fbpx

ARTCADE: พื้นที่สร้างงานศิลปะเมืองพะเยาจากบทเรียน 10 ปี

ในช่วงปีที่ผ่านมา หากจะบอกว่าจะมีงานนิทรรศการเกิดขึ้นมาในประเทศไทย เชื่อว่าคนจำนวนมากคงจะไม่เชื่อว่าจะจัดขึ้นได้ ด้วยเหตุที่ว่าเกิดการแพร่ของเชื้อไวรัสโควิด – 19 จนทำให้กิจกรรมต่างๆต้องถูกยกเลิกไป แต่ว่า จังหวัดเล็กๆ อย่าง “พะเยา” ที่ไม่เคยมีการจัดนิทรรศการมาก่อน กลับสามารถจัดนิทรรศการศิลปะบนตลาดเก่าแก่ใจกลางเมืองขึ้นมา และได้กลายเป็นหมุุดหมายใหม่ให้ทั้งผู้คนมากมายไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่เองหรือแม้แต่คนที่แวะเวียนมาที่เที่ยวจังหวัดเล็กๆแห่งนี้ 

เรามาที่ตลาดอาเขต สถานที่จัดงาน Phayao Arts & Creative Festival ที่กำลังจะเปลี่ยนการเป็น ARTCADE พื้นที่จัดงานศิลปะแห่งใหม่ของจังหวัด แต่วันนี้เราไม่ได้มาคุยเพียงแค่ว่าในวันที่งานนิทรรศการนี้เสร็จสิ้นลงไปแล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ประเด็นที่เราอยากจะชวนผู้จัดงานอย่างอาจารย์โป้ง-ปวินท์ ระมิงค์วงศ์

มากกว่าแค่งานนิทรรศการครั้งนี้ คือเรื่องราวตั้งแต่วันที่เริ่มต้นจัดนิทรรศการเล็กๆ ในบ้านเช่าของตัวเอง จนค่อยๆ เติบโตกลายมาเป็นนิทรรศการระดับจังหวัดขนาดนี้

เรามานั่งถอดบทเรียนตลอด 10 ปีนี้กันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และอะไรที่อาจารย์มองเห็นในตลอดช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้

จากอ่างแก้วสู่กว๊านพะเยา

นับตั้งแต่เรียนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตดีเจหนุ่มได้ย้ายถิ่นฐานจากเชียงใหม่เปลี่ยนอาชีพตนเองมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มต้นทำงานที่จังหวัดพะเยาแห่งนี้

“พอมาอยู่พะเยาก็ได้เช่าบ้านอยู่คนเดียวแล้ว พื้นที่บ้านมันก็กว้างพอสมควรเลยได้คุยกับอาจารย์อีกคนว่าเรามาทำเป็น Art space มั้ย” อาจารย์ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของสถานที่จัดงานครั้งแรกอย่าง อย่าเห็นแก่ตัวสถาน

ด้วยความที่จังหวัดพะเยาเป็นเมืองเล็กมาก กิจกรรมในแต่ละวันของชาวเมืองจึงไม่ได้มีอะไรหวือหวาเป็นพิเศษ สำหรับชายหนุ่มอายุ 30 ต้นๆแล้ว วิธีที่จะทำให้ตัวเองยังรู้สึกสนุกในการใช้ชีวิตที่นี่ก็คือการลุกมาทำ Art Space ของตัวเอง

พิธีเปิดนิทรรศการ 30 ปี จิตรกรรม วิจิตรศิลป์ มช. ณ อย่าเห็นแก่ตัวสถาน พะเยา

“ตอนนั้นทำแบบไม่มีงบอะแหละ มันก็เป็นบ้านไม้สองชั้นแต่ข้างล่างมันโปร่งสูง ที่เนี่ยเราก็ไปร้านขายขยะ ไปซื้อของที่อยู่ในร้านขายของเก่า ทำเองหมดเลย กระบวนการต่างๆ ซื้อสังกะสีมาปิดก็เหมือนสนุก เหมือนได้คิดงานตลอดเวลา“

