

“ซี.เจ.วอล์กเกอร์” เศรษฐีนีผิวดำคนแรกของสหรัฐฯ 

ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม มาดาม ซี.เจ.วอล์กเกอร์ (Madam C.J. Walker) ที่ปัจจุบันจำหน่ายภายใต้แบรนด์ค้าปลีกเครื่องสำอางระดับโลก Sephora ถือกำเนิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อนในยุคที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศเลิกทาส แต่บรรยากาศการกดขี่ข่มเหงเรื่องเชื้อชาติและสีผิวในสังคมยังคงคุกรุ่นไม่ได้เลือนหายไปไหน คนผิวดำในสรัฐฯ ยังคงต้องใช้ชีวิตท่ามกลางอคติของสังคมอยู่เรื่อยมา เช่นเดียวกับสตรีชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ชื่อว่า ซาราห์ บรีดเลิฟ (Sarah Breedlove)

เธอเกิดในปี 2410 หรือ ค.ศ. 1867 ที่ไร่ฝ้าย ในเมืองเดลต้า รัฐลุยเซียนา และกลายเป็นเด็กกำพร้าในวัย 7 ปี หลังพ่อแม่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เธอต้องย้ายไปอยู่กับพี่สาวและพี่เขยที่รัฐมิสซิสซิปปี โดยหาเลี้ยงชีพสารพัดตั้งแต่ทำงานในไร่ฝ้าย และรับจ้างทำความสะอาดบ้านคนผิวขาว นอกจากต้องดิ้นรนเรื่องปากท้องแล้ว เธอยังต้องรับมือกับการกดขี่ด้วยกันเองภายในบ้าน จากพี่เขยที่ชอบใช้กำลังคุกคามเธอ 

พออายุย่างเข้า 14 ปี ซาราห์ตัดสินใจหลบหนีจากสภาพแวดล้อมในครอบครัวที่เป็นพิษ ด้วยการแต่งงาน และให้กำเนิดลูกสาวที่ชื่อว่า อาเลเลีย (A’Lelia) หลังจากสามีเสียชีวิต 2 ปีให้หลัง เธอได้พาลูกย้ายไปอยู่ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ซึ่งเป็นเมืองที่มีชุมชนคนผิวดำเยอะ ทำให้การเผชิญกับการเหยียดผิวลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการอยู่รัฐอื่น ๆ และที่นี่เองที่เธอได้พบรักครั้งใหม่กับ ชาร์ลส์ เจ.วอล์กเกอร์ (Charles J. Walker) ซึ่งทำงานด้านโฆษณาและเป็นบุคคลที่ช่วยซาราห์ทำธุรกิจดูแลเส้นผมของเธอในเวลาต่อมา

เมื่อย้ายมาอยู่รัฐมิสซูรีใหม่ๆ เธอเริ่มต้นอาชีพด้วยการรับซักผ้า มีรายได้ 1.50 เหรีญสหรัฐฯ ต่อวัน เพื่อส่งลูกสาวเข้าเรียนที่โรงเรียนของรัฐในตัวเมือง และหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการเข้าเรียนภาคค่ำ 

ต่อมาซาราห์ได้งานเป็นตัวแทนนายหน้าให้กับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมให้กับบริษัท The Poro Company ทำให้เธอต้องเดินทางไปที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด เพื่อขายสินค้า ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซาราห์เองก็เริ่มมีปัญญาเกี่ยวกับหนังศีรษะ ผมร่วงเป็นจำนวนมาก ทำให้เธอสูญเสียความมั่นใจ จึงพยายามหาวิธีแก้ปัญหาผมร่วง  

เมื่อเธอพัฒนาสูตรของตัวเองเพื่อรักษาหนังศีรษะและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมสำเร็จ เธอได้ลาออกจากงานบริษัท และออกมาเปิดกิจการของตัวเอง ในชื่อ Madam C. J. Walker Manufacturing Company ซึ่งสามีของซาราห์ก็สนับสนุนเต็มที่ และช่วยวางแผนโฆษณาสินค้า โดยเริ่มขายยาปลูกผมที่ชื่อว่า Madam C. J. Walker’s Wonderful Hair Grower รวมทั้งผลิตแชมพูออกมาเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสระผมบ่อยขึ้น

จากนั้นทั้งคู่ก็ออกเดินสายโปรโมตสินค้าด้วยตัวเองไปทั่วภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ เพื่อสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี รายได้และผลกำไรเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 2451 หรือ ค.ศ.1910 ซาราห์ได้เปิดโรงงานผลิตสินค้าของตัวเอง และเปิดโรงเรียนสอนเสริมสวย ที่อินเดียแนโพลิส เมืองหลวงของรัฐอินเดียนาของสหรัฐฯ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเธอวางโมเดลธุรกิจไว้ว่า จะไม่ขายแต่ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมเพียงอย่างเดียว แต่ได้ฝึกอบรมช่างทำผมให้เป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้ามากกว่า 10,000 คน โมเดลนี้ทำให้แบรนด์ ซี.เจ.วอล์กเกอร์ เป็นที่รู้จักไปทั่วสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ตาม ในอีก 3 ปีถัดมา ซาราห์และชาร์ลส์ได้หย่าขาดจากกัน เธอตัดสินใจเดินทางไปทั่วลาตินอเมริกาและประเทศในแถบแคริบเบียนด้วยตัวเอง เพื่อขยายลู่ทางทางการค้า พร้อมไปกับหาความรู้เพิ่มเติมในการดูแลเส้นผม ตอนนี้เองลูกสาวของเธอ อาเลเลีย เริ่มเข้ามามีบทบาททางธุรกิจ โดยเข้ามาช่วยบริหารจัดการภายในบริษัท แล้วกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ในย่านฮาร์เล็ม รัฐนิวยอร์ก เพื่อขยายธุรกิจในอนาคต 

ตลอดชีวิตการเป็นนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จ ซาราห์ได้สนับสนุนเงินให้กับองค์กรการกุศลมากมาย ก่อนที่จะจากไปในวัย 51 ปี ด้วยโรคความดันโลหิตสูง 

“ฉันแทบไม่มีอะไรเลยตั้งแต่เกิดมา ฉันต้องทำมาหากินและสร้างโอกาสด้วยตัวเอง….เพราะฉะนั้น อย่านั่งรอโอกาสที่จะเข้ามา แต่คุณต้องลุกขึ้นมาสร้างมัน!” สิ่งที่ ซาราห์ หรือ มาดาม ซี.เจ.วอล์กเกอร์ ได้กล่าวเอาไว้ 

เรื่องราวของมาดาม ซี.เจ.วอล์กเกอร์ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างเป็นภาพยนตร์มินิซีรีส์ที่ชื่อว่า Self Made: Inspired by the Life of Madam C.J. Walker ออกฉายในสตรีมมิ่ง Netflix 

อ้างอิง biography 2 / bbc

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า