fbpx

Beauty Stand Up! ส่องไฮไลต์โลกแต่ละยุคสมัยจาก “คำถามนางงาม”

Highlights

  • พื้นที่เวทีนางงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง MIss Universe ถือเป็นพื้นที่สำคัญหนึ่งในการ “ส่งเสียง” เพื่อชูประเด็นทางสังคมให้โลกได้ประจักษ์ ไม่ว่าจะผ่านชุดประจำชาติ หรือการตอบคำถาม ยิ่งรอบลึกเท่าไหร่ ยิ่ง Impact
  • คำถาม-คำตอบรอบสุดท้ายของการประกวด Miss Universe สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่โลกให้ความสำคัญ และชี้ให้เห็นถึงสภาพของแต่ละประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งการ “ไม่ตายไมค์” เชื่อมโยงประเด็นไทยสู่โลกได้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สามารถคว้ามงกุฎนางงามจักรวาล
  • ไม่เพียงแต่เป็น Buzzword ในการตอบคำถาม หรือปราศรัยต่อสาธารณะเท่านั้น การติดตามและตระหนักถึงประเด็นทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกคนที่มีส่วนขับเคลื่อนสังคมสามารถ “สร้างความเปลี่ยนแปลง” ได้อย่างแท้จริง

เรียกได้ว่านี่คือการเข้าใกล้มงกุฎจักรวาลที่สุดในรอบ 35 ปี เมื่อ “แอนโทเนีย โพซิ้ว” Miss Universe Thailand ครองตำแหน่งรองอันดับ 1 Miss Universe ประจำปีนี้ ซึ่งแม้เราอาจจะต้องรอคอย “มงสาม” ไปอีกสักปี แต่ต้องยอมรับว่าแอนโทเนียทำผลงานได้ดีมาก ๆ จริง ๆ ในทุก ๆ รอบที่ผ่านมา

ไฮไลต์สำคัญของการประกวด และนำไปสู่การ “คว้ามง” คือรอบ “ตอบคำถาม” ซึ่งคำตอบของสาวงามผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมักเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางเพศ สิทธิสตรี พื้นที่ถกเถียงเรื่อง “ความงาม” หรือแม้กระทั่งเรื่องใหญ่อย่าง “ระเบียบโลก” ด้วย

สำหรับประเทศไทย เรา – ไม่ว่าจะเป็นแฟนนางงามหรือชาวไทยทั่วประเทศ – ต่างก็ลุ้น “มงสาม” มาหลายปี จนกลายเป็น “ภารกิจแห่งจักรวาล” ที่เป็นที่จับตามองตั้งแต่การเลือกชุดประจำชาติ การเทรนบุคลิก การแต่งหน้า การวางตัว ไปจนถึงวิธีการตอบคำถามที่จะ “ไม่ตายไมค์” ยิ่งมากปีเข้า ยิ่งบอกได้เลยว่ายิ่งเทรนให้ “ไม่จม ไม่หาย ไม่ตายละติน” ขึ้นไปทุกปี แถมประเด็นสังคมที่อยู่ในคำถามก็ยิ่งน่าสนใจ

เราอยากขอพาไปสำรวจคำถามนางงามที่ตัวแทนสาวไทยต้องเจอนับแต่มงแรก พร้อมกับส่องความเคลื่อนไหวของโลกผ่านคำถามเหล่านี้ไปด้วยกัน

ยุค “มงแรก”
ความงาม โลกที่สาม และสงครามเย็น

แม้ อมรา อัศวนนท์ จะเปิดประเดิมการไปเวทีจักรวาลด้วยทุนทรัพย์ของเธอเองเมื่อ พ.ศ. 2497 และ สดใส วานิชวัฒนา (รศ.สดใส พันธุมโกมล) นักศึกษาปริญญาโทด้านศิลปการละครจาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียจะคว้ารางวัลนางงามมิตรภาพจากการประกวดนางงามจักรวาลเมื่อ 2502 ทว่าการส่ง “อาภัสรา หงสกุล” ไปสู่เวทีจักรวาลในนามประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2507 ก็ให้ผลเกินคาด เพราะเธอได้คว้ามงกุฎมาครอบครองอย่างไม่ค้านสายตาใคร