จากบ้านไม้สองชั้นได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ศิลปะ และที่แห่งนี้พร้อมแล้ว งานศิลปะต่างๆก็เริ่มถูกนำเข้ามาเพื่อสร้างชีวิตให้กับพื้นที่แห่งนี้

“หลังจากนั้นมีพื้นที่แล้ว เราก็ไปดีลเอาคอนเนคชั่นให้มาจัด Exhibition เพราะตอนนั้นลูกศิษย์เราไม่เยอะ เราเปิดงานแรกด้วยงานของอาจารย์ที่อาจารย์หกเจ็ดคนเอางานของตัวเองมาโชว์ พอเริ่มทำแล้ว เราเห็นว่าเรามี space หลังจากนั้นมาก็เริ่มดึงเอาน้องศิลปินเชียงใหม่มาจัดกิจกรรมจัดต่อ“

ตัวอย่างโปสเตอร์งานที่ถูกจัดในครั้งที่ยังเป็น อย่าเห็นแก่ตัวสถาน

“เราก็ทำ ทำไปก็สนุก หนึ่งคือการความน่าเบื่อของงานในมหาวิทยาลัย คือ งานเอกสาร งานบริหาร พอเราได้มาทำอะไรอย่างงี้มันก็ทำให้เรามีพลังมากขึ้น” 

แต่สถานที่แห่งนี้ก็ไม่ได้อยู่อย่างยาวนาน อย่าเห็นแก่ตัวสถานก็เป็นอันต้องย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่  พื้นที่ศิลปะบนบ้านไม้แห่งนี้ถูกย้ายไปปเป็นตึกใจกลางเมือง ก่อนที่จะเจอปัญหามากมายที่ทำให้ต้องหยุดและกลับมาเปิดใหม่อีก รวมทั้งสิ้น 4 ครั้งและปัจจุบันก็ได้มาเป็นพื้นที่บนตลาดกลางเมืองแห่งนี้

แกเลอรี่ในพะเยาเป็นเรื่องจำเป็น

ภาพจำของเมืองเล็กๆ สงบตามซีรีส์ต่างๆ ที่ตัวละครเอกทั้งคู่จะชวนกันในแกลอรี่ของเมือง แต่ตัดมาที่ความเป็นจริงแล้ว ในประเทศไทยเรามักพบว่างานทำนองนี้มักจะถูกจัดในเมืองใหญ่ของประเทศ ทั้งที่ความจริงแล้ว ศิลปินต่างๆก็กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ จึงเกิดมาเป็นคำถามที่ว่า “เพราะอะไรที่อาจารย์คิดว่าที่ผ่านมามันไม่เคยมีงานแบบนี้เลย?”  

“เพราะเราเชื่อว่าทุกที่ที่มันมีแม้กระทั่งเชียงใหม่ต้องมีแกเลอรี่ที่มันเป็นศิลปะร่วมสมัยจริงๆ คนมาเปิดก็ไม่ใช่คนเชียงใหม่ เป็นคนกรุงเทพไปเปิด เป็นนักลงทุน ต้องใช้คำว่านักลงทุนมากกว่า gราเลยมองว่าสิบปีที่เราเปิดแกลลอรี่ผ่านมา พะเยายังมีนักลงทุนมาลงทุนน้อย อาจจะด้วยจำนวนประชากรที่น้อยพอรีเสิร์ชมาแล้วมันยังไม่คุ้นทุน หรือจริงๆ แล้วตรงนี้มันเป็นเสน่ห์ของพะเยา การที่โตช้าด้วย ตัวเมืองกับมหาวิทยาลัยพะเยาก็แยกกันชัดเจนมันเป็นสองเมืองเลยตอนนี้ มันเลยไม่ถูกเอามานับรวมกันเป็นประชากรร่วม แล้วเด็กมหาลัยส่วนใหญ่เป็นเด็กจากต่างจังหวัด มีคนพะเยาจริงๆ สัก 35 เปอร์เซ็นต์เองมั้งจากทั้งหมดสองหมื่นคน”