สำหรับคำถามที่อาภัสราได้ในรอบตัดสินคือ หากไปที่ประเทศของคุณ คุณจะนำเสนอที่ใด ซึ่งเธอตอบว่า พระบรมมหาราชวัง ส่วนอีกคำถามหนึ่งที่กลายมาเป็นไวรัลในยุคทวิตเตอร์คือ ให้พูดเชิญชวนไปท่องเที่ยวที่ประเทศไทยด้วยภาษาของคุณ

“โปรดมาเที่ยวที่เมืองของฉัน” คือคำตอบของเธอ

ในขณะที่ปีต่อมา “จีรนันทน์ เศวตนันทน์” ได้ครองตำแหน่งรองอันดับ 2 โดยเธอได้รับคำถามว่า “สำเนียงภาษาอังกฤษของคุณดี คุณเรียนภาษาอังกฤษจากที่ไหน” โดยเธอตอบว่า เธอได้รับทุนเรียนภาษาจากเจ้านายพระองค์หนึ่ง (ซึ่งเธอใช้คำว่า Late Prince Chula’s daughter) ที่ประเทศอังกฤษ

หากจะกล่าวถึงภาวะของเมืองไทยในขณะนั้น ภาพของเมืองไทยเป็นภาพดินแดนไกลโพ้นที่มีเสน่ห์น่าหลงใหล ด้วยภูมิทัศน์ที่แตกต่างจากโลกตะวันตกผู้ครองระเบียบโลกอย่างสุดขั้ว ป่าไม้สัก ช้าง และผู้คนที่เป็นมิตร คือจุดขายสำคัญที่ทำให้โลกจับตามองประเทศเล็ก ๆ ในคาบสมุทรอินโดจีนแห่งนี้ อีกนัยหนึ่ง ไทยเองถือเป็นตัวแปรสำคัญในสงครามเย็น ในฐานะที่รับนโยบายค่ายโลกเสรีอย่างแข็งขัน รวมถึงการปรับตัวเข้าหา “ระเบียบโลก” ผ่านสำเนียงภาษาอังกฤษที่เทียบเท่าเจ้าของภาษาด้วย

ยุค “มงสอง”
โลกแห่งความฝัน โอกาส และความเสมอภาค

เป็นเวลานานถึง 28 ปี มงกุฎนางงามจักรวาลมงกุฎที่สองได้กลับมาลงที่ศีรษะตัวแทนประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อ “ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก” เจ้าของวลี “ปุ๋ยรักเด็ก” คว้ามงกุฎนางงามจักรวาลไปได้ ในการประกวดที่ไต้หวันเมื่อ 1988

สำหรับคำถามที่ภรณ์ทิพย์เจอคือ เธอสามารถเป็นตัวแทนประเทศไทยได้อย่างไร ในเมื่อยังศึกษาที่สหรัฐอเมริกา เธอตอบว่า เธอเป็นคนไทย แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ที่ไทยก็ตาม และหวังว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของคนไทยด้วย และถึงแม้ว่าเธอจะเติบโตที่ลอส แอนเจลิส แต่เธอก็ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทย พูดภาษาไทย และภูมิใจที่เป็นคนไทย

สำหรับคำถามต่อมาคือใครเป็นคนสอนภาษาอังกฤษคนแรก เธอยกให้ “Big bird” รายการเด็กในวัยเยาว์ของเธอเป็นครูสอนภาษาอังกฤษคนแรก และคำถามสุดท้ายที่สอดคล้องกับวลีเด็ดของเธออย่าง “คุณมีโครงการการกุศลสำหรับเด็กที่ประเทศไทยอยู่ใช่ไหม” เธอตอบว่า