ตลาดอาเขตในปี 2019

เหมือนที่อาจารย์ได้บอกเพราะเมื่อนักศึกษาจากต่างจังหวัดที่เข้ามาที่มหาวิทยาลับแห่งนี้ เมื่อพ้นช่วงเวลาของการศึกษาไป ทุกคนก็แยกย้ายกลับไปยังที่ที่ตนจากมา รวมถึงเด็กรุ่นใหม่หลายคนก็มักจะมีปลายทางของชีวิตคือเมืองแห่งโอกาส เช่น เชียงรายหรือเชียงใหม่ สำหรับจังหวัดพะเยาคงเป็นสถานที่สุดท้ายที่ทุกคนเลือกกลับมา และเมื่อที่แห่งนี้ไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลง พื้นที่ต่างๆในจังหวัดจึงเริ่มถอยไปตามเวลาตามชีวิตของผู้คนที่ผ่านไป เช่นเดียวกับตลาดแห่งนี้ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต แต่ปัจจุบันกลายเป็นตลาดที่แม้จะยังมีชีวิตแต่ลมหายใจก็รวยรินเหลือเกิน

“อย่างในแง่ของโลเคชั่นข้างล่างมันเป็นตลาดที่ปิดอยู่ โอเคมันรอวันตายแหละ แต่มันก็ยังเป็นตลาดที่มีชีวิต แต่สถานที่ข้างบนมันเกิดใหม่ขึ้นมาในความหมายของพื้นที่ แน่นอนว่าแรกๆ เขาก็ตกใจกันหน่อย หลัง ๆ เขาก็เริ่มเข้าใจแล้ว พอเราบอกหลาย ๆ คนว่า นี้งานนักศึกษา เขาก็จะบอกต่อกับเรา มีเฮียคนหนึ่งขึ้นไปหลังจากนั้นมาก็พาลูก พาเมีย มาก็ชวนเนี่ยหลานทำศิลปะอยู่เดี๋ยวจะให้มาหาอาจารย์ เราก็เห็นแล้วว่าหลายๆ คนที่คุยกับเราเริ่มรู้สึกแล้วว่าอยากกลับมาอยู่พะเยา“

ตลาดอาเขต ในปี 2021

พื้นที่นิทรรศการศิลปะ

เมื่อมีพื้นที่แล้ว มีงานให้เตรียมแสดงแล้ว ต่อไปก็จำเป็นต้องมีผู้คนให้เข้ามารับชมผลงานที่ถูกแสดง ซึ่งหากเราอยากจะชวนใครสักคนให้ไปเดินพื้นที่ศิลปะด้วยกัน หนึ่งในคำตอบคลาสสิคที่สุดที่เราเคยได้ยินคือคำพูดที่ว่า “ดูทางออนไลน์ก็ได้นิ ไม่เห็นจำเป็นต้องเดินทางไปไกลเลย” เราจึงอยากถามคำถามนี้กับผู้ที่จัดงานโดยจรง ว่าทำไมถึงจำเป็นต้องเดินทางเพื่อให้ได้ไปเห็นศิลปะด้วยตาตัวเอง

“ถ้าวัดจากตัวเราเอง งานหลายๆอย่างที่มาจากออนไลน์ เราโครตอยากไปดูเลย ข้อความทุกอย่างที่ศิลปินต้องการสื่อเราต้องไปดู ต้องไปยืนจ้อง อย่างหนังพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ดูหน้าจอคอมกับหน้าโรงไม่เหมือนกันเลย หลายคนบอกว่ามันเหมือนกันแหละ แต่เราอยากให้คุณลองไปสัมผัสแล้วคุณจะเข้าใจ อย่างงานเซรามิค คุณไปดูในเฟสบุ๊คกับของจริง มันไม่เหมือนกัน เราทำยังไง ก็คือเราทำให้เค้าเห็นจริงๆ แต่อาจจะเพิ่มกลยุทธ์ยังไงให้เค้าเห็นจริงๆเยอะขึ้นกว่านี้”

“มีอีกวิธีคือมีแคปชั่นงาน ชื่อศิลปิน ชื่อผลงาน คอนเซ็ปต์ มันก็มีคนอ่านแล้ว บางคนเค้าก็เริ่มสนใจ เริ่มเรียนรู้ไปเรื่อยๆ แต่อย่างที่บอกมันต้องใช้เวลา เชียงใหม่เองยังยากเลย พะเยาเองก็ยากพอๆกัน อย่างพะเยาเองก็มีพิธีเปิด ซึ่งคนส่วนใหญ่เค้าจะไปพิธีเปิด อย่างหอศิลป์ มช เองบางวันแทบไม่มีใครไปดูเลย ยิ่งถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวจะไม่มีคนไปดูเลย อย่างฝรั่งเค้าก็จะไป BACC (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) เป็นอันดับแรกเลย เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในสังคมนั้น ที่ต่อมาที่จะไปก็คือวัด เป็นโบราณสถานมากกว่า“

นอกจากนี้แล้วพื้นที่แสดงงานศิลปะ ไม่เพียงแต่จะเป็นการนำงานศิลปะต่างๆหลายแขนง มารวบรวมแล้วมีผู้รับชมเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการนำผู้ที่สนใจในงานให้เข้ามามองเห็นและซื้อผลงานชิ้นนั้นให้เป็นของตน โดยที่ศิลปินก็จะมีรายได้จากตรงนั้นเพื่อให้สามารถนำเงินนั้นไปใช้ต่อไปได้

ผลงานที่ถูกนำมาจัดแสดงและมีผู้ซื้อไป

“จังหวัดพะเยาก็จะมี พี่พิบูลศักดิ์ (ละครพล) ที่เป็นศิลปินแห่งชาติในจังหวัดคือเขียนหนังสือด้วย ทำสีน้ำด้วย พี่อุเทน (มหามิตร) ก็เป็นศิลปินศิลปาธร ซึ่งก็ทำงานเพ้นท์ด้วยแล้วก็เขียนหนังสือด้วย พอเรามีพื้นที่นี้ แล้วมันจัดอะไรได้หลายอย่าง เราเริ่มต้นที่นี้อะไรอย่างนี้ งานขายได้แล้วมีคนซื้อแล้ว เราก็เริ่มเจอ Collector ที่ตัดสินใจซื้องาน แปดเก้าพัน อะ ผมเอา อาจารย์จะให้โอนเงินเลยรึเปล่า?“

และการซื้อขายผลงานศิลปะนี่เองที่ทำให้ชีวิตของศิลปินหลากหลายชีวิตในจังหวัดได้มีลมหายใจที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ต่อไป

เพราะไม่มีใครทำ เลยต้องทำ

“แล้วเหตุผลอะไรเหรอครับที่ทำให้ยังต้องผลักดันพื้นที่แห่งนี้ต่อไป” สิ่งหนึ่งที่เราอยากรู้จากอาจารย์ ว่าอะไรกันที่ทำให้คนๆหนึ่งลงแรงกาย แรงใจและทุนทรัพย์เป็นจำนวนมากไปให้กับความฝันที่อยากให้จังหวัดที่ไม่ใช่แม้แต่บ้านเกิด ได้มีพื้นที่แสดงศิลปะดีดีแบบนี้

“ ก็ไม่มีใครทำไง” สีหน้าของอาจารย์เปลี่ยนไปเมื่อไรถามคำถามนี้

“เราพยายามรับอาสาสมัคร ก็แบบไม่มีเงินจ่าย แต่มีค่าตอบแทนให้น้อยนิดมาก เลี้ยงข้าว แจกเสื้อให้มาช่วยเสาร์อาทิตย์ ให้อย่างน้อยมี Staff อยู่ในงานให้มันคึกคัก เราก็พยายามอยากปั้นเด็กขึ้นมาเพื่อให้วันหนึ่งมันสามารถช่วยรันให้งานนี้เกิดต่อไปได้ สมมุติว่าเราลงไปทำอย่างอื่นแต่ตรงนี้ถ้ามันชัดเจนและมีจุดยืนของมัน ต่อไปมันก็จะรันด้วยตัวของมันเองได้ ด้วยการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ที่สนใจมาช่วยให้มันไปต่อ”