“ใช่ แม้ว่าเมืองไทยจะสวยงาม มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดี แต่เราก็มีปัญหา คนไทยนับหมื่นคนยังคงอดอยากและเสียชีวิต ในฐานะนางสาวไทยดิฉันหวังว่า จะช่วยให้เด็กเหล่านั้นดีขึ้น”

หากพูดถึงเหตุการณ์ในระยะนั้น สิ่งที่โลกกำลังให้ความสนใจคือประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเด็กยากไร้ ความยากจน และคุณภาพชีวิตของคนที่ไม่เท่าเทียมกัน ในขณะเดียวกัน เวทีนางงามเป็นพื้นที่สำคัญในการแสดง “อัตลักษณ์” ของชนชาติอย่างชัดเจน ที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน แต่วัฒนธรรมคือสิ่งเชื่อมโยงสำคัญระหว่างคน และเชื้อชาติของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางความก้าวหน้าของวิทยาการในโลกที่รุดหน้า

ยุค “(รอ)มงสาม”
เคลื่อนไหว วิพากษ์ และเป็น “ความหวัง”

คำถามสู่มงจักรวาลในปีล่าสุดนี้คือ “หากคุณสามารถใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงคนอื่นได้ 1 ปี คุณจะเลือกเป็นใคร? เพราะอะไร?” และคำตอบของผู้เข้ารอบ 3 คนสุดท้ายล้วนเป็นคำตอบที่น่าสนใจทั้งสิ้น

โดย แอนโทเนีย โพซิ้ว ตัวแทนจากประเทศไทยในปีนี้เลือกเป็น “มาลาลา ยูซาฟไซ” นักสิทธิมนุษยชนผู้เรียกร้องการศึกษาให้ผู้หญิงปากีสถาน เผชิญการคุกคามจากรัฐบาลจนคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 

สิ่งที่สะท้อนผ่านคำถามนี้คือ บทบาทของผู้หญิงที่เป็นได้ “ทุกอย่าง” และขับเคลื่อนสังคมไม่ว่าคุณจะเป็นใคร รวมถึงปัญหาสิทธิสตรีที่ยัง “คงอยู่” ในหลายสังคม

ในระยะหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าเวทีจักรวาลให้ความสำคัญกับ “ความเคลื่อนไหว” ในสังคมอย่างชัดเจน ซึ่งความเคลื่อนไหวและความตระหนักรู้ในด้านต่าง ๆ ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ถึงวงการนางงามว่าเป็นสถาบันสำคัญในการเชิดชู Beauty Privilege สวนทางกับโลกที่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายโดยไม่ “เหยียด” ใคร

หากเรามองย้อนกลับไป คำตอบของผู้เข้าประกวดชาวไทยในช่วงหลายปีมานี้สะท้อนให้เห็นภาวการณ์บ้านเมือง และประเด็นที่โลกให้ความสำคัญอย่างชัดเจน

น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ Miss Universe Thailand 2016 เจ้าของรางวัลป็อบปูลาร์โหวตประจำปีนั้น ได้คำถามรอบ 6 คนสุดท้ายว่า ผู้นำระดับโลกในอดีตหรือปัจจุบันที่คุณชื่นชอบและเคารพคือใคร เพราะเหตุใด โดยเธอเลือกตอบ “รัชกาลที่ 9” สอดคล้องกับเหตุการณ์การสวรรคตของพระองค์ อันเป็นเหตุการณ์ใหญ่ของปีนั้น ส่วน มารีญา พูลเลิศลาภ ผู้เข้ารอบ 5 คนสุดท้ายปี 2017 ได้คำถามว่า Social Movement (การเคลื่อนไหวทางสังคม) ที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณคืออะไร เพราะเหตุใด เธอได้เลือกตอบ “การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นภาวะสำคัญหนึ่งของประเทศไทย และแรงขับเคลื่อนสำคัญในเรื่องนี้คือเด็กและเยาวชน อันเป็นสิ่งที่เธอโฟกัส