“ตอนนี้มันอาจไม่มีรายได้ แต่ต่อไปมันต้องมีโดยมันจะมีรายได้เข้ามาเอง แต่ถ้าเราไปกดดันตัวเองแล้วถ้ามันไม่ได้ มันเฟลปุ๊บ มันจะบั่นทอนในการทำงานของเราแน่นอน ซึ่งเราเคยเป็นมาแล้ว แต่ตอนนี้เราชิลๆถ้ามันมีปัญหาเราก็พักโปรเจ็ค เรารู้สึกการทำงานโครงการหลายครั้งเรารู้สึกไม่ Win – Win กับโครงการที่จะได้งบเลย”

“บางคนเราจัดมาสามเดือน เค้ายังไม่รู้เลยว่าเค้าจัดตรงนี้ ในสิ่งที่เราคิดว่าเราโปรโมทเต็มที่แล้ว มันยังเข้าไม่ถึงคนทั้งหมด ซึ่งระยะต่อไปเราก็จะเริ่มเข้าถึงสื่อท้องถิ่นนมากขึ้น เพราะอยากใช้ออนไลน์ก็ได้กลุ่มหนึ่ง โปสเตอร์ก็ได้กลุ่มหนึ่ง เราเลยทำอะไรที่ถนัดก่อน เสียงตามสายเราก็ส่งหนังสือให้เทศบาลไป เราก็จะได้กลุ่มอีกกลุ่มหนึ่ง อย่างเราเองได้ยินเสียงตามสายทุกวันแต่เราก็ไม่รู้ว่าเค้าประกาศอะไร ”

10 ปี

ช่วงเวลา 10 ปีของคนๆหนึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน การที่ใครสักคนทำสิ่งหนึ่งมาตลอด 10 ปี ย่อมมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในตลอดช่วงเวลานั้น อะไรกันที่ทำให้อาจารย์เรียนรู้จากช่วงเวลานี้

“เราคุยกับลูกศิษย์หลายคน ทุกคนก็จะมองเห็นอย่างหนึ่งจากเราว่าเราทำแล้วแม่งไม่รวย ไม่มีรายได้ ไม่รวยจากมัน ลูกศิษย์หลายคนก็ฉีกไปทำร้านกาแฟ เพราะอย่างน้อยจะได้มีรายได้มาเลี้ยงรายวัน สิ่งที่มันเห็นจากเรา คือเราเอาเงินเดือนถมไป แล้วมันก็เห็นเราล้มลุกคลุกคลานตลอด มีคนบอกเราว่าอย่าทำอะไรอีกเลย สอนนี่แหละ เก็บเงินเอาเงินเดือนนี่แหละ แต่เราก็ไม่ฟัง เราก็ทำของเรา แต่ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส” ก่อนที่อาจารย์จะต่อถึงสิ่งที่ทำให้อาจารย์สามารถของบมาจัดงานนี้ได้

“อย่างแรกคือถ้าเรามี Project อยู่ในมือ มี Proposal ที่พร้อมอย่างงาน Festival นี้ เราก็ได้เพราะคิดว่าเราได้เพราะวันต่อมา CEA โทรมา อีกวันเรา Rewrite Proposal ให้อยู่ในงบประมาณตามบรีฟที่เค้าต้องการ อีกวันเราส่งไปเลย มี Reference ทุกอย่าง งานที่เคยจัดมาเป็นยังไง มีตัวเลขยังไง มันเลยจบดีลได้ เค้าก็เห็นศักยภาพเพราะเราทำมาตลอด มันต้องพร้อมแบบนี้มากกว่าแต่เราก็ต้องดูจังหวะและโอกาส”

แล้วถ้าถามถึงความสนุก จากพื้นที่ศิลปะเล็กๆที่สร้างขึ้นในบ้านเช่าเพราะความสนุก สู่ชั้นสองของตลาดใจกลางเมืองที่กำลังจะเกิดใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นกว่าจุดเริ่มต้นมาก ความสนุกยังเหมือนเดิมมั้ย? ผมถามอาจารย์ด้วยคำถามที่พาอาจารย์ กลับไปนึกถึงตัวเองเมื่อ 10 ปีก่อน

“ยังสนุกเหมือนเดิมนะ มันยังทำให้เรามีชีวิตชีวา มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่เหมือนคนในวัยเดียวกัน (44 ปี) หลายๆคน เพื่อนเรารุ่นเดียวกันบางคนมีลูกมีครอบครัวแล้ว ลูกเพื่อนก็มาเป็นลูกศิษย์เราแล้ว เรารู้สึกว่าเรายังมีแรงที่จะไปต่อได้ ยังไม่รู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ ถึงแม้เราจะรู้มาตลอดว่าถ้าเรามุ่งมั่นในการทำวิจัย ทำผู้ช่วยศาสตราจารย์ เราจะได้เงินประจำตำแหน่งเพิ่ม ซึ่งก็จะทำให้เราสบายลืมตาอ้าปากได้ แต่เราก็คิดว่าเรามาทางนี้แหละ นับจากเกษียณก็อีก 16 ปี ก็เสต็ปต่อไป เราคงต้องกลับไปทำงานวิชาการ เพราะมหาลัยเอาสิ่งนี้มาเป็น KPI แล้ว

“เรามองว่าสเปซที่เราทำมันไม่ใช่สถานที่ มันคือ Community มันคือ Hub อะไรสักอย่างที่มันมีการเติบโต มันเติบโตไปพร้อมกับเราด้วย เราแก่ขึ้น เราโตขึ้น เราเจอคนเยอะขึ้น เรามีประสบการณ์มากขึ้น มุมมองในการมองโลกเราเปลี่ยนไป” 

ภาพของกำแพงที่รวมเรื่องราวของคนทุกวัยที่มาเขียนถึงจังหวัดของตน

ความคุ้มค่าต่อการลงมือ

“พอฟังมาแล้ว คนที่ทำในสิ่งที่อาจารย์กำลังจะทำเชื่อว่าการทำงานเหล่านี้ก็ต้องใช้เงินส่วนตัว ตั้งแต่เช่าตึก กว่าที่จะมีคนสนับสนุนเงินให้ก็งานนี้ในปีที่ 10 อาจารย์ต้องออกเงินส่วนตัวจากเงินเดือนตัวเองมาโดยตลอด แทนที่จะเอาเงินส่วนนั้นไปใช้ทำอย่างอื่นก็ได้ที่ไม่ใช่มาจัดงานแบบนี้ แถมเอาเงินไปทำอย่างอื่นได้ด้วย อาจารย์คิดว่าเงินที่อาจารย์ลงไปกับการทำพื้นที่แสดงศิลปะนี้มันคุ้มหรือไม่” ผมถามอาจารย์ในวันที่สิ่งต่างๆ ที่อาจารย์ผลักดันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว

“เราไม่รู้นะ คำว่าคุ้มไม่คุ้มเพราะเราไม่ได้คาดหวังกับมันอยู่แล้ว จริงๆมันกลายเป็นเหมือนชีวิตเราแล้ว พอเราทำไปสักปีสองปีสามปี จะบอกว่าเป็นแพชชั่น เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายไปไกลขนาดนั้น เราแค่สร้างที่แสดงงาน สร้างเวทีให้พวกเราเองก่อน ให้คนที่จะเข้ามาเป็นพวกเรา อย่างน้อยเราเชื่อว่าทุกคนต้องมีพื้นที่ เรายังมีแพลนอีกหลายอย่างที่อยากทำ ซึ่งวันหนึ่งเราก็จะเบื่อถ้าไม่มีคนอื่นเข้ามาเจอกัน เข้ามาจอยกัน ตอนสอนหนังสือ เรามีชีวิตชีวาเพราะเราเจอเด็กรุ่นใหม่เรื่อยๆที่มาเติมอะไรใหม่ๆให้เราเรื่อยๆ เติมเทคโนโลยี”