ส่วน ฟ้าใส-ปวีณสุดา ดรูอิ้น ผู้เข้ารอบ 5 คนสุดท้ายของปี 2019 เจอโจทย์สุดท้าทายว่า หลายรัฐบาลมีนโยบายรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชน แต่อาจรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ระหว่าง “Privacy” กับ “Security” สิ่งใดสำคัญกว่ากัน โดยเธอตอบว่า “ฉันเชื่อว่ารัฐบาลแต่ละประเทศมีนโยบายของตัวเองที่จะทำให้ประชาชนปลอดภัย และฉันคิดว่ารัฐบาลไม่ควรจะก้าวล่วงสิทธิความเป็นส่วนตัว เพราะว่าเรามีสิทธิที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัว แต่ความมั่นคงก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเพื่อให้สังคมของเราดีขึ้นกว่าเดิม รัฐบาลควรจะหาจุดสมดุลในการเข้ามาดูแลความปลอดภัย เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้ในสังคม”

จนกลายเป็นที่ถกเถียงในสังคมว่า ระหว่าง Privacy กับ Security เราควรจะให้น้ำหนักกับสิ่งใดมากกว่า หรือจริง ๆ สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญสูงสุดคือ “Democracy” (ประชาธิปไตย) และกลายเป็นการบ้านให้กับวงการนางงามว่าต้องเรียนรู้สถานการณ์โลกและมีจุดยืนของตนเอง เพื่อให้ “ไม่ตายไมค์”

คำถาม-คำตอบของตัวแทนสาวไทยในยุคนี้มีพื้นฐานมาจาก “สถานการณ์” ในประเทศอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน คำตอบที่เชื่อมโยงสถานการณ์ไทยสู่สถานการณ์โลกก็สามารถทำให้เห็นถึง “ความคิด” ของผู้คนในสังคมว่าเราได้ก้าวไปสู่ความเป็น “พลเมืองโลก” (Global Citizen) ที่เห็นคุณค่าของคนทุกคนเสมอหน้า และในฐานะตัวแทนของประเทศ พวกเธอมีพันธกิจที่สำคัญในการใช้ “เสียง” ของตัวเองส่งถึงผู้มีอำนาจในสังคม รวมถึงโลกว่าเราจำเป็นต้องขับเคลื่อนประเด็นสังคมต่าง ๆ เพื่อโลกจะเป็นโลกที่น่าอยู่ไปด้วย

หมายเหตุท้ายโพย

แม้ภาพจำของการประกวดนางงามจะเป็นธุรกิจเพื่อความงามอย่างเต็มรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกคือการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองภาพใหญ่ระดับโลกหรือสเกลเล็ก ๆ ระดับแต่ละประเทศ นี่ย่อมชี้ให้เห็นว่าการเป็น “ตัวแทน” ของประเทศไม่ว่าระดับไหนจำเป็นจะต้องมีวิสัยทัศน์ พร้อมกับตระหนักถึงพลังในมือว่าจะสามารถขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เวทีจักรวาลถูกตั้งคำถามถึงความเป็น “ธุรกิจความงาม” อย่างชัดเจน ในฐานะองค์กรผู้สร้างมาตรฐานความงาม (Beauty Standard) รวมถึงการจำกัดเงื่อนไขในการประกวดนางงามที่ไม่สอดคล้องกับสภาวะสังคม ในขณะเดียวกัน คำถามและคำตอบจากผู้เข้าประกวดได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นทางสังคมที่เราควรโฟกัส ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมทางเพศ การกดขี่มนุษย์ ความรุนแรงในครอบครัว สิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อชีวิตของทุกสรรพสิ่งบนโลก สิ่งสำคัญหนึ่งที่จะทำให้เราก้าวตามทันประเด็นสังคม ไม่จม ไม่หาย คือการตระหนักถึงสิทธิอย่างเต็มที่

เพราะการขับเคลื่อนสังคมคือการทำให้เห็นว่า Buzzwords ที่พูดออกมาต้อง “เกิดขึ้นจริง”

แหล่งอ้างอิง : youtube 1 2 3 / pptvhd36 / thaipbs / bbc / jstor / the101

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า