ก่อนที่จะปิดท้ายคำถามด้วยประโยคที่ว่า 

“ แต่ตอนนี้ก็ยังสนุกนะ ลืมแก่ไปเลย ถ้าไม่มีโควิดจะมีไอเดียอะไรอีกเยอะมาก มีสเปซอีกเยอะมาก อย่างน้อยปีหน้าทั้งปีเรายังมีแพลนกับตรงนี้อยู่ ยังอยากได้ทีมที่จะมารันมาขับเคลื่อนรับไม้ต่อจากเราอยู่ “

ผลลัพธ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากการลงมือทำ

“แล้วตั้งแต่ครั้งแรกเลยที่เป็นอย่าเห็นแก่ตัวสถาน อาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในจังหวัดนี้กับศิลปะอย่างไรบ้าง?” คำถามสุดท้ายที่เหมือนเป็นการสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นจากตลอด 10 ปีที่ลงแรงทำขึ้นมา

ผลงานวาดรูปจากเวิร์คช็อปในงานที่เป็นการภาพของทั้งศิลปินและเด็กๆที่มาร่วมกิจกรรม

“ได้อะไรเหรอ ยังตอบไม่ได้เลยเพราะมันตอบยากมาก เราไม่ได้วางเป้าหมายไว้กับมันเลย เพราะแค่เด็กในคณะเรา นักสร้างสรรค์ทั้งหลายในเครือข่าย พี่ๆน้องๆศิลปินมีเวทีมีสเปซให้มาเจอกัน มีเพื่อนๆศิลปินที่มาต่างจังหวัดแล้วเราพามาทัวร์ได้”

อาจารย์ยังได้บอกอีกว่าหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง คือการที่พื้นที่แสดงผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นมาทำให้ลูกศิษย์สามารถขายผลงานศิลปะของตัวเองให้กับผู้ที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม นอกจากจะทำให้ลูกศิษย์มีกำลังใจในการทำงานแล้ว ยังทำให้เห็นพัฒนาการด้านการคิดทั้งที่มาและแนวคิดในการทำงาน มีการทำงานที่เนี๊ยบขึ้นและแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะเชื่อว่าถ้าเค้าตั้งใจทำแล้วนำงานมาจัดแสดงในพื้นที่นี้ มันจะสามารถขายเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับศิลปินต่อไปได้ 

“Staff บางคนก็เรียนจบไปแล้ว แต่ก็มาช่วยเรา ทั้งๆที่เราบอกไปชัดเจนแล้วว่าเรายังไม่เห็นหนทาง กลับไปอยู่บ้านก่อนก็ได้ แต่เค้าก็บอกว่ากลับบ้านไปก็ถูกถีบให้ทำงานอื่น สู้ให้อยู่ตรงนี้ดีกว่า อย่างน้อยก็ยังมีแรงขับเคลื่อนให้ทำงานศิลปะ บางคนกลับไปทำนา ทั้งๆที่ฝีมือเค้าไปได้ไกลมาก“

และปิดท้ายด้วยคำตอบที่ว่าสิ่งที่งานตลอดช่วง 10 ปีของคนคนหนึ่ง สามารถทำช่วยให้อะไรให้กับคนในจังหวัดพะเยาได้บ้าง

“สำหรับคนพะเยา เราว่าสเปซเหล่านี้ให้อะไรยากนะ เราว่ามันเป็นผลพลอยได้มากกว่า เด็กที่มาดูงานแล้วเกิดความคิดสร้างสรรค์ ได้ต่อยอดอะไรสักอย่างจากคนนี้ พอมันเติบโตก็สามารถไปพัฒนาเมืองได้ รวมถึงคนในตลาดมีชีวิตชีวาขึ้น คิดว่าที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของตลาด ไม่ได้แปลกแยกจากพวกเขา “

ภาพประกอบ
Facebook: อย่าเห็นแก่ตัวสถาน, Phayao Arts & Creative Festival
ปวินท์ ระมิงค์วงศ์

Content Creator

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า